ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #82 : Mitsudomoe ตลกร้ายของแฝดสามกับอาจารย์หัวอ่อน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 14.74K
      4
      28 ส.ค. 53

          

     

                    อนิเมชั่นปี 2010 นี้มีการ์ตูนที่ผมให้ความสนใจค่อนข้างน้อยไปนิด สาเหตุเนื่องจากการ์ตูนส่วนใหญ่ที่ออกปีนี้ยังคงออกมาแนวทางเดิมไม่ได้ฉีกแนวที่ผมหวังไว้สักเท่าไหร่ หลายเรื่องยังวนๆ เวียนกับชมรม ต่อยกัน ไม่ก็คอมมาดี้ธรรมดา(จนถึงขั้นหมั่นไส้พระเอก) จนไม่ได้สร้างความเจริญเซลล์สมองของผมสักเท่าไหร่ แต่กระนั้นการ์ตูนปี 2010 ที่ผมชอบเป็นพิเศษนั้นดันเป็นการ์ตูนตลกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Seitokai Yakuindomo, Mitsudonoe หรือการ์ตูนซอมบี้ที่ทำออกมาอย่างยอดเยี่ยมอย่าง Highschool of the Dead (ที่ผมมีความคิดจะเขียนใหม่ภาคสองเร็วๆ นี้) ที่ได้สร้างความประทับใจผม(หวังว่าฉากจบคงดีนะ) ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นผมไม่ขอบอกว่าดีไม่ดี แต่จะบอกได้ว่าเมื่อเขาปล่อยบิตตอนใหม่มา ผมไม่มีอารมณ์โหลดเลยพับผ่าสิ

                    วันนี้มีการ์ตูนตลกจะมาบ่นสักหน่อย หลังจากที่ผมบ่นการ์ตูนตลกประเภทล้อเลียนไปมากแล้ว ผมก็อยากเล่าถึงการ์ตูนตลกร้ายและตลกสัปดนเข้าไปด้วยจะได้ครบสิ้นกระบวนความ

     

      
    Mitsudomoe

    คอมมาดี้, โลลิคอน, ตลกร้าย, ทะลึ่ง, ชีวิตวันต่อวัน

    มังงะ http://www.mangareader.net/1254/mitsudomoe.html

    อนิเมชั่น http://video.mthai.com/player.php?id=18M1279382927M0

    (ปล. การ์ตูนเรื่องนี้ไม่เหมาะกับเด็กอ่อนและสตรีมีครรภ์ หรือพวกไม่ชอบมุกทะลึ่ง)

     

    Mitsudomoe เป็นการ์ตูนเรื่องยาวจบในตอน เกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียน ผลงานของโนริโอะ ซากุราอิ(Norio Sakurai) ที่ลงตีพิมพ์ประจำในหนังสือโชเน็นแชมป์เยนของสนพ.อาคิตะ โชเต็นตั้งแต่ปี 2006-อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันออกมาได้ 9 เล่ม  และปัจจุบันออกมาเป็นอนิเมชั่นเป็นที่เรียบร้อยโดยตอนนี้มีซับ 3 ตอนอยู่

    สำหรับเนื้อหาของ Mitsudomoe นั้นเป็นเรื่องราวของเด็กสาวแฝดสาวจอมป่วนประจำ ป.6 แห่งโรงเรียนประถมคาโมฮาชิ ที่สร้างปัญหาแก่เพื่อนร่วมห้องและอาจารย์ใหม่เสมอ(ที่จริงต้องคุณครูเนอะ แต่ผมชอบพิมพ์คำนี้มากกว่า)

     

    มารุอิ มิสึบะ (Marui Mitsuba) คนโตของแฝดสาว ชื่นชอบเรื่องซาดิสต์และมีความแก่แดดชอบแกล้งเกินพิกัด แต่ว่าอีกด้านหนึ่งเธอก็มีความอ่อนโยนและทำตัวเหมือนพี่สาวคนโตเหมือนกัน

     

    มารุอิ ฟุตาบะ(Marui Futaba) แฝดคนกลาง ผู้กระตือรือร้นสดใสร่าเริงอินโนเซ็นต์(จนเรียกได้ว้าเอ๋อบริสุทธิ์) พูดจาตรงไปตรงมา ชอบต่อยตี และหื่นชอบหน้าอกใหญ่ๆ

      

