ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    บทความวิชาเกรียน - ข้อมูลเทวดาฉบับฮาเฮ

    ลำดับตอนที่ #13 : พระอัคนี : ราชาประจำบ้าน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 696
      6
      19 ม.ค. 59

    พระอัคนี : ราชาประจำบ้าน



    ในตอนก่อน ๆ ผมได้เล่าเรื่องของพระวิศวกรรม ได้เอ่ยถึงว่าบางตำนานอธิบายว่าพระวิศวกรรมเป็นลูกของประภาสเทพบุตร เทพในคณะวสุเทพ ซึ่งเป็นกลุ่มเทพชั้นผู้ใหญ่ในบรรดาสามสิบสามเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แม้ว่าจะไม่ได้มีอิทธิพลมากเท่ากลุ่มอาทิตย์ (ลูกนางอทิติ) ซึ่งมีพระอินทร์เป็นหัวหน้า แต่ก็จัดว่าเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลบนเขาพระสุเมรุ รวมไปถึงโลกมนุษย์ ในทัศนคติของพราหมณ์ – ฮินดู เนื่องจากเทพกลุ่มนี้เป็นเทพผู้ควบคุมดูแลธรรมชาติ และยังมีเทพจากกลุ่มอาทิตย์บางองค์เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ด้วย

    เทพคณะวสุทั้งแปดนั้นถูกระบุชื่ออย่างชัดเจนในคัมภีร์พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท และมหากาพย์มหาภารตะด้วยชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ประกอบด้วยหน้าที่เดียวกัน ได้แก่ เทพผู้ดูแลผืนดิน เทพผู้ดูแลไฟ เทพผู้ดูแลลม เทพผู้ดูแลความว่างเปล่า เทพผู้ดูแลดวงตะวัน เทพผู้ดูแลท้องฟ้า เทพผู้ดูแลดวงจันทร์ และเทพผู้ดูแลดาวเหนือ

    เรื่องราวของเทพวสุทั้งแปดนั้น ผมได้เล่าเรื่องของพระสุริยะหรือพระอาทิตย์ผู้ดูแลดวงตะวัน พระโสมหรือพระจันทร์ผู้ดูแลดวงเดือนไปแล้ว ในตอนนี้ก็จะขอเล่าถึงเทพอีกองค์ในกลุ่มนี้ที่มีความสำคัญไม่แพ้ทั้งสององค์ก่อน

    เทวดาองค์ที่เอ่ยถึงคือพระอัคนีหรือเทพอนล เทพผู้ดูแลไฟและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาพระสุเมรุ (ทำให้ทิศตะวันออกเฉียงใต้มีชื่อ “อาคเนย์” ตามนามพระอัคนี) มีหอกและศรอัคนิวาตหรืออาคเนย์ศาสตร์เป็นอาวุธ มักปรากฏรูปร่างอันพิสดาร คือมีสองหน้า สี่มือ เจ็ดลิ้น หรือบางรูปก็มีสามมือเจ็ดตา บางครั้งก็สามหัว สามขา เจ็ดมือ ขี่รถศึกสี่ทองเทียมม้าสีแดง หรือขี่แรด ไม่ก็แกะสีม่วง ซึ่งถ้ามองตามความเชื่อแล้ว พวกเทวดานี่มีฤทธิ์จะเนรมิตรูปกายแบบไหนก็ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไร แต่หากมองตามต้นเหตุของความเชื่อแล้ว จะพบว่ารูปร่างพิสดารของพระอัคนีมีความเชื่อมโยงกับเปลวไฟที่มีรูปร่างน่ากลัวและไม่แน่นอน

    รูปร่างที่ไม่พิสดารก็จะดูละม้ายคล้ายกับพระอินทร์ ซึ่งก็ไม่แปลกเท่าไร เพราะในตำนานการเกิดหลากหลาย มีตำนานว่าเป็นพี่น้องกับพระอินทร์ถึงสองตำนาน นั่นคือในยุคพระเวท เชื่อว่าพระอัคนีกำเนิดขึ้นจากเทพท้องฟ้าทยาอุส กับนางปฤถวี เทวีแห่งพื้นดิน และในยุคสมัยต่อมาเชื่อกันว่าเป็นโอรสของกัศยปเทพบิดรกับนางอทิติ

