ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #199 : ราชนิเวศนานุบาลฝ่ายใน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 606
      0
      15 เม.ย. 53

     ‘ราชนิเวศนานุบาลฝ่ายใน’ คือผู้มีสิทธิ์ขาดอำนาจในการควบคุมดูแลรักษาพระราชฐานฝ่ายใน

                รัชสมัยรัชกาลที่ ๓ มีอยู่ ๓ ท่าน คือ

                ๑. เจ้าคุณหญิงต่าย เรียกกันว่า ‘เจ้าคุณปราสาท’

                ๒. ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาอิ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑)

                ๓. ท้าวศรีสัจจา (มิ) หรือในหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ว่า ชื่อ ‘ลิ้ม’ เรียกกันในพวกชาววังว่า ‘เจ้าคุณประตูดิน’

                ตั้งแต่ต้นๆรัตนโกสินทร์ ผู้ที่โปรดฯให้เป็นราชนิเวศนานุบาลฝ่ายในนั้น มันเป็นพวกราชินิกุล คือพระญาติพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระพันปีหลวง และหรือผู้ใหญ่ชั้นเจ้าจอมมารดา พระสนมเอกในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งมักเป็นธิดาของเสนาบดีหรือขุนนางสำคัญๆ

                เจ้าคุณปราสาท นั้น เปรียบเสมือนผู้บัญชาการบังคับการทั่วไปในพระราชฐาน มีตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่น ทว่าบทบาทของท่านไม่ทำให้ชาววังกลัวเท่าท้าวศรีสัจจาและท้าววรจันทร์

                ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงยกย่องพระญาติวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง โดยเฉพาะเชื้อสายของเจ้าคุณหญิงนวล ที่เรียกกันในขณะนั้นว่า เจ้าคุณโต พระน้านางของพระองค์ โดยเหตุที่เจ้าคุณหญิงนวลได้เป็นผู้อภิบาลพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ตั้งแต่เจ้าคุณหญิงนวลยังไม่ได้สมรสกับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)

                ในรัชกาลที่ ๒ พระญาติวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (หรือสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ในขณะนั้น) จึงได้เข้ามาเป็นใหญ่ในวังลดความสำคัญของเจ้าจอมมารดาแว่น หรือคุณเสือ ‘เจ้าคุณข้างใน’ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ลงไป

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดฯสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งพระบัณฑูรน้อยอยู่แล้ว ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

                จึงโปรดฯให้เจ้าคุณหญิงนุ่น ธิดาคนใหญ่ของเจ้าคุณหญิงนวล เข้ามาเป็นผู้บัญชาการดูแล พระราชวังหลวง ชาววังเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณวังหลวง’

                และโปรดฯให้เจ้าคุณหญิงคุ้ม ธิดาคนรองจากเจ้าคุณหญิงนุ่น ขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการดูแลพระราชวังบวรฯ ชาววังเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณวังหน้า’

                ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อเจ้าคุณหญิงนุ่น ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้เจ้าคุณหญิงต่าย ธิดาคนที่ ๓ น้องสาวรองจากเจ้าคุณหญิงคุ้ม ซึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ อยู่กับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา กลุ่มพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ออกพระนามกันว่าทูลกระหม่อมปราสาท) จึงเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณปราสาท’ เรื่อยมานั้น รับช่วงเป็นผู้บัญชาการดูแลพระราชฐานชั้นในต่อไป

                ราชนิเวศนานุบาลอีก ๒ ท่าน คือ ท้าววรจันทร์และท้าวศรีสัจจา นั้น ว่ากันถึงตำแหน่งหน้าที่ของท่านก่อน

                ท้าววรจันทร์ และท้าวศรีสัจจา เป็นตำแหน่งท้าวนาง ซึ่งท่านเปรียบเทียบเอาไว้ว่า

                ท้าววรจันทร์เท่ากับเป็นหัวหน้าท้าวนาง เทียบกับข้าราชการฝ่ายหน้า ก็เปรียบเสมือนสมุหนายก

