ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายฯ

    ลำดับตอนที่ #6 : การเรียน กิจกรรมของนักศึกษาปี 4

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.23K
      5
      6 พ.ย. 58

    ชีวิตนักศึกษาปีสุดท้าย (การเรียน กิจกรรมของนักศึกษาปี 4)

    ปี 4 ปีสุดท้ายแล้ววว โดยในปีนี้ได้พี่นิคกับพี่น้ำฝนมาถ่ายทอดประสบการณ์ และเรื่องราวของแต่ละเอกค่ะ :)

    โดยบทความแรกจะเขียนโดยพี่นิค ซึ่งเรียนเอกแก้ไขการพูดค่ะ 
     
               ปีสี่ปีสุดท้ายท้ายที่สุด... เป็นปีที่พวกเราจะได้เรียนในสาขาวิชาเอกที่เราได้เลือกไว้อย่างเต็มตัว เป็นปีที่ค่อนข้างหนักอยู่เหมือนกัน ทั้งสอบ ทั้งรายงานเดี่ยว รายงานกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ มากมายให้เลือกสรร แต่พี่ๆทุกคนก็ผ่านพ้นกันมาได้ทุกคนนะ มันก็สนุกไปอีกแบบ (>0<) ในส่วนของวิชาเรียนปีนี้ก็จะมีบางวิชาที่เราจะได้เรียนร่วมกับเพื่อนๆที่เลือกวิชาเอกแก้ไขการได้ยิน สำหรับนักศึกษาที่เลือกวิชาเอกแก้ไขการพูด การฝึกปฏิบัติการทางคลีนิก น้องๆแต่ละคนก็จะต้องมีเคส(คนไข้)เป็นของตนเอง โดยจะมีอาจารย์ผู้ดูแลเราในแต่ละเทอมเป็นผู้มอบหมายเคสประจำให้แก่เรา ซึ่งในแต่ละคนก็จะได้ดูแลในเคสที่หลากหลาย อาทิเช่น เด็กพูดช้า เด็กพูดไม่ชัด เด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาทางด้านการเรียนรู้(เด็กLD) ฯลฯ โดยหน้าที่ของเราก็คือ ทำการประเมินภาษาและการพูดของเด็กคนนั้น วางวัตถุประสงค์ในการฝึกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งส่งแผนการฝึกและผลการฝึกให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูทุกครั้งทั้งก่อนฝึกและหลังฝึก จากนั้นเราก็จะทำการฝึกและนัดเด็กมาฝึกตามวันเวลาที่กำหนด และเมื่อสิ้นสุดเทอมเราก็จะต้องทำการสรุปเคสที่เราดูแลส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของเด็ก นอกจากนี้ในปีนี้เราจะเน้นในส่วนของการรับเคสคนไข้ใหม่ ก็คือ การที่เราได้จะต้องเริ่มทำตั้งแต่การซักประวัติคนไข้ ประเมินภาษาและการพูดของเด็กให้ครอบคลุม เพื่อนำไปสู่การวางแผนวัตถุประสงค์ในการฝึกและทำการฝึกในครั้งต่อๆไป รวมถึงสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในส่วนของภาคปฏิบัติน้องๆก็จะต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ที่ได้สั่งสมมาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กที่เราดูแลอยู่ น้องๆหลายคนอาจจะมองดูว่ามันยากจัง แต่ในระหว่างการฝึกนั้น น้องๆจะมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาได้ตลอดของการเรียนการสอน #อาจารย์ที่นี่ใจดี เป็นกันเอง สบายหายห่วง *0* สำหรับน้องๆที่ชอบออกนอกสถานที่อย่างพี่ 555+  ขอบอกเลยว่า..เราจะไม่ได้ทำการฝึกอยู่แต่ในโรงพยาบาลอย่างเดียวนะจ๊ะ  อาจารย์จะพาเราไปทำการประเมินภาษาและการพูด รวมถึงการฝึกนอกสถานที่ด้วย เช่น ฝึกพูดเด็กที่สถานสงเคราะห์ บ้านเด็กพิการ ออกสู่ชุมชน และดูงานตามโรงเรียนต่างๆ ฯลฯ #น่าสนุกใช่ไหมล่ะ ได้เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ฮิ้ววว~   เป็นไงบ้างน้องๆพอนึกภาพตามกันได้ไหม แม้ปี่สี่จะเป็นปีที่สูงที่สุด สนุกที่สุด หนักที่สุด เหนื่อยที่สุด งานเยอะที่สุด แต่เมื่อผ่านมันมาได้ก็ถือว่า เป็นปีที่พวกพี่ภูมิใจที่สุด    เช่นกัน...  สุดท้ายยินดีต้อนรับน้องๆทุกคนที่สนใจมาเป็นครอบครัวสื่อความหมายกับพวกเรานะจ๊ะ Good Luck ><


