ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #169 : Life Is Money เกมจิตวิทยาที่น่ากลัว

    • อัปเดตล่าสุด 15 พ.ค. 55



    ผมรู้จักการ์ตูนค่าของเงินหรือ  Life Is Money (2011)  ตั้งแต่ผมเขียนบ่นๆ เรื่อง Btooom! ซึ่งผมได้เขียนถึงการ์ตูนเรื่องนี้แบบสั้นๆ ว่าผมอยากแนะนำให้หลายคนอ่าน ซึ่งเนื้อหาคล้ายๆ กับเกมหลอกเกมลวง อย่างไรก็ตามหลังจากอ่านมาถึงตอนที่ 6 ก็พบว่าเรื่องนี้มีความแตกต่างจากเกมหลอกเกมลวงมากพอสมควร (มีแววว่าจะฮาเร็ม) และวันนี้ผมก็ขอบ่นการ์ตูนมังงะเรื่องนี้แบบยาวๆ หน่อยล่ะกัน


       

    Life Is Money

    ดราม่า, จิตวิทยา, โชเน็น

     

    Life Is Money หรือ “ค่าของเงิน” เป็นการ์ตูนเซอร์ไววัลเกมแห่งความตายเรื่องล่าสุด ผลงานครั้งแรกของกุราบะ เทคคะ(ภาพวาด) และอาซะนิจิ เทรุ (เนื้อเรื่อง) แต่ทำไมไม่รนู้ ผมคุ้นลายเส้นจัง การ์ตูนลงต่อเนื่อง Gangan Online (Square Enix) ซึ่งพึ่งลงเมื่อปี 2011 ไม่นานมานี้เอง ยังไม่มีลิขสิทธิ์ แต่มีคนแปลไทยแล้วในหลายเว็บ และการ์ตูนได้เกรดเฉลี่ยค่อนข้างดี ซึ่งถือว่าเนื้อหาสนุก น่าติดตาม

    Life Is Money เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “ฟุคุโระโควจิ เมกุรุ” ที่ทิ้งชีวิตวัยรุ่นอันซาบซ่าของตนไป และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการทำงานหนักหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาน้องสาวอันเป็นที่รักของเขาเพื่อผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งต้องใช้จำนวนเงินมหาศาล หากแต่ไม่ว่าทำงานหนักเพียงใด เขาก็ไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวได้เลย อีกทั้งเขายังโดนพวกมิจฉาชีพหลอกใช้เป็นเครื่องมือ ในการเรื่ยไรเงิน ปากบอกว่าจะช่วย แต่พอถึงเวลากลับโดนเชิดเงินหนีอย่างหน้าตาเฉย ทิ้งเขาและน้องสาวตกเป็นจำเลยของสังคม และไม่สามารถขอเงินใครได้อีก

    ในระหว่างที่เมกุรุกำลังดื่มเบียร์ย้อมใจเรื่องทุกข์โศกอยู่นั่นเอง ก็มีชายลึกลับท่าทางมีฐานะคนหนึ่ง ได้มาตีซี้และขอเป็นเพื่อนดื่มด้วย และระหว่างที่ชายลึกลับได้ฟังเรื่องคับแค้นใจที่เขาเล่า ชายลึกลับก็แนะนำให้เขาเล่นเกมพนันเกมหนึ่ง “Nightmare Game  โดยอ้างว่าถูกกฎหมาย แต่สิ่งที่เดิมพันคือชีวิตของตนเองแม้มีความเสี่ยงแต่ค่าตอบแทนมากกว่า 100 ล้านเยน

    แน่นอนว่าเมื่เมกุรุได้ฟังชายลึกลับพูดจาหว่านล้อม เขาก็เชื่อครึ่งและไม่เชื่อครึ่ง และไม่ได้ตัดสินใจทันที  (แหม...ดูก็รู้ทันทีว่าเจ้านี้สิบแปดมงกุฎ) แต่ชายลึกลับยังใจเย็น พร้อมมอบนามบัตรให้ หากมีอยากเล่นเกมก็ให้โทรมาบอก และเขามารับ เพื่อไปสถานที่เล่นเกมทันที

    เมกุรุไม่เชื่อ เกมบ้าอะไรว่ะ เล่นแล้วได้ 100 ล้านเยน และเขายังตั้งใจทำงานหนักต่อไป จนกระทั้งจู่ๆ ก็มีโทรศัพท์ด่วนเข้ามาบอกว่าน้องสาวของเขาป่วยหนัก และเมื่อเขารีบไปดูอาการ เขาก็พบน้องสาวมีอาการทุรุนทุราย ใส่ท่อช่วยหายใจ และหมอบอกว่าเธอมีชีวิตอยู่ไม่ถึงปี  วิธีช่วยได้มีทางเดียวคือผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และต้องใช้เงินมหาศาล

