คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #368 : (ดูการ์ตูนตามกระแส) เรื่องปวดหัวเวลาที่ผมดูนักสืบจิ๋วโคนัน
เมื่อนานมาแล้ว ผมได้เขียนบทความอวยคินดะอิจิมาแล้ว มาคราวนี้ผมก็เขียนบทความเกี่ยวกับโคนันบ้าง แม้สิ่งที่ผมเขียนตรงนี้อาจไม่ค่อยอวยสักเท่าไหร่ แต่มันเหมือนการระบายสิ่วที่คาใจของโคนันตลอดหลายปีที่ผ่านมามากกว่า
สำหรับบทความนี้ผมจะไม่ลงลึกอะไรมาก เพราะหากลงลึกมันจะโครตยาว อีกทั้งผมเลิกดูโคนันไปนานแล้ว ดังนั้นผมก็ขอเขียนอะไรแบบภาพรวมของการ์ตูนเรื่องนี้ละกัน มันก็คล้ายๆ กับการระบายของผม ที่เคยอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ และมันยังคงคาใจจนถึงตอนนี้มากกว่า
ก็อย่างที่ผมบอกว่าผมเลิกอ่านโคนันไปแล้ว ดังนั้นผมขอพูดเรื่องของโคนั้นโดยอิงจากเล่ม 1-15 ,1-20 (ประมาณนี้แหละ ลืมไปแล้วว่าเลิกอ่านเล่มไหน และชุดหนังสืออยู่ไหนไม่รู้)
ก่อนที่จะเริ่มเนื้อหา ผมก็ถามอะไรง่ายๆ สำหรับคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ว่า ท่านยังคงติดตามนักสืบจิ๋วโคนันอยู่หรือเปล่าหากตามอยู่เพราะอะไร หรือ เลิกตามแล้วเพราะอะไร
พูดถึงโคนัน หลายคนก็ต้องรู้จัก เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในตำนานการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง โดย Conan ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องยาวแนวสืบสวนสอบสวน เรื่องและภาพโดย อาโอยาม่า โกโช ซึ่งตีพิมพ์บนนิตยสารรายสัปดาห์โชเน็งซันเดย์ ตั้งแต่ปี 1994 และโด่งดังเรื่อยมา ไม่เกพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นทั่วโลก ในไทยลิขสิทธิ์โคนันเป็นของวิบูลย์กิจ
ปัจจุบันซีรีย์โคนันก็ยังไม่จบ มังงะฉบับรวมเล่มก็ใกล้จะเข้าหลัก 100 แล้ว (ตอนที่เขียนบทความ ล่าสุด 87 เล่ม) ส่วนอนิเมะก็เรื่อยๆ ใกล้จบครบ 1,000 ตอน (ตอนนี้ได้ไป 800 ตอนแล้ว) จำนวนรวมเล่มและจำนวนอนิเมะบ่อบอกว่าความนิยมของโคนัน และนอกจากนี้โคนันก็ยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์จอเงิน และซีรีย์คนแสดง (ไม่นับพวกหนังสือสำหรับเด็กแบบต่างๆ
โคนัน เป็นเรื่องราวของพระเอกขี้เก๊กคนหนึ่ง คุโด้ ชินอิจิ นักสืบนักเรียนมัธยมปลายวัย 17 ปี ที่ทำอะไรก็เก่งไปหมด และมีชื่อเสียงว่าเป็น "ยอดนักสืบแห่งปีเฮย์เซย์" เพราะสามารถไขคดีปริศนายากๆ มากมายนับไม่ถ้วน
จนกระทั่งวันหนึ่ง คุโด้ไปเที่ยวสวนสนุกกับเพื่อนสมัยเด็กชื่อโมริ รัน และระหว่างเล่นรถไฟเหาะก็เจอคดีฆาตกรรม (ซึ่งผมก็สงสัยว่า มันคิดบ้าอะไรไปฆ่าคนในขณะเล่นรถไฟเหาะฟ่ะ ไปฆ่าที่คนไม่เห็น แล้วฝังมิดมันไม่ง่ายกว่าเหรอ) และเมื่อไขคดีเสร็จตามระเบียบ คุโด้เกิดสนใจชายชุดดำกำลังลับล่อๆ ทำอะไรบางอย่าง เขาเลยแอบดู หากแต่เขาก็ชายชุดดำอีกคนได้แอบลอบทำร้ายด้านหลัง แล้วถูกจับกรอกยาพิษปริศนา ที่ชายชุดดำเชื่อว่ามันจะกำจัดหลักฐานแบบหมดจด แต่แทนที่ยาพิษนี้จะทำให้คุโด้ตาย มันกลับทำให้ชินอิจิตัวเล็กลงจนกลายเป็นเด็กอายุ 7 ขวบ
