ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #304 : หนังสือในยุคกรุงสยาม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 445
      0
      20 เม.ย. 53

     หนังสือ ‘วชิรญาณ’ ไม่ใช่หนังสือประเภทนิตยสารที่เจ้านายช่วยกันออกเป็นครั้งแรก
             หนังสือประเภทที่เรียกกันว่า นิตยสารในปัจจุบัน ซึ่งเจ้านายเป็นผู้ทรงออกครั้งแรกนั้น คือ หนังสือ ‘ดรุโณวาท’ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทยด้วย
             ออกเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
             ผู้ทรงเป็นทั้งเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณา คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาค (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์) ขณะนั้นทรงพระชนม์เพียง ๑๘ พรรษา
             ก่อนหน้าจะออกหนังสือ ‘ดรุโณวาท’ ประมาณ ๒ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ออกหนังสือของทางราชการ คือ ‘หนังสือราชกิจจานุเบกษา’ อันเป็นหนังสือข่าวราชการ พิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง
             ที่จริงหนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ เป็นหนังสือซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดฯให้พิมพ์ออกมา แต่ในรัชกาลของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๑ พระราชทานชื่อว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ เพื่อแจกจ่ายไปตามบรรดาเจ้านายและขุนนาง ครั้งนั้นจะว่าเป็นนิตยสารก็ยังว่ามิได้ ด้วยการออกไม่มีกำหนดแน่นอน
             ทว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ ที่เพิ่งออกในรัชกาลที่ ๕ นี้ โปรดเกล้าฯให้จัดออกเดือนละ ๔ ครั้งทุกเดือนไป และไม่แจกเหมือนครั้งก่อน หากแต่คิดค่ารับปีละ ๘ บาท ค่าส่งถึงบ้านอีก ๒ บาท
             พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์ คงจะทรงได้ ‘ไอเดีย’ มาจากหนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ จึงทรงปรึกษาพระองค์เจ้าพี่น้อง และทรงเป็น ‘ตัวตั้งตัวตี’ ออกหนังสือ ‘ดรุโณวาท’ ขึ้น
             ในฉบับแรกทรงแถลงถึงวัตถุประสงค์การออกหนังสือเอาไว้ว่า
             “...แต่ราชกิจจานุเบกษาคำนี้ แปลว่า เพ่งดูตามราชการใหญ่น้อย ก็ซึ่งจะเอาเรื่องนอกราชการ คือข่าวต่างประเทศ และข่าวบอกราคาสินค้าแลการเลหลังเป็นต้น มาลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาของหลวงนั้นหาสมควรไม่ เพราะจะผิดจากคำแปลของราชกิจจานุเบกษานั้นไป ข้าพเจ้าจึงพร้อมใจกับพระองค์เจ้าพี่พระองค์เจ้าน้อง แลข้าราชการที่ได้หารือกัน คิดทำหนังสือพิมพ์ขึ้นอีกอย่างหนึ่งให้ชื่อว่า ‘ดรุโณวาท’ แปลว่า คำสอนของเด็กหนุ่ม ให้เป็นฉบับอนุโลมตามราชกิจจานุเบกษาขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง...”
