หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
15 พ.ค. 63
60 %
8 Votes  
#31 REVIEW
 
เห็นด้วย
12
จาก 13 คน 
 
 
บทวิจารณ์ MiKe Story มิเกะ สตอรี่ รักวุ่น ๆ ชุลมุนปราบมาร

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 11 มี.ค. 53

นิยายแฟนตาซีเรื่อง MiKe Story มิเกะ สตอรี่ รักวุ่นๆ ชุลมุนปราบมาร ของ B.K.G.M. มีแนวโน้มว่าจะเป็นนิยายขนาดยาว(เหยียด)อีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้เพิ่งจะจบภาคแรกทั้งๆที่เขียนมาถึงตอนที่ 53 แล้ว หากจะถามว่าภาคแรกนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ก็คงต้องบอกว่าเรื่องเพิ่งจะดำเนินไปเพียงการแนะนำและเล่าถึงภูมิหลังของตัวละครหลักของเรื่อง 8 ตัวเท่านั้น นั่นคือ โอมียะ มิสึกิ ริวเท (พระเอก) มิสึริ มินามิ (นางเอก) อากิระ อาซามิ (ประธานนักเรียนที่หลงรักพระเอก) ฟุคุโมโต้ เรียว (เพื่อนสนิทพระเอก) ฟุจิเนะ เคย์โกะ (แฟนเรียว) ไค แวนเรซิส (เพื่อนและลูกชายคู่ค้าสำคัญกับบริษัทพ่อพระเอก) คุโรอิจิ คาวาอิจิโร่ (หัวหน้าชมรมฟันดาบของพระเอก) และ ฟุคุโมโต้ มิเนะ (น้องสาวเรียว) และมีเพียงสองตอนสุดท้ายเท่านั้นที่เปิดไปสู่แก่นเรื่องหลัก (theme) นั่นคือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มตัวละครเอกกับการแก้แค้นของจอมมารที่กำลังจะพ้นพันธนาการแห่งคำสาปที่ทำให้สูญอำนาจไปนานนับร้อยปี

MiKe Story มิเกะ สตอรี่ รักวุ่นๆ ชุลมุนปราบมาร ยังคงเป็นนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนอยู่ แต่โรงเรียนในครั้งนี้มิใช่โรงเรียนเวทมนตร์ตามที่นิยม แต่เป็นโรงเรียนมัธยมชื่อดังระดับประเทศ คือ โรงเรียนเซนได ที่เปิดสอบสำหรับคนธรรมดาทั่วไป ทว่ากลุ่มตัวละครหลักที่กล่าวมาข้างต้นกลับมิได้เป็นคนธรรมดา แต่มีทั้งที่เป็นภูต รับใช้ แวร์วูล์ฟ แวมไพร์ หมอผี องเมียวจิ ผู้มีพลังวิญญาณ หรือแม้แต่ผู้มีพลังเป็นผู้เยียวยาปีศาจ จึงเป็นที่มาของเรื่องวุ่นๆที่ตามมาอย่างไม่จบสิ้น การสร้างตัวละครที่มีความหลากหลายเช่นนี้นับเป็นการสร้างสีสันให้กับเรื่องอย่างมาก เพราะตัวละครแต่ละตัวก็มีลักษณะเฉพาะตนตามเผ่าพันธุ์ต้นกำเนิด ซึ่งผู้อ่านจะได้เห็นวิธีการต่อสู้และการใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไป เช่น มิสึริ มินามิ ที่เป็นภูตแมวก็จะมีความรวดเร็วปราดเปรียว และต่อสู้ด้วยการใช้กรงเล็บ และยันต์สะกดปีศาจ ขณะที่ ฟุคุโมโต้ เรียว ที่เป็นแวร์วูลฟ์เลือดบริสุทธิ์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักรบที่ทนทานต่อการโจมตี มีกำลังการโจมตีที่น่าหวาดหวั่น มีความเร็ว และมีผิวหนังที่ป้องกันพลังธาตุได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์ และขนที่ปกคลุมร่างกายนั้นก็แข็งแกร่งประดุจเหล็กเพชร แต่แพ้แร่เงิน หรือ ไค แวนเรซิส ที่เป็นแวมไพร์เลือดบริสุทธ์ ก็มีความสามารถใช้พลังธาตุ (น้ำแข็ง)ขณะต่อสู้ ทั้งยังมีความแข็งแกร่งและความรวดเร็วว่องไว แต่อาหารหลักคือเลือดสังเคราะห์ที่ใช้ดื่มแทนเลือดมนุษย์ จึงนับว่าเป็นความชาญฉลาดของผู้แต่งที่เลือกสร้างตัวละครที่มีความหลากหลาย โดยอาศัยความแตกต่างของเผ่าพันธุ์เช่นนี้

ขณะเดียวกันผู้แต่งยังสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับบุคลิกลักษณะ และอุปนิสัยของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งช่วยให้ตัวละครมีชีวิตชีวาจนผู้อ่านจดจำตัวละครเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี เช่น โอมียะ มิสึกิ ริวเท ที่เป็นอัจฉริยะจนสามารถสอบเข้าได้เป็นที่หนึ่งของโรงเรียน รูปหล่อ รวย มาจากตระกูลดี ต่อสู้เก่ง มีน้ำใจรักพวกพ้อง รักแมว และเรื่องลี้ลับเป็นชีวิตจิตใจ แต่เป็นโรคแพ้ผู้หญิง คุโรอิจิ คาวาอิจิโร่ เป็นนักดาบที่มีฝีมือ ยึดมั่นในคุณธรรม และเกลียดการทำร้ายผู้อื่นยิ่งกว่าสิ่งใด หรือ ฟุคุโมโต้ มิเนะ เด็กผู้หญิงที่ร่าเริง รักและติดพี่ชายจนยอมหนีออกจากบ้านที่โรมาเนียเพื่อมาตามหาพี่ชายที่ญี่ปุ่น ไร้เดียงสา เพราะดีใจที่ได้พบกับแวมไพร์ตัวจริงอย่างไค แวนเรซิส และติดไคอย่างมาก (เพราะไคช่วยชีวิตเธอจากฝูงสุนัขที่รุมทำร้ายในวันแรกที่เพิ่งมาถึงญี่ปุ่น) ทั้งๆที่สองเผ่าพันธุ์นี้เป็นอริกัน และจะต่อสู้กันเสมอทุกเมื่อที่ได้พบกัน

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือกลวิธีการเขียน ผู้แต่งนำเสนอเรื่องโดยแบ่งแต่ละตอนออกเป็น 2 ตอนย่อย คือ ตอนคั่น กับตอนหลัก ตอนคั่นจะมีความยาวประมาณ 1-2 หน้า และมีหลายหน้าที่ เป็นต้นว่าเสนอคำทำนาย ส่วนใหญ่มักจะเป็นเนื้อเพลงที่มินามิขับร้องในยามค่ำคืน การกล่าวถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดล่วงหน้า (foreshadow) การเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา และการนำเสนอเศษเสี้ยวของภูมิหลังตัวละครบางตัว ซึ่งความหลากหลายของตอนคั่นเช่นนี้ทำหน้าที่เสมือนคำโปรยที่เป็น “น้ำจิ้ม” กระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่านว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปในทิศทางใด อันช่วยเพิ่มความสนุกให้กับเรื่องได้มากขึ้น เช่นเปิดเรื่องตอนคั่นที่หนึ่งด้วยเนื้อเพลงว่า “กาลเวลาที่ผ่านผันราวชั่วกัป ท่ามกลางพันธนาการแห่งคำสาปเดียวดาย จักปรากฏซึ่งผู้ลบล้าง ในคราที่โอมียะผู้เกรียงไกร แลศักดิ์ศรีแห่งมังกรมาบรรจบ ตะวันที่สองจักกำเนิด นายแห่งดาบที่หลับใหลของมังกร...” เพียงคำทำนายสั้นๆ นี้ก็ช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากทราบต่อไปว่าใครคือผู้ที่ถูกพันธนาการด้วยคำสาป และผู้ใดจะเป็นผู้ลบล้างคำสาปนั้น และคนผู้นี้จะเป็นนายแห่งดาบที่หลับใหลจริงหรือไม่

ส่วนตอนหลักนั้นก็จะเป็นเนื้อเรื่องที่มีความสอดประสานกับตอนคั่นที่นำมากล่าวล่วงหน้า ซึ่งจะทำหน้าที่ขยายความเนื้อเรื่องที่เปิดไว้บางส่วนเสี้ยว หรือทำหน้าที่ให้คำตอบของปริศนาหรือคำทำนายที่ผู้แต่งเปิดค้างไว้ หรือบางครั้งก็ทำหน้าที่เปิดปริศนาต่อไป และบางครั้งก็บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กล่าวไว้แล้วในตอนคั่น กลวิธีการเขียนเช่นนี้ช่วยส่งให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ เพราะผู้แต่งเลือกแล้วว่าจะนำเหตุการณ์ใด ปมปัญหาใด หรือประเด็นใดอันเป็นหัวใจของแต่ละตอน มาสร้างลูกเล่นเพื่อล่อให้ผู้อ่านสนใจอยู่ตลอดเวลาว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปในทิศทางใด ขณะเดียวกันลูกเล่นเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปในแต่ละตอน ซึ่งถือเป็นกลเม็ดที่ผู้แต่งสามารถความคุมและใช้ให้บังเกิดผลตามที่ต้องการได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ผู้แต่งยังสามารถที่จะสร้างบทบรรยายและบทสนทนาได้อย่างลื่นไหล โดยเฉพาะการบรรยายลักษณะของตัวละคร ผู้แต่งบรรยายไว้อย่างละเอียด ซึ่งช่วยสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี เช่น การบรรยายถึง ฟุจิเนะ เคย์โกะ ก็สามารถที่จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นทั้งหน้าตา บุคลิกลักษณะ และอุปนิสัยของเธอได้พร้อมกัน คือ เด็กสาวหน้าตาน่ารักใบหน้าขาวผ่อง ริมฝีปากสีชมพูอ่อนเหลือบ (น่าจะเป็น อมแดง ไม่ใช่เหลือบแดง ซึ่งแปลว่าเหลื่อมซ้อนกัน) แดงเล็กน้อย แก้มเป็นสีชมพูระเรื่อ ดวงตาสีน้ำตาลเข้ม และผมน้ำตาลดำที่ผูกเปียทั้งสองข้างนั้นดูแล้วเป็นสิ่งที่ผู้ชายปรารถนาสาวหน้าตาน่ารักใฝ่หามานานเป็นแน่ หากแต่เธอสวมแว่นตาทรงกลมหนาเตอะ ทำให้เธอดูเป็นผู้คงแก่เรียนมากเกินไป ประกอบกับนิสัยที่ไม่กล้าพูดคุยกับคนอื่น และมักจะอยู่ในที่เงียบๆ อ่านหนังสือเพียงคนเดียว ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอแทบไม่มีเพื่อนเลยแม้แต่คนเดียว แต่หากจะพูดให้ถูก หนังสือนั่นแหละคือเพื่อนเพียงหนึ่งเดียวของเธอ ผู้วิจารณ์เห็นว่าเหตุผลสำคัญที่ผู้แต่งต้องบรรยายตัวละครแต่ละตัวอย่างละเอียด เนื่องจากนิยายเรื่องนี้ต่างจากนิยายออนไลน์ส่วนใหญ่ใน “เด็กดี” ที่มักจะมีภาพตัวละครหลักประกอบไว้ แต่นิยายเรื่องนี้มีเฉพาะภาพของมินามิเพียงคนเดียว ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการตัวละครแต่ละตัวได้ ก็อาศัยเฉพาะบทบรรยายและบทสนทนา ในเรื่องเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้แต่งยังสามารถแบ่งสัดส่วนระหว่างบทบรรยายและบทสนทนาได้อย่างลงตัว ไม่มีตอนใดที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามีบทสนทนาเรียงต่อกันมากเกินไป เพราะผู้แต่งจะสลับด้วยบทบรรยายขนาดสั้นและยาวอยู่โดยตลอด
ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ นิยายแฟนตาซีเรื่องนี้มีกลิ่นอายของการ์ตูนแฝงอยู่ โดยเฉพาะในบทบรรยายเหตุการณ์บางช่วงจะให้ความรู้สึกเหมือนว่ากำลังอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เช่น ฉากการอาละวาดของริว เมื่ออ่านจดหมายของพ่อจบ (ตอนที่ 03) หรือ ฉากที่ชิกิกามิ (ภูตเสกตัวเล็กๆ) มาช่วยจับและขวางปีศาจไว้เพื่อให้ริวมีโอกาสหนีไป (ตอนที่ 16) และบางครั้งบทบรรยายของผู้แต่งก็ชวนให้คิดถึงการ์ตูนด้วย เช่น “ถ้าเป็นการ์ตูนละก็คงจะเห็นเขายิ้มกระตุกที่มุมปากแล้ว” หรือ “หากเป็นการ์ตูนคงได้เห็นเหงื่อเม็ดเป้งย้อยลงมาบนหัวมินามิ...” จึงอาจเป็นไปได้ว่าขณะที่ผู้แต่งบรรยายเหตุการณ์บางเหตุการณ์นั้น อาจกำลังคิดเป็นภาพการ์ตูนอยู่ก็เป็นได้ บทบรรยายที่นำเสนอในตอนนั้นจึงสามารถส่งภาพการ์ตูนดังกล่าวมายังผู้อ่านไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสำคัญของเรื่องที่ค้านกันอย่างมากประเด็นหนึ่ง คือ บทเพลงในบทนำที่กล่าวถึงบุคคลในตำนานที่จะมาเป็นเจ้านายแห่งดาบว่าเป็นตระกูลโอมียะ ดังที่กล่าวว่า ในคราที่โอมียะผู้เกรียงไกร แลศักดิ์ศรีแห่งมังกรมาบรรจบ ตะวันที่สองจักกำเนิด นายแห่งดาบที่หลับใหลของมังกร...” แต่ในช่วงท้ายก่อนจบภาคแรกที่เรื่องดำเนินไปถึงการเปิดตัวนายแห่งดาบ กลับย้ำว่าผู้ที่จะเป็นนายแห่งดาบ “ซายากามิ” ซึ่งเป็นดาบประจำตระกูลริวเทได้นั้น ต้องเป็นคนของตระกูลริวเทเท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวจึงขัดกันอย่างชัดเจน แม้ว่าในที่สุดแล้วผู้ที่จะมาเป็นนายแห่งดาบไม่ว่าจะมาจากตระกูลโอมียะ (ตระกูลฝ่ายพ่อ) หรือริวเท (ตระกูลฝ่ายแม่) จะเป็นคนเดียวกัน นั่นคือ โอมียะ มิสึกิ ริวเท ก็ตาม ดัวยเหตุนี้ จึงอยากให้ผู้แต่งทบทวนข้อมูลในประเด็นนี้อีกครั้ง เพื่อเลือกว่าจะให้นายแห่งดาบมาจากตระกูลใดกันแน่ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้เรื่องมากยิ่งขึ้น เพราะผู้อ่านจะได้ไม่ฉงนสงสัยในคุณสมบัติของนายแห่งดาบ

เป็นที่น่าเสียดายว่าคำผิดจำนวนมากที่ปรากฏในเรื่องลดทอนความสมบูรณ์ของเรื่องลง ซึ่งผู้แต่งก็ทราบข้อบกพร่องของตนในประเด็นนี้แล้ว เนื่องจากขณะนี้ผู้แต่งกำลังรีไรท์งานในภาคแรกทั้งหมดอีกครั้ง ดังนั้นเพื่อช่วยให้การรีไรท์ครั้งนี้สมบูรณ์ขึ้น ก็จะเสนอคำผิดที่พบบ่อยมาไว้ ณ ที่นี้ด้วย เช่น ภูต เขียนเป็น ภูติ (ภูติ แปลว่าการเกิด บ่อเกิด และ ภูต แปลว่า วิญญาณ หรือผีปีศาจ) ปฐมนิเทศ เขียนเป็น ปฐมนิเทศน์ คฤหาสน์ เขียนเป็น คฤหาส นัยน์ตา เขียนเป็น นัยตา พึมพำ เขียนเป็น พึมพัม กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน ภาพยนตร์ เขียนเป็น ภาพยนต์ สาส์น เขียนเป็น สาสน์ คัมภีร์ เขียนเป็น คำภีร์ เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ ขะมักเขม้น เขียนเป็น ขะมักเขม่น คลาสสิก เขียนเป็น คราสสิก ภัตตาคาร เขียนเป็น ภัตราคาร ลิฟต์ เขียนเป็น ลิฟท์ โรงยิม เขียนเป็น โรงยิมส์ อินเทอร์เน็ต เขียนเป็น อินเตอร์เน็ท ผรุสวาท เขียนเป็น ผลุสวาท บุคลากร เขียนเป็น บุคคลากร อากัปกิริยา เขียนเป็น อากัปกริยา หลงใหล เขียนเป็น หลงไหล พลุ่งพล่าน เขียนเป็น พลุ้งพล่าน ทรมาน เขียนเป็น ทรมาร สวิตช์ เขียนเป็น สวิทต์ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ รสชาติ เขียนเป็น รสชาด วิกฤต หรือ วิกฤติ เขียนเป็น วิกฤษ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา รังสี เขียนเป็น รังศี แน่นเอี้ยด เขียนเป็น แน่นเอียด ขบวน เขียนเป็น คะบวน หรือ / เหรอ เขียนเป็น หรอ กึ่งลากกึ่งถู โดยปกติคำซ้อนนี้จะใช้ว่า กึ่งลากกึ่งจูง หรือ ลากถู หรือ คำซ้อน คุยจุ๊กคุยจิ๊ก ไม่เคยพบ แต่จะใช้แทนว่า คุยกันจุ๊กจิ๊ก ก็ได้

