คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #394 : (เฮ้ย! จริงเหรอ!! แบบแมวๆ) คดีปล้นเงินสามร้อยล้านเยน กับคดีลึกลับ
Montage เป็นการ์ตูนแนวระทึกขวัญ ผลงานของ Jun Watanabe (คนวาดคนนี้วาดหลายแนว ส่วนมากก็แนวผู้ใหญ่หน่อย ต่อยตี เลือดอาบ ประมาณนี้แหละ) โดยตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2010 -2015 รวมเล่ม 19 เล่มจบ ของสำนักพิมพ์โคดันฉะ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนทำทีวีซีรีย์ ฉายทางฟูจิทีวีเร็วๆ นี้
เนื้อหาของมังงะ เป็นเรื่องของยามาโตะ นารุมิ ขณะที่เขาเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ เขากับเพื่อนสมัยเด็ก (อายุมากกว่า) นามิ โอดากิริได้พบตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงจนเลือดท่วม กำลังเสียชีวิตในตรอกตึกท่ามกลางฝนตก ก่อนที่ตำรวจนายนั้นจะเสียชีวิตเขาได้บอกที่ซ่อนเงิน 300 ล้านเยน มันถูกซ่อนในเกาะร้างผีสิงฮาชิมะที่ซึ่งไม่มีใครหาพบ
ย้อนกลับไปก่อนหน้าเล็กน้อย ประเทศญี่ปุ่นกำลังเกิดคดีปล้นอุกอาจคดีหนึ่ง คือคดีปล้นเงิน 300 ล้านเยน คดีนี้คนร้ายวางแผนรถขนเงิน เชิดเงินหนีเข้ากลีบเมฆ แม้จะมีการสืบสวนอย่างเข้มข้น แต่สุดท้ายคดีก็มาถึงทางตัน โดยไม่สามารถจับผู้ต้องสงสัยได้เลย และต่อมาคดีปล้นเงิน 300 ล้านเยนก็กลายเป็นคดีในตำนานของญี่ปุ่นจนถึงบัดนี้
อย่างไรก็ตาม ยามาโตะนั้นไม่ได้สนใจเรื่องเงิน 300 ล้านเยนมากนัก เพราะสิ่งที่เขาสนใจคือมันเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของพ่อของเขา เท็ตสึยะ นารุมิ ซึ่งหายไปแบบไม่มีใครพบศพ ทำให้เขาไม่มีครอบครัว แต่โชคยังมีดีที่ครอบครัวของนามิได้ช่วยเหลือ เลี้ยงดู จนหกปีต่อมาเขาก็เป็นเด็กมัธยมปลาย และมีชีวิตที่สงบสุขดี แต่จิตใจฝันร้ายเกี่ยวกับคดี 300 ล้านเยนยังคงหลอกหลอนเขาอยู่ เขาจะต้องรู้ให้ได้ว่าความจริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับพ่อของเขากันแน่ และคดี 300 ล้านเยนใครอยู่เบื้องหลัง และนั้นเองทำให้เขากับเพื่อนสมัยเด็กมุ่งไปยังเกาะผีสิงฮาชิมะ โดยหารู้ไม่ว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของการไล่ล่าระทึกขวัญในเวลาต่อมา
Montage เป็นการ์ตูนที่สนุก แต่ปัญหาคือจะต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาพอสมควร เพราะการดำเนินเรื่องเหมือนภาพยนตร์แนวไล่ล่าเรื่องหนึ่ง ที่มีตัวละครที่มีที่มาที่ไปซับซ้อน การเล่าเรื่องที่ไม่ได้เน้นที่ตัวเอก โดยส่วนตัวแล้วผมดูแค่ภาพ (อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก) ซึ่งหากแต่แปลไทยก็น่าจะรู้เรื่องมากกว่านี้ (ก็หวังว่าจะมีลิขสิทธิ์ไทย) หากแต่บทความนี้ไม่ได้เจาะการ์ตูนเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะจะพูดถึงคดีปล้นเงิน 300 ล้านเยนที่นำมาอ้างอิงในเรื่อง และคดีฆาตกรรมลึกลับของญี่ปุ่นมากกว่า
แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสถิตการเกิดอาชญากรรมน้อยที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่มีคดีฆาตกรรมเสียทีเดียว เพราะที่ผ่านมานั้นมีคดีอาชญากรรม และคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นมากมาย และหลายคดีกลายเป็นคดีตำนานของประเทศ ในเรื่องความลึกลับ น่ากลัว และถูกนำมาใช้อ้างอิงในการ์ตูนอยู่บ่อยครั้ง
อย่าง Montage ก็ได้อ้างอิงถึงคดีปล้นเงิน 300 ล้านเยน ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริง และเป็นหนึ่งในคดีในตำนานของญี่ปุ่น โดยเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1968 พนักง่าน 4 คนของธนาคารนิฮอน ชินตากุ จินโกะ (ปัจจุบันคือธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ชินตากุ จินโกะ) ได้รับคำสั่งจากลูกค้าให้นำเงิน 294,307,500 เยน นำส่งไปยังบริษัทโตเกียว ชิบาอุระ อิเลคทริค (ปัจจุบันคือบริษัทโตชิบา) ที่อยู่ชานกรุงโตเกียว แที่อยู่ห่างออกไปอีกไม่ถึง 200 เมตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็หยุดกลางทาง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหนุ่มนายหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์มาเทียบแล้วบอกให้หยุดรถ โดยตำรวจนายนั้นได้บอกเตือนพนักงานธนาคารว่ารถขนเงินอาจถูกวางระเบิด (ก่อนหน้านั้น ไม่นานก็มีคดีบริษัทถูกขู่วางระเบิด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้าย) ดังนั้นจึงขออนุญาตตรวจค้นรถให้ละเอียดก่อนที่จะเดินทางต่อ
พนักงานทุกคนเชื่อคำเตือนของตำรวจนายนั้น พวกเขาเลยยอมลงจากรถให้ตำรวจทำการตรวจค้น ตำรวจก้มลงดูที่ใต้ท้องรถ ทันใดนั้นก็เกิดเสียงดังและมีควันพวยพุ่งออกมา ตำรวจตะโกนบอกให้ทุกคนหลบหาที่กำบัง
พนักงานธนาคารต่างคิดว่ารถจะระเบิด จึงวิ่งหนีกระเจิดกระเจิง ในระหว่างที่กำลังวุ่นวายอยู่นั้น ตำรวจก็รีบขึ้นรถขนเงินและขับหายไปทันที โดยกว่าที่พนักงานจะรู้ว่าถูกหลอก คนร้ายก็หนีไปไกลแล้ว
มีการสืบสวนอย่างเข้มข้น เพราะเป็นคดีอุกอาจและเป็นคดีสำคัญ กจากหลักญานที่ได้มา พบว่าระเบิดที่ตำรวจปลอมที่ใช้หลอกพนักงานนั้นเป็นเพียงแค่พลุเท่านั้น และหลักฐานสำคัญที่คนร้ายทิ้งเอาไว้คือจักรยานยนต์ตำรวจยามาฮ่า สปอร์ต รุ่น 350R1 (แตกต่างกับจักรยานยนต์ที่ตำรวจญี่ปุ่นใช้กัน และคนร้ายดัดแปลงให้เหมือนรถตำรวจ) ซึ่งน่าจะเป็นรถถูกขโมยมา จึงไม่มีหลักฐานที่สาวไปถึงตัวคนร้ายมากนัก
ต่อมาก็ได้ตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายหนุ่มอายุ 19 ปี บุตรชายตำรวจมอเตอร์ไซค์นายหนึ่ง หากแต่ว่าผู้ต้องสงสัยได้กินไซยาไนด์ไปแล้วหลังจากเกิดเหตุเพียง 5 วัน (เชื่อว่าเป็นการฆ่าตาย) และจากการค้นบ้านตำรวจไม่พบหลักฐานใดๆ ก่อนที่จะประกาศเป็นผู้บริสิทธิ์ตามรายงานของทางการ