เมื่อคุโด้ฟื้น แล้วตั้งตัวได้ เขาก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เอโดงาวะ โคนัน ด้วยความช่วยเหลือของดร.อากาสะ ฮิโรชิ และเพื่อสืบหาเบาะแสร่องรอยของชายชุดดำและเพื่อนำยาแก้พิษกลับมา จึงได้ไปอยู่กับโมริ รันเพื่อนตั้งแต่สมัยเด็กที่สำนักงานนักสืบโมริ ซึ่งพ่อของรัน โมริ โคโกโร่เป็นนักสืบเอกชน แต่ทว่าโคโกโร่เป็นนักสืบที่พึ่งพาไม่ได้เลย โคนันซึ่งเป็นร่างเด็กของชินอิจิจึงได้ใช้อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์โดยดร.อากาสะ ฮิโรชิ ช่วยคลี่คลายคดีต่างๆแทน และนั้นทำให้โคโกโร่เพื่อให้โคโกโร่มีชื่อเสียงขึ้นมา และรอผู้จ้างวานที่จะได้เบาะแสของชายชุดดำ (แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีเบาะแสใหม่ๆ เลย)
นอกจากนี้ คุโด้ในร่างของเด็กจึงต้องกลับไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนประถมเทตันใหม่อีกครั้ง ที่นั้นเขาได้พบเพื่อนใหม่อย่าง โยชิดะ อายูมิ, ซึบุรายะ มิซึฮิโกะ, และโคจิมะ เก็นตะที่ชอบลากเขาเล่นเป็นนักสืบแล้วไปเจอปัญหาหรือเหตุร้ายต่างๆ ด้วย และต่อมาเขาก็ได้รู้จักไฮบาระ ไอ มีโค้ดเมว่าเชอร์รี่อดีตสมาชิกองค์กรชุดดำ และได้กินยาพิษแบบเดียวกับคุโด้และกลายเป็นเด็กประถมด้วย (หลายคนบอกว่าไฮบาระน่าจะเป็นนางเอกมากกว่า)
ยอมรับว่าสมัยประถมนั้นผมโครตอวยโคนันครับ อวยมากๆ เคยวาดภาพโคนัน เคยคิดจะซื้อมังงะญี่ปุ่นแท้ เคยสั่งซื้อโคนันวิบูลย์กิจทั้งๆ ที่เล่มที่สั่งมันยังไม่ตีพิมพ์ (แถมเงินโดยเชิดอีกต่างหาก)
โคนันเป็นผลงานของอาโอยาม่า โกโซ ที่สร้างชื่อเสียงจากการ์ตูนไยบะ และโคนันก็เป็นการ์ตูนในตำนานที่มีอายุยาวนานพอดู ช่วงที่โคนันออกมาใหม่ๆ ช่วงนี้แนวการ์ตูนญี่ปุ่นดังๆ ก็คือแนวนักสืบ สอบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นผลมาจากการตีพิมพ์การ์ตูนคินดะอิจิยอดนักสืบ และในช่วงหนังก็มีการ์ตูนแนวสักสืบออกมาเยอะทั้งดังบ้าง ไม่ดังบ้าง (ที่รู้จักกันบ้างก็ เป็นต้นว่า Monster (1994))
แม้จะเป็นการ์ตูนแนวนักสืบ-สืบสวนสอบสวนเหมือนกัน แต่การดำเนินเรื่องโคนันนั้นแตกต่างจากคินดะอิจิค่อนข้างมาก โคนันนั้นเน้นกลุ่มเด็กประถม-มัธยมต้น แม้ว่าคนเก่าๆ ที่เลิกอ่านโคนันแล้ว แต่ฐานคนรุ่นใหม่ก็ยังคงหนาแน่น (จึงเป็นเหตุผลหลักที่แม้หลายคนเลิกอ่านโคนัน แต่โคนันยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย)
คดีของโคนันนั้น ค่อนข้างสั้นกว่าคินดะอิจิ ในขณะที่คดีของคินดะอิจินั้นคดีหนึ่งกว่าจะจบก็หลายตอน (คร่าวๆ รวมเล่มสองเล่ม) แต่ของโคนันนั้นเป็นคดีสั้นๆ ไม่กี่ตอนก็จบ
ในขณะที่คินดะอิจิจะเน้นคดีที่พิศวง ห้องปิดตาย อ้างฐานที่อยู่ โดยมีเรื่องเหนือธรรมชาติ ลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้อง และคนร้ายทำไปเพราะความแค้นที่ฝังรากลึก แต่ของโคนันนั้นจะเน้นคดีฆาตกรรมที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมากกว่า (คือยิง, แทง, วางยาพิษ) สภาพศพไม่ได้โหดร้าย ไม่ค่อยพิสดารสักเท่าไหร่ แม้จะมีเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติมาเกี่ยวข้องบ้างก็ตาม และส่วนคนร้ายที่ฆ่าคนนอกจากจะมีความแค้นในตัวเหยื่อแล้ว ยังมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง, ปกปิดความชั่วของตนเอง ซึ่งไม่ค่อยมีประเด็นน่าสงสารมากนัก