-----------------------------
     
 
6 ม.ค. 53
60 %
9 Votes  
#32 REVIEW
 
เห็นด้วย
12
จาก 13 คน 
 
 
บทวิจารณ์ ปลายนาการรัก

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 11 มี.ค. 53
ปลายนาการรัก นิยาย Yaoi แนวซึ้งกินใจ ผลงานของ Char ซึ่งแต่งถึงตอนที่ 14 แล้วผู้แต่งก็หยุดเขียนไป เป็นเรื่องราวชีวิตและความรักของเซรัส ฟีเซียส ชายหนุ่มที่ผิดหวังในความรักครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะใครก็ตามที่เขารักต้องตายจากเขาไปทั้งหมด จนเขาไม่กล้าจะรักใคร และปลีกตัวออกมาใช้ชีวิตโดดเดี่ยวตามลำพัง จนกระทั่งวันหนึ่ง ซีอัส ดาร์ค ก็ก้าวเข้ามาในชีวิต จนทำให้ชีวิตที่เปลี่ยวเหงาของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป แต่ขณะเดียวกันเซรัสก็กลัวความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน จึงต้องติดตามต่อไปว่าความรักของเซรัสครั้งนี้จะพบกับความสุขเป็นครั้งแรก หรือต้องเผชิญกับความเศร้าที่พบอยู่เสมอมาราวกับว่าเขามีชีวิตที่ต้องคำสาป

ความสะดุดใจครั้งแรกที่ได้อ่านเรื่องนี้คือชื่อเรื่อง เพราะถ้าผู้เขียนตั้งใจจะใช้ชื่อว่า “ปลายนาการรัก” จริง ชื่อนี้ไม่สื่อความแก่นเรื่อง (theme) ที่ต้องการเสนอได้ และก็ยังไม่สื่อความใดๆ ในเรื่องอีกด้วย จึงคิดว่าชื่อที่ผู้แต่งคิดไว้น่าจะเป็น “ปลาสนาการรัก” ซึ่งหมายความถึงความรักที่หายไป หรือความรักที่หนีไป แต่คำว่าปลาสนาการรัก ก็ยังไม่ถูกตามหลักภาษา แต่ก็อนุโลมให้ได้ ตามหลักภาษาไทยที่ถูกต้องควรเป็น รักปลาสนา หรือปลาสนาการแห่งรัก หรือ รักอันปลาสนา

ในเรื่องนี้ Char แสดงจุดยืนที่ต้องการนำเสนอนิยาย Yaoi ไว้อย่างเด่นชัด เนื่องจากตัวละครชายที่เป็นตัวเด่นของเรื่องต่างนิยมความรักแบบชายรักชายเกือบทั้งหมด และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่งดงามของความรักและความเสียสละของคู่รักที่ต่างคนก็ต้องการให้คนที่ตนรักมีความสุขอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ลิเลียส ที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงและรู้ตัวว่าอีกไม่นานจะตาย เขาจึงทิ้งซีอัส เพราะไม่ต้องการให้ซีอัสต้องทรมานขณะที่เฝ้ามองเขาตายอย่างช้าๆ หรือ พาลยอมเสียสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องเซรัสชายที่ตนรัก หรือ เซรัสรู้สึกผิดที่ตนเป็นผู้คิดค้นเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุให้ลิเลียสป่วย เขาจึงยอมใช้ร่างกายของตนเป็นเหมือนหนูทดลองเพื่อพยายามหายารักษาโรคของลิเลียส ในขณะที่ลิเลียสก็พยายามปลอบโยนให้เซรัสเลิกโทษตัวเองที่เป็นต้นเหตุให้ตนป่วย แต่อยากให้เซรัสมีความสุขบ้าง เพราะชีวิตของเขาต้องทนทุกข์อยู่กับความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา

ความเด่นของเรื่องอีกประการหนึ่ง ความสามารถในการใช้ภาษาของ Char อยู่ในระดับดี ทั้งภาษาบรรยายและภาษาสนทนา ซึ่งความจัดเจนและความใส่ใจของผู้แต่งนี้เองที่ช่วยให้ผู้อ่านอ่านงานได้อย่างลื่นไหล ขณะเดียวก็สามารถสร้างจินตนาการตามไปไม่ยากนัก ซึ่งนับเป็นความรื่นรมย์ประการสำคัญในการอ่าน แม้ว่าจะพบคำผิดและการใช้คำผิดความหมายบ้าง แต่ก็พบน้อยมาก และเพื่อให้เรื่องสมบูรณ์ขึ้น จึงอยากเสนอคำผิดที่พบในเรื่องไว้ ณ ที่นี้ คือ ปอกเปลือก เขียนเป็น ปลอกเปลือก กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา (ตอนที่ 4) ส่วนใหญ่ เขียนเป็น ส่วยใหญ่ (ตอนที่ 6) ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ปะติดประต่อ (ตอนที่ 7) ลูบศีรษะ เขียนเป็น ลูกศีรษะ (ตอนที่ 8) แย้มพราย เขียนเป็น แง้มพราย (ตอนที่ 12) และ อาหารที่เคี่ยวกรำมาอย่างหนัก (เคี่ยวกรำ หมายถึง ผ่านความตรากตรำอย่างหนักหรือถูกฝึกอย่างหนัก) ควรใช้ว่า อาหารที่เคี่ยวมานาน (เคี่ยว หมายถึง ต้มนานๆ เพื่อให้เปื่อยหรือแห้งงวด) [ตอนที่ 3]

ความน่าสนใจของเรื่องอยู่ที่ผู้แต่งพยายามที่จะผสานการเขียนเรื่องราวความรักเข้ากับความลับขององค์กรจารชนระหว่างประเทศ โดยให้เซรัสเป็นตัวเดินเรื่องทั้งหมด ขณะเดียวกันก็พยายามคุมโทนของเรื่องให้หม่นเศร้า เพราะเมื่อใดที่ตัวละครเริ่มมีความสุข ก็ต้องมีเหตุการณ์บางอย่างเพื่อสร้างความพลิกผันให้เรื่องกลับไปอยู่ในโทนเศร้าอยู่เสมอ ซึ่งการกระทำเช่นนี้บ่อยๆ จนดูออกว่านี่คือความจงใจของผู้แต่ง บางครั้งก็กลับสร้างความคับข้องใจให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินใจของเซรัส ที่มักจะเลือกสละความสุขไปหาความทุกข์อยู่เสมอนั้น ในบางตอนก็ไม่สู้จะสมเหตุผลนัก เช่น การตัดสินใจหนีกลับไปหากลุ่มยมทูต โดยอ้างเหตุผลว่าเขากำลังจะตายจึงไม่อยากทำร้ายจิตใจของซีอัสที่หลงรักเขา แต่การตัดสินใจหนีไปหากลุ่มยมทูตของเซรัสน่าจะยิ่งทำร้ายจิตใจของซีอัสมากขึ้น เพราะซีอัสได้ขอให้เซรัสรักษาสัญญาแล้วว่าจะไม่หนีเขาไป และซีอัสก็ประกาศว่าจะเป็นผู้ปกป้องเซรัสเอง ขณะเดียวกันเซรัสก็รู้มาก่อนว่าซีอัสทราบความจริงแล้วว่ายมทูตเป็นผู้บงการให้คนสนิทของเขาทรยศและโกงเงินสหพันธ์ของเขากว่าร้อยล้าน ซึ่งเท่ากับว่าขณะนี้ยมทูตเป็นศัตรูคู่แค้นของซีอัสโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งยังประสานแนวเรื่องทั้งสองได้ไม่สมบูรณ์นัก ยังพบจุดเชื่อมต่อที่ยังไม่สามารถผสานกันอย่างแนบสนิท ซึ่งทำให้เรื่องดูเหมือนว่าจะไปไม่สุดสักทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นความรักก็ดูไม่สมเหตุผลกับความโลเลและสับสนของเซรัส หรือจะเป็นเรื่องที่เน้นความเข้มข้นของเรื่องแนวจารชนก็ยังไม่ชัดเจน เพราะผู้แต่งไม่สนใจที่จะให้ความสำคัญกับการให้รายละเอียดหรือบรรยายฉากเหล่านี้ โดยเฉพาะฉากสำคัญที่ซีอัสและพวกบุกเข้าไปเอาตัวเซรัสกลับมา ผู้แต่งก็จงใจไม่เล่ารายละเอียด แต่นำเสนอเพียงเศษเสี้ยวของเหตุการณ์ผ่านความฝันของเซรัสเท่านั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเชื่อมแนวเรื่องทั้งสองเข้าด้วยกันนั้นน่าสนใจ เพราะจะช่วยการสร้างปมขัดแย้ง (conflict) ระหว่างเซรัสกับซีอัสให้เด่นชัดขึ้น ซึ่งจะส่งให้เนื้อเรื่องมีความเข้มข้นของความรักที่เกิดขึ้นระหว่างความแค้น ที่จะพัฒนาไปถึงจุดสูงสุด (climax) ของเรื่อง ที่บีบให้ตัวละครทั้งสองจะต้องเลือก ในขณะที่เซรัสเลือกระหว่างความสุขที่จะรักกับความเศร้าที่จะเลิก แต่ซีอัสกลับต้องเลือกระหว่างความรักกับความซื่อสัตย์ต่อธุรกิจของครอบครัว นับว่าผู้แต่งกำหนดปมขัดแย้งของเรื่องได้อย่างน่าดึงดูดใจคนอ่านทีเดียว

แม้ว่าในขณะนี้ผู้เขียนจะปูเรื่องให้เซรัสและซีอัสเลือกที่จะอยู่คนละฝ่ายกันแล้ว กล่าวคือเซรัสอยู่ฝ่ายยมทูต มีหน้าที่พัฒนาไวรัส ที่ช่วยให้ยมทูตมีอำนาจทางการเงินในการขายไวรัสเหล่านี้ให้กับประเทศที่ต้องการนำไปใช้เป็นอาวุธเชื้อโรค ทั้งยังสร้างความขยาดกลัวให้กับผู้ที่ต้องการเป็นศัตรู ในขณะที่ซีอัสมีความแค้นโดยตรงกับยมทูตที่ส่งคนมาขโมยความลับและยักยอกเงินของสหพันธ์ของเขา อีกทั้งจีนส์ สมุนคนหนึ่งของยมทูตที่ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันเขาได้เคยลอบสังหารเขาแต่ไม่สำเร็จ ในจุดนี้เองที่ทำให้เห็นได้ว่า เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องยังไม่เข้มข้นและยังสับสนอยู่ ก็เพราะผู้เขียนยังลังเลเหมือนตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้เซรัสอยู่ที่ตำแหน่งใดกันแน่ เนื่องจากบางครั้งเซรัสก็ดูเหมือนจะเกลียดยมทูตที่ทำให้พ่อแม่เขาตายในขณะที่พยายามช่วยให้เขาหนีออกมาจากองค์กรนี้ แต่ช่วงหลังเซรัสก็ตัดสินใจจะกลับไปอยู่กับยมทูตอีกครั้ง ทั้งๆที่ในความเป็นจริง เซรัสไม่น่าจะกลับไปหายมทูตเอง นอกจากจะถูกบังคับจับตัวไปในฐานะที่เป็นบุคคลเพียงผู้เดียวที่มีความสามารถพัฒนาไวรัสและยารักษาได้ เช่นเดียวกับที่เซรัสรู้สึกผิดและเสียใจที่ไวรัสที่เขาคิดค้นขึ้นมานั้นกลายเป็นอาวุธที่ใช้สังหารคนเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือลิเลียส เพื่อนคนแรกและคนเดียวที่เขารัก แต่ต่อมาเซรัสกลับยังช่วยยมทูตพัฒนาไวรัสต่ออย่างลับๆ ด้วยเหตุผลเพียงว่าจะได้ช่วยชีวิตอู่หยงหัวหน้ากลุ่มยมทูตผู้เป็นคนรักของหวงเฟย ผู้ที่เซรัสรักเหมือนพี่ชายเท่านั้นเอง

ปัจจัยอีกประการหนึ่ง คือ สังเกตได้ว่า ผู้เขียนมิได้วางโครง (Plot) เรื่องทั้งหมดไว้ก่อนว่าจะให้เรื่องดำเนินไปในทิศทางใดในแต่ละตอน เรื่องราวส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเซรัสเป็นสำคัญ เมื่อผู้แต่งยังไม่มีความชัดเจนในการสร้างและกำหนดพฤติกรรมตัวละครตัวนี้ ซึ่งเป็นตัวละครหลักที่ดำเนินเรื่อง ก็ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างไม่ลื่นไหล และ ส่งผลให้ความสนใจผู้อ่านต้องสะดุดเป็นระยะๆ ผู้วิจารณ์เห็นว่าตัวละครในเรื่องทั้งหมดมีเฉพาะเซรัสเท่านั้นที่ไม่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของอาชีพ ตัวตน อารมณ์ และการตัดสินใจ จึงดูเหมือนว่าผู้แต่งยังไม่แน่ใจว่าจะให้เขาแสดงบทบาทใด เนื่องจากตลอดเวลาบุคลิก อุปนิสัย และการตัดสินใจของเขา ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้นจะชักนำให้เขาไปทิศทางใด จนทำให้เขากลายเป็นคนไม่มีจุดยืน โลเล และสับสน เช่น อาชีพของเซรัส ถึงแม้ว่าผู้แต่งจะพยายามบอกว่าเซรัสเป็นอัจฉริยะที่อายุเพียง 10 ขวบก็สามารถที่จะเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยไวรัสร่วมกับพ่อได้แล้ว แต่ต่อมาผู้เขียนยังให้เซรัสมีอาชีพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หมอ นักนิติวิทยาศาสตร์ ครูสอนเปียโน อาจารย์ฝึกสอนในมหาวิทยาลัย และแม้กระทั่งแฮกเกอร์ จน น่าพิศวงว่าคนๆหนึ่งไม่น่าจะต้องทำอาชีพหลากหลายเช่นนี้ แม้ว่าเขาจะทำได้เพราะเป็นอัจฉริยะก็ตาม แต่ถ้าเรื่องปูให้เห็นความจำเป็นว่าเซรัสถูกเลี้ยงให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับการเป็นสายลับที่ต้องปลอมตัว โดยต้องอาศัยความสามารถอันหลายหลากเช่นนี้ ก็พอจะเชื่อถือได้ แต่ตลอดเวลาที่กล่าวถึงนั้นก็เป็นการแสดงความโดดเด่นของเขาในแง่ของนักวิจัยทางด้านไวรัส ซึ่งเป็นต้นตอของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้นเอง

ผู้วิจารณ์เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ เพราะผู้เขียนมีแก่นเรื่องที่ต้องการนำเสนอไว้อย่างชัดเจน มีความสามารถในการใช้ภาษาเป็นอย่างดี เพียงแต่ต้องวางโครงเรื่องให้ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น เพราะแม้จะนวนิยายจะเป็นเรื่องของจินตนาการแต่ก็ต้องการความสมจริงหรือสมเหตุสมผลพอสมควร และจะทำให้การเน้นปมขัดแย้งระหว่างเซรัสและซีอัสส่งผลให้เรื่องมีความเข้มข้นเชิงอารมณ์เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าผู้แต่งสร้างตัวละครเซรัสให้ชัดเจนขึ้นดังกล่าวแล้ว ก็จะช่วยให้เรื่องมีทิศทางและความน่าสนใจมากขึ้นได้

----------------------------
     
 
ใครแต่ง : อุโรสยา
16 ต.ค. 54
80 %
4 Votes  
#33 REVIEW
 
เห็นด้วย
12
จาก 13 คน 
 
 
บทวิจารณ์ >Bigbom! ระเบิดรักละลายใจยัยจอมเปิ่น

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 มี.ค. 53

Bigbom! ระเบิดรักละลายใจยัยจอมเปิ่น ของ ถังแก๊สสีชมพู (ราศีบุษ) เป็นนิยายแนวหวานแหววที่ไม่ต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆในแนวเดียวกันนี้ เพราะเป็นเรื่องราวความรักระหว่างมะเกี๋ยง นักศึกษาสาวปี 1 ที่ฝันอยากเป็นดาวคณะ กับ บิ๊กบอม นักศึกษาชายรุ่นพี่ปี 3 อดีตเดือนของคณะเดียวกัน ที่เริ่มต้นจากความเข้าใจผิด และค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความรักในที่สุด

นอกจากแก่นเรื่อง (theme) ความรักที่เริ่มจากความเกลียดก่อนที่จะผันแปรเป็นความรัก อันเป็นแก่นเรื่องยอดฮิตของนิยายแนวนี้แล้ว นิยายเรื่องนี้ยังดำเนินตามความนิยมซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของนิยายแนวนี้ในหลายประเด็น เริ่มตั้งแต่การสร้างตัวละครตามกระแสความนิยม โดยเฉพาะตัวละครเอกที่ต้องสวย หรือหล่อและรวย เช่น มะเกี๋ยง (นางเอก) เป็นสาวสวย ผิวขาว ปากเล็ก จมูกสวย บอบบาง สูง 167 และเปิ่นๆ ส่วนบิ๊กบอม (พระเอก) เป็นชายรูปหล่อ ผิวขาวใส สูง ดูเซอร์ และรวย นอกจากนี้ ตัวละครส่วนใหญ่ก็ตรงกับความนิยมเช่นนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กแบง น้องชายฝาแฝดของพระเอก ยิ้มแฉ่ง เพื่อนสนิทชายของนางเอก เคลติก ชายหนุ่มรุ่นพี่ของมะเกี๋ยงและเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของยิ้มแฉ่ง และ เหม่ยจิน หญิงสาวคนรักของพระเอก

ประเด็นที่สองคือ การใช้อิโมติคอน และ sound effect อย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทสนทนา พบว่าแทบจะทุกประโยคจะต้องมีอีโมติคอน หรือ sound effect แทรกอยู่เสมอ และบางครั้งมีทั้งสองอย่างอยู่ในประโยคสนทนาสั้นๆเพียงประโยคเดียว เช่น “กรี้ดดดด~!! TOT” หรือ อ๋อ... หะ หา เฮ้ย+ =O=” หรือ “เย้ย! นายจะบ้าเรอะ ฉันจะไปขโมยยังไงเล่า=O=” ทั้งยังมีประโยคจำนวนไม่น้อยที่มีแต่อีโมติคอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น ( ==;)+++(-- ) หรือ ^0^+++-- หรือ TOT+++-- ประโยคดังกล่าวอาจจะสื่อภาพอากัปกิริยาของตัวละครได้บ้าง และบางครั้งก็ไม่สามารถสื่อความใดๆ ได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้อ่านที่ไม่ทราบความหมายของอีโมติคอนเหล่านี้ จึงเห็นว่าถ้าผู้แต่งใช้บทบรรยายแทนก็จะสื่อความได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะพบว่าผู้แต่งใช้อีโมติคอนเป็นเสมือนคำขึ้นต้นและคำลงท้ายประโยคอยู่เสมอ ซึ่งอีโมติคอนในตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่สามารถตัดออกได้ทั้งหมด เพราะไม่ส่งผลต่อเนื้อความใดๆในประโยคเลย และยังช่วยลดความฟุ่มเฟือยของสัญลักษณ์ประเภทนี้ลงได้

