ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #78 : พระยาสุริยานุวัตร

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 733
      0
      9 เม.ย. 53

    คนโปรดในรัชกาลที่ ๕ นั้น ตามที่ปรากฏทั้งในเอกสารต่างๆ และคำบอกเล่าต่อๆ กันมา มีอยู่หลายท่าน

          เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระคุณสมบัติวิเศษอยู่หลายประการ และประการหนึ่งนั้นคือ ทรงดูคนออก และทรงพระปรีชาสามารถในการใช้คน ทั้งทรงพระคุณธรรมวิเศษของพระราชาอีกประการหนึ่ง คือแม้จะโปรดปรานผู้ใดสักเพียงไหน หากผู้นั้นกระทำผิดให้เสียผลประโยชน์ของบ้านเมือง หรือกระทำการสิ่งใดอันมีเหตุให้กระเทือนต่อบ้านเมืองไม่ว่าจะในสถานใด ก็จะทรงลงโทษอย่างเด็ดขาดไม่ไว้หน้าเช่นกัน

    พระยาสุริยานุวัตร เมื่อยังเป็น หลวงสุริยานุวัตร ออกไปรับราชการในยุโรปครั้งแรก ประจำสถานทูตลอนดอน พ.ศ. ๒๔๓๐ (ค.ศ. ๑๘๘๓)

          ในรัชกาลที่ ๕ เล่ากันว่า เจ้านายบ้าง ขุนนางระดับเสนาบดีบ้าง มักจะมีเรื่องไม่ลงรอยกันอยู่เสมอ บางครั้งก็เจ้านายกับเจ้านาย เจ้านายกับขุนนาง และขุนนางกับขุนนางด้วยกันเอง แต่ละองค์แต่ละท่านล้วนอยู่ในข่ายคนโปรดแทบทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะทรงวางพระองค์เป็นกลาง ทรงพิจารณาแต่เรื่องอันเกี่ยวด้วยประโยชน์ของทางราชการ ตัดความโปรดปรานส่วนพระองค์ไปเสีย หรือถ้าปรากฏว่าทรงเข้าข้างฝ่ายใด มักจะเป็นการเข้าข้างอย่างทรงพระราชวินิจฉัยแล้วว่า ฝ่ายหนึ่งก้ำเกินอีกฝ่ายหนึ่งเกินไป

          บรรดาคนโปรดหลายๆ ท่าน ซึ่งเป็นที่ทราบๆ กันอยู่ ก็เช่น จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยันต์) ฯลฯ

          ท่านเหล่านี้ มีผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับท่านอยู่บ่อยๆ เช่น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยันต์) ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๔ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๕ ครั้งเป็นพระยาเทพประชุน ราชปลัดทูลฉลอง ได้ขึ้นไปเป็นข้าหลวงรักษาการดูแลเมืองเชียงใหม่

          ครั้งนั้นเกิดเหตุเรือพระประเทียบลำที่พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระยศก่อนสิ้นพระชนม์) ประทับล่มลงที่บางพูด

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังพระยาเทพประชุน เป็นพระราชหัตถเลขาฉบับเดียว ที่ทรงมีพระราชกระแสเกี่ยวกับเหตุแห่งการสิ้นพระชนม์อย่างคลุมเครือ ท่ามกลางการกระซิบกระซาบเล่าลือของผู้คน ซึ่งส่วนมากก็คือชาววังในครั้งกระโน้นว่า ไม่ใช่เป็นอุบัติเหตุ แต่มีผู้ตั้งใจจะให้สิ้นพระชนม์

          ตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาว่าดังนี้

           “...การเป็นดังนี้ เพราะไว้ใจคนผิด เข้าใจว่าบุญคุณจะลบล้างความริษยาเกลียดชังกันได้ แต่การกลับเป็นอย่างอื่นก็เป็นอันจนใจอยู่ เราไม่ว่า ว่าเป็นการแกล้งฆ่า ที่คิดไว้ว่าจะฆ่าด้วยอย่างนี้ แล้วแลสมประสงค์ เห็นว่าเป็นเหตุที่เผอิญจะเกิดเป็นขึ้น ให้เป็นช่องที่จะให้อคติเดินได้สะดวกตามประสงค์

          หญิงใหญ่ (คือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ พระบรมราชเทวี - จุลลดาฯ) นั้น เป็นคนว่ายน้ำแข็ง แจวเรือ พายเรือได้แข็ง ที่ตายครั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะห่วงลูก เพราะพี่เลี้ยงของลูกว่ายน้ำไม่เป็น คนที่อยู่ในเก๋งเรือนั้นถึง ๖ - ๗ คนด้วยกัน นอกนั้นรอดหมด ตายแต่พี่เลี้ยงของลูกที่ว่ายน้ำไม่เป็นคนหนึ่ง กับแม่ลูกเท่านั้น...”

