ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #81 : Ore to Akuma no Blues ชายที่ขายวิญญาณให้ซาตาน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 11.56K
      3
      21 ก.ค. 53

           

    ทุกวันนี้ยังมีหลายๆ คนเรายังหาวิธีง่ายๆ ในการแสวงหาความมั่งคงหรืออำนาจ หรือยืนจุดสูงสุดของอาชีพนั้นๆ  แต่การทีจะบรรลุจุดประสงค์เหล่านี้เราจะต้องฉลาด มีความสามารถ แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ ในเมื่อเราพบตนเองว่าไม่มีพรสวรรค์เสียเลย ใจน่ะมีเต็มร้อย แต่ฝีมือไม่ถึงเราจะทำอย่างไร เราจะมีวิธีลัดวิธีไหนให้ถึงจุดสูงสุดเร็วที่สุด เรียนเรอะโครตน่าเบื่อ ใช้เส้นเรอะก็ไม่ค่อยมี ดังนั้นมีอีกวิธีหนึ่งที่ทำง่ายที่สุดเพื่อที่จะเดินตามฝันนั้นก็คือ       

    “การทำสัญญากับปีศาจ”

     

     

     
    ORE TO AKUMA NO BLUES

    อภินิหาร, จิตวิทยา, ดราม่า, ชีวประวัติ, เพลง, สยองขวัญ

    มี 4 เล่มจบ(ลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์สยาม)

    ภาษาอังกฤษ http://manga.animea.net/ore-to-akuma-no-blues.html

     

    หรือชื่อไทยว่า ฉันและปีศาจบลูส์(Me and the Devil Blues) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเขียนโดย Akira Hiramoto เป็นการ์ตูนดัดแปลงจากชีวประวัติของโรเบิร์ต จอห์นสันราชาเพลงบลูส์ ถูกนำตีพิมพ์ต่างประเทศหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา, ฝรั่งเศส, อเมริกาเหนือ และถูกจัดเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใหญ่และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในปี 2008 และคว้ารางวัล Glyph Comics Awards ในปี 2009

    หายากนะครับการ์ตูนประเภทชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลกแบบนี้ ท่ามกลางการ์ตูนโมเอะและสาวดุ้น ในปัจจุบันเราแทบไม่เจอการ์ตูนประเภทนี้ในแผงหนังสือเลย และเท่าที่ผมจำได้ บุคคลสำคัญของโลกที่นักเขียนการ์ตูนนำมาดัดแปลงวาดนี้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น(ไม่นับหนังสือแบบแผ่นใหญ่ ประกอบความรู้นะครับ เอาแบบมังงะ) เท่าที่จำได้ ก็มีฮิตเลอร์, เจงกีสข่าน,โนบุนากะ, เคนชิน, ซากาโมโต้ เรียวมะ, มุซาซิ(วากาบอน) ส่วนมากจะเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมากกว่าจะเป็นของต่างประเทศ การ์ตูนชีวประวัติเหล่านี้มีการดัดแปลงใส่เรื่องราวเพื่อสีสันไปบ้างโดยไม่ขัดต่อเนื้อเรื่องแต่อย่างใด กลับกันลองมาดูการ์ตูนชีวประวัติของไทย มันดัดแปลงจน.............(เติมเอาเองเถอะ)

    มีคนว่าไว้ว่า การ์ตูนชีวประวัติบุคคลของไทยนั้น ยังขาดสีสันอยู่มาก โดยสิ่งที่ขาดไปคือการสร้างเนื้อเรื่องที่มีเหตุการณ์ที่ขัดแย้ง หรือทางเลือกสองทาง นั้นคือตัวละครตัวเอกในเรื่องจะต้องพบเหตุการณ์หนึ่งที่บังคับให้ตนเองจ้องตัดสินใจ เช่น การ์ตูนของ

    การ์ตูนเรื่องนี้ดัดแปลงจากชีวประวัติราชาเพลงบลูส์นามว่าโรเบิร์ต จอห์นสัน(แต่หลายคนเห็นปกนึกว่าเฮียรี อองรีนักฟุตบอลฝรั่งเศส) ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ดัดแปลงจากชีวิตของเขา โดยแทรกคำถามที่ว่าเพราะอะไรที่ทำให้นักดนตรีธรรมดาที่ไม่เอาไหนคนนี้ ได้ก้าวขึ้นสู่มาเป็นเทพแห่งเพลงบลูส์ได้ เป็นเพราะเขาทำสัญญากับซาตานจริงหรือ? หรือว่าเขาเดินตามฝันด้วยความมุ่งมั่นด้วยตัวเขาเอง และนี้คือการผจญภัยตามหาความฝันของโรเบิร์ต จอห์นสันที่ตลอดชีวิตเขาต้องพบบุคคลมากมาย มีทั้งดีและร้ายปะปนกัน และคุณจะได้รู้ว่า ซาตานนั้นน่าคบกว่ามนุษย์เสียอีก!!

