ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #37 : โอ้เอ้พิหารราย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 5.28K
      27
      28 ก.ค. 64

    ‘โอ้เอ้วิหารราย’ (หรือ ‘โอ้เอ้พิหารราย’) เป็นสำนวนหมายถึง ยืดยาด อ้อยอิ่ง ล่าช้า 

    .
    .
    .

    หลายท่านคงเคยเข้าไปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในระหว่างเข้าพรรษา ท่านคงจะสังเกตเห็นตามวิหารรายรอบพระอุโบสถจะมีเด็กนักเรียนนั่งอยู่บนศาลาราย บนศาลาตั้งโต๊ะหมู่บูชา มีม้ารองหนังสือวางไว้ และเมื่อถึงเวลาเด็กเหล่านี้ก็จะอ่านหนังสือเป็นทำนองอันไพเราะเวียนกันไปทีละศาลาจนครบหมด เรียกว่า “โอ้เอ้วิหารราย”

    “การสวดโอ้เอ้” มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

    ซึ่งทรงอุทิศพระราชวังส่วนหนึ่งเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์และให้ประชุมนักปราชญ์มาแต่งมหาชาติคำหลวง โดยมีพระสังฆราชเป็นประธานเพื่อใช้สวดในพระอุโบสถ

    เมื่อแต่งเสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกซ้อมนักสวดตามวิหารที่รายรอบวัดพระศรีสรรเพชญ์ และคัดเลือกผู้ที่สวดดี คล่องแคล่ว แม่นยำในอักขระและทำนองขึ้นไปอ่านที่วิหารใหญ่ ถวาย 3 ชุด ชุดละ 4 คน เพื่อสับเปลี่ยนกัน ส่วนที่เหลือก็ให้ฝึกหัดสวดกันต่อไปตามศาลารายเช่นเดิม จึงเกิดเป็นสำนวน “โอ้เอ้วิหารราย” ขึ้น

    การสวดมหาชาติคำหลวงในสมัยอยุธยาสวดในระหว่างเข้าพรรษา 3 ครั้ง คือ ตอนเข้าพรรษาครั้งหนึ่ง กลางพรรษาครั้งหนึ่ง และออกพรรษาอีกครั้งหนึ่ง 

    กษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาฟังทุกนัด เมื่อสวดครบสามนัดแล้วจะพระราชทานเงินรางวัลให้แก่นักสวดทั้ง 3 ชุดๆ ละ 1 ชั่ง การสวดมหาชาติคำหลวงยังคงมีสวดเป็นประเพณีตลอดมา แต่ภายหลังเรียกว่า “สวดโอ้เอ้วิหารราย”
     

    อาจเป็นเพราะคนรุ่นหลังไม่ทราบว่ามีการสวดมหาชาติคำหลวงในวิหารใหญ่เห็นแต่เพียงการสวดฝึกหัดตามศาลารายเท่านั้น จึงเข้าใจว่านั่นคือการสวดโอ้เอ้วิหารราย

    .
    .
    .

    เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า หนังสือมหาชาติคำหลวงกระจัดกระจายสูญหายไปเกือบหมด ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์แต่งมหาชาติคำหลวงซ่อมแซมกัณฑ์ที่สูญหาย 6 กัณฑ์ได้แก่ หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักบรรพ และฉกษัตริย์ ขึ้นใหม่ 

    การสวดมหาชาติคำหลวงก็ยังสวดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสวดในพระอุโบสถ มีหัวหน้าสวดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า “ขุนทิน” “ขุนทาน” และพระมหากษัตริย์เสด็จฟังการสวดทุกนัด

    .
    .
    .

    ในรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงทานข้างประตูต้นสน เมื่อถึงเทศกาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดนักเรียนโรงทานมาสวดที่ศาลาราย 

    แต่แทนที่จะสวดมหาชาติคำหลวงเปลี่ยนเป็นสวดเทียบมูลบทแทน เมื่อขุนทิน ขุนทาน ถึงแก่อนิจกรรมแล้วการสวดมหาชาติ ก็เรียวลงเหลือแต่สวดกัณฑ์มหาพนเพียงกัณฑ์เดียว 

    .
    .
    .

    ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริจะให้มีการสวด ตามศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีทั้งหมด 12 ศาลา แต่ข้าราชการในกรมธรรมการขณะนั้นมีจำนวนน้อย และผู้ฟังก็คงจะไม่ค่อยสนใจฟังสวดเทียบมูลบทนัก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนโรงทานมาสวดตามหนังสือที่ตนเรียน คือ เรื่องกาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ 

    การสวดโอ้เอ้วิหารรายเปลี่ยนจากการฝึกสวดมหาชาติคำหลวงมาเป็นสวดเรื่องกาพย์พระไชยสุริยามาจนทุกวันนี้  

    .
    .
    .

    พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์โดย สุนทรภู่ เป็นนิทานสำหรับสอนการเขียนอ่าน โดยมีบทอ่านเรียงลำดับการสะกดคำตั้งแต่ แม่ ก กา ตามด้วย แม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม จนถึงแม่เกยตามลำดับ 

    ลักษณะการประพันธ์แบบกาพย์ประเภทต่างๆ คือ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28  สำหรับใช้เป็นบทเรียนเขียนอ่านของหม่อมเจ้าพระองค์น้อยๆ 

    กาพย์พระไชยสุริยา ได้บรรจุอยู่ในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นแบบเรียนของไทยที่จัดทำโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

    .
    .
    .

