ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #133 : จดหมายของหันตรี

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 687
      3
      11 เม.ย. 53

     ยังมีเจ้านายอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งหันตรีเล่าไว้ในจดหมายรายงานถึงผู้สำเร็จราชการเกาะปรินซ์ออฟเวลส์ (ปีนัง)

                หันตรีเขียนเล่าว่า

                 “นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีอิทธิพลมากในกรุงเทพฯอีกท่านหนึ่งคือกรมขุน ผู้ซึ่งในสมัยรัชกาลที่แล้วเป็นสมาชิกรัฐบาลที่มีอิทธิพลและเอาใจใส่ในกิจการต่างๆ อย่างมาก แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันขึ้นครองราชย์ ท่านก็ลาออกจากการบริหารราชการต่างๆ โดยกล่าวอ้างว่าอายุมากแล้ว กล่าวกันว่าท่านไม่พอใจในการขึ้นครองราชสมบัติของรัชกาลนี้ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็แสดงความนับถือให้เกียรติกรมขุนเป็นอย่างดี เวลาที่เข้าเฝ้าก็จะพระราชทานหมอนให้พิง แต่ท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าเฝ้าบ่อยนัก ตามปกติวังหน้าอาจใช้หมอนพิงได้เวลาอยู่ต่อหน้าพระที่นั่ง”

                จากจดหมายของหันตรี ทำให้ได้ทราบว่า เจ้านายที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้น หากพระราชทานหมอนให้ทรงพิง หรือมีหมอนพิงเป็นพิเศษ แสดงว่าเป็นเจ้านายที่มีเกียรติยศสูง

                 ‘กรมขุน’ ซึ่งหันตรีกล่าวถึง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ สมเด็จพระอนุชาพระองค์น้อยในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ทรงดำรงพระยศเจ้าฟ้าบุญรอดดังเดิม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มิได้ทรงสถาปนาให้ทรงพระอิสริยยศใดๆ  หากแต่ก็ทรงอยู่ในพระสถานะพระมเหสี พระภรรยาเจ้าเพียงพระองค์เดียวในตอนต้นรัชกาล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงทรงรับสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระมเหสีพระภรรยาเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง มิได้ทรงสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศใดเช่นกันคงทรงเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลฯ ดังเดิมถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระราชชนนี เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ออกพระนามใหม่ว่า ‘สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี’ ในรัชกาลที่ ๓ นั้น คนทั่วไปออกพระนามเจ้าฟ้าบุญรอดว่า ‘สมเด็จพระพันวษา’ (สะกดอย่างเก่า) ‘สมเด็จพระพรรษา’ บ้าง (ตามปากชาวบ้าน) หรือ ‘สมเด็จพระพันวัสสา’ (สะกดอย่างปัจจุบัน)

                สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงมีพระเชษฐา ๒ พระองค์ พระอนุชา ๑ พระองค์ คือ

                ๑. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นพระเชษฐา (ต้นราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา)
                ๒. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เป็นพระเชษฐา (ต้นราชสกุลมนตรีกุล ณ อยุธยา)
                ๓. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี เป็นพระอนุชา (ต้นราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา)

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์นั้น สิ้นพระชนม์แต่ในรัชกาลที่ ๑ ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคต ๔ ปี

                เมื่อ จอห์น ครอเฟิร์ด หรือ การะฝัด เข้ามาเมืองไทยในปลายรัชกาลที่ ๒ การะฝัดแต่งหนังสือเอาไว้ว่า เวลานั้นผู้ใหญ่คือเจ้านายเสนาบดีคนสำคัญๆ ของกรุงสยามแบ่งกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งนับถือพระสติปัญญาความสามารถของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัว พวกนี้มีเจ้าพระยาพระคลังเป็นหัวหน้าอีกพวกหนึ่งสนับสนุนสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ มีเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นหัวหน้า

    หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) โอรสในกรมหมื่นเทวานุรักษ์ (หม่อมเจ้าชะอุ่ม)

                น่าสังเกตว่า ที่จริงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์) สวรรคตล่วงแล้วถึง ๕-๖ ปี (ทรงเป็นวังหน้าอยู่ ๘ ปี) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็มิได้โปรดฯตั้งเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นวังหน้า หรือพระมหาอุปราช ผู้ซึ่งจะได้สืบราชสมบัติต่อไป ดังในรัชกาลที่ ๑ ขณะเดียวกันในปลายรัชกาลนั้น พระราชานุกิจน้อยใหญ่โปรดฯให้ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงทำหน้าที่แทนพระองค์ทุกอย่าง ดังที่ศาสตราจารย์วอลเตอร์ ฟรานซิส เวลลา เขียนไว้ในหนังสือเรื่องแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ ของเขา ตอนหนึ่งว่า