ประเด็นที่สาม คือ สัดส่วนที่ไม่สมดุลระหว่างบทบรรยายกับบทสนทนา เนื่องจากปริมาณบทสนทนามีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเรื่อง ซึ่งถือเป็นข้อด้อยประการสำคัญในการแต่งนิยาย กล่าวคือ นิยายจำเป็นต้องมีจำนวนบทบรรยายมากกว่าบทสนทนา และเมื่อใดที่มีบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย นิยายเรื่องนั้นก็อาจจะกลายเป็นบทละคร อีกทั้งบทบรรยายส่วนใหญ่อาจถือว่าเป็นข้อด้อยของผู้แต่ง เพราะบทบรรยายที่ปรากฏมักไม่ต่างจากบทสนทนานัก เนื่องจากผู้แต่งยังคงเขียนด้วยภาษาพูด มีอีโมติคอน และ sound effect ประกอบเป็นระยะๆ ซึ่งต่างจากบทสนทนาก็เพียงช้รูปประโยคยาวขึ้น และไม่มีเครื่องหมายอัญประกาศ หรือ เครื่องหมายคำพูด (“.....”) ที่บทบรรยายเท่านั้นเอง เช่น ยิ้มแฉ่งชี้นิ้วโป้งเข้าไปในร้านก่อนจะเปลี่ยนเป็นส่งนิ้วกลางให้ หยาบคายจริงๆ ทำไมไม่รู้จักทำตัวให้มันน่ารักสมชื่อกับเขาบ้างน้า... == ฉันเลิกสนใจนิ้วของเพื่อนต๊องๆ แล้วมองตามไปจนพบกับ...เทพบุตรในฝันของฉันนี่นา >_< อ๊ากกก~! เคลติกของฉัน (เขาเป็นของเธอตั้งแต่เมื่อไรยะ ==) เขาเป็นผู้ชายที่หล่อกระชากใจสาวๆ สุดๆไปเลย >_< เคลติกอยู่ในเสื้อยืดคอปกลายทางสีเขียว แล้วก็กางเกงเดฟสีแดงสดซึ่งปกติมันดูเดิ่งมากถ้าคนอื่นใส่ แต่เคลติกใส่แล้วมันช่างดูดีที่สุด >O< อ้ายยย~ ….

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้แต่งไม่สามารถบรรยายตัวละครให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการตามได้ เพราะบรรยายไว้อย่างคร่าวๆ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้แต่งโพสต์ภาพตัวละครหลักๆไว้อย่างชัดเจนแล้ว จึงละความสนใจในประเด็นนี้ไป เช่น บรรยายภาพบิ๊กบอมเพียงว่า ผู้ชายตรงหน้าฉันอายุไม่เกินยี่สิบสาม หน้าใสกิ๊งอย่างกับพรีเซ็นเตอร์ครีมทาหน้าขาว ตาดำหม่นๆ ใต้คิ้วที่เฉียงที่กำลังย่นนิดๆ ...ผมสีดำที่ซอยระต้นคอของเขาถูกรวบไว้ครึ่งศีรษะ ดูเซอร์นิดๆ แต่ก็หล่อกระชากใจสาวๆ สุดๆ ฉันจ้องเขาอยู่สักพักก่อนที่ริมฝีปากที่น่าจุ๊บของเขาจะขยับพูดขึ้น การบรรยายเพียงเท่านี้ ถ้าเทียบกับภาพวาดก็เป็นเพียงภาพร่างหยาบๆ ที่ขาดรายละเอียด ด้วยเหตุนี้ ผู้แต่งควรเน้นการบรรยายตัวละครให้ละเอียดมากขึ้น เพราะนิยายต้องสื่อความได้ด้วยตัวบท โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยภายนอกอื่นๆ มาช่วยเสริม เช่น ภาพประกอบ

ประเด็นที่สี่ วิธีการให้ตัวละคร ”แซว” “จิก กัด” หรือ “ชม” ตัวเอง ผู้แต่งเรื่องนี้ก็นิยมใช้วิธีการดังกล่าวมาเป็นแนวเขียนหลักเช่นกัน เพราะพบประโยคลักษณะนี้ปรากฏโดยตลอดเรื่อง เช่น ...โฮๆๆ เหมือนจะมีแววว่า ฉันกำลังจะได้ไดเอ็ตโดยไม่ต้องการอีกแล้ว (ไม่มีจะกินนั่นเอง T^T) หรือ ... ฉันลุกขึ้นยืนพร้อมกับเขย่งตะโกนใส่หน้าไอ้บ้านั่น (ไม่ใช่ว่าฉันเตี้ยนะ ไอ้บ้านั่นสูงเองต่างหาก ฉันสูงตั้งร้อยหกสิบเจ็ดเชียวนะนะ --+) บางครั้งก็ใช้วิธีเขียนคำอธิบายในวงเล็บเพื่อแย้งหรือแสดงความรู้เท่าทันข้อความที่เขียนนำไว้ในประโยคข้างต้น เช่น ... อย่าบอกนะว่าเธอไม่รู้ว่าพ่อผมมีครอบครัวแล้วเลยตกใจขนาดนี้ (เข้าใจผิดไปใหญ่แล้วค่ะคุณชาย = =) หรือ ตอนนี้ฉันในเสื้อไหมพรมสีดำสนิทและกางเกงยีนส์ขาเดฟกำลังย่องดอดอยุ่กับคุณสมบูรณ์สหายคู่ใจในการปฏิบัติการ (เอามันมาเป็นเพื่อนเนื่องจากฉันกลัวผีขึ้นสมอง ลงมือคนเดียวมันน่ากลัว T^T)... ผู้วิจารณ์สังเกตว่าสไตล์การเขียนลักษณะนี้พบมากขึ้นในนิยายแนวหวานแหวว

ประเด็นที่ห้า คือ เน้นการสร้างความขบขัน โดยใช้ความเปิ่นของนางเอก ผู้แต่งต้องการส่งความเด่นของนางเอกด้วยบท “สาวสวย ใส แต่เปิ่น” แต่ผู้แต่งจงใจสร้างเหตุการณ์ที่แสดงความเปิ่นของนางเอกบ่อยครั้งและต่อเนื่องเกินไป จนทำให้นางเอกกลายเป็น “สาวสวย ใส แต่ไร้สมอง” ไปแล้ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งน่าจะมาจากมุกตลกที่ขาดความสมเหตุสมผล เช่น ฉากที่พระเอกพบนางเอกเป็นครั้งแรกนั้น ร่างกายท่อนบนของนางเอกมีแต่เสื้อชั้นในเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าขณะที่วิ่งตามหาสุนัข เสื้อไหมพรมที่ใส่มาไปเกี่ยวกับพุ่มไม้ จนทำให้ไหมพรมลุ่ยออกจนหมด ในความเป็นจริง คงจะไม่มีใครไม่รู้ตัวหรอกว่าขณะที่วิ่งไปเสื้อของตัวเองหดสั้นลงเรื่อยๆ จนไม่เหลือไหมพรมสักเส้นเดียวติดกาย หรือ ฉากนางเอกเดินตามและตะโกนเรียกชื่อสุนัขของตนรอบหมู่บ้านไฮโซกว่าสองชั่วโมง ทั้งๆ ที่เวลาในขณะนั้นก็ดึกมากเกือบจะเที่ยงคืนแล้ว จะไม่มียามรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านมาพบเลยหรือ นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่นางเอกเข้าใจผิดคิดว่าพบสุนัขของตนที่นอนหลบอยู่ใต้พุ่มไม้แล้ว แต่ก็อุ้มสุนัขผิดตัว แทนที่จะอุ้ม “สมบูรณ์” สุนัขพันธุ์ปั๊กของตนกลับอุ้ม “กูฟฟี่” สุนัขพุดเดิ้ลของพระเอกแทน ทั้งๆที่สุนัขทั้งสองพันธุ์มีลักษณะขนต่างกันมาก แม้ไม่เห็นเพียงแค่สัมผัสก็สามารถแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปั๊กขนสั้นเกรียน แต่พุดเดิ้ลขนหยิกยาว

ประเด็นสุดท้าย คือ การเขียนกำกับไว้ในแต่ละช่วงว่าขณะนี้ตัวละครใดกำลังพูด เช่น (Bigbom Talk) นั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนเช่นนี้ก็ได้ เพราะผู้อ่านสามารถทราบขณะที่อ่านอยู่แล้วว่าเป็นบทสทนาของตัวละครใด การเขียนเช่นนี้แสดงลักษณะของบทละครหรือบทการแสดงอย่างชัดเจน ไม่ใช่ลักษณะของนวนิยาย อาจเป็นเพราะว่า ผู้เขียนไม่ทราบว่าควรจะเขียนอย่างไร เพื่อจะให้ผู้อ่านทราบว่าตัวละครตัวไหนกำลังพูดว่าอะไร (เช่น บิ๊กบอมบ่นกับตัวเองว่า เคลติกหันมาพูดกับเพื่อน มะเกี๋ยงตอบเคลติกว่า เธอโต้กลับอย่างโมโห )
ผู้วิจารณ์เห็นว่าขณะนี้เรื่องเพิ่งจะดำเนินไปเพียงช่วงต้นและผู้แต่งเพิ่งจะเขียนไปแค่ 12 ตอน จึงสามารถที่จะปรับแก้และลดทอนความฟุ่มเฟือยต่างๆที่กล่าวถึงข้างต้นได้ไม่ยากนัก ซึ่งน่าจะช่วยให้เรื่องกระชับและน่าสนใจมากขึ้น เมื่อพิจารณาเรื่องโดยรวมพบว่า นิยายเรื่องนี้อ่านสนุก เดินเรื่องกระชับ และเริ่มจะเข้าสู่แก่นเรื่องหลักที่น่าจะมีมิติทางอารมณ์ที่หลากหลายกว่าเน้นความเปิ่นของนางเอกเพียงอย่างเดียว ทั้งยังเริ่มมีบทบาทตัวละครอื่นที่จะขัดขวางเส้นทางความรักระหว่างพระเอกกับนางเอก ทั้งบิ๊กแบงและเหม่ยจิน ก็น่าจะช่วยเพิ่มสีสันและความเข้มข้นของเรื่องได้

------------------------------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  Cool Cat! คนมันเจ๋ง! [Original]
ใครแต่ง : วานรเพลิง
24 พ.ค. 56
80 %
61 Votes  
#34 REVIEW
 
เห็นด้วย
12
จาก 13 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Cool Cat! คนมันเจ๋ง!

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 5 ก.ค. 53
นิยายเรื่อง Cool cat คนมันเจ๋ง ของ วานรเพลิง เป็นนิยายประเภทที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักในเว็บไซต์เด็กดี คือนิยายประเภท “ส่วนหนึ่งของชีวิต” หรือ Slice of life นักเขียนนิยายประเภทนี้จะจับเอาบางช่วงบางตอนของชีวิตตัวละครมาเล่า โดยไม่จำเป็นต้องมีพล็อตเรื่อง และสามารถที่จะจบเป็นปลายเปิดว่าชีวิตของตัวละครเหล่านั้นก็ยังคงดำเนินต่อไป และให้ผู้อ่านคิดเอาเองว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร นิยายประเภทนี้มีข้อดี คือนักเขียนสามารถเขียนถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาหาตัวละครในช่วงเวลาที่นำมาเขียนได้ แต่ก็อาจจะมีข้อเสียคือ ถ้าไม่สามารถดึงอารมณ์ร่วมของผู้อ่านได้มากพอ นิยายประเภทนี้ก็จะจืดชืด จนกลายเป็นบันทึกประจำวันหรือสารคดีไป นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่เลือกเขียนนิยายประเภทนี้ จะต้องมีฝีมือระดับหนึ่งทีเดียว

Cool cat เป็นเรื่องราวของริว นักเรียนใหม่ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ที่ ร.ร. เทวบดี เขาเป็นลูกเสี้ยวไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ จึงทำให้ตัวสูง และสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ มีน้องสาวหนึ่งคนชื่อเนโกะ ที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในภาคที่สอง เมื่อริวได้มาเข้าเรียนที่นี่ เขาได้พบกับผองเพื่อนที่มีบุคลิกแตกต่างกันสี่คน พร้อมทั้งหญิงสาวเพื่อนร่วมโรงเรียนอีกเจ็ดคน ทั้งหมดนี้จะมาสร้างความสนุกสนานด้วยความครื้นเครงในชีวิตประจำวัน บทบู๊ลุยแหลก กีฬาบาสเกตบอล และความรัก

เท่าที่อ่านมาจนจบสองภาคได้แก่ Cool cat! และ Cool cat! October พบว่าผู้เขียนสามารถบรรยายบุคลิกของตัวละครเอกแต่ละตัวได้อย่างแจ่มชัด ผู้อ่านมองเห็นความแตกต่างได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ริว ที่ถึงแม้จะไม่มี ความ สามารถอะไรโดดเด่น แต่ด้วยบุคลิกภายนอกที่แตกต่างจากคนอื่น ก็ทำให้แยกออกมาได้ชัดเจน เฮี้ยน เจ้าหมาบ้าตัวน้อยประจำกลุ่ม ที่ถึงแม้จะตัวเล็กแต่ก็มากด้วยความสามารถ ทั้งด้านความเร็วและการต่อสู้ อีกทั้งบุคลิกที่ระเบิดอารมณ์ได้ง่าย ก็เป็นที่น่าจดจำ โก้ ผู้อ่านจะจดจำเขาได้ด้วยความกวนและความแม่นยำในการขว้างปาสิ่งของของเขา เอกเป็นชายร่างใหญ่ที่มีพละกำลังไม่เป็นรองใคร ส่วนชิตก็สามารถกระโดดได้สูง ทั้งที่มีส่วนสูงไม่มากนัก จะเห็นได้ว่าความสามารถพิเศษของพวกเขานั้น ถึงแม้จะแตกต่างจากคนทั่วไปมาก แต่ก็ยังจัดได้ว่าสมจริงอย่างไม่หลุดโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของนิยายเรื่องนี้ เช่นเดียวกับตัวละครเอกหญิงทั้งแปด (รวมเนโกะ) ที่สามารถบรรยายให้เห็นเด่นชัดได้เช่นกัน

นอกจากบุคลิกแล้ว สิ่งที่ทำให้ตัวละครในนิยายมีชีวิตก็คือเรื่องราวของพวกเขา นิยายที่มีตัวละครมากๆ มักยากที่จะเล่าเรื่องราวของตัวละครที่เด่นๆ ได้ทั้งหมด แต่ใน Coolcat! ถือได้ว่า ผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องของตัวละครเอกหลายๆ คนได้อย่างราบรื่น โดยไม่รู้สึกว่าเรื่องกระโดด พร้อมกันนั้นก็ทำได้ผู้อ่านได้รับทราบถึงเรื่องราวโดยรวมที่แวดล้อมเหล่าตัวละคร เช่น เรื่องของแก๊งต่างๆ ในโรงเรียน โรงเรียนฝ่ายอริ เรื่องราวความรักในอดีต ความสัมพันธ์ของเหล่าตัวละครเอกก่อนที่ริวจะย้ายโรงเรียนเข้ามา เป็นต้น

แม้ผู้เขียนจะสามารถเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจง่ายและสนุกสนาน แต่ก็ยังคงมีตัวละครอีกหลายตัวที่ผู้เขียนยังไม่ได้กระจายบทให้อย่างทั่วถึง ตัวละครที่ผู้เขียนเล่าเรื่องจนเห็นภาพเด่นชัดที่สุดอยู่ในกลุ่มของตัวละครเอกชาย ได้แก่ ริว เฮี้ยน และชิต ส่วนโก้และเอกนั้น ยังไม่ค่อยเห็นเรื่องราวของพวกเขาเท่าไรนัก จึงขอแนะนำว่าในภาคต่อๆ ไป ก็น่าจะมีเรื่องราวของโก้และเอกด้วย ส่วนตัวละครเอกหญิงเท่าที่อ่านเห็นภาพชัดเพียงโอ๋ แนน เนโกะ และมด เท่านั้น ในขณะที่มีตัวละครเอกถึงแปดคน หากมีการรีไรท์หรือเขียนภาคต่อไป ก็ขอแนะนำให้มีการเพิ่มเติมบทบาทของพวกเธอด้วยเช่นกัน ถึงแม้ผู้เขียนจะออกตัวไว้ว่า “อยู่โรงเรียนชายล้วน จึงเขียนเรื่องแบบนี้ไม่ค่อยถนัด” ก็ขอให้พยายามเท่าที่จะทำได้ โดยอาจจะลองสังเกตจากผู้หญิงใกล้ตัวดูว่า บุคลิกลักษณะ การแสดงออกของพวกเธอเป็นอย่างไร หรือจะลองชมภาพยนตร์ การ์ตูน หรืออ่านนิยายเรื่องอื่นๆ ดูบ้างก็ได้

