ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #79 : รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชหฤทัยอ่อนโยน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 681
      1
      9 เม.ย. 53

      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ นั้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านทรงเป็นอย่างที่พูดกันแบบสามัญว่า เป็นคนใจดีใจอ่อน ผู้ใดขอพระราชทานบ้านเรือนเงินทอง ก็ไม่ใคร่จะทรงพระราชประสงค์ให้เขาผิดหวัง ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าถึงขนาดทรงเป็นหนี้ คือเป็นหนี้ผู้ขอพระราชทานโดยพระราชทานผ่อนให้เป็นงวด มีข้าราชการชั้นพระยาท่านหนึ่งซึ่งนับถือท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ ท่านผู้นี้มิได้มั่งมีแม้แต่บ้านก็เป็นหลังเล็กๆ พื้นที่ดินไม่ถึงสองร้อยตารางวา ซึ่งเป็นมรดกของท่านเอง เคยถามว่าคุณลุงก็ได้ชื่อว่าเป็นคนโปรดคนหนึ่ง ทำไมไม่ขอพระราชทานที่ดินบ้านช่องให้โอ่โถงกว่านี้ ท่านตอบว่า ไม่ละเราพอมีอยู่พอกินแล้ว ขอพระราชทานไม่ลง สงสารท่าน คนรุมขอท่าน จนต้องทรงผ่อนให้ราวกับเขาเป็นเจ้าหนี้ ส่วนพระองค์ท่านเองแสนจะประหยัด ไม่เคยทรงซื้อหาอะไรฟุ่มเฟือยอย่างเจ้าแผ่นดินเมืองนอกเมืองนา เสวยก็นิดเดียว ทั้งๆ ที่ทรงงานหนัก...ฯลฯ...”

                ท่านผู้นี้ท่านใกล้ชิดพระองค์เหมือนกัน ถามนิดเดียว ตอบยืดยาวเหมือนอยากระบายความในใจ

                ที่ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระราชหฤทัยอ่อน (อ่อนโยน มิใช่อ่อนแอ) นั้น มีเรื่องเล่ากันอยู่หลายเรื่อง

                เช่นในสมัยเมื่อพวกนายทหารกลุ่มหนึ่งคิดการปฏิวัติที่เรียกกันว่า กบฏ ร.ศ.๑๓๐ หรือ ปฏิวัติ ร.ศ.๑๓๐ (ครั้งแรกในประเทศสยาม) แต่ยังไม่ทันสำเร็จโดนจับได้หมด พระราชอาญาครั้งนั้นเพียงจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษสูงสุด ทว่าเพียงไม่กี่ปีก็พระราชทานอภัยโทษให้หมด

                ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผู้ใหญ่เล่ากันเสมอๆ ก็คือ เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมต่างจังหวัด ในบางครั้งก็ที่พระราชวังบางปะอิน ในบางครั้งก็ที่นครปฐมหรือมฤคทายวัน ครั้งนั้นเมื่อเสด็จฯแม้เพียงแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองใกล้ๆ  ก็ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

                แทบทุกคราว จะทรงตั้ง...สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ เวลานั้นทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดชฯ ทูลกระหม่อมอาของพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

                สมเด็จพระราชปิตุลาฯมีอำนาจลงพระนามในเอกสารทุกฉบับ ทว่าพอถึงคำสั่ง (หรือพระบรมราชโองการ) ให้ประหารชีวิตนักโทษ เล่ากันว่า ทรงชะงัก แล้วก็ทรงปัดไปเสีย รับสั่งว่า ไม่เอาละ กันไม่ใช่เจ้าชีวิต เอาชีวิตใครไม่ได้ โน่น...เจ้าชีวิตท่านอยู่โน่น แกเอาไปถวายท่านเถอะ

                เมื่อพระบรมราชโองการไปถึงพระราชหัตถ์ ก็เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำพระพักตร์นิ่ว ทรงบ่นว่า หนีมาพักผ่อนอยู่ถึงนี่ ยังตามมาอีกทรงถอนพระทัย ตรัสต่อไปว่า ไอ้เรื่องสั่งประหารชีวิตคนนี่ ไม่ชอบใจเอาเลยทีเดียวแต่ก็ต้องทรงลงพระปรมาภิไธย ตามคำพิพากษาโทษ

                ในรัชสมัยนี้ มีคนโปรดปรานใกล้ชิดพระองค์หลายต่อหลายท่านตามที่ทราบๆ กันอยู่ จนถึงมีเสียงโจษขาน และมี สื่อมวลชนซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นลงบทความเหน็บแนม ในทำนองว่าในหลวงทรงเลี้ยงคนประจบสอพลอ บางคนทุจริต มีการแต่งตั้งเป็นขุนน้ำขุนนางให้บรรดาศักดิ์กันมากมาย แม้กระทั่งพวกเต้นกินรำกิน