     

    บางครั้งชีวิตจริงก็ยิ่งกว่านิยาย การ์ตูน ORE TO AKUMA NO BLUES ในปลายปี 1920 ที่ลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ในอเมริกา เป็นยุคสมัยที่คนผิวดำจำนวนมากโดนกดขี่โดยคนผิวขาว พวกเขาต้องอาศัยที่ดินทำกินของชนผิวขาวเพื่อหาเลี้ยงชีพเท่านั้น กลางวันทำไร่ทำนาแบบสายตัวแทบขาด ตอนคำก็ไปดื่มกินที่บาร์เหล้าของคนผิวดำ จากนั้นก็ไปนอน ตื่นขึ้นก็ทำไร่ต่อ วันอาทิตย์ก็เข้าโบสถ์ชโลมจิตใจ  เป็นชีวิตที่ซ้ำๆ ซากๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

    (ความรู้จากผู้เขียน ชนชาวผิวดำนั้นโดนกดขี่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอเมริกานั้นถึงขั้นเหยียดสีผิว คนดำถูกจำกัดสิทธิหลายๆอย่าง เช่น ห้ามใช้ห้องน้ำของคนขาว ห้ามดื่มน้ำก๊อกเดียวกับคนขาว บนรถประจำทาง ห้ามคนดำนั่ง คนดำกินได้แค่ไก่ กับ วัฟเฟิล เป็นต้น)

     

    จากนั้นเนื้อเรื่องจับมาอยู่ที่ชายวัยรุ่นคนหนึ่งชื่ออาร์เจ เป็นชาวนาที่แสนธรรมดา ที่มีชีวิตสงบสุขพออยู่พอกิน มีภรรยากำลังตั้งท้อง นอกจากนี้เขายังมีพี่สาวและพี่เขยเป็นครอบครัวเดียวกัน ทุกๆ วันเขาต้องทำงานไร่เพื่อช่วยเหลือพี่สาวอย่างหนัก พอตกกลางคืนเขาก็ลาภรรยาเพื่อไปบาร์เพื่อดื่มเหล้ากับเพื่อน

    (ความรู้จากผู้เขียน โรเบิร์ต จอห์นสันนั้นประวัติชีวิตของเขาลึกลับยิ่งกว่านิยายเสียอีก รู้แน่ๆ เกิดวันที่ 8 พฤษภาคม 1911 มิสซิสซิปปี้ อดีตครอบครัวเป็นเจ้าของที่ดินกว้างขวางหากแต่โดนชนผิวขาวขับไล่ แม่มีสามีใหม่ แต่กระนั้นเขาก็ไม่ได้มีปัญหาครอบครัวนัก เขาเป็นเด็กเรียนรู้ค่อนข้างดีมีเพื่อนฝูงหลายคน ส่วนในการ์ตูนคาดว่าจะเป็นช่วงโรเบิร์ตอายุ 16 ซึ่งตอนนั้นเขาแต่งงานกับเวอร์จีเนีย และเขาอาศัยอยู่โรงเก็บนุ่ม มีอาชีพทำไร่)

     

    อาร์เจนั้นมีใจรักเพลงบลูส์มาก เขามักไปบาร์เพื่อไปฟังคนอื่นเพลงบลูส์ประจำ โดยเขามักยืมกีตาร์คนข้างๆ มาเล่น แต่เขาเล่นเพลงบลูส์ไม่เอาไหนเลย

    (ความรู้จากผู้เขียน บลูส์ เป็นรูปแบบของดนตรีประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากความเจ็บปวดแร้นแค้น ทุกข์ทรมาน ของชีวิต อันเนื่องจากสภาพชีวิตคนผิวยังใช้ชีวิตที่คับแค้นจากการกดขี่ของคนผิวขาว พวกเขาจึงได้นำเสนอผ่านบทเพลงด้วยการร้อง หรือสวดอ้อนวอนในทางศาสนาที่ เป็นท่วงทำนองที่น่าเศร้า แฝงความเจ็บปวดคล้ายการสะอึกสะอื้นเวลาร้องให้ จึงใช้แสดงอารมณ์เศร้าได้ดี นอกจากนั้น เรื่องของจังหวะ (rhythm) ของบลูส์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นแบบแผนนำไปสู่ดนตรีรูปแบบอื่นมากมาย