    มารุอิ ฮิโตฮะ  (Marui Hitoha) น้องคนสุดท้องของแฝดสามมารุอิ ดูภายนอกเป็นเด็กที่เงียบมืดมนและลึกลับ และดูเหมือนเธอชอบอ่านหนังสือเรียนตลอดเวลา หากแต่ที่แท้ข้างหนังเป็นหนังสือโป๊(?) เธอมักทำหน้าตาน่ากลัวใส่ทุกคนที่พยายามเอาหนังสือไปจากเธอ  ทำให้ไม่มีใครเป็นเพื่อนกับเธอนัก ทั้งๆ ที่ จิตใจลึกๆ แล้วเธอก็อยากได้เพื่อนบ้าง หากแต่เธอเป็นคนพูดไม่เก่งและขี้อาย แต่ดูๆ ไปไม่มีเพื่อนซะจะดีกว่า(เพราะเพื่อนของเธอติ๊งต๊องจัด) และเธอเป็นนักเรียนที่สนิทกับอาจารย์มากที่สุด(ในหลายๆ ความหมาย)

     

     ยาเบะ ซาโตชิ(Yabe Satoshi)อาจารย์ใหม่ที่มาอยู่ประจำห้อง 6/3 ของเด็กแฝดสาม ที่มีความหวังจะเจอลูกศิษย์ที่ดีแต่พอมาเจอเด็กแฝดสามจอมป่วนเขาก็สิ้นหวังในชีวิตทันใด(นี้ยังไม่นับรวมกับเหล่าเด็กๆ ในห้องที่บ้าต๊องไม่แพ้กัน) แต่กระนั้นเขาก็พยายามดีที่สุดในการสอนให้เด็กสามสาว(และเด็กในห้อง)เป็นเด็กดี หากแต่ด้วยบุคลิกที่อารมณ์อ่อนไหวและอ่อนน้อมถ่อมตนของเขาก็ไม่ได้ช่วยมากนัก แถมยังตกเป็นเป้าหมายในการรังแก(เครื่องเล่น)ของเด็กแฝดสามอีก เขาเป็นคนซื้อหนูแฮมเตอร์ที่ชื่อ “จุก(หัว)นม”ให้คนในชั้นช่วยเลี้ยงและดูเหมือนเขาจะตกหลุมรักอาจารย์ประจำห้องพยาบาลที่แสนซุ่มซ่าม(คาแร็คเตอร์ประจำในการ์ตูนญี่ปุ่น)

      

    คุริยามะ ไอโกะ อาจารย์แว่นประจำห้องพยาบาลคนใหม่ที่มาประจำพร้อมกับครูยาเบะ นิสัยจอมปิ่นและซุ่มซ่าม และเธอเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมุกเสื่อมๆ จนหลายคนต้องอึ้ง

                   

    Mitsudomoe หมายถึงสัญลักษณ์ที่เป็นที่นิยมของญี่ปุ่นครับ โดยรูปลักษณ์ลักษณะจะเป็นแทนของตรีคูณ(มนุษย์, ท้องฟ้า และโลก)ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาชินโต สัญลักษณ์นี้ยังถูกนำมาใช้ในครอบครัวญี่ปุ่น, โลโก้บริษัท หรือสัญลักษณ์ดังเดิมของเกาะเชจู แต่ที่คุ้นตาที่สุดคือหน้ากลองของเทพสายฟ้าญี่ปุ่นเวลาตีเรียกฟ้าผ่านั่นเอง ส่วนสาเหตุที่การ์ตูนเรื่องนี้นำคำนี้มาใช้คงสื่อได้ว่าสามแฝดนี้แต่ละคนแสบไม่แพ้กันเลย!!

    การ์ตูนเรื่องนี้หลายคนอาจไม่ถูกใจในลายเส้นนะครับ ในมังงะแรกๆ อาจตัวละครมีรูปร่างแปลกๆ หน่อย เช่นรูปร่างไม่สมดุล หน้าตาบูดเบี้ยว ในอนิเมชั่นก็ดีขึ้นมาหน่อย เริ่มเห็นความโมเอะกับความเสื่อมใช้ได้ แต่โดยรวมๆ แล้วการดำเนินเรื่องมังงะและอนิเมชั่นนั้นไม่แตกต่างกัน

    การ์ตูนเรื่องนี้ดำเนินเรื่อง 5 มุมมอง นั้นคือ มุมมองของอาจารย์ยาเบะที่ใจเย็นสุดๆ ในการรับมือแฝดสาม มุมมองของแฝดทั้งสาม และเพื่อนร่วมชั้นทั้งหลาย โดยมีแฝดสามเป็นจุดศูนย์กลาง ที่แฝดสามได้กระทำการบางอย่างที่ไม่ควรจะทำโดยตั้งคำถามที่ว่าสิ่งที่พวกเธอกระทำนั้นเป็นเพราะความไม่รู้ถึงการณ์หรือเป็นเพราะนิสัยของพวกเธอกันแน่

