ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #300 : ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมมลายู

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 504
      0
      20 เม.ย. 53

      "วันที่ ๓ วันเสาร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (พ.ศ.๒๔๓๓)
               เมื่อคืนนี้นอนหลับยาก เพราะเมื่อยเต็มที พอรุ่งเช้าแมงวันมาตอมจนเหลือทน เห็นว่าจะขืนสู้ไปไม่ไหว หนี
    ลงไปนอนข้างล่าง จะขอให้สงบอึงพอให้หลับไม่สงบได้ จนกินยานอนแล้วยังกระชากปอดตับเอาสดุ้งร่ำไป เกือบเป็นบ้า ต้องกรี๊ดใหญ่จึงหลับได้ ตื่นเกือบ ๕ โมงเช้า นึกโคลงตั้งแต่แมงวันตอมจนเกือบหลับลงบท ตื่นขึ้นคัดให้ลูกไปลง
    วชิรญาณรายปี ที่ถูกเกณฑ์ ท่านผู้เกณฑ์เหลวยังไม่ได้ออก แล้วมาเตือน เราผัดล้อว่า เสด็จกลับจะส่งคงจะทัน เพราะเชื่อว่าจะไม่ได้ออก
          โคลงว่าดังนี้
          เสือสีห์หมีแรดช้าง        สับมัน       ก็ดี
          เสียงโห่เสียงปืนพลัน     หลบลี้
          เหลือแหล่แต่แมลงวัน   ตอมเมื่อ    นอนนา
          ยิ่งไล่ยิ่งจู้จี้                 เจาะจิ้ม     เจียนบอฯ"
               พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงข้างต้นนี้ เชิญมาจากพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุรายวัน เสด็จพระราชดำเนินประพาสแหลมมลายู พ.ศ.๒๔๓๓
               เนื่องจากในพระราชหัตถเลขา มีเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือวชิรญาณ ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นสภานายก ซึ่งทรงมีหน้าที่อยู่ประการหนึ่ง คือ 'เกณฑ์' ให้คนเขียนเรื่องลงหนังสือหรือว่าอย่างสมัยปัจจุบันนี้ ก็คือหาต้นฉบับไปลงพิมพ์นั่นเอง
               ก่อนเล่าเรื่องหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเป็นหอสมุดที่บรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ ทรงเข้าทุนกันจัดตั้งขึ้น จนกระทั่งต่อมาเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร และหอสมุดแห่งชาติในที่สุด นั้น
               น่าจะได้เล่าถึงการเสด็จประพาสแหลมมลายูบ้างพอเป็นสังเขป
               เสด็จฯ ครั้งนั้นเป็นเวลานานถึง ๒ เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ ๑๖ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน เสด็จฯ ทั้งทางเรือและทางบก เมื่อเสด็จฯทางบกนั้น ใช้ขบวนช้าง ตลอดระยะทางหากทรงแรมคืน ก็โปรดฯให้สร้างพลับพลาที่ประทับชั่วคราว พระราชหัตถเลขาจดหมายเหตุรายวันนั้น ทรงเล่าถึงระยะทางสภาพบ้านเมืองผู้คนตลอดจนเรื่องราวต่างๆที่ได้ทอดพระเนตรอย่างละเอียด แม้แต่พลับพลาที่ประทับทุกแห่งก็ทรงวาดแผนผังประกอบ
               เวลานั้น กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปลิศ ยังเป็นหัวเมืองของพระราชอาณาจักรสยามอยู่ (พ.ศ.๒๔๕๒ จึงได้ทรงยอมสละให้อังกฤษเพื่อแลกกับการให้คนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษขึ้นศาลไทยในเวลาเกิดคดีความ)
               พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหัวเมืองเหล่านี้ ตลอดเลยไปถึงสิงคโปร์ มีผู้ตามเสด็จไปด้วยเป็นจำนวนมาก ทรงจดไว้ในจดหมายเหตุรายวันว่า
              "คนที่มาคราวนี้ ข้างใน แม่กลาง ๑ แม่เล็ก ๑ เจ้าสาย ๑ หญิงใหญ่ ๑ นางแส ๑ นางชุ่ม ๑ นางเอี่ยม ๑ ลูกชายใหญ่ ๑ ลูกโต ๑ ลูกชายเล็ก ๑ ลูกชายยุคล ๑ เจ้าผอบ ๑ เจ้าถนอม ๑ เจ้าหวง ๑ เจ้าจริตอับษร ๑ เจ้าไขศรี ๑ โขลน ๓ ชวาลา ๓ กับบ่าวหมดด้วยกัน ๑๕ รวม ๓๗ คน"
               แม่กลาง แม่เล็ก คือ สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ขณะนั้นทรงดำรงพระยศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ขณะนั้นทรงดำรงพระยศ พระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวี พระมเหสีลำดับที่ ๒
               เจ้าสาย คือ พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ เวลานั้นทรงดำรงพระยศ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระมเหสีชั้นหลานหลวง ตำแหน่งพระอัครชายาเธอนั้นเป็นพระมเหสีลำดับที่ ๔
               พระมเหสีเทวี ในขณะนั้น มี ๔ ชั้น ตามลำดับ คือ
          ๑. พระบรมราชเทวี
          ๒. พระอัครราชเทวี
          ๓. พระราชเทวี
          ๔. พระอัครชายาเธอ มี ๓ พระองค์
               หญิงใหญ่ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร (ต่อมาทรงกรมเป็นกรมขุนพิจิตรเจษจันทร์) เป็นพระราชธิดาประสูติแต่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ พระอัครชายาเธอพระองค์กลาง เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกที่ประสูติแต่พระภรรยาเจ้า จึงตรัสเรียกว่า 'หญิงใหญ่' ชาววังออกพระนามกันว่า 'สมเด็จหญิงใหญ่' เวลานั้นพระชนม์ ๑๗ พระอัครชายาเธอพระองค์กลางสิ้นพระชนม์แล้วเมื่อ ๓ ปีก่อน จึงทรงอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ซึ่งทรงอุปถัมภ์พระอัครชายาเธอ พระองค์กลางมาก่อน
                บรรดาหม่อมเจ้าทั้งหลายนั้น ไม่ว่าองค์หญิงองค์ชาย ที่มีอาวุโส พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีรับสั่งเรียกว่า 'เจ้า' (ตัดจากหม่อมเจ้า) เช่น เจ้าสาย เจ้าบัว เจ้าเพิ่ม เจ้าก๋ง ฯลฯ แต่เจ้านายอื่นและคนอื่นมักออกพระนามว่า 'ท่าน' เช่น ท่านไขศรี หรือ ท่านหญิงไขศรี ท่านคำรบ หรือ ท่านชายคำรบ
                แต่ 'ก๊ก' หม่อมเจ้าที่เป็นเจ้าพี่เจ้าน้องของพระอัครชายาเธอทั้ง ๓ พระองค์นั้น ชาววังออกพระนามกันเป็นพิเศษ คือเติมคำว่า 'องค์' เข้าไปด้วย เช่น ท่านองค์เพิ่ม ท่านองค์สารภี ท่านองค์หวง (พิศวง)
               ชาววังนั้น มักมีคำออกพระนามเจ้านาย เฉพาะภายในราชสำนัก และเฉพาะภายในวังแต่ละรั้ววัง ซึ่งบางทีก็มิได้ทราบกันแพร่หลายนัก
               เจ้าจอมมารดา ๓ ท่านที่โปรดฯให้ตามเสด็จ ตรัสเรียกว่า นางแส นางชุ่ม นางเอี่ยม นั้น เวลานั้นเจ้าจอมมารดาแส (สกุล โรจนดิศ) และเจ้าจอมมารดาชุ่ม (สกุล ไกรฤกษ์) เป็นพระสนมเอกที่โปรดปราน ส่วนเจ้าจอมเอี่ยม (สกุลบุนนาค) นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดปรานฝีมือถวายอยู่งานนวดอย่างยิ่ง มักโปรดฯให้ตามเสด็จเสมอ ส่วนบรรดา หม่อมเจ้า (เจ้า) ทั้งหลายนั้น เป็นหม่อมเจ้าซึ่งต่าง 'ขึ้น' กับพระมเหสีเทวีแต่ละพระองค์ มีหน้าที่ต่างๆกัน เช่น หม่อมเจ้าถนอม ดูแลเรื่องพระโอสถ คอยถวายพระโอสถต่างๆ หม่อมเจ้าหวง (พิศวง) คอยดูแลเรื่องเครื่องเสวย เป็นต้น ชวาลา คือผู้มีหน้าที่จุดตะเกียงตามไฟ