          ข้อความในพระราชหัตถเลขานี้ย่อมแสดงถึงความโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยต่อ พระยาเทพประชุนไม่น้อยทีเดียว

          ยังมีคนโปรดอีกท่านหนึ่ง ซึ่งไม่สู้จะมีผู้ทราบเรื่องราวของท่านนัก ทั้งๆ ที่ท่านมีชื่อเสียงเด่นมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในพระราชหัตถเลขา เมื่อพระราชทานหีบทอง อันเป็นของพระราชทานส่วนพระองค์นั้น มีว่า

           สวนดุสิต วันที่ ๑๕ พฤษ รัตนโกสินทรศก ๑๒๓

          ถึงพระยาสุริยานุวัตร

    พระยาสุริยานุวัตร กับ คุณหญิงลิ้นจี่ และบุตรธิดา ขณะเป็นอัครราชทูตที่ปารีส พ.ศ. ๒๔๔๖ (ค.ศ.๑๙๐๓)

          ด้วยความพอใจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในน้ำใจเรา ต่อความเอื้อเฟื้อในราชการบ้านเมือง ซึ่งเจ้าได้แสดงให้เห็นเป็นที่มั่นใจว่า เจ้าเป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากคนหนึ่ง ซึ่งได้ความร้อนใจมาด้วยกันนานแล้ว จนถึงเวลานี้เจ้ายังมิได้ท้อถอยในการที่จะให้เห็นความพอใจเฉพาะตัว จึงให้เขาทำหีบทองใบหนึ่ง แล้วมาหลายเดือน แต่ยังหาได้ส่งไม่ บัดนี้เห็นว่าจะรอช้าไป ก็ไม่เป็นแน่ว่าจะมีช่องที่ควรให้เมื่อใด จึงถือเอาความพอใจส่งมาให้ เป็นของส่วนตัว หาใช่เป็นเครื่องยศ ฤๅเป็นบำเหน็จบำนาญไม่ ขอให้รับไว้อย่างเพื่อนคนหนึ่ง ให้เป็นพะยานแห่งความพอใจในความคิด ฤๅว่าสั้นๆ ว่าถูกคอกัน แลได้ร่วมทุกข์ยากในราชการด้วยกันมา

    (พระบรมนามาภิไธย)

          พระยาสุริยานุวัตร ในพระราชหัตถเลขา คือพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)

          เล่าถึงประวัติของท่านเสียก่อน

          ท่านผู้นี้ เป็นบุตรลำดับที่ ๒๒ ของ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)

          พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นบุตรชายที่ ๒ ของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บุตรชายใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

          พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เกิดแต่ ท่านผู้หญิงจันทร์ ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ ในรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดฯให้เรียกว่า เจ้าคุณชายชุ่ม

          การที่จะเรียกบุตรธิดาของ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า เจ้าคุณชาย เจ้าคุณหญิง นั้น ต้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯตั้งให้เป็นเจ้าคุณ (พระราชพันธ์) มิฉะนั้น บุตรธิดาของเจ้าพระยาก็จะเรียกกันเพียง คุณชาย’ ‘คุณหญิงเท่านั้น

          (บุตรธิดาของบรรดาพระราชโอรส ธิดา ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นชั้นพระราชนัดดา ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ก็เรียกกันว่า คุณชายและ คุณหญิงเช่นเดียวกับบุตรธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ และบุตรธิดา ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งเกิดแต่ หม่อม(อนุ) ภรรยา มิใช่ท่านผู้หญิง)

          เพราะเหตุใด พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) จึงได้รับพระราชทาน พระราชหัตถเลขา ทรงพระราชกระแสว่า ได้ร่วมทุกข์ยากด้วยกันมา

