ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #16 : สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๔ ต้นรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 558
      1
      5 มิ.ย. 52

    สมเด็จพระสังฆราช (สุก ณาณสังวร) องค์ที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ นอกจากทรงคุณวิเศษพรหมวิหารแก่กล้าถึงทำสัตว์ป่าให้เชื่อง เป็นที่เคารพนับถือมาแต่ครั้งอยุธยาแล้ว ท่านยังเป็นพิเศษกว่าสมเด็จพระสังฆราชสามัชชนองค์อื่นๆ คือเมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เป็นสมเด็จพระสังฆราชสามัญชนเพียงองค์เดียว ที่พระศพได้ทรงพระโกศทองใหญ่สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศ์ชั้นสูง ซึ่งเรื่องนี้เคยเขียนถึงมาแล้วเมื่อเล่าเรื่องวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฐ์

    ในรัชกาลที่ ๑-๒ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ได้เป็นพระอาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯลงมา เพราะเจ้านายในสมัยก่อนนั้น เมื่อทรงผนวชต้องเรียนวิปัสสนาธุระทุกองค์ ด้วยทางคันถธุระต้องเรียนภาษาบาลีต้องทรงผนวชอยู่นานจึงจะรอบรู้ได้ เจ้านายซึ่งทรงผนวชอยู่พรรษาเดียวตามประเพณี จึงทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ด้วยเหตุนี้ระหว่างทรงผนวช จึงมักเสด็จไปอยู่วัดอรัญวาสี เวลานั้นวัดอรัญวาสีสำคัญ มีอยู่สองวัด คือ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาศ) และวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) ส่วนมากเสด็จมาอยู่วัดพลับกับพระญาณสังวรเถระ (สุก)

    ในรัชกาลที่ ๑ และ ๒ นั้น ปรากฏว่าพระญาณสังวรเถระ (สุก) ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์

    แต่ที่สำคัญ ท่านเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระอุปัชฌาย์ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

    และที่วัดสมอรายนี้เอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขณะยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เสด็จมาประทับจำพรรษา ตลอดพรรษา พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ แต่ยังเป็นนายดิศ ซึ่งเยาว์วัยกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เพียง ๑ ปี (พระราชสมภพ พ.ศ.๒๓๓๐ ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาฯ สมภพ พ.ศ.๒๓๓๑)

    เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสนิทสนมคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ตั้งแต่นั้นมา

    มีเกร็ดในพระราชพงศาวดารเกี่ยวกับการทรงผนวช ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ และเป็นเพียงพระองค์เดียวที่ได้ทรงผนวชถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมราชอัยกา

    ว่าเมื่อทรงผนวชนั้น โปรดให้ทรงผนวชต่อพระพักตร์ และได้รับพระราชทานของไทยทานจากพระหัตถ์ สมเด็จพระอัยกาธิราช ครั้นเมื่อทรงลาผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระบรมชนกนาถ เสด็จนำเข้าไปถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานผ้าลายอย่างดีสองผืน แพรขาวสองพับและรับสั่งทักว่า รูปร่างใหญ่โตหน้าตา ประหลาด (คงจะทรงหมายถึงผิดกว่าคนทั่วไป) เรื่องหน้าตานี้เล่ากันมาว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ละม้ายคล้ายคลึงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มากจึงเป็นที่โปรดปรานในพระบรมราชอัยกายิ่งนัก

    พระมหามณเฑียรฝ่ายตะวันออกซึ่งแลเห็นองค์
    พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางด้านซ้าย พระที่นั่งไพศาลทักษิณทางด้านขวา ส่วนองค์เล็กใกล้ประตูคือหอพระสุราลัยพิมาน

    บุพนิมิต อีกประการหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงบุญญาธิการว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาข้างหน้า คือ เมื่อพระชนมพรรษาถึงกำหนดโสกันต์ เป็นพระราชนัดดาพระองค์เดียวที่โปรดฯให้เข้ามาโสกันต์ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยนั้นยังไม่มีเจ้านายโสกันต์ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชนัดดาองค์อื่นๆ ก็ไม่ได้เข้าโสกันต์ในพระบรมมหาราชวัง โสกันต์ ณ พระราชวังเดิมทุกพระองค์

    ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อพ.ศ.๒๓๗๓ เกิดอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ ผู้คนล้มตายมากมายทุกวันอยู่ถึง ๑๕ วัน

    มีจดหมายเหตุเล่าถึงไข้ป่วงหรืออหิวาตกโรคในครั้งนั้นว่า

    “...คนในกรุงเทพฯ เป็นโรคป่วงใหญ่ ขึ้นตั้งแต่ ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ไปถึงวันเพ็ญ คนตายทั้งชายหญิงศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าและศาลาเดินในวัดสระเกศ วัดบางลำภู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ด้วยอาเกียรณไปด้วยซากศพ...”

