ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #211 : นังองเอง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 435
      0
      16 เม.ย. 53

        ตั้งแต่สถาปนากรุงเทพฯรัตนโกสินทร์ ‘พระกรุณา’ (เขมรเรียกพระเจ้าแผ่นดินของเขาว่า ‘พระกรุณา’ คล้ายๆไทยเรียกว่า ‘ในหลวง’) ของเขมร ที่เข้ามาอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์แต่ยังเด็กๆจนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินไทยส่งออกไปเป็น ‘พระกรุณา’ นั้น ๓ พระองค์ด้วยกัน คือ

                ๑. นักองเอง (ไทยเรียกพระองค์เอง) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอยู่กรุงเทพฯ แต่ชนมายุ ๙ ครองราชย์ชนมายุ ๒๑

                ๒. นักเองด้วง (พระองค์ด้วง) โอรสนักองเอง อยู่ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ อยู่กรุงเทพฯ แต่ชนมายุ ๑๖ กลับเขมรพร้อมเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เมื่อชนมายุ ๔๓ กว่าจะเลิกรบญวน ได้ขึ้นครองราชย์ ก็เมื่อชนมายุ ๕๑

                ๓. นักองราชาวดี โอรสนักองด้วง อยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ สมภพในกรุงเทพฯ เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ชนมายุ ๒๐  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานผนวชให้แล้ว กลับเขมรไปเป็นพระมหาอุปราชในแผ่นดินพระราชบิดา คือนักองด้วง

                ต่อไปได้ทรงราชย์ สืบต่อจากพระราชบิดา เมื่อชนมายุ ๒๓

                พระองค์ด้วง นั้น อยู่ในเมืองไทยนานที่สุดถึง ๒๙ ปี จนกระทั่งคนไทยในกรุงเทพฯ สมัยโน้นแทบจะรู้สึกว่าเป็นเจ้านายไทย พากันเรียกว่าพระองค์ด้วงอย่างสนิทปากสนิทสนม เหมือนเรียกเจ้านายไทยอย่างไรอย่างนั้น มีหม่อมเป็นคนไทย ธิดาขุนนาง และชั้นหม่อมราชวงศ์ธิดาหม่อมเจ้าหลายท่าน

                โดยที่ ‘พระกรุณา’ ของเขมรอยู่ในกรุงเทพฯ พระองค์ละนานๆปีดังกล่าว เมื่อกลับไปครองราชย์ พิธีการต่างๆในราชสำนักส่วนมากจึงมักเอาธรรมเนียมแบบแผนอย่างราชสำนักไทยสมัยนั้น โดยเฉพาะพระองค์ราชาวดี โอรสพระองค์ด้วงรับสั่งภาษาไทยคล่องกว่าภาษาเขมรของพระองค์ ด้วยสมภพในกรุงเทพฯ ปลายรัชสมัยที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงอุปถัมภ์ดูแลต่อมา จนชนมายุครบบวช

                พระองค์ราชาวดีนี้ เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นเวลาพอดีกับฝรั่งเศสได้ญวน จึงครอบคลุมอิทธิพลเข้ามาถึงเขมร และเพราะฝรั่งเศสถือว่าเขมรเป็นทั้งของญวนและของไทย ส่งเครื่องบรรรณาการให้ทั้งญวนและไทย จึงพลอยถือเอาว่า เมื่อญวนเป็นของฝรั่งเศส เขมรก็ต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย

                ดังนั้น ในการราชาภิเษกพระองค์ราชาวดีทั้งฝรั่งเศสและไทย จึงแต่งข้าหลวงออกไปรวมอภิเษกพร้อมกัน

                ขณะครองราชย์อยู่ ก็ถูกฝรั่งเศสบีบบังคับตลอดมา จนกระทั่งบังคับให้ลงพระนามเซ็นสัญญามอบอำนาจให้ฝรั่งเศสปกครอง

    ขบวนแห่ราชสำนักเขมร เลียบแม่น้ำโขง กรุงพนมเปญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐

                เรื่องนี้พระองค์ราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (ปู่ทวดของนโรดมสีหนุ) ได้มีหนังสือลับ ลอบส่งไปถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ว่ายังจงรักภักดีและมิเคยเอาใจออกห่างจากไทย หากแต่ถูกผู้สำเร็จราชการไซ่ง่อนนำเรือรบเข้าไปขู่หน้ากรุงพนมเปญ และเข้าไปชักปืนจ่อพระอุระบังคับให้เซ็นพระนาม

                ยังมีผู้อ่านสงสัยเรื่องศึกญวนที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา ออกไปรบนานถึง ๑๕ ปี

                จึงจะขอสรุปเรื่องศึกญวน-เขมร-ไทย อันเป็นวีรกรรม ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ‘ขุนพลแก้ว’ คู่พระทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งออกไปตรากตรำทำศึก จัดการให้บ้านเมืองเขมรให้สงบสุขแล้วอภิเษกพระองค์ด้วง ขึ้นเป็น สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร (ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๖-พ.ศ.๒๓๙๐) สรุปว่าดังนี้

                เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ พวกญวนที่เมืองไซ่ง่อนเป็นกบฏต่อพระเจ้าเวียดนามมินมาง (โอรสขององเชียงสือ) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงขัดเคืองญวนอยู่แล้ว ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ จนถึงต้นรัชกาลของพระองค์ ด้วยญวนพยายามข่มขู่ จนกระทั่งสนับสนุนนักองจันทร์ (พี่ชายใหญ่ของพระองค์ด้วง) ให้กระด้างกระเดื่องต่อไทยแล้วเข้าครอบครองเป็นเจ้าของเขมร

                จึงทรงพระราชดำริเห็นเป็นโอกาสที่จะเอาเขมรคืนจากอำนาจญวน ให้ญวนหายกำเริบเสียบ้าง จึงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบก โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายทะเล แล้วจึงไปสมทบกับกองทัพบกเข้าตีไซ่ง่อนด้วยกัน กองทัพบกนั้น พอเข้าแดนเขมร สมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันทร์) พี่ชายพระองค์ด้วง) ก็หนีไปไซ่ง่อน พวกเขมรจึงเข้าอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาบดินทร์ จึงตีหัวเมืองชายแดนญวน เข้าไปสมทบกับกองทัพเรือ ซึ่งรอจะเข้าตีค่ายใหญ่ของญวนอันเป็นด่านปากคลองขุด แต่กองทัพเรือรบพุ่งอ่อนแอ พวกเขมรหัวเมืองข้างใต้คือที่ติดกับอาณาเขตญวน เห็นกองทัพไทยทำการไม่สำเร็จ ก็พากันกบฏขึ้นด้วย ทั้งกองทัพไทยยังขัดสนเสบียงอาหาร ต้องเลิกทัพกลับ

                ญวนได้ทีจึงตั้งข้าหลวง และทหารนำสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันทร์) กลับมาอยู่พนมเปญ เขมรจึงตกอยู่ในอำนาจญวนยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทร์ ตั้งทัพขัดตาทัพอยู่ที่เมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นของไทยสิทธิขาด พร้อมกับเมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) มาแต่รัชกาลที่ ๑ โดยสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองเอง) ถวายให้เป็นสิทธิขาดแก่ไทย (ที่เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์หรืออภัยภูเบศร์ ต้นสกุล ‘อภัยวงศ์’ เป็นผู้ว่าราชการสืบต่อๆกันมา)