    เมกุรุได้ยินเรื่องดังกล่าว วิธีเดียวที่เขาจะทำได้ก็คือเล่นเกมพนันตามที่ชายลึกลับชวน และเขาได้ติดต่อชายลึกลับว่าขอเล่นเกม หลังจากนั้นพวกเขาก็ทำสัญญากัน และเมื่อทำสัญญาเสร็จชายลึกลับก็ยิ้มได้ใจและบอกให้พระเอกรอเขามารับในอีกไม่นาน

    ต่อมา หลังจากเมกุรุกลับมาโรงพยาบาลเพื่อเยี่ยมไข้ ก็พบเรื่องแปลกใจเมื่อเขาพบว่าน้องสาวของเขากับมาร่าเริงอีกครั้ง โดยไม่แสดงอาการทุรนทุรายเหมือนเมื่อวานเลย ระหว่างที่เขาประหลาดใจอยู่นั่นเองเขาก็ได้รับโทรศัพท์จากชายลึกลับว่าให้เขาเล่นเกมตอนนี้เลย และทันใดนั้นก็มีฝูงชายฉกรรจ์บุกเข้ามาควบคุมตัวเขาออกไป ต่อหน้าน้องสาว พร้อมยึดมือถือและของส่วนตัวเอาไว้ และขึ้นรถออกจากโรงพยาบาลทันที

    ระหว่างทางไปสถานที่เล่นเกม ชายลึกลับก็เยาะเย้ยเมกุรุกว่าโง่ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการจัดฉาก    น้องสาวไม่ได้ป่วยถึงขั้นจะเสียชีวิตเร็ววัน หากแต่น้องสาวของเขาถูกวางยาสลบเพื่อให้เหมือนอาการทรุดหนักเท่านั่นเอง ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้เขาเร่งการตัดสินใจให้เร็วขึ้น และมันก็ได้ผล จากนั้นชายลึกลับก็ก็เย้ยพระเอกอีกว่า เกมดังกล่าวเป็นเกมจิตวิทยา คนชื่อๆ ที่ถูกหลอกอย่างง่ายๆ ไม่มีทางชนะได้หรอก

    หลังจากนั้นเมกุรุก็โดนปิดตาและถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พาไปยังข้างในตึกแห่งหนึ่ง เขาพบว่ามีผู้แข่งขันชายหญิงทั้งหมด 9 คนมารอเขาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งประกอบไปด้วย

       

    ไอโยชิ อาโอชิ ผู้ชายที่หน้าเหมือนตัวโกงดูเหมือนจะเป็นจิตแพทย์ มากแผนการ

    อามาโซโนะ ไอซึเกะ ชายตัวสูง ผมยุ่งและหน้าเหมือนนักเลง เยือกเย็น ดูเหมือนฉลาด

    อิชิมาคุระ ทาคุโอะ ชายอ้วน เตี้ย (และตายคนแรกด้วย)

    อุทชิโรมิยะ ฟุยุมิ สาวมืดมน ที่มักพูดกับตุ๊กตาของตนเองอยู่คนเดียวบ่อยๆ (ฮาเร็มคนที่สองของพระเอก??)

    คุคุริ โมโมโกะ สาววัยทำงาน ขี้แย และมีหนี้สินจากการตายของพ่อ (ไม่แน่ใจว่าเธอโกหก หรือแกล้งหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เธอคือนางเอก? และฮาเร็มคนแรกของพระเอก??)

    ชิราโคกาวะ โรเมโร่ ชายหนุ่มที่ดูเหมือนยิ้มตลอดเวลา แต่ความจริงแล้วมีอาการทางจิตหากแต่ความจริงแล้ว.....

    นิโกะ อากิระ ชายหนุ่ม คาแร็คเตอร์แบบเพื่อนพระเอก ไม่เด่น

    เนโกะมาจิ มิอิโกะ นางแบบที่โดนหลอกว่าจะถ่ายแบบ แต่กลายเป็นว่าโดนบังคับให้เล่นเกมมรณะ นิสัยขี้หงุดหงิดง่าย

    มาคาเบะ โยวสึเกะ ชายชรา หลังค่อม ดูเหมือนเป็นคนจรจัด สติไม่ค่อยดี ชอบพูดจาไม่เข้าใจความหมาย

      

