ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #299 : เรื่องสนทนากับคนขอทาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 405
      2
      20 เม.ย. 53

    บรรดานิตยสารต่างๆในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ข้อเขียนอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นของจำเป็น ก็คือรายการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆในวงการต่างๆ
               ซึ่งคงมีผู้ทราบกันน้อยคนนักว่า จริงๆแล้วการสัมภาษณ์บุคคลลงในนิตยสารนั้น มีมาแล้วเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๗ นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็เมื่อ ๑๑๒ ปีมาแล้ว
               หนังสือที่ลงการสัมภาษณ์บุคคลคนแรก คือหนังสือวชิรญาณ เล่ม ๑ ตอน ๓ เดือนธันวาคม ร.ศ.๑๑๓ (พ.ศ.๒๔๓๗)
               ผู้สัมภาษณ์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ในรัชกาลที่ ๕
               บุคคลผู้ถูกสัมภาษณ์ คือ นายอิน ชาวอุบล ขอทานตาบอด
               เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า วังของสมเด็จกรมพระยาดำรงขณะนั้นอยู่ตรงเชิงสะพานดำรงสถิต (สะพานนี้จึงได้ชื่อตามพระนามของพระองค์ท่าน) เมื่อเสด็จเข้าออกวังต้องทรงผ่านประตูสามยอดเสมอๆ ทรงสังเกตเห็นขอทานตาบอดผู้หนึ่ง นั่งขอทานอยู่ข้างประตูสามยอดเป็นประจำตั้งแต่เช้าตลอดวัน ทำให้ทรงสนพระทัย วันหนึ่งจึงโปรดให้นำมาเฝ้าแล้วทรง 'สนทนา' ด้วย
               แล้วก็ทรงนำข้อความเรื่องราวการสนทนาระหว่างพระองค์และนายอิน ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ ซึ่งเป็นนิตยสารของหอพระสมุดวชิรญาณ
               ทรงตั้งชื่อเรื่องว่า
              "เรื่องสนทนากับคนขอทาน"
               เรื่องสนทนา หรือการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นไม่ยืดยาวนัก แต่ก็หาอ่านได้ยากมาก จึงขอคัดบางตอนมาลงดังนี้
          ถาม - เอ็งชื่อไร
          ตอบ - ชื่ออินขอรับ
          ถาม - อยู่ที่ไหน
          ตอบ - อยู่อุบล เข้ามาเที่ยวที่ปราจีน มาเป็นโทษ เขาหาว่าเป็นสมัครพรรคพวกผู้ร้าย จำส่งเข้ามาติดตะรางกองลหุโทษ แล้วเจ็บเป็นตาแดงต้อขึ้นตาบอด เขาก็ปล่อยออกจากตะราง จึงขอทานเขากินแต่นั้นมา
          ถาม - ขอทานมาแต่เมื่อไร
          ตอบ - ขอมาแต่เดือน ๓ ปีกลายนี้
          ถาม - ขอทานที่ไหน
          ตอบ - ประตูสามยอดบ้าง สะพานหันบ้าง
          ถาม - ขอทานประตูสามยอดกับสะพานหัน หาอัฐได้ที่ไหนดีกว่ากัน
          ตอบ - ที่สะพานหันหาได้มากกว่า เพราะคนเดินมาก ได้อยู่ราวถึงวันละเฟื้อง จนวันละสลึงเฟื้อง ที่ประตูสามยอดได้เสมอวันละไพบ้าง หกอัฐบ้าง เฟื้องหนึ่งเป็นอย่างมาก
               เล่าแทรก ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ เงินค่าต่ำที่สุดคือ เบี้ย ซึ่งเป็นหอยทะเล ดูเหมือนจะเรียกกันว่าเบี้ยจั่น เมื่อยังเด็กๆเขาเลิกใช้เบี้ยกันแล้ว แต่ก็เคยเห็นพวกผู้ใหญ่เล่นไพ่ตอง ใช้หอยเบี้ยแทนเงิน หอยที่ใช้เป็นเบี้ยนี้ เป็นหอยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ ราคาซื้อ ๘๐๐ เบี้ย ต่อ ๑ เฟื้อง มาตราเงินโบราณ ก่อนรัชกาลที่ ๔ มีอัตราเทียบ ดังนี้
          ๘๐๐ เบี้ย = ๑ เฟื้อง (๑๒ สตางค์ครึ่ง)
          ๒ เฟื้อง = ๑ สลึง (๒๕ สตางค์)
          ๔ สลึง = ๑ บาท
          ๔ บาท = ๑ ตำลึง
          ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
               เงินนอกจากเบี้ยล้วนเป็นเงินที่เรียกกันว่า 'พดด้วง'
               ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เลิกใช้เบี้ยนำดีบุกมาทำเป็น 'อัฐ' ๑ อัฐิ = ๑๐๐ เบี้ย มาตรเงินจึงเป็น