    และอีกหนึ่งบทความเขียนโดยพี่น้ำฝน ซึ่งเรียนเอกแก้ไขการได้ยินค่ะ

              สำหรับ น้องๆที่เลือกเรียนเอกแก้ไขการได้ยิน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า“audio” ในปี 4 ก็จะมีการเรียนควบคู่กันไปทั้งแบบทฤษฏี (เรียนเลกเชอร์นั่นเอง) และแบบปฏิบัติ ซึ่งเทอม 1 น้องๆ ก็จะเรียนในเรื่องการตรวจการได้ยินมากขึ้น จากพื้นฐานการลงปฏิบัติเมื่อตอนปี 3 ในเทอมนี้น้องๆจะได้เรียนเครื่องมือหลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและสนุกสนานมากก  โดยในการฝึกปฏิบัติของ audio อาจารย์จะพาเราไปฝึกหลายๆ โรงพยาบาล เพื่อที่เราจะได้ประสบการณ์ในการฝึกมากยิ่ง่ขึ้น  >.< น้องหลายคนอาจจะสงสัย เอ๊ะ เรียน audio ไม่เจอเด็กเลยหรอคะ? ต้องขอบอกว่า เจอค่ะ เจอเด็กทารกแรกเกิดซะด้วย อิอิ เพราะว่าในเทอมนี้ เราจะเรียนเรื่องการตรวจคัดกรองการได้ยินสำหรับเด็กทารกแรกเกิดด้วย น้องๆจะได้มีโอกาสถือเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจ ขึ้นไปตรวจตามหออภิบาลทารกแรกเกิด เราก็จะได้เห็นความน่ารักของเด็กทารกแรกเกิด ว้าวว ชักน่าสนุกแล้วใช่มั้ยล่ะจ๊ะ 555 
                 สำหรับเทอม 2 ในการขึ้นคลินิกพี่มีประสบการณ์เคยเจอกับคนไข้ที่มีการสูญเสียการได้ยินตั้งแต่เกิด คนไข้ใช้ภาษามือเป็นหลัก เวลาเราจะสื่อสารกับเขา เราสามารถนำภาษามือที่ได้เรียนมา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารกับคนไข้ด้วย ^_^ สำหรับการเรียนเอกแก้ไขการได้ยิน ยังมีวิชาอื่นๆ ที่ได้เรียนร่วมกับเพื่อนเอกแก้ไขการพูดด้วยนะ เรียนไปเรียนมา ก็เรียนจบซะแล้ววว กำลังสนุกเลย >.<น้องๆที่กำลังอ่านบทความที่พี่เขียนอาจจะมีความกังวลเพราะน้องจะต้องลงฝึกปฏิบัติ ต้องพบเจอคนไข้จริงๆ พี่ขอบอกว่า แรกๆพี่ก็กังวลเหมือนกัน แต่การเรียนและประสบการณ์จะช่วยให้เราเข้มแข็งในเรื่องพื้นฐานความรู้และการทำงานกับคนไข้มากขึ้น ที่สำคัญในการเรียนของเรา อาจารย์จะคอยดูแล และดูการทำงานของเราเป็นอย่างดี อาจารย์ใจดีมาก ^^ มีอะไรก็สามารถปรึกษาอาจารย์ได้เลย ไม่ต้องกลัว  ปี 4 เป็นการเรียนที่สนุกมากนะ เพราะได้เรียนเอกที่เราชอบ และการเรียนของเอกแก้ไขการได้ยินนั้นใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มีลงปฏิบัติคลินิกทั้งการตรวจการได้ยิน และคลินิกเครื่องช่วยฟัง ซึ่งสายอาชีพของเรายังขาดแคลนและยังต้องการนักเวชศาสตร์สื่อความหมายอีกมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อน้องๆได้อ่านบทความของพี่แล้ว ก็ลองทบทวนตัวเอง ว่าเราชอบอะไร อยากทำงานแบบไหน สำหรับพี่ พี่ว่าการได้เรียน การได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และงานของภาควิชาเราก็เป็นงานที่ช่วยเหลือผู้ป่วย ช่วยเหลือสังคมด้วยนะ ถ้าน้องๆชอบทางเลือกนี้ ก็ลองเลือกคณะนี้เป็นตัวเลือกหนึ่งในการเข้ามหาวิทยาลัยนะคะ ขอให้น้องๆ โชคดีค่ะ ^^
     