    บางความเชื่ออธิบายว่าพระอัคนีเป็นบุตรของฤๅษีอังคีรส บางความเชื่ออธิบายว่าเป็นบุตรของเทพในคณะวสุผู้ทำหน้าที่ดูแลลม บ้างก็ว่าเป็นลูกคนโตของพระพรหม ซึ่งตำนานการกำเนิดของเทพในกลุ่มความเชื่อพราหมณ์ – ฮินดูนั้นดูจะสับสนคลุมเครือ เนื่องจากเทพที่ได้รับการเคารพนับถือมาก ก็มีหลายตำราที่เขียนถึง และตำราแต่ละเล่มก็เขียนโดยผู้เขียนต่างกันไป แต่สำหรับผมแล้ว ชาติกำเนิดนั้นไม่สำคัญเท่าวีรกรรมหรือผลงานสักเท่าไรนัก ซึ่งผลงานและหน้าที่ของพระอัคนีเองก็มีไม่น้อยหน้าเทพองค์อื่นเลย

    ในยุคพระเวทนั้นพระอัคนีถูกเคารพยกย่องเป็นเทวดาที่มีความสำคัญในระดับเดียวกับพระวรุณ พี่ใหญ่แห่งกลุ่มอาทิตย์ และพระอินทร์ราชาสวรรค์ โดยมีศักดิ์เป็นราชาเช่นเดียวกับพระอินทร์ แต่เป็นราชาของบรรดา “ปิตฤ”

    พอเล่ามาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัย ว่าปิตฤนี่คืออะไรกัน ถ้าเช่นนั้นผมจะขออธิบายเพิ่มเกี่ยวกับทัศนะของจักรวาลวิทยาที่เขาพระสุเมรุในคติความเชื่อของศาสนาจากเอเชียใต้ทั้งกลุ่มพุทธและกลุ่มพราหมณ์ – ฮินดู กันสักนิด

    คติความเชื่อของพุทธได้แบ่งภพภูมิทั้งหลายออกเป็นสามภูมิหลัก คือ

    -           กามภูมิ หมายถึงดินแดนทั้งหลายรอบเขาพระเมรุ ทั้งอบายภูมิทั้งสี่ คือนรกภูมิ เปตภูมิ อสุรกายภูมิ เดรัจฉานภูมิ และสุขคติภูมิทั้งเจ็ด คือโลกมนุษย์ เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา และรวมไปถึงสวรรค์เหนือเขาอีกห้าชั้น

    -           รูปภูมิ ดินแดนของพรหมที่มีรูปร่าง แต่ไม่ปรารถนากามคุณ อยู่เหนือเทวโลกชั้นสูงสุดขึ้นไป เรียกดินแดนนี้รวมทั้งอรปภูมิว่าพรหมโลก

    -           อรูปภูมิ ดินแดนของพรหมที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ปรารถนากามคุณ

    ส่วนในคติพราหมณ์ - ฮินดูนั้น แต่แบ่งโลกออกเป็นโลกเหนือพิภพและโลกใต้พิภพ โดยโลกใต้พิภพนั้น ตามปัทมะปุราณะ และวิษณุปุราณะบอกว่ามีเจ็ดดินแดน ซึ่งปกครองด้วยพวกนาคหลายแห่ง มนุษย์ยุคหลัง ๆ จะเรียกรวมทั้งเจ็ดแดนนี้ว่าเป็นเมืองบาดาล (แม้ว่าบางดินแดนจะมีแต่อสูร ซึ่งแดนนั้นน่าจะใกล้เคียงกับอสุรกายภูมิของคติพุทธก็ตามที) ยิ่งชั้นลึกลงไปก็ยิ่งสุขสบายไม่แพ้สวรรค์ แต่พวกนี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาตอนนี้เท่าไร ดังนั้นขอข้ามไปก่อน ไว้ไปเล่ากันต่อในตอนต่อ ๆ ไป

    ส่วนโลกเหนือพิภพเองก็มีเจ็ดดินแดน หรือโลกาเช่นกัน ได้แก่

    -           ภูโลกา คือ ดินแดนของมนุษย์

    -           ภูวะโลกา หรือ ปิตฤโลกา คือดินแดนที่อยู่ถัดจากแดนมนุษย์ เป็นดินแดนของบรรพบุรุษ หรือผู้ล่วงลับไปแล้ว มีพระอัคนีเป็นราชา