    ความจริงโรเบิร์ตนั้นเก่งกาจเป่าฮาร์โมนีก้าและหีบเพลงปากซึ่งเขาเก่งมาตั้งแต่เด็กมาก จนนักดนตรีบลูส์รุ่นใหญ่กว่าเขา แนะนำให้เขามุ่งมั่นเล่นฮาร์โมนิก้าจะรุ่งกว่า หากแต่โรเบิร์ตปฎิเสธ เพราะเขาสนใจในกีตาร์มากกว่า แต่เขาไม่มีพรสรรค์ในเรื่องกีตาร์เสียเลย เขานักดนตรีธรรมดาที่ได้แต่เดินตามและลอกเทคนิคนักดนตรีดังๆ เท่านั้น และไม่ประสบผลสำเร็จ)

     

    อาร์เจโดนเพื่อน  ๆ ในบาร์เยาะเย้ยทุกครั้ง ในเวลาเขาเล่นกีตาร์ไม่ได้เรื่อง จนเพื่อนในวงพูดว่า “ทำไมนายไม่ไปขายวิญญาณให้ซาตานเลยว่ะ ที่ครอสโร้ดสตรีทนะ ว่ากันว่าหากใครก็ตามแบกกีตาร์แล้วยืนอยู่สี่แยกที่นั่นเพียงลำพังคนเดียวและเล่นบทเพลงอะไรก็ได้หนึ่งเพลง จะพบกับซาตานที่อยู่ด้านหลัง และมันจะเอากีตาร์ที่คนนั้นถือไปปรับแต่งจนฝีมือคนนั้นพัฒนาถึงขั้นสูงสุด โดยแลกกับวิญญาณให้แก่ซาตาน

    (ความรู้จากผู้เขียน Deal with the Devil มีความหมายว่า การขายวิญญาณให้กับปีศาจ (แต่ผมจะเรียกว่า บุคคลที่ทำสัญญาปีศาจดีกว่า เพราะบางคนที่ขายวิญญาณไม่ใช่คนชั่วร้าย) การทำสัญญาของปีศาจปรากฏในวัฒนธรรมและพื้นบ้านของยุโรปเป็นเวลานาน มีความหมายว่าการทำสัญญาบุคคลระหว่างคนธรรมดากับซาตานหรือปีศาจตัวอื่นๆ โดยแลกเปลี่ยนจิตวิญญาณของตน(เช่น เด็กทารก เหยื่อสังเวย, การร่วมเพศ, ดวงวิญญาณของตน) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้,ทรัพย์สินหรืออำนาจ ทำให้บุคคลธรรมดาเหล่านั้นมีมันสมองและพละกำลังเก่งกาจเกินมนุษย์ทั่วไป

    การทำสัญญานั้นอาจใช้ได้หลายวิธี แต่ที่นิยมคือการทำสัญญาโดยวาจาและลายลักษณ์อักษร โดนจะมีพิธีกรรม โดยใช้เครื่องหมายในการเรียกปีศาจ โดยใช้เลือกหรือหมึกในการวาด ดังที่ปรากฏในหนังสือ กุญแจย่อยของโซโลมอน (Lesser Key of Solomon) หรือ คลาวิคิวลา ซาโลมอนิส (Clavicula Salomonis) ซึ่งเป็นตำราเวทย์ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเป็นหนังสือที่แพร่หลายที่สุดในปิศาจวิทยา รายละเอียดของภูตและการอัญเชิญเพื่อใช้งาน

    นอกจากนี้คำว่า “Deal with the Devil” ยังถูกใช้ในการประณามบุคคลที่ชั่วร้ายหรือระบอบการปกครอง เช่น ฮิตเลอร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เป็นต้น  โดยบุคคลที่เชื่อว่าได้ทำสัญญาณกับปีศาจมีดังต่อไปนี้

    -สมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2 (Pope Sylvester II) เกิด ค.ศ.945-ตาย 5/12/1003 เป็นพระสัมตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งใน ค.ศ.999 ถึง ค.ศ.1003 นอกจากนี้ท่านยังมีความรู้ความสามารถเก่งกาจเกินมนุษย์ทั่วไป เป็นผู้เชี่ยวชาญในคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ กลศาสตร์ ด้วยความเก่งทำให้มีข่าวลือว่าที่ท่านมีสติปัญญาและนักประดิษฐ์นี้เป็นผลมาจากการทำสัญญากับปีศาจ