    การ์ตูนเรื่องนี้ผมฮ่าเกือบทุกตอนครับ มุกการ์ตูนนั้นก็พอเดาตอนจบได้ แต่สิ่งที่ผมฮ่าคือพฤติกรรมตัวละครในเรื่องครับที่แต่ละคนแสดงออกนั้นคนดูอุทานเลยว่า “ตลกโง่เสียจริง” และเป็นการ์ตูนที่ไม่ค่อยมีมุกตลกแบบไม่ล้อเลียนเท่าไหร่ ซึ่งผมหามานานแล้ว อยากดูการ์ตูนประเภทที่มีมุกเวอร์ชั่นเป็นของตัวเองบ้าง(อาจมีบ้างในอมิเนชั่นที่มีเพลงประกอบฉากตอนแรกที่นักเรียนเล่นผึ้งแตกรัง โดยเพลงประกอบฉากเอามาจากภาพยนตร์เรื่อง Battel Royale) การ์ตูนตลกนี้ได้ใช้มุกดั่งเดิมของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ คือมีคนปล่อยมุก(เด็กแฝดสาม) มีคนตบมุก(โดยยาเบะและฮิโตฮะ) มีการสร้างคาแร็คเตอร์ตัวละครที่มีเอกลักษณ์นิสัยแปลกๆ ที่เข้ากับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี

    การ์ตูนตลกญี่ปุ่นนั้นจะมีธรรมเนียมนิดๆ หน่อยๆ นะครับในกรณีตัวละครเยอะ สาเหตุเนื่องจากการ์ตูนบรรทัดฐานอย่างดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ได้กำหนดเอาไว้ว่า หากจะเล่นมุกอะไรนั้น จะต้องมีฉากเปิดตัวละครนั้นๆ ก่อน บอกที่กล่าวที่ไปแนะนำตัวของตัวละครด้วย ก่อนที่จะเอาตัวละครนั้นไปเล่นมุกปล่อยมุกให้ฮ่ากระจาย ลื่นไหล และในกรณีที่ตัวละครเรื่องนี้ไม่เป็นที่นิยมหรือคนอ่านไม่ชอบก็ต้องเก็บเข้ากรุหรือไม่มีบทอีกเลย(คุโรไมตี้, เบ็คแฮมเพนกวินเจ้าปัญหาเป็นตัวอย่างได้อย่างดีเลย) จนเป็นสูตรสำเร็จของการ์ตูนในเวลาต่อ

      

    Mitsudomoe เป็นการ์ตูนที่เต็มไปด้วยตลกโง่และตลกร้ายที่ด้วยความแรงของความดิบ(เถื่อน) การเล่นมุกส่วนใหญ่ใช้พฤติกรรมมนุษย์มาใช้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ความอ่อนน้อมถ่อมตน-ความเกรงใจของชาวญี่ปุ่น, ความเข้าใจผิด, ความสกปรก, ความรุนแรง, หมกมุ่นในกาม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นบ่อเกิดมุกตลกทั้งสิ้น

    โดยพื้นฐานบ่อเกิดมุกตลกนั้นมาจากพฤติกรรมด้านลบของมนุษย์เป็นหลัก จะมีสักกี่มุกที่เอาพฤติกรรมด้านบวกของมนุษย์มาเล่น

    เรามาลองวิเคราะห์อนิเมชั่นในตอนแรกของการ์ตูนเรื่องนี้ดีกว่า ว่ามุกตลกที่การ์ตูนสื่อออกมานั้นคืออะไร ตอนแรกเราได้เห็นภาพโรงเรียนธรรมดา นักเรียนธรรมดา และอาจารย์ธรรมดานามยาเบะสมหวังได้เป็นอาจารย์ประถมกับเขาสักที สำหรับญี่ปุ่นแล้วการเป็นอาจารย์ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีสถานะทางสังคมสูง เนื่องจากประชาชนคาดหวังในหน้าที่ครู เพราะหวังว่าครูจะปลูกฝังทัศนคติที่ดีทางสังคมให้แก่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม และพัฒนาอุปนิสัยของเด็ก

    ยาเบะหวังจะเป็นเช่นนี้ เขาจะต้องทำหน้าที่ของครูให้ดีที่สุด หากแต่ว่าแค่วันแรกที่เขาเข้าประจำห้องก็โดนลองดีซะแล้ว ทั้งๆ ที่แค่เล่นเกมส์ผึ้งแตกรัง(คล้ายๆ กับการละเล่นเก้าอี้ดนตรีบ้านเรา)เขายังพบปัญหาที่แก้ไม่ตก กับเด็กแฝดสามคนที่เต็มไปด้วยปัญหาและไม่ค่อยให้เกียรติอาจารย์สักเท่าไหร่(แต่อาจารย์ยาเบะไม่ถือ)  จากนั้นความตลกและโจ๊กก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมุกส่วนใหญ่ที่ออกมา มีทั้งทางกายภาพเจ็บตัวเลือดพุ่ง หรือเนื้อหนังทางที่เพศเสียดสี จากเกมส์ผึ้งแตกรังที่น่าสนุกกลับกลายเป็นเกมส์แห่งความตึงเครียดไปซะได้ สำหรับผู้ดูอาจมีการอึ้งเล็กน้อยว่าเราควรหัวเราะดีหรือไม่กับสิ่งที่ปรากฏในการ์ตูนที่เด็กแก่แดดเกินวัย(ส่วนยาเบะมีความคิดว่า ตรูอยากเปลี่ยนอาชีพซะแล้วสิ)

