ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #132 : หันตรี

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 454
      0
      11 เม.ย. 53

      หันตรีบารนี (Henry Burney) ราชทูตอังกฤษคนแรก เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ๙ เดือน ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เข้าเฝ้าเจ้านายสำคัญ และขุนนางเสนาบดีสำคัญ ในเวลานั้นทุกท่านและทุกพระองค์

                หันตรีบันทึกรายงาน ถึง โรเบิรต ฟุลเลยตัน ผู้สำเร็จราชการเกาะปรินซ็วฟเวลส์ (ปีนัง) เล่าถึงเจ้านายขุนนางที่ได้เข้าเฝ้าและได้เข้าพบในสายตาและความรู้สึก ตลอดจนการสังเกตของตน ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพของเจ้านายและขุนนางในสมัยนั้น อันเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียว

                หันตรีเล่าถึงการเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวภายในท้องพระโรงอย่างละเอียด และเล่าถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า “พวกเรารู้สึกว่าพระเจ้าอยู่หัวมีส่วนคล้ายคลึงกับเจ้านครมาก พระองค์ไม่ได้ทรงมงกุฎ ซึ่งข้าพเจ้าได้ทราบมาว่าท่านไม่เคยสวมเลย นอกจากในวันราชาภิเษกเท่านั้น ทรงสวมเสื้อยาวบางเป็นผ้ามุสลิน ทับฉลองพระองค์สีทองเต็มยศ”

                 ‘เจ้านคร’ ที่หันตรีกล่าวถึง คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่ว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งหันตรีได้พบมาก่อนหน้านี้

                 ‘เสื้อยาวบาง’ นั้นคือฉลองพระองค์ครุยกรองทองดังในภาพประกอบ

    พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องราชภูษิตาภรณ์เสด็จออกรับราชทูตอังกฤษ ทรงฉลองพระองค์ ครุยกรองทอง ซึ่งหันตรีบรรยาย ว่าเป็นผ้าขาวบาง (ถ้าพินิจให้ดีจะเห็นฉลองพระองค์ครุยนั้นบาง มองเห็นพระภูษา และฉลองพระองค์ชั้นใน โดยเฉพาะทางแถบขวาพระองค์ แสดงความละเอียดประณีตของช่างเขียน พระบรมฉายาสาทิศลักษณ์นี้ ประดิษฐานในกรอบลับแล ตั้งไว้ในพระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม เบื้องหน้าพระประธาน)

                ต่อมาเมื่อเข้าเฝ้าวังหน้าในท้องพระโรงวังหน้า หันตรีบรรยายว่า มีพิธีการต้อนรับแบบเดียวกับวันที่เราเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ผิดกันแต่ว่าพวกทูตต้องทำความเคารพ ทั้งแบบยุโรปและแบบไทยเพียงครั้งเดียว มิใช่ ๓ ครั้ง เหมือนเวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว

                หันตรีเล่าถึงวังหน้าว่า

                 “วังหน้าเดิมมียศเป็นกรมศักดิ์ เป็นพี่น้องกับพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่แล้ว พระมารดาของวังหน้าคือพี่สาวพระยานคร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลควบคุมหัวเมืองทางใต้ โดยเฉพาะพวกรัฐมลายูทั้งหลาย กล่าวกันว่า ท่านเป็นคนใจดีอย่างยิ่งอารมณ์ดี และชอบพอพวกชาวยุโรปกับพวกคริสเตียนในเมืองไทย วังหน้าฉลองพระองค์คล้ายคลึงกับพระเจ้าอยู่หัวและดูเป็นคนรูปร่างใหญ่โตผิดคนไทยทั้งหลาย ตลอดเวลาในระหว่างการเข้าเฝ้า วังหน้าสูบซิการ์หรือโรโก ซึ่งทำให้มองดูไม่มีสง่าราศีเท่ากับพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเคี้ยวพระสลา”

                 ‘กรมศักดิ์’ คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ (ศักดิพลเสพย์) พระอิสริยยศเดิมในรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ของวังหน้า พระนามเดิม พระองค์เจ้าอรุโณทัย พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นพระราชโอรสเพียงสองพระองค์กับพระองค์เจ้าอภัยทัต ที่ได้ทรงกรมในรัชกาลที่ ๑ (ศักดิพลเสพ เทพพลภักดิ์)

