หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : นัตโตะ
21 ส.ค. 58
80 %
10 Votes  
#61 REVIEW
 
เห็นด้วย
7
จาก 8 คน 
 
 
วิจารณ์ Puzzle หลีกทางหน่อย นักสืบที่คอยมาเเล้ว

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 26 พ.ย. 55
Puzzle หลีกทางหน่อย นักสืบที่คอยมาแล้ว นิยายรักหวานแหววผสานการสืบสวนสอบสวน ผลงานของ นัตโตะ ที่เพิ่งเริ่มต้น โพสต์ไว้แค่ 11 ตอนเท่านั้น แต่ก็นับว่าเริ่มต้นเรื่องไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเปิดเรื่องให้ถ้วยฟูและเจแปนคู่หูคู่เก่งของสำนักงานนักสืบต้องปลอมตัวมาเป็นนักเรียนชั้น ม. 6 ในโรงเรียนประจำสุดหรู “ฟาเนดิน” เพื่อตามหาตัวคนร้ายที่อยู่ในโรงเรียน แต่การสืบคดีครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะนอกจากที่ต้องหาตัวคนร้ายให้ได้แล้ว พวกเขายังต้องสืบหาตัวคนร้ายให้เร็วกว่าคู่แข่งกับสกายและเซนนักสืบคู่แข่งในสำนักงานเดียวกันด้วย เพราะการเดิมพันในการแข่งขันกันสืบคดีของนักสืบคนเก่งทั้งสี่ ทั้งมิได้เป็นเพียงการเดิมพันกันในเรื่องของศักดิ์ศรีเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพนักสืบอีกด้วย เนื่องจากใครชนะจะได้เลื่อนขั้น ขณะที่ผู้แพ้ต้องลดระดับกลับไปเป็นนักสืบขั้นแรก ทว่าการสืบสวนครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะคลี่คลายกันได้ง่ายๆ เพราะยิ่งสืบ ปมปริศนาก็ยิ่งมากและยิ่งยุ่งเหยิง ก็คงต้องตามดูว่านักสืบคนเก่งทั้งสองคู่จะมีวิธีการสืบหาความจริงอย่างไร และคู่ของใครจะเป็นฝ่ายชนะ

เมื่ออ่านในช่วงต้นเรื่องพบว่า นัตโตะ ยังไม่ได้เน้นเรื่องไปที่ความรักมากเท่าใดนัก แต่ทำเพียงการปูพื้นฐานความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างถ้วยฟูกับเจแปน ที่แม้จะทำงานร่วมกันมา 3 ปี ก็ยังคบกันในฐานะเพื่อนสนิทที่เป็นเพื่อนร่วมงานด้วยเท่านั้น แต่เมื่อทั้งคู่ต้องมาอยู่ด้วยกันตลอดทั้งวันในฐานะนักเรียนประจำ เพื่อสืบหาตัวคนร้ายที่ฆ่านักเรียนชาย ม. ปลาย พัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่จึงเริ่มต้นขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะแปรเปลี่ยนเป็นความรักในที่สุด ขณะเดียวกันเรื่องราวในช่วง 11 ตอนแรกนี้ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่เรื่องราวของการสืบสวนสอบสวนและการแข่งขันกันระหว่างคู่ของถ้วยฟูกับเจแปน กับคู่ของสกายกับเซนมากกว่าด้วย

นิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นในการทิ้งท้ายเรื่องแต่ละบทได้อย่างน่าสนใจ ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้ผู้อ่านติดตามและรอคอยที่จะอ่านในตอนต่อไปอยู่เสมอ ซึ่งมีการทิ้งท้ายเรื่องในหลายลักษณะ ทั้งการให้ตัวละครพบสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ อันจะเป็นเบาะแสที่ช่วยคลี่คลายคดีหรือเป็นแนวทางในการสืบสวนต่อไป เช่น การทิ้งท้ายว่าพบหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ซึ่งผู้อ่านก็ต้องตามอ่านตอนต่อไปเพื่อที่จะทราบว่าผู้ต้องสงสัยคนนั้นเป็นใคร หรือการพบข้อความสำคัญในไดอารี่ของลมพัด ซึ่งผู้อ่านก็ต้องตามอ่านตอนต่อไปเพื่อที่จะทราบว่าข้อความที่ถ้วยฟูสะดุดใจคืออะไร และมีความสำคัญกับการสืบสวนอย่างไร หรือ การให้ตัวละครเผชิญเหตุการณ์ที่ยุ่งยาก และไม่รู้ว่าตัวละครจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ได้อย่างไร เช่น ผู้เขียนทิ้งท้ายให้ถ้วยฟูและเจแปนกำลังจะถูกเจ้าของห้องจับได้ว่าแอบเข้าไปค้นห้องเขา ซึ่งทำให้ผู้อ่านก็ต้องตามไปลุ้นในตอนต่อไปว่าทั้งคู่จะถูกจับได้หรือไม่ และจะรอดพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้อย่างไร

ความโดดเด่นประการต่อไปในเรื่องคือ การสร้างตัวละครได้อย่างมีชีวิตชีวา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนสร้างให้เรื่องน่าสนใจและน่าติดตามได้ โดยเฉพาะตัวละครเอกทั้งสี่ตัว นั่นคือ ถ้วยฟู สาวน้อยร่าเริง ช่างพูด ช่างเจรจา เจแปน หนุ่มหล่อ มาดขรึม ช่างสังเกต แสนฉลาด ที่ซ่อนความกวนประสาทไว้อย่างแนบเนียน สกาย สาวไฮโซสุดหรู แต่งตัวเก่ง หยิ่งยะโส และปากจัด เซน ชายหนุ่มหน้าตาดี แต่ขี้หลีอย่างร้ายกาจ และยิ่งฉากใดที่ตัวละครทั้งสี่โคจรมาพบกัน ก็จะเต็มไปด้วยความปั่นป่วน การทะเลาะถกเถียง และแข่งขันในการเอาชนะคะคานของคู่อริระหว่างถ้วยฟูและสกาย และลีลาการจีบสาวซึ่งๆ หน้าของเซนที่จีบถ้วยฟูทุกครั้งที่มีโอกาส แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า นัตโตะ ละเลยการบรรยายรูปร่างหน้าตาของตัวละครไป จนผู้อ่านไม่อาจจะจินตนาการรูปร่างหน้าตาของตัวละครทั้งสี่ได้จากการอ่านเรื่องเพียงอย่างเดียว แม้ว่าผู้เขียนให้ภาพอิมเมจของตัวละครทั้งสี่ไว้แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีตัวละครอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่นอกเหนือจากตัวละครหลักทั้งสี่ที่อยู่ในเรื่อง ที่ไม่มีภาพอิมเมจไว้ให้ ซึ่งผู้เขียนยังละเลยที่จะบรรยายหรือถ้ามีการบรรยายก็บรรยายไว้อย่างคร่าวๆ จนผู้อ่านไม่อาจสร้างภาพของตัวละครเหล่านี้ได้อย่างเด่นชัดในจินตนาการได้

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตประการหนึ่งที่สะดุดใจเมื่ออ่านนิยายเรื่องนี้ นั่นก็คือ นิยายเรื่องนี้แม้ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนงานแนวหวานแหวว ซึ่งลักษณะเด่นประการหนึ่งที่พบในงานประเภทนี้ก็คือ การมีอีโมติคอนปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีปรากฏด้วยเช่นกัน แต่ต้องไม่ลืมว่านิยายเรื่องนี้มิได้เป็นงานแนวหวานแหววแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังผสานกับความเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนไว้ด้วย งานสืบสอนสอบสวนมักให้ความรู้สึกเคร่งขรึมจริงจัง ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีอีโมติคอนปรากฏในฉากหรือเหตุการณ์ที่เป็นการสืบสอนสอบสวน ก็จะดูประหนึ่งว่าได้ลดทอนความเคร่งขรึมจริงจัง และความน่าเชื่อถือในการสืบสวนลงอย่างน่าเสียดาย เช่น

ฉันเดินต๊อกแต๊กไปจนถึงโต๊ะทำงาน ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวไหนของผู้ต้องสงสัย อืม ขอนึกชื่อก่อนนะ ... -_-? รู้สึกว่าจะชื่อ “นายธนาธิป ธัญฐะกิจติทรัพย์”
...
เจอแล้ว 0.0! โต๊ะนี้นี่เอง
...
แล้วนี่อะไรอีกเนี่ย ... สมุดบัญชี? ของสำคัญแบบนี้เก็บทิ้งๆ ขว้างๆ ได้อย่างไร -_-^ หึ ชอบทำตัวรกนักใช่มั้ย ลองให้ไอ้นี่หายไปสักครั้งคงดีเหมือนกัน
...
ฉันไล่สายตาไปตามสมุดบัญชีและตัวเลขที่ขึ้นบนนั้นก็ทำเอาฉันแทบตาถลนออกมา 0.0

ในแง่นี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนสามารถใช้อีโมติคอนในนิยายเรื่องนี้ได้ แต่ควรจะเลือกใช่เฉพาะตอนที่เน้นในเรื่องราวความรักกุ๊กกิ๊ก หรือว่าตอนอื่นๆ ที่มิใช่ฉากหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนก็น่าจะเหมาะสมกว่า

การเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวนนับเป็นงานเขียนอีกแนวหนึ่งที่จะเขียนในลงตัวยาก เพราะนอกจากผู้เขียนจะต้องสร้างปมปัญหาไว้อย่างแยบยลแล้ว ยังต้องวางแนวทางคลี่คลายหรือสร้างเบาะแสที่สมเหตุสมผลควบคู่ไปด้วย ในเรื่องนี้ นัตโตะ สร้างนักสืบวัยรุ่นอัจฉริยะขึ้นมากลุ่มหนึ่ง คือ เจแปน ถ้วยฟู สกาย และเซน ซึ่งทั้งสี่คนนี้นอกจากจะเรียนจบปริญญาตรีขณะอายุยังน้อยคือไม่เกิน 15 ปีแล้ว แต่ก็มีความสามารถพิเศษทางการสืบสวนที่โดดเด่นแตกต่างกันไปด้วย การที่สร้างเรื่องให้นักสืบอัจฉริยะทั้งคนต้องมาแข่งขันกับในด้านการสืบสวน คดีที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นคดีที่ท้าทาย ซับซ้อนและยุ่งยากมากพอสมควร แต่เมื่อลงมือสืบสวนจริงๆ ผู้วิจารณ์กลับรู้สึกว่าตัวละครแต่ละตัวค้นพบเบาะแสได้อย่างง่ายดายเกินไปหรือเปล่า คือ การที่สกายขโมยไดอารี่ของทาม หนึ่งในผู้ต้องสงสัยได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน ถ้วยฟูเดินชนโต๊ะของลมพัดเพื่อนร่วมห้องที่หอพัก ทำให้พบไดอารี่ของเธอ ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกันเช่นกัน เมื่อเปิดอ่านก็พบข้อความสำคัญที่ทำให้เธอหันมาจับตามมองลมพัดในฐานะผู้ต้องสงสัย ทั้งๆ ที่เดิมไม่มีใครสงสัยลมพัดมาก่อนเลย หรือถ้วยฟูกับเจแปนก็ได้พบสมุดบัญชีของชิน ผู้ต้องสงสัยอีกคน และสมุดบัญชีที่พบโดยบังเอิญนี้กลับกลายเป็นเบาะแสสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่สงสัยยอดเงินฝากและเงินถอนสูงผิดปกติของชิน เพราะในความเป็นจริง ผู้ร้ายที่ฆ่า ปาติณัช องค์ขนารักษ์สกุล หรือ พอตเตอร์ ซึ่งทำลายหลักฐานการฆ่าได้อย่างแนบเนียน ไม่น่าจะเลินเล่อมากพอที่จะเก็บอะไรก็ตามที่เป็นหลักฐานชี้ตัวหรือเอาผิดตนเองไว้ให้หาได้ง่ายๆ มากเพียงนี้

ขณะเดียวกัน การเข้ามาเรียนกลางเทอมของนักสืบทั้งสี่ก็ดูจะโดดเด่นจนเป็นที่น่าจับตามมองยู่แล้ว เพราะเข้ามาเรียนหลังจากที่เพิ่งเกิดเหตุฆาตกรรมไม่นาน และทั้งสี่ยังได้เรียนหนังสือห้องเดียวกับผู้ต้องสงสัยทั้งสามคนในคดีอีกด้วย หากคนร้ายเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยทั้งสาม หรือเป็นคนอื่น ซึ่งก็คาดว่าคนร้ายน่าจะเป็นคนที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิดกับผู้ตายด้วยเช่นกัน การเข้ามาอย่างผิดปกติของนักสืบทั้งสี่ก็น่าที่จะทำให้คนร้ายฉุกคิดและเริ่มระวังตัวกับความผิดปกติในครั้งนี้เป็นแน่ นอกจากนี้ คณะนักสืบ โดยเฉพาะถ้วยฟูกับเจแปนก็ขยันสร้างความโดดเด่นให้ตัวเองเหลือเกิน ทั้งการเข้าห้องเรียนสายในวันเปิดเทอมวันแรก และการโดดเรียนภาคเช้าในวันถัดมา ทั้งๆ ที่นักสืบส่วนใหญ่จะต้องแฝงตัวเข้ามาสืบสวนมักจะต้องทำตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมมากที่สุด เพื่อให้เป็นจุดสนใจน้อยที่สุด แต่ในเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าความโดดเด่นของนักสืบกลุ่มนี้ อาจจะเป็นดาบสองคมที่น่าจะเป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น ก็จะยิ่งทำให้คนร้ายระวังตัวมากขึ้นกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาเช่นนี้

สำหรับข้อบกพร่องที่พบในนิยายเรื่องนี้คือ แม้ว่าในนิยายเรื่องนี้จะมีบทบรรยายสลับกับบทสนทนา ทว่า บทบรรยายที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นบทบรรยายที่เขียนด้วยภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน เมื่ออ่านรวมไปกับบทสนทนาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาแล้ว ก็ทำให้บทบรรยายและบทสนทนาดูจะกลืนเข้าหากัน จนรู้สึกว่านิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย ด้วยเหตุนี้ จงอยากให้ผู้เขียนปรับบทบรรยายให้เป็นภาษาเขียนเพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาในประเด็นนี้ได้

ในเรื่องของคำผิดนั้นมีไม่มากนัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนเอาใจใส่และให้ความระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และเพื่อให้เรื่องนี้สมบูรณ์มากขึ้น จึงขอยกตัวอย่างคำผิดที่พบไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เขียนจะได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไป เช่น โอ๊ย เขียนเป็น โอ้ย อุตส่าห์ เขียนเป็น อุส่าห์ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา คาดการณ์ เขียนเป็น คาดการ ดีเลิศ เขียนเป็น ดีเริศ ขมวดคิ้ว เขียนเป็น ขวดคิ้ว หยู้ด เขียนเป็น หยู๊ด เหลอหลา เขียนเป็น เหลอลา กิตติศัพท์ เขียนเป็น กิติศัพท์ เตร็ดเตร่ เขียนเป็น เตร่ดเตร่ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำผิดความหมาย เช่น ถลนตามอง (ถลน หมายความว่า โปนออก ปลิ้นออก) ควรจะเขียนว่า ถลึงตามอง (ถลึงตา หมายความว่า เบิกเปลือกตาโพลง แสดงอาการดุหรือไม่พอใจ) หมุนหัวไป (ให้ความรู้สึกเหมือนว่าหัวหมุนได้ 360 องศา ซึ่งคำนี้มักใช้บรรยายถึงผีที่สามารถหันหัวได้รอบตัว) ควรจะเขียนว่า เบือนหน้าไป หรือ หันไปมอง แทน และ เม้าท์แตกสาแหรกขาด คำว่า แตกสาแหรกขาด มักจะเป็นสำนวนที่ขยายคำว่า “บ้าน” จะมีความหมายว่า “ครอบครัวที่กระจัดกระจายแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง” ดังนั้น คำว่า “เม้าท์” จึงไม่สามารถใช้คำว่า “แตกสาแหรกขาด” มาขยายได้ เพราะจะไม่ได้ความหมายที่ผู้เขียนต้องการ เนื่องจากผู้เขียนต้องการใช้คำนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวละครตัวนี้พูดมาก แต่ว่าหากใช้คำว่า “เม้าท์แตกสาแหรกขาด” จะแปลว่า “พูดแตกกระจัดกระจายแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง” ซึ่งไม่มีความ จึงควรใช้คำตรงๆ อย่าง พูดมาก หรือถ้าจะใช้สำนวน อาจใช้ว่า พูดเป็นต่อยหอย ปากเป็นชักยนต์ หรือ พูดจ้อไม่หยุด แทนได้ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำอธิบายในวงเล็บที่อธิบายการสำเร็จการศึกษาของตัวละครว่าควรที่จะเปลี่ยน ในขณะที่อธิบายว่าถ้วยฟู จบปริญญาตรี (ตั้งแต่มอสาม) ควรที่จะเปลี่ยนเป็น “จบปริญญาตรีตั้งแต่อายุ 15” หรือ “จบปริญญาตรีในขณะที่เด็กในวัยเดียวกันเรียนอยู่ชั้น ม. 3” และเจแปน “จบปริญญาตรี (ตั้งแต่ปอหก)” ก็เปลี่ยนเป็น “จบปริญญาตรีตั้งแต่อายุ 12 หรือ จบปริญญาตรีในขณะที่เด็กในวัยเดียวกันเรียนอยู่ชั้น ป.6”
-----------------------
     
 
ใครแต่ง : Fan Ei
12 ก.ค. 54
80 %
20 Votes  
#62 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
"War Chess" ศึกหมากจีนชะตาพยากรณ์(ภาคปฐมบท)

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 7 ธ.ค. 54

“War Chess” ศึกหมากจีนชะตาพยากรณ์ ของ Fan-Ei นวนิยายแนวกำลังภายในขนาดยาว ซึ่งเปิดเรื่องในภาคปฐมบท และเพิ่งโพสต์ถึงตอนที่ 26 นิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของเจียวเหว่ย ชายหนุ่ม ผู้มีพรสวรรค์ในการเดินหมากจีน เพราะได้เจียวหวี่ ปู่ที่มีฝีมือในการเดินหมากสั่งสอนเขามาตั้งแต่เยาว์วัย แต่ชีวิตของเขาพลิกผันตั้งแต่ทราบว่าตนเองเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของมหาเทพยูริซิส ซึ่งต้องรับหน้าที่เป็นผู้เดินหมากและเขาต้องตามหาตัวหมากซึ่งมีเจตของมหาเทพทั้ง 15 คนให้พบ ขณะนี้เขาเพิ่งพบตัวหมากเพียงแค่ 3 คน คือ หมิงฟานอี้ ที่มีตำแหน่งเป็นทั้งแม่ทัพขององค์จักรพรรดิและองค์รัชทายาทของแผ่นดิน ป๋อจง หัวหน้าจอมโจรอันดับหนึ่งของแผ่นดิน และเผยจิง น้องคนสุดท้ายของตระกูลเผย เจ้าของสำนักผู้ตรวจการน่านน้ำ พวกเขาจึงต้องติดตามการตามหาตัวหมากที่เหลือ และยังต้องติดตามชมศึกการเดินหมากนัดล้างตาระหว่างเจียวเหว่ยตัวแทนมหาเทพยูริซิส กับมหาเทพลูซิฟาในโลกมนุษย์ หลังจากที่มหาเทพลูซิฟาพ่ายแพ้ให้กับมหาเทพยูริซิสในการแข่งเดินหมากครั้งสุดท้ายในดินแดนแห่งผู้วิเศษหรือดินแดนแห่งมวลเทพ