     

    จากนั้นมาถึงช่วงหลังของตอนแรก เราก็พบตัวละครเล่นตลกโง่ซะเหลือเกิน คำนี้อาจดูรุนแรง หากแต่สุภาพหน่อยก็คงจะเรียกว่า “ตัวตลก” คุณรู้จักตัวตลกไหมครับ ตัวตลกนั้นเป็นศาสตร์ของตลกในยุโรปที่นิยมเล่นข้างถนน เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่คนผ่านไปผ่านมา ซึ่งบางครั้งอาจจะแสดงต่อหน้าพระมหากษัตริย์เลยทีเดียว  โดยพื้นฐานตัวตลกนั้นจะต้องแต่งตัวแปลกๆ ไม่เหมือนชาวบ้าน แสดงให้เห็นว่าเป็นคนโง่ทึบ ซุ่มซ่าม หรือทำตัวให้ดูตลก เช่นใส่ผ้าหลากสีปะๆ กัน ที่นิยมคือจะมีหมวกประหลาดมีสามเขาและกระดิ่งกริ๊งตรงปลายหมวกทั้งสามเขา หากแต่ตลกโง่ในการ์ตูนเรื่องนี้หมายถึงการกระทำของตัวละครที่ดูแล้วคนดูอุทานว่า “เมิงคิดได้ไงเนี้ย!!” เช่นเด็กแสบสามคนพยายามแตะผ่าหมากอาจารย์ประจำชั้นเพื่อให้อาจารย์ประจำห้องพยาบาลปฐมพยาบาล แล้วอาจารย์ห้องพยาบาลจะได้เห็นช้างน้อยของอาจารย์ยาเบะแล้วเธอจะได้ตกหลุมรักเขา   เรียกได้ว่ามุกนี้คนดูคิดไม่ถึงแน่นอนว่าเด็กประถม 6 จะมีวิธีคิดที่แสนร้ายกาจและไร้สมองอย่างน่ากลัวได้ถึงเพียงนี้

     เมื่อถึงตอนที่ 2 ของการ์ตูนเรื่องนี้ เราก็ได้เห็นมุกที่หลายคนแทบขำไม่ออกและไม่ควรดูในขณะรับประทานอาหารอย่างยิ่ง เพราะมุกตอนที่สองนั้นแตกต่างไปจากตอนแรกโดยสิ้นเชิง จากตอนแรกใช้มุกทะลึ่ง หากแต่ตอนที่สองมุกที่ใช้ส่วนใหญ่กลับกลายเป็นเล่นของขยะแขยงแทน

     

    ในช่วงแรก(ของตอนที่ 2) ฟุตาบะเป็นหวัดน้ำมูกไหลอย่างหนัก ในขณะที่เข้าเรียน ฟุตาบะก็สั่งขี้มูกจนขี้มูกติดหลังอาจารย์ยาเบะ จากนั้นเธอก็สั่งขี้มูกรดใส่หน้าพี่สาวมิสึบที่เรียนอยู่ข้างหลัง พี่สาวตกโต๊ะจนเลือดกระฉูด

      

    แต่นั้นเทียบไม่ได้กับตอนต่อไป เมื่ออาจารย์ประจำห้องพยาบาลทำเปิ่นทำหลอดปัสสาวะตัวอย่างของนักเรียนทั้งชั้นตกใส่พื้น เธอพยายามเก็บมันแต่กลายเป็นว่าแย่หนักกว่าเก่า เมื่อเธอไปเหยียบหลอดแตกแถมยังปัสสาสวะในหลอดยังกระเต็นใส่หน้าอาจารย์ยาเบะ, ฟุตาบะ และมิสึบจนปัสสาวะเลอะตัว นอกจากนี้อาจารย์ยาเบะยังหกล้มลงไปทับหลอดปัสสาวะแตกนองพื้นซ้ำอีก เท่านั้นไม่พออาจารย์ห้องพยาบาลยังปิ่นไม่เลิกปล่อยมุกพะอืดพะอมเป็นชุด ไม่ว่าจะใช้ฉี่แทนแอลกอฮอล์รักษาบาดแผลนักเรียน, เอาฉี่ใส่ลงกาแฟนแทนครีมเทียม  และฉากสุดท้ายเหยียบหลอดปัสสาวะกันระนาว

    ตลกเหล่านี้เรียกว่าตลกสัปดน นำความผะอืดผะอม ของสกปรก ที่ผิดปกตินำมาเล่น และการแสดงของตัวละครขัดไปจากความจริง จนคนดูอุทานว่า “เมิงโง่หรือเปล่าเนี้ย” อย่างที่บอกไว้พื้นฐานของมุกตลกนั้น จำเป็นต้องใช้พฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ในการเล่น บางครั้งอาจดูหยาบและเถื่อน แต่นั้นก็คือมุก