และที่สำคัญกลอุบายของแต่ละคดีของโคนัน ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนคินดะอิจิ คดีบางอย่างเป็นกลอุบายง่ายๆ ที่คิดไม่กี่นาทีก็พอจะไขได้ อารมณ์เหมือนนิยายนักสืบถูกๆ (แบบไขปริศนาเล่มละไม่กี่บาทประมาณนั้น) แต่กระนั้นก็เป็นกลอุบายที่หลากหลายดี ทั้งอ้างฐานที่อยู่, สร้างหลักฐานเท็จ, ห้องปิดตาย ไปจนถึงปริศนาเชาว์ต่างๆ
ภาพรวมของโคนัน แม้จะมีเรื่องคดีฆาตกรรมมาเกี่ยวข้อง แต่เนื้อหาการดำเนินเรื่องไม่ได้โหดร้ายอะไรมากมาย ส่วนมากหนักไปทางชีวิตประจำวันเรื่อยๆ เปื่อยของโคนัน เช่นไปเที่ยวโน้น ไปเที่ยวนี้ วันนี้ไปสวนสนุก วันนี้ไปห้าง วันนี้ไปสนามบิน และทุกทีที่ไปก็มีคนตาย โดยมิได้นัดหมาย จนหลายคนบอกว่า “เด็กหายนะ ตัวซวย” ชัดๆ และกลายเป็นมุกที่หลายคนจดจำ ว่าโคนันไปไหนก็มีคนตายที่นั้น
โคนันเป็นหนึ่งในการ์ตูนดังระดับตำนาน ที่หลายคนต้องรู้จัก รวมไปถึงมุกที่เราแซวการ์ตูนเรื่องนี้มากมาน ไม่ว่าจะเป็น โคนันตัวซวย โมรินักสืบกาก เมื่อไหร่โคนันจะโต ยัยรันหัวแหลมทิ่มตา ฯลฯ มากมายสารพัดล้วนเป็นเอกลักษณ์ของการ์ตูนเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโคนันจะเป็นการ์ตูนดังระดับตำนาน แต่กระนั้นสำหรับบางคนแล้ว โคนันเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่หลายคนสามารถเลิกอ่านทุกเมื่อ แม้จะติดตามมานานแล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อเรื่องไม่ค่อยเดิน แม้จะมีข่าวว่าโคนันกำลังถึงจุดไคแม็กซ์ก็ตาม (ไคแม็กซ์ที่ว่าคือเนื้อเรื่องเดินแล้ว ไม่ใช่ใกล้จบแต่อย่างใด) จนหลายคนเอามาแซวว่า เมื่อไหร่โคนันจะโตสักที
แม้ว่าโคนันจะมีหลายตอนแล้วก็ตาม แต่สต็อปดำเนินเรื่องก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลย หลักๆ คือ ช่วงแรกโคนันกับเพื่อน ๆ (ขึ้นอยู่ว่าไปกับใคร) ไปเฮฮ่าปาร์ตี้ในสถานที่ต่างๆ แล้วสถานที่นั้นๆ ก็มีตัวละคร (ผู้ต้องสงสัย) ให้ได้รู้จัก จากนั้นก็เกิดคดี คนตาย (คนหาย, ของหาย ก็ว่าไป) จากนั้นโคนันก็สืบสวน หาหลักฐาน หาทริก รู้ตัวคนร้าย (เพียงไม่กี่ตอน) จากนั้นก็ไขคดี โดยใช้ตัวแทนเงา (โมริ, ด็อกเตอร์ ตำรวจอะไรก็ว่าไป ) ซึ่งเฉลี่ยคดีหนึ่งจะจบ 3-4 ตอน หากคดีใหญ่หน่อยก็เล่มเดียวจบ เป็นแบบนี้ซ้ำไปหลายคดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลายคนที่ทำให้เกิดเบื่อสต็อปแบบนี้ที่ไม่ค่อยมีอะไรพัฒนาแปลกใหม่กว่านี้ ทำให้เลิกตามในที่สุด
แม้โคนันจะเป็นการ์ตูนที่ดูทุกเพศทุกวัย แต่ในด้านการดำเนินเรื่องและเนื้อหา มันจึงเหมาะสำหรับเด็กประถม-มัธยมต้นมากกว่า
เพราะสต็อปการดำเนินเรื่องซ้ำๆ เนื้อเรื่องหลักไม่คืบหน้า ไม่แปลกเลยที่โคนันจึงเป็นการ์ตูนที่หลายคนสามารถเลิกติดตามได้โดยไม่อาลัยอาวรณ์นัก แม้จะตามมาเป็นระยะเวลานาน อ่านไป 30 เล่มแล้วก็ตาม
