ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #131 : หันแตร

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 806
      1
      11 เม.ย. 53

    ครั้งก่อนเล่าถึง ‘หันตรี’ ครั้งนี้ถึง ‘หันแตร’

                เล่าแล้วว่า หันแตรเข้ามาค้าขาย หลังจากหันตรีเข้ามาทำสัญญาพระราชไมตรี ในต้นรัชกาลที่ ๓ (หันตรีเข้ามา พ.ศ.๒๓๖๗ หันแตรเข้ามา พ.ศ.๒๓๖๘)

                หันแตรเป็นอังกฤษเชื้อสายสก๊อต เดิมเป็นพ่อค้ามาตั้งห้างอยู่ที่สิงคโปร์ก่อน เมื่อเข้ามาบางกอกนั้น เป็นขณะที่ไทยกำลังบาดหมางอยู่กับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์หันแตรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปืนคาบศิลา ๑,๐๐๐ กระบอก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช’

                เมื่อหันแตรขอตั้งห้างค้าขายในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หันแตรเช่าที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ แต่ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) สร้างอาคารขึ้นเป็นทั้งที่พักและสำนักงาน โรงเก็บสินค้า พวกพ่อค้าต่างชาติพากันเรียกว่า โรงสินค้าอังกฤษ (The Britsh Faetory) ส่วนคนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘ห้างหันแตร’

    ภาพวาดห้างหันแตร

                ห้างหันแตรนี้ ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ เลิกกิจการไปแล้ว อาคารทรุดโทรม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) บุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) แต่ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) อยู่ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้สร้างตึกขึ้นใหม่ ให้ห้างมูเลอร์ไมสเนอร์เช่า

                ที่ตรงนั้นจึงเป็นที่ตั้งของห้างฝรั่ง ๒ ห้าง คือ ห้างหันแตรในรัชกาลที่ ๓ และห้างมูเลอร์ในรัชกาลที่ ๔

                นายหันแตรผู้นี้แต่แรกก็ดีอยู่ ทว่าต่อมานานเข้าเกิดความกำเริบโอหังด้วยประการต่างๆ

                เช่น นำฝิ่นเข้ามาขายให้คนจีน เป็นการขัดต่อสนธิสัญญา ที่หันตรี (เฮนรี่เบอร์นี่) ทำไว้กับไทย ข้อที่ว่า “พ่อค้าห้ามนำฝิ่น ซึ่งถือเป็นของต้องห้ามเข้ามาในพระราชอาณาเขตของสยาม”

                ครั้งหนึ่ง กัปตันเรือชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ถือปืนเข้าไปยิงนกพิราบในวัด พระภิกษุในวัดจึงห้าม เพราะเขตวัดไทยนั้นเป็นเขตอภัยทาน การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ถือว่าเป็นบาป ทำให้เกิดทะเลาะทุ่มเถียงกันขึ้น พระภิกษุไทยเกิดโทสะ จึงพากันเข้าแย่งปืนแล้วช่วยกันตีจนบอบช้ำ นายหันแตรกับหมอบรัดเลย์อยู่แถวนั้นเห็นเหตุการณ์เข้าจึงวิ่งไปช่วยเหลือฝรั่ง

                หันแตรนั้นโกรธมาก ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นำเรื่องขึ้นกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ให้นำเจ้าอาวาสมาประหารชีวิต และต้องขับไล่พระภิกษุออกจากวัดนี้ให้หมด มิฉะนั้นจะนำเรือของเขาแล่นขึ้นมายิงวัด และจะเลยไปยิงพระบรมมหาราชวังด้วย

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ เป็นผู้ทรงสอบสวนและตัดสินความผิดของพระภิกษุ

                สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงตัดสินให้ทำโทษเจ้าอาวาสและพระภิกษุลูกวัด โดยให้นั่งสมาธิกลางแดดครึ่งวัน และให้ทำงานปัดกวาด เป็นการประจาน และห้ามแตะต้องฝรั่งอีก ไม่ว่าฝรั่งจะเข้าไปทำความผิดอันใดในเขตวัด ซึ่งเป็นค่าตัดสินที่หันแตรไม่พอใจอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นอันเลิกรากันไป

     

    ภาพวาดบ้านเรือนแพหน้าวัดอรุณฯ

               ต่อมาก็มีเรื่องซื้อเรือรบ หันแตรรับว่าจะนำเรือรบมาขายให้ไทย ทว่าพอนำเข้ามาจริง เป็นเรือเก่าขึ้นสนิม ราคาถึง ๑,๒๐๐ ชั่ง ไทยก็ไม่ซื้อ ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ บันทึกไว้ว่า

