คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #31 : พระภรรยาเจ้า
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระสนมเอกหลายท่าน แต่มิได้ทรงมี “พระภรรยาเจ้า” ซึ่งจะได้เป็นพระชนนีของพระหน่อชั้นเจ้าฟ้า ตามโบราณราชประเพณี
เมื่อรัชกาลที่ ๑ แม้จะมิได้ทรงสถาปนา พระภรรยาเดิม เป็นพระอัครมเหสี ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงตั้งเจ้าท้าวทองสุก พระราชชายาเดิมเป็นพระอัครมเหสี มีพระยศเป็นเจ้าต่างกรม ทรงพระนามว่า “กรมหลวงเสนานุรักษ์” ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ทรงตั้งพระราชชายาเดิมทั้ง ๒ พระองค์ เป็น “กรมหลวงอภัยนุชิต” พระองค์หนึ่งและ “กรมหลวงพิพิธมนตรี” อีกพระองค์หนึ่ง ต่อมาในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้ทรงสถาปนาพระราชชายาเดิม ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี เช่นกัน ทรงพระนามกรมว่า “กรมหลวงบาทบริจา”
ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ แม้จะมิได้ทรงสถาปนาพระมเหสีเป็นเจ้าต่างกรม ดังสมัยปลายอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี ทว่าก็ทรงสถาปนาให้เป็นเจ้า เป็นพระภรรยาเจ้า พระราชชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้า
เข้าใจว่าในรัชกาลที่ ๑ นี้ คนทั้งหลายจะออกพระนามพระอัครมเหสี ว่า พระพันวัสสา หรือ พระพันวษา
เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ทรงมีพระภรรยาเจ้า ซึ่งเป็นพระชายามาแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้าบุญรอด” ก็มิได้ทรงสถาปนา พระอิสริยยศพระอัครมเหสี ยังคงพระยศ “เจ้าฟ้าบุญรอด” อยู่เช่นเดิม ทว่าก็เป็นที่ทราบกันโดยปริยายว่า ท่านทรงดำรงฐานะพระอัครมเหสี
พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเข้าใจว่าคนทั้งหลายออกพระนามท่านว่า “พระพันวัสสา” นั้น ถึงรัชกาลที่ ๒ ก็เสด็จอยู่ในที “พระพันปี” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงสถาปนา พระอิสริยยศ เป็น “สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์” ที่พระพันปีหลวงเต็มพระอิสริยยศ เป็นทางราชการ ในรัชกาลนี้ คนทั้งหลายน่าจะเปลี่ยนการออกพระนามเป็น “พระพันปี” ตามพระอิสริยยศ (เรื่อง “สมเด็จกรมพระ” และ “กรมสมเด็จพระ” เคยเล่าไว้แล้ว)
เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๓ สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ท่านก็เปลี่ยนพระสถานภาพอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลที่ ๑ ท่านทรงเป็นพระอัครมเหสี ในรัชกาลที่ ๒ ท่านทรงเป็นพระบรมราชชนนี มาถึงรัชกาลที่ ๓ ท่านเสด็จอยู่ในที่ สมเด็จพระอัยยิกา อยู่ ๓ ปี ก็เสด็จสวรรคต
ไม่ทราบแน่ชัดว่าในรัชกาลที่ ๓ คนทั้งหลายออกพระนามท่านว่าอย่างไรแน่
อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีทั้งสมเด้จพระราชชนนี “แม่ตัว” ซึ่งทรงสถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น “สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย” เสด็จอยู่ในที่พระพันปีหลวงพระองค์ที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วท่านก็ยังมีทั้ง “แม่เลี้ยง” ซึ่งทรงเป็นพระมเหสีในรัชกาล สมเด็จพระบรมชนกนาถ อยู่ในฐานะสูงส่งมาก่อน จะออกพระนามเป็นอย่างอื่นก็ไม่ควร ในรัชกาลนี้ จึงออกพระนาม “เจ้าฟ้าบุญรอด” ว่า “พระพันวัสสา” เป็นคู่กันกับ “พระพันปี” และเมื่อท่านกราบบังคมทูลลาเสด็จออกไปประทับ ณ พระราชวังเดิมด้วยพระราชโอรสพระองค์น้อย (คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) คนทั้งปวงก็เลยออกพระนามว่า “พระพันวัสสาฟากขะโน้น” คือฟากกรุงธนบุรี
