ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #91 : ถนนสิบสามห้าง "ศรีสำราญ"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 511
      0
      9 เม.ย. 53

      มีคำถามตกค้างอยู่ ๒ คำถาม

                -ถนนสิบสามห้างเคยมีห้างสิบสามห้างอยู่จริงๆ หรือ อยู่ที่ไหน-

                -คำว่า สุขาเรียกกันมาดึงแต่สมัยใด-

                ถนนสิบสามห้าง เป็นถนนสายสั้นนิดเดียว อยู่ระหว่างข้างวัดบวรนิเวศวิหารและข้างตลาดยอดหรือเรียกกันทั่วๆ ไปวาตลาดบางลำพู

                เมื่อยังเด็กๆ หกสิบกว่าปีมาแล้ว ตามย่าไปวัดบวรฯบ่อยๆ จำได้ว่ามีรถรางวิ่งผ่านด้านข้างกำแพงวัด บางครั้งย่าไม่ให้พ่อหรือลุงๆ มารับที่วัด พากันขึ้นรถรางข้างวัด ซึ่งต้นทางอยู่ตรงข้ามตลาดยอดฟากตลาดทุเรียนที่มีตึกแถวซึ่งมีร้านขายเสื้อเชิ้ตชื่อดังในสมัยโน้นคือร้าน นพรัตน์

                รถรางสายนี้เรียกว่า สายหัวลำโพง ตั้งต้นตรงหลีกรถรางดังกล่าว เรียกว่า หลีรถรางเพราะต้นทางต้องมีรางแยกให้หลีกกันได้ ระหว่างเปลี่ยนรถพ่วง ทั้งยังเป็นต้นทางและหลีกร่วมของรถรางสองสายด้วยกัน คือสายรอบเมืองกับสายหัวลำโพง

                สายรอบเมืองออกจากต้นทางดังกล่าววิ่งผ่านหน้าวัดบวรฯ ขนานไปตามถนนรอบกำแพงเมือง (เกาะรัตนโกสินทร์) ออกเชิงสะพานผ่านฟ้า ตัดข้ามเชิงสะพานไปตามถนนมหาชัย ผ่านหน้าคุกลหุโทษ (ปัจจุบันเป็นสวนรมณีนาถ) ผ่านสะพานหันออกไปท่าเตียน ผ่านท่าพระจันทร์ แล้วเข้าถนนพระสุเมรุ บรรจบต้นทางที่รถออก ดังนั้นรถรางสายนี้จึงออกรถสองทางย้อนกันจากต้นทางเดียวกัน คือออกผ่านหน้าวัดบวรฯ กับออกผ่านไปทางถนนพระอาทิตย์ รถรางสายนี้เป็นรถคันเดียว ไม่พ่วง

                ส่วนรถรางสายหัวลำโพง ออกจากต้นทางเดียวกันกับสายรอบเมือง คือหลีกหน้าตลาดทุกเรียน วิ่งร่วมรางกันนิดเดียวก็เลี้ยวขวาโค้งตัดเข้าถนนสิบสามห้าง จำได้แม่นทีเดียวว่าเลียบข้างกำแพงวัด มิใช่ฟากข้างตลาดยอดที่มีตึกแถวเรียงกันอยู่

                รถรางสายหัวลำโพงผ่านถนนสิบสามห้างนี้ วิ่งไปตามถนนตะนาว ผ่านเสาชิงช้า ซึ่งบ้านลุงคนหนึ่งอยู่แถวนั้น บางครั้งย่าจึงถือโอกาสไปเยี่ยมเยือน เพราะนั่งรถรางทอดเดียวถึงที่ สะดวกและสบายด้วย เนื่องจากคนโดยสารน้อย ยิ่งชั้น ๑ ที่มีเบาะสีขาวรองให้นั่งด้วยแล้ว ยิ่งว่าง เพราะเสียค่าโดยสารถึงเท่าตัว แค่สตางค์สองสตางค์ ขึ้นเป็นสามสตางค์สี่สตางค์ก็นับว่าแพงมากไม่ใคร่มีใครอยากนั่ง กะอีแค่มีเบาะรองเท่านั้น

                เล่าเสียยืดยาว เพราะมีภาพรถรางจากหอสมุดแห่งชาติอยู่ภาพหนึ่ง ซึ่งเข้าใจกันว่า เป็นรถรางผ่านถนนสิบสามห้าง โดยเข้าใจว่ารถรางวิ่งทางฟากห้องแถว ส่วนฟากตรงข้ามคือข้างวัดบวรฯ

                แต่ ตามความเข้าใจของผู้เล่าซึ่งขึ้นรถรางสายหัวลำโพง ผ่านข้างวัดไปเสาชิงช้าบ่อยๆ จำได้แม่นว่ารถรางสายนี้ เลี้ยวโค้งข้ามหัวถนนสิบสามห้าง เลียบข้างวัดบวรฯอย่างแน่นอน

                จึงอยากจะเข้าใจว่า รถรางที่เห็นเป็นรถรางสายรอบเมือง ซึ่งเป็นรถคันเดียว ตึกแถวข้างๆ รางรถคือตึกหน้าตลาดทุเรียนเป็นช่วงยาวแถวเดียวกับร้านนพรัตน์ ดังกล่าว ส่วนประตูเมืองที่เห็นข้างเสาไฟฟ้าเป็นประตูเมืองเยื้องวัดบวรฯ เชิงสะพานที่เห็นทางขวาเป็นสะพานเตี้ยๆ ข้ามคลองเล็กๆ ข้างวัดบวรฯ ที่ไหลออกคลองบางลำพู

                หากเป็นดังที่เข้าใจ ฟากขวาของรางรถคงจะเป็นอาณาเขตวัดบวรฯซึ่งปัจจุบันนี้เป็นโรงเรียน (วัด) บวรฯ นั่นเอง

                ทีนี้เข้าจุดที่ถามมาว่า ถนนสิบสามห้างนั้นมีห้างสิบสามห้างจริงๆ หรือ

                คำถามนี้มีคำตอบจากหนังสือเรื่อง ตำนานวัดบวรนิเวศวิหารพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนหนึ่งดังนี้

    ประตูศรีสุดาวงศ์ด้านตะวันตกพระบรมมหาราชวัง อยู่ใกล้กับ อุโมงค์หรือ ศรีสำราญของชาววังหลวง เห็นดำๆ หลังประตู คือกำแพงพระราชฐานชั้นใน ประตูนี้เป็นทางเข้าออกของชาววัง ไปสู่ประตูช่องกุด ซึ่งเป็นประตูชั้นนอกอยู่เยื้องๆ กันกับประตูศรีสุดาวงศ์

                 “...ด้านตะวันตกพ้นตกพ้นคลองคูวัดออกไปมีตึกก่ออิฐถือปูนชั้นล่าง ขัดแตะถือปูนชั้นบนแถวหนึ่ง เรียกว่า สิบสามห้าง คำว่า สิบสามห้าง นั้น ได้ยินว่าไม่ได้หมายเอาจำนวนส่วนแห่งตึกนั้นที่ทำเป็นมุขยื่นออกมา (แต่) หมายเอาตึกชนิดนี้อันมีในเมืองจีนแห่งใดแห่งหนึ่ง (ซึ่ง) มีจำนวนเท่านั้น ดังมีรูปในกรอบกระจกติดฝา อันส่งเข้ามาขายดื่นในครั้งนั้น...”

                ตึกสิบสามห้างนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถนนผ่านหน้าตึกจึงเรียกกว่าถนนสิบสามห้าง ต่อมาปลายๆ รัชกาลที่ ๕ ได้รื้อลงสร้างขึ้นใหม่

                ตามตำนานวัดบวรฯ ว่าเดิมข้างวัดมีคลองคูจึงน่าจะเข้าใจว่า ต่อมาคลองคูนี้คงจะถมเป็นถนน โดยคงต้นไม้ริมคลองเอาไว้ ถนนสิบสามห้างจึงกลายเป็นถนนกว้าง มีต้นไม้อยู่กลางถนน กลายเป็นเกาะกลางถนนทุกวันนี้ เมื่อมีรถราง รางรถเลี้ยวโค้งขวาตัดหัวถนนไปตามถนนข้างกำแพงวัดที่เคยเป็นคลองคูดังกล่าว

                คำถามถึงคำว่า สุขา

                ได้ค้นดูหนังสือเก่าๆ บรรดาที่มีอยู่ดูแล้วไม่ปรากฏคำนี้เลย จึงเดาเอาว่าคงจะเป็นคำคิดขึ้นใหม่ไม่เกิน ๗๐-๘๐ ปีมานี้เอง โดยเทียบกับคำว่า toilet ของฝรั่ง ใช้เป็นชื่อทั่วไปของสถานที่ ไม่ว่าหนักหรือเบา