นวนิยายเรื่องนี้มีความน่าสนใจในหลายลักษณะ นับตั้งแต่การใช้ “หมากจีน” มาเป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่อง ขณะเดียวกัน “หมากจีน” ก็มีความสำคัญกับเรื่องในหลายระดับ เริ่มตั้งแต่เป็นโครงเรื่องหลัก เนื่องจาก “หมากจีน” เป็นเครื่องมือที่มหาเทพยูริซิสและมหาเทพลูซิฟาใช้ในการต่อสู้กัน การต่อสู้ของเทพทั้งสองเริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งที่อยู่ในโลกของทวยเทพ แต่ตามมาต่อสู้กันอีกครั้งในโลกมนุษย์ ซึ่งความน่าสนใจของการต่อสู้กันในโลกมนุษย์คือ ยุทธวิธีที่มหาเทพยูริซิสวางแผนไว้ โดยการแยกร่างสลายพลังของท่านออกเป็น 15 ส่วน ตามตำแหน่งของการเดินหมาก ทั้งยังกำหนดให้ เจียวเหว่ย ผู้เดินหมากในฐานะตัวแทนของท่านต้องออกติดตามหาตัวหมากทั้งหมดให้ครบ และตัวหมากเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธชะตากรรมที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้านี้ได้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า Fan-Ei จะสร้างตัวละครที่เป็นตัวหมากเหล่านั้นได้อย่างไร และตัวละครแต่ละตัวมีความเหมาะสมที่จะกับตำแหน่งที่ตนได้รับในเกมหมากอย่างไร จึงเห็นว่าเรื่องราวจะน่าสนใจมากขึ้นหาก Fan-Ei สามารถจะสร้างให้ตัวละครแต่ละตัวมีคุณลักษณะพิเศษบางประการที่สอดคล้องกับตำแหน่งของหมากในเกมนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ตี่ (ฮ่องเต้) สือ (องครักษ์) จุก (เบี้ย) เฉีย (ช้าง) เบ๊ (ม้า) เผ่า (ปืนใหญ่) และ กือ (เรือ)” เพื่อใช้เป็นกำลังสำคัญในศึกครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้น หาก Fan-Ei สามารถสอดแทรกวิธีการเล่นหมากจีนไปขณะที่ดำเนินเรื่องไปด้วย ก็จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจกฎ กติกา และวิธีการละเล่นหมากจีนนี้ไปพร้อมกับตัวละครได้อีกทางหนึ่ง เพราะขณะนี้เป็นที่น่าเสียดายว่า เรื่องราวกล่าวถึงพรสวรรค์ในการเดินหมากของเจียวเหว่ยไว้หลายครั้งว่าเขาไม่เคยแพ้ใคร แต่ก็เป็นแค่การกล่าวลอยๆ ขาดหลักฐานอ้างอิงที่เป็นรูปธรรม ที่ทำให้ผู้อ่านเห็นประจักษ์ถึงพรสวรรค์อันน่าทึ่งของเขา Fan-Ei น่าที่จะขยายฉากการแข่งขันการเดินหมากระหว่างเจียวเหว่ยกับปู่ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงพรสรรค์ของเขาอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็อาจจะสอดแทรกวิธีการเล่นและกฎ กติกาของหมากจีนไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้ Fan-Ei ยังเพิ่มความน่าติดตามให้กับเรื่อง โดยการเปิดปม ปริศนา และความลับต่างๆ ของตัวละครไว้เป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านให้อยากติดตามเรื่องราวเหล่านั้นต่อไป นับตั้งแต่ การสร้างปมว่าเทพองค์ใดเป็นผู้บงการให้จูหยวนจางแย่งชิงตำรา “เป๊ยยี่สี่เถียว” มาจากดินแดนสวรรค์ ปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างมหาเทพลูซิฟากับองค์มหาเทพที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ความลับของเจียวเหว่ยว่าแท้ที่จริงแล้วเขาเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่ หนังสือที่มหาเทพยูริซิสมอบให้แก่เจียวเหว่ยมีความสำคัญในการตามหาตัวหมากที่เหลืออย่างไร ใครคือผู้สังหารแม่ของฟานอี้ สาเหตุที่แท้จริงที่ฟานอี้ปฏิเสธตำแหน่งองค์รัชทายาท และใครคือผู้ปล่อยข่าวว่าฟานอี้เป็นผู้ลักพาตัวเจ้าหญิงหมี่ฟางไป สำหรับการสร้างปมปัญหา ปริศนาและความลับต่างๆ ทางหนึ่งก็สร้างความน่าสนใจให้กับเรื่อง ในอีกทางหนึ่ง หากผู้เขียนใช้กลวิธีเช่นนี้บ่อยครั้งเกินไป ก็อาจจะทำให้เรื่องเต็มไปด้วยปมปัญหา ปริศนาและความลับที่ต้องคลี่คลายเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีเงื่อนงำบางอย่างที่ถูกหลงลืม หรือถูกละเลยไม่ได้เฉลยก็เป็นได้
ความโดดเด่นที่น่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ คือ การสร้างตัวละคร พบว่าตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกภาพที่ชัดเจน โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็น เจียวเหว่ย ที่ฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ ช่างต่อล้อต่อเถียง และมีพรสวรรค์ในสายบุ๋น แต่อ่อนด้อยในเชิงบู๊ ฟานอี้ เฉียบขาด จริงจัง เย็นชา มั่นใจในตนเอง และไม่ชอบให้ใครมาสั่ง และ ป๋อจง มีลักษณะของคุณชายเจ้าสำราญ อารมณ์ดี ลึกลับ และเก็บงำความสามารถที่แท้จริงของตนไว้ ขณะเดียวกัน Fan-Ei ยังสามารถสื่อความผ่านบทบรรยายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายสถานที่ รูปร่างหน้าตา ความคิด และอุปนิสัยนิสัยของตัวละคร รวมถึงบรรยากาศต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น Fan-Ei ยังใช้บทสนทนามาเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับตัวละครและเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี เพราะบทสนทนาส่วนใหญ่ที่ปรากฏช่วยสนับสนุนให้ตัวตนของตัวละครต่างๆ โดดเด่น ซึ่งช่วยผู้อ่านให้คุ้นเคย ผูกพัน และจดจำตัวละครได้อย่างแม่นยำขึ้น

สำหรับการเขียนนั้นพบว่า Fan-Ei มักจะขึ้นบรรทัดใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบรรยายที่เนื้อความต่อกันเป็นเรื่องเดียว ทั้งๆ ที่บทบรรยายนั้นยังสื่อความที่จะเสนอไม่จบก็ขึ้นบรรทัดใหม่แล้ว จึงทำให้เนื้อความที่ต้องการสื่อถูกตัดออกจากกันเป็นช่วงๆ แทนที่จะสื่อให้ความเรียงต่อกันเป็นเนื้อเดียว เช่น

ชุยควบม้ามารับร่างของฟานอี้ได้ทันก่อนจักร่วงลงพื้นพร้อมร้องตะโกนอย่างตกใจเมื่อพบกับโลหิตสีแดงสดกำลังทะลักออกมาจากปากแผลอย่างสาหัส
ถึงแม้เพียงแค่คมธนูจักไม่สามารถทำอันตรายและทำให้ฟานอี้มีกำลังภายในที่ลดทอน แต่สิ่งที่เขาตกใจยิ่งกว่าคือประสาทสัมผัสที่อยู่ดีๆ ก็ดับวูบ!
มือของฟานอี้ควานหาใบหน้าซุยอย่างสะเปะสะปะ
ใบหน้าเข้ากลายเป็นซีดเผือดราวไร้โลหิตหล่อเลี้ยง ปากบางเม้มเข้าหากันแน่น อดกลั้นต่อความเจ็บปวดที่ไม่ทราบสาเหตุอันปะทุขึ้นมาทั่วร่าง

เหตุการณ์ที่กำลังบรรยายอยู่นี้เกิดขึ้นขณะที่ฟานอี้ถูกยิงด้วยธนู จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นเรียงต่อกันตามลำดับเวลา ซึ่งผู้เขียนสามารถที่จะเขียนรวมกันเป็นย่อหน้าเดียว โดยไม่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ถึง 4 ครั้งก็ได้
นอกจากนี้ การขึ้นบรรทัดใหม่บ่อยๆ นอกจากมีในส่วนของบทบรรยายแล้ว ก็ยังพบว่าบ่อยครั้งที่บทบรรยายที่ระบุผู้พูด หรือบทบรรยายที่ขยายอากัปกิริยาผู้พูด กับบทสนทนาที่ตามมามักจะแยกกันอยู่คนละบรรทัด ทั้งๆ ที่การเขียนในลักษณะนี้ บทบรรยายและบทสนทนาสามารถอยู่รวมเป็นบรรทัดเดียวกันได้ และการเขียนรวมเป็นบรรทัดเดียวกันเช่นนี้ ในทางหนึ่งยังช่วยลดความสับสนให้ผู้อ่านด้วยว่า ตัวละครตัวใดเป็นผู้กล่าวบทสนทนาบทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวละครสลับกันพูดหลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน เช่น

“ขอบคุณพี่ป๋อมาก”
เจียวเหว่ยแย้มรอยยิ้มกว้างอย่างซาบซึ้งพลางโค้งคำนับด้วยใจจริง
“เรื่องเล็กน้อย ว่าแต่เจ้าชื่ออะไรหรือแม่นาง”
“อะ เอ่อ ข้าชื่อ เจียวลี่”
พูดพร้อมกับกัดลิ้นตนเองอย่างรู้สึกผิด ใช่ว่าเธอจักโกหกพี่ป๋อ หากแต่ว่าเธอไม่สามารถบอกความจริงอันน่าเหลือเชื่อนี้ไปได้...
“มิน่าล่ะ ข้ารู้สึกคุ้นหน้าเจ้าพิกลที่แท้ก็เป็นน้องสาวของน้องเหว่ยนี่เอง ฮ่าๆ”
“ฮ่า ๆๆๆ ใช่แล้ว วันนี้เป็นวันดีพวกเราไปดื่มกันต่อดีหรือไม่”
คำชวนซึ่งทำเอาป๋อจงมั่นคิ้วขึ้น
“ปกติ เจ้าชอบดื่มสุราด้วยอย่างนั้นหรือ”
“ฮ่าๆๆ ให้ตายสิว่ะ”
ใบหน้าสวยหัวเราะ พลางสบถอย่างลืมตัว ก่อนจักเกาหัวแกรกๆ เมื่อรู้สึกได้ถึงการจับจ้องของป๋อจงอย่างสงสัย และยังหน้าเหรอหรามากยิ่งขึ้นเมื่อได้ยินเธอสบถ


ซึ่งประโยคต่างๆ เหล่านี้ สามารถรวมประโยคกันได้ดังนี้
“ขอบคุณพี่ป๋อมาก” เจียวเหว่ยแย้มรอยยิ้มกว้างอย่างซาบซึ้งพลางโค้งคำนับด้วยใจจริง
“เรื่องเล็กน้อย ว่าแต่เจ้าชื่ออะไรหรือแม่นาง”
“อะ เอ่อ ข้าชื่อ เจียวลี่” พูดพร้อมกับกัดลิ้นตนเองอย่างรู้สึกผิด ใช่ว่าเธอจักโกหกพี่ป๋อ หากแต่ว่าเธอไม่สามารถบอกความจริงอันน่าเหลือเชื่อนี้ไปได้...
“มิน่าล่ะ ข้ารู้สึกคุ้นหน้าเจ้าพิกลที่แท้ก็เป็นน้องสาวของน้องเหว่ยนี่เอง ฮ่าๆ”
“ฮ่า ๆๆๆ ใช่แล้ว วันนี้เป็นวันดีพวกเราไปดื่มกันต่อดีหรือไม่” คำชวนซึ่งทำเอาป๋อจงมั่นคิ้วขึ้น
“ปกติ เจ้าชอบดื่มสุราด้วยอย่างนั้นหรือ”
“ฮ่าๆๆ ให้ตายสิว่ะ” ใบหน้าสวยหัวเราะ พลางสบถอย่างลืมตัว ก่อนจักเกาหัวแกรกๆ เมื่อรู้สึกได้ถึงการจับจ้องของป๋อจงอย่างสงสัย และยังหน้าเหรอหรามากยิ่งขึ้นเมื่อได้ยินเธอสบถ


นอกจากนี้ยังพบคำที่สะกดผิดบ้าง เช่น ปฐม เขียนเป็น ปฏม ยากแค้น เขียนเป็น ยากแร้น สัญชาตญาณ เขียนเป็น สันชาตญาณ เสน่ห์ เขียนเป็น สเน่ห์ เสน่หา เขียนเป็น สเน่หา ร่วมเสพ เขียนเป็น ร่วมเสพย์ หา หรือ ฮะ เขียนเป็น ห๊า ทักท้วง เขียนเป็น ทัดท้วง ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ บังลังก์ เขียนเป็น บังลังค์ และ ยังมีการใช้คำลักษณนามที่ผิดพลาด เช่น รอยปูดโปนหลายปูด ควรเขียนเป็น รอยปูดโปนหลายรอย หาก Fan-Ei ปรับปรุงข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้ก็จะช่วยให้เรื่องราวสมบูรณ์และน่าอ่านมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้วิจารณ์มีข้อสังเกตบางประการที่อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเขียน ประการแรกคือ การที่นิยายเรื่องนี้มีการอ้างถึงช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ นั่นคือ การกล่าวถึงราชวงศ์หมิง เมื่อเป็นเช่นนี้ นักเขียนจำเป็นต้องทำการบ้านอย่างมากในการศึกษาเรื่องราว เหตุการณ์ ชีวิตความเป็นอยู่ ณ ช่วงเวลานั้นมาเป็นอย่างดี เพื่อสร้างให้นิยายที่นำเสนอนั้นมีความสมจริงมากที่สุด แต่เท่าที่ปรากฏในเรื่องนั้น ผู้เขียนยังละเลยและไม่ให้ความสนใจในประเด็นนี้เท่าที่ควร แม้ว่าจะมีบางส่วนของเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับราชวงศ์นี้มาบ้าง เช่น การอ้างถึงจูหยวนจางในบทนำว่า เป็นผู้ปกครองดินแดนเล็กๆ ทางตะวันออก ซึ่งต่อมาดินแดนนี้ยิ่งใหญ่กลายเป็นราชวงศ์หมิง ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอก็ยังไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะตามประวัติศาสตร์ จูหยวนจาง คือ จักรพรรดิหงหวู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ผู้ครองราชที่เมืองนานกิง หรือเมืองหนานจิง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองทางตะวันออกของจีน ทั้งนี้ การกล่าวถึงตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจจริงทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถกล่าวถึงลอยๆ ได้ เพราะเรื่องราวเหล่านี้มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กำกับอยู่ เช่น การกล่าวถึงจักรพรรดิเมิงฮงตั๋ว ผู้เป็นพระราชบิดาของหมิงฟานอี้ เมื่อสอบย้อนกับไปยังประวัติศาสตร์ราชวงศ์แล้วจะพบว่าไม่มีจักรพรรดิในราชวงศ์หมิงพระองค์ใดทรงพระนามนี้เลย หากจะพิจารณาจากพระราชจริยวัตรและพระราชอัธยาศัยก็จะพบว่าจักรพรรดิในราชวงศ์หมิงที่มีความคล้ายคลึงที่สุดน่าจะเป็น จักรพรรดิหมิงไท้จู่ที่ทรงประหารขุนนางและผู้ที่มีความเห็นต่างจากพระองค์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐเผด็จการศักดินาในยุคนั้นได้ด้วย ขณะเดียกันก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อแม่ทัพหรือองค์รัชทายาทหมิงฟานอี้ในบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์นี้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่อ้างไว้ในนิยายยังผิดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรา “เป๊ยยี่สี่เถียว” ที่ในเรื่องอ้างว่าจูหยวนจาง เป็นผู้แย่งชิงตำรานี้มาจากดินแดนของมวลเทพ และสืบทอดตำรานี้ให้ลูกหลาน ไม่นานตำรานี้ก็หายไป แต่หลักฐานและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ตำรา “เป๊ยยี่สี่เถียว” หรือ หลักวิชาดวงจีน (หลักวิชาดวงจีน 8 อักขระ 4 แถว) นั้น คัดแยกออกมาจากคัมภีร์เจี่ยโหงวเฮ้ง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง (แมนจู) ซึ่งราชวงศ์ชิงเป็นราชวงศ์ที่เรืองอำนาจหลังโค่นล้มอำนาจของราชวงศ์หมิงแล้ว จึงเสนอว่าหาก Fan-Ei ยังคิดอยากจะให้นิยายเรื่องนี้ดำเนินไปในยุคสมัยของราชวงศ์หมิงก็ต้องตรวจสอบ และศึกษาประวัติความเป็นมาและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของสมัยราชวงศ์หมิง เพื่อสร้างความสมจริงให้กับเรื่องมากกว่านี้ แต่หากไม่ต้องการเน้นว่าเรื่องต้องเกิดในสมัยนี้เท่านั้น ก็อาจจะสร้างดินแดนสมมุติขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ Fan-Ei มีอิสระในการสร้างตัวละคร และสร้างเรื่องอย่างที่ต้องการได้เต็มที่
สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ข้างต้น เมื่อเรื่องที่เกิดในราชวงศ์หมิง การกล่าวถึง
องค์เทพ มหาเทพยูริซิส และมหาเทพลูซิฟา จึงทำให้เกิดข้อกังขาขณะที่อ่านว่าในคนยุคนั้นมีความเชื่อเช่นนี้จริงๆ หรือ เพราะในความจริงผู้คนสมัยนั้นนับถือพุทธศาสนา และมีบางส่วนนับถือลัทธิเต๋าและขงจื้อ และเมื่อพิจารณานิยายกำลังภายในที่โด่งดังในอดีตต่างๆ จะพบว่าเวลาที่มีการอ้างถึงองค์เทพในนิยายเหล่านี้ ก็จะอ้างถึงเง็กเซียนฮ่องเต้ อยู่เสมอ เช่นเดียวกับการอ้างถึงเทพเจ้าฝ่ายดีอย่างยูริซิส ก็มักจะเป็นเรื่องราวของเซียนองค์ต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาเซียนทั้ง 8 ที่เป็นที่รู้จักดีในนามของแปดเซียนหรือโป๊ยเซียน และเมื่ออ้างถึงฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับเง็กเซียนฮ่องเต้ หรือฝ่ายเซียน ก็จะเป็นฝ่ายมารเสมอ จึงเสนอว่าผู้เขียนควรเปลี่ยนการเรียก องค์เทพ มหาเทพยูริซิส และ มหาเทพลูซิฟา เสียใหม่ให้สอดคล้องกับความเชื่อของยุคสมัย หรืออยู่ในแนวทางเดียวกับขนบการเขียนนิยายแนวนี้ก็จะช่วยสร้างความกลมกลืนให้กับเรื่องและลดข้อกังขาให้กับผู้อ่านได้
ประการต่อไปคือ การท้าทายองค์เทพของมหาเทพลูซิฟา เหตุใดต้องเกิดขึ้นในดินแดนมนุษย์ ทั้งๆ ที่ในบทนำก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า องค์เทพโกรธและตัดขาดจากดินแดนมนุษย์ นับตั้งแต่
จูหยวนจางแย่งชิง “เป๊ยยี่สี่เถียว” จึงเห็นว่าแม้มหาเทพลูซิฟาจะหนีมาโลกมนุษย์ และสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกมนุษย์มากเพียงใด องค์เทพก็ไม่น่าจะสนใจ ด้วยเหตุนี้ Fan-Ei อาจจะต้องให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุใดองค์เทพจึงต้องหันกลับมาสนใจความเป็นไปในโลกมนุษย์ ถึงขนาดที่ยอมให้มหาเทพยูริซิสแยกร่างสลายพลังของท่านออกเป็น 15 ส่วนเพื่อต่อสู้กับมหาเทพลูซิฟาในโลกมนุษย์ ซึ่งมหาเทพยูลิซิสเดิมพันการศึกครั้งนี้ด้วยการยอมสูญเสียตัวตนและวิญญาณของตน เพื่อช่วยเหลือมนุษย์และมหาเทพในอนาคต