สำหรับผมแล้ว เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ อายุมากขึ้น แม้จะยังคงชอบแนวลึกลับสืบสวนสอบสวน แต่เราก็อยากเสพอะไรที่ซับซ้อน เน้นเรื่องบท ตัวละคร มากกว่าที่จะเสพกลอุบายที่ดูออกง่ายๆ แบบโคนัน อย่างตอนนี้ผมชอบซีรีย์ Broadchurch แม้ทั้งซีซั่น (ซีซั่นหนึ่งมี 8 ตอน) จะมีแค่คดีเดียว คนตายคนเดียว แต่มันก็ทำออกมาได้สนุกน่าติดตาม เพราะนอกเหนือจากจะมีการสืบสวนแล้ว ยังเน้นเรื่องบทตัวละคร การจิกกัดสังคม รวมไปถึงการสืบสวนที่ทำให้หลายคนรู้ว่า มันไม่ง่ายเลย ในการสืบสวนในแต่ละคดี เพราะเราต้องเก็บหลักฐานทุกเม็ด ต้องสอบปากคำพยาน (ที่ไม่ค่อยร่วมมือมากนัก) รวมไปถึงการรับมือกับความกดดันรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือสื่อมวลชน ที่ชอบวิจารณ์การทำงานของตำรวจ ทั้งๆ ที่ตำรวจทำงานหามรุ่งหามค่ำในการหาหลักฐานเอาผิดคนร้าย
ความสนุกของแนวสอบสวน ไม่ได้อยู่ที่กลอุบายว่ามันจะซับซ้อนหรือพิสดารแต่อย่างใด แต่มันสนุกที่เราเห็นอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ที่ซุกซ่อนอยู่ต่างหาก
ครั้งหนึ่งคินดะอิจิ (ภาคแรก) ประสบความสำเร็จ ในด้านความดำมืดของมนุษย์ ที่ฆาตกรฆ่าเหยื่ออย่างโหดเหี้ยม เพราะความเครียดแค้น ผสมกับเรื่องสยองขวัญลึกลับเหนือธรรมชาติทำให้มันตื่นตาตื่นใจมากขึ้น กลอุบายเป็นเพียงแค่เรื่องรองเท่านั้น และเมื่อกลอุบายถูกเฉลย ฆาตกรปริศนาถูกเปิดโปง เราได้เห็นฆาตกรพ่นความเคียดแค้นใจออกมา ถึงสาเหตุที่ฆ่าเหยื่อ จนบางครั้งคินดะอิจิต้องมีใจอ่อน หรือเห็นใจฆาตกรบ้าง ซึ่งน่าเสียดายที่อารมณ์เหล่านั้นคินดะอิจิภาคล่าสุด (ภาค R) กลับไม่มี และไปเน้นกลอุบายมากกว่า รวมไปถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย (หมายถึง ลายเส้น) มากกว่าที่จะเน้นความรู้สึก บท เก่าๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเลิกตามโคนันไปนานแล้ว แต่ความรู้สึก ความคาใจก็ยังอยู่ ซึ่งเนื้อหาต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่คาใจโคนันมาโดยตลอด ซึ่งผมขอยกมา 3 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่หลายคนสังเกตเห็นอยู่แล้ว (แต่ไม่ค่อยจะพูดถึงมากกว่า)
โคนัน พระเอกที่หลายคนไม่ค่อยชอบ มีหลายคนบอกว่าไม่ชอบโคนัน แลว่าโคนัน (คุโด้) นั้นเป็นเด็กที่ค่อนข้างอวดดี
จะว่าไปคุโด้ ก็เกือบจะเป็นพระเอกแมรี่ซู ที่ทั้งหน้าตาดี (อย่างน้อยก็มีคนชอบเยอะ) เก่งไปทุกอย่าง มีคนแอบชอบเป็นเพื่อนสมัยเด็กชื่อ “รัน” (รันนั้นมันเป็นสูตรของคนเขียนนานแล้ว เพราะผลงานก่อนๆ นางเอกมักเป็นเพื่อนตลอดหมด จะมีก็ไยบะที่นางเอกไม่ได้เป็นเพื่อนสมัยเด็ก) อีกทั้งรวย พ่อหล่อ แม่สวย (พ่อเป็นนักเขียนนิยายระดับโลก แม่เป็นดาราดัง) ทำอะไรก็ถูกไปหมด
