ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #209 : ขุนนางบรรดาศักดิ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 964
      1
      15 เม.ย. 53

      ขุนนางบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยาถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ที่เรียกกันว่า เจ้าพระยานาหมื่น นั้น เคยเล่ามาแล้วว่า ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เริ่มมีธรรมเนียม ตั้งทำเนียบขุนนางเป็นแบบสืบมา คือ

                เจ้าพระยาสมุหนายก ๑ เจ้าพระยาสมุหพระกลาโหม ๑ เป็นอัครมหาเสนาบดี

                เจ้าพระยาจตุสดมภ์ ๔ (เวียง วัง คลัง นา)

                เจ้าพระยาเดโชและเจ้าพระยาสีหราชฤทธิไกร ทัพบกทัพเรือ ๒

                ทั้ง ๘ เจ้าพระยา (หรือในพระราชพงศาวดาร บางทีก็เรียกเพียง ‘พระยา’ แต่เป็นพระยาถือศักดินา ๑๐,๐๐๐)

                ต่อมาเพิ่มตำแหน่งเจ้าพระยาพิเศษถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ขึ้นอีกหลายตำแหน่ง มีราชทินนามต่างๆกัน แล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ  เช่น

    สมเด็จพระนางเจ้า
    อินทรศักดิ์ศจี
    พระวรราชชายา ในฉลองพระองค์ชุดเสือป่า

                เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช มีอยู่ ๒ ท่าน ในสกุล ‘บุณย์รัตพันธุ์’ คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ในรัชกาลที่ ๑ ผู้เป็นต้นสกุล และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก) ในรัชกาลที่ ๕ เหลนของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด)

                (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ราชทินนามคล้ายกันกับราชทินนามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาหัวเมือง พระราชทานแก่เจ้าเมือง เมืองนครศรีธรรมราช คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช  และเจ้าพระยาศรีธรรมราช แต่เวลาเรียกมักเรียกกันว่า เจ้าพระยานครฯ)

                เจ้าพระยาตำแหน่งพิเศษดังกล่าวมาแล้วนี้ นอกจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ก็มี เช่น

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๖ มี ๖ ท่านด้วยกัน

                เจ้าพระยามหาโยธา มี ๒ คน พ่อลูกในรัชกาลที่ ๑ และ ๓ มีความดีความชอบควบคุมกองมอญ ถึงเป็นแม่ทัพเข้ารบกับพม่าหลายครั้ง

                เจ้าพระยามุขมนตรี ในรัชกาลที่ ๕ และ ๗

                เจ้าพระยาอภัยราชาในรัชกาลที่ ๕

                เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ในรัชกาลที่ ๕

                เจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี ในรัชกาลที่ ๕

                เจ้าพระยาราชศุภมิตร ในรัชกาลที่ ๖

                เจ้าพระยารามราฆพ ในรัชกาลที่ ๖

                เจ้าพระยามหิธร ในรัชกาลที่ ๖

                และ ฯลฯ อีกหลายท่าน โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯเพิ่มตำแหน่งเจ้าพระยานาหมื่นขึ้นหลายท่าน

                ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งมีถึง ๖ ท่าน

                ตำแหน่งเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี นั้น คล้ายจะเป็นตำแหน่งอาวุโสที่สุดในบรรดาเจ้าพระยานาหมื่นทั้งปวง มักจะพระราชทานแก่เจ้าพระยาที่มีความดีความชอบรับราชการสำคัญมาแต่ยังหนุ่มจนชราภาพ ซึ่งบางทีก็ต้องโปรดฯให้ผู้อื่นมารับหน้าที่การงานในตำแหน่งนั้นแทน  จึงโปรดเกล้าฯให้คนเก่าเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาอาวุโส คือ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจะเรียกว่าเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ก็ว่าได้ เหมือนกัน

    เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี
    (ปลื้ม สุจริตกุล)