                ส่วนอีก ๔ ท้าวนางรองลงไป เทียบกับฝ่ายหน้า เปรียบเสมือนจตุสดมภ์ คือ

                ๑. ท้าวสมศักดิ์

                ๒. ท้าวอินทรสุริยา

                ๓. ท้าวศรีสัจจา

                ๔. ท้าวโสภานิเวศ

                ท้าววรจันทร์ มีศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่

                ส่วนอีก ๔ ท้าวนาง ศักดินา ๘๐๐ ไร่

                ท่านแจกแจงหน้าที่เอาไว้ว่า

                ท้าววรจันทร์ มีหน้าที่พิทักษ์รักษาบังคับบัญชาดูแลพระสนมกำนัลทุกชั้น มีทั้งงานประจำและงานในพระราชพิธีพิเศษต่างๆ

                ท้าวสมศักดิ์ ว่าการพนักงานทั้งปวง  เช่น เครื่องนมัสการ ดูแลหอพระ ฯลฯ

                ท้าวอินทรสุริยา ว่าห้องเครื่องวิเศษ

                ท้าวศรีสัจจา ว่าการโขลน  ควบคุมประตูวัง และการอารักขาทั้งปวง

                 ท้าวโสภานิเวศ มักเป็นตำแหน่งลอยๆ ช่วยในกองบัญชาการของท้าววรจันทร์

                นอกจากท้าววรจันทร์และท้าวนางทั้ง ๔ แล้วยังมีท้าวนางสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ ท้าวทรงกันดาล  เป็นผู้บังคับบัญชาพระคลังใน มี ท้าวภัณฑสาร เป็นผู้ช่วย

                ตำแหน่งท้าวทรงกันดาลนี้ แต่ก่อนมาเป็นตำแหน่งต่ำกว่าท้าว ‘จตุสดมภ์’ ทว่าต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โปรดฯให้ผู้สูงศักดิ์เป็นท้าวทรงกันดาล โปรดฯพระราชทานเกียรติยศ และยกย่องเสมอท้าววรจันทร์ เช่น ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ในสมัยกรุงธนบุรี ที่เรียกกันว่า ‘เจ้าคุณใหญ่’ เป็นต้น

                สำหรับ ‘ราชนิเวศนานุบาล’ นั้น ว่าตามภาษาสมัยใหม่ ก็ต้องว่า เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง

                นอกจากผู้ดูแลการหรือหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งในรัชกาลที่ ๓ คือเจ้าคุณปราสาทแล้ว

                อีกสองท่านทรงตั้งจากท้าวนางผู้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ทว่าเน้นให้มีอำนาจสิทธิ์ขาดยิ่งขึ้น

                คือ ท้าววรจันทร์ บังคับบัญชาดูแลพระสนมกำนัลทุกชั้น

                ในรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้เจ้าจอมมารดาอิ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นท้าววรจันทร์อยู่แล้วให้เป็น ๑ ในราชนิเวศนานุบาลฝ่ายใน

                เจ้าจอมมารดาอิ่ม เป็นธิดาของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน ที่เรียกกันว่า จีนกุน) เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ เป็นพระยาพระคลังถึงรัชกาลที่ ๒ จึงเลื่อนเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่สมุหนายก

                เจ้าจอมมารดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ แต่งชุดทหารสก๊อต ตามเสด็จประพาสต่างจังหวัด
                จากซ้ายไปขวา เจ้าจอมมารดาเขียน
                เจ้าจอมมารดาวาด ได้เป็น ท้าววรจันทร์ในรัชกาลที่ ๕
                เจ้าจอมมารดาสุ่น ได้เป็น ท้าววนิดาพิจาริณีในรัชกาลที่ ๕

                เจ้าจอมมารดาอิ่มเป็นธิดาคนที่ ๒ ได้เป็นท้าววรจันทร์ แต่ในรัชกาลที่ ๒ มีพระองค์เจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง พระนาม พระองค์เจ้าสุมาลี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒

                ส่วนท้าวศรีสัจจา (มิ) ประวัติค่อนข้างเลือนราง ด้วยท่านผู้นี้มิได้เป็นเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดามาก่อน

