ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #72 : กรมพระราชวังหลัง

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 722
      0
      9 เม.ย. 53

    เรื่องกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ กรมพระราชวังหลัง หรือที่ออกพระนามกันทั่วๆ ไปในรัชกาลที่ ๑ ว่า พระวังหลัง อีกครั้ง
                เนื่องจากมีผู้ถามใช้นามว่า นักเรียนเก่าโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ขอให้เล่าเรื่องของพระองค์ท่านให้ละเอียด และถามว่า สมัยอยุธยามีกรมพระราชวังหลังกี่พระองค์
                ผู้ถามบอกว่าเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ใช้คำว่า ‘วัด’
                ไม่ทราบว่าเป็นนักเรียนเก่าแผนกสามัญ หรือแผนกเลขานุการ และภาษาต่างประเทศ เพราะแรกเริ่มเดิมทีเดียวโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เป็นโรงเรียนสามัญศึกษา เช่นเดียวกับโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ และโรงเรียนวัดต่างๆ
                ต่อมาเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ได้เปิดสอนแผนกเลขานุการและภาษาต่างประเทศ แต่ก็ยังเรียกว่า โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข แผนกเลขานุการและภาษาต่างประเทศ ไม่ได้ทิ้งคำว่า ‘วัด’
                แต่ปัจจุบันนี้ยกฐานะเทียบเท่ามหาวิทยาลัย เปลี่ยนเป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตบพิตรพิมุขจักรวรรดิ์”
                มีคำว่า ‘จักรวรรดิ์’ ต่อท้าย เพราะยังอยู่ที่เดิมคือที่วัดบพิตรพิมุขตรงข้างๆ วัด เนื่องจากแตกแขนงออกไปตั้งอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆอีกแห่งหนึ่ง คือ “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตบพิตรพิมุข ทุ่งมหาเมฆ”
                สมัยก่อนโน้น วัดพุทธศาสนาเป็นทุกอย่างในสังคม เป็นศูนย์กลางที่พบปะกันเหมือนสโมสรหรือสมาคม ผู้ใหญ่ไปฟังเทศน์ หนุ่มๆ สาวๆ ก็ตามไปพบปะกันงานประเพณีอะไรต่างๆ ก็มีที่วัด เป็นโรงเรียนของเด็กๆ เป็นสนามเด็กเล่น บางทีก็แอบไม้เรียวของสมภารเอาเป็นเวทีมวยด้วย เป็นที่อาศัยกินข้าวก้นบาตรของคนจรจัด หมาแมวใครไม่อยากเลี้ยงก็เอามาปล่อยให้อาศัยวัด คนพลัดถิ่นไม่รู้จะไปนอนไหนก็นอนวัด วัดเมื่อสักหกสิบปีก่อนขึ้นไปเป็นอย่างนั้น ตกมาถึงสมัยนี้ วัดเป็นที่พึ่งอะไรของสังคมบ้าง พูดไม่ถนัด
    โรงพยาบาลหลวง ในรัชกาลที่ ๕ (ซึ่งต่อมาคือโรงพยาบาลศิริราช) ตั้งในบริเวณที่ดินตำบลสวนมังคุด สวนลิ้นจี่ และบ้านปืน ซ้ำเรียกรวมๆ กันว่าบริเวณวังหลัง
                เล่าเรื่องโรงเรียนวัด นึ6กไปถึงสมัยเด็กๆ ดูเหมือนจะอ่านหนังสือชุดพล นิกรกิมหงวน นี่แหละ พบคำพูดล้อๆ ถึงเรื่องโรงเรียนวัด ถามว่าเรียนโรงเรียนไหน บอกว่าโรงเรียนวัดลิงขบ
                เข้าใจว่าพูดล้อกันเล่นๆ อยู่ตั้งนาน จึงได้ทราบว่า ‘วัดลิงขบ’ นั้นมีจริงๆ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฟากตะวันตก เหนือคลองบางกอกน้อยขึ้นไป เป็นวัดเก่าแก่ เดิมเรียกกันว่า ‘วัดลิงขบ’ ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘วัดบวรมงคล’
                วัดบพิตรพิมุข นั้น เดิมชื่อวัดเชิงเลน หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดตีนเลน (คงอย่างเดียวกับนกนางแอ่น ซึ่งชาวบ้านเรียกว่านกอีแอ่น)
                เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งต่อไปจะออกพระนามว่า ‘กรมพระราชวังหลัง’ ทรงบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งพระอาราม และน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงพระราชทานนามว่า ‘วัดบพิตรพิมุข’ เป็นพระเกียรติยศ
                 “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” หรือกรมพระราชวังหลัง เพิ่งมีสถาปนาขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เมื่อทรงตั้งพระราชวงศ์ใหม่ โปรดให้หลวงสรศักดิ์ ราชโอรสบุญธรรมเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ให้นายจบคชประสิทธ์หลานชายเป็นเจ้านายชั้นสูงรองลงมาจากพระมหาอุปราช จึงโปรดให้นำระเบียบการตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาตั้งกรม ‘วังหลัง’ เรียกนามกรมว่า “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” ตั้งแต่นั้นมา
                ในสมัยอยุธยา “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” มีเพียง ๒ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ดังกล่าวมาแล้ว
                และในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าเสือ ทรงสถาปนาพระราชโอรส พระองค์ใหญ่ ‘เจ้าฟ้าเพชร’ เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สถาปนาพระราชโอรสพระองค์เล็ก ‘เจ้าฟ้าพร’ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข แต่ออกพระนามกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ว่า ‘พระบัณฑูรน้อย’ มิได้ออกพระนามว่า กรมพระราชวังหลัง เหมือนดังรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
                ทว่า ‘วังหลัง’ นี้ จริงๆ แล้ว มีมาแต่ครั้งพระมหาธรรมราชา แต่เป็นเพียง วังที่ประทับมิได้สถาปนาขึ้นเป็นกรม ดังในเวลาต่อมา
                คือในสมัยพระมหาธรรมราชา (พระชามาดา หรือลูกเขย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และ สมเด็จพระสุริโยทัยนั่นแหละ) เสด็จขึ้นครองแผ่นดินแล้ว โปรดให้สมเด็จพระนเรศวร สร้างวังที่ประทับอยู่ด้านหน้าพระราชวังหลวง เรียกว่า ‘วังหน้า’ โปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถ สร้างวังที่สวนหลวงด้านหลังพระราชวังหลวง จึงเรียกกันว่า ‘วังหลัง’ เกิดมี ‘วังหลวง’ ‘วังหน้า’ ‘วังหลัง’ ในรัชกาลนี้เอง
                ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้พระไตรภูวนาถพิตยวงศ์ พระราชอนุชา พระองค์หนึ่ง ประทับอยู่ที่ ‘วังหลัง’ แต่ก็เป็นเพียงที่ประทับเช่นเดียวกันกับ สมเด็จพระเอกาทศรถ ในรัชกาลพระมหาธรรมราชา
                ดังนั้น ‘วังหลัง’ ในสมัยอยุธยา จึงมี ๔ พระองค์ แต่สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพียง ๒ พระองค์ ดังกล่าว
                กรมพระราชวังหลังกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านทรงเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอรัชกาลที่ ๑ มีพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีด้วยกัน รวม ๓ พระองค์ เมื่อสถาปนาพระบรมราชวงศ์ ได้ดำรงพระอิสริยยศเจ้าฟ้าทรงกรม ทั้ง ๓ พระองค์ พระนามกรมคล้องจองกันดังนี้
                เจ้าฟ้า กรมหลวง อนุรักษ์เทเวศน์ (ต่อมาคือกรมพระราชวังหลัง)
                เจ้าฟ้า กรมหลวง ธิเบศรบดินทร์
                เจ้าฟ้า กรมหลวง นรินทร์รณเรศ (ต้นราชสกุล ‘นรินทรางกูร ณ อยุธยา’
                พระโอรสสามพระองค์ในกรมพระราชวังหลัง ล้วนแต่ประสูติสมัยกรุงธนบุรี ในรัชกาลที่ ๑ จึงได้ทรงเป็นกำลังรบทัพจับศึกช่วยราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้ทรงกรม ทั้ง ๓ พระองค์ คือ
                ๑. กรมหมื่นนราเทเวศร์ (พระองค์เจ้าชายปาน) ต้นราชสกุล ‘ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา’
                ๒. กรมหมื่นนเรศร์โยธี (พระองค์เจ้าชายบัว) ว่ากันว่าทรงเป็นหมัน
                ๓. กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายแตง) ต่อมาเลื่อนเป็นกรมหลวงในรัชกาลที่ ๓ ต้นราชสกุล ‘เสนีวงศ์ ณ อยุธยา’
                กรมพระราชวังหลังนั้น ทรงเป็น ‘หลานน้า’ ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดปรานมาก เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงพระประชวรหนัก ทรงเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการแทบทุกวัน
                ในพระนิพนธ์ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้า (หญิง) กัมพุชฉัตร เรื่องนิพพานวังหน้า ทรงบรรยายถึงเมื่อ ‘วังหน้า’ จะเสด็จสวรรคต เอาไว้ว่า
                 “จึงออกโอษฐ์เรียกโอ้ปิโยรส
                ทรงกำสรดซ้ำสั่งอนุสนธิ์
                อยู่หลังนะจงเจียมเสงี่ยมตน
                ฝากชนม์พระปิตุลาอย่าอาวรณ์
                อย่าประมาทเกรงราชภัยผิด
                ระวังจิตรนะจงจำคำสั่งสอน
                สุจริตคิดพระคุณดังบิดร
                พ่อจะจรจากแล้วประโลมลา
                อันสมเด็จหน่อนาถพระราชบุตร
                จะเป็นมงกุฎสืบสายไปภายหน้า
                อย่าบังอาจล่วงพระราชอาชญา
                พ่อจะนิราร้างเจ้าไม่เนานาน
                จึงให้หาพระบัญชาวังหลังสั่ง
                พ่ออยู่หลังเลี้ยงน้องประคองหลาน
                พระนัดดาน้อมศิระลงกราบกราน
                ก็จากสถานเมืองมิ่งพิมานแมน”
                ใน พระนิพนธ์ เรียก ‘วังหลัง’ ว่า ‘พระบัญชา’ คงจะทำนองเดียวกับเรียก ‘วังหน้า’ ว่า ‘พระบัณฑูร’ ‘พระนัดดา’ นั้น จริงๆ แล้วหมายถึง หลานปู่ หลานตา ส่วนหลานน้า ลูกของพี่สาว หรือหลานลุง ลูกของน้องสาว ราชาศัพท์ว่า ‘ภาดิไนย’ แต่ในสมัยก่อนเรียกรวมๆ กันไปหมดว่า นัดดา ดังชาวบ้านเรียก ‘หลาน’ หมด ไม่ว่าหลานอะไร
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×