ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #212 : พระองค์ด้วง

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 419
      0
      16 เม.ย. 53

      เรื่องของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีหอ นักองด้วง หรือที่คนไทยสมัยรัชกาลที่ ๒ ๓ เรียกอย่างสนิทสนมใจเสมือนเป็นเจ้านายไทยว่า พระองค์ด้วง นั้น มีเรื่องน่าเล่าน่ารู้หลายอย่าง

                พระองค์ด้วงออกไปเขมร ช่วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) รบกับญวน เป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี (เจ้าพระยาบดินทรเดชาไปก่อนจึงอยู่ในเขมร ๑๕ ปี)

                เมื่อเลิกรบกับญวน อภิเษกขึ้นครองราชย์นั้น ชนมายุเข้า ๕๒ ปีแล้ว (พ.ศ.๒๓๙๐)

    อดีตกษัตริย์นโรดมสีหนุ
    (มีผ้าผูกพระศอ) ลาออกจากกษัตริย์
    ถวายให้พระราชโอรสเพื่อทำงาน
    ด้านการเมือง ล้มล้างรัฐบาล
    ที่กอบโกยผลประโยชน์ชาติบ้านเมือง
    เป็นของตนและพวกพ้อง

                โดยเหตุที่เจริญวัยขึ้นในราชสำนักไทย ได้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มานานช้า เมื่อเสด็จกลับไปครองราชย์ หลังจากเขมรว่างกษัตริย์ ตกอยู่ในอำนาจญวน เกิดกบฏวุ่นวายเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ตั้งแต่สมเด็จพระอุไทยราชา (นักองจันทร์ พี่ชายใหญ่ของพระองค์ด้วง) เสด็จทิวงคต (พ.ศ.๒๓๗๗)

                ดังนั้น การปกครองแผ่นดินของพระองค์ด้วง จึงมักมีแบบอย่าง อันนำไปจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการดำเนินตามพระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯหลายอย่างหลายประการ โดยเฉพาะพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา

                เป็นต้นว่าทรงตั้งข้อบัญญัติ (กฎหมาย) ไว้ว่า

                ข้อ ๑ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำโป๊ะจับปลา ตามบึง บางห้วย หนอง หรือตามแม่น้ำลำคลองเป็นอันขาด ด้วยเป็นการกระทำปาณาติบาตอย่างใหญ่โต

                ข้อ ๑ ห้ามบรรดาข้าราชการขุนนางใหญ่น้อย ซึ่งเป็นข้าของพระองค์ทุกคน มิให้เสพสุราเครื่องดองของเมา ซึ่งเป็นการชั่วเป็นอันขาด

                ข้อ ๑ ในเวลาเมื่อเสด็จไป ณ ที่ใดๆก็ดี ห้ามบรรดาข้าราชการที่ตามเสด็จ มิให้ยิงนกยิงสัตว์ใดๆเป็นอันขาด

                ข้อ ๑ บรรดาคดีความทั้งแพ่งและอาญา ซึ่งผู้พิพากษา ตระลาการชำระตัดสิน หากโจทย์และจำเลยไม่ยินยอมตามคำตัดสินของศาลแล้ว ทรงพระกรุณาให้โจทย์หรือจำเลยทำฎีกาขึ้นถวายต่อพระองค์เองได้ ซึ่งพระองค์จะทรงพยายามพิจารณาและตัดสินให้ยุติธรรมที่สุดที่จะเป็นได้

                ข้อ ๑ โปรดให้ทำโรงทาน และให้ทานแก่ยาจกวณิพกคนยากคนจนที่ขัดสนมาแต่สารทิศทั้ง ๔ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงพระกรุณาให้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นไทยทานถวายแก่พระภิกษุ สงฆ์ สามเณรให้อิ่มหนำสำราญกันทั่วทุกสารทิศ

                ข้อสุดท้ายนี้ เห็นได้โดยชัดเจนว่า พระองค์ด้วงดำเนินตามรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตั้งแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นฯในรัชกาลที่ ๒ อันทำให้แม้สมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ ๒ ก็ยังทรงพลอยปีติโสมนัส โปรดฯให้ตั้งโรงทานของหลวงขึ้นด้วย

                อีกข้อหนึ่งนั้น คือ ข้อที่ทรงห้ามขุนนาง ข้าราชการเสพสุรายาเมา อันเป็นศีลข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนานั้นเล่าอย่างยืนยันกันมาหนักแน่นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นอกจากไม่โปรดละครแล้ว ยังทรงรังเกียจน้ำจัณฑ์ (สุรา) และทรงรังเกียจคนดื่มสุรา เพราะฉะนั้นจึงทรงรังเกียจสุนทรภู่ในข้อที่ขี้เมามาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถ มิใช่เรื่องที่สุนทรภู่ ‘หักหน้า’ หน้าพระที่นั่ง เพียงอย่างเดียว ซึ่งข้อนี้ไม่เคยมีผู้พูดถึง ด้วยส่วนมากพากันเห็นอกเห็นใจสุนทรภู่ซึ่ง

                “อนิจจาตัวเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย” และเห็นเป็นว่าที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ‘ไม่เลี้ยง’ นั้น เพราะกริ้วเรื่องหักหน้าเท่านั้นเอง

                พระองค์ด้วงครองราชย์อยู่ ๑๔ ปี ก็ทิวงคต (พ.ศ.๒๔๐๓) หลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ๙ ปี (เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๔๙๔)

                ก่อนเสด็จทิวงคต ก็ดูจะดำเนินตามรอยบาทพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เช่นกัน