    ตลกสัปดนเป็นส่วนหนึ่งตลกร้าย เนื่องจากการเล่นมุกนี้ไม่จำเป็นต้องให้คนชมขำ หากแต่จุดมุ่งหมายของมันก็คือการสร้างอารมณ์ของผู้ดูให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับมุกนั้นๆ

    โดยปกติแล้วมนุษย์เรานั้นชอบเรื่องฉิบหายของผู้อื่น ต้องการให้คนอื่นล้มจม หริอมีคุณภาพชีวิตอยู่ระดับเดียวกับเรา อย่าได้เจริญก้าวหน้าเด็ดขาด ซึ่งพฤติกรรมด้านลบนี้มีส่วนสำคัญในการเกิดมุกตลกร้าย ที่ส่วนใหญ่มุขตลกที่คนดูบางคนอาจจะตลก แต่อาจจะไปกระแทกจุดอ่อนหรือปมด้อย หรือจี้ใจดำของคนอีกบางกลุ่ม หรือหายนะของตัวละครในเรื่อง เป็นต้น

    ผมรู้สึกแปลกใจจริงๆ ว่าการ์ตูนเรื่องนี้กล้าเล่นมุกนี้ เพราะมุกดังกล่าวแทบจะสูญพันธุ์ไปจากการ์ตูนญี่ปุ่นไปแล้ว มุกการเล่นของขยะแขยงจำพวกน้ำมูกและปัสสาวะนั้นเป็นมุกอารมณ์ขันชั้นต่ำที่มุกนำมาเล่นในวงเหล้ามากกว่าจะให้คนอื่นโดยทั่วไปรับฟังหรือได้ดู ผมขอชมเลยว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้ามาก

     

    ตลกสัปดน(ทะลึ่ง)นั้นยังสามารถนำไปใช้ได้อย่างมากมาย ไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งสกปรกทางกายภาพมาเล่นเสมอไป บางครั้งอาจมีการพูดเรื่องเพศ(ทะลึ่ง) หรือ นำเรื่องลามกมาพูด และตบมุกว่าผู้ฟังคิดไปเอง โดยใช้ความเข้าใจผิดมาใช้ประโยชน์ โดยปกติเวลามนุษย์เวลาได้รับข้อมูลข่าวสารที่ดูคลุมเครือไม่แน่นอน ทำให้ผู้ที่ฟังเกิดความไม่เข้าใจ สงสัยข้อมูลที่ได้ยินและมักจะประมวลผลหาคำตอบที่ตรงใจกับเรามากที่สุด ซึ่งความเข้าใจของเรานั้นบางครั้งก็ไม่ตรงกับคนสื่อสาร ส่งผลให้ข่าวสารนั้นผิดเพี้ยนเข้าใจผิดและไม่ตรงกับความคิดของผู้สื่อสารในที่สุด

    ยิ่งเอาเรื่องที่สื่อสารเป็นเรื่องที่ทะลึ่ง ทั้งๆ ที่ผู้สื่อสารไม่จงใจให้เป็นเรื่องทะลึ่งเลย แต่คนฟังนั้นดันคิดไปเองว่าเป็นเรื่องทะลึ่ง เราเรียกความหมายนี้ว่า “สองแง่สองง่าม” หมายความว่า ตีความได้เป็น 2 นัย

    ตัวอย่างเช่น ในช่วงท้ายตอนที่ 1 อาจารย์ยาเบะซื้อหนูแฮมเตอร์ตัวหนึ่งมาให้นักเรียนทั้งห้องช่วยเลี้ยง ทุกคนตั้งชื่อหนูแฮมเตอร์ว่า “หัวนม” เลี้ยงไปเลี้ยงมาจนกระทั้งวันหนึ่งหัวนม(ชื่อมีเป็นล้านทำไมมันไม่ตั้งฟ่ะ)รู้สึกไม่สบาย ฮิโตฮะจึงอาสานำหัวนมไปเลี้ยงในบ้านของตนเองแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นเหตุทำให้เธอทะเลาะกับเพื่อนร่วมชั้นขึ้น

    พอดีเวลานั้น อาจารย์ประจำห้องพยาบาลได้ยินเสียงทะเลาะกันในห้องอาจารย์ยาเบะ เธอเลยแอบฟัง(แน่นอนว่าเธอไม่รู้ว่าหัวนมเป็นชื่อของแฮมเตอร์”

    “ขอจับหัวนมหน่อยไม่ได้เหรอ”(เสียงเด็กผู้ชาย)

    “แค่ขอจับหัวนมนิดหน่อยเท่านั้นเอง”(เสียงผู้ชาย)