เมื่อแรกเคยเข้าใจผิดว่า “พระพันวัสสาฟากขะโน้น” หมายถึง สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี หรือ สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ เพราะในรัชกาลที่ ๑ ท่านมิได้เสด็จประทับแรมในพระบรมมหาราชวัง หากแต่เสด็จอยู่ ณ จวนเดิมตรงที่เป็นกรมอู่ทหารเรือขณะนี้ เวลานั้นเรียกกันว่า “บ้านหลวง” เมื่อใดมีพระราชพิธีจึงจะเสด็จข้ามมา แล้วก็เสด็จกลับในวันเดียวกันนั่นเอง ต่อมาคุณพี่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้ทักท้วงว่า “พระพันวัสสาฟากขะโน้น” หมายถึง สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด) ต่างหาก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ มิได้ทรงมีพระภรรยาเจ้า เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์พระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา จริงๆ แล้วหากมีพระราชประสงค์จะมีพระหน่อเป็นเจ้าฟ้า ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะโปรดเกล้าฯ รับเจ้านายพระองค์ใด เป็นพระภรรยาเจ้าก็ย่อมจะทรงกระทำได้ เชื่อว่า คงไม่มีท่านผู้ใดคัดค้าน เล่ากันต่อๆ มาว่า ขณะนั้น พระเจ้าน้องนางเธอ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ รวมทั้งพระราชธิดาวังหน้า และพระญาติวงศ์ ชั้นหม่อมเจ้าซึ่งอาจทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้านั้นมีที่ทรงพระโฉมอยู่ก็หลายองค์
แต่ก็ไม่โปรดรับท่านผู้ใดเป็นพระภรรยาเจ้า เพื่อจะได้ทรงมีพระหน่อเป็นเจ้าฟ้า
เป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นเพราะทรงมองการณ์ไกล ไม่มีพระราชประสงค์จะให้เกิดปัญหาในการครองราชย์ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาล หากมีพระหน่อเป็นเจ้าฟ้า ก็ย่อมจะมีผู้ต้องการให้พระหน่อขึ้นครองราชย์
เรื่องนี้ “อาจ” เกิดขึ้นได้จริงๆ ตามที่ทรงมีพระราชาวิจารณญาณ สมมติว่าทรงมีพระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้าในเวลาต้นรัชกาล ไม่ว่าจะเสด็จสวรรคตเวลาใดก็ต้องเกิดปัญหาการแบ่งพวกสนับสนุน ระหว่างเจ้าฟ้าพระราชโอรสสองรัชกาล
และหากเหตุการณ์มิได้เป็นไปด้วยความปรองดองเหมือนเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ความแตกแยกอาจทำให้ถึงกับรบราฆ่าฟันกันเอง ข้อนี้ทรงพระราชวิตกเป็นอันมากและตลอดเวลา แม้เมื่อใกล้เสด็จสวรรคต ก็ได้ทรงพระราชปรารภ “สั่งเสีย” ถึงเรื่องนี้กับบรรดาขุนนางที่โปรดฯให้เข้าเฝ้าฯในที่พระบรรทม
พระราชปรารภนี้ แม้ปรากฏอยู่แล้วในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ทว่านานๆ เข้า ไม่มีผู้ใดค้นคว้าก็อาจจะลืมเลือนกันไป โดยเฉพาะในยุคซึ่งบรรดาบุคคลที่เรียกกันว่า นักการเมือง ส่วนมาก แย่งชิงอำนาจในการปกครองบ้านเมือง ด้วยวิธีต่างๆ
พระราชปรารภว่าดังนี้
“ทรงพระราชดำริ มีพระราชดำรัสว่า กรุงเทพมหานคร ศรีอยุธยา ของขัณฑเสมาอาณาจักรกว้างขวาง พระเกียรติยศก็ปรากฏไปทั่วนานาประเทศ ถ้าทรงพระมหากรุณาพระราชทานอิสริยยศมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งพอพระทัย ให้ขึ้นเสวยราชสมบัติแทนพระองค์ต่อไป แต่ตามชอบอัธยาศัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวนั้น เกลือกเสียสามัคคีรสร้าวฉาน ไม่ชอบใจไพร่ฟ้าประชาชน และคนมีบรรดาศักดิ์ผู้ทำภารกิจทุกพนักงาน ก็จะเกิดอุปัทวภยันตรายเดือดร้อน แด่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยสมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎรจะได้ความลำบาก เพราะมิได้พร้อมใจกัน ด้วยกำลังทรงพระมหากรุณาเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก ทรงพระมหากรุณาดำรัสให้จดหมายกระแสพระราชโองการปฏิญาณยกพระนามพระรัตนตรัยสรณคมณ์ อันอุดมเป็นประธานพยานอันยิ่ง ให้เห็นจริงในพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระราชดำรัสยอมอนุญาตให้เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒ์รัตนราชโกษา พระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก กับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงมีความสโมสรสามัคคีรสปรึกษาพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร เป็นศาสนูปถัมภก ยกพระบวรพุทธศาสนา และปกป้องไพร่ฟ้า อาณาประชาราษฎร รักษาแผ่นดินให้เป็นที่สุขสวัสดิ์โดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแท้แต่จะเห็นดี ประนีประนอมพร้อมใจกันยกพระบรมวงศ์องค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ถวัลยราช สืบสันตตวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด อย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้า อย่าให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร”
ความคิดเห็น