ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #61 : พระบรมราชวงศ์เชียงรายแห่งกรุงศรีอยุธยา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 781
      1
      9 ธ.ค. 52

    ตอนนี้ขอออกนอก เวียงวังกรุงรัตนโกสินทร์ ถอยหลังไปหา เวียงวังกรุงศรีอยุธยายุคแรก (๒๑๘ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๑๒-๙๑๗)

                เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ คือ สุริโยไทตั้งแต่เริ่มมีข่าวการสร้าง ได้มีผู้ถามกันมาหลายรายถึงพระบรมราชามหาพุทธางกูร ว่าเป็นองค์ไหน ไม่เคยได้ยินพระนาม ซึ่งก็ได้ตอบไปแล้วตั้งแต่แรกถามมา

                เมื่อ สุริโยไทออกฉาย มีผู้ถามกันมาหลายต่อหลายท่านอีก ส่วนมากเป็นผู้อ่านซึ่งเมื่อพ้นโรงเรียนแล้วก็เลิกสนใจประวัติศาสตร์ไปเลย คำถามนั้นมีอยู่หลายคำถาม เช่นทำไมภาพยนตร์จึงใช้ว่า สุริโยไทพระบรมราชามหาพุทธางกูร หรือ พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร มีความเป็นมาอย่างไร จริงๆ แล้วประชวรพระโรคอะไรสวรรคต พระสุริโยทัยตามความเป็นจริงเป็นอย่างในภาพยนตร์หรือเปล่า คนนั้นคนนี้มีตัวจริงในพงศาวดารเพียงใด ฯลฯ

                ต่อคำถามที่ว่า ทำไมภาพยนตร์จึงใช้ว่า สุริโยไทไม่ใช้ สุริโยทัยตามที่ใช้กันอยู่นั้น

                คำถามนี้ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ท่านทรงให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งหลายแห่งว่า

                 ผมใช้ สุริโยไทเพราะต้องการบอกว่านี่คือหนัง ไม่ใช่พงศาวดารที่เป็น สมเด็จพระสุริโยทัย’”

                จึงในพระราชพงศาวดารทุกฉบับ เป็น พระสุริโยทัยส่วนเจดีย์เรียกว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัยเฉพาะภาพยนตร์เท่านั้นที่เป็น สุริโยไท

                ส่วนคำถามอื่นๆ พอสรุปได้ว่า เป็นเรื่องจริงสักแค่ไหน เพียงใด รวมทั้งอยากทราบเรื่องราวในพระราชพงศาวดารด้วย

                ขึ้นชื่อว่านวนิยาย หรือภาพยนตร์อิงพงศาวดารนั้น ก็บอกตรงๆ อยู่แล้วว่า อิงคืออิงเรื่องจริงตามที่จดไว้ในพงศาวดาร ทว่านำมาผสมผสานจินตนาการ อันอาจมีเค้าความจริงที่ไม่ได้จดเอาไว้ ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ หรือเป็นเพียงจินตนาการก็ได้ เพราะภาพยนตร์หรือแม้แต่นวนิยาย ล้วนมุ่งหมายจุดความบันเทิงจูงใจให้ดูสนุก อ่านเพลิน มิใช่สารคดี

                เรื่องสมเด็จพระสุริโยทัย ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (รัชกาลที่ ๕) ตอนอธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระมหินทราธิราช เพียงสั้นๆ ว่า

                 พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเข้ามาตั้งล้อมพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จยกกองทัพออกไปตรวจกำลังศึก พร้อมด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสี และสมเด็จพระราชโอรส พระราชธิดา ได้รบพุ่งกับพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นกองทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยเข้าช่วยแก้ ต้องอาวุธข้าศึก ทิวงคต หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระราชธิดาสิ้นพระชนม์กับสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

                สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูรนั้น เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๑ ในพระบรมราชวงศ์เชียงรายตั้งแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา รัชกาลที่ ๑ ก็คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทองที่เรียกว่า พระบรมราชวงศ์เชียงราย เพราะบรรพบุรุษแรกเริ่มอยู่ทางเหนือก่อน แล้วจึงอพยพมาอยู่ที่หนองโสน ตามประวัติศาสตร์