         ๑๐๐ เบี้ย = ๑ อัฐ
         ๒ อัฐ = ๑ ไพ
         ๔ ไพ = ๑ เฟื้อง
         ๒ เฟื้อง = ๑ สลึง
         ๔ สลึง = ๑ บาท
         ๔ บาท = ๑ ตำลึง
         ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
                ดังนั้น ที่นายอินแกว่า ขอทานได้วันละไพ (คือ ๒ อัฐ ประมาณ ๓ สตางค์) บ้าง วันละ ๖ อัฐ (คือ ๓ ไพ ประมาณ ๙ สตางค์) บ้าง และเฟื้องหนึ่ง (ประมาณ ๑๒ สตางค์ครึ่ง) ขณะที่เวลานั้นข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ขายกันจาน ชามละ ๑ อัฐ (๑ สตางค์ครึ่ง) จึงนับว่านายอินแกมีรายได้ไม่เลวเลยทีเดียว
          ทีนี้ก็ 'สนทนา' กันต่อไปอีก
          ถาม - ทำไมจึงไม่ขอทานอยู่ที่สะพานหันให้เสมอๆ
          ตอบ - เดินไปเองไม่ถูก ต้องจ้างเด็กจูงไปเที่ยวละอัฐ หาจ้างเด็กไม่ได้ก็ไม่ได้ไป
          ถาม - เอ็งขอทานอย่างไร
          ตอบ - ผมได้แต่อ้อนวอนขอเขาไปอย่างนั้น เพราะร้องเพลงไม่เป็น
          ถาม - ถ้าไปเจอคนร้องเพลงเขาขออยู่ในที่เดียวกัน แกมิขอไม่ใคร่ได้หรือ
          ตอบ- ได้ขอรับ ผมเข้าไปนั่งแอบอยู่ในพวกเดียวกับคนร้องเพลง เขาให้ทานเขาก็มักให้รายตัวไปด้วยกันหมด
               (ขอทานที่ร้องเพลงบางทีมีฉิ่ง ฉาบเครื่องดนตรีประกอบ เรียกกันว่า วณิพพก ส่วนขอทานขอเฉยๆเรียกว่า ยาจกแสดงว่า เวลานั้น มีขอทานมากคนอยู่ - จุลลดาฯ)
          ถาม - ขอทานวันไร เวลาไรเป็นได้มาก
          ตอบ - วันพระเป็นมากกว่าวันอื่น เวลานั้นคือเวลาเช้า ดักขอเวลาที่เขาไปตลาดมักได้มาก กับเวลาเย็น ขอเวลาเขากลับจากบ่อน ก็มักได้มากกว่าเวลาอื่น
          ถาม - ผู้หญิงกับผู้ชายใครจะให้ทานดีกว่ากัน
          ตอบ - สู้ผู้ชายไม่ได้ บางทีรวยๆเขาให้ถึงทีละเฟื้องก็มี
          ถาม - เอ็งอยู่ที่ไหน
          ตอบ - อาศัยบ้านเขาอยู่ที่ข้างคุก เขารับมา แต่เมื่อออกจากตะรางเลยให้อยู่ในบ้านเขา วันไหนหาได้ก็กินของผมเอง หาไม่ได้นายท่านก็ให้กิน
          ถาม - เวลากินอยู่ของเอ็งอย่างไร ลองเล่าให้ฟังสักที
          ตอบ - เวลาเช้าตื่นนอนผมก็เดินออกจากบ้าน ด้วยจำทางได้ ตรงมาประตูสามยอด ซื้อข้าวเช้ากินที่โรงข้าวแกงหน้าโรงหวย บางทีไม่สบาย ต้องซื้อข้าวสาร วานคนในบ้านเขาหุงให้กิน กินข้าวแล้วก็นั่งขอทาน
          ถาม - ก็ตาเอ็งไม่เห็น เอ็งจะรู้ว่าใครเขาผ่านไปมาอย่างไร
          ตอบ - ผมได้ยินเขาเดิน ไม่ได้ยินก็นั่งนิ่งอยู่ ถ้าได้ยินเสียงคนเดินเมื่อไรก็ขอ นั่งขอประจำอยู่เช่นนี้วันยังค่ำ ถ้าฝนตก แดดร้อน คนตาดีเขามักช่วยจูงให้อาศัยแอบบังอยู่ตามข้างประตู จนเวลาย่ำค่ำตามที่ได้ยินคนเขาพูด และสังเกตเสียงกา ก็เดินกลับไปบ้าน
          ถาม - เงินที่ขอทานได้ รักษาไว้อย่างไร
          ตอบ - เศษอัฐฬสเก็บไว้ในกระเป๋า ซื้อกินอยู่ไปในตัว จนเศษเหลือได้เป็นเฟื้องสลึงจึงนำไปฝากนายเดี๋ยวนี้มีอยู่สักสองบาท
          ถาม - การขอทานหาเลี้ยงชีวิตอย่างนี้ เอ็งรู้สึกเป็นความเดือดร้อนอย่างใดหรือไม่
          ตอบ - ดูก็สบายดี ไม่เห็นเดือดร้อนอย่างใด แต่ก็อาศัยที่นายเขาช่วยเลี้ยงดู ถ้าไม่ได้นายก็เห็นจะอยู่ไม่ได้
    จบเรื่อง 'สนทนากับคนขอทาน' ตรงนี้
               'อัฐฬส' เป็นคำที่คนรุ่นโบราณพูดกันจนติดปากมาเรื่อย 'ฬส' ก็คือ 'โสฬส' ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ยังมีเงินอีกอย่างหนึ่งคือ 'โสฬส' อัตราต่ำกว่า 'อัฐ' ๑ อัฐ = ๑๐๐ เบี้ย แต่ 'โสฬส' มีค่า = ๕๐ เบี้ยเท่านั้น ๑ อัฐ จึง = ๒ โสฬส ต่อมาแม้เลิกใช้เงินโสฬสแล้ว และต่อมาอีกก็เลิกใช้อัฐ คนก็ยังติดปากพูดถึงเงินจำนวนน้อยนี้ว่า 'อัฐฬส'
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×