ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #71 : ทอดกะถินหลวง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 466
      0
      9 เม.ย. 53

    เรื่องขุดคลองภาษีเจริญนั้นมีผู้ถามกันมามากมายว่า ในที่สุดได้ตั้งโรงหวยเก็บเงินชดเชยค่าขุดคลองหรือไม่
                ที่ยังมิได้ตอบ เพราะยังหาเอกสารอันเป็นหลักฐานยืนยันไม่พบ เพิ่งบังเอิญไปอ่านเห็นเข้าในหนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder เล่มที่ ๒ เดือนโนเวมเบอ วันที่ ๒๒ ค.ศ.๑๘๖๖ (คัดมาลงตามต้นฉบับ) ดังนี้
                 “คลองขุดใหม่
                เราได้ยินว่า เรื่องคลองขุดใหม่นั้น คอเวอเมนต์กรุงเทพฯ ไม่ยอมให้ตั้งหวย เก็บเงินค่าคลองนั้นเราจึ่งดีใจนัก แต่ก่อนฤากันว่าจะตั้งหวยที่แขวงเมืองนครไชยศรีแห่งหนึ่ง สาครบูรีแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าจึ่งไม่สบายใจนัก...ฯลฯ...ที่คอเวอเมนต์กรุงเทพฯไม่ยอมนั้น เปนการดีนัก ควรที่จะสรรเสริญ เปนสำคัญพยานว่ากรุงเทพฯอันหนุ่มๆ ยัง (คือ Young ในสมัย ร.๔ เจ้านายขุนนางที่เป็น ‘goverment’ ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่ง ‘ยัง’ กว่าคนรุ่งรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า-จุลลดาฯ) กำลังดำเนิรในทางที่จะให้เมืองดีขึ้น เรามีความหวังว่าการดียังนี้จะไม่อยุด...ฯลฯ...”
                เป็นอันว่าในการขุดคลองภาษีเจริญ มิได้ตั้งโรงหวย แต่เลือกเอาการเก็บเงินจากเรือที่ขึ้นล่องผ่านไปมา สมทบค่าขุดคลอง
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสกลมารค พระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงพระกรุณาโปรดฯให้ยั้งพระราชยานหน้าวัด ให้ฝรั่งฉายพระบรมรูป ตามในจดหมายเหตุ
                เลยได้พบจดหมายเหตุเดือนตุลาคม เรื่องเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน ซึ่งในจดหมายเหตุว่า ในการเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค ณ วัดพระเชตุพน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้หยุดพระราชยานให้ช่างถ่ายภาพฝรั่งฉายพระบรมรูปทรงเครื่องต้นประทับพระราชยานนั้น
                เป็นพระบรมรูปซึ่งค่อนข้างจะแพร่หลายในหนังสือต่างๆ ทว่าไม่สู้จะมีผู้ทราบเรื่องราวของภาพเท่าใดนัก จึงคัดเรื่อง “ทอดกะถินหลวง” มาลงทั้งตอน ซึ่งในการเสด็จฯวัดหงส์รัตนาราม ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯให้หมอบรัดเลย์ พาบุตรภรรยาเข้าไปเฝ้าฯในพระอุโบสถด้วย
                หมอบรัดเลย์ได้พรรณนาถึงการเข้าเฝ้าฯในวัดทางพุทธศาสนา อย่างชื่นชมยินดีในองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทว่าขณะเดียวกันก็อดมีความเห็นอย่างฝรั่งสอนศาสนาในสมัยโน้นเกี่ยวกับพระพุทธรูปของเราไม่ได้
                ความละเอียดเรื่อง “ทอดกะถินหลวง” ว่าดังนี้
                 “ทอดกะถินหลวง
                ในเพลา ๑๐ วัน ที่ล่วงมานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทอดพระกะถินทุกวัน เมื่อ ณ วันพุทธเดือน ๑๐ แรมหกค่ำ เสด็จทางสกลมารค ทรงถวายพระกะถิน ณ วัดจักรวัดดิ์ แล้วเสด็จไปตามถนนตลาดสำเพง ถึงวัดเกาะแก้วลังกาเสด็จประทับถวายพระกะถินที่นั่น แล้วเสด็จเลยไปถวายพระกะกินที่วัดประทุมคงคาอีก แล้วก็เสด็จกลับคืนยังพระราชวัง
                ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๗ ค่ำ จึ่งเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งกลไฟไปทางชลมารค ถึงเมืองสมุทรปราการ ทรงถวายพระกะกินทานที่วัดหลวงเหล่านั้นอีก
                ครั้น ณ วันศุกรเดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ ทรงเครื่องต้นแลเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง ตั้งพยุห์ยาตราน่าหลังมายังวัดพระเชตุพนจะทรงถวายพระกะถิน ครั้นเสด็จถึงซุ้มประตูวัดแล้ว ทรงประทับอยู่ ณ ที่นั้น พระราชทานให้มิสเตอร์ตำซันชักรูปพระฉาย เมื่อขณะทรงเครื่องต้นประทับอยู่บนพระที่นั่งนั้น ได้ยินว่ารูปพระฉายที่ชักนั้นถูกต้องงามดี พร้อมตามพระลักษณะ แล้วเสด็จเข้าไปถวายพระกะถิน ประทับอยู่ ณ พระอุโบสถประมาณสักชั่วโมงเสศแล้วกลับออกมา เสด็จโดยกระบวนพยุห์ยาตราน่าหลังไปยังวัดราชบูรณะ เสด็จประทับถวายพระกะถินอยู่ ณ พระอุโบสถประมาณสักโมงเสศ แล้วเสด็จโดยพยุห์ยาตราน่าหลังไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม ครั้นถึงจึงเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ ถวายผ้าพระกะถิน แก่พระสงฆ์ อันจำพรรษาอยู่ในพระอารามนั้นเสร็จแล้ว ก็เสด็จเคลื่อนพยุห์ยาตรากลับคืนยังพระบรมมหาราชวังตามธรรมเนียม”
                เมื่อวันพุธ เดือน ๑๑ นั้น จดหมายเหตุมิได้พรรณนาว่าทรงเครื่องต้น และเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราแห่หน้าหลัง เหมือนดังเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๑
                (วัดเกาะแก้วลังกา คือ วัดเกาะ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานนามเป็นทางการว่าวัดสัมพันธวงศาราม เนื่องจากพระสัมพันธวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่)
                ต่อมารุ่งขึ้นวันเสาร์ เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน ทางชลมารคเป็นขบวนพยุหยาตรา ครั้งนี้เมื่อเสด็จฯ วัดหงส์รัตนารามหมอบรัดเลย์และบุตรภรรยาได้เข้าเฝ้าฯ ในพระอุโบสถด้วย
                บทความในจดหมายเหตุ พรรณนาว่า
                 “ครั้นถึง ณ วันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ จึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช โดยกระบวนพยุห์ยาตราน่าหลังไปยังชลมารควิถียังวัดสุวรรณธารามแล้ว ถวายผ้าพระกะถินแก่พระสงฆ์อันจำพรรษาอยู่ในพระอารามนั้น เสร็จแล้ว จึ่งเสด็จไปถวายผ้าพระกะถินแก่พระสงฆ์ในวัดอรุณราชธาราม เสร็จแล้วจึ่ง
    เคลื่อนกระบวนพยุห์ยาตราเสด็จไปยังวัดหงษวราราม
                เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ถึงพระอารามนั้น ข้าพเจ้าเจ้าของหนังสือนี้ ได้ภาภรรยากับบุตรชายหญิงไปคอยเฝ้าได้ชมพระบรมโพธิสมภารอยู่ ณ ที่นั่น
