jaidiew
ดู Blog ทั้งหมด

เที่ยวเชียงคาน เลย ภูเรือ ตอนที่ 3

เขียนโดย jaidiew

เทียวเชียงคาน ผ่านเมืองเลย เลี้ยวกลับเข้าภูเรือ Travel to Loei ตอนที่ 3

อาจมีรูปน้อยไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพได้ เพราะใช้เวลากับการดูวิถีชีวิตเลยไม่ได้ถ่ายรูปมากนัก

เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยที่เราเองก็ไม่ทราบว่าใครกัน ที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อน แต่ที่แน่ๆ บรรยากาศที่เราคิดว่าจะได้เจอภายใต้ชื่อของเชียงคานบนถนนสายชายโขงนั้นจึงเหลือเพียงน้อยนิด (ในความคิดของเรา)   

         
เช้ามืดคุณป้าเจ้าของบ้านตื่นแต่เช้าเพื่อไปซื้อข้าวเหนียวที่ตลาดมาให้ ข้าวร้อนๆ ถูกแบ่งใส่กระติ๊บของใครของมัน ซึ่งแกบอกว่าส่วนกับข้าวจะมีคนตามไปถวายที่วัดต่างหาก อันเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมานานแล้ว  เราก็พากันเดินตุรัดตุเหร่ไปยังถนนสายชายโขงด้วยความตื่นเต้น

          ดูเหมือนว่าถนนสายนี้ถูกจัดเอาไว้สำหรับนักท่องเที่ยวจริงๆ เพราะระหว่างที่รอให้พระมานั้น ทุกคนรวมทั้งเราต่างก็ แช๊ะ! แช๊ะ! ฆ่าเวลา

 
                                             แช๊ะ! แช๊ะ!

การตักบาตรข้าวเหนียวอาจเป็นเพียงความต้องการเข้าไปเยี่ยมชมวัฒนธรรมที่เราเห็นว่าแปลก และในที่สุดเราเองนั่นแหละที่เข้าไปเปลี่ยนแปลง ของตักบาตรถูกเจ้าหน้าที่ของทัวร์จัดเป็นชุดๆ เป็นขนม เวเฟอร์ น้ำสำเร็จรูป ซึ่งเราจะเห็นการตักบาตรด้วยสิ่งของเหล่านี้อยู่ในเมืองกรุง  1 ทัวร์มีลูกทัวร์ 40-50 คน แล้วถ้า 100 ทัวร์เล่า? 
       
ตักบาตร-เป็นเพียงกิจกรรมที่ถูกบรรจุอยู่ในรายการท่องเที่ยวเท่านั้นหรือ?  คำถามเหล่านี้ติดอยู่ในใจ

          รอดูขบวนพระที่นานๆ ท่านจะทิ้งช่วงห่างมาสักที พอมาถึงก็ช่วยกันมะรุมมะตุ้มใส่ของตักบาตรที่หน้าตาเหมือนกันลงไปจนล้นบาตร พระก็เทใส่กระสอบขนกลับวัด  (คิดอีกที นักท่องเที่ยวตลอดความยาวถนนไม่รู้มีตั้งกี่ร้อยคน พระคงฉันแต่ข้าวเหนียวไม่ไหวแน่) ที่สำคัญบางคนไม่ถวายของ แต่ถวายปัจจัยเป็นเงิน ยัดใส่ย่ามพระเอางั้นเลย   ไม่รู้สินะ มันดู แปลกๆ

          เราเลยตัดสินใจชวนน้องที่มาด้วยหนีจากความแออัด เดินออกมาถนนใหญ่ เห็นคุณยายสองคนนั่งถือกระติ๊บเงียบๆ เรียบร้อย  เราเลยไปนั่งใกล้ๆ สักครู่ก็มีพระเดินมา พวกเราใส่ข้าวเหนียวลงไปในบาตรโดยไม่ต้องแย่งใคร บาตรของพระท่านก็มีที่ว่างสำหรับข้าวเหนียวของคนอื่นๆ และเราก็ได้พรยาวๆ จากเพราะท่านมีเวลาเหลือเฟือ เฮ้อ!... ครานี้เราถึงได้สัมผัสความอิ่มใจของการตักบาตรข้าวเหนียวที่แท้จริงของเชียงคานเสียที

