ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #90 : สะพานสมมติอมรมารค

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.57K
      0
      9 เม.ย. 53

     สะพานที่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระนามเจ้านายอีกสะพานหนึ่งคือ

    สะพานสมมติอมรมารค เดิมนั้นมีสะพานไม้เก่าแต่ครั้งโบราณ ทว่ามีโครงเหล็กรองรับอยู่เพื่อให้แข็งแรงและชักเลื่อนออกจากกันได้ เป็นสะพานสำคัญที่ราษฎรใช้เข้าออกกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะการนำศพออกไปฝังหรือเผานอกพระนครตามกฎหมายประเพณียุคนั้นที่ว่าหากมีผู้ตายลงต้อ6งนำศพออกไปปลงนอกพระนคร สะพานเดิมจึงอยู่ตรงประตูซึ่งราษฎรเรียกติดปากกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ ว่า ประตูผีเพราะเป็นประตูหามผีออกไปป่าช้านอกพระนคร ทว่าชื่อเป็นทางการนั้นชื่อว่า ประตูสำราญราษฎร์

                ส่วนที่สร้างสระพานให้ชักเลื่อนออกจากกันได้ก็เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์หากมีข้าศึกมาประชิดติดพระนครประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เพื่อให้เรือกระบวนแห่ผ่านเพราะในสมัยโบราณกระบวนแห่พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินนั้นมีอยู่เนืองๆ เช่นกระบวนแห่เสด็จฯ ทอดผ้าพระกฐิน

                ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ สะพานเก่าชำรุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดฯ ให้ออกแบบและก่อสร้างสะพานขึ้นใหม่ เสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ พระราชทานชื่อสะพานว่า สะพานสมมติอมรมารค

                 สมมติอมรมารคเป็นพระนามทรงกรมของพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมหมื่นสมมติอมรพันธุ์ และ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ ตามลำดับ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงเลื่อนเป็น กรมพระสมมติอมรพันธุ์

                เจ้าจอมมารดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ คือ เจ้าจอมมารดาหุ่น ต่อมาได้เป็นท้าวทรงกันดาลในรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดาหุ่นเป็นพระสนมเอกรุ่นเดียวกันกับเจ้าจอมมารดาวาด (ท้าววรจันทร์) เจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤมิธาดา (พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต) และเจ้าจอมมารดาเขียน เจ้าจอมมารดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าชายวรวรรณากร)

                ฯกรมพระสมมติอมรพันธุ์ เป็นต้นราชสกุล สวัสดิกุล ณ อยุธยา

                เจ้านายพระองค์นี้ทรงรับราชการตำแหน่งสำคัญในรัชกาลที่ ๕ คือ เป็นราชเลขานุการ (ฝ่ายหน้า มาแต่ในสมัยกลางๆ รัชกาล จนกระทั่งปลายรัชกาล ทรงเป็นทั้งเสนาบดีตำแหน่งราชเลขานุการ และอธิบดีกรมพระคลังข้างที่

                พระนามไม่สู้จะเป็นที่รู้จักโดยทั่วๆ ไปดัง เจ้าพี่เจ้าน้อง เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ฯลฯ เพราะทรงทำราชการในตำแหน่งเงียบๆ มิได้เกี่ยวข้องกับความเจริญของบ้านเมือง หรือตำแหน่งหน้าที่อันเห็นผลสำคัญในเวลาต่อมาโดยตรง

                แต่จริงๆ แล้ว เจ้านายพระองค์นี้ทรงงานหนักไม่น้อยทีเดียว ในหน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเป็นที่โปรดปรานและใกล้ชิดพระองค์พระเจ้าอยู่หัว ในสมัยก่อนโน้นยังไม่มีเครื่องผ่อนแรงในการจดบันทึก เช่นเครื่องพิมพ์ดีด ราชเลขานุการต้องเขียนตามพระราชดำรัส บรรดาจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ ๕ จำนวนนับสิบเล่มนั้น ล้วนแต่มาจากลายพระหัตถ์ของ (กรมขุนสมมติฯ ทั้งสิ้น (บางทีอาจจะโปรดฯ ให้ผู้อื่นจดบ้าง ก็เฉพาะเวลาที่ ฯกรมขุนสมมติฯ ทรงประชวร หรือบังเอิญมิได้เข้าเฝ้าฯ แต่ก็นานๆ ครั้ง)

