ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #278 : ปลายกรุงศรีอยุธยา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 432
      0
      19 เม.ย. 53

     

    มเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ที่คนสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ต้น ๆ ออกพระนามกันว่า ขุนหลวง (ใน) พระบรมโกศ แล้วเป็นขุนหลวงบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้น สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๓๐๑

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงฉลองพระองค์ ที่ทรงมีพระราชดำรัสเรียกว่า เครื่องต้น

    ประวัติศาสตร์ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงส่วนมากทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศท่านเหลือพระโอรสที่เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอีกเพียง ๒ พระองค์ หลังจากพระองค์ใหญ่คือ สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ไปแล้ว

    เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ประสูติแต่พระพันวัสสาน้อย เรียงตามลำดับพี่น้องท้องเดียวกัน เจ้าฟ้าเอกทัศน์เป็นลำดับที่ ๕ เจ้าฟ้าอุทุมพร (หรือต่อมาราษฎรเรียกว่าขุนหลวงหาวัด) เป็นลำดับที่ ๘ องค์สุดท้องว่าอายุอ่อนกว่าเจ้าฟ้าเอกทัศน์เกือบ ๒๐ ปี ซึ่งสันนิษฐานแล้วไม่น่าจะห่างกันถึงเพียงนั้น อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นพระองค์สุดท้องดังนี้ จึงไม่น่าสงสัยนักว่าเหตุใดจึงทรงเกรงพระทัยพระเชษฐานัก หรือจะว่ากลัวก็คงว่าได้

    เจ้าฟ้าเอกทัศน์นั้น เมื่อครองราชย์แล้วราษฎรมักออกพระนามกันว่า ขุนหลวงสุริยามรินทร์ ด้วยโปรดประทับ ณ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ เรื่องราวระหว่างขุนหลวงสุริยามรินทร์ และขุนหลวงหาวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชนิพนธ์วิจารณ์ไว้ในพระราชหัตถเลขาเรื่อง เสด็จพระประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าว่า

    “ขุนหลวงสุริยามรินทร์สิปรากฏโด่งดังว่าเป็นคนโง่ กักขฬะ จนถึงพระบิดาทำนายไว้ว่า ถ้าได้เป็นใหญ่ขึ้นบ้านเมืองจะฉิบหาย บังคับให้ออกบวช ตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นวังหน้าขึ้นไว้แล้ว เวลาเมื่อขุนหลวงบรมโกศสวรรคต (เจ้าฟ้าอุทุมพร) ก็ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถึงว่า ขุนหลวงสุริยามรินทร์จะสึกออกมานั่งกีดเกะกะอยู่ จะเชิญเสด็จไปเสียข้างไหนก็คงจะทำได้ ไม่จำเป็นต้องฆ่า (แต่) นี่ยอมถวายสมบัติกันโดยดี ตัว (คือขุนหลวงหาวัด) ออกไปบวช

    (และ) ถึงว่า เมื่อพม่ามา (ขุนหลวงสุริยามรินทร์) รับสัญญาว่าจะคืนสมบัติให้ขุนหลวงหาวัด ตัวจะกลับออกบวชเสีย ครั้นพม่าไปแล้วไม่ทำตามคำที่พูด กลับนั่ง (ระหว่าง) พูดกัน เอาพระแสงดาบพาดตัก ขุนหลวงหาวัดก็ไม่น่าจะต้องกลัวอะไร เพราะจะทำอะไรก็ไม่เห็นจะต้องเกรงใจ เช่นเอาปิ่นพระราชมนตรีพระยาเพชรบุรีไปฆ่าเสีย ก็ไม่เห็นขุนหลวงสุริยามรินทร์ว่าไรได้ (ปิ่นที่ทรงเอ่ยถึงนี้เป็นพี่ชายของพระสนมเอกที่โปรดปราน นอกจากฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้ว ยังเป็นที่ชิงชังของขุนนางทหารน้อยใหญ่ ทำให้การป้องกันพระนครเสียหาย เมื่อขุนหลวงสุริยามรินทร์อ้อนวอนให้ขุนหลวงหาวัดสึกออกมาสู้พม่า ขุนหลวงหาวัดจึงให้ประหารปิ่นพระยาเพชรบุรีเสีย-จุลลดาฯ)

    แต่การที่ (ขุนหลวงหาวัด) กลับออกไปบวชอีก น่าจะเป็นได้ด้วยไม่มีความมักใหญ่ เห็นควรสมบัติจะได้แก่พี่ชายที่แก่กว่าจริงๆอย่างหนึ่ง

    หรือจะเป็นคนที่อ่อน ไม่แข็งแรง และไม่มีใครนิยมนับถือ ใจคอเกียจคร้านคับแคบนั้นอย่างหนึ่ง

    หรือจะทำให้ปรากฏว่าใจดี เห็นพี่อยากครองเมืองก็ให้ครอง (ซึ่ง) คงไม่ไปได้ถึงไหน เมื่อเหลวไหลอย่างไร ต่อไปก็คงตัวได้เป็น นี้อีกอย่างหนึ่ง”
    ทรงพระราชวิจารณ์ต่อไปอีกว่า

    “มีข้อที่จะพิจารณาอยู่อย่างหนึ่ง ปรากฏในพงศาวดารว่า กรมเทพพิพิธเป็นพรรคพวกของวังหน้า คือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ (ขุนหลวงหาวัด) ออกไปคบคิดกับเจ้าพระยาอภัยราชาที่วัดกระโจม จะเอาแผ่นดินถวายขุนหลวงหาวัด ขุนหลวงหาวัดเองกลับเป็นผู้เข้าไปทูลขุนหลวงสุริยามรินทร์จะเป็นด้วยเหตุใด