    ปัจจุบันมี 3 ทำนองไม่เปลี่ยนแปลง ดังนี้ 

     

    1. ทำนองยานี 

    ทำนองยานีหรือที่เรียกตามชนิดของคำประพันธ์ว่าสทำนองกาพย์ยานี เป็นทำนองที่เร็วว่องไวฟังดูแล้วสนุกสนานมี

    • สะ ธุ สะ (ล่ะ เออ ฮะ เออ ฮะ เอย) 
    • จะ (เฮิง เฮิง เอย) 
    • ขอไหว้ (เฮิง เงิง เฮย หึ เอ้ย)
    • พระ (เฮิง  เฮิง  เอย) 
    • ศรีไตร (เอ่อ  หึ  เออ  หึ  เอ้ย) 
    • สะ (เอ๊ย) 
    • รนา (เอ่อ เออ หะ เฮิง เงิง เอย)
    • พ่อแม่ (ล่ะ เออ ฮะ เออ ฮะ เอย) 
    • แล (เฮิง เฮิง เอย) 
    • ครูบา (เอิง เออ หึ เอ้ย)
    • เท (เฮิง เฮิง เอย) 
    • วดา (เอ่อ หะ เออ หะ เอ้ย) 
    • ใน (เออ  เอ๊ย)
    • ราศี (เออ เออ ชะ เอิง เอิง เอย เอ้ย)

     

    ตัวอย่างบทสวดโอ้เอ้วิหารรายทำนองยานี 11

    .

    • ข้าเจ้าเอา ก ข……………เข้ามาต่อ ก กา มี
    • แก้ไขในเท่านี้ดี……………มิดีอย่าตรีชาฯ
    • จะร่ำคำต่อไป……………..พอฬ่อในกุมารา
    • ธระณีมีราชา……………….เจ้าภาราสาวะถีฯ

    .

    2. ทำนองสุรางคนางค์

    การสวดโอ้เอ้วิหารรายในทำนองสุรางคนางค์หรือที่เรียกตามชนิดของคำประพันธ์ว่าทำนองกาพย์สุรางคนางค์ 28 นั้นเป็นท่วงทำนองที่เนิบช้าที่สุด ซึ่งสร้างความไพเราะ ฟังแล้วรู้สึกสบายและให้อารมณ์เศร้า 

    • ขึ้นใหม่ (เอ่อ เอิง เอย..เฮ่อ เอ่อ เออ เอ่อ เออ เอ๊ย)
    • ในกน (เฮอ) 
    • ก กา (เออ เอ่อ เอ๋ย)
    • ว่าปน (เอย)
    • ระคน (เออ เอ่อ เอ๋ย)
    • กันไป (เฮอ)
    • เอ็นดู (เอิง เอย เอ๋ย)
    • ภูธร (เอย)

     

    ตัวอย่างโอ้เอ้วิหารรายทำนองสุรางคนางค์ 28

    .

    • วันนั้นจันทร…….มีดารากร………เป็นบริวาร  
    • เห็นสิ้นดินฟ้า……ในป่าท่าธาร….มาลีคลี่บาน…………ใบก้านอรชรฯ
    • เย็นฉ่ำน้ำฟ้า…….ชื่นชะผกา……..วายุพาขจร
    • สาระพันจันอิน….รื่นกลิ่นเกสร…..แตนต่อคล้อร่อน….ว้าว่อนเวียนระวันฯ

    .

    3. ทำนองฉบัง

    การสวดโอ้เอ้วิหารรายในทำนองฉบังหรือที่เรียกตามชนิดของคำประพันธ์ว่าทำนองกาพย์ฉบัง นั้นเป็นท่วงทำนองที่เนิบช้าลงมาอีก ซึ่งทำนองยานีจะเร็วสุด  

    ทำนองฉบังจะเป็นทำนองกลางที่ไม่ช้าและเร็วเกินไป  

    • ขึ้นเกย เลยกล่าว (เออ  หึ  เอ่อ  เอ้อ  เอ๊ย) 
    • ท้าวไทย ฟังธรรม (เอิ๊ง  เอย)
    • น้ำใจ เลื่อมใส (ฮะ  เออ) 
    • ศรัทธา (เอย  เออ  เอ่อ  เอ้อ  เอ๊ย) 
    • กล้าหาญ (เอ่ย)
       

    ตัวอย่างบทสวดโอ้เอ้วิหารรายทำนองฉบัง 16

    .

    • จริงนะประสกสีกา…………….สวดมนต์ภาวนา
    • เบื้องน่าจะได้ไปสวรรค์
    • จบเทศน์เสร็จคำรำพัน……….พระองค์ทรงธรรม
    • ดันดั้นเมฆาคลาไคล

    .

    ผมก็เคยไปสวดกับโรงเรียนเหมือนกันขอรับ ฟังแล้วรู้สึกขนลุกเลยล่ะครับ 

    เรื่องตอนหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ติดตามกันได้เลยนะขอรับ 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×