ประการสุดท้ายเป็นเรื่องราวของแม่ทัพฟานอี้ในภาคพิเศษ “ก่อกำเนิดแม่ทัพผู้อำมหิต” มีบางตอนที่ขัดแย้งกับเนื้อหาหลักใน “ภาคปฐมบท” ซึ่งอาจก่อให้เกิดข้อสงสัยและสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านในหลายประเด็น เช่น ในภาคปฐมบทกล่าวว่าป๋อจงเป็นผู้สังหารแม่ของฟานอี้ตามพระราชบัญชาของจักรพรรดิ ซึ่งในภาคพิเศษก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ความตายของแม่ขณะที่เขาเป็นเด็กอายุ 6 ขวบ เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างสร้างจุดเปลี่ยนให้กับฟานอี้จากผู้ที่อ่อนโยนมาเป็นผู้ที่เย็นชาและพัฒนาฝีมืออย่างรุดหน้า เมื่อเห็นจักรพรรดิมอบความตายให้แม่ของเขาต่อหน้าต่อตา เขายังลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตเพื่อแก้แค้น ทั้งๆ ที่ขณะนั้นก็ทราบว่าตนยังเด็กและไม่ใช่คู่ต่อสู้ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้เยี่ยมยุทธคนหนึ่งในแผ่นดิน เหตุใดฟานอี้ถึงไม่โกรธและไม่แก้แค้นทั้งต่อป๋อจงและจักรพรรดิที่มีส่วนในการพยายามแม่เขาอีกครั้ง

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิกับฟานอี้ที่เป็นปรปักษ์ต่อกันมาตั้งแต่เขาอายุ 6 ขวบ ตามที่ระบุไว้ในภาคพิเศษว่า เขาเกือบตายจากการที่จักรพรรดิทำร้าย หากไม่มีคนช่วยและนำหนีไป จนเขาได้ร่ำเรียนวิชายุทธขั้นสูงจากอสูรดำ (ในภาคพิเศษระบุว่าอสูรดำ แต่ในภาคปฐมบท บอกว่าเรียนกับ อสูรทองคำ จึงไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว อาจารย์ของฟานอี้ เป็น อสูรดำ หรือ อสูรทองคำ กันแน่) เก่งกล้าขึ้นก็เพื่อกลับมาแก้แค้น และในภาคปฐมบท จักรพรรดิก็ยังย้ำความแค้นให้เพิ่มพูนขึ้นด้วยการสั่งป๋อจงฆ่าแม่ของฟานอี้อีกครั้ง จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ที่ ฟานอี้ยังต้องแสดงความจงรักภักดีกับจักรพรรดิจนยอมกลับไปเป็นแม่ทัพของพระองค์ เช่นเดียวกับจักรพรรดิผู้ที่มีวรยุทธ์สูงส่ง และมีพระราชจริยวัตรและพระราชอัธยาศัยที่เอาแต่พระทัย อำมหิต โหดเหี้ยม เด็ดขาด ดังที่ปรากฏในภาคพิเศษ จึงน่าจะมีวิธีในการบังคับหรือมีมาตรการขั้นเด็ดขาดให้ฟานอี้กลับมาเป็นรัชทายาทอย่างที่ตั้งไว้ มากกว่าแค่ออกหมายจับและให้รางวัลนำจับฟานอี้กลับมาเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงอยากเสนอให้ Fan-Ei พิจารณาเนื้อหาทั้งในภาคปฐมบท และภาคพิเศษอีกครั้งว่าต้องการจะเสนอเรื่องไปในทิศทางใด และปรับแก้ให้เนื้อความทั้งสองตอนมีความสอดคล้องกัน ก็จะช่วยทำให้เรื่องราวที่นำเสนอลื่นไหล สมบูรณ์และน่าอ่านมากขึ้น

---------------------------------
     
 
18 ต.ค. 54
80 %
6 Votes  
#63 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
หลงกิเลนจันทร์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 ธ.ค. 54
หลงกิเลนจันทร์ นวนิยายแนวกำลังภายในขนาดยาว เป็นผลงานเขียนร่วมกันของนักเขียนสองคน คือ ฟารา และ ซีซี ขณะนี้เขียนจบภาค “กำเนิดกิเลนจันทร์” แล้ว และกำลังเขียนภาค “สงครามสามพิภพ” อยู่ ในการวิจารณ์ครั้งนี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาค “กำเนิดกิเลนจันทร์” เท่านั้น นวนิยายในภาคนี้กล่าวถึงเรื่องราวของเย่วเทียนหมิง (กิเลนแห่งแสงสว่าง) และเย่วเทียนอ๋าว (กิเลนแห่งความมืด) องค์ชายกิเลนผู้สูงส่ง ผู้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกัน และต้องมีชะตาชีวิตที่ผูกพันกับคำทำนายของเทพยากรณ์แห่งพิภพที่ว่า กิเลนจันทร์แห่งหยิน
หยางคู่นี้จักก่อการทำลายที่ล่มสลายสวรรค์ จึงทำให้ชีวิตของเด็กน้อยทั้งคู่ถูกจับตามมองทั้งจากพิภพเทพ มาร และมนุษย์ รวมไปถึงสี่ราชันย์สวรรค์คือ กิเลน มังกร เต่า และหงส์ด้วย

นวนิยายเรื่องนี้ประกอบด้วยโครงเรื่องหลัก (plot) อันเป็นเรื่องราวโดยรวมที่ครอบคลุมเรื่อง “หลงกิเลนจันทร์” ซึ่ง ฟารา และ ซีซี ใช้คำทำนายของเทพพยากรณ์แห่งพิภพเป็นตัวควบคุมให้เรื่องดำเนินไปตามโครงเรื่องหลักที่วางไว้ ขณะเดียวกันก็ยังมีโครงเรื่องย่อย (sub-plot) เฉพาะของภาคนี้จำนวนมากที่แทรกเข้าว่านับตั้งแต่เรื่องราวของการกำเนิดและเติบโตของสองกิเลนจันทร์ และยังมีเรื่องราวภูมิหลังของตัวละครหลักอื่นๆ ของเรื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ เฮ่อเหลียนหย่งเล่อ ราชันย์เร้นกาย จักรพรรดิแห่งพิภพเทพ เฟิ่งหลันกุ้ยฟง ราชินีแห่งพิภพมาร จูเก่อเฟยเสวียน มหาบัญฑิตเจ้าสำราญ จักรพรรดิแห่งพิภพมนุษย์ หรือแม้แต่เรื่องราวความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างพี่น้อง หลงซ๊วงวู๋ (องค์ชายห้า) กับหลงฟงหลาน องค์ชายเก้าและเป็นรัชทายาทแห่งราชวงศ์มังกร ในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ฟารา และ ซีซี วางแผนการเขียนโดยวางลำดับของเรื่องก่อนจะเขียนไว้เป็นอย่างดี จึงสามารถที่จะผสานโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเหล่านี้เข้ากันได้อย่างแนบสนิทเป็นเนื้อเดียว

ทั้งนี้ คำทำนายของเทพพยากรณ์แห่งพิภพ ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเป็นโครงเรื่องหลักเท่านั้น แต่ปริศนาต่างๆ ที่ซ่อนไว้นำคำทำนายยังช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจที่อยากติตตามเรื่องราวเหล่านี้ด้วย จึงเห็นว่า ฟารา และ ซีซี ฉลาดที่เริ่มเรื่องด้วยคำทำนายที่ว่า

“สามจักรพรรดิ สี่ราชันย์สวรรค์ ยี่สิบเอ็ดเทพพิทักษ์
กิเลนจันทร์แห่งหยินและหยาง กิเลนจันทร์แห่งแสงสว่างและความมืด
จักก่อการทำลายที่ล่มสลายสวรรค์
เปลี่ยนผู้สมถะซ่อนตนให้ละโมบลุ่มหลง เปลี่ยนผู้กล้าเปี่ยมปัญญาให้ขลาดเขลา
เปลี่ยนวิญญาณพิสุทธิ์ให้โหดเหี้ยมอำมหิต
วงล้อชะตากรรมแห่งพรหมลิขิตจักวนเวียนมาอีกครั้ง”

โดยส่วนตัวเมื่ออ่านคำทำนายนี้จบลงทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นหลายประการ นับตั้งแต่ สามจักรพรรดิ สี่ราชันย์สวรรค์ และยี่สิบเอ็ดเทพพิทักษ์ เป็นใครและมีความสำคัญกับเรื่องอย่างไร กิเลนจันทร์แห่งหยินหยางคือใครและมีความสามารถใดที่จะล่มสลายสวรรค์ ผู้สมถะที่จะถูกเปลี่ยนให้เป็นผู้ละโมภและหลุ่มหลง ผู้กล้าที่เปี่ยมปัญญาที่ถูกเปลี่ยนให้ขลาดเขลา รวมถึงผู้ที่มีวิญญาณพิสุทธิ์ที่ถูกเปลี่ยนให้โหดเหี้ยมอำมหิตคือใคร และอย่างไร ซึ่งในตอน “กำเนิดกิเลน” ปริศนาบางส่วนจากคำทำนายก็ได้เริ่มทยอยเปิดเผยไปบ้างแล้ว

นอกจากปริศนาที่เกิดจากคำทำนายแล้ว ฟารา และ ซีซี ยังทิ้งเงื่อนงำบางอย่างในเรื่องไว้เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นชายลึกลับสองคนที่แอบไปชมการกำเนิดของกิเลนจันทร์และทราบคำทำนายดังกล่าว ซึ่งบุคคลปริศนาคู่นี้ก็ปรากฏตัวในเรื่องอยู่เป็นระยะ โดยที่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นใครและมีความสำคัญต่อเรื่องอย่างไร หรือความสำคัญของกระจกเสี้ยวจันทร์ที่ เย่วหรงเต๋อ ราชันย์กิเลนปฐพี พ่อของกิเลนจันทร์ทั้งสองมอบหมายให้หลิวอันจิ้ง เทพพิทักษ์เงาของตนออกตามหาเศษเสี้ยวแห่งดวงจันทร์นับตั้งแต่ทราบคำทำนาย หรือ กำไลฉิงฉีที่เป็นสร้อยประคำสีดำที่ข้อมือของเย่วเทียนอ๋าว ที่ได้จากการดึงพลังสีดำหรือพลังหยินของฉงฉี ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อสูรแห่งบรรพกา ก้อนพลังหยินเข้มข้นดังกล่าวที่ดึงออกมาจากอกของเทียนอ๋าวนี้จะผลต่อการกระทำและการตัดสินใจของเทียนอ๋าวต่อไปในอนาคตอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น ฟารา และ ซีซี ยังทิ้งประเด็นที่ชวนติดตามเพื่อเชื่อมต่อไปยังภาคต่อไปคือ “สงครามสามพิภพ” ไว้ด้วย ไม่ว่าจะทิ้งท้ายภาคนี้ด้วยการจุดไฟแห่งการต่อสู้ไว้ให้กับสองกิเลนจันทร์ ซึ่งพวกเขาต่างให้สัญญากับตนเองว่าจะต้องแข็งแกร่งมากกว่านี้เพื่อที่จะปกป้องคนคนสำคัญของพวกเขาไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความสนใจของ เฮ่อเหลียนหย่งเล่อ ราชันย์เร้นกาย ผู้เมินเฉยต่อโลก กลับให้ความสนใจและอยากได้พลังหยินหยางของกิเลนจันทร์อย่างมาก รวมทั้งยังเพิ่มเรื่องราวการต่อสู้ที่เริ่มตึงเครียดขึ้นที่ทะเลทรายต้องห้ามอันเป็นเขตชายแดนระหว่างพิภพเทพและพิภพมาร นี่อาจจะเป็นฉนวนของสงครามสามพิภพก็เป็นได้

หลงกิเลนจันทร์ นับเป็นนวนิยายที่มีตัวละครเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะแค่คำทำนายจะพบว่าจะต้องมีตัวละครสำคัญอย่างน้อยที่สุด 30 ตัว ซึ่งในภาค “กำเนิดกิเลน” ก็เปิดตัวละครเกือบครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสามจักรพรรดิแห่งพิภพเทพ พิภพมาร และพิภพมนุษย์ สี่ราชันย์สวรรค์ของสัตว์เทพทั้งสี่ เย่วหรงเต๋อ (ราชวงศ์กิเลน) หลงหวางไห่ (ราชวงศ์มังกร) หยวนจุนซวนหวู่ (ราชวงศ์เต่าดำ) และหลวนจูเฉว (ราชวงศ์หงส์ทอง) และ ยี่สิบเอ็ดเทพผู้พิทักษ์ ซึ่งจักรพรรดิและราชันย์แต่ละองค์จะมีสามเทพผู้พิทักษ์ประจำตัว คือ เทพพิทักษ์สงคราม เทพพิทักษ์ปัญญา และเทพพิทักษ์เงา นอกจากนี้ยังมีเย่วเทียนหมิง และเย่วเทียนอ๋าว สองพี่น้องกิเลนจันทร์ แม้ว่าตัวละครในเรื่องจะมีเป็นจำนวนมาก แต่ผู้อ่านก็ไม่รู้สึกสับสน เนื่องจาก ฟารา และ ซีซี ค่อยๆ เปิดตัวละครออกมาเป็นชุดๆ ละไม่กี่ตัวเพื่อบอกเล่าเรื่องราวภูมิหลังของตัวละครเหล่านั้น จนสามารถสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้อ่านในระดับหนึ่ง กล่าวคือได้รู้จักหน้าตา เรียนรู้เรื่องราวและอุปนิสัยใจคอของตัวละครเหล่านั้น จากนั้นจึงค่อยเปิดตัวละครตัวอื่นๆ ต่อไป ขณะเดียวกันตัวละครแต่ละตัวต่างก็มีบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะตน ซึ่งง่ายต่อการจดจำ เช่น เย่วเทียนหมิง กิเลนจันทร์แห่งแสงสว่าง ผู้มีผมสีเงิน ตาสีเงิน และผิวขาวบริสุทธิ์ ผู้อ่อนโยน ใจดี อบอุ่น บริสุทธิ์ สุขุมรอบคอบ รักครอบครัว เย่วเทียนอ๋าว กิเลนจันทร์แห่งความมืด ผู้มีผมดำ ตามดำ และผิวขาว ใจดำ เจ้าเล่ห์ โหดเหี้ยม ชอบใช้กำลัง แต่รักและใจดีเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น

เสน่ห์อีกประการของนิยายเรื่องนี้คือความพิถีพิถันและความละเมียดของการเลือกใช้ภาษา นับตั้งแต่ภาษาบรรยาย ซึ่งฟารา และ ซีซี จะให้รายละเอียดกับสิ่งต่างๆ ที่บรรยายถึง ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายรูปร่างหน้าตา อุปนิสัยใจคอ หรือแม้แต่การบรรยายฉากและบรรยากาศต่างๆ ก็ทำได้เป็นอย่างดี จนช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตภาพตามที่ผู้เขียนบรรยายได้ไม่ยากนัก ส่วนภาษาสนทนานั้น ผู้เขียนก็เลือกใช้ระดับภาษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยเสริมให้ผู้อ่านรู้จักและเรียนรู้อุปนิสัยใจคอของตัวละครผ่านบทสนทนาได้อีกทางหนึ่ง เช่น ความใจร้อนและโหดเหี้ยมของเทียนอ๋าว หรือ ความสุขุมและใจดีของเทียนหมิงก็สะท้อนผ่านบทสนทนาด้วยเช่นกัน

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังพบคำที่สะกดผิดอยู่บ้างในเรื่อง เช่น ภูต (หมายถึง ผี
อนมุษย์ เทวดา สัตว์) เขียนเป็น ภูติ (หมายถึง ความรุ่งเรือง ความมั่นคง) กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เบญจธาตุ เขียนเป็น เบจญธาตุ กระตือรือร้น เขียนเป็น กระตือรือล้น ฤๅ เขียนเป็น ฤา น้ำตาไหล เขียนเป็น น้ำตาใหล หลับใหล เขียนเป็น หลับไหล ณ เขียนเป็น ณ. เสน่ห์ เขียนเป็น สเน่ห์ กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ องค์ความรู้ เขียนเป็น องก์ความรู้ คำนวณ เขียนเป็น คำนวน อาณัติ เขียนเป็น อานัติ สถิต เขียนเป็น สถิตย์ ราชันย์ เขียนเป็น ราชัน กลับตาลปัตร เขียนเป็น กลับตารปัต ซึ่งคำผิดเหล่านี้ลดทอนความสมบูรณ์ของเรื่องไปอย่างน่าเสียดาย หากผู้เขียนปรับแก้คำผิดเหล่านี้ได้ทั้งหมดก็จะช่วยให้เรื่องนี้สมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น

-------------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  Anima of fantasia
ใครแต่ง : tampasta
30 ม.ค. 56
80 %
6 Votes  
#64 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Anima of fantasia