    ยังไม่ทันที่ผู้แข่งขันทั้ง 10 คนรู้จักกันและกัน ก็มีชายที่สวมหน้ากากปีศาจแนะนำตัวเองว่าเป็นเจ้ามือ(และกรรมการ) มาอธิบายเกมที่ 10 คนที่จะเล่นว่าเป็นเกมแห่งพลังใจที่มีสิทธิตายทุกเมื่อ โดยกฎกติกามีดังต่อไปนี้

    -ผู้เล่นทั้งหมด 10 คนต้องอยู่ในห้องที่เรียกว่า “คุก” เป็นจำนวน 10 วัน และต้องมีชีวิตรอดให้ได้เพื่อรับเงินรางวัล คนละ 100 ล้านเยน

    -นอกจากห้องส่วนตัว (คุก) ที่ทุกคนถูกขังแล้ว ยังห้องโถงใหญ่จะมีกิจกรรมหลายอย่างให้เล่น ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี หนังสือ วีดีโอบันเทิง หากแต่ไม่สามารถออกจากนอกภายนอกได้

    -ทุกห้อง(คุก) จะมีการใช้กล้องวงจรปิดทุกจุด (สามารถพูดคุยกับกรรมการได้หากพบเห็นสิ่งที่ผิดกติกา) หากแต่สภาพคุกเหมือนห้องในโรงแรมมีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายทุกอย่าง แต่การสื่อสารจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง แต่สามารถโทรศัพท์สอบถามพนักงานเรื่องกติกาย่อยๆ ของเกมได้

    -เรื่องอาหารและน้ำจะมีการแจกจ่ายให้ คนล่ะหนึ่งถุง

    -ผู้เล่นทุกคนจะต้องถูกสวมกำไลข้อมือที่สามารถจับค่า “จิตตก” ได้ หากใครจิตตกเกินกว่าที่กำหนดกลไกของกำไลจะฉีดยาพิษเข้าร่างของผู้เล่นจิตตกนั้นตายทันที

    -ก่อนเล่นเกมและทุก 1 วันผู้เล่นทั้งหมดจะต้องทอดลูกเต๋าสัมผัสที่ 6 เป็นจำนวน 1 ครั้ง ซึ่งหากลูกเต่าออกหน้าอะไรทุกคนจะต้องสูญเสียสัมผัสร่างกายหนึ่งอย่าง ซึ่งแต่ล่ะอย่างทำให้จิตตกแตกต่างกันไป ประกอบด้วย หน้าลูกเต๋มออก 1 สูญเสียมองเห็น, 2 สูญเสียการได้ยิน, 3 สูญเสียการรับกลิ่น, 4 สูญเสียการรับรส, 5 สูญเสียการสัมผัสร่างกาย(ร่างกายชาไม่สามารถขยับตัวได้) และหน้า 6 รอดจากการสูญเสียสัมผัสทุกอย่างและยังถูกหากผู้เล่นสูญเสียสัมผัสได้เมื่อทอดได้ 6 จะสามารถถอดจากการสูญเสียประสาทสัมผัสต่างๆ ได้ทันที ซึ่งการทอดได้ 6 ถือว่าดวงดี และหากกรณีที่ผู้เล่นสูญเสียสัมผัสอย่างหนึ่งแล้วทอดลูกเต่าและได้หน้าเดียวกันกับที่สูญเสียสัมผัสก่อนหน้านี้จะถือว่าผู้เล่นดังกล่าวยังสูญเสียประสาทสัมผัสเหมือนเดิม

    -เวลาเที่ยงคืนครึ่งทุกห้องส่วนตัวจะปิดล็อกสนิท ซึ่งก่อนจะถึงเที่ยงคืนผู้เล่นคนอื่นๆ สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เพื่อไม่ให้จิตตกเกินไป และตอนเช้าห้องทุกห้องจะถูกเปิดเพื่อให้ผู้เล่นทุกคนทอดลูกเต๋าสัมผัสที่ 6 อีกครั้ง(ไม่แน่ใจว่าทอดเวลาใด อาจเป็นตอนค่ำใกล้เที่ยงคืน เหมือนตอนเริ่มเล่นเกม)

    -ห้ามใช้ความรุนแรงระหว่างผู้เล่น หากใช้คนที่ทำดังกล่าวจะถูกถอดจากเกม

    -เงินรางวัลที่ผู้เล่นจะได้รับสูงสุดมีทั้งหมด 100,000,000,000 ล้านเบน ซึ่งตอนแรกทุกคนจะได้เงิน 50,000,000 ล้านเยน หากมีผู้แข่งขันคนใดคนหนึ่งตาย 50 ล้านจะถูกแบ่งจ่ายผู้แข่งขันที่มีชีวิตอยู่เท่าๆ กัน