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี คนที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ท่านที่ ๑ นี้ ไม่ปรากฏชื่อและประวัติ สันนิษฐานว่า คงจะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและอายุคงจะมากแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งอาวุโสกว่าผู้อื่น ทำนองที่ปรึกษาการงานแผ่นดิน และคงจะเป็นอยู่ไม่นานนักก็ถึงแก่อสัญธรรม

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี คนที่ ๒ คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช นามเดิมว่า ‘พัฒน์’ เป็นบุตรเขยของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนก่อน (ซึ่งเดิมปลายสมัยอยุธยาเป็นหลวงนายสิทธิ)

                ถึงรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยานครฯ (หลวงนายสิทธิ) แก่ชราจึงโปรดให้บุตรเขย (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยานครฯ สืบต่อไป พระราชทานราชทินนามว่า เจ้าพระยาศรีธรรมมาโศกราชคล้ายๆกับ ราชทินนาม เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ดังกล่าวมาแล้ว

                ครั้นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (พัฒน์) แก่ชรามากแล้วในรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งกิตติมศักดิ์ โปรดฯให้บุตรชายใหญ่ (น้อย) ซึ่งก็คือโอรสใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นเจ้าพระยานครฯแทน

                เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (พัฒน์) จึงเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) คนที่ ๒

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี คนที่ ๓ ชื่อเดิมว่า ‘ฉิม’ เป็นหลาน (ปู่) ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เดิมเป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีเวียงหรือนครบาล ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อแก่ชราจึงโปรดฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี คนที่ ๔ เดิมชื่อ บุญศรี เดิมเป็น พระยาพิพัฒโกษา ปลัดทูลฉลองกรมท่า (กระทรวงต่างประเทศในปัจจุบัน) เป็นข้าหลวงเดิมที่โปรดปรานในรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เมื่อท่านแก่ชรามากแล้ว อสัญกรรม เมื่ออายุ ๘๖ ปี ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล ‘บุรณศิริ’

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี คนที่ ๕ ชื่อว่า ‘หนูพร้อม’ เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย-ที่ว่าเป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) ได้เป็นพระยานครฯ ในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯให้ปฏิรูปการบริหารส่วนภูมิภาค เลิก เมืองพระยามหานคร (เอก โท ตรี จัตวา) จัดการบริหารเป็นมณฑล มณฑลแบ่งออกเป็นเมือง (ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงเรียกว่า ‘จังหวัด’) เปลี่ยนเรียกเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง พระยานครฯ (หนูพร้อม) ก็ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาอีก ๘ ปี จึงโปรดฯให้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช มีสร้อยว่า ศรีธรรมราช เป็นพิเศษ เมื่อท่านอายุ ๖๓ ปี และล้มป่วยกระเสาะกระแสะ อีกเพียง ๒ ปี ก็อสัญกรรม

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี คนที่ ๖ ท่านสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์

                คือ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)

                สกุล สุจริตกุล เป็นราชินิกุล ในสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และ ๗ สืบลงมาจากท่านท้าวสุจริตธำรง (นาค) ในที่นี้จะกล่าวถึงบุตรธิดาเพียง ๒ ท่าน ของท้าวสุจริตธำรง คือ

                ๑. สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยมในรัชกาลที่ ๔)

                และ

                ๒. พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล)

                สมเด็จพระปิยมาวดีฯ ทรงเป็นพระชนนีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๖ และ ๗

                ส่วนพระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) นั้น มีบุตรชายท่านหนึ่ง ได้เป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ในรัชกาลที่ ๖

                เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) มีพระธิดา ซึ่งได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้า อินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี

                และเมื่อสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้า พระองค์นั้นแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระชนกแห่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ ขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ในกาลต่อมา มีข้อความตอนหนึ่ง ในท้ายประกาศแต่งตั้งว่า

                “บัดนี้พระยาพิเชตฯ ก็นับว่าเป็นชั้นผู้ใหญ่ในราชินิกุลแห่งสมเด็จพระบรมราชชนนี และเป็นพระชนกแห่งสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี สมควรจะยกย่องฐานันดรให้สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×