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 18 มิ.ย. 55
นิยายแฟนตาซีเรื่อง Anima of fantasia ของ tampasta โพสต์ถึงบทที่ 25 แล้ว นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ ไอร่า เด็กหนุ่มเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ถูกเผ่าพันธุ์อื่นรังเกียจ แต่ต้องเข้ามาเรียนที่โรงเรียนมหาเวทมาลาเกีย ซึ่งพ่อเขาเป็นครูใหญ่ เพื่อพิสูจน์ตนเอง จึงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าไอร่าจะพิสูจน์ตนเองได้หรือไม่ เขาจะใช้วิธีการใดเพื่อเอาชนะอคติและเป็นที่ยอมรับของเผ่าพันธุ์อื่น ไม่ว่าจะเป็น เทพ มาร อสูร และเอลฟ์ ที่รังเกียจมนุษย์อย่างเขาได้อย่างไร

Anima of fantasia ไม่ต่างจากนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนเวทมนตร์เรื่องอื่นๆ เท่าใดนัก เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ก็เป็นการนำเสนอชีวิต ความเป็นอยู่ และการเรียนของไอร่าและเพื่อนๆ ของเขาว่าเรียนวิชาใด และพวกเขาเข้าร่วมมีกิจกรรมใดบ้าง ซึ่งกิจกรรมเด่นในเรื่องคือ การประลองระหว่างชมรม ซึ่งไอร่าและเพื่อนสนิทผู้หญิงในกลุ่มเขาอีก 5 คน คือ ลิลิธ แฟนท่อม (หรือฟาต้า) มาเรีย ฟิโอร่า และ ลูน่า ร่วมกันตั้งชมรม อนิมา ขึ้นมาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ในที่นี้จะเห็นได้ว่า tampasta เน้นการเล่าถึงวิชาต่างๆ ที่ไอร่าเข้าเรียนอย่างละเอียดเพื่อเป็นการปูพื้นให้กับผู้อ่านที่จะเข้าใจข้อดี ข้อด้อย และคุณสมบัติของพลังเวทต่างๆ ของตัวละครที่มาจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ในเรื่อง รวมทั้งการใช้ผู้พิทักษ์ และอสูรใช้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจพลังต่างๆ รวมทั้งความแตกต่างของแต่ละเผ่าพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ tampasta ยังสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องด้วยการทิ้งปริศนาอันน่าติดตามให้ผู้อ่านอยู่เป็นระยะๆ นับตั้งแต่ความลับว่าแท้ที่จริงแม่ของไอร่าเป็นใคร ซึ่งตัวตนของแม่ไอร่าค่อยๆเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ไอร่าได้รับจี้ของแม่เป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 16 ปีของเขา แต่ยิ่งเขาเข้าใกล้การเฉลยว่าแม่ของเขาเป็นใคร ไอร่ากลับได้ทราบอีกเช่นกันว่าหากตัวตนของแม่เขาได้รับการเปิดเผย ก็อาจส่งผลร้ายต่อพ่อของเขาด้วย ต่อมายังมีเด็กหญิงที่เป็นเพื่อนคนแรกของไอร่า ซึ่งเขามักจะฝันเห็นเธอร้องไห้ขณะที่ต้องแยกจากเขาอยู่เสมอๆ โดยที่เขาก็ไม่ทราบว่าแท้ที่จริงเธอคือใคร และปริศนาสุดท้ายที่ tampasta เพิ่งจะเปิดทิ้งไว้ คือ การที่ให้ไอร่าและเพื่อนๆ ถูกอินเฟรโน่ ซึ่งเป็นกลุ่มจอมเวทนอกรีตที่ถูกขับออกจากเผ่าพันธุ์ลอบทำร้ายในโรงเรียน จึงต้องติดตามดูต่อไปว่าปริศนาต่างๆ ที่ tampasta เปิดไว้เหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร และจะส่งผลต่อการพิสูจน์ตัวตนของไอร่าหรือไม่

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่พบ คือ การที่เรื่องกำหนดให้ไอร่ามาจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด และยังเป็นที่รังเกียจของเผ่าพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะ เทพ และมารแล้ว ทำให้ไอร่าต้องพยายามพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเขาก็เป็นผู้ที่มีความสามารถด้วยเช่นกันนั้น นับเป็นประเด็นที่ tampasta ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะการดำเนินเรื่องมาตลอด 25 บทนั้นก็มีความพยายามสร้างเหตุการณ์ให้ไอร่าถูกท้าทายและแสดงฝีมืออยู่เสมอๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ tampasta ดูจะชื่นชอบไอร่ามากกว่าตัวละครตัวอื่น เพราะเขาสร้างให้ไอร่าเป็นตัวละครที่มีความพิเศษในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลพิเศษที่ใช้พลังเวทได้ทุกสังกัด และยังสามารถใช้พลังเวทสองสายได้พร้อมกัน นอกจากนี้ยังมีพลังเวทอยู่ในระดับสูงจนมิอาจวัดได้ รวมทั้งยังมีเทพธิดาเป็นผู้พิทักษ์สังกัดแสงที่หายากมาก และมีอสูรรับใช้เป็น อเมม่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของเจ้าชายนรก ด้วยคุณสมบัติพิเศษจำนวนมากเช่นนี้ ก็ทำให้ไอร่ามีพลังที่โดดเด่นและเก่งกว่าคนอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ tampasta ยังเปิดโอกาสให้ไอร่าได้ฝึกฝนพิเศษเพียงลำพังกับอาจารย์ในโรงเรียน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อในช่วงปิดภาคเรียน อีกทั้งพ่อยังได้รับมอบหนังสือเวทมนต์โบราณให้เขาอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าความช่วยเหลือจำนวนมากที่นักเขียนมอบให้ไอร่าในครั้งนี้ ในทางหนึ่งก็ช่วยลดของด้อยของไอร่าในฐานะเผ่าพันธุ์มนุษย์ ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งให้ไอร่าเป็นตัวละครที่มีความสามารถอันโดดเด่นกว่าตัวละครอื่น แต่ในทางกลับกันก็ดูเหมือนจะเป็นการลดคุณค่าและความพยายามในการพิสูจน์ตนเองของเขาด้วยเช่นกัน

การที่ tampasta เลือกดำเนินเรื่องโดยผ่านเรื่องราวชีวิตของไอร่าเป็นหลักเช่นนี้ ในทางหนึ่งช่วยให้ผู้อ่านผูกพันและตามติดความคิดและความรู้สึกของไอร่า จนเข้าใจเหตุผลและการกระทำของเขาเป็นอย่างดี แต่อีกทางหนึ่งการดำเนินเรื่องเช่นนี้ก็อาจจะเป็นผลเสียด้วยเช่นกัน หากนักเขียนเน้นรายละเอียดในชีวิตของไอร่ามากจนเกินไป ก็จะส่งผลให้เรื่องดำเนินไปอย่างเนิบช้าและน่าเบื่อได้ การดำเนินเรื่องในขณะนี้ก็ดูจะเนิบช้าเกินไป เพราะเรื่องราวไม่ได้เคลื่อนไปจากที่เปิดเรื่องไว้เท่าใด เพราะ tampasta มุ่งเน้นการนำเสนอเพียง 2 ประเด็น คือ ประการแรก เน้นความเก่งและความสามารถของไอร่า ประการที่สองเน้นเรื่องราวความรักสามเส้าระหว่าง ไอร่า ลิลิธ และ ฟาต้า จนทำให้ตัวละครตัวอื่นๆ ถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย จึงเห็นว่าควรที่จะกระจายบทไปยังตัวละครตัวอื่นๆ ให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เรื่องนี้มีมิติมากขึ้น เพราะ tampasta สร้างตัวละครแต่ละตัวให้มีบุคลิก ลักษณะ และนิสัยที่โดดเด่นและน่าสนใจอยู่แล้ว อีกทั้งตัวละครแต่ละตัวต่างก็มีพื้นเพที่น่าสนใจ หากขยายบทบาทของตัวละครเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้เรื่องชวนติดตาม ขณะเดียวกันควรดำเนินเรื่องให้กระชับมากขึ้น โดยลดทอนรายละเอียดบางอย่างลงบ้าง และมุ่งไปยังแก่นเรื่องหรือโครงเรื่องหลักที่นักเขียนตั้งใจไว้ให้มากขึ้น เช่น มุ่งไปยังปริศนาต่างๆ ที่เปิดไว้ หรือเน้นไปที่การค้นหาตัวตนของไอร่า มากกว่าจะเน้นแต่เฉพาะชีวิตประจำวันของไอร่า ก็จะช่วยให้เรื่องนี้มีความน่าติดตามเพิ่มขึ้น

Tampasta มีความสามารถสร้างเสน่ห์ให้กับเรื่องและตัวละครต่างๆ ผ่านบทบรรยายที่ให้รายละเอียด ขณะเดียวกันก็ยังมีความสามารถในการสร้างบุคลิกภาพ และถ่ายทอดลักษณะเด่นเฉพาะของตัวละครแต่ละตัวออกมาจนผู้อ่านสัมผัส จดจำ และสร้างความประทับใจได้ นอกจากการบรรยายลักษณะตัวละครแล้ว tampasta ยังเด่นในเรื่องการบรรยายฉากการต่อสู้ด้วย จะเห็นได้ว่าในเรื่องมักจะมีการต่อสู้ให้เห็นบ่อยครั้ง และแต่ละครั้งตัวละครที่ต่อสู้ก็จะมีการใช้พลังที่ต่างกัน แต่ tampasta ก็สามารถบรรยายฉากเหล่านั้นได้อย่างมีชีวิตชีวา จนผู้อ่านสามารถสร้างภาพการต่อสู้เหล่านั้นขณะที่อ่านได้ไม่ยากนัก ขณะเดียวกันการสร้างบทบรรยายภาวะอารมณ์ของตัวละครแต่ละตัวก็ทำได้เป็นอย่างดี ทั้งการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์เศร้า เสียใจ ดีใจ รัก โกรธ ซึ่งการบรรยายอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้นับเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญที่ทำให้ผู้อ่านจดจำและเกิดความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครขณะที่อ่าน

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเสน่ห์ต่างๆ ของเรื่องต้องมาถูกลดทอนด้วยคำผิดจำนวนมาก ซึ่งมักจะปรากฏมาขัดจังหวะการอ่านเสมอๆ อันส่งผลให้อารมณ์ร่วมที่เกิดขึ้นถูกลดทอนลง เมื่อพิจารณาคำผิดที่ปรากฏในเรื่องนี้แล้วพบว่าเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การกดแป้นผิดพลาด เช่น ฟีโอร่า เขียนเป็น ฟ๊โอร่า ฟีโอร่า เขียนเป็น ฟีโอล่า จัดของ เขียนเป็น จักของ นักเรียน เขียนเป็น นัดเรียน รู้สึก เขียนเป็น รู้สึด ไม้กางเขน เขียนเป็น ไม่กางเขน เป็น เขียนเป็น เย็น บาดแผล เขียนเป็น บากแผล คืนพลัง เขียนเป็น คือพลัง เกรงใจ เขียนเป็น แกรงใจ รอบ เขียนเป็น รอย คนตรงกลาง เขียนเป็น คนตกกลาง การใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น ช็อก เขียนเป็น ช๊อก ยะ เขียนเป็น ย๊ะ ใช่ เขียนเป็น ใช้ นะคะ เขียนเป็น นะค๊ะ คะ เขียนเป็น ค๊ะ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ แว้บ เขียนเป็น แว๊บ ตั้งแต่ เขียนเป็น ตั่งแต่ ฟะ เขียนเป็น ฟ๊ะ การเขียนผิดเพราะความไม่รู้คิดว่าคำๆ นั้นสะกดเช่นนี้จริงๆ เช่น เวท เขียนเป็น เวทย์ เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์ ต่างๆ นานา เขียนเป็น ต่างๆ นาๆ บาดาล เขียนเป็น บาดาร ผิวพรรณ เขียนเป็น ผิวพัน เขิน เขียนเป็น เขิล งอน เขียนเป็น งอล คลุมเครือ เขียนเป็น ครุมเครือ เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ ฉัน เขียนเป็น ชั้น (แม้จะเป็นภาษาพูด แต่เวลาเขียนก็ใช้ ฉัน ไม่ใช้ ชั้น) ประลอง เขียนเป็น ประรอง ภวังค์ เขียนเป็น พวัง เกลียด เขียนเป็น เกรียด คลุ้มคลั่ง เขียนเป็น คุ้มคลั่ง แป๊บ เขียนเป็น แปบ นกฟินิกซ์ เขียนเป็น นกฟินิกษ์ ทะเลาะ เขียนเป็น ทะเลอะ แปลงร่าง เขียนเป็น แปรงร่าง ตะลึง เขียนเป็น ตลึง รำคาญ เขียนเป็น ลำคาน นอกรีต เขียนเป็น นอกรีด อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตส่า จึงเห็นว่า tampasta ควรจะใส่ใจในเรื่องการสะกดคำเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะต้องตรวจสอบการสะกดคำที่ถูกต้องจากพจนานุกรมร่วมด้วยก็จะช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์และน่าอ่านมากขึ้น

-------------------------------------
     
 
ใครแต่ง : moonlightsonata
21 มิ.ย. 54
80 %
8 Votes  
#65 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ ปริศนารักแชงกรีล่า

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 25 มิ.ย. 55
นิยายแนวอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของ moonlightsonata เรื่อง ปริศนารักแชงกรีล่า ดำเนินมาถึงตอนที่ 23 แล้ว นิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของริน หญิงสาวชาวไทยที่วันหนึ่งเมื่อเธอฟื้นขึ้นมาแล้วพบว่าตนเองความจำเสื่อมและมาอยู่ในดินแดนแชงกรีล่าที่ไม่คุ้นเคย และเป็นเสมือนโลกใหม่สำหรับเธอ แต่โชคดีว่าผู้ที่พบและช่วยเหลือเธอ คือ หมอนรัญญ์หรือหมอก้อง หนุ่มชาวไทยที่ข้ามมิติมาอยู่ในดินแดนแห่งนี้ด้วยเช่นกัน และเพื่อความปลอดภัย เขามักจะแนะนำใครๆ ว่ารินคือภรรยาของเขา นอกจากนี้ รินยังได้พบกับเยซาน ราชทูตและนาวังแห่งเทนซินที่ปักใจเชื่อว่าเธอคือรินเซน หญิงคนรักที่หายตัวไป การใช้ชีวิตในดินแดนแห่งนี้ยังทำให้รินต้องผูกพันกับเอเมล หรือเทพกระบี่อสูร มือสังหารฝีมือดีที่ได้รับจ้างวานให้สังหารริน แต่โชคชะตาเล่นตลกให้เขากลายเป็นผู้ช่วยชีวิตและผู้พิทักษ์ของเธอแทน จึงต้องติดตามกันต่อไปว่ารินจะสามารถกลับเมืองไทยได้หรือไม่ และผู้ชายคนใดที่จะเป็นผู้ครอบครองหัวใจของเธอ

กลวิธีสำคัญที่ moonlightsonata นิยมใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่อง คือ การทิ้งปริศนา และความลับในอดีตของตัวละครไว้เป็นระยะๆ การเขียนในลักษณะนี้นับว่าช่วยกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่าน ขณะเดียวกันก็สร้างความน่าติดตามให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี เพราะผู้อ่านมักอยากจะทราบความจริงที่ยังปกปิดซ่อนเร้นไว้ และอยากตามติดการคลี่คลายปริศนาของผู้เขียนว่าจะใช้วิธีการเช่นไร และแยบคายเพียงใด ทั้งนี้ ปริศนาและความลับที่ปรากฏในเรื่องไม่ควรมีปริมาณที่มากนัก ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้ติดตามอย่างใจจดใจต่อจนกว่าจะถึงบทเฉลย

ทว่านิยายเรื่องนี้กลับมีปมปริศนาและความลับอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดจุดเน้นว่าเรื่องใดมีความสำคัญมากกว่ากัน เพราะจะพบว่าตัวละครหลักเกือบทุกตัวต่างก็มีความลับและอดีตอันซ่อนเร้น และนับวันยิ่งทวีมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวของรินที่เต็มไปด้วยความลับและปริศนา นับตั้งแต่ความเป็นมาที่แท้จริงของรินขณะที่อยู่เมืองไทย ความคล้ายคลึงกันระหว่างรินกับรินเซน ใครเป็นผู้พารินข้ามมิติมายังแชงกรีล่า เหตุใดจึงต้องพารินมาที่แชงกรีล่าแห่งนี้ ผู้ใดจ้างวานฆ่าเธอ และใครที่เป็นวิญญาณผู้หวังดีที่ของร้องให้เจ้าแม่อัมปูช่วยเธอไว้ เหตุใดครั้งแรกที่เจ้าแม่โบเลอูพบรินแล้วทำให้นึกถึงภาพเด็กหญิงวัย 10 ขวบที่กอดเธอร้องไห้ และชายตี๋ใส่แว่นที่เมื่อรินนึกถึงครั้งใดก็ทำให้เธอรูสึกเจ็บปวดคือใคร รวมทั้งยังมีความลับของเอเมลว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นใคร และน้องสาวที่ถูกแยกจากเอเมลไปตั้งแต่เด็ก ขณะนี้จะเป็นเช่นไร หรือแม้แต่รินเซนและรินแท้ที่จริงคนทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อ moonlightsonata เปิดปริศนาใดๆ ไว้แล้ว มักจะไม่ค่อยสานต่อ พัฒนาหรือคลี่คลายปริศนาและความลับดังกล่าว แต่กลับเปิดปริศนาและความลับใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้นิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยปริศนาและความลับ โดยยังปราศจากการคำตอบ ซึ่งการดำเนินเรื่องเช่นนี้อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกอึดอัดและเบื่อได้ เพราะตามอ่านมาเท่าใด ก็ไม่ได้ทราบคำตอบเสียที ในแง่นี้ moonlightsonata ควรจะรีบปิดหรือคลี่คลายปริศนาและความลับที่ไม่สำคัญไปเป็นระยะๆ และคงไว้แต่เฉพาะปริศนาหลักหรือความลับสำคัญที่ใช้เป็นแกนกลางในการพัฒนาเรื่องให้ไปถึงจุดสูงสุด ก่อนที่จะคลี่คลายและเฉลยในตอนท้าย ก็จะช่วยให้เรื่องน่าติดตามมากขึ้น