    -หากมีผู้แข่งขันตายมากกว่า 5 คนถือว่าเกมโอเวอร์ จบเกมทันทีโดยผู้เล่นที่รอดไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เลย

      

    หลังจากได้ฟังกติกาทั้งหมด เมกุรุก็คิดไม่ออกว่าเกมนี้มันใช้จิตวิทยาตรงไหน เพราะเห็นได้ชัดเลยว่าเกมดังกล่าวต้องใช้ความอดทน และความสามัคคีของผู้แข่งขันต้องร่วมมือกันฟันผ่ามากกว่า หากแต่หลังจากที่เมกุรุและคนอื่นได้ยินประกาศให้มารับอาหาร เขาก็พบว่าเจ้าอ้วนหนึ่งในผู้แข่งขันได้ตัดหน้าฮุบอาหารเอาไว้คนเดียว โดยไม่แจกจ่ายใคร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะหากอดอาหารหลายวัน จะทำให้พลังใจหมดไปและส่งผลทำให้ตายจากยาพิษจากกำไลได้  

    แน่นอนว่าการแย่งอาหารถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นโอกาสของเจ้าอ้วน ซึ่งมันก็เสนอให้ผู้แข่งขันใช้เงินรางวัลหลังจบเกม (หากมีชีวิตรอด) เอามาแลกกับอาหาร แน่นอนว่าการกระทำเหล่านี้ สำหรับทุกคนแล้ว ถือว่าเป็นการหักหลังอย่างร้ายแรง ผลก็คือผู้แข่งขันเกือบทั้งหมดได้ตอบโต้เจ้าอ้วน ด้วยการดุด่า ใช้คำหยาบคาย ดูถูก ล้อเลียน เจ้าอ้วนเพื่อให้เกิดอารมณ์โกรธและจิตตก คำหยาบเริ่มทวีรุนแรงขึ้น ชนิดที่เมกุรุได้ฟังมาก็รับไม่ได้

    เมื่อเมกุรุเห็นว่าการใช้เจ้าอ้วนเริ่มมีอาการไม่สู้ดี เพราะจิตใจเริ่มตกอย่างรวดเร็วจากการโดนด่า หลังจากเจ้าตัวถูกรุมด่าคนเดียว เขาพยายามห้ามผู้แข่งขันคนอื่น หากแต่สิ่งที่ตอบกลับมาคือสีหน้าผู้แข่งขันมองหน้าเขาว่าเป็นคนทรยศ และเมกุรุก็รู้ทันทีว่าเกมนี้คือเกมแห่งจิตวิทยา การทรยศหักหลังคือสิ่งต้องห้าม หากหักหลังจากได้รับการตอบแทนอย่างสาสม กฎหมู่อยู่เหนือทุกสิ่ง  หากเขาทำผิดแผกไปเขาจะกลายเป็นศัตรูกับผู้แข่งขันทั้งหมด

    ผลสุดท้ายเจ้าอ้วนก็ตายด้วยพิษกำไลเพราะจิตตกอย่างรุนแรง โดยเมกุรุไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ส่วนผู้แข่งขันที่มีส่วนร่วมทำให้เจ้าอ้วนตายก็ไม่ยอมรับว่าตนเองไม่ต้นเหตุ ทั้งหมดเป็นความผิดของเจ้าอ้วนคนเดียว

     นี่คือเหตุการณ์ของเกม ที่เมกุรุได้เห็น ได้รับรู้ ทั้งที่เกมยังดำเนินไปไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก็มีผู้แข่งขันตาย 1 คน แน่นอนว่ามันไม่จบแต่เพียงเท่านี้แน่ๆ เพราะอันตรายครั้งใหม่กำลังจะเกิดขึ้นกับเมกุรุ และเขาจะต้องเอาตัวรอดจากเกมแห่งความตายนี้ให้ได้ พร้อมกับต้องช่วยผู้แข่งขันคนอื่นไปด้วย เขาจะสามารถทำสำเร็จได้หรือไม่ ก็ติดตามตอนต่อไป