    ถ้าว่า ขุนหลวงหาวัดไม่อยากเป็นเจ้าแผ่นดินด้วยไม่เห็นสมควรก็ลงกันได้

    จะว่าเพราะกำลังอ่อนก็ชอบกล

    บางที กรมเทพพิพิธคิดการครั้งนี้จะเป็นแต่กลอุบายยืมชื่อขุนหลวงหาวัดไปอ้าง (โดย) ไม่ได้บอกให้ขุนหลวงหาวัดรู้ตัว เพื่อจะให้คนนิยม คนที่นิยมหมายว่า เป็นความจริงจึงมาพูดขึ้นกับขุนหลวงหาวัด เมื่อขุนหลวงหาวัดได้ทราบแล้วอาจจะคิดเห็นว่า ถ้ากรมเทพพิพิธทำการได้สมความคิด ฆ่าขุนหลวงสุริยามรินทร์เสียแล้ว ก็จะมาฆ่าท่านเสียด้วย แล้วเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ขุนหลวงหาวัดคงรู้นิสัยกรมเทพพิพิธเพราะเคยฝากเนื้อฝากตัวกับท่านมา เหตุฉะนั้นจึงได้นำความไปทูลพระเจ้าแผ่นดิน ดังนี้ก็จะเป็นได้

    (ส่วน) ข้อที่ว่าจะเป็นการอวดดี (ของขุนหลวงสุริยามรินทร์) ก็ลองให้เป็นดู คงจะไม่ไปถึงไหน... แต่ครั้นเมื่อพม่ามาตัว (ขุนหลวงหาวัด) ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในกำแพงกับพระราชาคณะทั้งปวง ก็ไม่คิดจะสึกหาลาพรตออกมาช่วยการงานอะไร นิ่งทอดธุระเฉยอยู่ได้ (จึง) น่ากลัวจะไปข้างเป็นคนอ่อนมากกว่าอย่างอื่น เห็นจะทำไม่ไหวแล้วก็ทอดธุระตามบุญตามกรรม

    แต่ก็คงจะเป็นผู้ที่มีความแค้นความน้อยใจพี่ชายด้วย สมบัติก็ยกให้ มีทัพศึกมาก็สึกออกมาช่วยรักษาบ้านเมือง ครั้นเสร็จศึกแล้วท่านพี่ชายกลับหยาบช้าไม่ยกย่องตามการที่ควร เหตุที่ออกบวชอีกเพราะด้วยความแค้นนั้นก็เห็นจะเป็นความจริง”

    เสด็จประพาสต้น
    เมื่อเสด็จประพาสต้น หรือเสด็จพระพาสหัวเมือง ตามแม่น้ำลำคลอง โปรดทรงแวะลงเสวยพระกระยาหารข้างทาง กับเหล่าข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯ

    กรมเทพพิพิธคือ กรมหมื่นเทพพิพิธ (พระองค์เจ้าชายแขก) พระราชโอรสประสูติแต่พระสนมเอกในขุนหลวงบรมโกศ ชันษาเห็นจะเป็นผู้ใหญ่มากแล้ว

    ผู้สนใจในประวัติศาสตร์หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วคงรู้จักกรมหมื่นเทพพิพิธดีว่า ท่านหนีไปตั้งตัวเป็นก๊กขึ้นเรียกว่า “ก๊กเจ้าพิมาย” นั่นเอง

    ดังนั้น พระราชวิจารณ์สันนิษฐานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรื่องที่ขุนหลวงหาวัดเข้าไปทูลขุนหลวงสุริยามรินทร์เสียเองดังกล่าว จึงน่าจะเป็นได้ตามพระราชวินิจฉัย

    การที่ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ก็เนื่องจากในการเสด็จประพาสครั้งนั้นเสด็จไปถึงพระตำหนักคำหยาด ณ ทุ่งคำหยาด เมืองวิเศษไชยชาญ (อ่างทอง) ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ประทับของขุนหลวงหาวัดเมื่อเสด็จทรงผนวช

    (หา หมายถึง อยู่หรือที่
    ขุนหลวงหาวัด - ขุนหลวงอยู่วัด
    ทูลกระหม่อมหาบน - ทูลกระหม่อมที่บน)

    ขุนหลวงพี่น้องทั้ง ๒ พระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตำหนิด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์

    เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๗) ครั้งเมื่อพระราชอาณาจักรสยามจำต้องเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส

    ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระวิปโยคเสียพระราชหฤทัยถึงแก่ทรงพระประชวร เสวยพระกระยาหารไม่ได้ ตั้งพระราชหฤทัยจะเสด็จสวรรคตด้วยความอับอายว่า ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ทรงสามารถจะรักษาแผ่นดินไว้ได้

    เมื่อบรรดาข้าราชบริพาร พระบรมวาศานุวงศ์ พากันวิตกเป็นทุกข์ กราบทูลอ้อนวอนให้รักษาพระองค์ ก็ทรงพระราชนิพนธ์โคลงพระราชปรารภถึงความทุกข์ของพระองค์ ทรงลงท้ายพระราชปรารภว่า

    “กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
    เสียเมืองจะนินทา จึงจะอุดและเลยสูญฯ”

    ทวิราช ก็คือ พระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ ทั้งขุนหลวงสุริยามรินทร์ และขุนหลวงหาวัด

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×