                ฯกรมขุนสมมติฯ ท่านทรงจด ไดอรีส่วนพระองค์ไว้ด้วย น่าเสียดายที่จะมีการพิมพ์เผยแพร่บางส่วนก็เฉพาะแต่เมื่อพิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ สมาชิกในราชสกุล สวัสดิกุลหรือผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเช่นสะใภ้

                ใน ไดอรีหรือบันทึกรายวันของท่าน ตอนหนึ่งทรงบ่นเรื่องงานของท่าน ทำให้ได้ทราบเจ้าหน้าที่การงานของท่านนั้น หนักเพียงใด

                บันทึกวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๖ มีความว่า

    สะพานสมมติอมรมารค (อ่านว่า สม-มด-อมร-มาก) ภาพถ่ายประมาณรัชกาลที่ ๗

                 “...ราชการมากเป็นที่สุด ไม่มีเวลาหยุด อะไรต่ออะไรค้างไปหมด เพราะกำลังแลเวลาไม่มีพอ ไม่มีใครแบ่งเขาบ้าง พอเข้าไปถึงบ่ายโมงก็ราว ๕๐ มินิต ไปตรวจออฟฟิศล่างแล้วพอ ๒ โมงขึ้นไปออฟฟิศบนประเดี๋ยวหนึ่งเข้าไปข้างในออกมา ๔ โมง เขียนหนังสือต่อไปจนราวสัก ๕ โมงครึ่ง กินข้าวแล้วเขียนต่อไปจน ๒ ทุ่ม เข้าไปข้างในจน ๕ ทุ่มเสศ กลับออกมาสั่งการเบตเลตเล็กน้อย กลับมา ๕ ทุ่มครึ่ง ลำบากเหลือที่จะพรรณา มือปวดไปหมดด้วยเรื่องเขียนหนังสือ เบื่อจะตายยังต้องกลับมาเขียนไดอรีอีก ไม่เขียนก็เสียดายด้วยเขียนมาเกือบตลอดปีแล้ว ไม่มีบกพร่องเลย จะทิ้งไว้ก็จะสะสมก็ต้องทนเขียนไป เหมือนตากแดดร้อนๆ แล้วมาผิงไฟ ได้แก่เรา เหนื่อยจากเขียนหนังสือแล้วยังกลับมาเขียนหนังสืออีก ก็ต้องทนเขียนไปปวดข้อมือเต็มที...”

                ฯกรมขุนสมมติฯ ท่านทรงบรรยายไว้ว่าที่จริงจดไดอารีนั้น เพราะอะไร

                ท่านว่า

                 “...การจดไดอรีนี้เป็นการมีคุณประโยชน์ยิ่งนัก เพราะการสิ่งใดที่เกิดขึ้นทุกๆ วันไม่ได้จุดไว้แล้ว นานไปก็ลืมเสียหมด จะรู้ว่าวันใดมีการสิ่งใดก็รู้ไม่ได้ ถ้าจดไดอรีไว้แล้วเหมือนมีคนที่มีสติแม่นยำจำการทั้งปวงไว้ได้ มิได้ลืมหลง อยากจะรู้สิ่งใดก็ตามได้...ฯลฯ...ฯลฯ...แต่ไดอรีของเรานี้จะจดโดยชอบใจของเราตามกำหนดดังนี้

                ๑. พระราชประวัติใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือได้ทรงทำกิจการสิ่งใดๆ  แลเสด็จไปแห่งไรในวันนั้น

                ๒. พระราชกรณีย์ คือข้อราชการต่างๆ ที่มีที่เป็นขึ้นในวันนั้นๆ

                ๓. นครประวัติ คือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระนคร และอาณาเขตร

                ๔. อัตตประวัติ คือความประพฤติของตนทุกๆ วัน

                ๕. ตามประวัติ คือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดที่เป็นในบ้าน

                ๖. สิกขากรณีย์ การสิ่งใดที่ดีที่เป็นประโยชน์แลวิชาควรศึกษาจำไว้

                ๗. ปกิณณกะ สรรพสิ่งใดๆ นอกจากกำหนดที่ว่ามาข้างต้น เห็นควรจะจดไว้ก็จะจดไว้ทั้งสิ้น