    หลังจากได้อ่านประสบการณ์ของพี่ๆทั้งสองคนกันไปแล้ว เราก็มาดูวิชาเรียนในหลักสูตรใหม่ที่น้องๆจะได้เรียนในปี 4 กัน
    เทอม 1
     
    เอกแก้ไขการได้ยิน
     
    1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าของระบบประสาทการได้ยินขั้นแนะนำ
    เป็นวิชาที่เพิ่มเข้ามาในหลักสูตรใหม่นี้ค่ะ เป็นเนื้อหาวิชาของพี่ๆปริญญาโท ก็จะได้เรียนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าของระบบประสาทการได้ยิน การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง การตรวจคลื่นไฟฟ้าของหูชั้นในในผู้ป่วยผู้ใหญ่ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของอาจารย์ค่ะ
     
    2. ปฏิบัติงานคลินิกการได้ยิน 3
    เป็นวิชาปฏิบัติที่เราจะได้ตรวจทางโสตสัมผัสวิทยาแบบพิเศษขั้นพื้นฐาน การตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง การคัดกรองการได้ยินในเด็ก การบันทึก และรายงานผลการตรวจ โดยมีอาจารย์ควบคุมค่ะ
     
    3. ปฏิบัติงานคลินิกเครื่องช่วยฟัง
    วิชาปฏิบัตินี้ย้ายมาจากเทอม 2 ของหลักสูตรเก่าค่ะ น้องๆจะได้รับมอบหมายคนไข้เคสประจำ ในการนัดคนไข้ให้มาลองเครื่องช่วยฟัง ซึ่งในการลองเครื่องช่วยฟังของคนไข้แต่ละราย ก็จะมีขั้นตอนเพิ่มเติมต่อไปอีก ซึ่งน้องๆจะต้องจัดการตารางเวลาสำหรับคนไข้แต่ละคนในการมาทำกิจกรรมต่างๆ ในเทอมนี้จะเป็นการนำความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดมาใช้รวมไปถึงการลงปฏิบัติคลินิกเครื่องช่วยฟังที่จะได้เรียนเพิ่มเติมในเทอมนี้ ซึ่งจะแตกต่างจากปฏิบัติงานคลินิกการได้ยินทั่วไป ตรงที่น้องๆจะได้มีคนไข้เคสประจำ และมีการนัดมาลองเครื่อง รับเครื่อง รวมไปถึงการมาติดตามผล น้องๆจะได้ใช้ทักษะการสื่อสารกับคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน น้องๆจะสื่อสารอย่างไรให้คนไข้เข้าใจ ในเรื่องของการใช้งาน วิธีการใส่-ถอดเครื่อง และอื่นๆอีกมากมายที่ต้องสื่อสาร ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทายมากเลย
     
    เอกแก้ไขการพูด
     
    1. ความผิดปกติของการสื่อความหมายด้านระบบประสาทขั้นแนะนำ
    เป็นวิชาใหม่อีกเช่นกันค่ะ เนื้อหาจะเกี่ยวกับความผิดปกติของการพูดเนื่องจากความบกพร่องของระบบประสาทควบคุมการพูด และความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง
     
    2. เสียงผิดปกติขั้นแนะนำ
    วิชานี้ก็ใหม่แกะกล่องเหมือนกันค่ะ จะเกี่ยวข้องกับลักษณะ การวินิจฉัย การรักษาความผิดปกติของการพูดในผู้ที่มีเสียงผิดปกติ ผู้มีภาวะเพดานโหว่
     