    “ฉันแค่อยากเห็นหัวนมเท่านั้นเอง”(เสียงผู้หญิง)

    “ที่จริงหัวนมก็ไม่เป็นไรแล้วไม่ใช่เหรอ?”(เสียงอาจารย์ยาเบะ)

    “ทุกคนเห่อเกินไป แถมยังจับมันแรงด้วย มันถึงได้ซ้ำไง”(เสียงฮิโตฮะ)

    “ฉันจึงต้องเอาหัวนม ออกห่างจากทุกคนไง”(เสียงฮิโตฮะ พร้อมกับเสียงทุกคนในห้องฮือฮา)

    “ไม่ใช้ของเธอคนเดียว มันเป็นของทุกคนต่างหาก พวกเราก็อุตส่าห์จับมันอ่อนโยนแท้ๆ”(เสียงพวกเด็กผู้ชาย)

    เถียงไปเถียงมา จนเกิดฉากซึ้งเมื่อทุกคนตกลงกันว่าจะช่วยดูแลหัวนมด้วยกัน(แน่นอนฉากซึ้งที่ว่าคนดูหัวเราะมากกว่าที่จะซึ้งไม่คิดว่า “เม่งเสื่อมดีแท้มุกนี้” ก่อนจบลงด้วย “หัวนม หัวนม หัวนม ฯลฯ”(นักเรียนทั้งห้องพูดพร้อมกัน)

    แน่นอนครับคนที่ผ่านไปผ่านมา ถ้าไม่รู้เรื่องมาก่อนร้อยทั้งร้อยก็นึกว่านักเรียนห้องนี้เป็นคนลามก เพราะหัวนมตีความได้อย่างเดียวคืออวัยวะร่างกาย(ส่วนใหญ่มักคิดถึงหัวนมผู้หญิงมากกว่าของผู้ชาย)และจะมีใครสักกี่คนบนโลกที่คิดว่า "หัวนม" เป็นชื่อของสัตว์เลี้ยงบ้างล่ะ นี้แหละคือเสน่ห์ของมุกสองแง่สองง่าม

    หลังจากที่ผมดูมาแล้วสามตอน ผมพบว่าทั้งสามตอนของการ์ตูนเรื่องนี้ ใช้มุกทะลึ่งหลายแบบ เช่น อุบัติเหตุตลกชวนหัว มุกโง่ๆ แบบการ์ตูนฝรั่ง ตามด้วยมุกทะลึ่งมุกสัปดน จนกระทั้งมาถึงตอนที่ 3 ที่ใช้ความเข้าใจผิดมาเป็นหลักในการเล่นมุก

    ใช่ว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะไม่มีมุกล้อเลียนเสียทีเดียว(ในการ์ตูนมังงะไม่มี) ในตอนที่ 3 มุกล้อเลียนก็เริ่มมีบทบาทขึ้น หากแต่มันก็ไม่ได้ปล่อยออกมากมายเท่านั้นเอง

                    ผมชอบตอนที่สามในช่วงท้ายเป็นพิเศษ ผมปล่อยก๊ากไปหลายครั้ง ด้วยมุกการ์ตูนที่ใช้ความเข้าใจผิดมาใช้อย่างสนุกสนาน

                     

                    เปิดฉากออกมาท่ามกลางอากาศร้อนจัด ได้ปรากฏร่างให้เห็นชายอ้วนร่างใหญ่ ขนดกเต็มตัว หนวดเครารกรุงรัง แถมหน้าตาน่ากลัว เสียงหายใจดังลั่นอย่างกับสัตว์ป่า เหงื่อเต็มกาย ตัวเหม็น วิ่งอย่างบ้าคลั่งท่ามกลางสายตาคนข้างทางที่มองไปชายคนนั้นว่าเป็นคนน่ากลัว แถมในมือชายคนนั้นยังถือกางเกงในเด็กผู้หญิงอีก อย่างงี้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก “ไอ้บ้ากาม” ชัดๆ

                     

                    ฉากตัดมาที่แฝดสามสาว ที่อยู่ในชุดว่ายน้ำโรงเรียน(เฒ่าหัวงูโผล่เพียบ) กำลังมีปัญหาว้าวุ่นใจปรึกษากับอาจารย์ยาเบะในชั่วโมงว่ายน้ำ ว่ากางเกงในของทั้งสามคนหายไป และพี่คนโตเชื่อเลยว่าต้องมีไอ้หื่นที่ไหนมาขโมยไปแน่นอน

                