                แต่โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ตั้งแต่คนไทยแทบทั้งประเทศ ยังไม่รู้จักคำว่า ประชาธิปไตยหรือสมัยกระโน้นเรียกทับศัพท์ว่า ดีม้อกเครซีทรงยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ทั้งๆ ที่สมัยนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะหาคนเขียนมาเข้าคุก ก็ย่อมจะทรงกระทำได้

                แต่พระเจ้าแผ่นดิน ท่านทรงใช้วิธีออกหนังสือพิมพ์ของท่าน โต้แย้งคนวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียนท่านโดยไม่ทรงใช้อำนาจราชศักดิ์ในฐานะ เจ้าแผ่นดิน

                ทรงโต้ตอบคำโจษขานตำหนิติเตียน โดยทรงใช้ นามแฝงลงเป็นบทความให้เหตุผล ๔ ข้อดังนี้

    ภาพล็อตเตอรี่เสือป่า สลากกินแบ่งฉบับแรกของสยาม มีลายเซ็นพระยานนทิเสนอยู่มุมขวาบนของภาพ

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงแสดงละครเรื่อง โพงพางร่วมกับข้าราชบริพาร

    ซ้ายของภาพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (พระเอก) พระวรกัญญาปทาน (นางเอก)

    ขวาของภาพ เจ้าพระยารามราฆพ แต่ยังเป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ และพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ เมื่อครั้งยังทรงเป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ

                 ข้อ ๑. ที่ว่าทรงเลี้ยงคนทุจริตนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะใครบ้างที่ชอบและรักคนทุจริต หากแต่ว่าไม่รู้ก็ทรงชุบเลี้ยงไว้ เมื่อรู้แน่ชัดแล้วก็ถอดถอนลงโทษไปก็มีมาก เช่น พระยานนทิเสน กับพวก เป็นต้น ใช่ว่าจะโปรดชุบเลี้ยงคนทุจริตก็หาไม่

                หมายเหตุเสียนิดก่อนว่า เรื่องพระยานนทิเสนนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นเรื่องดังมากทีเดียว ถึงขนาดมีผู้แต่งลำตัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ขายดิบขายดีเป็นอันมาก

                เรื่องราวมีอยู่ว่า เมื่อครั้งมีการออกสลากเสือป่าสมัยโน้นเรียกว่า ล็อตเตอรี่เสือป่าโดยขายให้ได้จำนวนเงิน ๑ ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นรางวัลเสีย ๖ แสนบาท อีก ๔ แสนบาทเป็นส่วนบำรุงเสือป่า โดยมีพระยานนทิเสนเป็นประธาน

                ปรากฏว่า คนในบ้าน พระยานนทิเสน ตลอดจนพรรคพวก ถูกล็อตเตอรี่กันหมด (เข้าใจว่า ล็อตเตอรี่สมัยโน้นคงจะออกเลขรางวัลไว้ก่อนล่วงหน้า โดยพวกกรรมการเท่านั้นที่รู้ตัวเลขรางวัลทั้งหมด)

                เมื่อสอบสวนกันแล้วปรากฏว่า พระยานนทิเสนทุจริต บอกรางวัลแก่คนในบ้านและพรรคพวกจริงๆ

                สมัยกระโน้น การบริหารราชการแผ่นดิน ยังมีความขาวสะอาดอยู่มาก ทุจริตเพียงแค่นี้โดนชี้หน้าตราชื่อมาจนถึงทุกวันนี้

                เล่าแถมสักนิด เรื่องการรู้ล่วงหน้าเรื่องเงินๆ อันเป็นผลประโยชน์เข้าข่ายการทุจริตแบบนี้ คือ

                สมัยเมื่อ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างใกล้สิ้นสุดสงครามครั้งที่ ๒ จะมีการเก็บธนบัตรใบละพัน เพื่อให้กระแสหมุนเวียนของเงินตราลดลงเสียบ้าง ซึ่งได้กระทำกันอย่างลับที่สุด ปรึกษากันเพียง นายควง นายทวี บุณยเกตุ รองนายก และ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ รัฐมนตรีช่วยฯคลัง สามคนเท่านั้น เมื่อขอมติคณะรัฐมนตรีก็หน่วงการปะชุมไว้จนมืดค่ำ ระหว่างนั้นก็รีบให้พิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ออกพระราชกำหนดออมทรัพย์ เก็บเงินธนบัตรใบละพันชั่วคราว โดยไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่กลับบ้าน จนกระทั่งพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาเสร็จ ประกาศกระจายเสียงค่ำวันนั้นเอง จึงได้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ ปิดประชุมให้คณะรัฐมนตรีกลับบ้านได้ เป็นอันว่าไม่มีใครได้ผลประโยชน์ นำธนบัตรใบละพันออกจำหน่าย หรือกักตุนธนบัตรใบละพัน โดยซื้อในราคาถูกกว่าราคาจริง เพื่อเก็บไว้ ชั่วคราวคอยแลกกลับคืนเอากำไร