             และยังทรงชี้แจงต่ออย่างละเอียด ซึ่งในสมัยนั้น ยังไม่มีศัพท์เฉพาะที่แปลจากภาษาอังกฤษ จึงทรงใช้ภาษาอังกฤษโดยตรงประกอบ คือ
             “...ในหนังสือดรุโณวาทนี้ จะมีเรื่องความเกี่ยวข้องในราชการบ้าง ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Political ความนอกราชการ คือข่าวต่างประเทศ Foreign news แลบอกราคาสินค้าแลการเลหลัง คือ Advertisements แลหนังสือสุภาษิตเครื่องสอนใจ คือ Proverbs และตำราการแสดงแบบแผนวิชาต่างๆ คือ Sciences and fine arts แลหนังสือบทกลอนกาพย์โคลงพากย์ฉันท์ คือ Poetry and Drama ของโบราณบ้างของใหม่บ้าง แลเรื่องนิยาย นิทานเก่าใหม่ คือ Fable ที่เป็นคติทางชักจูงปัญญาของคนให้ฉลาดขึ้น แลจดหมายเหตุการเล็กน้อย คือ general news เป็นข่าวในกรุง ข่าวนอกกรุง ลงพิมพ์ในโรงพิมพ์ของข้าพเจ้า” หนังสือราชกิจจานุเบกษา พิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง แต่หนังสือ ดรุโณวาท พิมพ์ที่โรงพิมพ์ในวังของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์ ซึ่งท่านประกาศไว้ในหนังสือว่า
             “หนังสือดรุโณวาทนี้ได้ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ในบ้านของข้าพเจ้า ที่สุดถนนเจริญกรุง ใกล้ประตูใหญ่วัดสเกษ (วัดสระเกศ-จุลลดาฯ)
              จะตีพิมพ์ออกเจ็ดวันครั้งหนึ่ง (สมัยนี้คือนิตยสารรายสัปดาห์-จุลลดาฯ) ออกวันอังคารเสมอจนตลอดปีๆหนึ่ง ๕๒ ฉบับ ราคาปีละ ๘ บาท ถ้าส่งถึงบ้าน ๑๐ บาท หกเดือนราคา ๕ บาท ส่งถึงบ้าน ๖ บาท ๒ สลึง สามเดือนราคา ๓ บาท ส่งถึงบ้าน ๔ บาท ถ้าซื้อใบหนึ่งสองใบราคาใบละสลึงเฟื้อง (คือขายปลีกฉบับละ ๑ สลึง ๑ เฟื้อง-จุลลดาฯ) ถ้าผู้ใดจะซื้อหนังสือนี้ เชิญมาลงชื่อที่บ้านข้าพเจ้าเทอญ”
             และด้วยตามธรรมดาหนังสือต่างๆนั้นต้องมีผู้เขียนเรื่องมาลงพิมพ์ (นักเขียน) องค์บรรณาธิการจึงทรงแถลงในหน้าหนังสือว่า
             “ขอแจ้งความมายังท่านทั้งปวงได้ทราบ ด้วยท่านทั้งหลายบางคนมีความปรารถนา จะช่วยข้าพเจ้าจัดการนี้ แต่ไม่ปรารถนาจะให้ผู้ใดรู้ ว่าถ้อยคำทั้งปวงที่ท่านส่งมาให้ข้าพเจ้า ว่าเป็นของๆท่าน แล้วก็มีความรังเกียจกลัวว่าข้าพเจ้าจะไปบอกกับคนทั้งหลายทั้งปวงแพร่พรายไปนั้น ขอท่านทั้งหลายผู้ซึ่งปรารถนาจะช่วยในการนี้ อย่าได้มีความรังเกียจเลย ข้าพเจ้าจะรับปิดชื่อเสียงของท่าน มิให้แพร่งพรายได้ แต่เนื้อความที่ท่านจะส่งมาให้ข้าพเจ้าลงพิมพ์นั้น ข้าพเจ้าจะต้องขอกรวดดูก่อน ถ้าควรจะลงพิมพ์ได้แล้ว ข้าพเจ้าก็จะเอาลงในดรุโณวาท แต่ถ้าข้าพเจ้าเหนความนั้นจะขัดข้องด้วยประการหนึ่งประการใด ข้าพเจ้าก็ต้องขอยกเสีย
             ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดส่งสิ่งทั้งปวงมาให้ข้าพเจ้าๆจะได้ลงพิมพ์ไปแล้วก็ดี ฤๅยังไม่ได้ลงพิมพ์ก็ดี ข้าพเจ้าก็จะมิได้แพร่งพรายให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้เป็นอันขาด ขอท่านทั้งปวงอย่าได้มีความรังเกียจสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย”
             แจ้งความหรือบรรณาธิการแถลงนี้ แสดงว่าเริ่มมีการใช้นามแฝง ซึ่งองค์บรรณาธิการทรงแสดงมารยาทของบรรณาธิการว่าจะไม่แพร่งพรายว่าเป็นใครอย่างเด็ดขาด และได้แสดงหน้าที่ของบรรณาธิการว่า แต่ก็ต้องกรวดข้อความที่จะเอาลง เขียนว่า กรวด แม้แต่ในหนังสือ แสดงว่าคนสมัยนั้นแม้จะนับว่าเป็นปัญญาชน ก็ยังพูดคำกล้ำคำควบไม่ชัด โดยเฉพาะคำ ‘ตร’ ตรวจ จึงเป็น กรวด ตรง จึงเป็น กรง ตรากตรำ เป็น กรากกรำ ฯลฯ
             ทีนี้ จะขอคัดเรื่องบางเรื่องในหนังสือ ดรุโณวาท พอเป็นตัวอย่าง ให้ได้ทราบถึงสำนวนภาษาที่ลงในนิตยสารสมัย พ.ศ.๒๔๑๗ เมื่อ ๑๓๒ ปีมาแล้ว ข่าว Political (สะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิมเว้นแต่จุลภาคและมหัพภาคไม่ได้ใส่)
             “ณวันเสาร์เดือน ๙ ขึ้นสามค่ำปีจอฉอศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาที่บนที่นั่งบรมราชสถิตยมะโหฬาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่าปรีวีเคาน์ซิล ที่จะให้พวกที่รับปฤกษาจะได้ถวายสัตยานุสัจ ครั้นเวลาทุ่มเสศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึ่งทรงพระกรุณาโปรด ให้นิมนต์พระสงฆสิบรูป ซึ่งจะได้สวดพระพุทธมนต์นั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์หนึ่ง...ฯลฯ...ฯลฯ...รวมสิบรูปเข้าไปในพระที่นั่งบรมมะโหฬาร
             จึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ทรงจุดเทียรนมัศการ พระสงฆ์ก็ถวายศีล ครั้นทรงศีลแล้ว พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรมาประทับตรัสกับพระบรมวงษานุวงษ แลขุนนางข้าราชการ ซึ่งได้เข้าไปเฝ้าในที่นั้น คือ...ฯลฯ...ฯลฯ...รวมแปดด้วยกัน ครั้นพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ใกล้จบ ก็เสด็จขึ้นประมาณสี่ห้านาทีเสด็จออก ครั้นพระสงฆ์สวดจบแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนิรไปถวายไทยธรรม ครั้นทรงถวายไทยธรรมเสร็จแล้วพระสงฆ์ทั้งปวงถวายอดิเรกแล้วถวายพระพรลา จึ่งทรงพระกรุณาโปรด ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษออกมาเชิญพวกปรีวีเคาน์ซิล ซึ่งจะได้รับเป็นที่เกาน์ซิลนั้น คือ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ...รวมสี่สิบแปดด้วยกัน เมื่อท่านปรีวีเคาน์ซิลเข้าไปนั้นเรียงตัวเข้าไปทีละคน ครั้นเข้าไปถึงน่าพระที่นั่งภอสมควรก็น้อมเกล้าถวายคำนับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึ่งพระราชทานพระหัตถ์ให้จับทุกๆคนโดยลำดับ ครั้นพร้อมกันแล้ว ภอเวลายามหนึ่ง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นั่งที่เก้าอี้ซึ่งตั้งไว้นั้น แล้วจึ่งทรงยืนขึ้นสปีก อธิบายในการที่ซึ่งเชิญเข้ามาเป็นปรีวีเคาน์ซิลนั้นประมาณ ๒๐ นาที จึ่งเสร็จ แล้วพวกเคาน์ซิลทั้งปวง ก็ยืนขึ้นถวายคำนับแล้วก็นั่งลงตามเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จประทับตรัสอยู่ในที่นั้น ครั้นเวลายาม ๓๔ มินิต ก็เสด็จขึ้น พวกปรีวีเคาน์ซิลทั้งปวงก็ยืนขึ้นถวายคำนับพร้อมกันแล้วกลับออกมา”
             อนึ่ง สมัยนั้นทุกเรื่องทุกบทความท่านเขียนและพิมพ์ จะมีมหัพภาค (full stop) และจุลภาค (Comma) ทุกวรรคตอน อย่างหนังสือฝรั่ง ดังเช่น เรื่องข่าวต่างประเทศที่ยกมานี้ (สะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิมและใส่หัพภาค จุลภาคตามเดิมด้วย)


    Foreign news
    (ข่าวต่างประเทศ)
             “ข่าวมาทางตะเลบแครฟสายไฟฟ้า
             ลอนดอนวันที่ ๑๕ เดือนยุไล, คฤษตศักราช ๑๘๗๔ เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่เมืองชิกคาโก ซึ่งอยู่ในเมืองยุในติดสเตดอเมริกา, เมื่อกำลังไฟไหม้นั้นเกิดลมพายุใหญ่, ไฟไหม้ติดต่อดับไม่หยุด.
             ลอนดอน วันที่ ๑๖ เดือนยูไล, ไฟไหม้ที่เมืองชิกคาโคนี้ดับแล้ว คิดเอศติเมศราคาของที่เสียประมาณสี่ล้านเหรียญ.
             ที่เมืองยกเชอร์แลเมืองเดอร์ปีเซอร์, หัวเมืองซึ่งอยู่ในเมืองอังกฤษนี้ คนทำด่านสิลาประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ คน. หยุดการเสียไม่ทำด่านสิลา, จะขอเงินค่าจ้างขึ้นอีก.
             ลอนดอน วันที่ ๑๓ เดือนยูน, มีผู้ร้ายคนหนึ่งเปนคนหนุ่มไม่มีใครรู้จัก, คิดจะทำร้ายฆ่าปรินซ์บิศมาร์, เมื่อเวลาท่านขี่รถเล่นบนรถที่เมืองซิตสิงเคน, อ้ายผู้ร้ายนั้นเอาปืนยิงถูกปรินซ์บิศมาร์กที่ข้อมือ, แต่ไม่สู้สำคัญนัก, แล้วเขาจับตัวอ้ายผู้ร้ายได้.
             ที่เมืองปรูซเซียฝ่ายตวันออกนั้น พวกชาวนาชาวสวนเกิดขบถลุกขึ้น, เพราะเหตุด้วยตั้งกดหมายสำหรับหัวเมืองนั้นใหม่.
                                                                      ...ฯลฯ...
             เมืองจีนกับเมืองยี่ปุ่น, ข่าวว่าจะทำสงครามแก่กัน, ได้ประกาศที่จะรบกันแล้ว.
             ข่าวมาทางสายตะเลแกรฟว่า, ราชทูตรุศเซีย ที่จะมาอยู่เมืองจีนนั้น, ได้มาถึงเมืองปกิ่งแล้ว, ได้เฝ้าแอมเปรอเจ้ากรุงจีนด้วยทางราชการแล้ว.”
             จากข่าวต่างประเทศทางโทรเลข ซึ่งบางทีก็ใช้ทับศัพท์ว่าตะเลบแครฟบ้าง ตะเลแกรฟบ้าง ที่นำมาลงใน ‘ดรุโณวาท’ นี้ ทำให้ได้ทราบว่า ขณะนั้นสยามรับโทรเลขได้จากกรุงลอนดอน เวลานั้นจึงทำให้เราได้รู้ข่าวต่างๆของนานาประเทศในยุโรปอย่างกว้างขวางพอสมควรทีเดียว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×