                โดยเหตุที่ทรงเป็นราชเลขานุการ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง เมื่อเสด็จยุโรปทั้งสองคราวก็โปรดฯให้ตามเสด็จฯไปด้วย ในพระราชหัตถเลขา พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในกรมเสด็จฯ ครั้งแรก (พ.ศ.๒๔๔๐) และพระราชทานสมเด็จหญิงน้อย (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานพดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี) ในการเสด็จฯ ครั้งหลัง (พ.ศ.๒๔๕๐) มีหลายตอนที่ทรงเล่าถึงพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้

                ในพระราชหัตถเลขาครั้งหลัง มีอยู่ตอนหนึ่งซึ่งแสดงว่าฯ กรมขุนสมบัติฯ ทรงพระปรีชาในภาษามคธ เป็นเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ พระราชทานเลี้ยงวันปีใหม่ในเรือมหาจักรี ดังนี้

                 “...แล้วเลี้ยง ๔๐ คน กรมหลวงประจักษ์สปีชอย่างตาโหร ว่าเปนกลอนเรื่อยทีเดียว พ่อดื่มให้เจ้าแผ่นดินอังกฤษ เจ้าพระยาสุรวงศ์ให้พรแทนขุนนางเมื่อแรกมา โจทย์กันว่าจะให้ดุ๊กสปีชภาษาฝรั่ง ดุ๊กไปเกี่ยงให้มิสเตอร์เวสเตนกาด สปีชภาษาไทย มิสเตอร์เวสเตนกาด เชื่อว่าตัวพูดภาษาไทยไม่ได้ ไปวานให้พระรัตนโกษาแต่งท่องเสียจนจำได้ ข้างดุ๊กเชื่อว่าตัวรู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ตระเตรียมอะไร พอเวสเตนกาดลุกขึ้นยืนพูดหน้าซีดไม่เป็นรศ พอเขาจบแล้วถึงทีแกจะลุกๆ ไม่ขึ้น เกี่ยงให้กรมสมมติสปีชภาษามคธก่อน กรมสมมติว่าเก่ง ปรูดปราดได้...”

                การเล่าเรื่อง เวียงวังนี้ ความตั้งใจเมื่อแรกใคร่จะเล่าหนักไปในทางเกร็ดสนุกๆ มากกว่ามุ่งให้เป็นสารคดี แต่ละตอนจึงมักมี เกร็ดแทรกอยู่ด้วย

                เกี่ยวกับ ฯกรมขุนสมมติฯ มีเรื่องพระอารมณ์ขันของท่านกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่ง อยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องขบขันของเจ้านายในยุคนั้นอยู่มาก

                ฯพระองค์เจ้ายี่เข่ง ท่านเป็นพระธิดา พระเ6จ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพชรหึง (พระราชโอรสในวังหน้ารัชกาลที่ ๑) พระชันษาจึงสูงมาก นับอย่างชาวบ้านท่านก็เป็นชั้นป้าของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ท่านรับราชการในวังหลวงเป็นพนักงานนมัสการและเป็นหนักงานในการพระโอสถ เป็น ท่านข้างในผู้ทรงทำหน้าที่ตรวจทหารประจำซองในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาโปรดฯให้เป็นผู้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าอยู่หัวไปแจ้งยังข้าราชการฝ่ายหน้า และเจ้านายฝ่ายหน้า เรียกว่าตำแหน่งผู้รับสั่ง เมื่อทรงพระชรามากแล้ว

                เรื่องขบขันเกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่ง ฯพระองค์เจ้ายี่เข่งท่านรับพระบรมราชโองการให้ออกไปเฝ้าฯ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ที่กรมราชเลขาฯ ฯพระองค์เจ้ายี่เข่งไม่พบพระองค์ฯ กรมพระสมมติฯ จึงทรงเขียนโน้ตสั้นๆ ไว้ว่า ทำไมไม่เสด็จมาวันนี้และลงพระนามของท่านว่า เข้งแทนที่จะใช้ไม้เอกว่า เข่งเมื่อ ฯกรมพระสมมติฯ เสด็จมาเห็นโน้ตนั้น จึงทรงเขียนตอนเข้าไปว่า ป้วยแทน ป่วยตั้งแต่นั้นบรรดาเจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน จึงทรงล้อเลียน ใช้คำว่า ป้วยเป็นคำสแลงของคำว่า ป่วยอยู่พักหนึ่ง

                ในบันทึกรายวันของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติฯ ที่ทรงไว้ว่า เข้าไปข้างในคือ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบทูลข้อราชการต่างๆ  และโดยเฉพาะทรงจดจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันตามพระราชดำรัสที่ทรงบอกให้จด

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×