ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คู่มือตำนานเทพเจ้ากรีก-โรมัน

    ลำดับตอนที่ #35 : อาร์เทมิส-Artemis คณะเทพวงศ์โอลิมเปียน

    • อัปเดตล่าสุด 26 ส.ค. 61






    เทพีแห่งดวงจันทร์ การล่าและพรหมจารี ธิดาแห่งซุสกับนางเลโต หนึ่งในสามเทพีพรหมจารี สัญลักษณ์ของเทพีอาร์เทมิสคือดวงจันทร์ ธนู กวางป่าและต้นไซเปรส พระนางมีชื่อในภาษาโรมันว่า “เดียน่า" หรือ "ไดอาน่า-Diana”  


    เทพีอาร์เทมิสมีชีวิตโลดโผนกว่าเทพีองค์อื่น เพราะโปรดการล่าสัตว์และชอบชีวิตโสด จนมหาเทพซุสประทานนางอัปสรผู้เป็นพรหมจรรย์ 50 นางให้เป็นบริวาร 


    สาเหตุที่พระนางไม่ต้องการมีความรัก ก็เพราะมีความหลังฝังใจจากที่นางเลโตต้องทรมานกับการคลอดพระนางกับเทพอพอลโล พระนางจึงไม่เชื่อในความรักและไม่ต้องการคู่ครอง 


    เทพีอาร์เทมิสวิงวอนให้เทพบิดาซุสสาบานว่าจะไม่จับคู่สมรสให้พระนางหรือให้พระนางสมรสไม่ว่ากรณีใด และให้พระนางเป็นเทพีผู้ครองพรหมจรรย์ ซึ่งเทพซุสก็สาบานโดยให้แม่น้ำสติกซ์ซึ่งไหลรอบนรกเป็นพยาน 


    ในตำนานนั้นกล่าวว่าเทพีอาร์เทมิสทรงสาบานตนเป็นเทพีพรหมจารี ร่วมกับเทพีอาธีนาและเทพีเฮสเทียต่อหน้าแม่น้ำสติกซ์ นางชิงชังชีวิตสมรส ความรัก และการยุ่งเกี่ยวกับผู้ชาย แต่สิ่งหนึ่งที่เทพีอาร์ทิมิสไม่ปฏิเสธคือการมีสหายเป็นชายที่รักการล่าสัตว์เช่นเดียวกับพระนาง



    เทพีอาร์เทมิส โดย  PinkParasol


    ถึงแม้จะเป็นเทพีพรหมจารี แต่ก็มีเรื่องราวอยู่ 2-3 เรื่องที่แสดงถึงการ(เกือบ)ละเมิดคำสาบานของพระนาง โดยเล่าว่า อาร์เทมิสสหายสนิท นามว่าโอไรออน เขาเป็นนายพรานผู้ฉมังในการล่าสัตว์ มีสุนัขคู่ใจชื่อว่าซิริอุส 


    ทุกๆวันเทพีอาร์เทมิสและสหายจะร่วมกันล่าสัตว์และพูดคุยกันอย่างสนุกสนานหลังจากล่าสัตว์เสร็จเทพีอาร์เทมิสหลงรักนายพรานหนุ่มและคิดที่จะสละความเป็นเทพีพรหมจารีย์เพื่อแต่งงานกับโอไรออน 


    อพอลโลรู้ถึงความคิดนี้เข้าและกลัวว่าอาร์เทมิสจะต้องรับโทษจากการผิดคำสาบานต่อหน้าแม่น้ำสติกซ์ จึงวางแผนที่จะล้มเลิกความคิดของน้องสาวฝาแฝด อพอลโลสั่งให้โอไรออนเดินลุยน้ำทะเลไปยังเกาะแห่งหนึ่งกลางทะเล และเมื่อโอไรออนเดินไปถึงยังจุดที่ไกลจนเมื่อมองจากเกาะดีลอสแล้วจะเห็นเพียงศีรษะของโอไรออนที่มองดูเหมือนกับเกาะกลางน้ำ


     เทพอพอลโลก็ชวนเทพีฝาแฝดมาล่าสัตว์แข่งกัน และท้าพนันให้อาร์เทมิสยิงธนูทะลุเกาะกลางทะเลที่อพอลโลชี้ให้ดูให้ได้ อาร์เทมิสตกหลุมพรางของเทพฝาแฝด เหนี่ยวสายธนูเต็มแรงจนลูกธนูทะลุศีรษะของโอไรออนถึงแก่ความตาย 