ตำรวจสเกตช์ภาพใบหน้าคนร้าย ทำสำเนากว่า 780,000 ใบติดกระจายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น มีรายชื่อผู้ต้องสงสัยกว่า 110,000 ชื่อ และ 170,000 ตำรวจข้าร่วมสืบสวนในคดีนี้ มีการสืบประวัติผู้ต้องสงสัยกว่า 110,000 คน สูญเสียงบประมาณในการสืบสวนไปกว่า 900 ล้านเยน หรือมากกว่า 3 เท่าของเงินที่คนร้ายปล้นไป แต่ก็ยังควานหาตัวคนร้ายไม่พบ
หลังจากนั้นการสืบสวนก็มาถึงทางดัน แม้จะมีหลักฐานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ พบรถขนเงิน พบรังที่คาดว่าเป็นที่กบดานของโจร แต่พวกเขาไม่สามารถหาเงิน 300 ล้านเยนว่าซ่อนอยู่ที่ใด รวมไปถึงตัวตนปริศนาของตำรวจปลอม พวกเขาก็ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเขาคือใคร ทำให้คดีปล้นเงิน 300 เยน หมออายุ กลายเป็นตำนานคดีปริศนาของญี่ปุ่นไปโดยบริยาย
นอกเหนือจาก Montage ที่เอาคดีปล้นเงิน 300 ล้านเยนมาใช้อ้างอิงแล้ว อย่างคินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา ตอนคดีฆาตกรรมปราสาทหุ่นขี้ผึ้ง (หรือ คดีฆาตกรรมคฤหาสน์หุ่นขี้ผึ้ง) ก็มีการกล่าวถึงคดีนี้ในช่วงตอนท้ายที่เฉลยตัวฆาตกร โดยตัวฆาตกรเป็นหนึ่งในผู้ร่วมปล้นเงินรถขนเงิน โดยใช้อุบายทิ้งหลักฐานจำนวนมาก หากแต่หลักฐานนี้เป็นหลักฐานปลอมที่ทำให้การสืบสวนถึงทางตัน จนคดีหมดอายุความ
ยังมีคดีลึกลับที่การ์ตูนญี่ปุ่นเอามาอ้างอิง ซึ่งผมก็ขอยกมาสามคดีละกัน
คดีฆาตกรรมปล้นธนาคารโตเกียว หรือหลายคนเรียกว่า คดี“ซาดะมิชิ ฮารุซะวะ” คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อในช่วงเช้าของวันที่ 26 มกราคม 1948 มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งมาในธนาคารเตโกกุ ชานเมืองโตเกียว ก่อนเวลาธนาคารจะเปิดทำการ ชายดังกล่าวอายุประมาณวัยกลางคน แต่งตัวภูมิฐานเหมือนคนมีการศึกษา เขาขอพูดกับผู้จัดการธนาคารโดยแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ถูกส่งมาด้วยสหรัฐอเมริกา ที่มีคำสั่งให้ฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ข้าราชการของรัฐเพื่อป้องกันโรคบิด ซึ่งเป็นโรคระบาดอันตรายที่เกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียง
ผู้จัดการและพนักงานธนาคารเชื่อคำอ้างของชายคนดังกล่าว เพราะว่าชายดังกล่าวมีบุคลิกดี น่าเชื่อถือ และไม่มีพิรุธน่าสงวัยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ผู้จัดการเลยเรียกพนักงานทั้งหมดในธนาคารกว่า 16 ชีวิตมารวมตัวกันในห้องทำงาน เนื่องจากยังเป็นตอนเช้า ธนาคารยังไม่เปิด อีกทั้งหลายคนคิดว่าการรับยาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อพนักงานทั้ง 16 คนรับยาดังกล่าวหมด