                 “นักสังเกตการณ์ชาวยุโรปผู้หนึ่งได้กล่าวถึงพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขณะดำรงพระยศกรมหมื่นฯ ใน ร.๒ จุลลดาฯ) ไว้ว่า ‘กรณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความสงบสุขของประชาราษฎร์และบ้านเมืองก็ดี หรือที่เกี่ยวกับการศึกสงครามก็ตามตลอดจนกรณีที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ การตราพระราชกำหนดกฎหมาย การศาสนา การวางนโยบายปกครองบ้านเมืองและประชาราษฎร์ การศาลสถิตยุติธรรม พระองค์เป็นผู้ควบคุมดำเนินการทั้งหมด โดยมิต้องกราบบังคมทูลขอคำปรึกษาและเห็นชอบจากองค์พระมหากษัตติย์’

                บรรดาชาวยุโรปต่างพากันมีทรรศนะ ต่อพระองค์ว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถ ฉลาดเฉลียว และทรงมีความรอบรู้เป็นเลิศ”

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๓๖๕ นั้น หลังจากการะฝัดกลับออกไป อีก ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เสด็จสวรรคต

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๗๓ พระชันษา ๕๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชทานพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ พระราชทานเพลิง ณ เมรุกลางเมือง

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงมีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ พระองค์ใหญ่พระนามว่า หม่อมเจ้าชะอุ่ม

                หม่อมเจ้าชายชะอุ่มต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ สถาปนา เป็น กรมหมื่นเทวานุรักษ์ พร้อมกับ หม่อมเจ้าชายพยอม พระโอรส ใน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นมนตรีรักษา

                กรมหมื่นมนตรีรักษา และกรมหมื่นเทวานุรักษ์เป็นพระวงศานุวงศ์ เพียง ๒ พระองค์ที่เป็นหม่อมเจ้า และโปรดฯให้ทรงกรมเลย โดยมิได้เลื่อนพระยศเป็นพระองค์เจ้าก่อน

                กรมหมื่นเทวานุรักษ์ เป็นพระบิดาของหม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

                ในหนังสือราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา เรียบเรียงโดย พลเรือตรี เอกไชย อิศรางกูร ณ อยุธยา นั้น พระประวัติของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ปรากฏแต่พระนามพระโอรสธิดา ทว่าไม่ปรากฏพระนามพระชายาและหม่อมห้ามเลยสักท่านเดียว

                แต่ได้พบว่า ในหนังสือลำดับสกุลเก่าพระวงศ์ของขุนหลวงตาก นั้น ว่า

                 “ลำดับ (๒๓) เจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี ที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาฉิม (กรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์) ท้องเดียวกับพระพงศ์นรินทร์ (เจ้าฟ้าหัศพงศ์) เป็นหม่อมห้ามในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์”

                และในหนังสือลำดับสกุลวงศ์นั้นยังปรากฏต่อไปอีกว่า

                 “คุณหญิงปัญจปาปี หม่อมห้ามในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ มีหม่อมเจ้าชายหญิงคือ

                ๑. หม่อมเจ้าชายใหญ่
                ๒. หม่อมเจ้าชายกลาง
                ๓. หม่อมเจ้าหญิงสีฟ้า
                ๔. หม่อมเจ้าชายสุนทรา
                ๕. หม่อมเจ้าหญิงรศสุคนธ์

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ท่านประสูติ พ.ศ.๒๓๑๖ เพิ่งสถาปนากรุงธนบุรีได้ ๖ ปี ส่วนเจ้าฟ้าปัญจปาปีคงประสูติทีหลัง ชันษาคงไม่ห่างกันนัก เป็นหนุ่มสาวทันๆ กัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ อาจจะพระราชทานให้เป็นหม่อมห้ามท่านแรกก็เป็นได้ โอรสองค์แรก จึงเรียกกันว่า หม่อมเจ้าชายใหญ่ องค์รองเรียกว่า หม่อมเจ้าชายกลาง

                น่าประหลาดที่ไม่ปรากฏพระนามในหนังสือราชสกุลอิสรางกูร ณ อยุธยา สักองค์เดียว มีพระนามหม่อมเจ้ารศสุคนธ์ หนังสือก็บอกว่าเป็นโอรส ไม่ใช่ธิดา

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×