ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #198 : หญ้าปล้อง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 548
      0
      15 เม.ย. 53

    ต้องสะกิดทันทีที่เห็นข้อความโปรยหัวเรื่อง บุญบรรพ์ว่า

                    บรรพบุรุษญาติพี่น้องมากมายดังหญิงปล้อง อันขึ้นเป็นกอขยายเต็มสองฟากฝั่งคลอง

                    ซึ่งคัดมาจากในเรื่อง

                    ซึ่งในเรื่องก็เป็น หญิงปล้อง

                    ไม่รู้ว่าต้นหญิงปล้องอะไรจึงไปขึ้นเป็นกอขยายเต็มสองฟากฝั่งคลอง

                    แสดงว่า คนสมัยใหม่รุ่นหนุ่มสาวใหญ่น้อยลงไปถึงวัยรุ่น (โดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพฯ) เห็นจะไม่รู้จักหญ้าชนิดหนึ่ง คือ หญ้าปล้อง

                    หญ้าปล้อง จึงได้กลายเป็น หญิงปล้อง

                    ดีเหมือนกัน จะได้ถือโอกาสเล่าถึงเรื่อง หญ้าปล้อง ซึ่งเมื่อก่อนโน้นๆ โดยเฉพาะเมื่อคนอายุ ๗๐-๘๐ ปัจจุบันยังเป็นเด็กอยู่นั้น หญ้าปล้อง เป็นของเล่นสนุกอย่างหนึ่ง

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์) ฉายในรัชกาลที่ ๕ พระชันษา ๑๘

                    อีกทั้งยังมีเรื่องของเจ้าจอมมารดาท่านหนึ่ง ซึ่งพอใจที่จะให้พระนัดดา (ชั้นหม่อมเจ้า) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเรียกท่านว่า คุณย่าปล้อง มิให้เรียกว่า คุณย่าเฉยๆ

                    หญ้าปล้อง เป็นต้นไม้วงศ์เดียวกันกับต้นอ้อ ต้นแขม ขึ้นเป็นพงเป็นกอขยายพันธุ์ง่ายตามริมคลอง

                    อ้อกับแขมลำต้นตรง อ้อนั้นลำต้นแข็งเป็นปล้องข้างในกลวง นำปล้องมาประดิษฐ์เป็นเครื่องเป่าเช่นขลุ่ยได้ เด็กสมัยก่อนโน้นมักตัดเอามาเป็นไม้ซางเล่น

                    ส่วนหญ้าปล้อง ลักษณะการเติบโตคล้ายหญ้า ไม่เป็นลำต้นตรงเหมือนอ้อกับแขม จึงเรียกว่าหญ้าปล้องขึ้นปะปนกับอ้อและแขมตามริมคลอง

                    ในสมัยก่อนโน้น ก่อน พ.ศ.๒๔๙๐ ถนนพระราม ๔ จากหัวลำโพงผ่านสถานเสาวภา ผ่านหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่เป็นถนนลาดยาง (มะตอย) ไปสุดอยู่เพียงศาลาแดง

                    เวลานั้นมีคลองขนาบถนนจากหัวลำโพง ขนานกันมาเรื่อย แต่คลองไปออกพระโขนง ส่วนถนนลาดยางหยุดอยู่เพียงศาลาแดงดังกล่าว

                    คลองฟากตรงข้ามกับถนนเป็นบ้านเรือนราษฎร อยู่ฟากเดียวกันกับวัดหัวลำโพง เวลานั้นเป็นวัดใหญ่วัดเดียวแถบนั้น มีงานประจำปีทุกปี โดยเฉพาะการประกวดนักร้อง นักร้องดังๆสมัยโน้นส่วนมากล้วนมาแต่เวทีประกวดวัดหัวลำโพง

                    ส่วนคลองฟากถนน ฟากเดียวกันกับสถานเสาวภา ริมคลองว่างเปล่าตลอดเพราะติดถนน ถนนที่ติดริมคลองพูนดินสูงเป็นเนินวางรางรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำ เลียบขนานไปกับคลอง

                    จากเนินรางรถไฟ ลดลงไปนิดก็ถึงรางรถรางเลียบขอบถนนลาดยาง (มะตอย) ส่วนที่เป็นรางรถรางไม่ได้ลาดยางเป็นลูกรัง

                    ที่เล่าถึงถนนก็เพื่อให้หลับตาลบภาพแถวหน้าสถานเสาวภาออกให้หมดเสียก่อน จึงจะวาดภาพริมคลองหัวลำโพงที่ขนานไปกับถนนพระราม ๔ ได้

                    ว่าตลอดริมคลองนั้นเต็มไปด้วยพงอ้อ พงแขม ต้นเหงือกปลาหมอ หญ้าสารพันชนิด รวมทั้งหญ้าปล้องมากมาย

                   ทางรถไฟสายปากน้ำเลียบคลองหัวลำโพง ผ่านปลายถนนสาธรในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้สร้างสะพานปลายถนนสาธร เชื่อมกับถนนพระราม ๔ (ภาพนี้ฟิล์มกลับ ที่จริงถนนสาธรอยู่ทางขวา ทางรถไฟอยู่ทางซ้าย
                    สังเกตคลองซึ่งตื้นเขิน เมื่อเลยศาลาแดงมาแล้ว