     
                    รู้สึกว่าผมจะจะเขียนการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกมแห่งความตายค่อนข้างเยอะน่ะครับ สาเหตุก็ง่ายๆ เพราะช่วงนี้การ์ตูนประเภทเซอร์ไววัลและเซอร์ไวเวอร์ออกค่อนข้างมาก  และเกือบทุกเรื่องสนุกด้วย (ในขณะที่บางเรื่องไม่เอาอ่าว ไม่ต้องถามผมว่า ผมแขวะเรื่องอะไร)ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
    Btooom!, Kamisama no Iutoori หรือเรื่องที่มีคนแปลไทยมาแล้วตอนนี้อย่าง Cry Eye, Judge (Tonogai Yoshiki), Ousama Game (Renda Hitori) (การ์ตูนมังงะที่ยกตัวอย่างมาตีพิมพ์ในช่วง 2011 และ 2012) หรือในวงการเกมก็ยังมีแนวเกมแห่งความตาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกมสวมบทบาท (ที่แต่ล่ะเกมชื่อยาวชิบหาย) ไม่ว่าจะเป็น เกมแห่งการทรยศหักหลัง: Kyokugen Dasshutsu Adv: Zennin Shibo Desu, เกมเทพ 999 : 999: Nine Hours, Nine Persons, Nine Doors, เกมโรงเรียนแห่งฆาตกรรม : Dangan-Ronpa: Kibou no Gakuen to Zetsubou no Koukousei (เคยเห็นเป็นมังงะ)

    จะว่าไปการ์ตูนแนวเกมแห่งความตาย เอาชีวิตรอดนั้น มีเนื้อหาสูตรสำเร็จที่คล้ายๆ กัน กล่าวคือพระเอกในการ์ตูนเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น (ส่วนมากจิตใจของพระเอกนั้นดีอยู่แล้วไม่ต้องพัฒนาจิตใจอะไรมากมาย สิ่งที่พระเอกทำก็คงจะเป็นการพัฒนาจิตใจของผู้เล่นเกมคนอื่นๆ มากกว่า) ต่อมา จู่ๆ พระเอกก็โดนบังคับหรือโดนบีบให้เล่นเกมแห่งความตาย (มุกที่นิยมใช้คือพระเอกโดนใครบางคนทำร้ายหรือวางยาสลบและเมื่อตื่นขึ้นมาและมาอยู่สถานที่เล่นเกม) โดยสถานที่เล่นเกมตัดขาดจากโลกภายนอก  จากนั้นก็พบผู้แข่งขันคนอื่นๆ ต่างเพศต่างอายุ ต่างนิสัย จำนวนหนึ่งที่มีที่มาที่ไปลึกลับ (บางคนเลือกปกปิดความจริงเกี่ยวกับตัวตนของตัวเองด้วยซ้ำ)  ถูกพามายังสถานที่เล่นเกมเหมือนกับพระเอก เมื่อผู้เล่นทั้งหมดรวมทั้งพระเอกรวมตัวกัน พวกเขาก็พบเจ้ามือหรือกรรมการผู้ควบคุมกติกาที่เป็นตัวประหลาด โดยบอกให้เล่นเกมแห่งความตายที่มีกติกาที่ผู้แพ้อาจถึงแก่ชีวิต บางเกมหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว  บางเกมก็ต้องใช้ความสามัคคีในการเล่น บางเกมต้องมีการแบ่งก๊กเป็นเหล่าเพื่อกำจัดจุดอ่อนของทีม ฯลฯ

    และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือจุดประสงค์ของการจัดเกมนั้นค่อนข้างลึกซึ้ง ที่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการจัดเกมมีความลับที่ดำมืด เป็นต้นมา ผู้เล่นแต่ล่ะคนมีประวัติก่อความผิดที่สามารถให้อภัยได้ หรือว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หนึ่งในอดีต และเมื่อถึงตอนท้ายเรื่อง เกมก็ได้เฉลยจุดประสงค์ทั้งหมด ซึ่งส่วนมากมักจบแอปปี้มากกว่าเลวร้าย เพราะที่แล้วมาพระเอกมักเจอแต่เรื่องเลวร้าย ดราม่า ต้องลุ้นหวาดเสียวตลอด และเมื่อเจอเรื่องดีๆ จบแอปปี้ ก็ทำให้คนอ่านโล่งใจในตอนสุดท้าย ที่พระเอกได้สมหวังและคนที่รอดชีวิตคนอื่นก็ได้พัฒนาจิตใจจนกลายเป็นคนดีของสังคม และมีความสุขกันทั่วหน้า

    แม้ว่าการ์ตูนแนวเกมแห่งความตายค่อนข้างจะมีสูตรสำเร็จค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ทดแทนก็คือ กติกาเกมแห่งความตายที่มีความแปลกที่แต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือแต่ละเกมตื่นเต้น อ่านแล้วสนุก ลุ้นว่าพระเอกจะทำยังไงให้ตัวเองรอด (แม้สูตรสำเร็จจะบอกว่าพระเอกเทพ รอดตอนท้ายก็เถอะ แต่อ่านก็อดลุ้นอยู่ดี) สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์กับทุกคนในกลุ่มเล่นเกม ที่หลายคนมีจิตใจดำมืด ไม่ว่าจะเป็น การทรยศหักหลัง ตีสีหน้ายิ้มแต่ข้างหลังถือมีดเตรียมแทงข้างหลัง โลภ ซึ่งส่วนมากผู้เล่นที่มีนิสัยแบบนี้มักตายก่อนใครเพื่อน และผู้อ่านจะสะใจทุกครั้งที่ตัวละครนิสัยไม่ดีเหล่านี้ตายอนาถ