                สมัยโบราณสถานที่ดังนี้เรียกว่า เว็จต่อมาไม่ทราบว่าสมัยใด แต่ใช้มาก่อน สุขาแน่ๆ เรียกว่า ส้วมบางแห่งสะกดว่า ซ่วม

                ภาษาชาววังเรียกว่า ศรีสำราญปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารภาคที่ ๑๓ เรื่องตำนานวังหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

                 ลานพระราชวังบวรฯ ด้านใต้กับด้านตะวันตก กระชั้นชิดกำแพงวังชั้นนอก ด้านใต้มีแต่ทางเดิน ด้านตะวันตกก็เห็นจะเป็นเรือนพวกขอเฝ้าชาววัง ทำนองอย่างข้างพระราชวังหลวง มีสิ่งซึ่งควรกล่าวอยู่ข้างด้านตะวันตก แต่ ๒ อย่าง คือ ท่อน้ำอย่าง ๑ ศรีสำราญอย่าง ๑ ท่อน้ำนั้นก็คือประปาในชั้นแรกสร้างพระราชวังบวรฯ ถึงพระราชวังหลวงก็เหมือนกัน ขุดเป็นเหมืองให้น้ำไหลเข้าไปได้แต่แม่น้ำ ตอนปากเหมืองข้างนอกก่อเป็นท่อกรุตารางเหล็ก ข้างบนถมดิน แต่ข้างในวังเปิดเป็นเหมืองน้ำมีเขื่อนสองข้าง ตักน้ำใช้ได้ตามต้องการ

                ศรีสำราญ นั้น คือเว็จของผู้หญิงชาววัง ปลูกเว็จไว้ที่ริมแม่น้ำ แล้วทำทางเดินเป็นอุโมงค์ คือก่อผนังทั้งสองข้างมีหลังคาคลุมแต่ประตูวังไปจนแล้วที่ถนนข้างนอกวังตรงผ่านอุโมงค์ก็ทำสะพานข้าม ผู้หญิงชาววังลงไปศรีสำราญได้แต่เช้าจนค่ำ เหมือนกับเดินในวังไม่มีผู้ชายมาปะปน

                เมื่อแรกเข้าใจว่า ศรีสำราญนี้ เป็นคำใช้กันเฉพาะชาววังหน้า เพราะไม่เคยพบในเรื่องของวังหลวงในเรื่อง สี่แผ่นดินของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ได้ทราบแต่ว่าชาววังหลวงเรียกสถานที่ว่า อุโมงค์เพราะสภาพเป็นอุโมงค์อย่างเดียวกับในวังหน้า

                เพิ่งอ่านพบในหนังสือ ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาค ๑๗ เรื่องหมายรับสั่งบางเรื่องในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒

                ในหมายรับสั่งเรื่องงานศพเจ้าศรีฟ้าในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (พระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑) พ.ศ.๒๓๕๘ ที่วัดสระเกศมีว่า

                 ด้วยพระยารักษมณเฑียร รับพระราชโองการใส่เกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า...ฯลฯ...

                เมรุสามสร้างพลับพลา ฉนวน แลที่สรง ที่ลงบังคน ที่ศรีสำราญ และโรงข้างในแต่งสำรับคาวหวานนั้น รื้อเสียบ้าง ยังบ้าง ชำรุดหักพังไปบ้าง ให้สี่ตำรวจ สนมตำรวจ รับเลขต่อพันพุฒ พันเทพราช ด้านละ ๑๕ คน ๓ ด้าน ๔๕ คน เบิกไม้ไผ่ จากหวาย กระแชง ต่อชาวพระคลังราชการ แลยืมผ้าขาวต่อพระคลังวิเศษทำขึ้นให้เหมือนอย่างเก่า อย่าให้ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เป็นอันขาดทีเดียว จงเร่งทำให้แล้วทันกำหนดมานี้เป็นการเร็ว

                แสดงว่า อุโมงค์ของชาววังหลวงนั้น จริงๆ แล้วก็เรียกว่า ศรีสำราญเช่นกัน

                ในลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ในเรื่อง สาส์นสมเด็จทรงอธิบายคำว่า ศรีสำราญว่า

                 คำศรีสำราญ นั้น ได้ทราบความหมายแล้วเป็นคำเขมร เขียนเช่นนี้ ศรีสำราลสรีว่าผู้หญิงคือคอรัปชั่นมาจากคำว่า สตรีสำราล ว่าทำให้เบา

    (ทุกข์) เป็นพวกเดียวกับคำที่ว่า ส่งทุกข์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×