ในนิยายเรื่องนี้นอกจากจะมีโครงเรื่องหลัก (plot) ที่ผูกอยู่กับการดำเนินชีวิตและเรื่องราวของรินขณะที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนแชงกรีล่าแล้ว ยังมีโครงเรื่องย่อย (sub-plot) อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงเรื่องย่อยเหล่านี้มักจะเป็นการอธิบายขยายความเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับริน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตของหมอก้อง ที่ยังคงไม่คิดจะหาทางกลับเมืองไทย จนกว่าจะตามพบฟ้าภรรยาที่พลัดหลงของเขาได้ รวมทั้งยังมีเรื่องราวความวุ่นวายในชีวิตของเยซานทั้งเรื่องราวความรักที่เขาพยายามตามหารินเซน ขณะเดียวกันยังต้องระมัดระวังตนจากการลอบสังหารของผู้ที่ต้องการจะได้อำนาจและตำแหน่งนาวังของเทนซินแทนเขา อีกทั้งยังมีเรื่องราวชีวิตของเอเมล ที่หนทางชีวิตเขาเริ่มเข้ามาพัวพันกับทั้งรินและเยซานมากขึ้น เพราะว่าคนทั้งคู่คือเป้าหมายในการลอบสังหารของเขา การเขียนนิยายที่มีโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเช่นนี้ ผู้เขียนจำเป็นต้องมีการวางแผนการเขียนมาเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้โครงเรื่องย่อยๆ เหล่านี้กลบโครงเรื่องหลักที่ต้องการเสนอ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละเลยโครงเรื่องย่อยที่เปิดไว้เหล่านี้ไปพร้อมกันด้วย สำหรับเรื่องราว ปริศนารักแชงกรีล่า ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเปิดโครงเรื่องย่อยไปพร้อมกับโครงเรื่องหลักเท่านั้น ยังไปไม่ถึงขั้นการพัฒนาโครงเรื่องเท่าใดนัก จึงไม่สามารถที่จะให้ความเห็นในประเด็นนี้ได้ในขณะนี้

ในส่วนของการบรรยายนั้น เนื่องจากนิยายเรื่องนี้มีฉากสำคัญอยู่ที่ดินแดนแชงกรีล่า ซึ่งนับเป็นดินแดนใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของผู้อ่านนัก ด้วยเหตุนี้ moonlightsonata จึงให้ความสำคัญกับการบรรยายเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้อ่าน ทั้งในเรื่องของฉาก บรรยากาศ ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การปกครอง และการแต่งกายไว้อย่างละเอียด โดยที่ผู้อ่านจะได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมกับรินด้วย อนึ่ง ข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบรรยายที่พบคือ สัดส่วนระหว่างบทบรรยายกับบทสนทนาในเรื่องมักจะไม่สมดุลกันนัก เพราะในบางบทจะพบว่ามีบทสนทนาเรียงต่อกันเป็นจำนวนมากจนแทบจะไม่พบบทบรรยายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทแรกๆ ตั้งแต่บทที่ 1-5 ขณะเดียวกันในบางบทก็ดูประหนึ่งว่าจะมีการแยกกันระหว่างบทบรรยายกับบทสนทนา กล่าวคือ บางครั้งก็มีบทบรรยายขนาดยาวเรียงต่อติดต่อ 3-4 ย่อหน้า ต่อจากนั้นก็จะเป็นบทสนทนาที่มีความยาวประมาณ 1-2 หน้า โดยที่แทบจะไม่มีบทบรรยายคั่นเลย จึงเห็นว่า moonlightsonata น่าจะสร้างสมดุลในการวางระหว่างบทสนทนากับบทบรรยายไม่ให้มีลักษณะแยกส่วนกันอย่างชัดเจนเช่นนี้ อาจจะเป็นการสลับระหว่างบทสนทนากับบทบรรยายในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ก็จะช่วยแก้ปัญหาในประเด็นนี้ได้ สำหรับในประเด็นเรื่องคำผิดนั้น พบว่า moonlightsonata มีความพิถีพิถันในเรื่องนี้มาก จึงพบคำผิดน้อยมาก คำผิดที่พบมีเพียง 5 คำ คือ คู่ เขียนเป็น คู ปรากฏ เขียนเป็น ปรากฎ เพิ่งนึก เขียนเป็น พึ่งนึก ฤๅ เขียนเป็น ฤา และ เสน่ห์ เขียนเป็น สเน่ห์

นอกจากนี้ สัดส่วนความสั้น ยาวของแต่ละบทก็นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการจูงใจให้คนผู้อ่านอยากหรือไม่อยากที่จะติดตามเรื่องด้วยเช่นกัน ในนิยายเรื่องนี้ยังดูเหมือนว่า moonlightsonata ยังไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากนัก เพราะเนื้อหาในแต่ละตอนยังขาดความสมดุล จะเห็นได้ว่าในบทแรกๆ จะมีขนาดสั้นมาก จนบางครั้งอาจรวม 3-4 ตอนเป็นตอนเดียวกันได้ แต่บทหลังๆ เริ่มมีขนาดยาวขึ้นเรื่อยๆ และบางบทก็มีขนาดยาวมาก จนเห็นควรว่าน่าจะแบ่งเป็น 2 หรือ 3 ตอน ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ moonlightsonata คำนึงถึงสมดุลในเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าบางบทยาวมาก อาจทำให้ผู้อ่านบางคนเบื่อเมื่ออ่านถึงช่วงท้ายๆ ได้

--------------------------------------------
     
 
ใครแต่ง : อสิรยา / Horae
13 ส.ค. 55
80 %
9 Votes  
#66 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ ใต้เงาซากุระ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 30 ก.ค. 55
นิยายเรื่องใต้เงาซากุระเขียนจบในส่วนภาคแรกซึ่งมีเจ็ดตอนและภาคสองเขียนถึงตอนที่สิบสี่ ใต้เงาซากุระเป็นเรื่องราวความรักของฮาระ อิชิกิ(นางเอก) กับ นิชิดะ ฮิโรทากะ(พระเอก) สองหนุ่มสาวจากตระกูลซามูไรที่มีหน้ารับผิดชอบต่อตระกูลซามูไรของตนเองและการรับใช้นายอย่างภักดีตามแบบวิถีแห่งซามูไร การดำเนินเรื่องอยู่ภายใต้สงครามเก็นเปน ซึ่งเป็นสงครามการแก่งแย่งชิงอำนาจของขุนนางตระกูลต่างๆ รวมถึงการพยายามรักษาอำนาจและสถานภาพของจักรพรรดิญี่ปุ่น ภาคแรกเป็นการดำเนินเรื่องราวความรักที่สดใส มิตรภาพระหว่างเพื่อน และความรักสามเส้าระหว่างพระเอก นางเอก และโซตะ บุตรชายคนเล็กแห่งตระกูลซามูไรโอโนะ ในภาคสองของนิยายมีความเข้มข้นขึ้น แม้ว่าความรักของอิชิกิและฮิโรทากิจะสมหวังและได้แต่งงานกัน แต่สิ่งนั้นอยู่ท่ามกลางความสูญเสียทั้งของตระกูลฮาระและนิชิดดะจากสงครามเก็นเปน และอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาเพื่อที่จะพิสูจน์ความรักของพระเอกและนางเอกมีต่อกันและการร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคของทั้งสองจะมีเรื่องราวความน่าประทับใจอย่างไร และจุดจบความรักของพระเอกและนางเอกเป็นอย่างไรเราคงต้องติดตามกันต่อไป

ผู้เขียนดำเนินเรื่องจากภาคแรกและภาคสองมาถึง 21 ตอนแล้ว เรื่องน่าจะดำเนินมาถึงกลางเรื่องแล้ว แต่การดำเนินเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้ช้ามาก ไม่เห็นพัฒนาการด้านความรัก ความเข้าใจ การฝ่าฟันปัญหาของพระเอกและนางเอกเท่าไรนัก ผู้เขียนยังคงเพิ่งดำเนินโครงเรื่องหลักที่ให้พระเอกและนางเอกต้องฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาร่วมกันท่ามกลางสงครามเก็นเปน และอุปสรรคและปัญหาที่ผู้เขียนผูกปมกลับส่งผลให้คนรอบข้างเจ็บปวดเสียมากกว่าตัวละครเอกเสียอีก เช่นเมื่อบิดาของนางเอกเสียชีวิตจากการทำสงคราม ผู้เขียนได้บรรยายเน้นย้ำว่าแม่ของนางเอกเศร้าโศกเสียใจถึงต้องลาบวชชี ในขณะที่นางเอกซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวและใกล้ชิดกลับทั้งผู้เป็นพ่อและแม่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบนี่เลย หรือความขัดแย้งในชีวิตสมรสของนิชิดะ คาสึโนริ น้องชายของพระเอก กับ มิยาบาระ นานาเสะ จนถึงการตายของคาสึโนริ ซึ่งผู้เขียนตั้งปมปัญหาว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากทั้งพระเอกและนางเอก แต่พระอกและนางเอกไม่ตระหนักว่าความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นเพราะมีเหตุมากจากตนเองด้วย ประเด็นนี้ผู้วิจารณ์ยังไม่แน่ใจว่าผู้เขียนจะเก็บให้เป็นปมปัญหาในตอนต่อไปหรือไม่

ผู้เขียนเลือกเขียนนิยายแนวย้อนยุคโดยเลือกที่จะใช้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงสงครามเก็นเปนเป็นฉากหลังที่สำคัญ และให้การฝ่าฟันความรักของพระเอกกับนางเอกเป็นตัวดำเนินเรื่องที่สำคัญ ผู้วิจารณ์ต้องชมผู้เขียนว่า การเขียนเรื่องย้อนเวลา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ของคนชาติอื่นซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากต้องมีการค้นคว้าข้อมูล ศึกษา เพื่อที่จะทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และนำมาเขียนเป็นนิยาย ในส่วนนี้ผู้เขียนศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดีมาก แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องตระหนักว่าตนเองกำลังเขียนนิยาย การเขียนนิยายไม่ควรใส่เชิงอรรถ ดังนั้นข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้า ศึกษามาทุกอย่างนั้นควรจะแทรกข้อมูลความรู้เหล่านี้กลมกลืนเป็นเนื้อเรื่องเดียวกับนิยาย ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต การแต่งกาย อาวุธ ข้าวของเครื่องใช้ และอาหารการกิน ข้อปกพร่องในประเด็นที่ผู้เขียนควรปรับแก้ เช่น ผู้แต่งสามารถที่จะอธิบายความเป็นมาและการดำเนินของสงครามเก็นเปนนี้ได้ในฉากต่างๆ ของนิยาย หรือจะให้ตัวละครเป็นผู้เล่า หรือสนทนากับตัวละครอื่นเกี่ยวกับสงครามนี้ก็ได้ การที่ผู้เขียนใช้เชิงอรรถในการอธิบายความทำให้เสียอรรถรสในการอ่านอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการอ่านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ต้องมาตามอ่านเชิงอรรถอธิบายซึ่งอยู่ในช่วงท้ายสุดทำให้การอ่านสะดุดไม่ต่อเนื่อง บางครั้งต้องยอมรับว่าไม่ได้ตามไปอ่านในเชิงอรรถที่ให้ไว้ จึงอยากให้ผู้เขียนปรับปรุงในส่วนนี้ ทั้งนี้เข้าใจว่าผู้เขียนเสียดายข้อมูลที่ค้นคว้ามา แต่ต้องไม่ลืมว่าข้อจำกัดในการแต่งนิยาย คือการสกัดบางส่วนที่ค้นคว้ามาเพื่อสร้างความสมจริงให้กับเรื่องเท่านั้น มิใช่นำเสนอความจริงทั้งหมดที่ค้นคว้ามาได้จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้ามาไม่ได้นำมาใช้เพื่อการเขียนนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่

รูปแบบการเขียนบรรยาย กับ การสนทนา ผู้เขียนมักจะเว้นบรรทัดแยกจากกัน ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนหลายครั้ง จึงเห็นว่าหากเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันผู้เขียนไม่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ก็ได้ เพราะจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นส่วนที่ขึ้นบรรทัดใหม่เป็นความที่แยกออกจากกันไม่เกี่ยวข้องกัน และหากยังเป็นการบรรยายเรื่องเดียวกันอยู่ก็ไม่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ เนื่องจากจะทำให้การอ่านขาดอรรถรส เพราะถูกขัดจังหวะและทำให้การอ่านขาดเป็นช่วงๆ

จุดอ่อนอีกจุดประการหนึ่งคือ การเขียนบรรยายฉากและบรรยากาศ เนื่องผู้เขียนบรรยายฉากและสถานที่ต่างๆ น้อยมากทำให้ผู้อ่านไม่สามารถสร้างจินตนาการได้ว่าเรื่องนั้นดำเนินในสถานที่มีลักษณะเช่นไร เช่นทะเลโอซึ่งเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของทั้งพระเอกและนางเอก แต่ผู้เขียนบรรยายสถานที่แห่งนี้น้อยมากจนไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสถานที่อันน่าประทับใจและเป็นฉากที่มีความสำคัญของนิยายเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการบรรยายลักษณะท่าทาง การแต่งกาย เสื้อผ้า ทรงผม การแต่งหน้า เครื่องประดับต่างๆ ของตัวละครที่มีการบรรยายน้อยเช่นกัน จึงอยากให้เพิ่มรายละเอียดในการบรรยายในส่วนนี้เข้าไปจะช่วยให้ผู้อ่านใกล้ชิดและมีความรู้สึกร่วมกับนิยายเรื่องนี้ได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนบรรยายได้เป็นอย่าดีคืออารมณ์ของตัวละคร ที่ผู้เขียนอาจเน้นและให้ความสำคัญมาก

แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเน้นเรื่องความรักระหว่างพระเอกและนางเอก แต่ผู้เขียนกลับให้ความสำคัญกับตัวละครอื่นมากกว่าและบรรยายตัวละครอื่นๆได้ดี เช่นนี้กลบบทบาทของพระเอกและนางเอก จนรู้สึกว่าบทบาทของพระเอกในเรื่องมีน้อยไปหรือไม่ เนื่องจากผู้เขียนให้พระเอกเป็นซามูไรในตระกูลเก่าแก่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบที่สำคัญมากมาย แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะบรรยายรายละเอียดต่างๆ ว่าพระเอกทำอะไรบ้างจะเห็นได้ว่ามีเพียงการอธิบายว่าพระเอกต้องไปออกรบเป็นประจำตามคำสั่งของขุนนางที่ตระกูลตนเองจงรักภักดี และมีหน้าที่รับผิดชอบใดภาระการทำงานอื่นๆ ของพระเอกที่ดูกลายเป็นความลับไปเพราะแม้แต่นางเอกผู้เป็นภรรยาร่วมทุกข์ร่วมสุขยังไม่รู้ ซึ่งประเด็นนี้เองที่เป็นข้อขัดแย้งของเรื่องนี้ เพราะผู้เขียนให้นางเอกซึ่งเป็นคนในตระกูลซามูไรและได้รับการฝึกฝนอย่างซามูไร แต่กลับไม่มีส่วนร่วมหรือรับรู้ในหน้าที่การงานของผู้เป็นสามีรวมถึงความเป็นไปของบ้านเมือง แม้ว่าผู้เขียนอธิบายไว้แล้วว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องบ้านเมืองหรือภาระหน้าที่การงานของผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีข้อย้อยแย้งขึ้นกับตัวนางเอกเสนอที่จะไปออกรบกับสามี แม้ว่าผู้เขียนจะให้นางเอกจะได้รับการฝึกอย่างซามูไร แต่ไม่ได้เกริ่นนำมาก่อนว่านางเอกมีความสนใจในด้านการทำสงคราม รู้กลยุทธ์ทางด้านสงครามหรือการเมือง แม้แต่แรงผลักดันที่ให้นางเอกต้องการออกรบร่วมกับสามี ทำให้ผู้วิจารณ์ยังไม่เห็นเหตุผลที่นางเอกจะขอออกรบร่วมกับพระเอก การที่นางเอกขอร่วมออกรบจึงเป็นการดำเนินไปตามโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนได้วางไว้เท่านั้น

ประเด็นที่ผู้เขียนต้องระวังคือการใช้คำ โดยเฉพาะคำที่ใช้แสดงในการลำดับญาติ ข้อผิดพลาดเช่น การที่หลานชายของนางเอกซึ่งเกิดจากพี่ชายคนโตเรียกนางเอกว่า “ท่านน้า” ตามการลำดับญาติน้องของพ่อไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เรียกว่า “อา” เพราะฉะนั้นลูกของพี่ชายนางเอกจะต้องเรียกนางเอกว่า “ท่านอา” ซึ่งอาจะเติมเป็น “ท่านอาหญิง” ก็ได้ และ อีกจุดหนึ่งในคืนวันแต่งงานระหว่างชิอากิกับฮิโรทากะ ฮิโรทากะเรียกคาซากิ ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตชิอากิว่า “ท่านพี่เขย” คาซากินั้นมีศักดิ์เป็น “พี่ภรรยา” ของฮิโรทากิ แค่คำว่าพี่เขยเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่เป็นสามีของพี่สาว

นอกจากนี้ผู้เขียนยังสับสนกับคำที่ใช้เรียกที่พักอาศัย เนื่องจากผู้เขียนใช้ทั้ง คฤหาสน์ เรือน ปราสาท ตำหนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงคำเหล่านี้มีลักษณะการใช้ในเฉพาะความหมายที่ต่างกันคือคฤหาสน์ใช้เรียกที่อยู่อาศัยของขุนนาง ซึ่งในคฤหาสน์จะมีที่พักแยกออกเป็นส่วนต่างๆ ส่วนนี้เรียกว่าเรือน ส่วนปราสาทเป็นที่อยู่อาศัยของจักรพรรดิ เชื้อพระวงศ์ โชกุน เช่นเดียวกันจะมีส่วนที่พักอาศัยแยกออกเป็นส่วนๆ เรียกว่าตำหนัก ผู้เขียนต้องระวังในส่วนนี้ด้วย

การใช้คำอธิบายขยายความของผู้เขียน ผู้วิจารณ์สังเกตว่าผู้เขียนมักจะมีคำขยายที่ไม่เข้ากัน เช่น ดวงตาประกายระริก เมื่อผู้เขียนใช้คำว่าริกขยายคำว่าประกายแล้ว ความหมายที่ออกมาไม่ใช่หมายถึงความสว่างสดใสอย่างที่ผู้เขียนต้องการแต่เป็นว่าดวงตาที่สว่างที่ไม่อยู่นิ่ง ผู้เขียนยังใช้คำว่า กริ่งเกรง เพื่อเลี่ยงใช้คำว่าเกรงกลัว เกรงขาม แต่ความหมายนั้นมีความหนักแน่นไม่เท่ากับสองคำหลัง และผู้เขียนยังมักใช้กริยา “ตวัด” กับอากัปกริยาที่ต้องเคลื่อนที่ เช่น ตวัดตา ตวัดตัวขึ้นหลังม้า ตวัดดาบ ผู้เขียนควรจะเลือกใช้คำอื่นที่มีความหมายที่เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน และให้ความหมายที่ถูกต้องกว่า เพราะไม่ใช้คำว่าตวัดตา หรือตวัดตัว แต่ตวัดใช้กับดาบ ดังนั้นควรใช้ เหลือบตา ปรายตา สะบัดตา หรือ เหวี่ยงตัวขึ้นหลังม้า ในส่วนการเขียนคำผิดมีน้อยมากซึ่งผู้เขียนได้ตรวจทานมาเป็นอย่างดี