      

                    ครั้งหนึ่งบนโลกก็เคยมีเหตุการณ์คล้ายๆ กับเกมแห่งความตายแบบนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน นั่นคือ การทดสอบคุกสแตนฟอร์ด (Stanford Prison Experiment) ซึ่งเป็นงานวิจัยของ ด็อกเตอร์ฟิลิป ซิมบาร์โด แห่งมหาลัยสแตนด์ฟอร์ด วัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาการตอบสนองของมนุษย์ ว่า “อำนาจ” สามารถทำให้มนุษย์ธรรมดาอย่างเรากลายเป็นคนเลว กลายเป็นคนรุนแรงได้ถึงเพียงใด

    การทดลองเริ่มต้นขึ้นในฤดูร้อนของปี 1971 โดยการสุ่มอาสาสมัครมา 24 คนซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาลัยต่างๆ และเป็นคนปกติไม่มีสภาพจิตใดๆ โดยแบ่งกลุ่มเป็น “นักโทษ” และ “ผู้คุม” เพื่อแสดงบทบาทระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะสวมชุดเครื่องแบบผู้คุมและนักโทษ และเข้าไปอยู่สถานที่จำลองและสภาพแวดล้อมในแบบเรือนจำเท่าที่จะมากได้ (เป็นห้องใต้ดินของตึกวิจัยจำลองเป็นคุกขนาดเล็ก มีห้องมืด ห้องขังเดี่ยว) โดยเริ่มต้นเหมือนกฎกติกาเรือนจำจริงๆ มีการกำหนดหมายเลขนักโทษ กำหนดวันเยี่ยม นอกเหนือจากนั้นก็ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปโดยติดตามทางกล้องวงจรปิด

    อย่างไรก็ตามการทดลองดังกล่าว มีกฎกติกากำหนดเคร่งครัด เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมเหมือนเรือนจำมากที่สุด และทั้งสองกลุ่มจะต้องมีวิถีชีวิตแบบผู้คุมและนักโทษให้มากที่สุด โดยกำหนดผู้คุมสามารถสั่งนักโทษให้ทำอะไรได้ หากแต่มีกฎอยู่ว่าทั้งสองฝ่ายห้ามใช้ความรุนแรงระหว่างกัน หากเห็นว่าใช้กำลังรุนแรงจะต้องถูกถอดจากการทดลองและไม่ได้ค่าจ้าง

    ตอนแรกการทดลองดำเนินไปด้วยดี ผู้คุมพูดคุยกับนักโทษ ทำความรู้จักกัน ง่ายๆ สบายๆ สั่งให้ทำอะไรง่ายๆ ทุกคนตื่นเต้นเหมือนเข้าค่ายพักแรม หากแต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นผู้คุมเริ่มไม่สบอารมณ์เมื่อมีนักโทษไม่ยอมทำตามคำสั่ง ผู้คุมจึงออกสั่งคำสั่งแกล้งนักโทษหนักขึ้น จนกลายเป็นความรุนแรง นักโทษที่ไม่เชื่อฟังคำสั่ง จะถูกสั่งให้แก้ผ้า วิดพื้น ริบที่นอน จับอดอาหาร ขัดโถส้วมด้วยมือเปล่า จนนักโทษสูญเสียความเป็นมนุษย์ที่ละน้อย ผลสุดท้ายคนธรรมดาก็กลายเป็นผู้คุมสุดโหด และนักโทษเดนตายขึ้นมาจริงๆ

    ส่วนกฎห้ามทำร้ายกันนั้น ทั้งสองฝ่ายละเมิดกฎเรียบร้อย บางคนทำต่อหน้าต่อตานักวิจัย บางคนก็แอบทำ (มักทำตอนกลางคืนเพราะเหล่าผู้คุมเชื่อว่านักวิจัยไม่สังเกตการณ์ หากแต่นักวิจัยเห็นความรุนแรงดังกล่าวกลับพยายามติดตามดูต่อไป) ความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นจนทำให้หลายฝ่ายหยุดการทดลอง ทั้งที่การทดลองนี้ดำเนินไปได้เพียง 6 วันเท่านั้น (ระยะเวลาการทดลองจริงๆ 2 สัปดาห์)

    ผลการทดลองเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหากคนธรรมดาเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อม หรือสังคมหนึ่งๆ คนธรรมดาก็จะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง แม้คนเหล่านั้นไม่มีอาการทางจิต ไม่มีประวัติการก่ออาชญากรรม หากแต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ใช่คนดีเสมอไป เมื่อพวกเขาได้เข้าอยู่ในสภาพแวดล้อม และมีกฎที่เหมาะสมต่อยุยงให้ใช้ความรุนแรงล่ะก็ สันดานดิบมนุษย์ก็จะเกิดขึ้น โดยไม่สามารถหยุดยั้งได้ อย่างที่เห็นอาสาสมัครแต่ละคนค่อยๆ อินบทบาทสมมุติของตนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนคือความจริงอันไหนสมมุติ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี คิดว่าตนเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายผู้คุมได้รับรู้ถึงอำนาจที่มีเหนือกว่าฝ่ายที่ด้วยกว่าและใช้อำนาจดังกล่าวในความไม่ถูกต้อง และนักโทษที่เป็นคนปกติ เป็นคนดี สุภาพ ร่าเริง เรียบร้อย หากได้รับการปฏิบัติที่หยาบช้า ถูกตัดถูกตัดรอนสิทธิมนุษยชน ถูกข่มเหงและกดดัน คนดีก็สามารถกลายเป็นผู้ร้ายทุกเมื่อ

     
             ปัจจุบันการทดลองดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม เนื่องจากการถูกจำกัดด้วยสิทธิมนุษย์ แต่กระนั้นแนวคิดจิตวิทยาดังกล่าวก็ได้กลายเป็นพื้นฐานของเกมแห่งความตาย  โดยหากสมมุติว่ามีการจัดจิตวิทยาดังกล่าวและไม่มีการยกเลิกกลางคัน กลุ่มคนที่ถูกคัดเลือกแต่ละคนมีอาการทาจิตง เมื่อถูกนำมาขังในสถานที่หนึ่งตัดขาดจากโลกภายนอก พร้อมตั้งกฎกติกาเอาตัวรอด พร้อมล่อด้วยเงินนรางวัลมหาศาลสำหรับผู้ชนะเข้าไป จะเกิดอะไรขึ้น
    ??

    และการ์ตูน Life Is Money ก็ได้ตอบคำถามนั้นแล้ว เมื่อเกมแห่งความตายกำลังทอลองทดสอบจิตใจของคน  เริ่มจากการคัดเลือกบุคคลที่แข่งขันซึ่งมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ อาชีพ รูปร่างหน้าตา นิสัย แตกต่างกัน มากกว่าจะเอาบุคคลที่เป็นกลุ่มเดียวจำพวกเด็กมัธยมปลายอย่าง  (น่าเสียดายที่กลุ่มดังกล่าวขาดผู้แข่งขันที่เป็นเด็ก หากมีเด็กเข้าร่วมแข่งขันอาจเห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ก็เป็นได้) โดยกลุ่มบุคคลที่ถูกคัดเลือกจำเป็นเล่นเกมนี้เพราะมีปัญหาเรื่องการเงิน (หรือบางคนมีจุดประสงค์อื่น)  

    จะว่าไปแล้ว เกมดังกล่าวสามารถเล่นได้อย่างง่ายๆ หากผู้เล่นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สมมุติว่าผู้เล่นคนหนึ่งทอดลูกเต๋าได้ตาบอด ผู้เล่นคนอื่นที่มีอาการปกติไม่ได้เกิดสถานะผิดปกติเลยก็เข้าไปเยียวยา ให้กำลังใจ ปกป้อง พูดคุย เล่นเกมด้วยกัน เพื่อลดความเครียด หากทำผู้เล่นทุกคนปฏิบัติตามวิธีดังกล่าว ก็สามารถผ่านเกมนี้ได้อย่างง่ายดาย สามารถรอดมารับเงินรางวัล เอาไปเสพสุขอุรา

    อย่างไรก็ตาม แม้เกมดังกล่าวต้องการความสามัคคีสูง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์และสภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้แข่งขันรวมกลุ่มก้อนเลย ด้วยปัจจัยหลายอย่างคือ

    -กลุ่มคนที่เล่นเกมเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน เรื่องอะไรจะให้ความช่วยเหลือคนที่ตนเองไม่รู้จักด้วย ตัวอย่างที่แรกคือสาวขี้กลัวที่ทอดรูปเต๋าได้ตาบอด เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายกันไป ก็ไม่มีใครนำทางให้สาวขี้กลัวคนนั้นเลย จนพระเอกมาสังเกตเห็นจึงต้องเข้าไปช่วยเหลือ (และเก็บธงเป็นที่เรียบร้อย)