    -           สวารคโลกา หรือสวรรคโลกา ดินแดนแนวโคจรของดวงดาวต่าง ๆ รอบเขาพระสุเมรุ รวมถึงดวงตะวันและดวงจันทร์ พระโสมที่ถูกขับไล่จากบนเขาพระสุเมรุประทับอยู่ที่นี่ ดินแดนนี้อยู่ในความดูแลของพระอินทร์และเทพนพเคราะห์

    -           มหาโลกา หรือคนธรรพโลกา ดินแดนที่อยู่ระหว่างแนวโคจรของดาวกับยอดเขาพระสุเมรุ ที่อยู่ของคนธรรพ์ระดับสูงและนางอัปสร ในมหาภารตะมีปรากฏว่าคนธรรพ์ชื่อจิตรางคทะเป็นราชา

    -           ฌานโลกา ดินแดนของเหล่าฤๅษี

    -           เทวโลกา ดินแดนบนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล มีพระอินทร์เป็นราชา

    -           สัตยโลกา หรือพรหมโลก ดินแดนของพระพรหม

    และยังมีดินแดนพิเศษอีกในบางตำรา คือยมโลกาของพระยม โวกูณฐ์โลกาของพระวิษณุ และศิวโลกาของพระศิวะ ทั้งนี้บางแห่งได้แบ่งแตกต่างจากนี้ เช่นคัมภีร์พรหมาปุราณะ ได้รวมเอาเทวโลกาและสวรรคโลกาเป็นแห่งเดียวกัน โดยอยู่ถัดจากภูวะโลกา ใต้มหาโลกา  และตำแหน่งระหว่างฌานโลกากับสัตยโลกา กลายเป็นตโปโลกา ที่อยู่ของมหาฤๅษีทั้งเจ็ด หรือในวิษณุปุราณะ ที่ไม่ได้ยุบรวมเทวโลกาเข้ากับสวรรคโลกา แต่นำย้ายลงไปอยู่เหนือสวรรคโลกา ใต้มหาโลกา แล้วเพิ่มตโปโลกาลงไป (ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแบ่งแบบดังกล่าวเท่าไรนัก เพราะหากมองในความเป็นจริง เหล่าเทวดาทั้งหลายคงไม่ชอบใจที่คนธรรพ์และอัปสรที่มีศักดิ์ต่ำกว่า มีดินแดนอยู่เหนือหัวตัวเองแบบนั้น)

    คราวนี้เราโฟกัสกันที่ดินแดนที่พระอัคนีปกครอง แดนของปิตฤ ซึ่งความหมายตรงตัวว่าผู้ล่วงลับ ผู้วายชนม์ บิดาหรือบรรพบุรุษ รากศัพท์ความหมายใกล้เคียงกับกับ “เปต” ซึ่งคนไทยคุ้นหูกันดีในชื่อของ “เปรต” ที่จำภาพลักษณ์กันมาว่าเป็นผีที่ปากเท่ารูเข็ม มือโตเท่าใบตาล ร้องขอส่วนบุญอย่างน่าเวทนานั่นแหละครับ

    ผมไม่รู้ว่าสื่อประเภทไหนที่ทำให้คนไทยจำภาพลักษณ์ของเปรตว่าต้องมีลักษณะแบบนั้นไปทั้งหมด เพราะเอาเข้าจริงแล้วเปรตเองก็มีหลายจำพวก ทั้งที่อยู่ดีกินดีและพวกที่ทุกข์ทรมาน สิ่งที่คนไทยในปัจจุบันเรียกว่าผีหรือปีศาจ ในไตรภูมิพระร่วงก็เรียกว่าเป็นเปรตประเภทหนึ่ง และย่อหน้าแรกของตติยกัณฑ์ที่เอ่ยถึงโลกของเปรต ก็ยังบอกเล่าความเป็นอยู่ที่ดีของเปรตที่เป็นประเภทตรีเหตุปฏิสนธิ ซึ่งเป็นพวกชั้นสูง สามารถเข้าใจอริยสัจ ความว่า

    “จำพวกหนึ่งนั้นดี มีปราสาทแก้ว แลมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีคูล้อมรอบ ดูงามนักหนา แลเปรตจำพวกหนึ่งมีช้างม้าข้าคน มียั่วยานคานหามทองขี่ท่องเที่ยวไปโดยอากาศ” และ “เปรตลางจำพวกมีปราสาททิพย์ มีเครื่องกินนั้นย่อมเป็นทิพย์ดั่งเทพยดา”