               พระราชโอรสที่ตามเสด็จ ๔ พระองค์
               สมเด็จพระบรมฯ (ลูกชายใหญ่) พระราชโอรสประสูติแต่พระบรมราชเทวี พระชนม์ ๑๒ พรรษา
               สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ลูกโต) พระราชโอรสประสูติแต่ พระนางเจ้าฯ พระอัครราชเทวี พระชนม์ ๑๐ พรรษา
               สมเด็จเจ้าฟ้า จักรพงศภูวนาถ (ลูกชายเล็ก) ประสูติแต่ พระนางเจ้าฯ พระอัครราชเทวี พระชนม์ ๘ พรรษา
               สมเด็จเจ้าฟ้า ยุคลทิฆัมพร (ลูกชายยุคล) ประสติแต่ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระชนม์ ๘ พรรษา เท่ากับ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศฯ
               ทีนี้เล่าเรื่องหอสมุดพระวชิรญาณ ซึ่งบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าทุนกันจัดตั้งขึ้นเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
               แรกเริ่มเดิมทีนั้น ตระกูลสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ องค์น้อย ท่านมีนิวาสน์สถาน อยู่ทางกรุงธนบุรี สมเด็จฯองค์ใหญ่นั้นท่านมีที่ดินอยู่หลายแปลง ริมแม่น้ำ (แถววัดประยุรวงศาวาสปัจจุบัน) ซึ่งที่ทางแถบนี้ในสมัยกรุงธนบุรีมาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นทำเลดีสำหรับการค้าขาย เพราะในสมัยนั้น เรือแพนาวาไปมาค้าขาย ก็ขึ้นท่าทางฟากโน้นทั้งนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ฝรั่งเคยเช่าเป็นห้างไว้สินค้ามาก่อน
              ถึงรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ แต่ยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้กราบบังคมทูลถวายที่ดินของท่านบิดาอันเป็นมรดกของท่านแปลงหนึ่ง อยู่ติดแม่น้ำยาวตลอดไปตามลำน้ำ ๑๔ วา ๒ ศอก ยืนขึ้นไป ๒ เส้น ๑๔ วา ๒ ศอก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้พระคลังข้างที่ไปสร้างตึกไว้ ๓ หลัง สำหรับให้เช่าไว้สินค้าและทำการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงร่างพระราชประสงค์ว่าจะพระราชทานตึก ที่ดินนี้ แก่พระราชโอรสธิดา
               ถึงรัชกาลที่ ๕ เสด็จครองราชย์ได้ ๗ ปี จึงได้ค้นพบร่างพระราชดำรินี้
               พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บรรดาพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นเจ้าของร่วมกัน ขณะนั้นมีพระองค์อยู่ ๕๘ พระองค์รวมทั้งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย ทว่าในส่วนพระองค์นั้น โปรดฯพระราชทานแก่สมเด็จพระบรมฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
               ผลประโยชน์ ๕๘ ส่วนนั้น จึงทรงตกลงกันจัดตั้งหอสมุดสำหรับราชตระกูลขึ้นเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดพระราชทานนามให้เรียกว่า "หอพระสมุดวชิรญาณ" ตามพระสมณะนามาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×