                ทว่าเป็นที่รู้และเล่ากันว่า ท้าวศรีสัจจา (มิ) ผู้นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยมาก ฝ่ายท้าวศรีสัจจาก็ถวายความจงรักภักดีในพระองค์ ไม่ว่าจะเสด็จบรรทมพระวิมานพระที่นั่งองค์ใด ท้าวศรีสัจจาจะต้องไปนอนเฝ้าอยู่หน้าพระทวาร พร้อมด้วยโขลนอีกสองคน โดยเฉพาะเมื่อเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นที่ทราบกันทั่วๆไปถึงความรักความภักดีนี้

                เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ปั้นรูปท้าวศรีสัจจา (มิ) กับโขลนสองนางเป็นอนุสรณ์ไว้ใต้ซุ้มริมผนังมุขกระสันด้านเหนือระหว่างบันไดที่ขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตด้านใต้ เป็นอนุสรณ์ถึงท้าวศรีสัจจา ผู้นี้

                สันนิษฐานกันว่า ท้าวศรีสัจจา (มิ) เห็นจะเป็นคนเดียวกันกับท้าวศรีสัจจา (ลิ้ม) ที่ปรากฏชื่ออยู่ในราชินิกุล รัชกาลที่ ๓

                ด้วยเหตุผลว่า ได้เป็นท้าวศรีสัจจาในรัชกาลที่ ๓ ประการหนึ่ง และผู้ที่จะใกล้ชิดพระองค์จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง น่าจะเป็นพระญาติพระวงศ์มากกว่าคนอื่นๆ ประการหนึ่ง

                อีกประการหนึ่งอันเป็นประการสำคัญ คือท้าวศรีสัจจาซี่งในหนังสือราชินิกุล ร.๓ จดไว้ว่าชื่อ ‘ลิ้ม’ นั้น เป็นบุตรีของพระนมรอด พระนมรอดเป็นน้องสาวสุดท้องของ พระชนนีเพ็ง พูดง่ายๆว่าเป็นน้าของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัย ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระนมรอด แม้จะมีศักดิ์เป็นยายน้อยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทว่าคงจะยังสาว จึงเพิ่งคลอดบุตรีคนที่ ๒ คือ ท้าวศรีสัจจา (ลิ้ม) พระนมรอดจึงได้เป็นพระนมถวายน้ำนมแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯด้วย ท้าวศรีสัจจา (ลิ้ม) จึงเป็นทั้งพระญาติ และเป็นทั้งผู้ดื่มนมร่วมเต้าในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

                ทั้งหมดนี้ดูสมเหตุสมผลเสียเหลือเกิน ที่ท้าวศรีสัจจาที่ว่าชื่อเดิม ‘มิ’ นั้น แท้จริงก็คือท้าวศรีสัจจาคนเดียวกันกับที่หนังสือราชินิกุล ร.๓ จดไว้ว่า ‘ลิ้ม’ นั่นเอง

                เรื่องชื่อผิดชื่อเพี้ยนของคนโบราณ ซึ่งผู้ฟังผู้จด เล่ากันจดกันต่อๆมานั้นมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังสือราชินิกุล ร.๓ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ ผู้ทรงรวบรวบและทรงพระนิพนธ์ ก็ทรงรับว่าอาจมีคลาดเคลื่อนบ้าง  เพราะทรงฟังจากคำบอกเล่าของคนเก่าๆสืบต่อๆกันมา

                แต่ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เล่า เห็นว่า ‘มิ’ น่าจะถูกต้องกว่า ‘ลิ้ม’ เพราะพระนมรอด ท่านเป็นลูกสาวแขก (พระยาราชวังสัน) ส่วนสามีของท่านคือพระยาศรีสรราช ก็ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อสายจีน ‘ลิ้ม’ ฟังดูเป็นจีนๆ ชื่อ ‘มิ’ น่าจะสมกับเทือกเถาเหล่ากอของพระนมรอดมากกว่า

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×