    ดังนั้นตำแหน่งผู้ดูแลปกครองคนตายที่ไม่ได้ไปเกิดเป็นเทวดา และไม่ได้ตกนรก อีกทั้งไม่ได้กลับมาเกิดใหม่เป็นคน ก็ทำให้พระอัคนีมีความสำคัญไม่น้อยสำหรับผู้นับถือเทพเจ้า เพราะเชื่อกันว่าบรรพบุรุษที่ตายไปจะถูกดูแลอย่างไร ก็อยู่ที่นโยบายของพระอัคนี

    แม้ในยุคหลัง ๆ ความเคารพบูชาจากพราหมณ์ที่มีต่อพระวรุณจะเสื่อมลงหลังพระอินทร์เริ่มมีอิทธิพลมากกว่า และภายหลังการบูชาพระอินทร์จะเสื่อมลง เนื่องจากความเคารพต่อมหาเทพตรีมูรติจะเพิ่มพูนขึ้น จนทั้งสองเป็นเทพชั้นรองลงมาในทัศนะของพราหมณ์ ทว่าการบูชาไฟหรือพระอัคนีก็ยังไม่เสื่อมลงมากเท่าพระอินทร์ แต่กลับได้รับการเคารพบูชาไม่น้อยลงกว่าเดิมเท่าไรนัก แม้ว่าจะมีฤทธิ์ด้อยกว่าพระอินทร์และพระวรุณก็ตาม

    เรื่องฤทธิ์ด้อยกว่านี่ผมไม่ได้พูดลอย ๆ แต่อย่างที่เราทราบกันว่าตามปกติไฟนั้นถูกดับได้ด้วยน้ำ และพระวรุณกับพระอินทร์เองก็สามารถบันดาลพายุฝนได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวปรากฏอีกว่าครั้งหนึ่งพระอัคนีอ่อนแรงจากหน้าที่การงาน ต้องการกินสมุนไพรในป่าขาณฑวะเพื่อฟื้นฟูกำลัง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าจะเผาป่านั่นแหละ เพราะลิ้นของพระอัคนีคือเปลวเพลิง แต่ในป่ามีพญานาคนามตักษัก สหายของกับพระอินทร์อาศัยอยู่ พอพระอัคนีจะกินป่า พระอินทร์ก็ส่งพายุฝนลงมาดับไฟทุกครั้ง พระอัคนีสู้ฤทธิ์พระอินทร์ไม่ได้ จึงขอให้พระกฤษณะและอรชุนช่วยต่อสู้กับพระอินทร์ เพื่อยื้อเวลาให้ตัวเองได้กินสมุนไพรในป่า และขอให้พระวรุณมาช่วยสนับสนุนทั้งสองคนนี้ นั่นจึงอนุมานได้ระดับหนึ่งว่าพระอัคนีมีกำลังสู้พระวรุณและพระอินทร์ยังไม่ได้


    นอกจากสู้พระอินทร์ไม่ได้ พระอัคนีเองก็ยังไม่อาจต้านทานความร้อนของน้ำเชื้อจากจากพระศิวะได้ ดังปรากฏในเรื่องการกำเนิดของพระกรรติเกยะ ที่พระศิวะมอบน้ำเชื้อให้กับพระอัคนี เพื่อนำไปสร้างเป็นเทพบุตรมาสังหารอสูร แต่พระอัคนีไม่อาจทนความร้อนจากพลังของพระศิวะได้ ซึ่งรายละเอียดคงจะเล่าในส่วนของพระกรรติเกยะต่อไป

