ลำดับตอนที่ #5
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : การเรียน กิจกรรมของนักศึกษาปี 3
ชีวิตในคลินิก (การเรียน กิจกรรมของนักศึกษาปี 3)
เนื่องจากตัวพี่เพิ่งจบปี 2 โดยเนื้อหารายละเอียดของปี 3 บางส่วน พี่แมกซ์ พี่บัณฑิต จะมาเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่พี่ เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนแนะนำให้น้องๆอ่านกันค่ะ ^3^
เป็นพี่ปี 3 แล้วววว ปีนี้เราก็จะขึ้นคลินิกเต็มตัวแล้ว ได้ฝึกงานที่คลินิกนอกสถานที่ด้วย ซึ่งเราจะแยกย้ายเป็นกลุ่มๆสลับกันไปฝึกที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ปีนี้จะเป็นปีแห่งรายงานเลยก็ว่าได้ เพราะต้องเขียนแผนฝึกเป็นรายงานส่งอาจารย์แทบทุกวันเลย เวลาว่างส่วนใหญ่ของปี 3 มักจะหายไปอยู่ที่รายงานค่ะ ทำให้กิจกรรมมีน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมของคณะที่จัดร่วมกันทุกชั้นปี
ว่าแล้วก็มาดูวิชาเรียนกันนนนน
เทอม 1
1. หลักการฟื้นฟูสมรรถภาพการฟัง
รุ่นพี่เป็นรุ่นแรกเลยค่ะ ที่จะได้เรียนวิชานี้ในเทอม 1 หลักสูตรเก่าจะอยู่ในเทอม 2 แหละ เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับหลักการฟื้นฟูสมรรถภาพการฟังของผู้หูพิการ และวิธีการฝึกเด็กที่มีความพิการทางการได้ยิน แล้วก็จะได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องช่วยฟังด้วยค่ะ
2. หลักการประเมิน แก้ไข พัฒนาภาษา และการพูดในเด็กที่มีภาษา และการพูดล่าช้า
จะได้รู้ว่าสาเหตุที่เด็กพูดช้านั้นมาจากอะไร และเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้างค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กประเภทที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ดาวน์ซินโดรม ปัญญาอ่อน ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นต้นค่ะ
3. ปฏิบัติงานคลินิกการได้ยิน 1
ได้ขึ้นคลินิกปฏิบัติงานจริงๆกันแล้วสำหรับวิชานี้ แต่ก็ยังมีอาจารย์เป็นผู้ควบคุมอยู่ค่ะ เป็นวิชาของออดิโอ หรือการแก้ไขการได้ยินนั่นเอง ในการขึ้นคลินิกของออดิโอก็จะเป็นการฝึกปฏิบัติงานการตรวจวัดการได้ยิน ฝึกการซักประวัติ การบันทึกผล รายงานผลการตรวจ การดูแลเครื่องมือในการตรวจการได้ยิน โดยใช้ทฤษฎีจากวิชาหลักการของโสตสัมผัสวิทยาที่เราเรียนในเทอมที่แล้วมาใช้ด้วยค่ะ
4. ปฏิบัติงานคลินิกภาษา และการพูด 1
จะได้ขึ้นคลินิกอย่างจริงจังเหมือนกันค่ะ วิชานี้จะเป็นของสปีช หรือการแก้ไขการพูดค่ะ ในส่วนของการขึ้นคลินิกนี้เราก็ได้สังเกตการณ์การฝึกเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า และพูดไม่ชัด หรือเด็กทีมีความผิดปกติอื่นๆร่วมเช่น เด็กออทิสติก ปัญญาอ่อน เป็นต้น การเขียนแผนการฝึก การติดตาม และประเมินพัฒนาการการออกเสียง การใช้ภาษา และการพูดของเด็กที่มีความผิดปกติของการสื่อความหมาย โดยอยู่ในความดูแลของอาจารย์
*ก่อนจะจบเทอม 1 เราก็จะมีการเลือกเอกกันค่ะ อยากที่ทราบกันก็คือ จะมี 2 เอก ได้แก่ แก้ไขการพูด (สปีช) กับ แก้ไขการได้ยิน (ออดิโอ) ซึ่งจำนวนที่รับของแต่ละเอกในแต่ละปีส่วนใหญ่ก็จะมีจำนวนอย่างละเท่าๆกันค่ะ เลือกได้ตามใจชอบเลยไม่ต้องแย่งกันแต่อย่างใด สบายใจได้ค่ะ :)