    เมื่ออาร์เทมิสทราบว่าตนได้ฆ่าชายที่รักลงด้วยน้ำมือของตนเองแล้ว พระนางก็เสียใจอย่างมากและไม่คิดจะรักผู้ใดอีกและได้นำศพของโอไรออนและซิริอุสสุนัขคู่ใจขึ้นไปไว้บนท้องฟ้าในตำแหน่งของกลุ่มดาวนายพรานและดาวสุนัขใหญ่ 



    ภาพวาดเทพีไดอาน่าของแดเนียล เซอริเทอร์- Daniel Seite เหนือศพของนายพรานโอไรออน (1658)


    อีกเรื่องหนึ่งคือ ขณะที่เทพีอาร์เทมีสขับรถเทียมม้าอยู่เหนือแคว้นแดนคอเรีย พระนางก็เห็นหนุ่มเลี้ยงแกะรูปงามนามว่า เอนดิเมียน-Endymion นอนหลับอาบแสงจันทร์อยู่ริมเขา ความงามของเจ้าหนุ่มเมื่อต้องแสงจันทร์เป็นที่น่าพิสมัยแก่เทพีอาร์เทมีสยิ่งนัก พระนางอดใจไม่ได้ถึงกับหยุดราชรถและลงมาจุมพิตหนุ่มน้อยเบาๆ ก่อนจะลอยเลื่อนกลับไป


    เอนดิเมียนกำลังเคลิ้มจิตอยู่ในภวังค์ ค่อยๆ ลืมเปลือกตาขึ้นอย่างช้าๆ เห็นเพียงภาพคลับคล้ายคลับคลาของเทพธิดาที่ไม่อาจปักใจได้ว่าเป็นเพียงความฝันหรือความจริง


    แต่เอนดิเมียนก็ฝังใจกับความฝันนั้น เขาเที่ยวซอกซอนค้นหาเทพธิดาในฝันไปตามที่ต่างๆ ทั้งเขาสูง ทุ่งกว้าง และทะเลลึก


    เรื่องราวล่วงรู้ไปถึงซูสมหาเทพ พระองค์ไม่ต้องการให้เกิดเรื่องอื้อฉาวแก่เทพีพรหมจารีผู้นี้ พระองค์จึงยื่นคำขาดแก่เอนดีเมียนว่าจะยอมตายด้วยวิธีหนึ่งตามแต่จะพึงประสงค์ หรือจะยอมนอนหลับโดยไม่ตื่นตลอดกาลในถ้ำบนยอดเขาแลตมัส


    เอนดิเมียนเลือกเอาประการหลัง ซึ่ง ณ ที่นั้น เอนดิเมียนยังคงนอนหลับไหลอยู่ตลอดกาล โดยมีเทพีอาร์เทมีสแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเขาอยู่ทุกค่ำคืน



    เทพีอาร์เทมิสและเอนดิเมียน โดย Franz Christoph Janneck  (1703–1761)


    นอกจากนี้ ยังมีตำนานหนึ่งที่แสดงถึงอุปนิสัยด้านโหดร้ายของเทพี โดยกล่าวถึงตำนานของนายพราน นามว่า แอคเตียน-Actaeon"  ที่บังเอิญพลัดหลงเข้าไปในป่าต้องห้าม 


    เขาผู้นี้น่าสงสารเป็นอย่างมากเพราะไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งบริเวณที่หลงทางถือเป็นเขตอาณาเขตของเทพีอาร์เทมิส เขาผู้นี้บังเอิญไปเจอเทพีอาร์เทมิสที่กำลังออกมาอาบน้ำเข้า เทพีอาร์เทมิสอาบน้ำอย่างสบายใจ โดยมีนางอัปสรหลายต่อหลายตนค่อยดูแลอยู่ไม่ห่าง 


    ด้วยความงามของเทพีอาร์เทมิส ที่มีผิวขาวนวลเหมือนแสงจันทร์ เส้นผมเปล่งประกายคล้ายทองคำที่ถูกส่องด้วยแสงอาทิตย์ ทำให้นายพรานหนุ่ม แอบดูอยู่ในพุ่มไม้บริเวณใกล้ๆนั้นแบบไม่วางตา แม้จะรู้สึกเกรงกลัวในฤทธิ์เดชของเทพีองค์นี้อยู่ไม่น้อย 