                 “เจ้าพนักงานไม่ซื้อ หันแตรพูดหยาบช้าว่าในหลวงรับสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อจะเอาเรือไปผูกไว้หน้าตำหนักน้ำ ทรงทราบก็ขัดเคืองให้ไล่หันแตรไปเสีย ไม่ให้อยู่ในบ้านเมือง หันแตรออกไป จึงพูดอวดว่า จะออกไปฟ้องต่อคอเวอนเมนต์อังกฤษ จะให้กำปั่นรบเข้ามาชำระความ”

                หันแตรทำจริงๆ แล่นเรือหรือกำปั่นรบออกไปเมืองกัลกัตตา ขอให้อุปราชอังกฤษที่นั่นสั่งเรือรบเข้ามาตีเมืองบางกอก แต่ไม่สำเร็จ แม้เจ้าเมืองอังกฤษที่สิงคโปร์เมืองใหม่ ก็ตัดสินว่าไทยไม่ได้ผิดอะไร หันแตรจึงนำเรือรบไปขายให้ญวน แล้วกลับเข้ามาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็โดนขับไล่ออกไปอีก

                ความประพฤติก้าวร้าวโอหังของหันแตรนั้น เป็นเหตุให้เมื่อ เซอร์ เจมส์ บรูค เข้ามาขอแก้ไขทำหนังสือสัญญาใหม่ ใน พ.ศ.๒๓๙๓ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง ฝ่ายไทยได้นำความประพฤติของหันแตรอ้างต่อฝ่ายอังกฤษ ขอยกเลิกสัญญาข้อ (๒) ที่ฝ่ายอังกฤษเสนอมา

                สัญญาข้อ ๒ นั้นมีว่า (ในวงเล็บผู้เล่าเติม (อง)

                 “ข้อ ๒. ฝ่ายคนอันอยู่ใต้บังคับอังกฤษ (ไทย) ยอมจะให้มา แลมีที่อยู่ แลค้าขายในเมืองไทย แล (ใน) หัวเมืองที่เป็นขอบขัณฑเสมาแห่งท่านผู้ครองกรุงเทพฯ แล้ว (ถ้า) พวกประเทศอื่นได้คุณแลโอกาศในการซื้อขาย แลการอื่นๆ เป็นคุณประการใด จะ (ต้อง) ได้แก่คนอันอยู่ใต้บังคับอังกฤษเหมือนกัน

                อนึ่งถ้าคนอันอยู่ใต้บังคับกรุงเทพฯ จะไปมีที่อยู่ค้าขายในแดนอังกฤษทั่วเขตรแดนก็ยอมให้ทำได้ แล้ว (ถ้า) คนประเทศอื่นๆ ได้คุณแลโอกาศในการซื้อขายและการอื่น เปนคุณประการใด ก็จะได้แก่คนไทยเหล่านั้นเหมือนกัน”

                ฝ่ายไทยขอยกเลิก ข้อ ๒ นี้ โดยอ้างดังนี้

                 “ความข้อ ๒ นี้ เสนาบดีปฤกษาพร้อมกัน เห็นว่าคนไทยที่เป็นพ่อค้าพานิช จะไปตั้งซื้อขายในอังกฤษหามีไม่ มีแต่คนโหยกเหยก ละญาติพี่น้อง ทิ้งภูมิลำเนาไปเที่ยวอยู่ในเขตรแดนอังกฤษ คนดังนี้เราหาเอาเปนธุระไม่ เถิงจะไปเที่ยวอยู่บ้านใดเมืองใด กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองประการใดก็ให้กระทำโทษกันตามอาญากฎหมายบ้านเมืองนั้นเถิด

                ซึ่งคนอยู่ใต้บังคับอังกฤษจะเข้ามาอยู่ค้าขายในแดนเมืองไทย (และ) หัวเมืองซึ่งเปนขอบขัณฑเสมาให้ได้เหมือนคนประเทศอื่นๆ นั้น คนประเทศอื่นเข้ามาตั้งทำมาหากินอยู่ในขอบขัณฑเสมาช้านานหลายชั่วอายุคนมาแล้ว จนมีภรรยามีบุตร มีหลาน เกี่ยวพันกันทุกชาติทุกภาษา เช่นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหมือนกัน จะทำเรือกสวนไร่นาทำมาหากินประการใดก็กระทำได้ ถ้าคนเหล่านั้นกระทำผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายก็กระทำโทษได้เหมือนคนไทย