คุโด้นั้นชอบเชอร์ล็อก โฮมส์เป็นอย่างมาก มากถึงขั้นเวลาจะพูดอะไรก็มักยกเรื่องเชอร์ล็อก โฮมส์มาอ้าง รวมไปถึงการทำตัวแบบอย่างแบบเชอร์ล็อก โฮมส์ (ทั้งนิสัย งานอดิเรกก็เหมือนเชอร์ล็อก โฮมส์) แน่นอนว่านิสัยชอบยุ่งเรื่องบ้านก็คงเอาแบบอย่างจากเชอร์ล็อก โฮมส์เช่นกัน (ยังดีที่คุโด้ไม่เอานิสัยชอบเสพยาเสพติด และสันโดษของเชอร์ล็อก โฮมส์มาใช้ด้วย)
ปัญหาคือโคนันใช้คาแร็คเตอร์นักสืบแบบเก่า ซึ่งสมัยนั้นนิยายนักสืบมักกำหนด นักสืบที่เก่งกาจ มีความสามารถ ทำอะไรก็ถูกไปหมด และชอบวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจว่าทำงานล่าช้า และโง่เขลา ซึ่งคาแร็คเตอร์นี้ถือว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ปัจจุบันไม่นิยมมาใช้แล้ว แม้แต่แนวสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ สมัยนี้ นิยายนักสืบ มักกำหนดตัวละครที่ไม่ได้เก่งกาจมากนัก มีปมปัญหาในใจ การตัดสินใจบางอย่างก็ไม่ถูกต้องตามความรู้สึกของหลายคน บางเรื่องกำหนดพระเอกเป็นฆาตกรเลยก็มี (ฮันนิบาล เลคเตอร์)
ปกตินักสืบที่จะไขคดีแต่ละคดี เราจะเห็นว่านักสืบสืบสวนคดีนั้นๆ ก็เพราะ มันเป็นหน้าที่ ต้องการรความยุติธรรม ต้องการให้ญาติผู้ตายสบายใจ ไม่อยากให้คนชั่วลอยนวล และหยุดเรื่องร้าย แต่โคนันนั้นตรงกันข้าม เพราะโคนันมองว่าการไขคดีเป็นเรื่องสนุก มองเป็นแค่เกม
และนั้นเองทำให้บุคลิกของคุโด้อาจ มีความมั่นใจตนเอง ภูมิใจในตัวเองสูง อยากใช้ความสามารถเพื่อให้คนอื่นได้เห็น (อย่างตอนแรกๆ คุโด้หลงระเริงความสำเร็จการเป็นนักสืบ) และเป็นคนต้องการเอาชนะ เป็นเด็กที่ไม่ค่อยเห็นหัวผู้ใหญ่ (ชอบนินทาในใจว่าคนอื่นบ่อยครั้ง) ชอบดูถูกคนอื่น โดยเฉพาะตำรวจ (นอกจากนี้ยังมี รัน) จนหลายคนเกิดความไม่ชอบโคนัน นอกจากนี้โคนันยังเป็นคนใจแข็ง เห็นได้จากเห็นคนตายก็ไม่รู้สึกตกใจอะไรมากมาย และเวลาฟังเรื่องเศร้าๆ ก็ไม่มีน้ำตา หรือสงสัยฆาตกรเลยแม้แต่น้อย
บางครั้งคนเก่ง กับคนอวดีมันมีเส้นกั้นบางๆ ทั้งมีคนชอบและคนเกลียด
ปกติตัวเอกมีบุคลิคแบบนี้ก็ไม่แปลก หากมีข้อเสีย ก็จะมีการดำเนินเรื่องให้มีการพัฒนาจิตใจของพระเอก ตัวเอกบ้าง ซึ่งเพราะความอวดดีนั้นเองทำให้คุโด้กลายเป็นโคนัน และเริ่มไขคดีโดยยกเครดิตให้คนอื่น และความต้องการไม่ให้คนรอบข้างเดือดร้อน แต่อนิจจา แม้โคนันจะมีจำนวนหลายร้อยตอน แต่ตอนที่พัฒนาจิตใจโคนันนั้นนับว่าน้อยมาก เพราะเนื้อหาไปเน้นเรื่องไขคดีมากเกินไป เลยไม่เน้นเรื่องพัฒนาจิตใจโคนันสักเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่โคนันดีกว่า และดีกว่าคินดะอิจิคือ โคนันไม่ยอมให้คนร้ายที่ถูกต้อนจนมุมฆ่าตัวตาย ซึ่งเมื่อก่อนนั้นโคนันไม่สนใจเรื่องคนร้ายจะคิดอะไร แล้วประกาศความผิดออกมาโดยไม่แคร์ความรู้สึกของคนร้ายว่ามีเหตุผลอะไรถึงได้ทำ จนกระทั่งมาถึงคดีฆาตกรรมเปียโนโซนาต้าแสงจันทร์ (ที่ฆาตกรเป็นสาวดุ้น) ซึ่งเป็นคดีที่โคนันไขคดี แล้วประมาทปล่อยให้ฆาตกรหนี แล้วไปฆ่าตัวตาย จนทำให้โคนันถือคติที่ว่า "นักสืบที่ต้อนให้คนร้ายจนมุมจนถึงต้องฆ่าตัวตายก็ไม่ต่างอะไรกับฆาตกรเลย" ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์เดียวที่โคนันพัฒนาจิตใจ และเริ่มนึกถึงชีวิตคนอื่นมากขึ้น (ในขณะคินดะอิจิต้อนคนร้ายให้ฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง แม้บางครั้งจะเป็นเพราะความผิดพลาดไม่ได้ตั้งใจ เช่น โดนญาติผู้ตายแก้แค้น โดนฆ่าโดยผู้บงการ เป็นต้น ซึ่งคินดะอิจิไม่นึกถึงเรื่องนี้เลย) อย่างไรก็ตามบางครั้งบางคดีโคนันก็สมมุติฐานผิด ส่วนมากจะเป็นเรื่องจิตใจของคนมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็มองว่าโคนันเป็นเด็กอวดดีอยู่ดี แค่การไปยุ่งเรื่องของตำรวจ การไปจับหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุ มันก็ทำให้รูปคดีเสียแล้ว
มีหลายครั้งที่ในการ์ตูนโคนันมักดูถูกตำรวจ และตำรวจมักโชว์ความเปิ่นเป็นประจำ จนบางครั้งผมแอบหงุดหงิด9ดนี้ไม่น้อย
ไม่ว่าจะสื่อไหน เรามักเห็นตำรวจมักรับบทเป็นคนโง่ คนเปิ่นตลอด ชอบสันนิษฐานอะไรผิดๆ เวลาที่เจอคดีอะไรยากๆ ต้องให้ประชาชน หรือคนนอกมาช่วยเหลือทำคดีให้เกือบทุกครั้ง
ความจริงแล้วตำรวจนั้นเก่งที่เราคิดมาก เรามักถูกด้านลบของตำรวจมากลบความคิด ผมว่าต่อให้ไม่มีโคนัน ตำรวจในเรื่องก็สามารถจับคนร้ายได้อยู่ดี คิดดูสิขณะที่เราอายุน้อย เรียนก็ไม่ได้เก่งอะไร เราก็ยังพอเดาทริกที่คนร้ายใช้ได้เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วตำรวจก็ยิ่งไหกันใหญ่ ก็ต้องรู้ยิ่งกว่าเราหลายเท่า
แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะเกิดคดีอาชญากรรมค่อนข้างน้อย แต่ประสิทธิภาพการสืบสวนของตำรวจไม่ได้ด้อยเลย เพราะปัจจุบันการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่ได้ยึดกับการวิเคราะห์ข้อสันนิษฐานแบบลอยๆ (อาจแบ่งขั้นตอนคือ สันนิษฐานลอยๆ หาหลักฐาน วิเคราะห์แบบละเอียด ผลชันสูตร ต่างๆ นา ค่อยสรุปผล) แม้ว่าขั้นตอนอาจจะนานไม่ทันใจบ้าง แต่มันก็คุ้มค่าในการหาคนผิด
ตำรวจญี่ปุ่นถือว่าเป็นองค์กรตำรวจที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งหลายประเทศพยายามนำการจัดการองค์กรตำรวจญี่ปุ่นมาใช้ (แม้แต่ไทยก็ยังอยากเอามาใช้)
มีคดีหนึ่งที่น่าเป็นตัวอย่างดี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2015 มีผู้พบศพของเด็กหญิงนัทสึมิ ฮิราตะ นักเรียนมัธยมวัย 13 ปี จากเมืองเนยะกาวะ จังหวัดโอซาก้า ในลานจอดรถของบริษัทแห่งหนึ่งที่เมืองทาคาทสึกิ ห่างจากบ้านของเหยื่อราว 7 กิโลเมตร สภาพศพมีเทปกาวพันใบหน้า ตามร่างกายมีรอยถูกมีดแทงหลายแผล โดยศพถูกพบเมื่อเวลา 23.30 น. ของวันที่ 13 สิงหาคม จากการชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่ระบุเด็กหญิงน่าจะเสียชีวิตในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. จากการขาดอากาศหายใจ
คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาด และเป็นคดีดัง แต่ตำรวจใช้ไม่กี่วันก็สามารถจับกุมคนร้ายตัวจริงได้ โดยพวกเขามีขั้นตอน โดยตอนแรกดูภาพจากกล้องวงจรปิดจนพบรถของผู้ต้องสงสัย และพยายามแกะรอยรถคันนั้น จากนั้นก็ปล่อยข่าวให้ตรงกันข้าม (เช่น ตำรวจไม่พบหลักฐานอะไรเลย ไม่มีความคืบหน้า) เพื่อไม่ให้คนร้ายรู้ตัว สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าตำรวจญี่ปุ่นจริงจังและรอบคอบมาก