                (เกร็ดเรื่องนี้ได้นำไปประกอบไว้ในเรื่อง ครอบ (บ้าน) ครัว (เดียว)

                หันกลับมาเล่าเรื่องบทความตอบในหนังสือ ดุสิตสมิตต่อ ข้อที่ ๒

                 ข้อ ๒. ที่ว่าทรงเลี้ยงคนประจบสอพลอ รับสั่งว่า สอพลอนั้นต้องเลือกเรื่อง ถ้าสอพลอให้ประโยชน์แก่พระองค์ก็ดี ก็ชอบ ถ้าสอพลอไร้สาระก็กริ้วและไม่ชอบหน้าเลย เช่นพระยาภักดีอดิสัยกราบทูลว่า เจ้าพระยาพิชัยญาติตั้งบ่อนเล่นโปก็กริ้วว่าไม่ใช่เรื่องของตัว ถึงแก่รับสั่งห้ามเข้าเฝ้าทีเดียว นี่เป็นตัวอย่าง

                 ข้อ ๓. การแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงกันมากมายนั้น ก็เป็นนโยบายอย่างดีของพระองค์ที่จะผูกจิตใจให้คนจงรักภักดีมากขึ้น และอีกประการหนึ่งก็เป็นการประหยัดเงินได้เป็นอย่างดีด้วย บางคนที่เป็นเศรษฐีหากได้เป็นขุนนางก็อิ่มอกอิ่มใจปลาบปลื้มเป็นที่สุด เงินเดือนก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็ยังคอยขนเอาเข้าบำรุงรัฐบาลอยู่เรื่อยๆ ยิ่งในหลวงจะทรงทำอะไรขึ้นมา ก็ต้องแย่งแข่งกันถวายเอาหน้าเอาตากัน...ฯลฯ...ฯลฯ...

                ฉะนั้นการพระราชทานบรรดาศักดิ์จึงเป็นนโยบายที่ดีอย่างหนึ่ง เช่นข้าราชการทำความดีในปีหนึ่ง ควรจะได้ขึ้นเงินเดือน แต่ได้เป็นขุนเป็นหลวงเสียแล้ว เงินเดือนก็ไม่ต้องให้ (เพิ่ม)...ฯลฯ...

                เรื่อง ประจบรับสั่งว่าดีมาก ทรงโปรดพวกประจบ เพราะอย่าว่าแต่ คนเลย แม้ หมาถ้ามันประจบก็ต้องรักมัน เช่นหมา ย่าเหลและ หมา มากาเรตเป็นต้น ทรงเห็นว่าการประจบเป็นการแสดงความจงรักภักดีและไม่เป็นศัตรูแน่

                 ข้อ ๔. ที่ว่าเลี้ยงพวกเต้นกินรำกิน เช่น โขน ละคร ลิเก ก็เพราะทรงเห็นว่า คนเราทุกคนควรจะมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เช่นคนมีความรู้ทางอะไร มีความสามารถแค่ไหน หากทำความดี จะได้ดีเพียงใด เหล่านี้ มิใช่ว่าจะต้องเป็นขุนนางได้เฉพาะแต่ที่เก่งทางหนังสือเท่านั้น คนที่เก่งทางใดทางหนึ่ง ก็ควรได้ดีเป็นขุนน้ำขุนนางได้เหมือนกัน จะได้ไม่น้อยเนื้อต่ำใจกว่ากัน ชื่อบรรดาศักดิ์ของท่านขุนนางผู้นั้นๆ ก็บ่งชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นขุนนางหน้าที่อะไร...ฯลฯ...ฯลฯ...ใครทำความดีก็ได้เป็นขุนนางในหน้าที่นั้นๆ ทั่วกันหมด เช่นว่าพระยาดำรงแพทยาคม พระยาแพทยพงษาก็ต้องเป็นหมอ

                พระยาประสานดุริยศัพท์ พระยาประดับดุริยกิจ พระยาประดิษฐ์ดุริยางค์ พระยาพาทย์บรรเลงรมย์ เหล่านี้ ก็บ่งชัดว่าเป็นพวกดีด สี ตี เป่า

                ส่วนพวกเต้นกินรำกิน ก็มีชื่อว่า พระยาระบำภาษา พระยานัฏกานุรักษ์ พระยาพำนักนัจนิกร พระยาสุนทรเทพระบำ พระยารำถวายกร...ฯลฯ...ฯลฯ...เหล่านี้อยู่ในประเภทโขนละคร...ฯลฯ...”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×