                ถึง พ.ศ.๒๓๗๗ อีกปีเดียวเท่านั้น สมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันทร์) ถึงพิราลัย ไม่มีลูกชาย ญวนจึงยกลูกหญิงขึ้นครองเมือง แล้วกวาดเอาพวกราชวงศ์เขมรกับขุนนางผู้ใหญ่ไปไว้เมืองญวน เข้าปกครองเมืองเขมรอย่างหัวเมืองของญวน เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมให้เป็นอย่างญวน ให้รื้อวัด สึกพระภิกษุสามเณรเสียเป็นอันมาก พวกเขมรถูกบังคับรีดนาทาเร้น เดือดร้อน ก็พากันกบฏ เมืองเขมรก็วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา จนถึง พ.ศ.๒๓๘๐ พวกขุนนางพากันบอกมายังเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่ตั้งขัดตาทัพอยู่เมืองพระตะบอง ขอกลับมาอยู่กับไทย ขอกำลังช่วยปราบญวน และขอพระราชทาน พระองค์ด้วง น้องชายของสมเด็จพระอุทัยราชา ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ออกไปครองเขมร

                ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพเข้าไปเขมร และโปรดฯให้พระองค์ด้วงออกไปเข้ากองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย มีพระบรมราชโองการว่า หากเขมรสงบเรียบร้อยเมื่อใดให้อภิเษกพระองค์ด้วงขึ้นครองเขมร

                เจ้าพระยาบดินทรเดชา ต้องอยู่ในเขมร สู้รบกับญวนนานถึง ๑๔-๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๖ ถึง พ.ศ.๒๓๙๐ ศึกจึงสงบลงได้

                เมื่อพระองค์ด้วง ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้จดหมายพระราชทานพระบรมราโชวาทส่งไป หลายข้อหลายประการ ที่สำคัญ นั้นคือ

                ๑. หากจะแต่งตั้งพระยาพระเขมรสืบต่อไป อย่าให้ลุอำนาจแต่โดยใจว่า คนผู้นี้เป็นพวกมาแต่ก่อน คนผู้นี้มิได้เป็นพวกมาแต่ก่อน ให้พิเคราะห์ดูสติปัญญา ชาติสกุล ความชอบ การศึกสงครามเข้มแข็ง ควรใช้ได้อย่างไรก็ให้แต่งตั้งตามควร ให้ผู้น้อยกลัวผู้ใหญ่เป็นลำดับกัน อย่าถือท้ายผู้น้อยให้ข้ามเกินผู้ใหญ่  อย่าเห็นแก่หน้าเกรงใจบุคคล อย่าหูเบาใจเบา พระยาพระเขมรนับถือยกย่องพระองค์ด้วงเป็นเจ้านายแล้ว พระองค์ด้วงก็ต้องนับถือคารวะพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควร รสวาจาก็ให้อ่อนหวานให้เป็นที่นิยมนับถือกับพระยาพระเขมรแลไพร่บ้านพลเรือนทั้งปวง

                ๒. ทำตัวให้พระยาพระเขมรทั้งหลายกลัวอำนาจ อย่าให้หมิ่นประมาทได้ กลัวนั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ กลัวอาญาปราการ ๑ กลัวบุญวาสนาประการ ๑ กลัวสติปัญญารู้เท่าทันประการ ๑

                แต่กลัวบุญวาสนา กลัวสติปัญญารู้เท่าทันนั้น ทั้งรักทั้งกลัว โดยเฉพาะสติปัญญารู้เท่าทัน

                ๓. ให้ระวังพระยาพระเขมร อย่าให้อิจฉาริษยาแตกสามัคคีรสกัน แลให้สอดส่องให้รอบคอบอย่าให้พระยาพระเขมรทำเบียดเบียนอาณาประชาราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน

                ๔. ให้หูไวใจเร็วสืบฟังข่าวคราวราชการ คิดสิ่งใดให้รอบคอบ ป้องกันรักษาตัว ทั้งภายนอกภายใน อย่ามีความประมาท

                ท้ายที่สุดในหนังสือ ทรงว่า

                “พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวไม่ต้องพระราชประสงค์ผลประโยชน์สิ่งไรที่เมืองเขมร จะเอาแต่พระเกียรติยศสืบไปภายหน้าว่าทรงกู้เมืองเขมรขึ้นไว้มิให้พระพุทธศาสนาเสื่อมศูนย์”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×