เสร็จจากตักบาตร น้องชวนเราหาอะไรใส่ท้อง ที่จริงที่ถนนริมโขงก็มีขายข้าวปุ้นน้ำแจ่วอยู่หลายร้าน แต่เรายืนยันว่าต้องไปตลาด  ด้วยความมักง่ายหรือขี้เกียจก็ตามแต่ เราเรียกรถรับจ้างไปตลาด คนขับก็ทำหน้างง  แต่ไม่ค้านอะไร พอเราขึ้นรถเสร็จก็ตะบึงไปข้างหน้า แค่สองช่วงตึก หนึ่งอึดลมหายใจ  อือม์...โดนไป 20 บาท ต่อว่าใครไม่ได้...

          ที่ตลาด...เรายืนมองน้องนักท่องเที่ยว ต่อแถวสั่ง ปาท่องโก๋ ไส้สารพัด ตามที่เคยเห็นในรายการท่องเที่ยวต่างๆ ที่พากันโหมโปรโมท ตามคติถ้าไม่ได้กินเด๋วจะไม่ถึงเชียงคาน คงอร่อยจริง   แต่เราไม่ยอมต่อคิวหรอก ใครจะว่าขวางโลกก็ตาม

          เราเดินไปร้านข้าวปุ้นที่ ที่มีคนไม่มาก สั่งชามเดียวสองคน แล้วเดินทั่วทั้งตลาดเพื่อดูว่าคนเชียงคานกินอะไรที่นอกเหนือจากข้าวปุ้นน้ำแจ่วและปาท่องโก๋  มีกับข้าวพื้นๆ หลายอย่าง อันไหนที่คิดว่าน่าจะลองชิมดูได้ ก็ซื้อ แล้วเดินไปซื้อข้าวเหนียวได้มา 1 ถุง ได้มากกว่าที่ซื้อในกรุงเทพฯ 

          ข้าวร้อนๆ จิ้มกับข้าวพื้นเมือง ซดข้าวปุ้น ตามด้วยปาท่องโก๋ไส้อะไรก็ได้ที่น้องอุตส่าห์ไปซื้อมาให้เป็นอันสุดท้ายก่อนที่คนขายจะบอกว่าหมดแล้ว คนที่นั่งโต๊ะข้างๆ มองใหญ่ว่ามันกินอะไรดูท่าทางเอร็ดอร่อย บอกไม่ได้หรอก เพราะไม่รู้เหมือนกัน จะชวนรึก็เกรงใจ เห็นเค้าทำหน้าแหยงๆ แม้กระทั่งน้องที่ไปด้วยยังไม่กล้าร่วมวง แต่อาจเป็นเพราะเราเป็นคนเหนือ ดังนั้นกับข้าวเหล่านี้จึงดูคุ้นเคยก็เป็นได้ ไม่ว่ากัน แต่นี่คือรสชาติหนึ่งของเชียงคาน


  

เสร็จจากการเติมกระเพาะแล้ว เราก็ไปเช่าจักรยานเพื่อไปดูวัดต่างๆ ตามรายการในหนังสือท่องเที่ยว  แต่ดูเหมือนว่าการใช้จักรยานจะเป็นภาระมากกว่า  เพราะวัดก็อยู่ติดๆ กันแถวนั้น เดินพอเหนื่อยก็ถึง ชอบตรงที่ระหว่างทางจะเห็นรั้วบ้านคลุมด้วยดอกสีส้มสด...งาม