    ฉากตัดมาที่ชายร่างอ้วนใหญ่อีกครั้ง เขามาหยุดที่กำแพงรั่วโรงเรียนตรงที่มีสระว่ายน้ำแฝดสามเรียนอยู่ ชายคนนั้นกำลังปีนขึ้นไปท่ามกลางสายตาคนผ่านไปผ่านมาที่นึกว่าเป็นไอ้หื่นพยายามบุกโรงเรียน มาถึงตอนนี้หลายคนคงทราบแล้วว่าชายคนนั้นคือพ่อของแฝดสามนั่นเอง ที่อุตส่าห์วิ่งมาโรงเรียนเพื่อเอากางเกงในของแฝดสามมาให้เพราะพวกเธอลืมเอาไว้ที่บ้าน แล้วพ่อของแฝดสามก็ได้ยินบทสนทนาระหว่างอาจารย์ยาเบะกับแฝดสามที่สื่อออกมาสองแง่สองง่าม จนพ่อของเด็กแฝดสามนึกว่าอาจารย์ลวนลามลูกของตน(อย่างฮ่า)

      

    แล้วแฝดสามก็เพิ่มดีกรีทะลึ่งเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ลืมกันเองแท้ๆ ดันไปโทษอาจารย์ยาเบะผู้น่าสงสารว่าเป็นคนขโมยกางเกงในไป แถมยังยังโดนบังคับเปิดกางเกงอาจารย์จนเหลือแต่บ๊อกเซอร์อีก

      

    ที่นี้พ่อของเด็กแฝดสามเลยเข้าใจผิดกันยกใหญ่ นึกว่าอาจารย์มันหื่นโชว์กางเกงในให้เด็กแฝดสามดู เลยปล่อยพลังซูปเปอร์ไซย่าถล่มกำแพงโรงเรียนซะราบ ฉากนี้ผมปล่อยก๊ากจริงๆ เพราะสภาพพ่อของเด็กสาวดูยังไงมันก็เป็นไอ้หื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมแฝดสาม(โดยเฉพาะคนพี่)ยังใส่ร้ายพ่อตนเองอีกว่าเป็นโจรขโมยกางเกงในเพราะอายจัดว่ามีพ่อสารรูปแบบนี้บวกกับไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าตนเองลืมกางเกงใน(ผมก็อายแทน)

      

    สุดท้ายพ่อของแฝดสามก็โดนตำรวจจับ จะฮ่าหรือเครียดดีเนี้ย(มุกนี้คงไปใช้ในวันนัดพบผู้ปกคารองอีกแน่นอน ผมเตรียมฮ่า)

     
             มุกเข้าใจผิดตอนนี้ผสมกับมุกโง่ๆ อีก คือพฤติกรรมของพ่อของแฝดสามที่น่าจะรู้ตัวสักนิดว่าสายตาคนรอบข้างเป็นยังไงบ้าง ไม่ก็น่าจะกางเกงในของแฝดสามใส่ในกระเป๋ามากกว่าจะถือไปถือมาเหมือนไอ้หื่น และเมื่อไปถึงโรงเรียนก็น่าจะไปประตูหน้าและแจ้งให้คนรับผิดชอบทราบ(ผมคงเดาได้ว่าพ่อของแฝดสามคงมีนิสัยขี้เกียจอย่างแรงเลยนะเนี้ย)

                    

    คราวนี้เราลองเอาการ์ตูนเรื่องนี้มาเปรียบเทียบการ์ตูนโลลิคอนที่โด่งดังอีก 2 เรื่องบ้าง

    Kodomo no Jikan การ์ตูนเด็กประถมที่หลงรักอาจารย์ชายข้างเดียวอย่างแรง มีทั้งยั่ว มีทั้งจู่โจม บางฉากติดเรต จนถึงขั้นไม่เหมาะสม แต่กระนั้นมันก็สอดแทรกเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว, การเรียนระหว่างอาจารย์และศิษย์ภายใต้มุมมองของเด็กสาวและอาจารย์

    Hanamaru Youchien การ์ตูนเด็กอนุบาลที่หลงรักอาจารย์ชายข้างเดียวอย่างแรก หากแต่เนื้อหาไม่มีพิษมีภัยเท่า Kodomo no Jikan เป็นการแสดงความรักแบบของเด็กอนุบาลที่น่ารักน่าหยิกเสียมากกว่า และสอดแทรกเกี่ยวกับ การเลี้ยงดูเด็ก จินตนาการของเด็กที่พัฒนาพร้อมกับวัย และผมประทับใจตรงประวัติแม่ของเด็กสาวตัวเอกของเรื่องที่ท้องในวัยเรียนกับอาจารย์แต่กระนั้นเธอก็สามารถจัดการกับปัญหาชีวิตได้อย่างงดงาม ผิดจากแม่ของเด็กสาวตัวเอกในเรื่อง Kodomo no Jikan