                แลคนชาติอังกฤษแต่บุราณมา ก็ยังไม่เคยเข้ามาอยู่ในแดนกรุง เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีออกฉศก มิศหันแตรเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ ณ กรุงฯ ก่อนลูกค้าอังกฤษทั้งปวง เมื่อแรกเข้ามาก็ซื้อขายกับลูกค้าพานิชเป็นปกติ หามีถ้อยความเกี่ยวข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชประสงค์ปืนใหญ่น้อย ก็อุส่าห์หาเข้ามาจำหน่าย ก็ได้ซื้อหาไว้เปนกำลังสำหรับบ้านเมือง มิศหันแตรเข้ามาอยู่ที่กรุงฯหลายปี จนได้ฝรั่งชาติพุดเกดที่กรุงฯ เปนภรรยาเกิดบุตรใหญ่แล้ว มิศหันแตรขอลาให้บุตรออกไปเรียนหนังสือที่เมืองวิลาศ เจ้าพนักงานก็ตามใจมิได้ขัดขวาง มิศหันแตรรู้อย่างธรรมเนียม ณ กรุงฯทุกสิ่งทุกประการ ครั้นนานมาคุ้นเคยกันเข้ากับอ้ายพวกจีนคนร้าย ก็เอาฝิ่นซึ่งเปนของต้องห้ามเข้ามาลักลอบซื้อขายกัน แลจำหน่ายสิ่งของใดๆ ไปกับลูกค้าก็เปนความเกี่ยวข้องกันเนืองๆ พูดจาขู่ข่มข่มเหงลูกค้าหลายอย่าง แล้วมิศหันแตรพูดอวดว่ากำปั่นไฟใช้ได้รวดเร็วคล่องแคล่วนัก จึงเอากำปั่นไฟเข้ามาลำหนึ่ง ติดไฟขึ้นใช้กำปั่นให้ขุนนางแลราษฎรดูก็ไม่เห็นรวดเร็ว

    พอทัด (เทียม) กันกับเรือ ๙ พาย ๑๐ พาย ไม่เปนอัศจรรย์นัก กำปั่นลำนั้นก็เปนกำปั่นเก่าผุรั่วอยู่บ้างแล้ว จะขอขายให้ในหลวงเปนราคา ๑,๒๐๐ ชั่ง เจ้าพนักงานไม่ซื้อไว้ก็โกรธ ว่ากล่าวเหลือเกินต่อเจ้าพนักงานต่างๆ  ทำให้ผิดสัญญาซึ่งกปิตัน หันตรี ทรนี ทำไว้ เสนาบดีเห็นพร้อมกันว่าหันแตรพูดเหลือเกินก็ให้ขับไปเสียไม่ให้อยู่ในบ้านในเมือง แลมิศเฮพวกเดียวกันกับมิศหันแตร ไม่ได้ทำถ้อยความสิ่งไรให้เกี่ยวข้องกับการบ้านเมืองก็ให้ได้อยู่ซื้อขายมาจนทุกวันนี้

                เราเห็นว่าแต่หันแตรเข้ามาอยู่คนเดียวเท่านี้ ยังองอาจพูดจาเหลือเกิน ถ้าอังกฤษจะเข้ามาอยู่ ณ กรุงฯ มากแล้ว จะเที่ยวไปอยู่ในขอบขันฑเสมาแห่งใดๆ  ก็จะมีความทะเลาะวิวาทจนถึงทุบตีกัน ฝ่ายอังกฤษฤาฝ่ายไทยล้มตายลงฝ่ายหนึ่ง ก็จะเปนความใหญ่ขึ้น เห็นการดังนี้ (แล้ว) ที่จะให้อังกฤษเข้ามาอยู่มากนักไม่ได้ บ้านเมืองจะไม่อยู่เย็นเปนสุข ทั้งจะทำให้ทางไมตรีมัวหมองไป ความข้อ ๒ นี้ ขอเสียเถิด เราจะยอมให้ไม่ได้”

                 ‘มิศ’ ก็คือย่อจากคำว่า ‘มิสเตอร์’

                 ‘ฝรั่งพุทเกด’ คือ ฝรั่งโปรตุเกศ ว่าภรรยาของหันแตร เป็นเชื้อสายโปรตุเกศ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (พอลคอน) สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โน้น นับถือศาสนาแคทอลิค ชื่อฝรั่งว่าแองเจลิน่า (ชื่อนักบุญ) ชื่อไทยว่า ทรัพย์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×