                    เฉพาะหญ้าปล้องนั้น มีประโยชน์ เด็กชอบตัดเอาไปเล่น ลำต้นใหญ่เท่าตะเกียบเป็นข้อๆ แต่ละข้อยาวประมาณคืบ ข้างในปล้องเป็นเยื่อสีขาว เยื่อนั้นค่อนข้างเหนียวนุ่ม บีบให้หดยืดได้คล้ายฟองน้ำพลาสติกในปัจจุบัน เด็กสนุกตอนที่ตัดมาแล้วใช้ตะเกียบทะลวงไส้ ดันให้เยื่อหลุดโผล่ออกมาอีกทางหนึ่งเป็นเส้นยาว เอาไปย้อมสี เวลานั้นก็มีสีแดง น้ำเงิน จากหมึกแดง หมึกน้ำเงิน สีฟ้าม่วง จากดอกอัญชันขยี้ผสมน้ำ สุดแต่จะหาอะไรมาย้อมได้ ย้อมก็คือโยนใยหญ้าปล้องลงไปในน้ำผสมสี แล้วหยิบขึ้นมาบีบให้แห้ง เท่านั้นเอง สนุกจะตาย แต่พวกทำของเล่นขายเขาได้ประโยชน์กว่านั้น เอาไปดัดไปสานไปขัดกัน ดัดแปลงเป็นนก เป็นดอกไม้ใส่กระถาง

                    แต่ที่เห็นนำไส้หญ้าปล้องมาใช้ประโยชน์อย่างแปลกที่สุด ก็เรื่องตำรายาแก้ไอ อันมีลูกพลับจีนแห้งฝานๆต้มกับน้ำตาลกรวด (หรือไม่ได้ต้ม จำไม่แม่น) แต่ที่แม่น คือ มีน้ำไม่มากนัก ทำเวลาเย็นแล้วใส่ชามแก้วตากน้ำค้างทั้งคืนจนเช้า ก่อนตากใส่หญ้าปล้องลงไปในชามนั้นด้วย สัก ๒-๓ ปล้อง

                    เช้าขึ้นมาผู้ใหญ่ (คือย่า) รับประทานแต่น้ำเป็นยา เด็กๆลูกหลานแย่งลูกพลับกินกันเอร็ดอร่อยเพราะลูกพลับแห้ง เวลานั้นหายาก หากไม่ส่งมาจากเมืองจีนโดยตรงก็แพงมาก จนป่านนี้ยังไม่รู้เลยว่าทำไมต้องใส่หญ้าปล้องลงไปด้วย

                    อย่าว่าแต่รุ่นหลาน แม้รุ่นลูกของย่า คือ อาคนสุดท้อง เมื่อ ๕-๖ ปีก่อน อายุท่านร่วม ๙๐ แล้ว เกิดอยากรับประทานยาตำรานี้ขึ้นมา คงจะคิดถึงแม่ของท่าน หลานหามาให้ได้แต่ลูกพลับกับน้ำตาลกรวด ส่วนหญ้าปล้อง จนปัญญา แม้ร้านขายยาทั้งไทย (ร้านเจ้ากรมเป๋อ) และจีนก็ยังไม่มีขาย ฝ่ายอาก็ถามหาแต่หญ้าปล้อง...หญ้าปล้อง บอกว่าขาดหญ้าปล้องไป ไม่ครบตามตำรา ถามว่า แล้วคุณอาทราบไหมว่าเขาใส่หญ้าปล้องทำไม ก็บอกว่าไม่รู้ แต่อยากกินให้ครบตามตำรา เหมือนที่คุณย่าทำ

                    เล่าถึงหญ้าปล้องแล้วทีนี้ เรื่องของ คุณย่าปล้องบ้าง

                    คุณย่าปล้อง ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้า ๔ พระองค์คือ

                    ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมพระนามเดิม พระองค์เจ้าชายทองกองก้อนใหญ่

                    ๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ

                    ๓. พระองค์เจ้าชายเจริญรุ่งราศี สิ้นพระชนม์ แต่ยังทรงพระเยาว์ (ว่ากันว่า เพราะพระนามไม่เข้าชุดทอง กับพระเชษฐาทั้งสอง)

                    ๔. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกาญจนากร

                    เจ้าจอมมารดาท่านนี้ คือเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ท่านเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยากำแหงสงครามฯ (ทองอิน) ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา ต้นสกุล ณ ราชสีมา และ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา ดังที่เล่ามาแล้ว

                    เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาชั้นสูง ได้รับพระราชทานหีบหมากลงยาและพานทองเครื่องยศเป็นเกียรติยศ

                    เมื่อสิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระมหากรุณาแก่ท่านมาก แม้เมื่อเสด็จไปอยู่วังกับพระโอรสทั้งสองพระองค์แล้ว ก็โปรดฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านเข้าเฝ้าแหนได้ตามปรารถนาของท่านไม่ว่าเวลาใด เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในประวัติของท่าน เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านพอใจให้เรียกท่านว่า คุณย่าปล้องไว้ดังนี้

                    ความที่ท่านนับถือพระราชวงศ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เฉพาะเพียงที่เป็นพระราชโอรสธิดา ถึงจะเป็นหม่อมเจ้าในต่างกรมที่เป็นราชนัดดา ไม่ว่าองค์ใดองค์หนึ่ง จะมีชนมายุแก่อ่อนเพียงใดก็ตาม ในเวลาท่านพบปะ เช่นว่าไปรดน้ำสงกรานต์เป็นต้น หรือในที่อื่นท่านก็แสดงอัธยาศัยสนิทสนมมิได้เลือก แต่มิได้ยอมให้ยกย่องเกียรติยศของท่าน พวกหม่อมเจ้าย่อมทราบกันอยู่ทั่วไปว่า เมื่อยกย่องเรียกท่านว่า คุณย่าท่านก็ขอให้เรียกว่า คุณย่าปล้องดังนี้เสมอมา ซึ่งบางองค์เห็นขัน บางองค์ก็เห็นไปเป็นอย่างอื่น แต่ที่จริงเกิดแต่ที่ท่านไม่นิยมต่อยศศักดิ์นั่นเองเป็นเหตุ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×