    ขณะเกิดอหิวาตกโรค มีรับสั่งให้ตั้งพระราชพิธี อาพาธพินาศ พระราชพิธีนี้ทำที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทคล้ายพระพิธีตรุษ มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดรุ่งคืนหนึ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมธาตุออกแห่ นิมนต์พระราชคณะไปในกระบวนแห่ โปรยทรายประน้ำพระปริตรทั้งทางบกทางเรือ

    หลังจากเกิดอหิวาตกโรคในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงสังเวชสลดพระราชหฤทัยที่กรรมบันดาลให้เกิดภัยพิบัติแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหลายอย่างหลายประการ โปรดฯให้แปลพระปริตรเป็นภาษาไทย โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นกำลังสำคัญ

    ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ จดไว้ว่าในครั้งนั้นโปรดให้พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าศศิธรเป็นหัวหน้า ชักชวนพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายในฝึกหัดสวดพระปริตร ที่แปลเป็นภาษาไทยนี้ โดยให้ราชบัณฑิตเข้าไปบอกที่พระทวารเทวราชมเหศวร์ ข้างในท่องต่ออยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ นัยว่าข้างในครั้งนั้นฝึกหัดสวดมนต์ได้ชำนิชำนาญ เวลากลางวันแบ่งกันซ้อมเป็นพวกๆ เวลากลางคืนพร้อมกันไปสวดที่ท้องพระโรงใน เมื่อเสด็จออกว่าราชการแล้ว เสด็จขึ้นทรงฟังข้างในสวดมนต์ถวายทุกคืน

    พระทวารเทวราชมเทศวร์ เป็นพระทวาร สำหรับเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

    กล่าวคือพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียรนี้ เมื่อโบราณกาลมา ประกอบด้วยพระที่นั่งสำคัญสามองค์ คือพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นที่บรรทม และประทับในลักษณะเป็นห้องส่วนตัว พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประทับทรงพระสำราญ หรือประกอบพระราชกรณียกิจบางอย่างในลักษณะอย่างหอนั่ง หรือห้องรับแขกของคนธรรมดา บางโอกาสก็เสด็จออกเป็นการภายใน เมื่อปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระชรามากแล้ว ไม่อาจเสด็จพระราชดำเนิน ออกขุนนางในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จึงได้เสด็จออกมาบรรทมอยู่ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณเพื่อเสด็จออกประทับ ณ พระบัญชร ให้ขุนนางข้าราชการได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลข้อราชการอยู่ที่ชานชาลา ทุกเวลาเช้า แทนการเสด็จออกว่าราชการท้องพระโรง ตามปกติ

    ส่วนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหสูรยพิมานนั้น ก็เป็นพระที่นั่ง ต่อเนื่องกันกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางฝ่ายหน้า ออกมหาสมาคม

    พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าศศิธร เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑ เวลานั้น พระชันษาประมาณ ๒๖ คงจะทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาและศาสนา จึงได้โปรดฯให้เป็นหัวหน้าชักชวนฝ่ายในท่องพระปริตร และสวดมนต์

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมีพระราชธิดาภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ๓๒ พระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมชนกนาถ พระเจ้าน้องนางเธอเหล่านี้พระชันษาระหว่าง ๒๕-๑๐ พรรษา มีปรากฏพระนามในคำกลอนพระราชโอรสธิดารัชกาลที่ ๑ เพียง ๑๒ องค์ คำกลอนนั้นว่า สมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพนเป็นผู้ตั้งพระนามเหล่านี้ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ คือ

        อรุโณทัย อภัยทัต ฉัตร ไกรสร
         สุริยวงศ์ สุริยา ดารากร
         ศศิธร คันธรส วาสุกรี
         สุทัศน์ อุบล มณฑา
           ดวงสุดา ดวงจักร มณีศรี

         ธิดา กุณตาล ฉิมพลี
         กระษัตรี จงกล สุภาธร

    ท่านผู้ใหญ่สมัยเก่าเข้าใจกันว่า เดิมบรรดาพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๑ คงจะทรงมีพระนามตามที่เรียกขานกันเองในหมู่พระญาติวงศ์เช่นพระองค์เสือ พระองค์ช้าง ฯลฯ

    ต่อมาคงจะโปรดฯ ให้ตั้งพระนามที่ไพเราะขึ้นพระราชทาน ทว่าคงจะเป็นเพียงบางองค์ บางองค์ที่เห็นว่าเหมาะอยู่แล้วก็คงจะทรงใช้อย่างเดิม เช่นพระองค์เจ้าพลับ พระองค์เจ้าผะอบ พระองค์เจ้าเรไร แต่สำหรับพระองค์เจ้าชายนั้นปรากฏพระนามในคำกลอนเกือบครบทุกพระองค์

    ถ้าเป็นดังที่ท่านเข้าใจกันมา พระนามเหล่านี้น่าจะตั้งพร้อมๆ กับพระราชทานพระนามเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลฯ เพราะในกลอนปรากฏพระนามเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลฯ ซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนพระนามจากพระองค์เจ้าจันทบุรี เป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๔๗) ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคต เพียง ๕ ปี (พ.ศ.๒๓๕๒) เท่านั้น หากตั้งและผูกเป็นกลอนขึ้นก่อนหน้านี้ คงจะไม่ปรากฏพระนาม กุณฑลเป็นแน่

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×