สิ่งที่ผู้วิจารณ์อยากแนะนำในการเขียนนิยายย้อนยุคว่า ถ้าหากผู้เขียนได้เก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนมาเป็นอย่างดีแล้ว ผู้เขียนไม่ต้องกลัวในการนำข้อมูลต่างๆ มาเขียนเป็นนิยายในแนวทางของตัวเอง การจะสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่เพื่อให้สัมพันธ์กับบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ หรือจะสร้างเหตุการณ์ใหม่ให้มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องมีความสอดคล้องกัน เป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อ คุณอสิริยาผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ยังมีความกลัวในประเด็นนี้อยู่มากจึงได้บรรยายเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เป็นเชิงอรรถอธิบาย ผู้เขียนควรจะนำข้อมูลและข้อเท็จจริงในอดีตมาหลอมรวมกับจินตนาการของตนเองเพื่อสร้างงานเขียนที่มีคุณภาพในด้านบันเทิงและยังให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย หากทำได้สมดุล งานเขียนนั้นจะเป็นงานเขียนที่มีคุณภาพได้ไม่ยาก
     
 
ใครแต่ง : time_koi
10 ต.ค. 58
80 %
6 Votes  
#67 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ My Bad Boy พิสูจน์พิกัดหัวใจ นายตัวร้าย

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 13 ก.ย. 55

นิยายหวานแหววของ time_koi เรื่อง My Bad Boy พิสูจน์รักพิกัดหัวใจนายตัวร้าย ยังคงไม่แตกต่างจากนิยายแนวนี้เรื่องอื่นมากนัก เพราะนำเสนอเรื่องราวรักสามเส้าระหว่างเดย์ มิ้ง และ บัตเตอร์ ที่ยังคงให้เดย์ พระเอกเป็นตัวละครในลักษณะ bad boy และเพลย์บอยที่เป็นที่หมายปองของหญิงสาวทั่วๆ ไป แต่กลับมาตกหลุมรักและมาหยุดความรักของตนที่มิ้งนางเอกของเรื่อง ขณะที่นางเอกเองก็เป็นสาวสวยที่เพิ่งเคยมีความรักเป็นครั้งแรก และได้มอบหัวใจและความรักทั้งหมดของตนให้กับพระเอก แต่มีเหตุให้ต้องเข้าใจผิดกัน จนต้องเศร้าเสียใจกับความรักที่มอบให้พระเอกไปจนหมดหัวใจแล้ว ขณะที่บัตเตอร์ พระรองยังคงเป็นชายหนุ่มแสนดีที่รักนางเอกมาก แม้ว่าจะรู้ว่าหัวใจของนางเป็นของคนอื่น แต่เขาก็ยังคงห่วงใยและมาอยู่เคียงข้างนางเอกทุกครั้งที่ทุกข์ใจและเสียใจ ซึ่งในที่สุดเรื่องคงจะลงเอยว่าพระเอกและนางเอกคงสามารถปรับความเข้าใจกันได้และรักกันต่อไป

แม้ว่า My Bad Boy พิสูจน์รักพิกัดหัวใจนายตัวร้าย จะโพสต์ไปจนถึงตอนที่ 18 แล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้แต่งอาจจะมิได้วางโครงเรื่องไว้ล่วงหน้า เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่าเรื่องจะเบี่ยงเบนไปจากความตั้งใจเดิมของผู้แต่ง หากพิจารณาทิศทางของเรื่องจากชื่อเรื่องและคำโปรยแนะนำเรื่องที่ time_koi นำเสนอไว้ เรื่องควรที่จะเน้นไปที่เดย์เป็นสำคัญ เพราะเดย์เป็นผู้ที่พูดประโยคที่อยู่ในส่วนแนะนำเรื่องนี้ว่า “ในเมื่อเธอเลือกฉันแล้ว เพราะฉะนั้น เธอต้องมองแต่ฉันคนเดียว ห้ามมอง ห้ามยุ่ง ห้ามสัมผัส ผู้ชายอื่น ฉันไม่ชอบ ” และ My Bad Boy ที่จะต้องเป็นผู้ถูกพิสูจน์หัวใจ ในเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นเดย์เช่นเดียวกัน แต่ตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องบทบาทของเดย์ดูจะน้อยเกินไป จนดูเหมือนว่าเขาเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งที่ไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก ขณะเดียวกันเนื้อเรื่องก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ สนับสนุน หรือร่วมคลี่คลายให้ชื่อเรื่องชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ “My Bad Boy” หรือ “การพิสูจน์รักของนายตัวร้ายแต่อย่างใด” ทั้งนี้เพราะ time_koi ไปให้ความสำคัญกับเรื่องราวของบัตเตอร์มากกว่า จนดูประหนึ่งว่าบัตเตอร์จะกลายเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก ซึ่งทำให้เรื่องแทบจะเบี่ยงไปเป็น “My Good Boy” แทน จนผู้อ่านเกือบจะลืมเดย์และหันไปเทคะแนนสงสารและเห็นใจให้กับบัตเตอร์เกือบหมดแล้ว จึงเสนอให้ time_koi ลองกลับไปพิจารณาเรื่องอีกครั้งว่า ขณะนี้เรื่องดำเนินไปในทิศทางที่ตนต้องการหรือไม่ และแท้ที่จริงแล้วตั้งใจว่าจะให้ตัวละครใดเป็นตัวละครหลักในเรื่องกันแน่ แล้วค่อยปรับแก้ทิศทางของเรื่องให้ตรงตามความตั้งใจของตนต่อไป

ในบทต้นๆ เห็นว่า time_koi ยังคงเน้นไปที่บทสนทนามากกว่าบทบรรยาย แต่ในบทหลังๆ ก็เริ่มเห็นพัฒนาการในการเขียนที่มีบทบรรยายมากขึ้น ซึ่งบทบรรยายและบทสนทนาที่นำเสนอก็ช่วยสนับสนุนให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวของมิ้งและบัตเตอร์ เช่นเดียวกับการใช้อีโมติคอนที่บทแรกๆ ดูเหมือนว่าจะมีอีโมติคอนอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นอาจเป็นเพราะ time_koi ต้องการแสดงความสดใสของชีวิตวัยรุ่นของตัวละคร เมื่อตัวละครเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนสภาวะทางอารมณ์มากขึ้น และบ่อยครั้งที่เหตุการณ์และปัญหาที่ตัวละครเผชิญบีบคั้นให้ตัวละครต้องถูกกดดันให้แสดงสภาวะทางอารมณ์ก็ยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ในเนื้อเรื่องก็แทบจะไม่มีอีโมติดคอนปรากฏให้เห็นอีกเลย ซึ่งอาจนับว่าเป็นนัยที่แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่เติบโตขึ้นของตัวละครในทางหนึ่งด้วย

สำหรับปัญหาสำคัญของเรื่องที่พบ ซึ่ง time_koi จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจังคือ ปัญหาในเรื่องการสะกดคำ เพราะในเรื่องนี้มีคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย สาเหตุแรกคือ การใช้สระสลับกัน ไม่ว่าการใช้ ี สลับกับ ิ เช่น เดิน เขียนเป็น เดีน เปิด เขียนเป็น เปีด เริ่ม เขียนเป็น เรี่ม เพิ่ง เขียนเป็น เพี่ง เขิน เขียนเป็น เขีน เลิก เขียนเป็น เลีก กรี๊ด เขียนเป็น กริ๊ด เพี้ยง เขียนเป็น เพิ้ยง การใช้ ืและ ึ สลับกัน เช่น ซึ้ง เขียนเป็น ซื้ง ขึ้น เขียนเป็น ขื้น ดื่ม เขียนเป็น ดึ่ม ลืม เขียนเป็น ลึม การใช้ ุ และ ู สลับกัน เช่น มุม เขียนเป็น มูม
สาเหตุประการที่สองคือ การใช้พยัญชนะสลับกัน โดยเฉพาะ ช สลับกับ ซ เช่น ซกมก เขียนเป็น ชกมก ซุบซิบ เขียนเป็น ชุ๊บชิ๊บ ซ้ำหน้า เขียนเป็น ช้ำหน้า ซุกซน เขียนว่า ชุกชน แผ่ซ่าน เขียนว่า แผ่ช่าน ซวย เขียนว่า ชวย ซ้ำๆ เขียนว่า ช้ำๆ ซักครั้ง เขียนว่า ชักครั้ง ซะ เขียนว่า ชะ ซึม เขียนว่า ชึม ซับ เขียนเป็น ชับ ซีด เขียนเป็น ชีด ซุกหน้า เขียนเป็น ชุกหน้า เชิญ เขียนเป็น เซิน

การใช้ ร และ ล สลับกัน เช่น ผละ เขียนเป็น ผระ ลิ่ว เขียนเป็น หริ่ว เปลี่ยน เขียนเป็น เปรี่ยน เหลือ เขียนเป็น เหรือ เถลไถล เขียนเป็น เถรไถร ลิ้มรส เขียนเป็น ริ้มรส ลูบไล้ เขียนเป็น ลูบไร้ เครียด เขียนเป็น เคลียด ช่วยเหลือ เขียนเป็น ช่วยเหรือ รายล้อม เขียนเป็น รายร้อม ลำคอ เขียนเป็น รำคอ รอบ เขียนเป็น ลอบ บ้าคลั่ง เขียนเป็น บ้าครั่ง หลับ เขียนเป็น หรับ รวม เขียนเป็น ลวม หลอก เขียนเป็น หรอก ล่วงล้ำ เขียนเป็น ร่วงล้ำ รวมตัว เขียนเป็น ลวมตัว เหล้า เขียนเป็น เหร้า คลอเบ้า เขียนเป็น ครอเบ้า เหลือง เขียนเป็น เหรือง เคลิบเคลิ้ม เขียนเป็น เคริบเคริ้ม ไหล่ เขียนเป็น ไหร่ ทะเลาะ เขียนเป็น ทะเราะ ปลง เขียนเป็น ปรง ไหล เขียนเป็น ไหร กำเริบ เขียนเป็น กำเลิบ ระทึก เขียนเป็น ละทึก ลุล่วง เขียนเป็น ลุร่วง หลุกหลิก เขียนเป็น รุกริ๊ก เบื้องล่าง เขียนเป็น เบื้องร่าง เล็ดรอด เขียนเป็น เร็จรอด อันตราย เขียนเป็น อันตลาย
การเขียนสลับพยัญชนะตัวอื่นๆ อีกประปราย เช่น ส่ายหัว เขียนว่า ฉ่ายหัว ชงัก เขียนเป็น สงัก ฉับ เขียนเป็น ชับ ฉะนั้น เขียนเป็น ชะนั้น ใหญ่ เขียนเป็น ใหย่ เข่า เขียนเป็น เค่า ฆ่า เขียนเป็น ข้า ฉิบเป๋ง เขียนเป็น
ชิ๊บเป๋ง เศษแก้ว เขียนเป็น เสธแก้ว

สาเหตุประการที่สาม คือ การใช้วรรณยุกต์ โดยเฉพาะวรรณยุกต์ตรี หรือไม้ตรี เช่น มั้ง เขียนเป็น มั๋ง แล้ว เขียนเป็น แล๊ว ม้ากมาก เขียนเป็น ม๊ากมาก แว้บ เขียนเป็น แว๊บ ยะ เขียนเป็น ย๊ะ วู้บ เขียนเป็น วู๊บ น้า เขียนเป็น น๊า คร้าบ เขียนเป็น คร๊าบ สำหรับกฎช่วยจำง่ายๆ ของการใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวา คือ ใช้กับอักษรกลางเท่านั้น ซึ่งอักษรกลางประกอบไปด้วยพยัญชนะ 9 ตัวเท่านั้นคือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ (ไก่จิกเด็กตายเฎ็กฏายบนปากโอ่ง) พยัญชนะตัวอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้วรรณยุกต์สลับกันด้วย เช่น มิ่งขวัญ เป็น มิ้งขวัญ หมกมุ่น เขียนเป็น หมกหมุ้น อุ๊ย เขียนเป็น อุ๋ย นั่ง เขียนเป็น นั้ง ค่อม เขียนเป็น ค้อม นุ่ม เขียนเป็น นุ้ม อ้าว เขียนเป็น อ่าว นี่ เขียนเป็น นี้ เอ๊ะ เขียนเป็น เอ๋ะ เยี่ยม เขียนเป็น เยี้ยม แผ่ซ่าน เขียนเป็น แผ่ซ้าน จั๊กจี้ เขียนเป็น จั๊กจี๊
สาเหตุประการที่สี่ คือ การใช้คำควบกล้ำ พบว่าคำควบกล้ำเขียนผิดเป็นจำนวนมาก เพราะว่าคำที่ควรมี ร หรือ ล ควบกล้ำก็ไม่ใส่ แต่คำที่ไม่ควรมีก็กลับเพิ่ม ร หรือ ล เข้าไป เช่น ตั้งเค้า เขียนเป็น ตั้งเคร้า กลับบ้าน เขียนเป็น กับบ้าน พร้อม เขียนเป็น พ้อม กึ่ง เขียนเป็น กรึ่ง เพราะ เขียนเป็น เพาะ เกาะ เขียนเป็น เกราะ ก้าว เขียนเป็น กล้าว ปกคลุม เขียนเป็น ปรกคลุม ศักดิ์ศรี เขียนเป็น ศักศี ทะ ๆ เขียนเป็น ทะแมร่งๆ ตี เขียนเป็น ตรี ขรึม เขียนเป็น ขึม ปกป้อง เขียนเป็น ปรกป้อง ผล็อยหลับ เขียนเป็น ผอยหลับ กระเพราะ เขียนเป็น กระเพาะ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ก้อง เขียนเป็น กล้อง ตะกุกตะกัก เขียนเป็น ตระกุกตระกัก ริมฝีปาก เขียนเป็น ริมฝรีปาก ผุด เขียนเป็น ผรุด แพ (ขนตายาวเป็นแพ) เขียนเป็น แพร กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน ขอบตาคล้ำ เขียนเป็น ขอบตาค้ำ กลางเกง เขียนเป็น กางเกง
สาเหตุประการสุดท้าย คือ ไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องสะกดอย่างไร เช่น ครุ่นคิด เขียนเป็น ขุ่นคิด รสเยี่ยม เขียนเป็น รถเยี่ยม น่ารัก เขียนเป็น หน้ารัก พฤติกรรม เขียนเป็น พึดติกรรม พิจารณา เขียนเป็น พิจรณา สรรพนาม เขียนเป็น ชัพนาม เหตุผล เขียนเป็น เหตุพน สถานการณ์ เขียนเป็น สถานะการณ์ บรรยากาศ เขียนเป็น บัลยากาศ พึมพำ เขียนเป็น พรึมพรัม โทรศัพท์ เขียนเป็น โทรศับ อรุณสวัสดิ์ เขียนเป็น อารุณสวัส อร่อย เขียนเป็น อะร่อย ไอศกรีม เขียนเป็น ไอศครีม แคว้ก เขียนเป็น แขล๊วง โต๊ะ เขียนเป็น โตะ สนิท เขียนเป็น ชนิด ชีวิต เขียนเป็น
ชีวิด อธิบาย เขียนเป็น อะธิบาย คณะ เขียนเป็น คะนะ โชคดี เขียนเป็น โชกดี ขนมขบเคี้ยว เขียนเป็น ขนมครบเครียว โรงพยาบาล เขียนเป็น โรงพระยาบาน สัมผัส เขียนเป็น สัมพัด สำลัก เขียนเป็น สัมลัก นอนซม เขียนเป็น นอนโซม จินตนาการ เขียนเป็น จินนาการ เสียฟอร์ม เขียนเป็น เสียฟรอม ต่างๆ นานา เขียนเป็น ต่างๆ นาๆ แน่น เขียนเป็น แหน้น กีตาร์ เขียนเป็น กีต่า กุญแจ เขียนเป็น กุลแจ แลบ เขียนเป็น แล็ฟ แทรก เขียนเป็น แซก เข้มแข็ง เขียนเป็น เข้มแขง ตรวจ เขียนเป็น ตรว นิดหน่อย เขียนเป็น นิทหน่อย ประสาน เขียนเป็น ประสาร หยิบ เขียนเป็น ยิบ หนังสือ เขียนเป็น หังสือ เลข เขียนเป็น เลก เคร้าเตอร์ เขียนเป็น เค้าท์เตอร์ กังวล เขียนเป็น กังวน ทิศ เขียนเป็น ทิตย์ กะจิตกะใจ เขียนเป็น กะจิดกะใจ ภายใน เขียนเป็น พายใน ทาน เขียนเป็น ทาร ฉลอง เขียนเป็น ฉะลอง ทะนุถนอม เขียนเป็น ถนุถนอม สรรหา เขียนเป็น สันหา ของขวัญ เขียนเป็น ของขวัน คว่ำ เขียนเป็น คว้ม สูดน้ำมูก เขียนเป็น สูบน้ำมูก พะรุงพะรัง เขียนเป็น มะลุงมะลัง สะกด เขียนเป็น สกด ยางแตก เขียนเป็น อยางแตก อุปกรณ์ เขียนเป็น อุปกร มารยาท เขียนเป็น มารญาด หรือ มาละญาติ เอนดู เขียนเป็น เอ็นดู ซ่อม เขียนเป็น ส้อม บันได เขียนเป็น บรรได เกร็ง เขียนเป็น เกรง โจทก์ เขียนเป็น โจต กำลัง เขียนเป็น กลัง

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า time_koi ควรที่จะใส่ใจและให้ความสำคัญกับการสะกดคำให้มากกว่านี้ โดยอาจจำเป็นต้องตรวจสอบการสะกดคำต่างๆ กับพจนานุกรมอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ควรอ่านหนังสือให้มากขึ้น เพราะการอ่านนับเป็นทางลัดที่ช่วยให้ได้เรียนรู้การเขียนคำที่ถูกต้องอีกทางหนึ่งด้วย การเขียนคำผิดเป็นจำนวนมากเช่นนี้ลดทอนความน่าสนใจของเรื่องลงอย่างน่าเสียดาย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านบางคนไม่เลือกอ่านงานเรื่องนี้ต่อไป แม้ว่าเนื้อเรื่องจะสนุกหรือชวนติดตามสักเพียงใดก็ตาม

--------------------------------------
     
 
ใครแต่ง : เหม่งจ๋าย*
27 ม.ค. 56
80 %
16 Votes  
#68 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ The Quinterra's Tale : บันทึกลับ..ควินท์เทอร่า