                ในพระราชพงศาวดารกัมพูชา ซึ่ง จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โปรดให้ นายพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญภาษาเขมรและภาษาไทย แปล และเรียบเรียงเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ จดเรื่องพระองค์ด้วงทิวงคตไว้ว่า

                “ฝ่ายสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี...พระองค์ทรงพระประชวร มีพระอาการหนัก พระองค์ทรงพระคำนึงถึงการกุศล จึงมีพระดำรัสสั่งให้ ออกญาอิศรอักขรา เบิกเงินพระราชทรัพย์ไปช่วยไถ่คนชายหญิงที่เป็นข้าเขา ปล่อยให้เป็นไทยได้รอดจากความทุกข์ยาก ประมาณ ๑๐๐ คนเศษ สิ้นเงินพระราชทรัพย์ ๗๐๐ แน่น”

                ทว่าประการหลังที่ทรงสั่งไว้ดูจะทรงมีศรัทธาล้ำเกินออกไปนัก คือทรงสั่งว่า

                “ถ้าพระองค์สิ้นพระชนมชีพเมื่อใด ให้แล่พระมังสัง (เนื้อติดโลหิต) ของพระองค์พระราชทานให้เป็นทานแก่แร้งกา แลสรรพสัตว์ทั้งหลายบริโภคเป็นภักษาหารตามความพอใจ”

                ดังนั้น เมื่อเสด็จทิวงคตแล้ว นักองราชาวดี ผู้ขึ้นเสวยราชย์ เป็นสมเด็จพระนโรดมฯ (ที่ ๑) โอรสใหญ่ของพระองค์ด้วง พร้อมทั้งพระบรมวงศ์ ขุนนางจึงพร้อมใจกันปฏิบัติตามที่รับสั่งสั่งไว้

                แต่การแล่พระมังสานั้น กระทำพอเป็นพิธีบุญ คือแล่พอสมควรประดิษฐานบนพานเงิน นำไปให้ทานแก่สัตว์จตุบาทบ้าง ทวิบาทบ้าง ได้รับพระราชทานบริโภคจนหมด

                ธรรมเนียมการไว้ทุกข์ถวายนั้น ราชสำนักเขมรกับราชสำนักไทย มีธรรมเนียมราชประเพณีมาแต่โบราณเหมือนๆกัน คือ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ มุขมนตรีน้อยใหญ่ อาณาประชาราษฎร์ชายหญิงทุกคน ต้องโกนผมนุ่งขาว จนกว่าจะถวายพระเพลิงแล้ว

                เลยเล่าเรื่องการสถาปนาเจ้านายพระบรมวงศ์ในแผ่นดินพระองค์ด้วง แถมสักนิด

                เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก่อนอื่น จะทรงสถาปนาสมเด็จพระมารดา (เช่นเดียวกับราชสำนักไทย ซึ่งสถาปนาสมเด็จพระพันปีหลวงก่อน)

                เขมรนั้นสถาปนาพระมารดาขึ้นเป็น พระวรราชินี (พระมารดาของพระองค์ด้วงชื่อนักนางรศ) มีฐานะและพระเกียรติยศสูงสุดในฝ่ายใน ทรงสถาปนาฝ่ายในที่มีพระเกียรติยศลดหลั่นกันลงไป ๔ องค์ คือ

                ๑. พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ (ลูกสาวหัวปี) โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระราชธิดามหากระษัตรี

                ๒. พระราชธิดาองค์รองลงมา โปรดให้เป็นพระบรมมงคลทิวา

                ๓. นักนางแป้น (เมีย - แม่ของลูกชายใหญ่ คือ นักองราชาวดี) เป็นพระปิโยพระบรมท้าวธิดา

                ๔. นักนางเภา (เมีย - แม่ของนักองศรีสวัสดิ์หรือ นักองสุวัตถ์) เป็นพระปิโยพระบรมอัจฉราอับสร

                จะเห็นได้ว่า ยกย่องให้เป็น ‘สมเด็จ’ แต่สมเด็จพระวรราชินี (แม่) และสมเด็จพระราชธิดาองค์ใหญ่เท่านั้น

                สำหรับการยกย่องพระเกียรติยศ พระราชธิดาองค์ใหญ่นั้นน่าสันนิษฐานว่า เอาอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เช่นกัน เพราะในแผ่นดินนี้ เมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว โปรดยกย่องพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ คือ พระองค์เจ้าวิลาส ให้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ และทรงยกย่องเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

                สำหรับพระชายา ๒ องค์ (๓, ๔ ) นั้น เรียกกันว่า ‘พระเทพี’

                ส่วน ‘พระสนม’ ที่ทางราชสำนักไทยแบ่งเป็นพระสนมเอก พระสนมโท เรียกลำลองว่าเจ้าจอมมารดาหรือเจ้าจอมนั้น

                ราชสำนักเขมร เรียกพระสนมชั้นเอกว่า ‘พระแม่นาง’ มีฝ่ายขวา ๔ ฝ่ายซ้าย ๔ และมีพระแม่นางหัวหน้ายกขึ้นเป็นเจ้าอีก ๑ รวมเป็น ๙

                ส่วนพระสนมชั้นรองลงไป เรียกว่า ‘นักนาง’ มี ๔ นักนาง

                ที่จริงบรรดาพระแม่นางและนักนางทั้งหลายต่างมีชื่อบรรดาศักดิ์ไพเราะคล้องจองกัน จะบรรยายก็ยืดยาวนัก เอ่ยถึงเพียง ๔ นักนาง ก็พอ คือ

                นักนาง ชาติกินรี

                นักนาง ศรีกินรา

                นักนาง กินรโสภา

                นักนาง กินราไกรลาศ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×