คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายฯ
แนะนำ ... คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เข้าชมรวม
19,308
ผู้เข้าชมเดือนนี้
30
ผู้เข้าชมรวม
วิทยาศาสตร์สื่อความหมาย รามาธิบดี นักแก้ไขการพูด นักแก้ไขการได้ยิน ความผิดปกติของการสื่อความหมาย มหิดล RAOT RACD Communication disorders Speech Audio
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
สวัสดีน้องๆที่น่ารักทุกคนนะคะ รวมถึงผู้สนใจที่แวะเวียนกันเข้ามาในบทความของคณะเรา ^^
บทความนี้เป็นบทความที่เพิ่งอัพเดทใหม่ล่าสุด เนื่องจากตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 คณะของเรามีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่หลายๆอย่างให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นพี่ออม RACD#9 จึงขอมาแนะนำคณะนี้เพิ่มเติมในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อจากบทความเดิมที่พี่ตี่เคยเขียนไว้นะคะ และจะมีรุ่นพี่อีกหลายคนมาช่วยแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้น้องๆได้รู้จักคณะเรามากยิ่งขึ้น และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจในการเลือกคณะของน้องๆค่ะ สามารถเลือกอ่านรายละเอียดตามหัวข้อด้านล่างได้เลย โดยในส่วนของบทนำนี้มีบางส่วนที่พี่ยังใช้ข้อมูลเดิมของพี่ตี่อยู่นะคะ เนื่องจากพี่ตี่ก็อธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว ^^
ยุคนี้อะไรๆมันก็ต้องกดไลค์กันใช่ป่าว คณะเราก็อินเทรนด์กะเค้าเหมือนกันนะ มีเฟซบุ๊กแฟนเพจของคณะด้วย จะมีพี่ๆแอดมินใจดีหลายรุ่นคอยตอบคำถาม และข้อสงสัยแก่น้องๆอย่างรวดเร็วทันใจแน่นอน มากดไลค์กันเยอะๆนะคะ กดคลิ๊กตามด้านล่างได้เลยค่าา
ภาควิชาของเรานั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะประกอบไปด้วยคณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และความผิดปกติของการสื่อความหมาย
จุดเด่นของหลักสูตรเราคือเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตสาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมายให้มีความรับผิดชอบ มีเจตคติ และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในการให้บริการสุขภาพทางด้านการสื่อความหมาย รวมทั้งการวินิจฉัย ฟื้นฟูสมรรถภาพ และป้องกันความผิดปกติของการได้ยิน กระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการพูด เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่ยังขาดแคลน และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชากรที่มีความผิดปกติในการสื่อความหมายให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น บัณฑิตที่จบจากคณะเราจึงเป็นที่ต้องการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนครับ
น้องๆทราบไหมครับว่าในปัจจุบันนี้ มีคนจำนวนมากที่มีความผิดปกติทางการได้ยินและการพูด (ความผิดปกติของการสื่อความหมาย) และที่สำคัญคือคนในปัจจุบันยังไม่เห็นถึงความสำคัญของความผิดปกติของการสื่อความหมาย ทำให้มีผู้ที่มีความผิดปกติเพิ่มมากขึ้น ถ้าชีวิตเราคนหนึ่งๆเกิดความผิดปกติเช่นนี้ขึ้นมาและไม่สามารถรักษาให้หายได้ ชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีบุคลากรทางวิชาชีพของเราซึ่งก็คือนักแก้ไขการพูดและนักแก้ไขการได้ยินนั่นเอง
ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการตามตำแหน่งในโรงพยาบาลของวิชาชีพนี้ก็คือ นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านการตรวจวินิจฉัย การแก้ไข การฟื้นฟู การค้นคว้าวิจัย การฝึกอบรม การเผยแพร่ความรู้และการป้องกันความผิดปกติทางด้านการได้ยิน ความบกพร่องทางภาษาและการพูดให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนประชาชนทั่วไป ปัจจุบันบุคลากรในวิชาชีพของเรายังมีน้อยมากๆหากเทียบกับประชากรทั้งประเทศ และที่สำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่กำลังรอการช่วยเหลือจากเราอยู่นะครับ
สำหรับคณะเราเมื่อเรียนจบแล้วจะได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมายนั่นเองครับ ซึ่งคณะเราจะเรียนทั้งหมด 4 ปีครับ
สำหรับการใช้ชีวิตสี่ปีในคณะของเรานั้นก็ขอบอกก่อนเลยว่าแต่ละปีก็มีอะไรหลายๆอย่างที่น่าค้นหาแตกต่างกันไป รอน้องๆมาหาคำตอบละกันนะครับ และเนื่องจากคณะเรามีคนน้อย ทำให้พวกเราสนิทกันเร็วและรู้จักกันทั้งคณะ ทั้งอาจารย์ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เราก็จะรู้จักและสนิทสนมกันเปรียบเสมือนกับเป็นครอบครัวCD เลยทีเดียว
นอกจากการเรียนแล้ว ในมหาวิทยาลัยมหิดลและในคณะเราก็มีกิจกรรมต่างๆมากมายให้น้องๆได้เข้าร่วม ทั้งกิจกรรมชมรม กิจกรรมค่าย หรือกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ ที่จะทำให้น้องๆได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆจากคณะต่างๆ และที่สำคัญคือการได้มีโอกาสไปช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม ได้มองเห็นอีกมุมหนึ่งในชีวิตของใครหลายๆคน นอกเหนือจากสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับกิจกรรมต่างๆที่พี่เกริ่นไว้จะมีอะไรบ้างนั้นก็คงต้องรอน้องๆมาติดตามกันเองเมื่อสอบเข้ามาได้^^พยายามเข้านะJ
สุดท้ายพี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆทุกคนที่อ่านบทความของพี่อยู่ คนเราทุกคนเกิดมาย่อมมีความฝันและต้องการจะไปให้ถึงความสำเร็จ แต่ชีวิตคนเราก็ไม่ได้มีแต่ความสำเร็จเสมอไป เชื่อว่าตอนนี้น้องหลายคนที่กำลังอ่านบทความของพี่อยู่มีทั้งความเครียด และความกังวลว่าตัวเองจะไปถึงความสำเร็จนั้นหรือไม่ แต่พี่ก็ขอให้น้องๆมีความหวัง เชื่อมั่นและตั้งใจที่จะไปสู่เป้าหมายในคณะที่ตัวเองใฝ่ฝัน และขออวยพรให้น้องๆทุกคนที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จ ได้เข้าเรียนในคณะที่ตัวเองตั้งใจ ถ้าน้องๆมีข้อสงสัยอะไรก็สามารถถามพี่ๆได้เสมอครับ
ปล. คณะเราจะเปิดรับตรงโควต้า สามารถศึกษาข้อมูล รายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซด์นี้เลยค่ะ
http://www.mahidol.ac.th/directadmission/
และก็ยังมีรับในส่วนของรอบแอดมิชชั่นอยู่ค่ะ โดยคิดคะแนนสัดส่วนตามนี้ GPAX 20% O-net 30% GAT 20% PAT2 (วิทยาศาสตร์) 30%
คะแนนแอดมิชชั่นปี 58
คะแนนสูงสุด 21,686.25
คะแนนต่ำสุด 19,101.25
ผลงานอื่นๆ ของ CD Family ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ CD Family
ความคิดเห็น