                น่าแปลกตรงฝรั่งอย่างหันตรีเห็นว่า ที่วังหน้าทรงสูบซิการ์นั้น ดูไม่มีสง่าราศีเท่าพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเคี้ยวพระสลา (หมาก)

                เจ้านายพระบรมวงศ์ที่สำคัญในเวลานั้น อีกสองพระองค์ คือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ใช้คำนำพระนามพระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลว่า พระเจ้า ‘บรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า’) และกรมหมื่นรักษ์รณเรศ

                กรมหมื่นสุรินทรรักษ์นั้น เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตานี ธิดาเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) เกิดแต่ภรรยาเดิมที่เสียชีวิตก่อนเจ้าพระยาอัครมหาเสนา จะได้สมรสกับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล น้องนางในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าฉัตร ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา

                หันตรีเข้าเฝ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ก่อนเล่าว่า

                 “ข้าพเจ้าได้ไปเฝ้ากรมหมื่นสุรินทร์พระปิตุลาของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ท่านผู้นี้มีอำนาจดูแลควบคุมการค้าและฝ่ายต่างประเทศของราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน้าที่เดียวกันกับหน้าที่ของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎ์ (ในรัชกาลที่ ๒) พระคลังและคนของพระคลังทั้งหมดขึ้นโดยตรงต่อเจ้านายพระองค์นี้ แต่สำหรับข้าพเจ้าดูเหมือนว่าท่านจะมีตำแหน่งเพื่อประดับเกียรติยศเท่านั้น พระเจ้าอยู่หัวคงจะพระราชทานอนุญาตให้ท่านมีอำนาจเล็กน้อยในการบริหารราชการ”

                การบริหารราชการในสมัยก่อนโน้น เป็นไปแบบที่มีเสนาบดี แต่พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดฯให้มีเจ้านายพระบรมวงศ์กำกับ เช่นกรมท่ามีเจ้าพระยาพระคลังเป็นเสนาบดีการท่าและโปรดฯให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์กำกับราชการกรมท่าดังนี้

                ทว่าในสมัยรัชกาลที่ ๒ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้ทรงกำกับราชการกรมท่า และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เสนาบดีกรมท่าท่านรักใคร่ชอบพอกันมาแต่เมื่อทรงผนวช และบวชอยู่ด้วยกันในรัชกาลที่ ๑ ทั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ก็นับถือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ท่านจึงกลมเกลียวกัน เสนาบดีเกรงพระทัยผู้ทรงกำกับราชการ

                มาถึงในรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ก็ยังเป็นเสนาบดีกรมท่า โปรดฯให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์กำกับ ทว่าอำนาจจริงๆ คงเป็นของเจ้าพระยาพระคลังที่หันตรีเรียกว่า ‘พระคลัง’ หันตรีจึงได้กล่าวว่า “สำหรับข้าพเจ้าดูเหมือนว่าท่านจะมีตำแหน่งเพื่อประดับเกียรติยศเท่านั้น”

                หันตรีบรรยายถึงกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ว่า

                 “วังของเจ้านายองค์นี้มีคนประจำอยู่น้อย และท่านประทับอยู่บนหมอนเหนือตั่ง ซึ่งปูด้วยผ้าปักสีแดง ยกสูงจากพื้นทองพระโรงประมาณ ๑ ฟุต ท่านมีลักษณะเป็นคนค่อนข้างหน้าตาดี อายุประมาณ ๓๘ ปี”

                ต่อไปหันตรีได้เข้าเฝ้ากรมหมื่นรักษ์รณเรศ

                กรมหมื่นรักษ์รณเรศ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าไกรสร ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ธิดาอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดฯให้เมืองนครศรีธรรมราชมีเกียรติยศเป็นนครประเทศราชตั้งเจ้าผู้ครองนครเป็นเจ้าประเทศราช

                กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) เป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าอภัยทัต) เป็นต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา

                หันตรีเล่าถึงกรมหมื่นรักษ์รณเรศว่า

                 “เมื่อคืนนี้ ข้าพเจ้าได้ไปเฝ้ากรมหมื่นรักษ์ ผู้เป็นเจ้านายเหนือกลาโหมขึ้นไปโดยตรง และคุมฝ่ายทหารทั้งหมดไว้ ท่านผู้นี้เป็นพี่ชายกรมหมื่นสุรินทร์ และมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่กล่าวกันว่าเป็นคนเคร่งครัด”

                เป็นอันว่าหันตรีได้เข้าเฝ้าเจ้านายสำคัญในขณะนั้นสองพระองค์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×