 
เราซื่อบื้อไม่รู้จักชื่อดอกพวงแสดอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด อยากเอาไปปลูกที่บ้าน แต่คนบอกว่าถ้าเอากลับมาที่กรุงเทพอาจจะไม่สวยเท่านี้ เลยหยุดคิด ปล่อยให้ของสวยงามเหล่านี้อยู่ในที่ๆ พวกเขาสามารถเบ่งบานได้ดีกว่า

         

 เราชอบวัดหลายวัด บางวัดเก่าแก่ทรุดโทรม อยากให้คนที่ไปบริจาคเงินมากๆ หน่อย ไม่มีการขายดอกไม้ธูปเทียน สิ่งที่มีอยู่คือดอกไม้เล็กๆ ที่หาได้ทั่วไปวางอยู่บนพานให้หยิบได้เลยเท่านั้น ไม่มีคนคอยนั่งเฝ้าขายของ หรือกิจกรรมพุทธพาณิชย์อย่างที่เห็นในอยุธยา หรือเมืองเจริญอื่นๆ

  

                         ขอเชิญบริจาค ดอกไม้ ธูป เทียน บูชาพระ ตามกำลังศรัทธา

         ที่ประทับใจคือวัดมหาธาตุ เพราะที่นั่นมีภาพเขียนที่กำลังถลอกหมดแล้ว และโบสถ์ที่ดูจะโทรมเต็มที  ไม่รู้ว่าตั้งใจจะทุบโบสถ์หรือเงินบูรณะไม่มี ถึงกระนั้นตู้ใส่เงินก็เป็นแบบเปิดโล่งโดยไม่กลัวคนมาขโมย เราเห็นอาซิ้มคนหนึ่ง คงมาเที่ยวกับลูกหลาน แกไม่ยอมเอาเงินใส่ในตู้ แต่กลับถือเงินใบร้อยเดินตรงไปยังพระที่นั่งอยู่ บอกว่าต้องการถวายปัจจัยให้ท่าน  พระองค์นั้นไม่รับแต่ท่านโบ้ยหน้าให้ไปใส่ที่ตู้  อดยิ้มไม่ได้ที่อาซิ้มดูผิดหวังที่ไม่ได้รับการตอบสนอง นี่แหละที่เราคิดว่า เพราะพวกเราผู้ผ่านทางที่เป็นผู้นำความเจริญและทำลายไปพร้อมๆ กัน  
        



  

  


                               วัดพระธาตุ กับภาพบนประตูทางเข้า

          นอกจากนั้นเรายังได้ยินเสียงตามสายของวัดที่บอกชวนให้ชายหนุ่มทั้งหลายไปช่วยกันย้ายศาลา (เป็นแรงบันดาลใจสำหรับเก็บรักฝากตะวันตอนช่วยกันชะลอศาลาการเปรียญในเขาสบเมฆ) ได้บรรยากาศดี
 

            และในที่สุดเวลาแห่งการจากลาก็มาถึง เราอำลาคุณป้าเจ้าของบ้าน เอารถจักรยานที่ไม่ค่อยได้ปั่นสักเท่าไหร่ไปคืน แล้วขับรถไปยังภูเรือ

          เมื่อวันก่อน เรายังคิดว่าจะกลับไปซื้อของที่ตัวจังหวัดก่อนจะเดินทางสายหลักไปสู่ภูเรือ แต่...ไม่มีอะไรเป็นไปตามแผน เส้นทางใหม่ถูกกำหนดขึ้น  ท่าลี่   ชายแดนสะพานแม่น้ำเหือง พระธาตุสัจจะ จะอยู่ในเส้นทางของเรา จนกว่าจะถึงภูเรือ (ซึ่งไม่รู้ว่าจะถึงกี่โมง จะมีที่นอนไหม จะไปอย่างไร)

 


โปรดติดตามตอนตอนต่อไป

ภูเรือ ท่องเที่ยวแบบ ไม่เน้นตื่นเช้า ไม่เอาฝ่าหมอก ขึ้นภูไปดูตะวันเมื่อนักท่องเที่ยวคนอื่นกลับลงไปแล้ว





ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น