             Mitsudomoe เป็นการ์ตูนเด็กประถม ที่ผมพอทราบว่าก่อนหน้าผลงานของคนเขียนเรื่องนี้เคยเขียนการ์ตูนเรื่อง The Violence School Gag (มังงะ) มาก่อน ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวเดียวกับ Mitsudomoe ที่เกี่ยวกับเด็กสาวนักเรียนประถมจอมป่วน ที่ลายเส้นสยดสยองมาก กว่าที่จะพัฒนาได้นั้นต้องผ่านการเปลี่ยนลายเส้นถึงสามครั้ง ก่อนที่จะมาโด่งดังในที่สุด แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการ์ตูนที่เนื้อหาดี ลายเส้นก็เป็นเพียงเรื่องรอง ดังนั้นพยายามฝึกฝนให้มากๆ คนที่วาดไม่เก่งก็ลองมาดูการ์ตูนเรื่องนี้ก็แล้วกันว่าเขาวาดอย่างไรมันถึงได้โด่งดัง

    Mitsudomoe มีเนื้อหาแตกต่างจากการ์ตูนเด็กที่โด่งดังทั้งสองเรื่องมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาและการดำเนินเรื่อง โดยเนื้อหานั้นเด็กแฝดสามคนไม่ได้หลงรักอาจารย์ยาเบะเลย แต่เหมือนเพื่อนมากกว่า  จนคนดูนึกสงสารอาจารย์ยาเบะมากกว่าจะอิจฉา ส่วนเนื้อหานั้นก็สอดแทรกเกี่ยวกับความคิดของเด็กในยุคปัจจุบันที่เรื่องเพศนั้นเริ่มเข้าถึงเด็กที่วัยยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างน่ากลัว ตัวอย่างเช่นฮิโตฮะที่ชอบอ่านหนังสือโป๊(??)ประเด็นไม่ใช้ความคิดอ่านของเด็ก หากแต่ปัญหาคือหนังสือโป๊มาจากไหนมากกว่า เพราะญี่ปุ่นนั้นเขามีกฎหมายไม่ให้เด็กต่ำกว่า 18 ซื้อหนังสือโป๊ แล้วหนังสือโป๊นั้นมาจากไหนหากไม่ใช้มาจากการซื้อ? สิ่งที่คิดได้มีอย่างเดียวก็คือผู้ปกครองที่ไม่ได้เก็บหนังสือประเภทนี้ให้พ้นมือเด็ก ปล่อยปะละเลยไม่ได้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด คิดแต่ให้โรงเรียนขัดเกลาลูกมากกว่าที่จะขัดเกลาที่บ้าน ทั้งๆ ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้น่าจะให้สองฝ่ายมาช่วยแก้ไข หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่ร่วมมือกันละก็ ผลสุดท้ายเด็กแฝดสามก็กลายเป็นเด็กมีปัญหาหื่น(??)ก่อนวัยอันควรอย่างที่เห็น แต่กระนั้นสิ่งที่การ์ตูนเรื่องนี้สื่อมานั้นอยู่ในรูปของมุกตลกเสียมากกว่าจะเป็นดราม่า

    นอกจากนี้สิ่งที่แทรกอีกก็คือ การละเล่นของเด็กนั้นควรมีขอบเขต อย่างเล่นแฝงๆ ไม่งั้นจะได้รับอันตราย เช่น อย่าปีนต้นไม้สูง, อย่าเล่นน้ำในสระตอนกลางคืน, อย่าเอาไม้เบสบอลมาใช้ในการเล่นเป่ายิงฉุบ(ใครจะบ้าเล่นแบบในการ์ตูนว่ะ อย่างโหด) การคบเพื่อน ฯลฯ ซึ่งสอดแทรกไปพร้อมๆ กับมุกตลกทะลึ่งจนหลายคนไม่ได้สังเกตเห็น

    การ์ตูนเรื่องนี้มีมุมมองที่แตกต่างจากการ์ตูนสองเรื่องข้างต้นค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะมีมุมมองของอาจารย์และแฝดสามแล้ว ยังมีมุมมองของเพื่อนร่วมห้องเข้าไปผสมโรงด้วย แต่กระนั้นผมก็ชอบฉากอาจารย์ยาเบะปรากฏตัวมากกว่า เพราะเข้าช่างเป็นอาจารย์ที่ดีเสียจริง

    สรุปเลยละกัน การ์ตูนเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัดอายุในการชมพอสมควร เนื่องจากมีมุกทะลึ่งค่อนข้างเยอะ และผมเชื่อว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ดูอาจไม่มีอารมณ์ร่วมเท่าไหร่ หากแต่คนที่อายุเยอะและเป็นชายโสด(อย่างผมเป็นต้น) มาดูนอกจากจะได้อิ่มความเป็นโลลิคอนน่ารักแล้ว ยังตลกปล่อยก๊ากด้วยมุกทะลึ่งเหมือนได้ดูตลกคาเฟ่อีกครั้งในชีวิต(ผมเป็นคนชอบตลกคาเฟ่) และในขณะเดียวกันกันบางมุกนั้นหลายคนอาจหัวเราะไม่ออกเลยทีเดียว.........

    จบ

    + +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×