เทอม 2 เราก็จะแยกกันเรียนตามเอกที่เราเลือกไว้ในเทอมที่แล้วค่ะ แต่ก็ยังมีบางวิชาที่ยังเรียนรวมกันอยู่นะ
เอกแก้ไขการได้ยิน
1. การวัดการได้ยินแบบพิเศษ
หลักสูตรเก่าวิชานี้จะเรียนในปี 4 เทอม 2 ค่ะ โดยจะมีการตรวจวัดการได้ยินที่ใช้เทคนิคพิเศษ ได้แก่ SISI, Tone decay, ABLB, PI-PB และ Bekesyซึ่งเป็นการตรวจที่ไม่ค่อยพบในคลินิก แต่ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่น้องๆควรรู้ไว้ เพราะสามารถนำไปใช้ทำงานได้จริง ^^ นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือพิเศษทางโสตสัมผัสวิทยาเพิ่มเติม เพื่อตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง และการทำงานของประสาทหูชั้นในค่ะ
2. หลักการของเครื่องช่วยฟัง
วิชานี้หลักสูตรเดิมก็เรียนตอนปี 4 เทอม 2 เช่นกันค่ะ น้องๆก็จะได้เรียนเกี่ยวกับส่วนประกอบและหลักการขยายเสียงของเครื่องช่วยฟัง การพิจารณาเลือกเครื่องช่วยฟัง วิธีประเมินเครื่องช่วยฟัง และอีกมากมายเกี่ยวกับเครื่องช่วยฟัง (ขอบอกว่า บริษัทเครื่องช่วยฟังเยอะมาก แถมแต่ละบริษัทก็มีหลายยี่ห้อด้วยนะ จำค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ^^)
3. ปฏิบัติงานคลินิกการได้ยิน 2
เป็นการขึ้นคลินิกต่อเนื่องจากเทอมที่แล้วเลยค่ะ แต่จะแตกต่างจากปฏิบัติงานคลินิกการได้ยิน 1 ตรงที่อาจารย์จะให้ได้ตรวจคนไข้มากขึ้นในลักษณะที่หลากหลาย มีคนไข้ที่หลากหลายขึ้น ที่มีความผิดปกติต่างๆกันมากขึ้น เช่น คนประสาทหูเสีย คนที่การนำเสียงบกพร่องประมาณนี้ค่ะ
เอกแก้ไขการพูด
1. ปัญหาทางการเรียนรู้ และภาวะปัญญาอ่อน
ในหลักสูตรเก่าจะเรียนตอนปี 4 เทอม 1 ค่ะ โดยจะเรียนเกี่ยวกับสาเหตุ วิธีการแก้ไขฟื้นฟู พัฒนาการทางภาษาและการพูดของของผู้มีปัญหาทางการเรียนรู้ และเด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อน
2. ภาษา และการพูดในเด็กกลุ่มอาการออทิสติก
วิชานี้หลักสูตรเก่าพี่ๆเค้าจะเรียนกันในปี 4 เทอม 1 ค่ะ เนื้อหาที่เรียนก็มีลักษณะ สาเหตุ การวินิจฉัย การกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา และการพูด การค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวข้อง
3. ปฏิบัติงานคลินิกภาษา และการพูด 2,3
ก็จะได้ขึ้นคลินิกเหมือนในเทอมที่แล้วเช่นกันค่ะ มีตั้ง 2 ตัวแหนะ โดยในเทอมนี้เราจะได้ฝึกคนไข้เองแล้ว และคนไข้ที่เราตรวจก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น และอาจมีไปตรวจนอกสถานที่ด้วยค่ะ
*ปฏิบัติงานคลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพการฟัง
วิชาปฏิบัตินี้ไม่ว่าจะเป็นออดิโอหรือสปีชก็เรียนเหมือนกันค่ะ เพราะเป็นวิชาก้ำกึ่งของทั้ง 2 เอก เป็นการฝึกพูดของผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยฟัง ทำให้การได้ยินแตกต่างจากปกติ ซึ่งส่งผลให้ออกเสียงได้ไม่ชัด จึงต้องมีการฝึกพูดร่วมด้วยเช่นกัน โดยจะอยู่ในการควบคุมของอาจารย์ตอนเราขึ้นคลินิกค่ะ เนื้อหาหลักก็คือ ฝึกปฏิบัติการฝึกฟังในเด็กหูพิการ การเขียนแผนฝึก การติดตาม และประเมินพัฒนาการของการฟัง การออกเสียง การใช้ภาษา และการพูดของเด็กหูพิการค่ะ
ปี 3 ผ่านไปเรียบร้อยย
|
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น