    หากจะถามว่าทำไมพระอัคนีจึงไม่เสื่อมความนิยมลงเท่าพี่น้องเทพ ทั้งที่มีฤทธิ์น้อยกว่า ก็ต้องดูกันครับว่านอกจากตำแหน่งราชาดินแดนของผีแล้ว บทบาทของสิ่งที่พระอัคนีดูแลมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตมนุษย์มากขนาดไหน ถ้าไม่มีฟ้าผ่าของพระอินทร์ มนุษย์ก็ยังอยู่กันได้ ไม่มีฝนจากพระวรุณ บางท้องที่ยังมีแม่น้ำ แหล่งน้ำที่ไม่เหือดแห้งไป แต่ถ้าไม่มีไฟขึ้นมา มนุษย์ในสมัยก่อนจะอยู่กันลำบากแน่ ๆ เพราะไม่มีสิ่งให้แสงสว่างในครัวเรือนยามกลางคืน ไม่มีสิ่งที่ใช้หุงต้มประกอบอาหารให้สุก เรียกได้ว่าสิ่งที่พระอัคนีดูแลนั้นเป็นสิ่งที่บ้านไหนก็ขาดไม่ได้

    นอกจากเปลวไฟประจำบ้านแล้ว ยังเชื่อกันว่ารังสีจากดวงอาทิตย์หรือ “สาวิตรี” และคลื่นไฟฟ้าในอากาศที่เคนโบราณเรียกว่าคลื่น “วิชชุ” หรือ “วิทยุ” ก็ยังเป็นอีกภาคหนึ่งของเปลวไฟของพระอัคนี และทั้งแสงอาทิตย์และคลื่นสัญญาณต่าง ๆ ในอากาศที่ใช้รับส่งสัญญาณไร้สาย ก็มีความสำคัญกับมนุษย์ทั้งนั้น หากมองว่าพระอัคนีมีจริง หากขาดพระอัคนีไป หรือวันไหนพระอัคนีอยากอู้ ไม่มีใครควบคุมดูแลไฟในบ้าน ความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์ และคลื่นสัญญาณไร้สายทั้งหลาย โลกมนุษย์คงวุ่นวายพิลึก

    ไม่เพียงแค่ดูแลไฟ แต่ยังมีความเชื่อว่าพระอัคนียังมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์กับโลกอื่น ๆ อาจเพราะเมื่อไฟไหม้จนมีควัน มันจะพวยพุ่งขึ้นไปสู่ที่สูง คนในสมัยก่อนเลยเชื่อกันว่าพระอัคนีจะแปรสภาพสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขานำมาบูชาเป็นควัน และนำมันไปส่งยังดินแดนที่อยู่สูงขึ้นไป

    นั่นทำให้พวกพราหมณ์ในสมัยก่อนถือว่าพระอัคนีคือต้นแบบของเหล่าพราหมณ์ เพราะทำหน้าที่ติดต่อระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าอื่น จนทำให้บางครั้งพระอัคนีถูกเรียกว่า “พราหมณัศปติ” หรือ “พฤหัสบดี” นอกจากนี้พวกเขายังเชื่อว่า สามารถอัญเชิญพระอัคนีมาอุบัติด้วยไม้สีไฟอันล่างและอันบนอันเป็นพ่อแม่ชั่วคราว เพื่อให้มาช่วยงานการต่าง ๆ ได้ เช่นการส่งเครื่องเซ่นไหว้ไปให้เทวดาหรือบรรพบุรุษ หรือการฌาปนกิจศพ ที่อาศัยให้พระอัคนีส่งวิญญาณคนตายไปยังปิตฤโลกา หรือภูมิที่สูงกว่านั้นตามกำลังบุญของผู้ตาย

    นอกจากการติดต่อกับเทพเจ้าซึ่งกลายเป็นเหมือนไอดอลให้พวกพราหมณ์แล้ว พระอัคนียังเป็นไอดอลด้านความยุติธรรม นั่นคือจะตัดสินคนถูกผิดอย่างเที่ยงธรรม หากจะสาบานว่าไม่ได้ทำผิด นอกจากดื่มน้ำสาบานให้พระวรุณช่วยดูแล กับสาบานฟ้าผ่าของพระอินทร์แล้ว ก็มีธรรมเนียมการพิสูจน์ตัวเองด้วยการลุยไฟ เพื่อให้พระอัคนีเป็นพยานว่าบริสุทธิ์จริงหรือไม่ อย่างที่ปรากฏในรามายณะว่าพระอัคนีไม่ทำอันตรายต่อนางสีดา