    -นิคโคโล ปากานินี(Nicolo Paganini ) เกิด 27/10/1782-ตาย 27/5/1840เป็นนักดนตรีชาวอิตาลีที่มีพรสวรรค์ในการเล่นดนตรี ตอนเป้นเด็ก เขาถูกเลี้ยงดูโดยบิดาที่เจ้าอารมณ์และบังคับเขาเล่นไวโอลิน เขาเคยป่วยหนักด้วยโรคหัดจนใครๆ นึกว่าเขาตายแล้ว ร่างของเขาถูกห่อด้วยผ้าพันศพแต่ยังโชคดีที่ไม่ได้ฝังเขาไปเสียก่อน และหลังจากนั้นเป้นต้นมาเขาก็แสดงพรสวรรค์ด้านไวโอลินตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และแสดงต่อหน้าสาธารณะขณะอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น และเริ่มชื่อเสียง และ ได้รับการยอมรับถึงฝีมือการเล่นว่าเป็นที่หนึ่งในยุคนั้น ด้วยวิธีการเล่นที่เหนือมนุษย์ เทคนิคการเล่นไวโอลินแบบแปลก ๆ ไม่เหมือนใคร ทำให้ใครๆ ต่างลือว่าพรสวรรค์และความสามารถของเขาได้รับมาจากซาตาน  โดยทำสัญญาในขณะที่ใกล้ตายด้วยโรคหัดตอนเด็ก

    -เออร์เบน กรานเดียร์(Father Urbain Grandier)เกิด 1590-ตาย16/8/1634 บาทหลวงผู้อื้อฉาวพระคาทอลิกฝรั่งเศสที่ถูกตัดสินโดยการประหารโดยการเผา โดยข้อหาก่ออาชญากรรมด้วยมนต์คาถา เขาทำหน้าที่เป็นพระในโบสถ์ Sainte Croix ใน Loudun เขาเป็นที่รู้จักกันในเรื่องมักมากในกาม มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงและมีชื่อเสียงในเรื่องเจ้าชู้ ในปี 1632 แม่ชีหลายคนกล่าวหาว่า เขามีเวทมนต์จากการทำสัญญากับปีศาจเพื่อให้ได้ผู้หญิงที่ตนต้องการ)

      

    จนกระทั้งวันหนึ่ง ขณะที่อาร์เจอยู่ที่นอกบาร์และกำลังคั่วเมียชาวบ้านอยู่นั้น เขาเกิดได้ยินเสียงเพลงบลูส์ที่สุดยอดเพลงหนึ่งดังจากในบาร์ เขาถึงกับทิ้งภารกิจคั่วสาวเพื่อไปดูว่าใครเป็นคนเล่นเพลงนี้ เมื่อเขาไปในร้าน เขากลับพบว่ามีคนเล่นเพลงดังกล่าวหนีไป เหลือทิ้งไว้กับกีตาร์หนึ่งตัวเท่านั้น อาร์เจถามว่าใครเป็นคนเล่นเพลงบลูส์เมื่อกี้ เจ้าของร้านบอกว่าเขาชื่อ “บลูส์แมน” แต่ไม่เห็นเล่นบลูส์เก่งเหมือนที่เอ็งว่านี้ แต่อาร์เจเชื่อว่าเพลงบลูส์ที่เขาได้ยินนั้นมันสุดยอดที่สุดเท่าที่เขาได้ยินมา อาร์เจจึงอาสาที่จะเอากีตาร์ไปคืนเจ้าของ เขาออกนอกบาร์และไปตามทางที่ชายคนนั้นเดิน ระหว่างทางอาร์เจก็พบว่าเขาได้เดินไปสี่แยกครอสโร้ดสตรีทโดยไม่รู้ตัว

    (ความรู้จากผู้เขียน โรเบิร์ตมีชื่อเสียงเรื่องความเป็นเจ้าชู้)

     