    โชคร้ายที่พระเทพีก็ได้เหลือบไปเห็นแสงประกายแสนแปลกประหลาดที่โผล่ออกมาจากพุ่มไม้ จึงรู้สึกผิดสังเกตและรับรู้ได้ว่ามีใครบางคนกำลังแอบดูพระนางอยู่ 


    เทพีอาร์เทมิสรู้สึกพิโรธเป็นอย่างมากที่ถูกแอบถ้ำมอง เมื่อนายพรานรู้ตัวว่าพระเทพีจับได้ว่าตนแอบกระทำการมิชอบ ก็คิดจะหนี แต่ว่าพระเทพีเทพีอาร์เทมิสก็ได้ใช้มือตักน้ำขึ้นมาสาดไปถูกนายพรานหนุ่มอย่างเต็มแรง ซึ่งเมื่อนายพรานโดนน้ำก็กลายร่างไปเป็นกวางป่าไป 


    นายพรานในร่างของกวางพยายามวิ่งหนีอย่างสุดกำลังเพื่อหวังจะออกไปเพื่อขอความช่วยเหลือจากใครสักคน แต่บังเอิญได้ไปพบกับสุนัขล่าเนื้อของตนเข้า แต่สุนัขตัวนี้ดันจำไม่ได้ว่าเป็นนายของตนจึงไล่กัดนายจนนายของมันวสิ้นชีวิตไป



    อาร์เทมิสและแอคเตียน โดย Louis Galloche (1670 – 1761, ฝรั่งเศส)



    ยังมีเรื่องต่อ พระราชานามว่า “ท้าวโอนีอัส” แห่งเมืองคาลีดอน เกิดลืมการถวายเครื่อสักการะแด่พระเทพี พระเทพีกริ้วอีกแล้ว…ทรงบันดาลให้วัวป่าที่บ้าคลั่งเข้าโจมตีทำลายเมืองคาลีดอน และวัวป่านั้นสังหารเชื้อพระวงศ์และครอบครัวของท้าวโอนีอัสสิ้นพระชนม์สิ้น นี้เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมจากพระเทพีพระองค์นี้


    ยังมีอีก พระเทพีเคยลงทัณฑ์นางไม้ผู้น่าสงสารที่ถูกเทพซุสปลุกปล้ำจนได้นางเป็นชายา นางคือ “คัสลิสโต” เทพีอาร์เทมิสจะว่าอะไรเทพซุสผู้เป็นบิดาได้ จึงลงมือกับนางไม้คัสลิสโตผู้น่าสงสารโดยสาปในนางกลายเป็นหมีไป แค่นั้นไม่พอ นางคัสลิสโตมีพระโอรสให้เทพซุส แต่ไม่ทราบว่าหมีตัวนั้นเป็นพระมารดาจึงสังหารยิงหมีตัวนั้นตายกับหมี มาทราบภายหลังว่าหมีนั้นเป็นพระมารดาที่ถูกเทพีอาร์เทมิสสาป เขาฆ่าแม่ของเขาลงกับมือ และเขาก็ฆ่าตัวเองตายตามผู้เป็นมารดาไป เทพีอาร์เทมิสทราบว่าพระองค์ผิดจึงเนรมิตให้สองแม่ลูกไปเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า คือ ดาวหมีเล็ก กับ ดาวหมีใหญ่


    นอกจากนี้ชาวกรีกยังได้สร้างวิหารอาร์เทมิส โดยเป็นวิหารสร้างด้วยหินอ่อน เพื่อถวายเทพีอาร์เทมีส ผู้มาจากสวรรค์ ผู้ช่วยชาวเมืองให้พ้นจากหายนะและภัยพิบัติได้ อยู่ในเมืองอีเฟซุส บนชายฝั่งแห่งหนึ่ง (ซึ่งปัจจุบันนี้ คือประเทศตุรกี) ในรัชสมัยของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ จัดเป็นวิหารที่สวยงามแห่งหนึ่งจนกลายเป็นที่รู้จักว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคเก่า แต่วิหารแห่งนี้ได้ถูกทำลายสิ้น จนเหลือแต่ซากปรักหักพัง



    ซากวิหารเทพีอาร์เทมิส ณ เมืองอีเฟซุส ประเทศตุรกี

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×