เรื่องราวภูมิหลังของตัวละครที่เกี่ยวกับแก๊งต่างๆ และโรงเรียนคู่อรินั้นน่าสนใจ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้เขียนได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย และส่วนมากเป็นการพูดออกจากปากของตัวละคร หากเปลี่ยนวิธีเล่าเสียใหม่ เช่น ย้อนเวลากลับไปเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านมุมมองของตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ก็น่าจะทำให้เรื่องมีมิติและความสมจริงมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความของเหล่าตัวละครเอก ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะชื่อว่า Cool cat! คนมันเจ๋ง แต่ก็ไม่จำเป็นที่พวกของริวจะต้องชนะทุกเรื่องที่พวกเขาเข้าไปพัวพัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อยตี กีฬา การเรียนหนังสือ เมื่อพวกเขาไม่เคยประสบความพ่ายแพ้ที่ชัดเจนเลย (มีบ้างเช่น แพ้บาสเกตบอลผู้หญิงเพราะไม่เคยเล่นมาก่อน หรือเฮี้ยนโดนรุมทำร้ายจนสลบไปแต่พรรคพวกก็ช่วยออกมาได้) ทำให้ผู้อ่านไม่ค่อยตื่นเต้นในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ของพวกเขา เพราะไม่มีอะไรให้ลุ้นนั่นเอง เช่นเดียวกับเรื่องของความรักที่ไม่จำเป็นต้องให้สมหวัง แต่อาจจะหาทางให้ผู้อ่านต้องครุ่นคิดและสงสัยบ้างว่าพวกเขาจะลงเอยกันอย่างไร นอกจากนี้ หากตัวละครเอกได้รับความสูญเสียอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่มีทางกลับคืนเป็นเหมือนเดิมได้ ก็น่าจะมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำให้ตัวละครมีพัฒนาการ มีความสมจริง และทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุกยิ่งขึ้น ตลอดจนอาจจะช่วยให้บทเรียนกับผู้อ่านได้อีกด้วย (เช่นการรักษาสิ่งสำคัญ หรือการตัดสินใจบางอย่างที่สำคัญ ควรจะต้องทำอย่างไร) ทั้งนี้ โดยรวมนิยายเรื่อง Cool cat! นั้นสนุกอยู่แล้ว แต่ผู้วิจารณ์คิดว่าหากผู้เขียนต้องการสิ่งที่มากกว่าความสนุก เช่น ให้บทเรียนกับตัวละครและผู้อ่าน หรือความสมจริง ก็ขอแนะนำว่าควรปรับเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องในอดีต มีเหตุการณ์ที่ตัวละครต้องพ่ายแพ้หรือเสียใจอย่างหนัก และความรักที่ไม่สมหวัง ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว



----------------------
     
 
ใครแต่ง : tongfar
5 ก.ค. 67
80 %
22 Votes  
#35 REVIEW
 
เห็นด้วย
12
จาก 13 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Conexion - ผู้สานต่อห้วงเวลา

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ก.พ. 54

นิยายแฟนตาซีพลังจิตของ tongfar เรื่อง Conexión – ผู้สานต่อห้วงเวลา ที่จบภาค 1 แล้ว ในภาคนี้มีทั้งสิ้น 20 ตอน (ไม่นับบทนำและบทสรุป) ซึ่งเป็นเรื่องราวของ จิณณ์ บัล เดซาร์ หนุ่มน้อยที่มีพลังจิตในตำนาน ผู้ซึ่งปกปิดความสามารถนี้ของตนไว้เป็นความลับ แต่เมื่อโชคชะตาเล่นตลกให้เขามาพบกับปิญชาน์ หรือ ปิ่น สาวน้อยพลังจิตที่เข้ามาทำร้ายเพราะคิดว่าเขาคิดจะรังแกลูกแมวสีดำ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชีวิตของเขาก็ต้องเปลี่ยนไป ความลับที่ถูกปิดมาแสนนานก็ถึงคราวที่ต้องเปิดเผย ขณะเดียวกันชีวิตที่เคยสงบสุขก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ นานาในหลากหลายรูปแบบ

หากถามว่าเมื่ออ่านเรื่องนี้มาจนจบภาค 1 แล้ว อะไรคือจุดเด่นของนิยายเรื่องนี้ ประการแรกคงต้องยอมรับว่า tongfar สามารถนำชื่อเรื่องโดยเฉพาะคำว่า Conexión มาใช้ได้ในหลากหลายลักษณะ ในเบื้องต้น ถ้าพิจารณาความหมายโดยตรงของศัพท์คำนี้ หากจะให้เดาก็น่าจะมาจากภาษาสเปนเช่นเดียวกับคำศัพท์อื่นๆที่ปรากฏในเรื่อง ซึ่งคำนี้สามารถเทียบเคียงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า connection ที่แปลว่า การเชื่อม ต่อเนื่อง หรือ เกี่ยวกัน โดยส่วนตัวเห็นว่าคำๆ นี้มีความเกี่ยวเนื่องกับจิณณ์ ใน 3 ลักษณะ คือ ลักษณะที่หนึ่ง แสดงถึงความสามารถในการใช้พลังจิตว่า จิณณ์ มีพลังจิตที่เรียกว่า Conexión ระดับ SS ลักษณะที่สอง แสดงให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นของจิณณ์ เพราะเขามักจะดึงดูดหรือเป็นตัวเชื่อมให้ทุกคนมารุมล้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู และในเรื่องก็ยังย้ำให้เห็นอย่างหนักแน่นด้วยคำพูดที่เกี่ยวกับจิณณ์ของอาจารย์ใหญ่ที่พูดกับคาซีเมื่อเขามาเยี่ยมโรงเรียนก็ช่วยยืนยันลักษณะพิเศษของจิณณ์ได้ชัดเจนขึ้นว่า “จิณณ์เป็นเด็กไม่เก่งอะไรสักอย่าง แต่กลับดึงดูดคนอื่นรายรอบให้คล้อยตามเขาได้เสมอ ... แปลกดีไหม” และ ลักษณะสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงความหมายแฝงของกลวิธีการเขียนที่ tongfar ใช้จิณณ์เป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่าจิณณ์เป็นโครงหลักของนิยายเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

จุดเด่นประการที่สองคือ การสร้างตัวละคร จะพบว่าแม้มีตัวละครกว่า 20 ตัวในเรื่องทว่าตัวละครแต่ละตัวนอกจากจะมีบุคคลิกลักษณะที่โดดเด่นไม่ซ้ำกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างลักษณะ เช่น ลุซ ผมสีชา ตาสีคราม หรือ จิณณ์ ผมไม่เป็นทรงสีกาแฟแก่ ตาสีน้ำตาลเข้ม และในแง่ของอุปนิสัยใจคอก็เช่นกัน จะเห็นว่าปิญชาน์หรือปิ่น สาวน้อยแสนน่ารักที่คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเธอบอบบาง อ่อนหวาน แต่ตัวจริงเธอห้าวและกล้าแกร่งไม่แพ้ใคร ในขณะที่มิกิเป็นสาววู่วาม เลือดร้อน แต่รักพวกพ้อง และวอซเองก็เป็นหนุ่มอารมณ์ร้อน แต่รอบคอบ อีกทั้งพลังจิตของแต่ละตัวก็ยังต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นปิ่นใช้พลังแรงดึงดูด อลาเบโอใช้พลังบิดเบือน หรือ ปารย์ที่ใช้พลังเทเลพาธี ความชัดเจนของการสร้างตัวละครในที่นี้นับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านชื่นชอบและติดตามอ่านเรื่องราวของตัวละครกลุ่มนี้ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป

จุดเด่นประการที่สามคือ ปมปัญหาหรือความลับต่างๆ ที่เปิดไว้ในเรื่อง นับเป็นองค์ประกอบประการสำคัญที่ช่วยให้เรื่องน่าติดตาม ขณะเดียวกัน tongfar ก็ไม่ลืมที่จะค่อยๆ ปิดปมปัญหาและคลี่คลายความลับต่างๆ เหล่านั้นได้ทั้งหมดก่อนจบภาค ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างจิณณ์กับพ่อ อะไรคือกล่องสมบัติลับแห่งมีเทร์ที่ลุซขโมยออกมาจากองค์กร ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มของลุซกับคาซี และ ความลับเกี่ยวกับพลังที่แท้จริงของจิณณ์

จุดเด่นประการสุดท้าย คือ นิยายเรื่องนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปในทิศทางใด เพราะขณะที่ผู้อ่านคาดว่าเรื่องจะต้องเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ tongfar ก็จะหักมุมให้เรื่องต่างไปจากที่คาดไว้เสมอ ด้วยการเพิ่มตัวละครใหม่ๆเข้ามา และตัวละครที่เพิ่มเข้ามาส่วนใหญ่ก็มักจะมีพลังพิเศษในระดับที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็สร้างสีสันและความเข้มข้นให้กับเรื่องอยู่เสมอ นับได้ว่าสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความอยากรู้ของผู้อ่านจนต้องเฝ้าติดตามเรื่องว่าจะดำเนินไปในทิศทางใดและตอนจบจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่น่าคิดก็คือ หากภาคต่อไป tongfar ยังใช้วิธีการเช่นนี้มาดำเนินเรื่องอีก ก็ทำให้นึกสงสัยว่าตัวละครในภาคต่อไปนั้นจะเป็นผู้ที่มีพลังพิเศษเพิ่มขึ้นจนถึงระดับใด เพราะในช่วยท้ายๆของภาคนี้ ผู้อ่านก็เห็นแล้วว่ามีผู้ใช้พลังพิเศษได้พร้อมกันถึง 4 อย่าง และแม้แต่ตัวของจิณณ์เอง นอกจากจะมีพลัง Conexión ในระดับ SS แล้ว เขายังมีพลังเทเลพาธี ระดับ SS ที่ได้รับมาจากพ่อซึ่งเป็นผู้ชายในตำนานที่ได้รับสมญานามว่า God’s eyes ระดับ SS อีกด้วย

ในขณะที่อ่านต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ายังไม่สามารถที่จะจินตนาการตามเรื่องได้ทันทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากการต่อสู้ด้วยการใช้พลังพิเศษต่างๆ ของตัวละคร นั่นอาจเป็นเพราะโดยส่วนตัวไม่คุ้นกับเรื่องในทำนองนี้มากนัก จึงทำให้กว่าที่จะเข้าใจว่าพลังพิเศษแต่ละชนิดเป็นอย่างไร และมีวิธีการใช้พลังอย่างไร บางครั้งก็ต้องพบการใช้พลังแบบเดิมๆ อย่างน้อย 2 ครั้งจึงจะเริ่มจับทางได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดก็ตามที่เป็นฉากที่เพิ่มตัวละครตัวใหม่ที่มีพลังพิเศษชนิดใหม่ๆเพิ่มเข้ามา หรือฉากการต่อสู้ระหว่างพลังพิเศษหลายๆ ชนิดพร้อมกันก็จะมีความรู้สึกว่าสับสนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่พวกของลุซต่อสู้กับพวกของคาซี ในบทที่ 12 ตอน ศึกจอมคนลวงโลก ที่มีตัวละครเพิ่มใหม่เข้ามาพร้อมกันหลายตัว และมีพลังพิเศษใหม่อีกหลายชนิดเพิ่มเข้ามาด้วย ประกอบกับการต่อสู้ในครั้งนี้ยังมีการใช้การสร้างภาพลวงตาเสริมเข้าไปอีก จนทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าผู้ที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้เป็นตัวละครใดกันแน่ นอกจากนี้ การบรรยายฉากการต่อสู้ในช่วงนั้น tongfar ก็บรรยายสั้นกระชับเพื่อสร้างความตื่นเต้น การบรรยายเช่นนี้อาจจะดีและเหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังจิตเหล่านี้มาอยู่ก่อนแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เลยต้องยอมรับเลยว่าเมื่ออ่านฉากต่อสู้ตอนนี้จบลงก็ยังงงๆและสับสนอยู่มาก ในประเด็นนี้หาก tongfar สามารถหาสมดุลระหว่างการเล่าเรื่องให้ผู้ที่รู้และไม่รู้สามารถที่จะสนุกไปกับเรื่องราวได้พร้อมๆ กันได้ก็จะดี

แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะดำเนินเรื่องผ่านเรื่องราวของจิณณ์ เด็กชายชั้นมัธยมปลายคนหนึ่ง แต่เรื่องราวที่ได้อ่านก็ไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบของนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนที่นิยมกันอยู่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ tongfar นำเสนอและสอดแทรกสาระความคิดไว้ในหลายหลายมิติ ทั้งมิติระดับบุคคล ที่นำเสนอมิตรภาพระหว่างผองเพื่อนว่าจะมั่นคงเพียงไร โดยใช้เรื่องราวของจิณณ์เป็นบททดสอบว่า เมื่อเพื่อนรู้ว่าเขาหลอกลวงและปกปิดพลังและตัวตนที่แท้จริงไว้ เพื่อนจะยังคงให้อภัยและคบเขาเหมือนเดิม หรือว่าจะเลิกคบเขาไปเลย และยังมีเรื่องราวของมิตรภาพที่สร้างขึ้นใหม่ระหว่างพวกของจิณณ์ พวกของลุซ และพวกของคาซี ขณะเดียกกันก็สอดแทรกเรื่องราวความรัก ทั้งความรักระหว่างพี่น้องผ่านเซียงผู้เป็นพี่ชายที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อหาวิธีรักษามิเรียน้องสาวของเขาให้หายจากโรคร้าย และความรักของหนุ่มสาวระหว่างจิณณ์กับปิ่นที่เริ่มต้นจากเพื่อนพัฒนาไปสู่ความผูกพันและความรักในที่สุด อีกทั้งยังมีนำเสนอความรักของพ่อแม่ที่พร้อมจะสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องลูก ในกรณีของ God’s eyes กับจิณณ์ ลักษณะต่อมาก็คือมิติระดับครอบครัว ที่นำเสนอปมปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างจิณณ์กับพ่อมาเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ปิ่นได้เรียนรู้ เข้าใจ และนำไปปรับใช้กับปัญหาของตนด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังนำเสนอมิติที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือมิติทางสังคม ที่สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องราวความวุ่นวายใหญ่โตนี้เกิดขึ้นจากความโลภและเห็นแก่อำนาจของบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ดียังมีข้อสงสัยอีกประเด็นหนึ่งคือ ในช่วงท้ายเรื่องที่จิณณ์และปิ่นบุกเข้าไปทลายศูนย์วิจัยของโอโซเน่ ผู้เป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ ขึ้นนั้น พวกเขาพบสมองมนุษย์ที่อยู่ในหลอดทดลองทั้งหมด 4 อัน ซึ่งเท่ากับจำนวนความสามารถที่ชายชุดดำใช้ คำถามที่เกิดขึ้นเมื่ออ่านมาถึงตอนนี้คือ หนึ่งในพลังที่ชายชุดดำใช้ต่อสู้กับพวกจิณณ์คือ พลัง “หยุด” ซึ่งเป็นพลังพิเศษของลูกสาวลุซ เมื่อบรรยายเกริ่นไว้เช่นนี้ก็แสดงว่าหนึ่งในสมองที่เห็นนั้นก็น่าจะเป็นของลูกสาวลุซ ซึ่งก็เท่ากับว่าเด็กคนนี้ตายแล้วใช่หรือไม่ แต่ต่อมาเรื่องกลับกลายเป็นว่าจิณณ์และปิ่นสามารถที่จะช่วยชีวิตและพาลูกสาวลุซออกมาได้ จึงทำให้เกิดคำถามว่าสมองที่บรรยายในช่วงต้นเป็นของใครกันแน่ และที่บอกว่าความสามารถของลูกลุซ นับว่าเป็นสิ่งที่หายาก จนเธอได้รับยกย่องให้เป็นสมบัติลับแห่งมีเทร์ ก็น่าหมายความว่าเธอเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถใช้พลังนี้ได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าสมองที่กล่าวถึงไว้ในตอนต้นน่าจะเป็นของเธอด้วย ดังนั้นเธอจึงไม่น่าจะรอดชีวิตมาได้ ในกรณีนี้เพื่อให้เหตุการณ์ตอนนี้ชัดเจนขึ้นก็ควรจะเปลี่ยนจากพบสมอง 4 อันในหลอดทดลอง เป็นพบคน 4 คนที่ถูกเชื่อมต่อพลังของพวกเขาไปยังแหล่งส่งทอดพลังเพื่อให้ชายชุดดำนำไปใช้อีกต่อหนึ่ง เช่นเดียวกับที่บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นกับซิลเวียและผู้มีพลังพิเศษคนอื่นๆ ก็น่าช่วยให้การฉากนี้มีสมจริงมากขึ้น

ท้ายที่สุดเพื่อให้นิยายเรื่องนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น จึงอยากจะกล่าวถึงคำผิดที่พบเพื่อที่นักเขียนจะนำไปเป็นข้อมูลในการปรับแก้ต่อไป คำผิดที่พบในเรื่องนี้ คือ หา หรือ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา ล่อกแล่ง เขียนเป็น ลอกแล่ก อเนจอนาถ เขียนเป็น เอน็ดอนาถ มั้ย เขียนเป็น ไม๊ กระตือรือร้น เขียนเป็น กะตือรือร้น สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ มั้ย เขียนเป็น ม๊าย คลุ้มคลั่ง เขียนเป็น คลุ่มคลั่ง กะทัดรัด เขียนเป็น กระทัดรัด ตาลุกโพลง เขียนเป็น ตาลุกพลง สิงสถิต เขียนเป็น สิงสถิตย์ และ สนธยา เขียนเป็น สนทยา