    อีกบทบาทที่สำคัญของพระอัคนีในคติความเชื่อ คือเป็นผู้ปกป้องมนุษย์จากรากษส ซึ่งเป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่งที่บางครั้งจับมนุษย์กิน และมีความแข็งแกร่งเมื่ออยู่ในความมืด เพราะพระอัคนีทำให้เกิดแสงสว่าง เชื่อกันว่ายักษ์หรือภูตผีปีศาจไม่อาจต่อกรกับพระอัคนีได้โดยง่าย ในวรรณคดีไทยอย่างพระอภัยมณี หลังจากนางผีเสื้อสมุทรได้พรจากพระศิวะแล้วเกิดลำพองใจ พระอัคนีก็เป็นผู้ปกป้องมนุษย์ ด้วยจัดการแผดเผานางจนกลายเป็นหิน

    พระอัคนีจึงเป็นเทพที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากอีกองค์หนึ่ง และแม้จะอยู่ในกลุ่มวสุเทพที่อยู่บนดาวดึงส์ แต่ก็ถูกจัดว่าเป็นเทพแห่งภูโลกาหรือภพของมนุษย์ เช่นเดียวกับปฤถวีเทวี

    ด้วยความที่เป็นเทพผู้ใกล้ชิดโลก หรืออาจเพราะความร้อนแรงของพลังไฟที่คงหาสาวไหนมาคบได้ยาก คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระอัคนีไม่ได้มีชายาเป็นนางฟ้านางสวรรค์ หรือแม้แต่นางมนุษย์อย่างเทวดาอื่น ๆ แต่พระอัคนีกลับมีชายาเป็นนางครุฑ นามว่านางสวาหา ก็อย่างที่หลายคนคงทราบแล้วว่าครุฑเป็นอมนุษย์ที่มีร่างกายแข็งแกร่งทนทานกว่าเผ่าพันธุ์อื่น ทำให้นางอยู่กับเทพผู้มีพลังร้อนแรงอย่างพระอัคนีได้ และทั้งคู่ก็มีบุตรอยู่สาม ชื่อปาวก ปวราน และศจิ ในรามเกียรติ์ของไทยก็มีบุตรอีกหนึ่ง คือนิลนนท์ วานรซึ่งเป็นบุตรเฉพาะกิจเพื่อช่วยพระราม และเป็นร่างอวตารของพระอัคนีเอง

    จากที่เล่ามาข้างต้น หวังว่าหลายท่านคงจะพอทราบแล้วว่าแม้พระอินทร์และพระวรุณจะได้รับการเคารพน้อยลง  แต่ทำไมพระอัคนียังคงเป็นที่เคารพยกย่องของมนุษย์ นั่นเพราะถึงจะมีฤทธิ์น้อยกว่ามหาเทพตรีมูรติเช่นพระศิวะ หรือเทพชั้นเดียวกันอย่างพระอินทร์และพระวรุณ แต่ผู้นับถือเชื่อกันว่าพระอัคนีเป็นกันเองกับมนุษย์ ถึงจะครองตำแหน่งราชา แต่ก็ใกล้ชิดมากจนขนาดที่เรียกมาได้ง่าย ๆ ด้วยไม้สีไฟ และยังอยู่คู่กับบ้านเรือนของมนุษย์มานาน ช่วยเหลือมนุษย์มาตลอดตั้งแต่เรื่องทำกับข้าว ให้แสงสว่าง ขับไล่รากษส ติดต่อกับโลกอื่น ๆ ฯลฯ ซ้ำยังมีคุณธรรมที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง เช่นความยุติธรรม แม้บางครั้งอาจจะทำให้เกิดอัคคีภัยบ้าง แต่ส่วนมากก็เพราะความประมาทหรือความจงใจของตัวมนุษย์เอง หากมนุษย์ไม่ประมาทเลินเล่อ ซึ่งเป็นความผิดอย่างหนึ่ง พระอัคนีก็จะไม่เป็นภัยกับมนุษย์

    จึงอยากฝากบอกทุกท่านที่มีอำนาจ ว่าหากปฏิบัติตนดังเช่นพระอัคนี ใกล้ชิดผู้มีอำนาจน้อยกว่า หรือผู้อยู่ในความปกครองของตน  ช่วยเหลือเกื้อกูลเท่าที่ทำได้ ลงโทษตักเตือนเมื่อเห็นเขาทำผิด แล้วท่านก็จะเป็นที่รักที่เคารพของพวกเขา ไม่ต่างจากที่พระอัคนีเป็นที่เคารพของผู้นับถือเทพเจ้าครับ
    แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า สวัสดีครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×