          ก็เนื่องจาก เมื่อเกิดเหตุ ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีอันเป็นเมืองใหญ่ในมณฑลฝั่งทะเลตะวันออก จนกระทั่งต่อมา เมื่อพระยาสุริยานุวัตร ได้เป็นอัครราชทูตประจำประเทศถึง ๔ ประเทศ คือ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และรัสเซีย ระหว่างประจำอยู่ ณ กรุงปารีส พระยาสุริยานุวัตรได้เป็นผู้เจรจาสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ฉบับ ค.ศ.๑๙๐๔ สำเร็จ ฝรั่งเศสยอมถอนทหารที่ยึดครองเมืองจันทบุรีไว้

          ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ดังนี้

           พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท

          วันที่ ๑๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

          ถึงพระยาสุริยานุวัตร

          ด้วยได้รับโทรเลข ลงวันที่ ๗ เดือนนี้ เมื่อวันที่ ๙ ได้ตอบโทรเลขไปในวันนั้น ความแจ้งอยู่แล้ว

          ในเบื้องต้น ขอแสดงความยินดีในการที่ได้พยายามพูดจากับฝรั่งเศษ ตกลงสำเร็จได้ถึงเพียงนี้ บรรดาคนไทยซึ่งได้ทราบ แม้แต่เพียงใจความที่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งบริษัทรอยเตอส่งข่าวเข้ามาลงพิมพ์ ในวันที่ ๘ มีผลเหมือนไฟฟ้าแล่น เบิกบานทั่วกันไปหมด ดูประหนึ่งจะลุกขึ้นเต้นโลดไปทั้งนั้น ถึงต้องตักเตือนกันบ้าง ให้ระวังคำพูด...

    พระบรมนามาภิไธย

          แม้ฝรั่งเศสจะขอแลกกับเมืองตราด แต่ในเวลานั้น เมืองตราดเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ไม่สำคัญ และมิใช่อู่ข้าวอู่น้ำอุดมสมบูรณ์เท่าจันทบุรี

          ขณะฝรั่งเศสยึดเมืองตราดไว้แทน จนกระทั่งถึง ร.ศ. ๑๒๖ จึงได้คืนให้ แม้พระยาสุริยานุวัตรจะได้กลับมาเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว แต่ก็มีส่วนช่วยให้ฝรั่งเศสปล่อยเมืองตราด โดยได้ทำทางไว้ให้อัครราชทูตต่อๆ มา ดำเนินรอยตาม

          เมื่อฝรั่งเศสคืนเมืองตราดให้ เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๕๐ ร.ศ. ๑๒๖) เมื่อเสด็จฯกลับ จึงทรงแวะเสด็จฯขึ้นเยี่ยมเยือนราษฎรเมืองตราด ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ชาวเมืองตราด ตอนหนึ่งว่า

           สมัยเมื่อเราต้องพลัดพรากจากเขตแดนอันเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งเราได้ใส่ใจบำรุงอยู่ แลเมื่อนึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเป็นที่รักใคร่คุ้นเคยของเรา ต้องได้รับความเปลี่ยนแปลงอันประกอบด้วยความวิบัติไม่มากก็น้อย ย่อมมีความเศร้าสลดใจเป็นอันมาก

          เพราะฉะนั้น ครั้นเมื่อได้รับโทรเลขจากเมืองตราด ในเวลาที่เราอยู่ในประเทศยุโรป เป็นสมัยที่เราได้มารวมอยู่ด้วยกันอีก จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง มีความปรารถนาที่จะได้มาเห็นเมืองนี้ แลเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะได้ระงับความลำบากอันใด ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลง แลเพื่อจะได้ปรากฏเป็นที่มั่นใจแก่พวกเจ้าทั้งหลายว่า การทั้งปวงจะเป็นที่มั่นคงยืนยาวสืบไป เจ้าทั้งหลายผู้ละทิ้งภูมิลำเนา จะได้กลับเข้าสู่ถิ่นฐาน... ฯลฯ ... ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่าเราเหมือนบิดาพลัดพรากจากบุตร จึงรีบมาหานั้น เป็นความคิดอันถูกต้องแล้ว ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอสืบไป ในเบื้องหน้า ดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ว่า เราคงจะเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลาที่มีความสุข และช่วยปลดเปลื้องทุกข์อันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์...”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×