    3. ปฏิบัติงานคลินิกภาษา และการพูด 4
    ในวิชาปฏิบัตินี้ก็ย้ายมาจากเทอม 2 ค่ะ เราก็จะได้ฝึกปฏิบัติการวินิจฉัย วางแผนการสอน แก้ไขความผิดปกติทางภาษา และการพูดของผู้มีภาวะปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มอาการออทิสติก เด็กสมองพิการ ความผิดปกติทางภาษา และการพูดประเภทอื่นๆ
     
    การให้คำปรึกษาผู้มีความผิดปกติของการสื่อความหมายขั้นแนะนำ
    ทั้งสปีช และออดิโอก็ได้เรียนวิชานี้เหมือนกันค่ะ โดยเนื้อหาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา ทฤษฎี เทคนิคแก่ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องของผู้ป่วย
     
    เทอม 2
    เอกแก้ไขการได้ยิน 

    ปฏิบัติงานคลินิกการได้ยิน 4
    เราก็จะได้ฝึกปฏิบัติการตรวจการได้ยินแบบบูรณาการ การวินิจฉัย การฟื้นฟูทางการได้ยิน การให้คำปรึกษา โดยมีอาจารย์ควบคุมค่ะ

    การอนุรักษ์การได้ยิน
    ในหลักสูตรเดิมจะเรียนตอนปี 4 เทอม 1 ค่ะ สำหรับวิชานี้น้องๆก็จะได้เรียนในเรื่องของอันตรายจากมลพิษจากเสียง เครื่องมือและอุปกรณ์ วิธีตรวจวัดระดับเสียง กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีเรียนทั้งเลกเชอร์ และปฏิบัติ โดยอาจารย์จะพาเราไปตรวจวัดระดับเสียงในจุดต่างๆ ในโรงพยาบาล และยังได้มีโอกาสไปตรวจวัดการได้ยินในชุมชนด้วยนะ น้องๆจะได้ฝึกปฏิบัติในการสร้างโปรแกรมการอนุรักษ์การได้ยินในชุมชนจริงๆ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือสังคม และได้รับประสบการณ์มากมายเลย
     
    เอกแก้ไขการพูด 
    ปฏิบัติงานคลินิกภาษา และการพูด 5
    เราก็จะได้ฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกภาษา และการพูดแบบบูรณาการ การวินิจฉัย การฟื้นฟู และให้คำแนะนำด้านการสื่อความหมาย โดยมีอาจารย์ควบคุมเช่นกันค่ะ

     
    ส่วนทั้ง 3 รายวิชาด้านล่างทั้งสปีช และออดิโอก็จะเรียนเหมือนกันค่ะ แต่เนื้อหารายละเอียดอาจแตกต่างกันไปค่ะ
     
    1. การศึกษาพิเศษขั้นแนะนำ
    จะเรียนเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของลักษณะของเด็กพิเศษ การให้การศึกษาแก่เด็กพิเศษ อุปกรณ์ช่วยการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ การบริการให้การศึกษาพิเศษของรัฐ และองค์กรเอกชน 
     
    2. ระเบียบวิธีวิจัยขั้นแนะนำ
    เนื้อหาที่เรียนมีดังนี้ค่ะ ระเบียบวิธีการวิจัยเบื้องต้น ประเภทของการวิจัย ปัญหาของการวิจัย วิธีการดำเนินการศึกษา การวิเคราะห์สถิติพื้นฐาน การประเมินผลการวิจัย การฝึกทำวิจัย 
     
    3. กฎหมาย และจริยธรรมวิชาชีพ
    เนื้อหาจะเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของเรา เพื่อเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการประกอบอาชีพของเราในอนาคต เราจะได้รู้ขอบข่าย หน้าที่ของวิชาชีพของเรา ซึ่งวิชานี้จะต้องใช้ในการสอบใบประกอบโรคศิลป์หลังจากเรียนจบด้วยค่ะ
     
    4. หัวข้อพิเศษ
    เป็นการศึกษาหัวข้อที่สนใจที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย โดยมีอาจารย์เป็นผู้ควบคุมค่ะ
     
    ครบถ้วนแล้วค่า เนื้อหาที่จะได้เรียนตลอด 4 ปี เป็นยังไงกันบ้าง น่าสนุกใช่ป่าววว วิชาคณะของพี่ๆ ^^
     
    เนื้อหาบางส่วนอ้างอิงจาก คู่มือนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ภาควิทยาศาสตร์สื่อความหมาย และความผิดปกติของการสื่อความหมาย ปีการศึกษา 2555
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×