คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #17 : วัดที่เจ้านายฝ่ายในทรงสร้าง
ที่เจ้านายฝ่ายในและฝ่ายในทรงสร้างและสร้างที่เรียกกันในสมัยก่อนว่าท่านเป็นเจ้าของวัดนั้น ว่ากันตั้งแต่สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี พระชนนี สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ เลยทีเดียว สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี พระนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาพระอัฐ แต่เดิมว่า “สมเด็จพระรูปศิริโสภาคยมหานาคนารี” ในที่นี้จะออกพระนามเพียงสั้นๆ ว่า “สมเด็จพระรูปฯ” สมเด็จพระรูปฯ พระนามเดิมว่า “สั้น” พระสามีซึ่งเป็นพระชนกสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี คือท่านทองถึงแก่พิราลัยเสียแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระรูปฯ ได้ถวายนิวาสนสถานเดิมของท่านอุทิศให้สร้างวัดขึ้นก่อนในขณะที่ยังมีพระชนมชีพอยู่ สันนิษฐานกันว่า ท่านทรงผนวชเป็นรูปชีแล้วในขณะนั้น เดิมเรียกกันว่าวัดอัมพวา ตามชื่อคลองอัมพวา ต่อมาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และบรรดาพวกราชินิกุลบางช้าง ได้โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระปรางค์ขึ้นประดิษฐานพระบรมราชสรีรังการ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ รัชกาลที่ ๒ และสร้างกุฎีใหม่ทั้งพระอาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ได้ทรงบูรณะพระอุโบสถ สร้างเสมาขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า “วัดอัมพวันเจติยาราม” สมเด็จพระรูปฯ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เวลานั้นยังไม่ได้สร้างโกศทองใหญ่ ทว่ามีพระโกศสำหรับทรงพระศพเจ้านาย เป็นโกศแปดเหลี่ยม มีอยู่ ๔ โกศด้วยกัน ทรงแต่เฉพาะพระศพเจ้านาย ขุนนางนอกนั้นแม้ชั้นสูงก็มิได้พระราชทานโกศ เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนั้น ทรงมีเรื่องราวระหองระแหงกันตั้งแต่เมื่อสมัยปลายกรุงธนบุรี จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จปราบดาภิเษกแล้ว สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ก็มิได้เสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง คงเสด็จอยู่ ณ พระนิเวศน์เดิม อันเคยเป็นจวนของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในสมัยกรุงธนบุรี คือตรงกรมอู่ทหารเรือในปัจจุบันเป็นแต่เสด็จข้ามไปข้ามมาในเวลาที่มีพระราชพิธีหรือเสด็จไปทรงเยี่ยมเยือนพระราชธิดาสองพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี (หรือเทพยวดี) เมื่อสมเด็จพระรูปฯ สิ้นพระชนม์ในรูปชี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ คงจะทรงพระราชคำนึงอนุสรณ์ถึงที่ได้ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่ในกาลก่อน แม้จะมิได้ทรงแต่งตั้งพระมเหสีเป็นพิธีการ ทว่าคนทั้งหลายก็ยกย่องสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ว่าเป็นพระอัครมเหสี เข้าใจกันว่าในรัชกาลที่ ๑ ชาวบ้านจะเอ่ยพระนามกันวา “พระพันวสา” ถึงรัชกาลที่ ๒ จึงเปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระพันปี” ตามพระเกียรติยศ พระชนมายุยืนยาวถึงต้นรัชกาลที่ ๓ ซึ่งก็เข้าใจกันว่าคนทั้งปวงคงจะเรียกท่านว่า “สมเด็จพระอัยยิกา” หวนกลับไปเล่าถึงเมื่อสมเด็จพระรูปฯ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมสำหรับทรงพระศพเจ้านายในพระบรมวงศ์ ทำให้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงพระปิติโสมนัส ถึงทรงเอ่ยพระโอษฐ์อย่างชื่นพระทัยว่า “แม่ข้าเป็นเจ้า” พระศพทรงพระโกศเจ้านาย แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงยกย่องว่าเป็นเจ้า ดังที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงออกพระโอษฐ์ แต่ประกาศพระเกียรติยศ สถาปนาเป็นเจ้า เฉลิมพระอัฐิว่า “สมเด็จพระรูปศิริโสภาคยมหานาคนารี” ในรัชกาลที่ ๔ นอกจากวัดอัมพวันเจติยารามแล้ว สมเด็จพระรูปฯ ยังได้ทรงสร้างวัดโบราณอีกวันหนึ่ง ซึ่งทรุดโทรมสิ้นสภาพแล้ว ชื่อ “วัดทอง” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์ พระราชทานนามว่า วัดกาญจนสิงหาสน์ สมเด็จพระอรินทราบรมราชินี ได้ทรงสถาปนาวัดโบราณในคลองบางพรหม ซึ่งเดิมชื่อ “วัดเงิน” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์เช่นกัน ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม แล้วพระราชทานชื่อว่า “วัดรัชฎาธิษฐาน” คล้องจองกับ “วัดกาญจนสิงหาสน์” เป็นวัดเงิน-วัดทอง คู่กัน ของสมเด็จพระรูปฯ และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทางฝ่ายเจ้านายฝ่ายใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และพระเจ้าน้องนางเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ไม่ปรากฏว่าทรงสร้างหรือสถาปนาวัดใดอันจะได้ชื่อว่า เป็นวัดของพระองค์ สมเด็จพระพี่นางเธอ พระองค์น้อย เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงบูรณปฏิสังขร วัดชีปะขาวในคลองบางกอกน้อย ส่วนพระภัศดาของท่าน ท่านเจ๊สัวเงินได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดน้อย ในคลองบางไส้ไก่ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานนามคู่กันว่า “วัดหิรัญรูจี” (วัดน้อย) “วัดศรีสุดาราม” วัดชีปะขาว) พระเจ้าน้องนางเธอในรัชกาลที่ ๑ อีกพระองค์หนึ่ง คือพระองค์เจ้ากุ (กรมหลวงนรินทรเทวี) เป็นพระเจ้าน้องนางเธอต่างพระมารดา ที่มีพระนามเรียกขานกันว่า เจ้าครอกวัดโพธิ์ พร้อมด้วยพระภัศดา กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดในชุมชนคลองสาน เรียกกันว่า “วัดทอง” ชื่อ ซ้ำกันกับวัดทอง อีกวัดหนึ่งในชุมชนใกล้เคียงกันนั่นเอง ชาวบ้านจึงเรียกวัดของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า “วัดทองบน” ส่วนวัดทองอีกวัดหนึ่งเรียกว่า “วัดทองล่าง” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้บูรณะปฏิสังขรณ์ส่วนที่ยังค้างไว้ แล้วพระราชทานนาม “วัดทองบน” ว่า “วัดทองธรรมชาติ” พระราชทานนาม “วัดทองล่าง” ว่า “วัดทองนพคุณ” วัดที่ชื่อ “วัดทอง” นั้น เห็นได้ว่าซ้ำๆ กันอยู่มากมายหลายวัด เพราะคนโบราณนิยมคำสั้นๆ และเป็นมงคล ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีคำใดเหมาะกว่า “ทอง” ส่วนเพชรพลอยนั้น ไม่นิยมกันเหมือนดังทอง ซึ่งอาจมีไว้ครอบครองได้ตั้งแต่เจ้านายขุนนางคหบดีลงมาจนถึงชาวบ้านธรรมดาๆ วัดที่เจ้านายฝ่ายในในรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาหรือบูรณะปฏิสังขรณ์ ยังมีอีกสองวัด คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ทรงสถาปนา วัดเสาประโคน สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ ทรงปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดดุสิดาราม” ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แล้ว เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี ทรงสถาปนาวัดบางจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดภคินีนาถ” นอกจากวัดที่สมเด็จพระรูปฯ ซึ่งพูดกับอย่างสามัญก็คือ “แม่ยาย” วัดที่พระอัครมเทวี สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่พระองค์น้อย พระเจ้าน้องนางเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สร้างและสถาปนาแล้ว ยังมีฝ่ายในสำคัญในรัชกาลที่ ๑ อีกท่านหนึ่งคือเจ้าจอมแว่น พระสนมเอก เจ้าจอมแว่น หรือคุณเสือได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเช่นกัน เมื่อแรกสร้างขุดฝังรากพระอุโบสถ ทรงพระกัจจายน์ หน้าตัก ๑๐ นิ้ว กับสังข์ตัวหนึ่ง แต่สังข์นั้นชำรุด จึงมิได้เก็บไว้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงพระราชทานนามว่า “วัดสังข์กัจจายน์” แต่ต่อมาคนนิยมเรียกว่า “สังข์กระจาย” จึงกลายเป็นชื่อวัดทุกวันนี้ | ||
ความคิดเห็น