                พระบรมราชวงศ์เชียงราย มีพระเจ้าแผ่นดินครองราชย์ จนถึงพระมหินทราธิราช เป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้าย ๑๖ รัชกาล เริ่มแต่

                รัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทองครองราชย์ ๒๐ ปี

                รัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระราเมศวร ราชโอรส รัชกาลที่ ๑ ครองราชย์เพียง ๑ ปี ก็ออกจากราชสมบัติ ยกให้ขุนหลวงพงัว หรือพะงั่ว พระมาตุลลา (ลุง-พี่ชายของแม่) ครองราชย์แทน เป็น

                รัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ขุนหลวงพงัวครองราชย์อยู่ ๑๓ ปี

                รัชกาลที่ ๔ พระเจ้าทองจันทร หรือทองลัน (ทองลั่น) ราชโอรสรัชกาลที่ ๓ ครองราชย์เพียง ๗ วัน สมเด็จพระราเมศวรกลับมาทวงคืน ครองราชย์อยู่ ๖ ปี จึงเป็นทั้งรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๔

                รัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระรามราชา ราชโอรสรัชกาลที่ ๔ พระราเมศวร ครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี

                เจ้าพระยามหาเสนา ขุนนางผู้ใหญ่คิดกบฏ ไปเชิญสมเด็จพระนครอินทร์ เจ้านายในราชวงศ์เดียวกัน มาจับสมเด็จพระรามราชา เนรเทศไปครองเมืองปทาคูจาม แล้ว สมเด็จพระนครอินทร์ ขึ้นครองราชย์ เป็น

                รัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระอินทราชาที่ ๑ พระนครอินทร์ ครองราชย์อยู่ ๑๘ ปี มีราชโอรส ๓ พระองค์ ส่งไปครองเมืองต่างๆ เมื่อสมเด็จพระนครอินทร์สวรรคต เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา แย่งราชสมบัติกัน สู้รบ สิ้นพระชนม์ด้วยกันทั้งคู่ เจ้าสามพระยาจึงได้ขึ้นครองราชย์ เป็น

                รัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยาครองราชย์นาน ๑๗ ปี

                รัชกาลที่ ๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราชโอรสรัชกาลที่ ๗

                รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระอินทราชาที่ ๒ ราชโอรสรัชกาลที่ ๘ ครองราชย์ ๒๒ ปี

                รัชกาลที่ ๑๐ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ราชโอรสรัชกาลที่ ๙ ครองราชย์อยู่นาน ๔๐ ปี แล้วจึงถึง

                รัชกาลที่ ๑๑ สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ราชโอรสรัชกาลที่ ๑๐ เดิมทรงพระนามว่า พระอาทิตยวงศ์ พระราชบิดาส่งไปครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นหัวเมืองเหนือ พระอาทิตยวงศ์เป็นพระราชกุมารประสูติแต่พระอัครมเหสี (ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสันนิษฐานว่า พระอัครมเหสีเป็นเชื้อวงศ์พระร่วง) พระอาทิตย์วงศ์จึงเป็น หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าตามราชกุมารศักดิ์ที่กล่าวไว้ในกฎมนเทียรบาล ซึ่งพระราชพงศาวดารบางฉบับเรียกว่า หน่อสมเด็จพุทธางกูรความหมายเดียวกัน เมื่อเสด็จไปครองพิษณุโลก ได้พระนามอภิเษกว่า พระบรมราชาแต่พระนามพระบรมราชา นั้น เคยมีมาแล้ว จึงเรียกในจดหมายเหตุให้แตกต่างกันออกไปว่า พระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเมื่อเสด็จครองราชย์จึงมีพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร

                เล่ายาวหน่อย เพราะปรากฏพระองค์ตั้งแต่ต้นเรื่อง สุริโยไทและมีผู้สงสัยกันมาตลอดว่า เพราะเหตุใดจึงมีพระนามดังนี้ ท่านครองราชย์อยู่ ๕ ปี มีพระราชโอรสพระชนม์เพียง ๕ พรรษา ตามที่ปรากฏในภาพยนตร์ เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ด้วยพระโรคไข้ทรพิษ ขึ้นครองราชย์เป็น