คดีของโคนันเป็นเรื่องง่ายในการสอบสวน แม้จะมีทริกให้งง แต่ตำรวจใช้ว่าจะไม่รู้เรื่องเหล่านั้น ได้ยังไง การสืบสวนเชื่อมโยง การตรวจหลักฐานทุกอณูบริเวณ (หากใครดูหนังซีรีย์จะพบตำรวจตรวจละเอียดทุกจุด ต่อให้เป็นพื้นทรายก็เอามาร่อนเพื่อหาหลักฐาน)
โคนันไม่เคยเคารพต้อการทำงานของตำรวจ หลายครั้งมักหยิบหลักฐานออกไปดื้อๆ หลายครั้งที่คนร้ายจำนองต่อหลักฐานง่ายๆ ดูแล้วไม่แน่นหนาเท่าที่ควร
โคนันไม่เคยเคารพต่อการทำงานของตำรวจ หลายครั้งมักหยิบหลักฐานออกไปดื้อๆ และหลายครั้งที่คนร้ายจำนองต่อหลักฐานง่ายๆ ดูแล้วไม่แน่นหนาเท่าที่ควร โดยส่วนตัวแล้วตามความคติดผมหลักฐานแบบนี้ ผมว่าไม่สามารถมัดตัวคนร้ายได้หรอกครับ หากดูพวกซีรีย์แนวสืบสวนที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทนายความที่เก่งๆ มักหากลเม็ดในการแก้ต่างเสมอ
และ เหตุผลที่ฆาตกรฆ่าคนมันช่าง....... เชื่อว่าหลายคนที่เลิกอ่านโคนันนั้นมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น เนื้อเรื่องหลักไม่เดิน, ตัวละครเยอะเกินไป (และก็ไม่ใช่ตัวละครที่สำคัญต่อเนื้อเรื่องเลยแม้แต่น้อย), กับชีวิตของคนหนึ่งไม่มีทางเจอเรื่องฆาตกรรมติดๆ กัน และ รวมไปถึงเหตุผลแปลกๆ เช่น รันโดนตัวละครชายอื่นจูบ!?
อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญที่ผมเลิกอ่านโคนัน และปวดหัวทุกครั้งเวลาอ่านโคนัน คือเหตุผลการฆ่าฆาตกรที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง
ปกติแล้วเวลาที่เราดูข่าวฆาตกรรมไม่ว่าในทีวีหรือหนังสือพิมพ์ เรามักเห็นเหตุผลการฆาตกรรมแตกต่างไป เช่น ฆ่าเพราะหึ่ง, ฆ่าเพราะผลประโยชน์, ฆ่าเพราะความคับแค้นใจ ไปจนถึงเหตุผลที่ฆ่าคนเพราะเรื่องเล็กน้อย เช่น โมโหมีเรื่อง, ขโมยของ, ฆ่าเพราะจ้างวาน ทั้งหมดนี้คือความเลวร้ายของมนุษย์ที่ฆ่ากันเอง แม้จะอ้างเหตุผลที่ดูฟังขึ้นก็ตาม สุดท้ายก็ทำเพื่อตนเองอยู่ดี
แน่นอนว่าโคนันก็รวบรวมเหตุผลการฆาตกรรมเหล่านี้ไว้ ที่มักหยุดประเด็นการฆ่าคนด้วยสาเหตุหลากหลายแตกต่างกันออกไป และมากที่สุดคือ “ฆ่าเพราะปกปิดความชั่วตนเอง” และ “ฆ่าเพราะบันดาลโทสะจนลืมตัวไปชั่วขณะ” แม้บางครั้งฆาตกรก็ฆ่าคนเพราะความแค้นสุดสาหัส (ส่วนใหญ่เป็นตอนยาว) แต่ตอนหลังโคนันก็โต้ตอบการกระทำของคนร้ายว่าเป็นสิ่งโง่เขลา ซ้ำร้ายทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนอีก
แต่อย่างไร ช่วงหลังๆ เหตุผลของฆาตกรที่ฆ่าไร้สาระมากขึ้น คือ เหตุผลแค่นี้ถึงกับฆ่าคน อย่างภาคมูฟวี่ล่าสุด (ผมไม่ได้ดู) ผมเห็นคนบ่นว่า “แค่เหตุผลแค่นี้ถึงกับก่อคดีซะใหญ่โต” (หากยกตัวอย่างที่พอจำได้ ภาคแรกก็ คนวางระเบิดตึก สาเหตุเพราะออกแบบไม่สวย ไม่ตรงสเป็ก)
