ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #279 : พระราชอาณาจักรสยาม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 341
      0
      19 เม.ย. 53

     

    มีผู้อ่านให้ข้อสังเกตมาว่า เมื่อ ‘เวียงวัง’ กล่าวถึงเมืองไทย หรือประเทศไทยมักเรียกว่า ‘พระราชอาณาจักรสยาม’ เสมอ

    ตอบได้ว่า เพราะ ‘เวียงวัง’ เป็นเรื่องของอดีต ซึ่งแต่โบราณมา หัวหน้าหรือคือ ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชนได้ตั้งพระราชอาณาจักรที่เป็น ‘เมืองไทย’ ทั้งหมดในปัจจุบันนี้ แต่ในสมัยโบราณก็เรียกพระราชอาณาจักรตามชื่อเมืองหลวงว่า กรุงสุโขทัย และแล้วก็กรุงศรีอยุธยาตามลำดับ ‘กรุงศรีอยุธยา’ นั้น เป็นเมืองหลวงอยู่นานถึง ๔๑๗ ปี (พ.ศ.๑๘๙๓-๒๓๑๐) จนกระทั่งเมื่อเอ่ยถึงกรุงศรีอยุธยาฯ หรือพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ก็หมายถึงพระราชอาณาจักรสยาม หรือพระเจ้ากรุงสยาม - พระเจ้าแผ่นดินสยามเรื่อยมา

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ กรมพระสมมติอมรพันธุ์
    พระบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ (พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ) ต้นราชสกุล ‘สวัสดิกุล ณ อยุธยา’ ประสูติ พ.ศ.๒๔๐๓

    แม้เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้พระราชอาณาจักรสยาม เสด็จนำราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ลงมาสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง พระราชอาณาจักรสยามก็ยังเรียกกันว่า ‘กรุงศรีอยุธยา’ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังคงเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนา ‘กรุงเทพฯรัตนโกสินทร์’ ตลอดถึงรัชกาลที่ ๒ และ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงทรงเรียกพระราชอาณาจักรสยามของพระองค์ท่านว่า ‘แผ่นดินศรีอยุธยา’

    “ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยา ทรงพระเจ้าแผ่นดินมา ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่งเป็น ๓”

    (จากพระราชปรารภเรื่องพระสงฆ์ห่มแหวก ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระราชทานไปยังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร)

    คำว่า ‘สยามประเทศ’ หรือ ‘ประเทศสยาม’ เพิ่งใช้ในทางราชการอย่างจริงจัง ในรัฐกาลที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๔ นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงลงท้ายในพระราชสาส์น กำกับพระปรมาภิไธยว่า The King of Siam (พระเจ้ากรุงสยาม)

    คำว่า ‘สยาม’ ที่เป็นชื่อพระราชอาณาจักรนี้มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตท่านค้นคว้าสันนิษฐาน กันมาหลายท่านแล้ว มีความเห็นตรงกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง

    ตามความเห็นของ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์) ท่านสันนิษฐานเอาไว้ ประการหนึ่งว่า

    ‘สยาม’ น่าจะเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อประเทศมาตั้งแต่สมัยเมื่อไทยยังอยู่ในประเทศจีนบัดนี้

    ครั้งนั้น อาณาจักรน่านเจ้าราวสมัยพระเจ้าสินโลหรือสินุโล ประมาณ พ.ศ.๑๑๙๓ การที่กล่าวเช่นนี้ เพราะปรากฏตามความดังนำกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า จีนเคยเรียกไทยว่า ‘เสี้ยมหลอ’ ซึ่งศัพท์สยามนี้ โบราณใช้ว่า เสียม และจีนว่า เสี้ยนโล้

    คำว่า ‘เสี้ยมหลอ’ ก็ดี ‘เสี้ยนโล้’ หรือ ‘สินโล’ ก็ดี ตามหลักนิรุกติศาสตร์ ย่อมถือว่าเป็นคำ ๆ เดียวกัน ‘สินโล’ เป็น นามของกษัตริย์ไทยแห่งอาณาจักรน่านเจ้าที่เก่งกล้า และสามารถรวมไทยเป็นปึกแผ่นแน่นหนาอยู่ในเขตจีนได้ จึงเมื่อมาพิจารณาถึงคำ ‘สยาม’ ก็ดี สินโลก็ดี เสี้ยมหลอหรือเสียนโล้ก็ดี หลักสำคัญอยู่ที่นามของ ‘สินโล’ กษัตริย์ไทยผู้สามารถ เนื่องด้วยพระเจ้าสินโลเป็นกษัตริย์ที่ขึ้นชื่อลือนาม เป็นที่รู้จักกันดีของชนชาวจีนครั้งกระโน้น ชาติที่เกรงขาม และเกี่ยวข้อง ก็คงเรียกชื่ออาณาจักรตามพระนามของท่านว่า ‘สินโล’ คือเมืองของพระเจ้าสินโล แล้วชาติต่าง ๆ ก็คงพลอยเรียกไปตามความสะดวกของลิ้นตน (จีนนั้นมีหลายสำเนียงท้องถิ่นมากด้วยวรรณยุกต์ จึงเรียกว่าเซียมบ้าง เสี้ยมหลอบ้าง เสี้ยมโล้บ้าง เขมรเรียกเสียม มอญเรียกเสม มลายูเรียกซียัม ฝรั่งเรียกไซแอม)