------------------------
     
 
ใครแต่ง : Nolan Fox
5 ส.ค. 58
80 %
19 Votes  
#36 REVIEW
 
เห็นด้วย
11
จาก 11 คน 
 
 
วิจารณ์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 ก.ค. 56
วรรณกรรมเยาวชน เรื่อง The Tale of Pangerrics ตำนานคัมภีร์มหัศจรรย์ ผลงานของ B.S. SKILLA ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 10 แล้ว วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ อัลเทล มินดูรินส์ เด็กชายชาวมนุษย์เพียงหนึ่งเดียวที่เติบโตมาในหมู่บ้านของคนแคระ โดยมีโนเรอิน พ่อบุญธรรมที่เก็บเขามาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นทารก การผจญภัยของเขาและผองเพื่อนเริ่มต้นขึ้นเมื่อโนเรอินเสียชีวิต และหมู่บ้านถูกทำลาย จากพวกออร์ค สมุนของลูเฟียส จอมปีศาจแห่ง
ทิเนออน ต่อมา อัลเทลไปพัวพันกับสงครามครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นไปทั่วทั้งดินแดนของคนแคระ มนุษย์ และอาจเลยไปถึงดินแดนของเอลฟ์ เพราะลูเฟียส จอมปีศาจส่งสมุนของตนไปเสาะแสวงหา “คัมภีร์พันเจอร์ริดส์” ซึ่งเป็นคัมภีร์อาญาเวทที่ใช้จองจำและขับไล่สิ่งชั่วร้าย เพื่อทำลายทิ้ง เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่ออัลเทลกลายเป็นผู้ถือครอง “คัมภีร์พันเจอร์ริดส์” เพราะมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะถือครองคัมภีร์นี้ได้
เรื่อง The Tale of Pangerrics ตำนานคัมภีร์มหัศจรรย์ เปิดฉากมาได้น่าสนใจและน่าติดตาม ทั้งการสร้างปมและพัฒนาปมปัญหา ที่เกี่ยวกับการตามหาคัมภีร์ของจอมปีศาจ โดยส่งสมุนไปค้นหาและโจมตีเมืองต่างๆ ทั่วดินแดน ขณะเดียวกัน B.S. SKILLA ยังได้สร้างตัวละครที่มีลักษณะและบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่โดดเด่น ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น อัลเทล มินดูรินส์ เด็กชายชาวมนุษย์ที่เติบโตและถูกเลี้ยงดูมาโดยคนแคระ แต่มีนิสัยทะเยอทะยานและหุนหันพลันแล่น แต่รักพวกพ้อง รูอิส เพื่อนใหม่ของอัลเทลที่มาจากหมู่บ้าน เป็นผู้ที่รู้เรื่องโลกภายนอกมากกว่าพวก
อัลเทลเพราะติดตามพ่อไปค้าขายในดินแดนอื่นๆ หรือ เจ้าชายฮอล์เบิร์ช ที่ต้องพิสูจน์ว่าพระองค์เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรได้หรือไม่ ด้วยสงครามครั้งใหญ่กับจอมปีศาจ หรือ ฟาราเลียส อดีตพ่อมดดำ ที่ขณะนี้กลับตัวเป็นพ่อมดขาว และมาเสนอตัวที่จะช่วยเหลือกษัตริย์ของพวกมนุษย์ต่อสู่กับสมุนของจอมปีศาจ
แต่เมื่อพิจารณาโครงเรื่องที่ B.S. SKILLA เสนอไว้ 14 ตอนนั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่าลำดับและการดำเนินเรื่องของวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ ไปคล้ายกับ The Lord of the Ring วรรณกรรมระดับโลก ผลงานของ เจ. อาร์ อาร์ โทลคีน. (J.J.R. Tolkien) อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลำดับเวลาของเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเรื่องที่หมู่บ้านคนแคระ แต่ต่างกันที่ตัวเอกในเรื่อง The Lord of the Ring เป็นคนแคระไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนวรรณกรรมเรื่องนี้ ต่อมา อัลเทล พร้อมเพื่อคนแคระอีก 3 คนออกเดินทาง ในเรื่องนี้อัลเทลก็เดินทางพร้อมเพื่อนคนแคระอีก 3 คนเช่นกัน ระหว่างนั้น
อัลเทลกลายเป็นผู้ถือครอง “คัมภีร์พันเจอร์ริดส์” ซึ่งเป็นที่ต้องการของจอมปีศาจ และ ในเรื่อง The Lord of the Ring
โฟรโด ก็เป็นทายาทผู้ถือครอง “แหวน” ซึ่งเป็นที่ต้องการของจอมปีศาจเช่นกัน ในระหว่างทาง อัลเทล ได้พบกับฟาราเลียส อดีตพ่อมดดำ ที่กลับตัวเป็นพ่อมดขาว ผู้มาช่วยเหลือให้รอดพ้นจากป่าอาถรรพ์ได้ เช่นเดียวกับโฟรโดที่ได้รับความช่วยเหลือจากแกนดัล์ฟพ่อมดเทา อีกทั้ง อัลเทลยังได้เจ้าชายฮอล์เบิร์ช องค์รัชทายาทแห่งนครเฟอร์นาเดน ดินแดนมนุษย์ทางตอนเหนือ ที่ปลอมตัวออกมาท่องเที่ยว เช่นเดียวกับ โฟรโด ที่ได้พบกับสไตเกอร์ หรืออารากอร์น บุตรแห่ง
อาราธอร์น ผู้นำแห่งเหล่าดูเนไดน์ แห่งดินแดนเหนือ ซึ่งเจ้าชายหนุ่มทั้งสองต้องต่อสู้กับสมุนของจอมปีศาจ และมีแนวโน้มว่าจะแพ้ เจ้าชายทั้งสองเรื่องจึงต้องส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากพวกเอลฟ์ ทั้งนี้คงต้องรอพิจารณาต่อไปว่า การดำเนินเรื่องของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องจะยังคงพ้องกันต่อไป หรือว่า The Tale of Pangerrics ตำนานคัมภีร์มหัศจรรย์ จะดำเนินเรื่องแตกต่างจากกัน จนเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นลักษณ์เฉพาะตนของวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างไร
B.S. SKILLA นับว่ามีทักษะในการเขียนในระดับดี ทั้งการเขียนบทบรรยาย ที่สามารถบรรยายให้ผู้อ่านเห็นหมู่บ้านริเอเคน ของคนแคระ ใต้เงาหุบเขาไวท์เมาเทนส์ ในยามสงบ ซึ่งตรงกันข้ามกับการบรรยายถึงซากของหมู่บ้านเมื่อถูกพวกออร์คโจมตี หรือบรรยายถึงบรรยากาศและความน่าสะพรึงกลัวของป่า “ทมิฬรุกขชาติ” ป่าอาถรรพ์ และยังเขียนบทสนทนาได้อย่างรื่นไหล และน่าติดตาม ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวสร้างให้ตัวละครต่างๆ ในเรื่องมีชีวิตออกมามีชีวิตและโลดแล่นไปในโลกจินตนาการนี้ได้อย่างสมจริง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในวรรณกรรมเรื่องนี้ยังมีคำผิดอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งลดทอนความน่าอ่านและความสมบูรณ์ของเรื่องลงอย่างน่าเสียดาย จึงเสนอคำผิดไว้เพื่อให้ผู้เขียนนำไปปรับแก้ในเรื่องต่อไป คือ ซื่อสัตย์ เขียนว่า ซื่อสัตว์ ฝุ่นละออง เขียนว่า ฝุ่นละลอง สำลัก เขียนว่า สำรัก เคลื่อนไหว เขียนว่า เคลื่อนไหล ทรมาน เขียนว่า ทรมาณ ตะกละ เขียนว่า ตระกระ มูมมาม เขียนว่า มุมมาม สมญานาม เขียนว่า สมยานาม อาภรณ์ เขียนว่า อาภร สันชาตญาณ เขียนว่า สัญชาติญาณ เวทมนตร์ เขียนว่า เวทย์มนต์ สัญจร เขียนว่า สันจร คำสาป เขียนว่า คำสาบ หยุดตรง เขียนว่า หยุดตง ขรุขระ เขียนว่า ขลุขละ ตะกุกตะกัก หรือ อึกอัก เขียนว่า กระอุกกระอัก ประพาส เขียนว่า ประภาส เปียกปอน เขียนว่า เปียกปอนด์ เป็นนัย เขียนว่า เป็นนัยน์ (นัยน์ หมายถึง นัยน์ตา) เมื่อครู่ เขียนว่า เมื่อคู่ เจ้าปีศาจ หมายถึง เจาปีศาจ ไม่น่ารื่นหู เขียนว่า ไม่น่าชื่นหู เกียรติ เขียนว่า เกียตริ บัลลังก์ เขียนว่า บัลลังค์ กังวล เขียนว่า กังวน นั่งเท้าคาง เขียนว่า นั่งค้ำคาง ทุรกันดาร เขียนว่า ทุระกันดาน เชี่ยวชาญ เขียนว่า เชียวชาญ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำขยายผิดด้วย เช่น กองเพลิงกัมปนาท ควรใช้คำว่า กองเพลิงขนาดมหึมา เพราะคำว่า กัมปนาท หมายถึง เสียงบันลือ เสียงหวั่นไหว ดินแดนอันดาษดื่นโหดร้าย ดาษดื่น หมายถึง หลากหลาย มีทั่วไป แต่ในประโยคนี้ผู้เขียนต้องการหมายถึง
“ทิเนออน” ซึ่งเป็นดินแดนเพียงหนึ่งเดียว จึงใช้คำว่า “ดาษดื่น” ไม่ได้ พวกเขาตะบันเท้าหนีมา ควรใช้คำว่า พวกเขาวิ่งหนีมา แผ่นดินที่เจียรไปด้วยตำนาน ควรใช้ว่า แผ่นดินที่เต็มไปด้วยตำนาน สัมผัสถึงกลิ่นอายความเป็นมาของแผ่นดิน ควรใช้ว่า สัมผัสถึงประวัติความเป็นมาของแผ่นดิน รีบเดินอย่างกระ กระสน (กระ กระสน หมายถึง ดิ้นรน ดิ้นรนให้พ้นความทุกข์) ควรใช้ว่า รีบเดินอย่างกระวีกระวาด หรือ รีบเดินอย่างกระตือรือร้น
ข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งสำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ B.S. SKILLA ไม่ควรเล่าถึงตำนานของ อัลเทล
มินดูรินส์ ในบทคั่น เนื่องจากว่าขณะที่เล่าในบทคั่น ผู้เขียนก็ไม่สามารถเล่าถึงเรื่อราวของอัลเทลอย่างละเอียดได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเฉลยเรื่องราวของวรรณกรรมเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น จึงแก้ไขด้วยการเลือกใช้คำที่ทำให้เรื่องดูคลุมเครือ วกวน มากกว่าที่จะเล่าว่าตำนานของอัลเทลเป็นอย่างไร จึงเห็นว่าหากผู้เขียนต้องการเล่าตำนานของอัลเทล ควรใส่ไว้ในบนสรุปช่วงท้ายเรื่อง เมื่อเรื่องราวในวรรณกรรมคลี่คลายไปแล้ว ก็สามารถเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตำนานของอัลเทลได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่ายังมีเรื่องราวในบทคั่นอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่เรื่องของอัลเทลเท่านั้น ไม่ควรที่จะแยกออกมาเป็นตอนต่างหากจากเนื้อเรื่องเช่นนี้ แต่ผู้เขียนควรที่จะแทรกเกร็ดและเรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ก็จะช่วยให้วรรณกรรมเรื่องนี้น่าอ่านและน่าติดตามเพิ่มมากขึ้น เช่น ตำนานนอร์ท อาจจะให้ฟาราเลียส เล่าให้พวกอัลเทลฟังก็ได้ หรือ ตำนานเกี่ยวกับเฟอร์นาเดน อาจจะให้เจ้าชายฮอล์เบิร์ช เล่าขณะที่ย้อนคิดถึงความรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรของตนก็ได้ ในกรณีนี้ก็จะช่วยทำให้เรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอทั้งหมดรวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกกันอย่างเป็นเอกเทศเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
     
 
ใครแต่ง : JENNY D RENGER
10 พ.ค. 63
80 %
5 Votes  
#37 REVIEW
 
เห็นด้วย
11
จาก 12 คน 
 
 
บทวิจารณ์ -THE MIRROR กระจกเพี้ยนเฮี้ยนสะกด'ใจ' -

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 มิ.ย. 53
The Mirror กระจกเพี้ยน เฮี้ยนสะกด ‘ใจ’ นิยายรักหวานแหววขนาดกลาง ความยาว 23 ตอนจบขององค์หญิงต๊อกแต๊ก เป็นเรื่องราวความรักของ “ฮ่องเต้” ชายหนุ่มที่หลงรัก “แฟนต้า” มาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และได้พยายามทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับเธอ จนท้ายที่สุดเธอก็ยอมรับเขาในฐานะแฟน

หากพิจารณาคำสำคัญ (key word) ในชื่อเรื่องก็คือ คำว่า “กระจก” ซึ่งผู้แต่งก็สามารถนำกระจกมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินเรื่องได้เป็นอย่างดี กล่าวคือในช่วงแรกๆเรื่องมีกลิ่นอายของนิยายแนวผี เพราะผู้แต่งกำหนดให้แฟนต้าเชื่ออย่างฝังใจว่ากระจกที่เธอขู่บังคับเอามาจาก “องค์ชาย” เพื่อนของเธอนั้น เป็นกระจกผีสิงที่มีผี “ฮ่องเต้” อาศัยอยู่ แต่ต่อมาเรื่องคลี่คลายและลดทอนความเป็นนิยายแนวผี ไปสู่เรื่องราวที่แฝงความลับของฮ่องเต้ เพราะฮ่องเต้อธิบายกับแฟนต้าว่ากระจกนี้คือครึ่งชีวิตของเขา ประกอบกับมีสถานการณ์ต่างๆที่ฮ่องเต้และพรรคพวกพยายามสร้างเพื่อหลอกล่อให้แฟนต้าเชื่อว่าวิญญาณของเขาอยู่ในกระจก และกระจกก็มีหน้าที่สำคัญ ที่พ่อแม่เขาใช้เพื่อตามหาหญิงสาวที่เหมาะสมกับเขา และท้ายที่สุดเรื่องก็มาเฉลยในช่วงท้ายว่า ที่จริงนั้น กระจกก็คือเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่งที่จะแสดงภาพพร้อมเสียงของคู่สนทนาเท่านั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งเกือบจะชักจูงให้ผู้อ่านเชื่อเช่นเดียวกับแฟนต้าได้แล้ว หากไม่เผลอเฉลยความลับของกระจกให้ทราบก่อนตั้งแต่บทที่ 12 ว่า “… ผม (ฮ่องเต้) มองลงไปในกระจกสีทองที่อยู่ในมือก่อนที่จะกำมันแน่น ผมมองเห็นหน้าแฟนต้า กรี๊ดกร๊าดตกใจกับรูปนั้นอยู่พอสมควร ....” หากผู้แต่งให้ผู้อ่านทราบความจริงของกระจกพร้อมกับแฟนต้า ก็จะสร้างปฏิกิริยาทางอารมณ์ให้ผู้อ่านในขณะที่ความลับนี้ถูกเปิดเผยมากขึ้น ขณะเดียวกัน กระจกก็ยังทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมคนสองคนที่เป็นเสมือนคนแปลกหน้า (ฮ่องเต้กับแฟนต้า)ให้รู้จักและรักกันในที่สุด

ความโดดเด่นประการที่สอง ก็คือ แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะมีตัวละครสำคัญไม่ถึง 10 ตัว แต่ผู้แต่งสร้างสีสันให้ด้วยการสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละครได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นแฟนต้า สาวน้อยแสนสวยขี้โวยวายและไม่กลัวใคร ฮ่องเต้ ชายหนุ่มหล่อ รวย มาดดี เคร่งขรึม แต่จีบสาวไม่เป็น และมีเบื้องหลังชีวิตที่ขมขื่น องค์ชาย (เพื่อนสนิทฮ่องเต้และเป็นเพื่อนร่วมห้องของแฟนต้า) ชายหนุ่มหน้าตาดีและรักเพื่อน และ ปาร์ตี้ (น้องชายแฟนต้า) เด็กชายชั้นประถมที่คิดว่าตัวเองหล่อ ชอบกวนประสาทและแกล้งแฟนต้าเป็นประจำ แต่ตัวละครสำคัญอีก 2 ตัวที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าถูกผู้แต่งปรับวุฒิภาวะให้ลดต่ำลง คือพ่อของฮ่องเต้ และพ่อของแฟนต้า เพราะบางครั้งก็รู้สึกว่าพ่อทั้งคู่แสดงลักษณะท่าทางหรือแม้แต่ความคิดไม่ต่างจากกลุ่มพวกแฟนต้าและฮ่องเต้เลย และบ่อยครั้งที่ผู้แต่งสร้างสถานการณ์บางอย่างขึ้นเพื่อต้องการเน้นหรือสร้างอารมณ์บางอย่างกับตัวละครตัวอื่น โดยละเลยความสมจริงของตัวละครพ่อ เช่น การที่ฮ่องเต้สารภาพกับแฟนต้าว่า ที่เธอมองเห็นเขาทุกครั้งที่พบอุบัติเหตุคนตายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เขาเป็นผู้ทำให้เธอฝันเอง ขณะเดียวกันก็เป็นผู้วางแผนให้พ่อแฟนต้านำเธอไปทำงานชันสูตรศพด้วยตั้งแต่เธอยังเด็ก จึงน่าแปลกที่ว่ามีพ่อคนใดบ้างที่จะนำลูกสาววัยเด็กไปทำงานกู้ภัยที่ต้องพบอุบัติเหตุและคนตาย พร้อมกับตน เพียงเพื่อสนองตามความต้องการของเด็กชายวัย 5 ขวบที่สารภาพว่าหลงรักลูกตัวเอง แม้ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นลูกของนายจ้างก็ตาม

เช่นเดียวกับการปูภูมิหลังชีวิตของฮ่องเต้ว่าเป็นคนน่าสงสาร ชีวิตเขาเป็นเสมือนหนูทดลองของพ่อ แม้ว่าความสำเร็จที่พ่อได้รับท้ายที่สุดแล้วจะยกให้ว่าเป็นผลงานของฮ่องเต้ก็ตาม เช่น ฉากที่พ่อฮ่องเต้ไปรับแฟนต้ามาพบและพูดคุยกับฮ่องเต้ที่นอนป่วยในโรงพยาบาลและได้ร่วมเป็นพยานในความสำเร็จของการทดลองที่ฮ่องเต้ฟื้นหลังจากที่ตายไปกว่า 3 ชั่วโมง เพียงเพราะว่าพ่อของเขาต้องการทดลองยาเสมือนตายที่ทำให้คนตายไปชั่วขณะ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากความประทับใจฉากการฟื้นจากความตายของจูเลียต ในเรื่องโรมิโอกับจูเลียต เพราะในความจริงพ่อของเขาก็รวยมาก จึงสามารถที่จะทดลองกับสัตว์ชนิดอื่นหรือผู้อื่น โดยไม่ต้องให้ลูกของตนมาเสี่ยงชีวิตก็ได้