                ครั้นเรือพระที่นั่งมาถึงที่ประทับ ข้าพเจ้ากับบุตรภรรยาก็ได้เหนกระบวนพยุห์ยาตรา ดูเป็นศรีงามนักหนา แล้วได้เหนพระราชกุมารน้อยๆ ประดับเครื่องเพชรพลอยต่างๆ ดูรุ่งเรืองงามนัก แล้วท่านได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพเจ้า ภาบุตรภรรยาเข้าไปดูในพระอุโบสถใกล้พระองค์ แล้วโปรดให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องราวอะไรต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้เหนในที่นั้น ข้าพเจ้าขอบคุณที่พระองค์ท่านได้โปรดนั้นนักหนา”
                เวลานั้นกฎเกณฑ์ของผู้นับถือคริสตศาสนาเคร่งครัดนัก ห้ามแม้แต่การเข้าไปในพิธีของศาสนาอื่น แค่เมื่อ ๖๐ ปีมาแล้วนนี้เอง ยังจำได้ว่าแม้แต่งานศพก็ยังห้ามไปร่วมถึงจะเพียงไปไว้อาลัยมิได้ขึ้นเมรุเผาก็ตาม
                หมอบรัดเลย์จึงต้องแก้ตัวหรือแก้ต่างให้ตัวเองเอาไว้ก่อน
                แก้ตัวว่า มิได้เลื่อมไสพระพุทธศาสนา ไม่สรรเสริญการไหว้พระพุทธรูป และย้ำถึงความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าแต่พระองค์เดียว ทว่าอ่านแล้วออกจะชอบกลอยู่เหมือนกัน หมอบรัดเลย์แกว่าดังนี้
                 “เมื่อข้าพเจ้าเหนสมควรที่จะสรรเสริญท่านผู้เปนกระษัตริย์องค์ใหญ่นั้น เพราะการรุ่งเรืองสำรับกระษัตริย์ที่ได้ปรากฏออกงดงามในวันนั้น ข้าพเจ้าจะได้สรรเสริญการที่ไหว้พระพุทธรูป แลการยกยอพระพุทธสาศนานั้น ก็หามิได้เลย ความนี้ในหลวงได้ทรงทราบแล้ว
                แต่ข้าพเจ้านึกกลัวว่า จะมีผู้อื่นที่เข้าใจว่าตัวข้าพเจ้ามีใจยอมนับถือพระพุทธสาศนา สักครึ่งหนึ่งดอกกระมัง จึ่งเข้าไปในพระอุโบสถ ดูการไหว้พระพุทธรูปทรงถวายพระกะถิน
                ข้าพเจ้ายังมีใจตั้งมั่นคงอยู่ในพระบัญญัติ ฝ่ายคริศสาศนานัก บัญัติใหญ่เปนต้นนั้น ห้ามว่าอย่าให้มีพระเจ้าอื่นต่อหน้าพระยะโฮวาเลย อย่ากระทำรูปสลักสำรับตัว ฤาสันถานรูปสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งมีอยู่ในอากาษเบื้องบนก็ดี ซึ่งมีอยู่ในน้ำใต้แผ่นดินก็ดี เจ้าอย่ากราบไหว้อย่าปรนิบัติแก่รูปเคารพย์ใดๆ เลย
                บัญัติบทนี้เปนคำแห่งพระผู้สร้างโลกย์แลยังกำลังทรงโลกย์อยู่ทุกวันนี้ เปนผู้ใหญ่ยิ่งที่สุดแต่องค์เดียว เปนเจ้าของความเปน แลเจ้าของความตาย จึ่งไม่รู้สิ้นสุด
                ผู้ใดแลเมืองใดที่จะทำลายพระบัญัติบทนั้นต่อต่อไปไม่อยุด เมืองนั้นจะดีขึ้นมีความศุขจำเริญนานก็มิได้
                ข้าพเจ้ามีใจรักษเมืองไทยจริง ปรารถนาจะให้มีความจำเริญทุกอย่าง จึ่งอาจว่าได้ ซื่อๆ ตรงเช่นนี้ ไม่อยากพูดเปนคำฬ่อลวงชาวสยามประเทศเลย
                อนึ่งการที่ไหว้รูปเคารพย์ ใช่ว่าจะห้ามแต่คริศสาศนาฝ่ายเดียวเมื่อไร ต้นพระพุทธสาศนาก็ได้ห้ามด้วย ข้าพเจ้าได้อ่านในเรื่องราวสมณโคดมเข้าใจว่าท่านไม่ชอบในการที่ไหว้รูปเลย เพราะรูปเปนของอนิจังหาควรจะยกเปนของประเสริญไม่”
                 ‘กษัตริย์องค์ใหญ่’ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเวลานั้น มีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มิใช่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลดังสามรัชกาลที่แล้วมา
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×