                รัชกาลที่ ๑๒ สมเด็จพระรัษฎาธิราช ได้เพียง ๕ เดือน พระไชยราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์บรมวงศ์เชียงราย (พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสันนิษฐานว่า จะทรงเป็นอาของ สมเด็จพระรัษฎาธิราช เป็นอนุชา สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ทว่าประสูติแต่พระสนม) จับสมเด็จพระรัษฎาธิราช สำเร็จโทษ แล้วขึ้นครองราชสมบัติเป็น

                รัชกาลที่ ๑๓ สมเด็จพระไชยราชาธิราช ครองราชย์อยู่ ๑๔ ปี พระราชพงศาวดารว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็งในการรบ และการปกครอง คลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กลายเป็นแม่น้ำ ระหว่างปากคลองบางกอกน้อย ปากคลองบางกอกใหญ่ทุกวันนี้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชก็โปรดให้ขุดขึ้น

                สมเด็จพระไชยราชาธิราช สวรรคต พระยอดฟ้าราชโอรสที่เกิดแต่แม่ยั่วเมือง หรือแม่อยู่เมือง พระสนมเอก ขึ้นครองราชย์เป็น

                รัชกาลที่ ๑๔ พระยอดฟ้า อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปีครึ่ง เกิดเรื่องดังที่ทราบกันดีตามประวัติศาสตร์และพงศาวดาร ต่อมามีพระเจ้าแผ่นดินอีก ๒ พระองค์ คือ

                รัชกาลที่ ๑๕ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และรัชกาลที่ ๑๖ สมเด็จพระมหินทราธิราช ซึ่งครองราชย์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครองราชย์ได้ ๒๓ ปี ก็เสด็จออกผนวช ๒ ปี สมเด็จพระมหินทรฯ ครองราชย์แทน แต่แล้วก็ถวายราชสมบัติคืน สมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จกลับขึ้นครองราชย์ได้ปีเดียวก็สวรรคต สมเด็จพระมหินทรฯ ครองราชย์อีกครั้งหนึ่ง เพียงปีเดียวก็เสียกรุง

                เรื่องพระสุริโยทัยนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ไว้ใน พระนิพนธ์เรื่อง อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม

                ตอนหนึ่งทรงวินิจฉัยถึงพระอัธยาศัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า มีหลายแห่งส่อให้เห็นได้ว่า พระเทียรราชานั้น พระอัธยาศัยเป็นอย่างไร คือเป็นผู้อยู่ในทำนองคลองธรรม มีความซื่อตรงจงรักต่อบ้านเมือง แต่ทว่าไม่ฉลาดหลักแหลมนัก แลไม่เป็นนักรบกล้าหาญชำนาญศึกเหมือนเช่นสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่มีพระอัครชายา ซึ่งต่อมาปรากฏพระนามว่า พระสุริโยทัยนั้น เป็นสตรีที่สามารถเห็นจะได้เป็นกำลังช่วยพระสามีมาก

                อีกตอนหนึ่งทรงวินิจฉัย ถึงเรื่องที่พระเทียรราชาออกทรงผนวช ว่า สาเหตุหนึ่งซึ่งอาจเป็นไปได้นั้น

                 คือท้าวศรีสุดาจันทร์ อาจปดิพัทธ ต่อพระเทียรราชาเอง แล้วแสดงเลศนัยอย่างไรให้พระเทียรราชารู้ตัว แต่ฝ่ายพระเทียรราชานั้นซื่อตรง ต่อพระสุริโยทัย แลมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระแก้วฟ้า (หรือพระยอดฟ้า-จุลลดาฯ) จึงบิดเบือนไม่รับทางไมตรีของท้าวศรีสุดาจันทร์ นางก็โกรธแค้นสำคัญว่าพระสุริโยทัยเปนผู้เกียจกัน แสดงความอาฆาตมาทร้ายทั้งพระเทียรราชาแลพระสุริโยทัย พระเทียรราชาเกรงจะเกิดอันตรายถึงพระอัครชายา จึงยอมสละครอบครัวออกทรงผนวชเสียให้สิ้นสาเหตุเภทภัยที่จะเกี่ยวข้องถึงพระสุริโยทัย ถ้าเหตุเปนดังกล่าวในข้อหลังนี้ ต้องเปนเมื่อตอนจวนถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระไชยราชาธิราช ครั้นพระเทียรราชาออกทรงผนวช ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สำเร็จราชการต่อมาจึงคบขุนชินราชเปนชู้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×