นอกจากนี้ ผู้แต่งยังสามารถสร้างมิติอารมณ์อันหลากหลายให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าตลก ขบขัน รัก โกรธ สุข เศร้าเคล้าน้ำตา จนอาจกล่าวได้ว่านิยายเรื่องนี้ “ครบรส” แต่ทว่ารสชาติต่างๆที่ผู้เขียนบรรจงแต่งแต้มนั้นยังขาดความกลมกล่อม และยังไม่สามารถผสานกันได้อย่างแนบสนิท เนื่องจากผู้แต่งมักจะนำเสนออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไปจนสุดเกินไป จนบางครั้งก็ทำให้เรื่องขาดความสมเหตุผล หรือบางครั้งก็ขัดกับบริบทแวดล้อม จนส่งผลให้ลดทอนความน่าเชื่อถือของเรื่องหรือฉากนั้นๆไปมาก ไม่ว่าจะเป็นความฮาที่มากเกินไปจนขาดความสมจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านของฮ่องเต้ เพราะคงไม่มีบ้านใครที่เวลาจะเข้าบ้านต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดรถแล้วขึ้นรถไฟที่ปลายทางอยู่ในสระน้ำ แล้วต้องขึ้นสไลเดอร์ต่อไปลงที่สระน้ำหน้าบ้าน ซึ่งทำให้ผู้ที่จะเข้าบ้านต้องเปียกโชกก่อนทุกคน และเวลาออกจากบ้านก็ต้องใช้ทางลับใต้ดินเพื่อไปยังลานจอดรถ หรือการแสดงความโกรธและต้องการแก้แค้นของแฟนต้า โดยนำน้ำมาราดบนเครื่องรถมอเตอร์ไซค์ที่ยังร้อนอยู่ขององค์ชาย (ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเครื่องรถไม่น่าร้อนแล้ว เพราะแฟนต้าจอดรถมอเตอร์ไซค์ขององค์ชายและรอเขาในที่จอดรถของโรงเรียนนานกว่า 1 คาบเรียนแล้ว ก็น่าจะประมาณ 50 นาที ถึงหนึ่งชั่วโมง) หรือการนำสีทาบ้านสีดำมาเทราดรถเบนซ์สีขาวคันหรูของฮ่องเต้ เพียงเพราะฮ่องเต้โกหกเธอเรื่องกระจกเท่านั้น (อันที่จริงแฟนต้าตั้งใจจะแกล้งเทสีราดรถมอเตอร์ไซค์ขององค์ชาย แต่ฮ่องเต้กลับเป็นคนขับรถเก๋งของตนพาองค์ชายมาแทน หากแฟนต้าต้องการจะราดสีรถมอเตอร์ไซค์ขององค์ชาย เหตุใดจึงเลือกใช้สีดำ เพราะรถขององค์ชายก็สีดำอยู่แล้ว ดังนั้น การเลือกสีดำในครั้งนี้แสดงว่าให้เห็นว่าผู้แต่งตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ว่าจะให้แฟนต้าแกล้งฮ่องเต้ไม่ใช่องค์ชาย) แม้ว่าการกระทำทั้งสองเหตุการณ์จะแสดงถึงความสะใจของแฟนต้าที่สามารถแก้แค้นได้ แต่การนำเสนอเช่นนี้จะไม่เกินกว่าเหตุไปหรือ

เมื่อกล่าวถึงความสมจริงในเรื่องแล้วก็อยากจะชี้ให้เห็นเหตุการณ์ที่ขาดความสมจริงอย่างสิ้นเชิง คือ ฉากที่แฟนต้าและฮ่องเต้เป็นไข้หวัดใหญ่หลังจากที่ถูกพ่อของฮ่องเต้ฉีดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เพื่อจะทดสอบวัคซีนแก้ไข้หวัดใหญ่ของบริษัทตนต่อไป ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ป่วยจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในทันทีที่ได้รับเชื้อ เพราะไข้หวัดใหญ่ต้องอาศัยเวลาฟักเชื้อโรคประมาณ 1-4 วัน แต่แฟนต้าและฮ่องเต้กลับป่วยทันทีหลังจากฉีดเชื้อโรคเข้าไปไม่ถึง 3 ชั่วโมง ขณะเดียวกันผู้แต่งก็เลือกให้ตัวละครทั้งสองแสดงอาการป่วยด้วยการให้ไออยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่จริงแล้วอาการไอจะเป็นอาการที่เกิดกับผู้ป่วยในช่วงท้ายๆที่โรคแสดงอาการ และบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยยังคงมีอาการไอและอ่อนเพลียอยู่อีกประมาณ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆ จะหายแล้ว ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากผู้เขียนต้องการแสดงระยะเริ่มแรกที่ตัวละครทั้งสองติดเชื้อ น่าจะเริ่มที่อาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ มากกว่าเลือกการไอ และไข้หวัดใหญ่นั้นจะเป็นการไอแบบแห้งๆ มากกว่าอาการไอที่ฮ่องเต้กับแฟนต้าพยายามแสดงให้เห็น

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ นิยายเรื่องนี้มีฉากส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียน แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้ฉากโรงเรียนก็ได้ เพราะผู้แต่งไม่ได้ต้องการใช้โรงเรียนสื่อความอะไรมากไปกว่าแสดงให้เห็นว่าฮ่องเต้ แฟนต้า และองค์ชายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเดียวกัน อีกทั้งเมื่อกล่าวถึงฉากโรงเรียนครั้งใด ก็ต้องมีตัวละครตัวใดตัวหนึ่งโดดเรียน หรือบางครั้งโดดเรียนหมดทั้งกลุ่ม จึงเห็นว่าถ้าเปลี่ยนให้เรื่องนี้เกิดขึ้นตอนช่วงปิดเทอม และต้องไปโรงเรียนเพื่อต้องทำกิจกรรมบางอย่าง ก็จะช่วยให้ตัวละครไม่ต้องโดดเรียนได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีคำผิดให้เห็นอยู่ประปราย เช่น กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ เลศนัย เขียนเป็น เลศนัยต์ นั่งจุมปุ๊ก หรือ นั่งจุ้มปุ๊ก หรือ นั่งจมปุก เขียนเป็น นั่งจุมปุก เพิ่งออกมาก เขียนเป็น พึ่งออกมา ฮะ/ หา เขียนเป็น ห๊า แป๊บ เขียนเป็น แป๊ป/ แปป หรี่ตา เขียนเป็น หรีตา เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ อุบาทว์ เขียนเป็น อุบาท ปั๊บ เขียนเป็น ปั๊ป ป่อเต็กตึ้ง เขียนเป็น ปอเต้กตึ้ง และ เฮอะ เขียนเป็น เห๊อะ

ส่วนข้อบกพร่องอื่นๆ ที่พบไม่ว่าจะเป็นการใช้บทสนทนา อีโมติคอน และเสียง sound effect เป็นจำนวนมากนั้น ผู้วิจารณ์ได้แสดงความเห็นในประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดในบทวิจารณ์หลายๆบทก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีก อย่างไรก็ดี หากผู้เขียนสามารถลดการใช้คำเหล่านี้ได้ก็จะช่วยให้นิยายเรื่องนี้น่าอ่านยิ่งขึ้น

-----------------------------------------
     
 
ใครแต่ง : Sassy~P.yakumi
11 พ.ค. 53
80 %
81 Votes  
#38 REVIEW
 
เห็นด้วย
11
จาก 12 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Destiny Love พรหมลิขิตรักฉบับนายตัวร้าย (KIHAE YAOI)

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 มิ.ย. 53
นิยาย Yaoi ขนาดสั้นขนาด 20 ตอนจบของ Sassy~P. yakumi เรื่อง Destiny Love : พรหมลิขิตรักฉบับนายวายร้าย เรื่องราวความรักวุ่นๆที่เกิดขึ้นเมื่อพรหมลิขิตให้พ่อของคิบอมแต่งงานใหม่กับแม่ของทงเฮ คงต้องตามดูกันต่อไปว่าความสัมพันธ์ของพี่น้องคู่นี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องราวความรักหลากหลายรูปแบบของเหล่าดาร์คเดวิล ผู้เป็นเพื่อนสนิทของคิบอมร่วมด้วย

Destiny Love : พรหมลิขิตรักฉบับนายวายร้าย เป็นนิยาย Yaoi ที่นำสมาชิกวง Super Junior หรือที่รู้จักกันในนาม SJ กลุ่มนักร้องชายแห่งเกาหลีมาเป็นตัวละคร สำหรับผู้ที่ชื่นชอบหรือเป็นแฟนคลับตัวยงของนักร้องวงนี้คงจะไม่มีปัญหามากนักในการจินตนาการตัวละครขณะอ่าน แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับนักร้องวงนี้จะประสบปัญหามาก เนื่องจากผู้แต่งคาดว่าผู้อ่านทุกคนน่าจะรู้จักเหล่านักร้องทั้ง 13 คนในวงนี้กันดีอยู่แล้ว จึงละการบรรยายรูปร่างหน้าตาไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้อ่านกลุ่มหนึ่งไม่สามารถที่จะสร้างภาพตัวละครบางตัวหรือหลายๆ ตัวขึ้นในจินตนาการได้เลย และจะจำตัวละครเหล่านี้ได้แต่เพียงชื่อกับอุปนิสัยใจคอเท่านั้น จึงทำให้ขาดเสน่ห์สำคัญในการสร้างความประทับใจของผู้อ่านไป โดยส่วนตัวเห็นว่า แม้กลุ่มแฟนคลับเองจะจดจำสมาชิกของวงดนตรีในดวงใจได้อย่างแม่นยำ ทว่าการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยบางประการเพื่อให้ตัวละครบางตัวสนองตอบความต้องการของผู้แต่งได้อย่างสมบูรณ์ ก็อาจส่งผลให้ภาพความจริง กับภาพในจินตนาการของ ตัวละครบางตัวผิดเพี้ยนไป เช่น ลีทงเฮ เรียววุค และ ฮยอกแจ หากผู้แต่งเพิ่มการบรรยายตัวละครอีกสักหน่อย แม้ว่าจะนำเค้าโครงหลักๆมาจากต้นแบบจริงก็ตาม แต่เมื่อเพิ่มลักษณะเฉพาะที่ต้องการเสริมขึ้นมา ก็จะได้ตัวละครต้นแบบที่ผู้อ่านทุกคนสามารถที่จะมีจินตนาการร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยรู้จัก SJ มาก่อนก็ตาม

โครงเรื่อง (theme) ของนิยายเรื่องนี้ไม่ต่างจากนิยายเรื่องอื่นในแนว Yaoi ที่นำนักร้องบอยแบนด์มาเป็นตัวละคร กลุ่มของพระเอกจะต้องเป็นกลุ่มเด็กหล่อ รวย และมีอิทธิพลที่สุดในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย ขณะที่นางเอกจะต้องกลายเป็นคนสำคัญที่กลุ่มพระเอกต้องมีหน้าที่ดูแล ในเรื่องนี้คิบอม นักศึกษาชั้นปี 4 ในฐานะลูกชายเจ้าของมหาวิทยาลัยก็ตั้งกลุ่มของตนขึ้นมา กลุ่มของเขาเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “ดาร์คเดวิล” ที่ประกอบด้วยสมาชิกสุดหล่อ 4 คน คือ คิบอม ซีวอน คยูฮยอน และ เยซอง ซึ่งเป็นที่หมายปองของหญิงสาวจำนวนมากในมหาวิทยาลัย ขณะที่ทงเฮน้องใหม่ปีหนึ่งของคณะสถาปัตยกรรมกลับได้รับตำแหน่งเป็นแองเจิลของดาร์คเดวิลตั้งแต่วันแรกที่มาเรียน

แม้ว่าโครงเรื่องและแก่นเรื่อง (theme) ที่เน้นเรื่องราวความรักจะพบเห็นกันอย่างดาษดื่นในนิยายแนวนี้ ทว่า Sassy~P. yakumi ก็ยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความรักหลากหลายมิติได้อย่างน่าติดตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้แต่งมีตัวละครจำนวนมากที่สามารถนำมาสร้างความรักหลากหลายแง่มุม ขณะเดียวกันความรักในแต่ละแง่มุมที่นำเสนอก็เน้นไปที่ความสัมพันธ์เชิงอารมณ์ของตัวละครในแต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี จนผู้อ่านสามารถที่จะซึมซับอารมณ์ที่ตัวละครนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นความสุขสมในความรักระหว่างคิบอมและทงเฮ หรือ เรียววุคกับแยซอง ความรู้สึกผิดของฮีชอลที่ต้องทรยศต่อความรักของเหล่าดาร์คเดวิล ความผิดหวังในความรักของซองมินที่ถูกอีทึกหลอกใช้ ความรักข้างเดียวที่พยายามทำให้คนที่หลงรักรับรู้และยอมรับความรักที่มอบให้ระหว่างซีวอนกับคยูฮยอน ความรักและมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของกลุ่มดาร์คเดวิล หรือแม้แต่ความรักและการปกป้องประดุจองครักษ์กับเจ้าหญิงระหว่างฮันคยองกับฮีชอล

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเข้มข้น คือ การสร้างปมขัดแย้ง ซึ่งเริ่มเปิดปมด้วยการให้ผู้ทรยศอย่างฮันคยอง ขโมยฮีชอลผู้เป็นเสมือนดวงใจของเดวิลไปครอบครอง ต่อมาผู้แต่งก็ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่าฮีชอลเองเป็นผู้หลอกใช้ฮันคยอง เพราะว่าต้องการทดแทนบุญคุณต่อผู้มีพระคุณ แม้ว่าขณะที่ทำตนเองก็เจ็บปวดด้วยก็ตาม และท้ายที่สุดเรื่องก็ค่อยๆเปิดเผยว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออีทึก ( พี่ชายคนละแม่ของคิบอม และเป็นผู้ที่พ่อของฮันคยองอุปการะตามคำขอของพ่อคิบอม) ที่อยากแก้แค้นทั้งคิบอมและฮันคยองเพราะอิจฉาที่คนทั้งคู่ได้รับความรักจากครอบครัวมากกว่าเขา การที่ผู้แต่งค่อยๆ ขมวดรัดปมขัดแย้งให้แน่นขึ้นนับว่าช่วยทวีความเข้มข้นให้กับเนื้อเรื่องไปพร้อมกันด้วย แต่เมื่อปมขัดแย้งดำเนินไปจนถึงจุดที่แน่นที่สุด ผู้แต่งกลับไม่สามารถที่จะคลี่คลายปมได้อย่างแนบเนียนเท่าตอนที่สร้าง เพราะผู้แต่งทำเสมือนตัดปมปัญหาทั้งหมดทิ้งไปเฉยๆ โดยสรุปเพียงสั้นๆว่าเมื่อคิบอมและเพื่อนๆ รู้ว่าอีทึกเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ก็ยอมคืนดีกับฮีชอลและฮันคยอง และทำเสมือนความโกรธแค้นที่ผ่านมา 2 ปีไม่เคยเกิดขึ้น แต่ในใจผู้อ่านยังมีเศษเสี้ยวของปมขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่ฮีชอลต้องทำเสมือนความจำเสื่อมขณะที่อยู่กับฮันคยอง หรือเหตุผลที่ฮีชอลต้องทำตามคำขู่ของอีทึก เนื่องจากฮีชอลบอกว่าเหตุที่เขาต้องทรยศต่อดาร์คเดวิลทั้งๆที่ไม่อยากทำ เพราะเขาไม่สามารถที่จะอกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณล้นหัวได้ ซึ่งผู้อ่านก็ไม่ทราบว่าผู้มีบุญคุณของฮีชอลคือผู้ใดกันแน่ จะใช่อีทึกหรือไม่ เพราะตลอดทั้งเรื่องผู้แต่งก็ไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างฮีชอลกับอีทึกมากนัก

ในช่วงท้ายเรื่องที่ผู้แต่งใช้ความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน (incest) โดยอาศัยความสัมพันธ์อันคลุมเครือระหว่างคิบอมกับทงเฮมาสร้างจุดสูงสุดของเรื่อง (climax) ได้อย่างน่าสนใจ แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งน่าจะปูพื้นเกี่ยวกับความหวาดระแวงของพ่อและความสัมพันธ์ของพี่น้องคู่นี้มาก่อนล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็ให้พ่อและแม่ลุกขึ้นมาคัดค้านในตอนท้ายเท่านั้น ซึ่งขัดกับความปราถนาของพ่อแม่ที่วางไว้ตั้งแต่ต้น นั่นคือทั้งคู่เป็นผู้ผลักดันและพยายามให้พี่น้องคู่นี้ใกล้ชิดกันและรักกันเอง ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงท้ายเรื่องจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น หากผู้แต่งปล่อยให้แม่ของทงเฮเป็นผู้เฉลยความสัมพันธ์ที่คลุมเครือของพี่น้องคู่นี้ให้ทุกคนรับทราบพร้อมกัน โดยไม่จำเป็นต้องให้เรียววุคออกมาเปิดเผยไว้ล่วงหน้าว่าทงเฮเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกขอมาเลี้ยง

นอกจากนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งควรที่จะนำเนื้อหาในช่วง Special ในตอนท้ายของบทที่ 14 มาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา โดยอาจจะนำมาแทรกไว้เป็นบทพูดหรือบทบรรยายของอีทึกให้ระบายความอัดอั้นตันใจเกี่ยวกับอดีตอันขมขื่นของเขาให้คิบอมกับฮันคยองได้รับรู้ ก่อนที่พวกเขาจะต้องตายด้วยน้ำมือของอีทึก ก็จะช่วยให้ภูมิหลังของอีทึกเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง โดยไม่ต้องแยกออกไปเป็นเนื้อหาเอกเทศ

