ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #149 : ราชินิกูล-ราชินิกุล-ราชนิกุล

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.01K
      0
      11 เม.ย. 53

      มีโทรศัพท์ด่วนเข้ามาจากผู้ปกครองเด็กประถมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งน้ำเสียงออกจะหงุดหงิดอยู่ไม่น้อยว่า

                -ในหนังสือ “ศัพทานุกรมราชาศัพท์ สำหรับนักเรียน” นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ของ “ฝ่ายวิชาการ หอสมุดกลาง ๐๙” ซึ่งบอกไว้ว่าเป็นฉบับปรับปรุงใหม่ ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด ปรากฏว่า อธิบายคำ ราชินิกูล (ใช้สระอู สะกด) ว่า

                ราชินิกูล - บรรดาบุคคลที่อยู่ข้างสมเด็จพระบรมราชินี

                ทว่าเคยอ่านจาก ‘เวียงวัง’ ว่า

                ราชินิกุล (สระอุ สะกด) - คือ พระญาติทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

                จึงได้ไปค้นพจนานุกรม ฉบับ ๒๕๒๕ ก็อธิบายคำว่า “ราชินิกุล” (สระอุ สะกด) ว่า

                ราชินิกุล - ตระกูลฝ่ายพระราชินี

                เช่นเดียวกันกับ ‘ศัพทานุกรมราชาศัพท์’ ซึ่ง ‘ศัพทาฯ’ คงจะลอกมา

                อยากทราบว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไรกันแน่ หากในพจนานุกรม ผิด มิพากันผิดไปทั้งหมดหรือ หาก ‘เวียงวัง’ อธิบายผิด ขอให้เขียนแก้ไขเพื่อให้เข้าใจกันถูกต้อง จะได้ไม่ต้องเถียงกับเด็กๆ ซึ่งเชื่อครูและตำราเป็นอย่างยิ่ง-

                บทความใน “เวียงวัง” มิได้ผิด

                เรื่องละเอียดอ่อนอย่างนี้ หากตอบเองโดยมิได้อ้างอิง คงเป็นปัญหาไม่รู้จบ

                ก่อนอื่นขอเรียนเสียก่อนว่า คำว่า “ราชนิกุล และ ราชินิกุล นั้น ใช้สระอุ สะกด-”

                ทั้งสองคำ หนังสือศัพทานุกรมราชาศัพท์ ใช้ว่า ราชนิกูล (สระอู สะกด) นั้น เห็นจะพลาดไป

                ทั้งสองคำนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือเรื่องราชินิกุลบางช้าง (พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๑) ว่า

    พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ราชินิกุล รัชกาลที่ ๒

                ราชนิกุล เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน

                นับทางฝ่าย สมเด็จพระบรมชนกนาถ (ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น)

                ส่วน ราชินิกุล เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน

                นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น)

                ต่างกันคือ

                ราชนิกุล ย่อมมีเชื้อเจ้า เพราะสืบสายลงมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในพระราชวงศ์ซึ่งนับว่าร่วมสกุลอันเดียวกันคือ พวกหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ซึ่งไม่นับว่าเป็นเจ้า

                ส่วน ราชินิกุล นั้น เพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ย่อมมีพระญาติสกุลอื่นต่างๆ กันทุกพระองค์ ราชินิกุล จึงมีหลายพวกหลายสกุล

                สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า

    นายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓

                 “แต่การที่นับว่าเป็นราชนิกุล หรือราชินิกุล นั้น แต่ก่อนมาหาได้ถือเอาข้อที่เกิดในวงศ์พระญาติอย่างเดียวไม่ ยังต้องอาศัยฐานะอย่างอื่นประกอบ

                คือฝ่ายราชนิกุล นับโดยกำเนิดแต่ชั้นที่ทรงศักดิ์เป็น ‘หม่อมราชวงศ์’ และ ‘หม่อมหลวง’ ทว่าต่อจากหม่อมหลวงลงไป (คือพวกที่มี ‘ณ อยุธยา’ ต่อท้ายนามสกุลในปัจจุบัน) ต้องถวายตัวทำราชการ (โบราณกำหนดว่าต้องได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด) จึงจะนับว่าเป็นราชนิกุล ส่วนทางฝ่ายราชินิกุล ก็ถือเอาการถวายตัวทำราชการ (คือได้รับเบี้ยหวัด) เป็นสำคัญ ทำนองเดียวกัน ถ้ามิได้อยู่ในฐานะดังกล่าวมา ถึงเกิดเป็นเชื้อสายพระญาติวงศ์ ก็หาได้นับในทางราชการว่าเป็นราชิกุล หรือราชินิกุลไม่”