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ก.ย. 55
นิยายเรื่อง The Quinterra’s Tale ของคุณเหม่งจ๋าย เป็นแนวแฟนตาซีที่กล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างผู้กล้าทั้ง 4 จากโลกแห่งเวทมนต์กับปีศาจแห่งความมืดที่ขยายอำนาจของตนเองเพื่อเข้าครองโลกเวทมนตร์ซึ่งเป็นไปตามตำนานเรื่องเล่า Quinterra นิยายเรื่องนี้ดำเนินมา 38 ตอน รวมกับบทนำและตอนพิเศษอีกสองตอนเป็น 41 ตอน นิยายเรื่องนี้เป็นแนวแฟนตาซีการใช้เวทมนตร์ต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม ของผู้กล้าทั้งสี่ที่ได้รับเลือกจากสัตว์เทพได้แก่ อาเมทิสต์ ริชาร์ด แองเจล่า คริสโตเฟอร์ รวมถึงเจ้าหญิงลูน่าแห่งโลกเวทย์มนตร์และอาเธมิสองครักษ์ของเจ้าหญิงลูน่าซึ่งรวมเป็น 6 คน (และอาจรวมถึงเชลเลอร์เป็นเจ็ดคน) เพื่อต่อสู้กับปีศาจแห่งความมืดมิดที่ต้องการเข้ายึดครองโลกแห่งเวทมนตร์ เหล่าผู้กล้าทั้งหกต้องออกเดินทางเพื่อค้นหาสัตว์เทพเพื่อที่ต่อสู้กับปีศาจแห่งความมืดมิด ในระหว่างการเดินทางผู้กล้าต้องเผชิญกับอุปสรรคจากลูกน้องของปีศาจแห่งความมืดที่คอยขัดขวางไม่ให้ผู้กล้ารวมกันเพื่อที่จะไปปราบปีศาจแห่งความมืดมิดได้ แม้ในการเดินทางของผู้กล้าต้องพบกับอุปสรรค์จำนวนมาก แต่ด้วยหน้าที่รับผิดชอบต่อโลกแห่งเวทมนตร์ทำให้ผู้กล้าทั้งหกต้องเดินหน้าที่จะหาทางกำจัดปีศาจแห่งความมืดมิดที่จะเข้ายึดครองโลกแห่งเวทมนตร์ให้ได้ การดำเนินเรื่องจนถึงปัจจุบันจึงเป็นไปด้วยการต่อสู้ระหว่างผู้กล้ากับลูกสมุนของปีศาจแห่งความมืดมิด ความรักความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความรักหนุ่มสาว มิตรภาพระหว่างเพื่อน และหน้าที่ความกล้าหาญเสียสละเพื่อที่จะปกป้องบ้านเมืองของตนเองให้รอดพ้นจากหายนะ

ผู้เขียนวางโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อน แต่สามารถดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามอ่านนิยาย โดยที่ผู้เขียนวางโครงเรื่องหลักเป็นดำเนินเรื่องการรวบรวมเหล่าผู้กล้าเพื่อที่จะต่อสู้กับปีศาจแห่งความมืดมิด และมีโครงเรื่องรองที่เป็นการให้ภูมิหลังความเป็นมาของตัวละครแต่ละตัวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาสอดแทรกและรับกับโครงเรื่องหลักทำให้การดำเนินเรื่องเป็นไปตามลำดับและสร้างความชัดเจนของตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ การเข้ามาแทรกของโครงเรื่องรองก็ไม่ได้ทำให้การดำเนินเรื่องหลักช้าลงและยังถือเป็นจุดเด่นของงานเขียนเรื่องนี้ด้วย ในที่นี้ผู้วิจารณ์มีข้อแนะนำว่าส่วนที่ผู้เขียนแยกเป็นตอนเฉพาะเพื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวไวท์เป็นตอนพิเศษนั้น ผู้เขียนสามารถที่จะนำตอนนี้ไปเขียนรวมเป็นเรื่องเดียวกับนิยายได้โดยแทรกเป็นเรื่องที่อธิบายถึงภูมิหลังของอเมทิสต์ ไวท์ เพราะดูเหมือนว่าผู้เขียนต้องการให้ตัวละครตัวนี้เป็นตัวนำเรื่อง ซึ่งการที่จะให้ความสำคัญและอธิบายตัวละครที่เป็นตัวนำเรื่องมากกว่าตัวอื่นจึงเป็นสิ่งที่สามารถจะทำได้

จุดเด่นของผู้เขียนอีกประการหนึ่งคือการเขียนบรรยายลักษณะ บุคลิก ท่าทาง นิสัย การแต่งกายรวมถึงอาวุธของตัวละครแต่ละตัวได้ละเอียดและมีความโดดเด่นชัดเจน เมื่อรวมภูมิหลังของตัวละครที่ผู้เขียนได้วางพื้นฐานมาแล้ว ทำให้ผู้อ่านสามารถที่จะเข้าใจและจดจำตัวละครแต่ละตัวได้โดยไม่สับสนแม้ว่าจะมีตัวละครที่เป็นตัวเดินเรื่องถึง 6 ตัว แม้ว่าในการเขียนบรรยายตัวละครของผู้เขียนในหลายๆ ครั้งไม่ได้กล่าวถึงชื่อตัวละคร แต่ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ว่าผู้เขียนกล่าวถึงตัวละครตัวใดได้

แม้ว่าผู้เขียนจะเชื่อมโครงเรื่องหลักเข้ากับโครงเรื่องรองได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีประเด็นที่ผู้เขียนควรระวัง เช่น ในขณะที่กล่าวถึงเจ้าหญิงลูน่าทำพิธีเพิ่มพลังให้ลูกแก้ว ก็บรรยายถึงคริสโตเฟอร์ถูกดอพแพลนเกอร์ลอบทำลายและจับตัวไป และดอพแพลงเกอร์ได้ปลอมตัวมาเป็นคริสโตเฟอร์ไปพร้อมกันด้วย แต่หลังจากนั้นผู้เขียนให้คริสโตเฟอร์ตัวจริงกลับเข้ามาช่วยเจ้าหญิงลูน่าได้ทันเพื่อที่จะประกอบพิธีเพิ่มพลังให้ลูกแก้วแล้วผู้เขียนกลับไม่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับ คริสโตเฟอร์ว่าทำไมถูกลอบทำร้ายและถูกจับตัวไป และที่สำคัญคริสโตเฟอร์สามารถที่จะหนีออกมาได้อย่างไร หรือในเหตุการณ์ตอนที่ เพอริดอตพี่สาวของอาเมทิสต์ที่เป็นห่วงน้องสาวมากจนต้องออกเดินทางตามหาน้องสาวที่เมืองไชน์นิ่งสตาร์ เมื่อสองพี่น้องได้พบกันและเพอริดอตได้ทราบว่าน้องสาวตนสบายดี แต่ต่อจากนั้นผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงเพอริดอตอีกเลยว่าเป็นอย่างไร ผู้วิจารณ์เห็นว่าแม้ว่าจะเป็นประเด็นเล็กน้อย แต่ก็ทำให้การดำเนินเรื่องขาดความเป็นเหตุเป็นผลและความต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับการเน้นให้เห็นถึงพัฒนาพลังเวทของเหล่าผู้กล้า ซึ่งผู้เขียนได้เริ่มที่มีการกล่าวถึงไว้บ้างแล้ว ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากผู้เขียนเน้นถึงประเด็นนี้มากขึ้นในช่วงหลังของนิยายจะทำให้นิยายมีความสนุกและน่าติดตามเป็นอย่างมาก

ผู้วิจารณ์ยังมีข้อสงสัยในประเด็นที่เกี่ยวกับสัตว์เทพ เนื่องจากผู้เขียนให้ความสำคัญกับสัตว์เทพทั้งสี่ในฐานะที่เป็นผู้เลือกผู้กล้าทั้งสี่คือ อาเมทิสต์ ริชาร์ต แองเจลล่า และคริสโตเฟอร์ และยังให้ความสำคัญกับสัตว์เทพไว้ในบทนำของนิยายเรื่องนี้ จึงทำให้ผู้อ่านอยากติดตามว่าสัตว์เทพทั้งสี่ว่าจะมีความสำคัญและบทบาทต่อนิยายเรื่องนี้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการเลือกผู้กล้าทั้งสี่ของสัตว์เทพที่ผู้เขียนไม่ได้บรรยายหรือบอกกล่าวว่าทำไมสัตว์เทพจึงเลือกคนเหล่านี้เป็นผู้กล้า และผู้เขียนยังให้ผู้กล้าทั้งสี่ต้องตามหาสัตว์เทพ ผู้วิจารณ์เห็นว่าบทบาทของสัตว์เทพในนิยายเรื่องนี้ดูจะเป็นเพียงผู้ติดตามผู้กล้า ซึ่งเหมือนกับการ์ตูนในหลายๆเรื่องที่มีสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นผู้ติดตามให้ความช่วยเหลือผู้กล้าเสียมากกว่า ประเด็นของสัตว์เทพทั้งสี่และผู้กล้าทั้งสี่ยังเป็นประเด็นที่ผู้เขียนยังไม่ให้ความกระจ่างมากนัก และยังมีประเด็นที่เจ้าหญิงลูน่ากับอาเมทิสต์ที่มีหน้าตาที่เหมือนกันซึ่งผู้เขียนได้อธิบายว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตำนานควินเทอร์ร่า แต่ยังไม่ได้อธิบายเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่กระจ่างขึ้น (ผู้เขียนอาจจะเฉลยในตอนต่อจากที่ผู้วิจารณ์ได้อ่าน แต่ผู้วิจารณ์ขอตั้งเป็นประเด็นไว้ก่อน) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของภูมิหลังของคริสโตเฟอร์กับอเธมิสซึ่งผู้เขียนยังไม่ได้ให้ความกระจ่างนัก จึงต่างจากตังละครตัวอื่นที่ผู้เขียนอธิบายภูมิหลังที่มาไว้อย่างกระจ่างแล้ว (ผู้เขียนอาจะเขียนถึงในตอนต่อๆไป) ซึ่งหากทราบถึงภูมิหลังของทั้งสองคนอย่างชัดเจนจะทำให้เข้าใจตัวละครสองตัวนี้เพิ่มมากขึ้น

ผู้เขียนควรระวังในการใช้คำเช่น “ในอีกด้านเดียวกัน” เป็นคำที่ผู้เขียนใช้กล่าวถึงการที่มีเหตุการณ์สองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยผู้เขียนเล่าเหตุการณ์หนึ่งก่อนแล้วเล่าอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันที่หลัง ซึ่งเมื่ออ่านแล้วเกิดความสับสน เพราะคำนี้มีความขัดแย้งในตัว “อีกด้าน” ซึ่งหมายถึงคนละด้าน กับ “เดียวกัน” ซึ่งหมายถึงเหมือนกัน ผู้เขียนควรจะใช้ว่า “ในอีกด้านหนึ่ง” หรือ “ขณะเดียวกัน” มากกว่าจะให้ความหมายที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการเรียงประโยคที่ผิดทำให้การสื่อความหมายผิดได้ เช่น ตอนที่เพอริดอตพี่สาวของอาเมทิสต์เข้าไปหาพ่อแม่ที่ห้องผู้เขียนบรรยายว่า “เสียงเคาะประตูตามด้วยเสียงเปิดประตูตามมารยาท” ซึ่งประโยคที่ถูกต้องควรเป็น “เสียงเคาะประตูตามมารยาทตามด้วยเสียงเปิดประตู” และตอนที่พี่น้องตระกูลไวท์กล่าวถึงเมืองเอบอนน์เซว่า “หากแต่บรรยากาศของผู้คนในเมืองไม่ได้ร้อนตามอากาศเลยแม้แต่นิดเดียว” ควรจะเป็น “แม้บรรยากาศในเมืองจะร้อน แต่วิถีชีวิตผู้คนในเมืองไม่ได้เร่งร้อนตามอากาศเลยแม้แต่นิดเดียว” การที่ผู้เขียนใส่เครื่องหมาย ( ) ในบทสนทนาบางบทของจอมมาร ผู้วิจารณ์ไม่เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการแสดงความหมายอะไรที่เป็นพิเศษหรือไม่

เนื่องจากนิยายเรื่องนี้มีตัวละครทั้งที่เป็น พระราชวงศ์ ขุนนาง พ่อค้า ชาวบ้าน ผู้เขียนจึงใช้ระดับภาษาที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม แต่ในบ้างครั้งผู้เขียนใช้ระดับภาษาผิดเช่น การที่ใช้คำราชาศัพท์กับเจ้าเมืองซึ่งเป็นขุนนาง หรือผู้เขียนใช้สรรพนามเรียกองค์หญิงลูน่าหรือพระมารดาของเจ้าหญิงลูน่าว่า “เธอ” ซึ่งควรจะใช้ “พระองค์” หรือ “พระนาง” แทน และในช่วงบทท้ายๆที่เขียนผู้เขียนใช้คำทัพศัพท์ภาษาอังกฤษในการบรรยายเป็นจำนวนมาก เช่น ลิมิต ซึ่งควรจะใช้คำว่า ขีดจำกัดหรือข้อจำกัด และยังมีคำว่า บาร์เรอร์ ที่ผู้เขียนใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งน่าจะมาจากคำว่า barrier แปลว่าสิ่งกีดขวางซึ่งน่าจะเขียนว่า บาร์ริเออร์มากกว่า คำผิดนั้นเนื่องจากผู้เขียนได้รีไรท์เรื่องนี้ใหม่จึงมีคำที่พิมพ์ผิดน้อยมากแต่มีคำที่ผู้เขียนน่าจะเขียนผิดซึ่งผู้วิจารณ์ได้รวบรวมไว้ องค์รักษ์ คำที่ถูกคือ องครักษ์ ทรมาณ คำที่ถูกคือ ทรมาน ปราณี คำที่ถูกคือ ปรานี ล๊อค คำที่ถูก ล็อก กังวาฬ คำที่ถูก กังวาล ตรีศูร คำที่ถูก ตรีศูล

ผู้วิจารณ์ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนแม้ว่าจะมีภาระหน้าที่ทางด้านการเรียนที่หนัก แต่อยากให้เขียนนิยายเรื่องให้นี้ให้จบ เพราะว่านิยายเรื่องนี้มีทัศนคติที่ดีในหลายๆด้าน ทั้งด้านความสามัคคี การเสียสละ ความกล้าหาญ ภาระหน้าที่รับผิดชอบ ที่ตัวละครพร้อมใจที่จะร่วมกันต่อต้านความชั่วร้ายทีเข้ามาครอบงำเพื่อรักษาคามถูกต้องความดีงามไว้ ความรักความสัมพันธ์ทั้งภายในครอบครัว เพื่อน และแบบหนุ่มสาว ซึ่งเป็นมุมมองที่เป็นเชิงบวก เมื่ออ่านแล้วได้รับความเพลิดเพลินและให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตได้ดีอีกด้วย
     
 
ใครแต่ง : อรภัสสร
9 ก.พ. 56
80 %
18 Votes  
#69 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ แสนดีที่รัก

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ม.ค. 56

แสนดีที่รัก เป็นนิยายแนวซึ้งกินใจ ผลงานของ อรภัสสร มีทั้งสิ้น 25 ตอนรวมบทส่งท้าย นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่างนีรดาหรือไนซ์เภสัชกรสาวแสนดีกับแทนไทวิศวกรและนักธุรกิจหนุ่มเจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์ เรื่องเริ่มต้นด้วยความไม่ชอบหน้ากันของนีรดากับแทนไท แต่มีเหตุให้นีรดาต้องมาเป็นติวเตอร์ให้ทัชมนน้องสาวคนเดียวของแทนไท จนเธอต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านร่วมกับเขาเป็นเวลานานหลายเดือน ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้จากความไม่ชอบกลายเป็นความรักและความผูกพันกันในที่สุด แต่เรื่องราวความรักของคนทั้งคู่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีบททดสอบความรักในหลากหลายรูปแบบที่ทั้งสองคนจะต้องผ่านพ้นไปให้ได้

บทนำของเรื่องนับเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจประการหนึ่ง เนื่องจาก อรภัสสร เปิดเรื่องด้วยการบรรยายความคิดถึงคนรักที่ต้องจากกันของตัวละครชายตัวหนึ่งและตัวละครหญิงตัวหนึ่ง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ เวลาในการรอคอยของตัวละครทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่คนรักของตัวละครชายหายไป 48 วัน 3 ชั่วโมง กับ 37 นาที แต่ตัวละครหญิงกลับเพิ่งจากคนรักมาเพียง 26 วัน 12 ชั่วโมง กับ 19 นาที การเปิดเรื่องเพียงเท่านี้ก่อให้เกิดคำถามในใจผู้อ่านหลายๆ ประการ อาทิ ตัวละครทั้งสองเป็นใคร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีความสำคัญต่อเรื่องอย่างไร ตัวละครทั้งสองเป็นคนที่อีกฝ่ายกำลังนึกถึงอยู่หรือไม่ เหตุใดเวลาที่จากกันจึงต่างกันมากขนาดนี้ ตัวละครทั้งสองต้องจากกันด้วยสาเหตุใด และเรื่องราวความรักของทั้งสองจะลงเอยเช่นไร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในใจผู้อ่านเหล่านี้ชวนให้ผู้อ่านต้องอ่านเรื่องนี้ต่อไปเพื่อแสวงหาคำตอบและคลี่คลายปัญหาที่คั่งค้างในใจเหล่านี้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบทนำได้กลับมากล่าวถึงอีกครั้งเป็นฉากเริ่มต้นของนิยายตอนที่ 22 และ 23 ตามลำดับ สำหรับคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจผู้อ่านตั้งแต่บทนำนั้น ผู้เขียนค่อยๆ คลี่คลายข้อสงสัยต่างเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน

หากพิจารณาเนื้อเรื่องโดยทั่วไปพบว่า นิยายเรื่องนี้ไม่ต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ ในแนวนี้เท่าใด เพราะเปิดเรื่องให้นางเอกและพระเอกมีเหตุให้มีเรื่องขัดเคืองใจและไม่ชอบหน้าซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมีโอกาสได้ใกล้ชิดกันและได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันมากขึ้น จากความเกลียดก็กลายเป็นความผูกพันและพัฒนาไปเป็นความรักในที่สุด แต่ อรภัสสร สร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องโดยการสร้างบททดสอบความรักให้คนทั้งคู่ต้องฝ่าฟันในหลายลักษณะ ทั้งในรูปของอดีตคนรัก เช่น วายุ ผู้ที่นีรดาเคยตกหลุมรักก่อนที่จะกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันในปัจจุบัน คู่แข่งด้านความรักในปัจจุบันที่นีรดาต้องแข่งขันกับทั้งพลอยไพลินและพิมผกา หญิงสาวที่มาหลงรักแทนไท ขณะที่แทนไทกลับมีภัทรเพื่อนสนิทที่เป็นคู่แข่งทางด้านความรัก นอกจากนี้ยังมีปมจากอดีตทั้งของแทนไท ที่เห็นตัวอย่างของพลวัตร ลูกพี่ลูกน้องที่เขารักประดุจพี่ชายแท้ๆ ที่ความผิดหวังในความรักทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย จนเป็นเหตุให้แทนไทตั้งใจว่าจะไม่มีความให้รักกับหญิงสาวคนใด เพราะกลัวความผิดหวัง และเรื่องของพลวัตรนี้ยังก็ส่งผลต่อความเชื่อใจที่แทนไทมีต่อนีรดาด้วย จนเป็นเหตุให้นีรดายอมถอนตัวออกจากเข้าแข่งขันในเกมความรักครั้งนี้ บททดสอบที่ค่อยๆ เพิ่มเข้ามาเหล่านี้ส่งผลต่อการพัฒนาปมปัญหาของเรื่องให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่เรื่องจะคลี่คลายลงในตอนจบ ขณะเดียวกันก็ทำเรื่องราวเข้มข้น ทวีความน่าสนใจ และชวนให้ผู้อ่านติดตามบทสรุปของความรักของคนทั้งคู่ว่าจะลงเอยเช่นไร