แม้นิยายเรื่องนี้ผู้แต่งจะระบุว่าได้ rewrite เนื้อเรื่องทุกตอนแล้ว แต่ก็ยังพบคำผิดจำนวนมาก เช่น สูท เขียนเป็น สูทธ ฮะ/หา เขียนเป็น ห๊ะ เล็ก เขียนเป็น เล้ก จังหวะแซมบ้า เขียนเป็นจังหวะซิมบ้า ฉัน เขียนเป็น ชั้น ครับ เขียนเป็น คับ เร้าใจ เขียนเป็น เราใจ น่าพอใจ เขียนเป็น หน้าพอใจ มหาวิทยาลัย หรือ มหา’ลัย เขียนเป็น มหาลัย กรรม เขียนเป็น กำ รำคาญ เขียนเป็น รำคาณ ช๊อต เขียนเป็น ฉ๊อต ห้ามทัพ เขียนเป็น ห้ามทับ มันเขี้ยว เขียนเป็น มั่นเขี้ยว แป๊บ เขียนเป็น แป่ป หลบ เขียนเป็น ลบ หมั่นไส้ เขียนเป็น มั่นไส้ เหรอ/หรือ เขียนเป็น หรอ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ น่ารัก เขียนเป็น หน้ารัก ปะหลับปะเหลือก เขียนเป็น ประล่ำประเหลือก นานาพันธุ์ เขียนเป็น นานาพันธ์ ทะนุถนอม เขียนเป็น ถนุถนอม พรางกาย เขียนเป็น พลางกาย สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ เอื้อนเอ่ย เขียนเป็น เอนเอ่ย หาดทราย เขียนเป็น หากทราย และ Building เขียนเป็น Bulding

----------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  VeroXaga's Project
ใครแต่ง : NeverLess
28 ส.ค. 54
80 %
14 Votes  
#39 REVIEW
 
เห็นด้วย
11
จาก 12 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Veronica X : แวมไพร์เทพจุติ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 5 ก.ค. 53
นิยายแฟนตาซีเรื่อง Veronica X สงครามนางฟ้าแวมไพร์เทพจุติ ของ นิยายแฟนตาซีเรื่อง Veronica X สงครามนางฟ้าแวมไพร์เทพจุติ ของ Neverlord เรื่องนี้ผู้แต่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะแต่งเป็นนิยายขนาดยาว ซึ่งอาจจะมีถึง 4 ภาค แต่ในขณะนี้ผู้แต่งเพิ่งเริ่มเรื่องราวในภาคแรก คือ “ผนึกจันทรา” ซึ่งโพสต์ไว้ถึงเพียงบทที่ 8 ยังขาดอีก 5 ตอน จึงจะจบภาค ตามที่ผู้แต่งแจ้งให้ผู้อ่านทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะมี 13 บท

Veronica X สงครามนางฟ้าแวมไพร์เทพจุติ เป็นเรื่องราวของ เวโรนิก้า แวมไพร์สาวสวย เลือดเย็น และโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งได้หายสาบสูญไปในสงครามระหว่างแวมไพร์กับมนุษย์ จน 5 ปีต่อมาเธอได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เธอได้กลายเป็นหญิงสาวที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา อุปนิสัย หรือแม้แต่รสนิยม เนื่องจากเธอสูญเสียความทรงจำเมื่อครั้งอดีตไป ขณะเดียวกัน เซราเฟียเจ้าหญิงแวมไพร์ ผู้งดงามและแข็งแกร่ง ก็ปรารถนาที่จะปลุกตัวตนในอดีตที่ถูกสะกดของเวโรนิก้าให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

เมื่อผู้แต่งปรารถนาจะแต่งนิยายเรื่องยาวที่แบ่งออกเป็นหลายๆ ภาค เรื่องราวในแต่ละภาคก็จำเป็นต้องมีโครงเรื่องหลัก (main plot) ร่วมกันเพื่อทำหน้าที่คุมทิศทางของเรื่องโดยองค์รวม ขณะเดียวกันในแต่ละภาคก็ต้องมีโครงเรื่องของตนเองเป็นอิสระจากกัน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ของเรื่องใหญ่ คือ Veronica X สงครามนางฟ้าแวมไพร์เทพจุติ ไปพร้อมกันด้วย การสร้างเรื่องในลักษณะเช่นนี้ ผู้แต่งต้องตระหนักถึงการสร้างความสมบูรณ์ให้แก่เรื่องราวในแต่ละภาค ซึ่งเปรียบเสมือนนิยายที่สมบูรณ์เรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงสมดุลของการสร้างเอกภาพของเรื่องไปพร้อมกันด้วย

ในประเด็นนี้ เห็นได้ว่าผู้เขียนยังขาดความจัดเจนในการสร้างเรื่องลักษณะนี้ จึงทำให้เนื้อหาในภาค “ผนึกจันทรา” ขาดความสมบูรณ์เพียงพอที่จะอยู่ได้อย่างอิสระ แม้ว่าในภาคนี้จะกล่าวถึงเรื่องของฟรานเช่ไม่ใช่เวโรนิก้าก็ตาม แต่ฟรานเช่แท้จริงแล้วก็คือ
เวโรนิก้าขณะที่สูญเสียความทรงจำและถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อหาที่นำเสนอในภาค “ผนึกจันทรา” จึงเป็นเพียงบทนำของเรื่อง Veronica X สงครามนางฟ้าแวมไพร์เทพจุติ เท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้แต่งมุ่งนำเสนอเรื่องราวเพื่อสนองตอบโครงเรื่องหลักของเรื่องใหญ่ โดยหลงลืมที่จะสร้างแก่นเรื่องเฉพาะของภาค “ผนึกจันทรา” ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าผู้เขียนไม่จำเป็นที่ต้องแบ่งเนื้อหาโดยรวมของเรื่องออกมาเป็นภาคย่อยๆ ก็ได้เพราะมีแนวโน้มว่าเรื่องราวในแต่ละภาคก็จะเป็นส่วนประกอบย่อยๆของเรื่อง Veronica X สงครามนางฟ้าแวมไพร์เทพจุติ อยู่แล้ว

ในแง่การสร้างตัวละคร แม้ว่าเรื่องจะดำเนินไปเพียง 8 ตอนแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้แต่ง เนื่องจากตัวละครหลัก 5 ตัวที่นำเสนอไว้นั้นต่างมีบุคลิกอันโดดเด่นจนสามารถสร้างสีสันให้กับเรื่องได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นฟรานเช่ (หรือเวโรนิก้าในภาคความจำเสื่อม) แวมไพร์สาวสวย เก่ง ใสซื่อ รักความยุติธรรม ไม่กินเลือด แต่ชื่นชอบแอปเปิ้ลเป็นชีวิตจิตใจ เซราเฟียเจ้าหญิงแวมไพร์ สาว เก่ง ดุ เย็นชาและโหดเหี้ยม อลิซซาเบลล่า หรือ อลิซ (ภูตรับใช้) สาวงาม น่ารัก ชอบแปลงร่างเป็นมนุษย์ บัซเทียร์ เดอ วอลเลนไทน์ หรือ บัซท์ (แวมไพร์หนุ่มสุดหล่อที่หลงรักฟรานเช่ และเดลิต้า นักล่าแวมไพร์หนุ่ม คู่แค้นของบัทซ์ที่ถูกเซราเฟียสาปด้วยจุมพิตแห่งรัตติกาล

นอกจากนี้ ผู้แต่งยังมีความสามารถในการบรรยาย ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายภาพตัวละคร หรือแม้แต่บรรยายฉาก และภาพเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสร้างจินตนาการตามได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาพการต่อสู้ระหว่างฟรานเช่กับแจ็คโก้ “หูดำ” มนุษย์หมาป่าผู้ชั่วร้าย หัวหน้าโจรสลัดฟริเกต หรือภาพชีวิตของสังคมแวมไพร์ที่บัซท์พาฟรานเช่ และอลิซไปทำความรู้จัก หรือภาพโลกของแวมไพร์ที่เป็นโลกคู่ขนานของโลกมนุษย์ในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้แต่งยังสร้างเรื่องให้น่าติดตามด้วยการปูพื้นเกี่ยวกับความน่ากลัวของ
เวโรนิก้าเมื่อ 5 ปี ก่อนที่เธอจะสูญเสียความทรงจำ แต่เมื่อเธอฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เธอกลับกลายเป็นฟรานเช่ หญิงสาวที่ลืมเรื่องราวในอดีตของตนจนหมดสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นสีผม อุปนิสัย และความชอบ จนแทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นคนใหม่ แต่ทว่าความลึกลับในอดีตต่างๆที่หลับใหลของเวโรนิก้าก็เริ่มที่จะฟื้นคืนมาอย่างช้าๆ ทุกครั้งที่ฟรานเช่ต้องต่อสู้ ขณะเดียวกัน ผู้เขียนยังสร้างเรื่องราวและภารกิจของเซราเฟียเจ้าหญิงแวมไพร์ มาเป็นเรื่องคู่ขนานที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของเวโรนิก้าอีกด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนคงเกรงว่าผู้อ่านจะเกิดความสับสน จึงพยายามช่วยเหลือผู้อ่านของตนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการสรุปเรื่องย่อทั้งหมดไว้ในบทนำ การอธิบายลักษณะของตัวละครไว้ในตอน character profile และมีภาพประกอบในตอนที่ 2 นอกจากนี้ยังมีการสรุปเรื่องย่อในแต่ละบทไว้ให้อีก ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือผู้อ่านมากขนาดนี้ก็ได้ เพราะเรื่องอยู่ในช่วงต้น เพิ่งผ่านไปเพียง 8 บทและยังไม่ซับซ้อนมากนัก

อนึ่ง การแบ่งบทนั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนควรจะรวมตอนย่อยๆ ที่แบ่งไว้ในแต่ละบทให้เป็นบทใหญ่บทเดียว เช่น 4.1, 4.2 และ 4.3 ก็รวมเป็นบทที่ 4 หรือ 7.1, 7.2, 7.3, 7.4 และ 7.5 ก็รวมเป็นบทที่ 7 โดยเฉพาะตั้งแต่บทที่ 4 เป็นต้นมาที่ผู้แต่งจะแบ่งเนื้อหาในแต่ละบทออกเป็นตอนย่อยๆทั้งนี้เพราะเนื้อหาของตอนย่อยแต่ละตอนก็ไม่ยาวนัก และเรื่องราวในตอนย่อยๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในสถานการณ์เดียว นอกจากนี้ยังเห็นว่า ตอนว่างที่ปล่อยไว้ระหว่างตอนที่ 6-10 ในสารบัญน่าจะลบทิ้ง ก็จะลดจำนวนตอนที่ระบุไว้ในสารบัญให้น้อยลง และคงเหลือเฉพาะจำนวนตอนที่ถูกต้องแท้จริง (ในแง่นี้ เข้าใจว่าผู้แต่งมือใหม่เหล่านี้ยังอ่านเรื่องแต่งแบบไตรภาค –หรือที่มีหลายๆภาคของฝรั่ง— มาน้อย จึงไม่รู้หลักว่าเขาแบ่งย่อยๆเพื่อประโยชน์อะไร หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลวิธีการสร้างโครงเรื่องย่อยอย่างไร ที่จริงเขามีนัยะในการแบ่งหรือตัดตอนย่อยๆ รวมทั้งการทิ้งบทว่างไว้เฉยๆ ด้วย แต่ไม่ทราบว่าในการทิ้งบทว่างนั้น ผู้แต่งมือใหม่ของไทยเข้าใจหรือเปล่าว่า ประสงค์จะทำให้เกิดอะไร)

สิ่งที่พบอีกประการหนึ่งคือ ผู้แต่งกำหนดให้ฟรานเช่ความจำเสื่อม จนไม่รู้ว่าตนเองเป็นใครในอดีต แต่บางตอนก็ดูเหมือนว่าผู้แต่งจะลืมข้อกำหนดสำคัญที่กำหนดไว้เอง เช่น บทที่ 2 ก็ให้ฟรานเช่ย้อนนึกเรื่องอดีตของตนขึ้นมาได้ เช่น “เธอไม่สนใจ พาลนึกถึงเรื่องในอดีตของตัวเองขึ้นมา ในห้วงความคิดของเธอนั้น เห็นภาพกระจกบานใหญ่บานหนึ่ง – เงาของตนเองกลายเป็นเด็กผู้หญิงอายุราวสิบขวบ พอมองกลับมาที่ร่างกายตัวเองก็กลายเป็นเด็กเหมือนภาพสะท้อน” หรือตอนที่พบเซราเฟีย เธอก็จำได้ว่าถูกผนึกไว้ในโลงศพถึงห้าปี เช่น “สุดท้ายเธอก็ยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ของผู้หญิงที่ชื่อเซราเฟียอยู่ดี เธอต้องการอะไรกันแน่ – ช่วงเวลาก่อนที่เราถูกผนึกไว้ในโลงศพถึงห้าปี เราคือ..แล้วยังเสียงกระซิบของเด็กผู้หญิงผมสีฟ้าซึ่งบอกว่า ‘ให้ระวังคืนจันทร์เพ็ญ’ พอกำลังคิดถึงช่วงนี้ ทันใดนั้นเองปลอกคอโลหะรูปเสี้ยวจันทร์ ได้ปรากฏออกมาที่คอของเธออีกครั้ง” จึงทำให้ผู้อ่านเริ่มสงสัยแล้วว่า ที่จริงนั้น ฟรานเช่ความจำเสื่อมจริงหรือไม่

ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือคำผิด ซึ่งมีให้เห็นประปราย เช่น สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ เลศนัย เขียนเป็น เลสนัย กัปตัน เขียนเป็น กับตัน แอปเปิ้ล เขียนเป็น แอ็ปเปิ้ล ภูต (หมายถึง ผี อมนุษย์ เทวดา) เขียนเป็น ภูติ (หมายถึง ความรุ่งเรือง ความมั่งคั่ง) เคาน์เตอร์ เขียนเป็น เคาเตอร์ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา สาธารณชน เขียนเป็น สาธารณะชน เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนตร์ แล้วก็ เขียนเป็น แล้วก้อ (ก้อ หมายถึง การแสดงท่าทางเจ้าชู้ เช่น ก้อร่อก้อติก และ ชื่อชาวเขาเผ่าหนึ่ง หรืออาจใช้ได้ในคำสนทนา เพื่อแสดงเสียงยาว) นอกจากนี้ยังมีการใช้คำผิดความหมาย คือ ดำทมิฬ ควรใช้ว่า ดำทะมึน มากกว่า เพราะคำว่าทมิฬ มีความหมายว่า ดุร้ายหรือโหดร้าย มักใช้กับคำว่าใจ คือ ใจทมิฬ แปลว่าใจร้ายหรือใจโหดร้าย ส่วนคำว่า ทะมึน หมายถึง ดำมืดสูงใหญ่ (ที่ถูกคือ ทะมื่น แต่ไม่มีใครใช้ แต่เดิมนั้น ทะมึน ไม่ได้แปลว่า ดำ )

ผู้วิจารณ์เห็นว่าขณะนี้เรื่องเพิ่งดำเนินไปเพียงช่วงต้น จึงง่ายต่อการปรับแก้ ขณะเดียวกันข้อบกพร่องที่พบดังที่กล่าวไว้อย่างละเอียดข้างต้นก็เป็นเพียงข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่กระทบโครงเรื่องหลักและสามารถปรับแก้ได้ ซึ่งเมื่อปรับแก้แล้วก็จะช่วยให้เรื่องมีความชัดเจนและสมบูรณ์เพิ่มขึ้น



-------------------------------------------------
     
 
ใครแต่ง : Necrodarkman
10 ก.ค. 54
60 %
11 Votes  
#40 REVIEW
 
เห็นด้วย
11
จาก 12 คน 
 
 
บทวิจารณ์ The Manhunt Rising : เปิดตำนานคนล่าคน

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 14 ก.ค. 53
The Manhunt Rising : เปิดตำนานคนล่าคน นับเป็นนิยายแนวฆาตกรรมระทึกขวัญเรื่องใหม่ ของ Necrodarkman ที่เพิ่งเขียนไปเพียง 6 ตอนเท่านั้น เป็นเรื่องราวของ มากิตะ เวลเบิร์ก หนุ่มนักศึกษาแพทย์ลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น ผู้มีชีวิตวัยเด็กที่บีบคั้น จนผลักดันให้เขากลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องในที่สุด

นักเขียนไทยมักจะไม่ค่อยเขียนงานในแนวนี้มากเท่าใดนัก นั่นอาจจะเป็นเพราะการนำเสนอเรื่องราวแนวนี้ให้สมจริงนับเป็นเรื่องยาก ผู้เขียนต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ในการอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์แนวนี้มามากพอ จนสามารถที่จะมองเห็นและเข้าใจคุณสมบัติและองค์ประกอบเฉพาะของการสร้างเรื่องสไตล์นี้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันผู้แต่ง ก็จำเป็นต้องการศึกษาข้อมูลประกอบในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างความสมจริงให้กับเรื่องและตัวละครที่นำเสนอ

เมื่อ Necrodarkman เริ่มด้วยการเขียนงานในแนวนี้เลย โดยที่ผู้แต่งเองก็ประกาศยอมรับไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น “แนวที่ไม่ถนัดเลย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จะเขียนให้จบให้ได้” จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเรื่อง The Manhunt Rising : เปิดตำนานคนล่าคน จึงขาดความสมจริงในเกือบจะทุกองค์ประกอบของเรื่อง การสร้างตัวละครเอก ผู้วิจารณ์เห็นว่าจุดเปลี่ยนที่ผลักดันให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นฆาตกรโรคจิต นับเป็นองค์ประกอบประการสำคัญที่สุดของเรื่องแนวนี้ และจากภูมิหลังของเด็กชายมากิตะ เวลเบิร์ก ไม่ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ว่าเมื่อเติบโตขึ้นเขาจะสามารถเปลี่ยนเป็นฆาตกรโรคจิตได้ ไม่ว่าผู้แต่งจะพยายามกำหนดสถานการณ์ให้เขากลายเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้ายมาโดยตลอด ทั้งจากแม่ เพื่อนที่โรงเรียน เจ้าของและผู้ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือ แม้แต่เกือบจะถูกลุงยิงตาย หากป้าไม่สละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องเขาไว้ จะเห็นได้ว่าเมื่อเรื่องยังขาดรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความกดดันและความรุนแรงที่มากิตะถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับเขาขณะที่ถูกทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว ความอับอาย ความโกรธแค้น หรือแม้แต่ความเจ็บช้ำ และตลอดเวลาที่ถูกทำร้าย มีเพียงครั้งเดียวที่เขาแสดงความโกรธถึงขั้นที่พร้อมที่จะฆ่าผู้ที่ทำร้ายเขา นั่นคือ ขณะที่ถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้งและคิดว่า “มีครั้งหนึ่งทีผมอยากจะเอาส้อมแทงมันให้รู้แล้วรู้รอด เพราะว่ามันกับพวกจับผมแก้ผ้ากลางโรงอาหาร ถ้าไม่ติดว่าผมต้องรีบเอาเสื้อผ้าคืน ผมคงเอาส้อมกระซวกมันเรียงคนไปแล้ว...” ทั้งๆที่เหตุการณ์ที่น่ากระตุ้นความโกรธแค้นได้มากกว่า น่าจะเป็นฉากที่ป้ายอมตายเพื่อปกป้องเขา และหลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ตอนใดที่แสดงแนวโน้มว่ามากิตะต้องตกอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทั้งในภาวะปกติ ในภาวะจิตใต้สำนึก หรือแม้แต่จิตไร้สำนึก จนเป็นเหตุให้เขากลายเป็นฆาตกรโรคจิตได้