    ต่อมาเมื่อวงศ์ของพระเจ้าสินโล ซึ่งสืบเนื่องกันมาหลายร้อยปี หมดสิ้นไปแล้ว จนกระทั่งถึงสมัยเมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สถาปนากรุงสุโขทัย ตั้งพระราชอาณาจักรเป็นใหญ่ขึ้น มีการติดต่อกับจีน จีนได้กลับไปเรียกนามราชอาณาจักรของไทย อันมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีว่า ‘เสี้ยมหลอ’ อีกครั้งหนึ่ง

    สรุปแล้วหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ ท่านให้ความเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏชัดว่า ที่เรียกชื่อประเทศไทยว่า ‘สยาม’ นั้น เรียกกันมาแต่เมื่อใด แต่ก็คงเรียกกันมานานมากแล้ว และคงจะเรียกกันเรื่อย ๆ มา มาใช้ชุกชุมอยู่ในวรรณคดีสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้เรียกชื่อประเทศโดยทั่วไป ตลอดจนถึงประชาชน ในรัฐกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ นี้มีคำสยามใช้มาก เพราะปรากฏว่าเป็นพระราชนิยม

    เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ มีการออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรม ให้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

    กรมพระนราธิปประพันธุ์พงศ์
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณากร) ต้นราชสกุล ‘วรวรรณ ณ อยุธยา’ ประสูติ พ.ศ.๒๔๐๔

    พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงนิพนธ์บทความ มีความเห็นขัดแย้ง ข้อสันนิษฐานของหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เรื่อง ‘เสี้ยมหลอ’ และ ‘เสี้ยมหลอก๊ก’

    โดยทรงให้ความเห็นว่า

    ที่จีนเรียกประเทศไทยว่า ‘เสี้ยมหลอก๊ก’ หรือ ‘เสียมหลอก๊ก’ นั้น เพิ่งเรียกกันในสมัยกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่เรียกมาแต่น่านเจ้า ตามพระนาม ‘สินโล’

    ท่านว่า เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระนั้น พวกขอมยังมีกำลังอยู่ที่เมืองลพบุรี (หรือละโว้) อาณาเขตทวาราวดีจึงแยกเป็น ๒ เขต จีนเรียกอาณาเขตใต้คือ ละโว้ว่า ‘หลอฮกก๊ก’ เรียกอาณาเขตทางเหนือ คือ สุโขทัยว่า ‘เสียมก๊ก’ ครั้นเมื่อรวมกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเรียกว่า ‘เสียมหลอก๊ก’

    และ ท่านสันนิษฐานว่า ชื่อ สาม - สยาม นั้น แต่เดิมใช้สำหรับภูมิภาคของพวกลาว (ละว้า) ซึ่งจำแนกออกจากมอญ (รามัญประเทศ) และเขมร (กัมพุชาประเทศ) ครั้นเมื่อชนชาติไทยค่อยอพยพลงมาอยู่ในแคว้นของลาว (ละว้า) ชื่อสาม - สยาม ก็ได้ใช้หมายถึง ไทยแทนละว้าไปในตัวเอง โดยใช้เรียกตั้งแต่สุโขทัยขึ้นไป ครั้นเมื่อไทยตั้งเป็นอิสระ ณ กรุงสุโขทัยแล้ว เพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ยังเรียกอาณาจักรตามชื่อภูมิภาคเดิมอยู่นั่นเอง คือมอญเรียกว่า เสม เขมรเรียกว่า เสียม จีนเรียกว่า เสียม (ล้อ) มลายูเรียกว่า ซียัม ชาวอาหรับและอิหร่าน เรียกตามมลายู ฝรั่งเรียกกลายเป็นไซแอม

    ตามบทความ ดูเหมือนพระวินิจฉัยของในกรมท่านจะเอนเอียงไปในทางสนับสนุนให้เปลี่ยนชื่อจากประเทศสยาม เป็นประเทศไทย

    พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นั้น พระยศเดิมคือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ เป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณากร)

    ต่อมา พ.ศ.๒๔๘๒ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงได้รับสถาปนา เลื่อนขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ยังทรงพระเยาว์ ต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย)

    พ.ศ.๒๔๘๖ สถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า

    พ.ศ.๒๔๙๕ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

    ตามธรรมเนียมการออกพระนามเจ้านายมาแต่สมัยก่อนนั้น พระบิดาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เรียกกันว่า ‘เสด็จในกรม’

    แต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ในกรม’ ไม่เรียกว่า ‘เสด็จ’ เท่าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×