ก็ไม่คาดคิดเลยว่ายาที่พวกเขาได้รับคือยาไซยาไนด์ชนิดละลาย ทำให้พนักงานทั้งหมดล้มระเนระนาดลงไปกับพื้นเกือบทันที บางคนขาดใจตายทันทีที่ทรุดลง จากนั้นผู้เชี่ยวชาญที่ส่งมาเป็นผู้รักษาโรคก็กลายเป็นโจรปล้นธนาคาร เขากวาดเงินเท่าที่เขาพบได้เป็นจำนวน 160,000 เยน(600 ดอลลาร์ในขณะนั้น) ซึ่งถือว่าน้อยมาก และเมื่อโจรและเงินจำนวนดังกล่าวก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
เวลาต่อมาก็มีคนได้ยินเสียงครางแปลกๆ และเสียงกรีดร้องขอความช่วยเหลือจึงเดินไปตามเสียงนั้นก็ไปพบพนักงานล้มระเนระนาดดังกล่าว เลยรีบตามคนมาช่วยและแจ้งแพทย์และตำรวจ พนักงานเสียชีวิตคาที่ก่อนหน้านี้แล้วไปถึงสิบคน และสองคนเสียชีวิตอย่างทรมานที่โรงพยาบาล
เนื่องจากเป็นคดีอุจอาจทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงโตเกียวพยายามอย่างมากในการตามหาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้จงได้ จนกระทั่งพบผู้ต้องสงสัยเป็นชายคนคนหนึ่งชื่อ ซาดะมิชิ ฮารุซะวะ และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ก่อนที่จะตายในคุกในเวลาต่อมา ซึ่งแน่นอนยังคงมีหลายคนสงสัยว่าเขาเป็นฆาตกรตัวจริงหรือไม่ เพราะมีหลายเงื่อนงำที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทำให้คดีนี้กลายเป็นหนึ่งในคดีปริศนาของญี่ปุ่นอีกคดีหนึ่ง
คดีฆาตกรรมปล้นธนาคารโตเกียว ถูกนำไปอ้างอิงตอนเปิดเรื่อง (จำไม่ได้ว่าตอนที่เท่าไหร่) ของอนิเมะเรื่อง Mouryou no Hako ปริศนาแห่งกล่องภูติพราย ซึ่งมีการกล่าวถึงคดีดังกล่าว แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องแต่อย่างใด
จากการ์ตูนเรื่อง Billy Bat
Billy Bat การ์ตูนแนวทฤษฏีสมคบคิด ที่เนื้อหาสุด งง ก็มีการแทรกคดีฆาตกรรมลึกลับของญี่ปุ่นอีกคดีหนึ่ง นั้นคือคดีเสียชีวิตอย่างปริศนาของชิโมยามะ ซาดาโนริ (Shimoyama Sadanori) ประธานคนแรกของการรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (เจเอ็นอาร์)
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1949 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม มีการพบศพ ชิโมยามะ ซาดาโนริ หลังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานการรถไฟไม่นาน ก่อนหน้านั้น เขามีส่วนรับผิดชอบแผนการปลดพนักงานของเจเอ็นอาร์ขนานใหญ่ ด้วยการปลดพนักงานถึง 30,000 ตำแหน่ง
ในวันที่เกิดเหตุนั้นเขาได้ออกจากบ้าน เวลา 8.20 น. และแวะไปสถานที่ต่างๆ ก่อนที่จะหายไปตัวไป ซึ่ง ศพของนายชิโมยามะ ถูกพบในสภาพแหลกเหลวบนรางรถไฟสายโจบัน ซึ่งอยู่ระหว่างสถานี คิตะ-เซนจู และสถานีอายาเซะ ตำรวจระบุว่า เขาถูกรถไฟชนจนเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผลการชันสูตรศพกลับบอกว่านายชิโมยามะ เสียชีวิตก่อนที่เขาจะถูกรถไฟชน และพบอาการเลือดออกภายในซึ่งสามารถทำให้เสียชีวิต อาจมีสาเหตุจากการถูกกระแทก เช่น การเตะ จนถึงทุกวันนี้คดีการเสียชีวิตของ ชิโมยามะ ซาดาโนริยังไม่แน่ชัดจนถึงวันนี้ว่าเป็นการฆ่าตัวตายหรือการฆาตกรรม