นอกจากนี้ เหตุผลแรกที่ผู้แต่งกำหนดให้มากิตะเปลี่ยนจากคนธรรมดาไปเป็นฆาตกรคือ การป้องกันตัวเมื่อถูกลุงหลอกไปฆ่าเพื่อหวังฮุบสมบัติทั้งหมดของเขา เหตุผลนี้ยังพอจะน่าเชื่อได้ เพราะมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่กลายเป็นฆาตกรเมื่อต้องปกป้องชีวิตของตัวเองและบุคคลอันเป็นที่รัก แต่เมื่อผู้แต่งยกระดับการฆ่าครั้งนี้โดยเปลี่ยนจากการป้องกันตัวธรรมดา ให้มากิตะกลายร่างเป็นฆาตกรโรคจิตเพียงแค่ได้ยินเสียงลุงกรีดร้องแสดงความเจ็บปวดและหวาดกลัว ตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาใช้ค้อนทุบขาเพื่อทำให้ลุงเสียหลักล้มลง เพราะเขารู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงดนตรีออร์เคสตราอันไพเราะที่อยากจะบรรเลงต่อไปอย่างไม่รู้จบ ด้วยการสร้างความเจ็บปวดให้ลุงร้องต่อไปเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่าเสียงร้องนี้เองที่ปลุกเร้าสัญญาตญาณใฝ่ต่ำของเขาให้ตื่นขึ้นมา ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีเหตุการณ์ตอนใดบ่งชี้มาก่อนเลยว่ามากิตะเป็นคนสองบุคลิก และบุคลิกด้านดำมืดที่ซ่อนตัวอยู่นี้ชื่นชอบและหลงใหลเสียงร้องที่แสดงความหวาดกลัวและความเจ็บปวด แม้ว่าผู้เขียนจะพยายามชี้ให้เห็นว่ามากิตะเห็นการฆ่าอยู่ทุกวันในโรงฆ่าสัตว์ จนคิดว่าการฆ่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในความเป็นจริง การมองก็ไม่เหมือนกับการลงมือเชือดเอง หากผู้เขียนปรับให้มากิตะชื่นชอบการฆ่าสัตว์ และหลงใหลเสียงกรีดร้องที่แสดงความเจ็บปวดของสัตว์ว่าเป็นเสียงที่ช่วยบำบัดหรือบรรเทาความเจ็บปวดในจิตใจของเขา ก็พอที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อได้ว่า มากิตะมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นฆาตกรโรคจิตแฝงอยู่แล้ว และรอเวลาที่จะเปิดเผยตัวตนอีกด้านหนึ่งออกมาเท่านั้นเอง ในแง่นี้ จึงเห็นว่าเหตุผลแวดล้อมของการสร้างให้มากิตะเป็นฆาตกรโรคจิตนั้นยังอ่อนอยู่มาก

เช่นเดียวกับการสร้างให้มากิตะกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง (serial murderer) ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งอาจจะยังขาดความจัดเจนเกี่ยวกับการสร้างตัวละครประเภทนี้ เพราะลักษณะฆาตกรต่อเนื่องของมากิตะเป็นเพียงการเพิ่มจำนวนของเหยื่อที่เขาฆ่าไปเรื่อยๆ โดยที่เขายังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของฆาตกรต่อเนื่อง ที่ส่วนใหญ่จะมีสูตรหรือรูปแบบการฆ่าเฉพาะตน จนทำให้ผู้อื่นที่รู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวเนื่อง ระบุได้ว่าศพของเหยื่อเหล่านี้เป็นฝีมือของฆาตกรคนเดียวกัน แต่มากิตะกลับเปลี่ยนวิธีการฆ่าในทุกครั้งที่ลงมือ การฆ่าเหยื่อ 3 รายที่ผ่านมา เขาใช้วิธีฆ่าต่างกัน เขาฆ่าลุงโดยวิธีการชำแหละเช่นดียวกับการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ เขาฆ่าแม่โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยเลือกใช้เครื่องมือในการฆ่า และฆ่าน้องสาวต่างพ่อวัยขวบเศษด้วยการนำไปใส่ไว้ในเครื่องซักผ้าที่กำลังทำงาน ในแง่นี้ชี้ให้เห็นว่าผู้แต่งพยายามที่จะสร้างรูปแบบการฆ่าที่เน้นความทารุณโหดร้ายเพื่อสร้างความสะใจ มากกว่าที่จะสร้างความสมจริงหรือแสดงให้เห็นชั้นเชิงหรือศิลปะฆาตกรรมของฆาตกร ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องแนวนี้

นอกจากนี้ ลักษณะเด่นอีกประการของฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่คือ ฆาตกรมักจะมีจุดประสงค์ในการฆ่าที่ชัดเจน และจะยึดเป็นหลักประจำใจไว้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เช่น ฆาตกรจากภาพยนตร์เรื่อง SEVEN จะฆ่าเฉพาะผู้ที่ทำผิดบาปขั้นปฐมทั้ง 7 ตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ หรือ ฆาตกรในเรื่อง นักฆ่าล่ากระดูก (The Bone Collector) ผลของเจฟเฟอรี่ย์ ดีเวย์ ก็จะฆ่าเพื่อสะสมกระดูกของเหยื่อ หรือเด็กซ์เตอร์ มอร์แกน ฆาตกรต่อเนื่องจากเรื่อง หรือว่าผมฆ่า (Darkly Dreaming Dexter) ของเจฟฟ์ ลินด์เซย์ ผู้มีกฎหลักประจำใจว่า เขาฆ่าเฉพาะคนเลวเท่านั้น แต่ในกรณีของมากิตะ เขาเปลี่ยนจุดประสงค์ในการฆ่าอยู่ตลอดเวลา จนมิอาจระบุว่าเหตุผลในการฆ่าที่แท้จริงของเขาได้ว่าคืออะไร ความชอบธรรมแรกที่มากิตะกล่อมตนเองขณะที่จะลงมือฆ่าลุงคือ “ทุกคนมาหาเขาก็มุ่งเอาผลประโยชน์ทั้งสิ้น ดังนั้น เขาจะทำลายล้างทุกคนที่เข้าหาเขา โดยเริ่มจากลุงก่อน” แต่ก่อนที่เขาจะลงมือฆ่าแม่ เขากลับเปลี่ยนจากจุดประสงค์ตั้งต้นของตนไปเป็นการปฏิญาณตนต่อพระเจ้าหลังจากที่ได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลที่เพิ่งยืมมาจากห้องสมุดว่า “ข้าจะจองล้างจองผลาญ ผู้คนที่ไร้ซึ่งความรักและความจริงใจ ข้าจะนำความวิบัติไปสาปส่งพวกมันจนถึงที่สุด ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของข้า” ต่อมาหลังจากที่แม็คเคนซ์ คลูเวอร์ ตำรวจ FBI ผู้ดูแลคดีฆาตกรรมแม่และทารกอย่างโหดร้าย (แม่และน้องสาวที่มากิตะฆ่า) ออกมาประกาศว่าจะตามจับฆาตกรมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ คำพูดของนายตำรวจผู้นี้ทำให้มากิตะปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ในการฆ่าอีกครั้ง เพราะเขารู้สึกว่า “เมื่อโลกยังไม่เห็นถึงประโยชน์กับการกระทำของเขา เขาก็ไม่อาจนิ่งดูดาย เขาต้องเร่งมือพิพากษาคนชั่ว และเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่โลกใหม่ ที่ปราศจากศัตรูของพระเจ้า” การปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการฆ่าของมากิตะเช่นนี้ ดูประหนึ่งว่าผู้แต่งพยายามจะสร้างเงื่อนไขในการฆ่าของมากิตะให้สามารถขยายวงเหยื่อให้กว้างออกไป ขณะเดียวกันก็สร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าของมากิตะเพิ่มขึ้น ซึ่งต่อจากนี้ไปอาจมีแนวโน้มว่ามากิตะจะฆ่าบุคคลอื่นที่ไม่ได้เคยเป็นผู้ทำร้ายเขาในอดีตก็เป็นได้ เช่นเดียวกับที่เขาเพิ่งฆ่าน้องสาววัยขวบเศษผู้บริสุทธิ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่าหากผู้แต่งปูพื้นให้มากิตะเป็นผู้ที่มีศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาอย่างแรงกล้ามาตั้งแต่ต้น และจะมุ่งฆ่าผู้ไร้ซึ่งความรัก ขาดความจริงใจ และผู้ที่กระทำชั่ว เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่โลกใหม่ โดยไม่ต้องระบุว่าเขาจะฆ่าเฉพาะผู้ที่เคยทำร้ายเขามาก่อน ก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ แม้เขาจะฆ่าบุคคลอื่นที่ไม่เคยทำร้ายเขามาก่อนก็ไม่ผิดเงื่อนไขที่ตั้งไว้ด้วยเช่นกัน

การเลือกอเมริกาเป็นฉากสำคัญของเรื่อง นับเป็นข้อด้อยประการสำคัญที่ส่งผลให้เรื่องนี้ขาดความสมจริงยิ่งขึ้น ผู้วิจารณ์พบว่ามีหลายฉากที่แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งไม่คุ้นและไม่ทราบเกี่ยวกับกฎระเบียบ และวิถีความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง จึงส่งผลให้หลายเหตุการณ์ที่นำเสนอขัดแย้งกับความเป็นจริง เช่น ฉากที่มากิตะสืบหาที่อยู่แม่ด้วยการโทรศัพท์ถามเจ้าหน้าที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เขาเคยอยู่เพียงครั้งเดียวก็ได้ข้อมูลที่ต้องการอย่างครบถ้วน โดยอ้างเพียงแค่ว่าเขาอยากรับเด็กชายมากิตะไปเลี้ยง ก็สามารถที่จะหลอกล่อเพื่อสอบถามที่อยู่ใหม่ของแม่ได้แล้ว ทั้งๆที่ในความเป็นจริงข้อมูลเหล่านี้ถือว่าเป็นความลับที่จะไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นทราบง่ายๆ เพราะแม้แต่ตำรวจที่ต้องการข้อมูลเหล่านี้ก็ยังต้องขอหมายศาลเพื่อยื่นให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก่อนที่จะได้ทราบข้อมูลเฉพาะเหล่านี้ได้

เช่นเดียวกับฉากที่ลุงฆ่าป้าตาย แม้ว่าลุงจะให้มากิตะเป็นพยานเท็จว่าเขาทำปืนลั่นไปถูกป้าขณะที่ล้างปืนก็ตาม แต่การฆ่าคนโดยประมาทเช่นนี้ ในอเมริกาถือว่าเป็นความผิดอาญา ซึ่งจำเลยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ท้ายที่สุดจะไม่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก แต่ก็ไม่ใช่เป็นเพียงการลงบันทึกไว้ดังที่ผู้แต่งระบุเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้แต่งจึงควรต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับคดีความหรือกฎหมายเบื้องต้นของอเมริกาเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างความสมจริงให้กับเรื่องที่ตนแต่งด้วย
นอกจากนี้ ฉากที่มากิตะสามารถแอบเข้าไปในบ้านใหม่ของแม่ก็ดูง่ายดายเกินไป แม้จะบรรยายไว้ว่าแม่อาศัยอยู่ในย่านคนรวยระดับเจ้าของธรุกิจ บ้านในละแวกนั้นไม่ต้องมีรั้วเพราะไม่มีขโมย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านเหล่านี้ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยที่ดี จึงยากที่จะเชื่อว่ามากิตะจะสามารถเล็ดลอดเข้าบ้านได้ง่ายดาย เพียงแค่หากุญแจสำรองที่ซ่อนไว้ใต้กระถางต้นไม้หน้าบ้านก็เปิดประตูเข้าบ้านได้เลย เพราะจากประสบการณ์ทั้งจากการอ่านหนังสือและการชมภาพยนตร์ที่มีฉากในอเมริกา จะเห็นอย่างชัดเจนว่าบ้านต่างๆโดยเฉพาะในย่านคนรวยจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและแน่นหนามากกว่านี้ เช่นอาจจะมีล็อกสองชั้น มีรหัสไฟฟ้าเปิดประตู มีหมาเลี้ยงในบ้าน มีรีโมตเปิดประตูบ้านจากในรถ ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้เขียนยังมีประสบการณ์น้อยและไม่สนใจความสมจริงนัก นอกจากนี้ บางย่านยังมีการเชื่อมต่อสัญญาณกันขโมยไปยังสถานีตำรวจในท้องที่ ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่อยู่บ้านด้วย หรือบางแห่งก็ยังมีตำรวจสายตรวจออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้กับบ้านในย่านธุรกิจ โดยปกติย่านธุรกิจะเป็นบ้านในเมืองซึ่งมักเป็นอพาร์ตเมนท์หรูๆมากกว่า ดังนั้น วิธีแก้ไขข้อบกพร่องประเด็นนี้ที่ง่ายที่สุดคือ ผู้แต่งควรสมมุติฉากของเรื่องขึ้นมาใหม่ โดยไม่จำแป็นต้องใช้สถานที่ที่มีอยู่จริง หรือหากยังต้องการใช้สถานที่ที่มีอยู่จริง ก็จำป็นต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่แห่งนั้นให้มากขึ้น หรือเลือกใช้สถานที่ที่ตนคุ้นเคยเป็นอย่างดีแทน

หากตัดประเด็นข้อบกพร่องในการเขียนที่เกิดจากความไม่สันทัดกับแนวเรื่องในลักษณะนี้ออกไป ก็พบว่าผู้แต่งฉลาดที่เลือกใช้มุมมองของบุรุษที่หนึ่ง “ผม” มาเป็นมุมมองหลักในการบรรยายเรื่อง เพราะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผล อารมณ์ และความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวละครเอกมากิตะได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ผู้แต่งก็มีความสามารถในการบรรยายและพรรณนาความ ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตภาพตามที่ตัวละครบรรยายได้ไม่ยากนัก และคำผิดก็ไม่ค่อยพบในเรื่องมากนัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการเขียนในระดับหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้แต่งยังแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการค้นข้อมูลเพื่อนำมาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่มากิตะเข้าใจสรรพคุณและวิธีการใช้ยาและสารเคมีบางชนิดเพื่อเป็นเครื่องมือฆาตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการลนไฟปรอทที่อยู่บริเวณปลายเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ด้านหนึ่งให้แตก เพื่ออาศัยคุณสมบัติของปรอททำให้เสียงหายไปตลอดกาลเพียงแค่หยดสารปรอทเหลวเข้าไปในลำคอ หรือการเลือกใช้ยาสลบ Isofluane เพราะเป็นยาสลบที่ออกฤทธิ์เร็วภายใน 10-30 วินาทีหลังจากสูดดม และมีระยะเวลาออกฤทธิ์นานถึง 4-6 ชั่วโมง แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้แต่งไม่สามารถอธิบายได้ก็คือเหตุใดมากิตะจึงเลือกนำ PGO-vir จำนวน 60 เม็ดใส่ไว้ในกาน้ำตั้งไฟ และนำไปกรอกปากแม่ จากข้อมูลเกี่ยวกับ PGO-vir ก็สามารถตอบข้อสงสัยได้เพียงประการเดียวว่า เหตุใดมากิตะจึงใช้ยาในปริมาณ 60 เม็ด ก็เพราะว่าเป็นขนาดบรรจุของยา 1 ขวดเท่านั้นเอง แต่ในสรรพคุณและข้อควรระวังของการใช้ยาก็ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ระบุถึงเกี่ยวกับการนำยาไปต้มด้วยความร้อนเลย จะมีก็แต่คำเตือนว่าหากใช้ยาปริมาณมากจะก่อให้เกิดอันตรายกับตับและไต และอาจจะเกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังแบบรุนแรงจนถึงชีวิตได้ แต่ในเมื่อมากิตะเองก็เลือกใช้ HCI (กรดไฮโดรคลอริก) ซึ่งเป็นกรดที่มีประสิทธิภาพในการกัดกร่อนสูงมาเทราดบริเวณใบหน้าของแม่ ซึ่งน่าจะมีผลต่อผิวหนังที่รุนแรงและรวดเร็วกว่าการใช้ PGO-vir อยู่แล้ว จึงไม่ทราบของผู้แต่งว่าเหตุผลใดที่นำ PGO-vir มาใช้ในการฆ่าครั้งนี้

หาก Necrodarkman ยังคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเขียนงานในแนวนี้ต่อไป ในเบื้องต้นขอแนะนำให้ศึกษาผลงานในแนวนี้เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะสามารถเข้าใจลักษณะเฉพาะของงานแนวนี้ก่อน แล้วจึงนำมาปรับใช้พื่อให้เหมาะสมกับเรื่องของตนต่อไป สำหรับผลงานในแนวนี้ที่พอนึกออกในขณะนี้ก็มีผลงานเกี่ยวกับฆาตกรรมต่อเนื่อง อย่างผลงานระดับตำนาน เรื่อง Hannibal และ Silence of the Lambs ของ โทมัส แฮร์ริส (Thomas Harris) นอกจากนั้นยังมีนิยายเรื่อง เดอะโพเอ็ต ฆาตกรกวี (The Poet) ผลงานของ ไมเคิล คอนเนลลี่ (Michael Connelly) รวมไปถึงเรื่องที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น นักฆ่าล่ากระดูก (The Bone Collector) หรือว่าผมฆ่า (Darkly Dreaming Dexter) และภาพยนตร์เรื่อง SEVEN ที่จัดว่าเป็นตำนานเช่นกัน
--------------------------------
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12