    -ไม่แน่ใจว่าผู้เล่นแต่ละคนนั้นทุกคนสวมหน้ากากหลอกลวงเข้าอีกฝ่ายหรือเปล่า? เพราะนอกจากพระเอกแล้ว คนอ่านไม่แน่ใจเลยว่าผู้เล่นคนอื่นๆ พระเอกที่พระเอกเห็นได้ยินนั้นเป็นความจริงหรือไม่ แม้กระทั้งสาวขี้แย นี้เป็นตัวตนที่แท้จริวของเธอ หรือเป็นการเสแสร้งของเธอหรือเปล่า?

    -เงินรางวัลที่จบแม้ว่าจะมากสำหรับคนหนึ่งๆ หากแต่ด้วยมีคำว่า “แบ่งกัน” และ “สามารถได้เงินรางวัลเพิ่ม” สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เล่นบางคนเกิดความโลภ และเริ่มหาวิธีที่ตนจะได้ฮุบเงินรางวัลก้อนโตดังกล่าวเอาไว้คนเดียว

     -ผู้เล่นทั้งหมดคบกันเพื่อหวังประโยชน์ จากที่จะให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มดังกล่าวจะเกิดการทรยศ หักหลัง กฎหมู่ ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความแตกแยก และยิ่งเวลาผ่านไประยะนานมากเท่าใด สถานการณ์เกิดก็จะเพิ่มทวีความตึงเครียดและความรุนแรงขึ้น ยิ่งกลุ่มดังกล่าวยังมีบุคคลที่เป็นโรคจิต ชอบใช้ความรุนแรง

    -แม้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะผ่านไป 6 ตอนแล้ว (ปริมาณคงเท่ากับ 1 เล่ม) แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเกมแห่งความตายนี้จะดำเนินไปทิศทางไหน แต่เห็นได้ชัดเลยว่าผู้เล่นทั้งหมดเริ่มมีการใช้กฎหมู่(หรือเราเรียกว่าประชาธิปไตย) มาใช้ เพื่อขยี้แกะดำ(อันตราย)ของกลุ่มให้พ้นทาง ซึ่งพระเอกที่จากต้นเรื่องพยายามช่วยเหลือทุกคน กลับเห็นด้วยกับวิธีการเหล่านี้ บางที่ธรรมะและอธรรมนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นเองของสังคม เพื่อเกิดความชอบธรรมของฝ่ายตนมากกว่า

    ตอนที่ผมเขียนบทความ เนื้อเรื่องของการ์ตูนดูเหมือนจะจิตตก มืดมนมากขึ้น แถมทำร้ายจิตใจคนดูอย่างสุดซึ้ง เพราะตัวละครที่ผมชอบเริ่มตายที่ละคน และบางทีเนื้อหาอาจถึงจุดแตกหักในไม่ช้าก็ได้

    ตามความคิดเห็นของผมแล้ว การ์ตูนมังงะเรื่องนี้อาจมีสูตรสำเร็จไปบ้าง แต่เรื่องเนื้อหานี้อ่านไปก็น่าติดตามใช้ได้เลยครับ คล้ายๆ กับเกมบิ๊ก บราเธอร์ หรือเกมเซอร์ไวเวอร์แหละครับ เรียบง่ายแต่น่ากลัว อ่านแล้วรู้สึกกลัวจริงๆ แม้ว่าจะไม่มีฉากเลือดสาด โหดเหี้ยมอำมหิต แต่มันอยู่ที่บรรยากาศไม่ไว้ใจ คนแปลกหน้าทั้ง 10 คน(ตอนนี้เหลือ 9 แล้ว) ต้องอยู่ด้วยกันปรองดองกันเพียงแค่ฉากหน้า  การใช้ชีวิตท่ามกลางกล่องมากมายจับตาดูจนทำให้ขาดความเป็นส่วนตัว ความหวาดกลัวในการสูญเสียประสาทสัมพันธ์ ซึ่งเกมเหล่านี้จะสะท้อนให้ผู้เข้าแข่งขัน แสดงความรู้สึก อารมณ์ และธรรมชาติของตนเองออกมา

    ส่วนเรื่องภาพนั้นก็วาดได้ดี ส่วนเรื่องคาแร็คเตอร์ที่แข่งขันก็หลากหลาย แต่เสียดายผู้หญิงน้อยไปหน่อย เอาเป็นว่าใครที่ชอบเกมแห่งความตาย การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ผิดหวังครับ

     + +
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×