โอเค หลายคนอาจเถียงว่ามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ฆ่าคนแบบไร้เหตุผลบ้าง แต่ปัญหาคือคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นการบันดาลโทสะ ก็จะฆ่า ณ บัดนั้นเลย แล้วจะอำพรางศพก็ว่าไป แต่ในโคนันฆาตกรบันดาลโทสะ แต่ยังอุตส่าห์มานั่งวางแผนเป็นปีๆ รอโอกาสเหมาะเพื่อฆ่า มันไม่สมเหตุสมผลครับ คือมีคดีหนึ่งที่ลูกน้องฆ่าเจ้านายของตนเอง เพราะเจ้านายแย่งผลงานไป คือ... หากไม่พอใจก็ให้ไปฟ้องศาล ไม่ก็ลาออกจากงานไปเลย ไม่ง่ายกว่าเหรอ (แต่ถึงฆ่ากันนี้ ต้องรอหลายปี เป็นผมทนอยู่กับเจ้านายแบบนี้ไม่ไหวหรอกครับ สู้ฆ่าซะเดี๋ยวนี้ยังสมเหตุสมผลดีกว่า)
บางคดีผมก็แอบด่าฆาตกรนะ เป็นต้นว่า ลูกชายฆ่าพ่อแท้ๆ ตนเอง เพราะพ่อรังแกลูกสะใภ้จนตาย คือเหมือนเป็นคดีน่าสงสารคนฆ่า แต่ความจริงเจ้าลูกชายนี้มันเลวสุดๆ เลย คือพ่อก็แก่ และป่วยใกล้ตายแล้ว จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ นี้ถึงกับเชือกรัดคอพ่อแบบนี้เลยเรอะ
บางคดีผมก็แอบสงสัยนะ คือ ทำไมพวกเอ็งไม่คุยกัน ตัวอย่าง แฝดสาวฆ่าน้องสาวตนเอง เพราะน้องสาวแย่งผู้ชายที่ชอบ มาตอนท้ายมาเฉลยว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจผิด คือผู้ชายชอบคนน้อง แต่น้องสาวไม่อยากให้พี่เสียใจ เลยขอให้แฟนเก็บเรื่องนี้เอาไว้ แล้วน้องสาวทำเป็นแย่งผู้ชายแทน เออ....... ทำไมพวกทั้งพี่ทั้งน้องทำไมไม่คุยกันให้รู้เรื่อง อาศัยอยู่ด้วยกัน มานานหลายเป็น เป็นฝาแฝด เรื่องแค่นี้ไม่รู้ใจกันเลยเหรอ แถมยังก่อคดีซะโหดร้ายอำมหิตอีกต่างหาก
โคนันอาจเป็นการ์ตูนฮิต และหลายคนชื่นชอบ แต่ในขณะที่กลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่อ่านโคนันแรกๆ ก็เลิกอ่าน และไม่เก็บเป็นความประทับใจนัก (หรืออาจคาใจด้วยซ้ำ) สิ่งที่น่าจดจำก็คงเป็นเรื่องความไม่สมจริงของโคนันมากกว่า ทั้งๆ ที่โคนันไม่ใช่การ์ตูนตลก มันก็ฮ่าได้ เช่น ผมของรันแหลมเสียบทะลุร่างคน, โมริไม่รู้ตัวเลยเหรอว่าทำไมวูบๆ , องค์กรชุดดำลึกลับเวอร์ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของโคนันไปแล้ว
ก็ยังมีอะไรหลายอย่างที่คาใจสำหรับโคนัน โดยเฉพาะเรื่องเวลาการดำเนินเรื่อง แม้โคนัน แต่อย่างไรก็ตามหากนับจากปัจจุบันในโลกของโคนันนั้นภายมาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นในตอนแรกๆ มือถือโคนันยังรุ่นเก่าอยู่เลย พอมาเล่มล่าสุดก็มีการใช้สมาร์ทโฟนกันแล้ว โอเคการ์ตูนโคนันมันเป็นการ์ตูน ที่เน้นคนดูก็เป็นเด็ก แต่ปัญหาคือแนวสืบสวนสอบสวนนั้นมันต้องสมจริงระดับหนึ่ง รวมไปถึงการทำให้คนรุ่นแรกๆ เห็นความคืบหน้าบ้าง
แม้ว่าโคนันจะเป็นการ์ตูนที่หลายคนเลิกติดตาม ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยครั้งหนึ่งโคนันก็เคยสร้างความบันเทิงแก่เราไม่น้อย อย่างน้อยผมก็ยังชื่นชอบรูปลักษณ์ของโคนัน ที่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ใส่หูกระต่าย ความฉลาด รวมไปถึงข้อคิดสอนใจก็ยังมีปรากฏให้เห็นในโคนัน
แม้ว่าโคนันจะมีอะไรหลายอย่างที่ผิดพลาด ไม่สมจริง ดูแล้วหงุดหงิดไปบ้าง แต่มันก็เป็นการ์ตูนในตำนานในใจของหลายคนอยู่ดี
ความคิดเห็น