แม้ว่าปริศนาการเสียชีวิตของชิโมยามะ ซาดาโนจะเป็นปริศนา แต่ Billy Bat ก็ได้ใช้ทฤษฏีว่าชิโมยามะถูกฆาตกรรม โดยกลุ่มที่ขัดผลประโยชน์ โดยใช้กำลังคนหลายคนรุมทำร้ายจนตาย แล้วเอาศพไปทับรถไฟเพื่ออำพราง
และคดีสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นคดีฆาตกรรมในตำนานของญี่ปุ่นที่สังหารบุคคลที่เราท่านๆ คุ้นกันดี นั่นคือคดีลอบสังหารซากาโมโต้ เรียวมะ บุคคลสำคัญที่โค่นล้มรัฐบาลรัฐบาล โตกุกาวะ ที่ปกครองแบบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนานได้สำเร็จ แต่น่าเสียดายที่เรียวมะไม่มีโอกาสจะได้เห็นญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่เขาอุตส่าห์สร้าง เพราะเขาเสียชีวิตในช่วงที่คืนอำนาจให้จักรพรรดิญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1867 ในตอนเย็น นากาโอกะ ชินทาโร่เพื่อนร่วมสาบานของเรียวมะก็ได้มาขอพบเรียวมะที่พักในโรงแรมเกียวโต เพื่อถกเถียงเรื่องการเมือง จนกระทั่งเวลาประมาณ 2 ทุ่มก็มีคนกลุ่มหนึ่งได้มาขอพบเรียวมะ พอคนรับใช้กำลังขึ้นเพื่อบอกให้เรียวมะรู้ก็ถูกคนกลุ่มนั้นใช้ดาบฟันข้างหลังตาย และกลุ่มดังกล่าวก็บุกเข้าห้องเรียวมะและจัดการฟันเรียวมะแบบไม่ทันตั้งตัว ดาบแรกฟันที่เหนือหน้าผากของเรียวทะ จนแทบล้มทั้งยืน ส่วนชินทาโร่พยายามต่อสู้แต่ก็แพ้โดนฟันหลายแผล และเมื่อกลุ่มคนเห็นว่าทั้งสองคงไม่รอดแน่แล้วจึงจากไป ทิ้งเรียวมะและชินทาโร่ที่เลือดท่วมใกล้ตายอยู่เบื้องหลัง เรียวมะเสียชีวิตจากที่เกิดเหตุ (ในขณะอายุ 31 ปี) ส่วนชินทาโร่เสียชีวิตในวันต่อมา
ปัจจุบันเหล่ามือสังหารเรียวมะยังไม่สามารถระบุว่าเป็นใคร ทฤษฏีที่น่าสนใจที่สุดคือน่าจะเป็นคอนโด้ แห่งชินเซ็นกุมิ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา และจงรักภักดีกับรัฐบาลโชกุน ซึ่งภายหลังคอนโด้ผู้นำของกลุ่มได้พ่ายแพ้แก่ซัตสึมะและโจชูได้ถูกประหารชีวิตเพราะเชื่อว่าเป็นคนสังหารเรียวมะ หรือไม่ก็เป็นกลุ่มสนับสนุนโชกุนอีกหลายกลุ่มแต่ทว่าจนบัดนี้ก็ไม่มีใครทราบฆาตกรตัวจริงแต่อย่างใด
ก็คร่าวๆ เพียงเท่านี้ สิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับการอ้างอิงอาชญากรรมในการ์ตูนญี่ปุ่น นั้นคือบ้านเขาต้องการให้จดจำสิ่งเหล่านี้ ไม่ให้ลืมเลือน มักหยิบประเด็นใหม่ๆ มาเล่ม อ้างอิง เสมอ ตรงกันข้ามกับบ้านเรา คดีอาชญากรรมนั้น เราเน้นให้ลืม มากกว่าจะให้จดจำ เราเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อเอาเป็นแบบอย่าง หากแต่เป็นการปกป้องไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา หรือคนอื่น
ความคิดเห็น