จุดเด่นประการต่อไป คือ บทบรรยายและบทสนทนา ต้องยอมรับว่าในนิยายเรื่องนี้ต่างจากนิยายส่วนใหญ่ที่อยู่ในเด็กดี กล่าวคือ นิยายเรื่องนี้ไม่มีการลงภาพอิมเมจของตัวละครไว้ แต่ อรภัสสร สามารถทำให้ผู้อ่านจินตนาการตัวละครได้จากบทบรรยายที่อธิบายรูปร่างหน้าตาและลักษณะนิสัยของตัวละครไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนีรดากับแทนไท นอกจากนี้ ผู้เขียนยังให้ความสำคัญกับการบรรยายความรู้สึกนึกคิดและความรู้สึกภายในของตัวละครด้วย เนื่องจากเนื้อเรื่องมากกว่าครึ่งเป็นการอธิบายโลกภายในของตัวละคร บทสนทนานั้น อรภัสสร สามารถเขียนเพื่อช่วยเสริมความสมจริงให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี จนทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าตัวละครเหล่านี้ออกโลดเล่นอยู่จริงในโลกแห่งจินตนาการได้ อีกทั้ง อรภัสสร ยังให้ความสำคัญกับความถูกต้องในการสะกดคำเป็นอย่างมาก จึงแทบจะไม่พบคำผิดในเรื่องเลย ซึ่งเท่าที่พบมีคำที่สะกดผิดเพียงแค่ 3 คำเท่านั้น คือ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ผลลัพธ์ เขียนเป็น ผลลัพท์ และ แว้บ เขียนเป็น แว๊บ และมีการใช้คำผิดความหมายเพียงแห่งเดียว คือ ย้ายความสนใจ ควรจะเขียนว่า หันเหความสนใจ หรือ เบี่ยงเบนความสนใจ มากกว่า

ความโดดเด่นที่พบประการสุดท้ายคือ อรภัสสร ได้สอดแทรกแง่มุมและแง่คิดดีๆ ให้กับผู้อ่าน โดยแฝงมากับคำพูด วิธีคิด และการดำเนินชีวิตของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้มแข็งและการมีทัศนคติเชิงบวกในการดำเนินชีวิต และมุมมองความรักในแง่มุมต่างๆ ของนีรดา และตัวละครอื่นๆ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าแม้ในความเจ็บปวดที่เกิดจากความผิดหวังในความรัก ก็ยังมีแง่งามแฝงอยู่หากเราไม่ติดยึดอยู่แต่เพียงความเจ็บปวดและผิดหวังเท่านั้น นอกจากนี้ การที่ อรภัสสร เน้นย้ำเกี่ยวกับบทเพลง Flying Without Wings อยู่โดยตลอดทั้งเรื่อง บทเพลงนี้นับว่ามีความสำคัญกับเรื่องเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นเพลงที่นรีดาชื่นชอบมากเป็นพิเศษแล้ว แต่ความหมายดีๆ ในเนื้อเพลงยังเป็นทั้งสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมใจผู้ที่มีความทุกข์จากความรักในชีวิตอย่างทัชมน ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้แทนไทเข้มแข็งขึ้น จนกล้าที่จะยอมรับในความรักที่ตนมีต่อนีรดา และท้ายที่สุดยังใช้เพลงนี้บอกความรู้สึกของเขาให้นีรดารับทราบด้วย

อย่างไรก็ดี นิยายเรื่องนี้ยังข้อด้อยที่พบมี 2 ประเด็น ประการแรก คือ อรภัสสร มักใช้เหตุบังเอิญกับการสร้างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในเรื่องบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงต้นที่ให้แทนไทและนีรดาบังเอิญพบกันบ่อยเกินไป จนยากที่จะเชื่อได้ว่าในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน คนแปลกหน้าสองคนจะมีโอกาสบังเอิญมาเจอกันบ่อยเพียงนี้เชียวหรือ ทั้งๆ ที่ตัวละครทั้งสองไม่ได้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือมีความเชื่อมโยงทางอาชีพที่มีเหตุให้พบกันได้บ่อยๆ เช่นนี้ นอกจากนี้ ในช่วงท้ายเรื่อง อรภัสสร ก็ใช้เหตุบังเอิญในการสร้างความหวั่นไหวและความเจ็บช้ำให้กับนีรดาซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้นีรดาบังเอิญได้ยินบทสนทนาเพียงส่วนหนึ่งของแทนไทที่กล่าวถึงตนเอง หรือให้เห็นฉากความสนิทสนมระหว่างแทนไทกับพิมผกา

ประการที่สอง คือ บางเหตุการณ์ยังมีความไม่สมจริงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่แทนไทจ้าง วิชัย นักสืบให้สืบประวัติของนีรดาให้เขา ทั้งๆ ที่เขาทราบแต่เพียงชื่อของเธอเท่านั้น ซึ่งข้อมูลเพียงเท่านั้นไม่น่าเพียงพอให้สืบประวัติของเธอได้ และหากนักสืบคนนี้เก่งถึงเพียงนี้ การสืบหานีรดาที่หายตัวไปในตอนท้ายเรื่องก็น่าจะหาเจอได้ไม่ยากนัก และเหตุการณ์ในตอนที่รถของนีรดาสตาร์ทไม่ติด แต่นีรดายังโทรขอความช่วยเหลือจากวายุ ซึ่งในตอนต่อมา อรภัสสร ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าวายุอาศัยและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ จะมากรุงเทพฯ เป็นครั้งคราวเท่านั้น และในขณะที่นีรดาต้องการความช่วยเหลือ วายุก็อยู่เชียใหม่ด้วย จึงคิดว่าหากนีรดาต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพฯ จริงๆ น่าจะติดต่อจารุมนเพื่อนสนิทที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า

แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเป็นนิยายความรักที่ดำเนินเรื่องส่วนใหญ่อยู่บนความเจ้าแง่แสนงอนระหว่างพระเอกกับนางเอง แต่แง่คิดและมุมมองในการดำเนินชีวิตที่ผู้เขียนบรรจงสอดแทรกไว้ในเรื่องก็ช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีแง่งามในความคิดที่ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้

------------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  กับดักรักสองโลก
28 ม.ค. 56
80 %
2 Votes  
#70 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
วิจารณ์ กับดักรักสองโลก

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 19 ม.ค. 56
นวนิยายแนวซึ้งกินใจของ มาโซคิส เรื่อง กับดักรักสองโลก เป็นนิยายขนาด 21 ตอนจบ นำเสนอเรื่องราวของ
นีลาน่า เงือกพรายสาวแสนสวยลูกสาวคนสุดท้องของไตรตรอน จ้าวสมุทร ที่โชคชะตานำพาให้เธอต้องจากโลกบาดาลมายังโลกมนุษย์ จนมีเหตุให้ต้องมาอาศัยอยู่กับกันยวัฒน์ ชาวหนุ่มนักดนตรีผู้กำลังผิดหวังในความรัก ความใกล้ชิดและความช่วยเหลือต่างๆ ที่ชายหนุ่มต้องร่วมปิดบังตัวตนที่แท้จริงของหญิงสาวต่างเผ่าพันธุ์ ผู้ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ก่อให้เกิดความรักและผูกพันระหว่างกันขึ้น แต่ความแตกต่างของชาติพันธุ์ทำให้เธอต้องกลับไปยังโลกที่จากมา ขณะที่เขาตระหนักว่าไม่อาจปล่อยให้เธอจากไปได้ เรื่องราวความรักของทั้งคู่จะลงเอยเช่นไรก็ต้องติดตามต่อไป


กับดักรักสองโลก มิใช่นวนิยายแนวซึ้งกินใจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ มาโซคิส ได้สร้างสีสันและความแปลกใหม่ให้กับเรื่องด้วยการผสานเข้ากับแนวแฟนตาซี โดยเฉพาะการสร้างเงือกพราย ตัวละครต่างเผ่าพันธุ์ขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโลกใหม่ขึ้นมาอีกใบหนึ่งคือโลกบาดาล และความรักต่างเผ่าพันธุ์นี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างเรื่องราวความรักที่ลึกซึ้งและน่าประทับใจขึ้น

แม้ว่าเรื่องนี้จะมิใช่นิยายขนาดยาว แต่เนื้อเรื่องกลับมีความซับซ้อนและน่าติดตาม เนื่องจาก มาโซคิส มิได้กำหนดให้เรื่องมีแต่เฉพาะโครงเรื่องหลัก (main plot) ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักระหว่างนีลาน่ากับกันยวัฒน์เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ที่น่าสนใจไม่แพ้กันสอดแทรกไว้โดยตลอดเรื่อง ซึ่งสร้างมิติและความน่าติดดามให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความรักระหว่างกันยวัฒน์กับพรีมาดา (คนรักเก่า) หรือ ความรักสามเส้าระหว่างนีลาน่า ไฮโรเทน (พรายหนุ่มที่หลงรักนีลาน่า) และ อียาน่า (พี่สาวของนีลาน่าที่หลงรักไฮโรเทน) รวมทั้งชะตากรรมของนีลาน่าที่ถูกกำหนดมาแต่กำเนิด โครงเรื่องย่อยๆ เหล่านี้สอดผสานได้เป็นอย่างดีกับโครงเรื่องหลักที่วางแผนไว้ ซึ่งช่วยสร้างให้เกิดปมปัญหาในเรื่องขึ้นเป็นระยะๆ และในบางครั้งยังเป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้ปมปัญหาที่สร้างขึ้นไว้ทวีความขมึงเกลียวมากขึ้น จนนำไปสู่จุดสูงสุดของเรื่อง (Climax) ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่จุดจบของโครงเรื่องหลัก นั่นคือความรักระหว่างนีลาน่ากับกันยวัฒน์

นอกจากนี้ นิยายเรื่องนี้ยังมีความแปลกจากนวนิยายส่วนใหญ่ที่นำเสนอไว้ในเว็บไซต์เด็กดีกล่าวคือ ไม่มีชื่อบทและไม่มีการให้ภาพอิมเมจของตัวละคร ยกเว้นภาพของเงือกพรายสาว การที่ มาโซคิส ไม่เห็นความสำคัญของการให้อิมเมจตัวละครที่ชัดเจน นับว่าเปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตนาตัวละครในเรื่องแต่ละตัวได้อย่างเสรี โดยอาศัยบทบรรยายรูปร่างหน้าตาและบุคลิกลักษณะต่างๆ ที่ให้ไว้ในเรื่องเป็นสำคัญ ในแง่นี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า มาโซคิส ยังบรรยายภาพของตัวละครไม่ละเอียดมากพอที่จะเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านสามารถสร้างจิตนาการตามไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครรองไม่ว่าจะเป็น ไฮโรเทน ไตรตรอน อียาน่า แฟรงค์ สมชาย อนิรุธ และนาจา จึงเห็นว่า มาโซคิส ควรที่จะเพิ่มรายละเอียดในการบรรยายถึงตัวละครเหล่านี้เช่นเดียวกับที่บรรยายตัวละครเอก เพื่อให้ผู้อ่านสามารถสร้างจิตนาการถึงตัวละครเหล่านั้นได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ขึ้น

ในแง่การเขียนพบว่า มาโซคิส มีความสามารถในการเขียนบทบรรยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายความรู้สึกภายในของตัวละคร ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ร่วมกับตัวละคร ทั้งความรัก ความสุข ความเศร้า ความเหงา ความโกรธ และความอิจฉาริษยาในใจ ขณะเดียวกันบทสนทนาที่ปรากฏก็ช่วยเสริมและเติมเต็มให้ผู้อ่านรู้จักตัวตนและอุปนิสัยของตัวละครในเรื่องได้ชัดเจนมากขึ้น แต่น่าเสียดายว่ามีคำผิดจำนวนมากพอสมควร จึงลดทอนความถูกต้องและสมบูรณ์ของเรื่องอย่างน่าเสียดาย คำผิดที่พบ เช่น เกล็ด (เกล็ดปลา) เขียนเป็น เกร็ด (เกร็ดความรู้) กฎ เขียนเป็น กฏ เวท เขียนเป็น เวทย์ ไข่มุก เขียนเป็น ไข่มุข รำไร เขียนเป็น ร่ำไร คับข้องใจ เขียนเป็น ขับข้องใจ ม้าย เขียนเป็น ม๊าย แว้บ เขียนเป็น แว๊บ ภารกิจ เขียนเป็น ภาระกิจ เผ่าพันธุ์ เขียนเป็น เผ่าพันธ์ เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย ล็อบบี้ เขียนเป็น ล๊อบบี้ ล่วง เขียนเป็น ล้วง สาธารณชน เขียนเป็น สาธารณะชน กิจจะลักษณะ เขียนเป็น กิจลักษณะ ประณาม เขียนเป็น ประนาม สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ รีโมท เขียนเป็น รีโมทต์ หมุนติ้ว เขียนเป็น หมุนติว เลศนัย เขียนเป็น เลสนัย ล็อก เขียนเป็น ล๊อก เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ ขุ่นข้อง เขียนเป็น ขุ่นคล่อง งามระหง เขียนเป็น งามระหงส์ ประจาน เขียนเป็น ประจาร ขี้เหร่ เขียนเป็น ขี้เหล่ หา หรือ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ เฮ่ เขียนเป็น เห้ ปรบมือ หรือ ตบมือ เขียนเป็น ตรบมือ นอกจากนี้ บางครั้งยังมีการใช้คำขยายผิดด้วย เช่น ส่งสายตาหวาดหวั่นของบุคคลเบื้องหน้าไม่ลดราวาศอก (ลดราวาศอก หมายความว่า เพราลง ผ่อนปรนลง) ในที่นี้ควรใช้คำขยายว่า ไม่วางตา (หมายถึง ไม่ละสายตา) แทน หรือ ความรู้สึกสูญเสีย หดหู่ เศร้าหมองยังคงคละคลุ้งทั่วท้องสมุทร (คละคลุ้ง หมายถึง เหม็นฟุ้ง) จึงควรใช้คำว่า ปกคลุม (ปกคลุม หมายถึง แผ่คลุมอยู่) แทน และ ประโยคที่ว่า พรายเฒ่าชั่งใจถ่วงน้ำหนัก ใช้แค่ พรายเฒ่าชั่งใจ ก็พอ เพราะชั่งใจ หมายถึง คิดเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ อยู่แล้ว หรือ วลีที่ว่า กระเพาะดังเกรียวกราว (เกรียวกราว หมายถึง เสียงเอ็ดอึงพร้อมๆ กัน อื้อฉาวไปทั่ว เป็นที่โจษจัน และโดยปริยายหมายถึง รับรู้โดยทั่วกัน) ควรใช้ กระเพาะดังโครกคราก (โครงคราก หมายถึง เสียงอย่างท้องร้อง) แทน

ข้อด้อยที่ปรากฏในเรื่องอีกประการหนึ่ง คือ ความไม่สมเหตุสมผลในบางเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ มาโซคิส ระบุถึงเหตุผลประการสำคัญที่กันยวัฒน์ยังไม่สามารถแต่งงานกับพริมาดาได้ทั้งๆ ที่รักกันมานานแล้วก็คือ เขาไม่สามารถเก็บเงินให้ได้ถึง 5 ล้านบาทก่อนที่จะแต่งงานกันได้ แต่เมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จนจบแล้ว ผู้วิจารณ์กลับพบว่ากันยวัฒน์ไม่น่าจะมีปัญหาที่จะหาเงิน 5 ล้านมาเป็นค่าสินสอดไม่ได้ หากพิจารณาจากวิถีชีวิตของเขาแล้ว เขาน่าจะมีเงินมากกว่า 5 ล้านบาทเสียด้วยซ้ำ เพราะเขาอาศัยอยู่ในบ้านพักหลังหรูและขับรถคันหรู เมื่ออกหักก็หลบไปรักษาใจที่โรงแรมในประเทศแถบขั่วโลก ทั้งยังยอมจ่ายเงินมากถึง 10,000 ดอลลาร์เพื่อประมูลนีลาน่าอย่างไม่เสียดาย รวมถึงเช่าเหมาลำเรือประมงในประเทศแถบขั่วโลกเพื่อออกตามหานีลาน่าในตอนจบเรื่อง เหตุการณ์นี้จะสมเหตุสมผลมากขึ้น หาก มาโซคิส ควรต้องเพิ่มเงินสินสอดในครั้งนี้ให้สูงขึ้นกว่านี้ อาจเพิ่มเป็นมากกว่า 10 ล้านก็ได้ และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่สมเหตุสมผล คือการที่กันยวัฒน์ให้เหตุผลที่เขาจะต้องตัดใจจากพริมาดาจริงๆ เมื่อเธอหมั้นกับอนิรุธแล้ว คือ “การหมั้นหมายของหญิงสาวอันเป็นที่รักใกล้เข้ามาทุกที คงเหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนี้ เธอผู้นั้นจะตกเป็นของคนอื่นทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การหมั้นหมาย แต่สักขีพยานคงมีรับรู้ทั่วกันเกือบทั้งประเทศ” การให้เหตุผลในครั้งไม่จำเป็นต้องระบุว่าเธอเป็นของเขาทั้งนิตินัยและพฤตินัย เนื่องจากจะสร้างความกังขาให้กับผู้อ่านได้ เพราะในทางกฎหมาย การหมั้นหมายยังไม่นับว่าเป็นความสัมพันธ์กันในทางนิตินัย ขณะเดียวกันในเรื่องก็ไม่มีตอนใดที่ระบุหรือมีเหตุการณ์บ่งชี้ว่าคนทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในเชิงพฤตินัยแล้วด้วย ขณะเดียวกันการระบุว่าคนทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันในเชิงนิตินัยและพฤตินัยแล้วนั้น มักใช้กับการแต่งงานเป็นส่วนใหญ่ จึงเห็นว่าหาก มาโซคิส สร้างความสมเหตุสมผลให้กับทุกเหตุการณ์ที่สร้างขึ้นก็ช่วยให้นวนิยายเรื่องสมบูรณ์ขึ้น

------------------------
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12