                ราชินิกุล ในกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา

                ด้วยเหตุนี้ ราชินิกุล จึงหมายถึงพระญาติทางฝ่าย สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มิใช่พระญาติทางฝ่ายสมเด็จพระราชินี (หากมิได้ทรงดำรงพระยศพระพันปีหลวงของพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต่อมา)

                ดังนั้น

                ราชินิกุล รัชกาลที่ ๒ จึงหมายถึงพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมักเรียกรวมๆ กันไปว่า ราชินิกุลบางช้าง เพราะนิเวศสถานเดิมอยู่ ตำบลอัมพวา แขวงอำเภอบางช้าง (ซึ่งต่อมาจึงยกเป็นเมืองสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสงครามตามลำดับ ราชินิกุลก๊กใหญ่ คือ สกุลบุนนาค

                ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ หมายถึงพระญาติวงศ์ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๒ มิใช่พระอัครมเหสี ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ที่มีผู้สืบสายสกุลเป็นที่รู้จักกันดี คือ สายพระยาพัทลุง (ทองขาว) สามีของท่านปล้อง น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัย และสายสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ สืบมาจาก ท่านสาด น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัยเช่นกัน หากแต่คนละมารดากับพระชนนีเพ็ง ผู้เป็นชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย

    ราชินิกุล สกุลสุจริตกุล รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ยืน นายกวด หุ้มแพร พระพิบูลย์ไอศวรรย์ นายจิตติ สุจริตกุล ประทับและนั่งเก้าอี้ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา พระสุจริตสุดา

                นามสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้สืบสกุล โดยทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า เกี่ยวข้องเนื่องกับสมเด็จพระราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ที่นับว่าเป็นราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ก็ด้วยเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ ท่านเป็นหลานสาวแท้ๆ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัย

                ราชินิกุล รัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น เสด็จสวรรคตเสียแต่ในต้นรัชกาลที่ ๓ เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ จึงมิได้ทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทว่าราชินิกุลในรัชกาลที่ ๔ ก็หมายถึงพระญาติวงศ์ของพระองค์ท่าน หากแต่ทางฝ่ายพระชนนีทรงเป็นพระบรมวงศ์อยู่แล้ว ทางฝ่ายพระชนก (เจ้าขรัวเงิน หรือ เจ้าข้าวเงิน) นั้น แม้มีญาติวงศ์ก็มิได้รับราชการ กระจัดกระจายกันไป จึงมิได้ปรากฏว่ามีราชินิกุลรัชกาลที่ ๔

                ราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ หมายถึงพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งในรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตก่อน มิได้ทรงดำรงพระอิสริยยศในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชโอรสเช่นกัน ทางฝ่ายพระชนกของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีนั้น เป็นขัตติยราชตระกูล ส่วนทางฝ่ายพระชนนีนั้น เป็นชาวสวนบางเขน และสกุลอำมาตย์รามัญสายพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) ที่เกี่ยวดองกันกับสกุลรามัญสาย พระยาจักรีมอญ (กรุงธนบุรี) เชื้อสายราชินิกุล ที่มิใช่ขัตติยราชตระกูล เท่าที่ค้นได้จากหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ คือ สกุลสุรคุปต์

                ราชินิกุล รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ คือ พระญาติวงศ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ซึ่งทางฝ่ายพระชนกนั้น ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนทางฝ่ายพระชนนี คือสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) ท่านมีบุรพสตรีเป็นที่ท้าวสุจริตธำรง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงพระราชทานนามสกุล แก่ผู้สืบสายจากท้าวสุจริตธำรง ผู้เป็นราชินิกุล ว่า ‘สุจริตกุล’ สกุลนี้รับราชการกันมากมาย เป็นสกุลราชินิกุล ที่กว้างขวางเป็นที่รู้จักกันดีเช่นเดียวกับสกุลบุนนาค ราชินิกุล รัชกาลที่ ๒

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×