    และแล้ววันที่อาร์เจได้ทำสัญญาณกับซาตานก็มาถึง เขาได้ทะเลาะกับนักดนตรีบูลส์รุ่นใหญ่ ในเรื่องที่อาร์เจไม่รู้เลยว่าบลูส์คืออะไร อาร์เจตอบว่า “ก็แค่ดนตรีธรรมดาเองนี้” แต่นักดนตรีบลูส์รุ่นพี่ฟิวส์ขาด เลยมีเรื่องกับอาร์เจ “แกมันเป็นแค่นักดนตรีธรรมดา และจะธรรมดาตลอดไป ตราบใดนายไม่เข้าใจความหมายของบลูส์ที่แท้จริง” อาร์เจได้ฟังแล้วฟิวส์ขาดเหมือนกัน ระหว่างที่สองฝ่ายทะเลาะไปมา อาร์เจก็พบว่าเขาอยู่ในสุสาน และที่นั้นเขาก็ได้พบกับเจ้าของเพลงบลูส์สุดยอดที่อาร์เจได้ยิน “บลูส์แมน”

    (ความรู้จากผู้เขียน มีตำนานเล่าว่าโรเบิร์ตได้ยินคนพูดว่า ให้กีตาร์ไปยืนที่สี่แยกใกล้ๆ โรงงานชื่อ Dockery ตอนเที่ยงคืน ที่นั่นเวลานั้นเขาจะได้พบกับปิศาจ ผู้ที่จะนำกีตาร์ของเขาไปปรับให้เล่นเพลงออกมาอย่างไรก็ได้ตามใจปรารถนา แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องมอบวิญญาณให้กับปิศาจไป ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่าเขาไปหรือไม่ เพราะไม่มีใครเห็น)

      

    หลังจากที่อาร์เจหายไปช่วงเวลาหนึ่ง อาร์เจก็กลับมาในบาร์แห่งนี้อีกครั้ง เขามาพร้อมเทคนิคและการเล่นเพลงบลูส์ที่เหนือชั้น จนนักดนตรีบลูส์รุ่นพี่แพ้ในการดวลกับเขาอย่างราบคาบ คนในร้านตกตะลึงเพราะที่ผ่านๆ มาอาร์เจเป็นเพียงนักดนตรีที่ไม่เอาไหนเท่านั้น แต่ไม่กี่วันมันเก่งขึ้นได้ไง นอกเสียจากว่ามันจะขายวิญญาณให้ซาตานเท่านั้น

    (ความรู้จากผู้เขียน หลายเดือนต่อมา โรเบิร์ตกลับมาและไปปรากฏตัวที่บาร์เต้นรำเล็กๆ ที่ผู้เฒ่าบูลส์สองคนที่คุ้นเคยกับเขาเล่นประจำอยู่ โรเบิร์ตได้รับการอนุญาตให้ขึ้นไปโชว์การแสดงได้และชทำให้ทุกคนต้องตะลึง เพราะฝีมือกีต้าร์ของเขาที่พัฒนาไปไกลมาก ชนิดที่ถูกบันทึกไว้ว่า  "ในวันที่เขาจากไปนั้นฝีมือกีต้าร์ของเขาเป็นเพียงเด็กอ่อนหัด แต่ไม่กี่เดือนให้หลังเขากลับมาพร้อมกับฝีมือกีต้าร์ระดับปรมาจารย์เลยทีเดียว”)

      

                    ขณะที่อาร์เจโชว์เทพดีดกีตาร์เสร็จเขาก็พบกับพี่สาวและพี่เขยเดินเข้าบาร์พอดี เขาร้องทักทายทั้งสอง แต่เขากลับโดนพี่เขยถีบกระเด็น แถมโดนด่าอีกว่า “ครึ่งปี เอ็งหายไปไหนมาว่ะ!!

                    อาร์เจตกใจเพราะเขาคิดว่าเขาหายไปเพียง 2-3 วันเท่านั้น เป็นไปได้ไงนี้เราหายไปถึงครึ่งปีเหรอนี้ ทำไมเราไม่รู้สึกตัวเลยล่ะ โดยเวลาดังกล่าวเขากำลังฝึกดีดกีตาร์กับชายที่ชื่อ “ไอค์” ที่สุสาน และแล้วอาร์เจก็ตกตะลึงอีกเมื่อพี่เขยบอกว่าเมียและลูกของเขาในท้องตายระหว่างคลอด

    (ภรรยาของโรเบิร์ตตายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1929 เสียชีวิตจากการคลอดบุตร และโรเบิร์ตได้แต่งงานครั้งที่สองในเวลาต่อมา)

      

    อาร์เจไม่มีหน้ากลับไปหาพี่สาวและพี่เขย เขาเลยตัดสินใจที่จะเดินตามทางฝันโดยการก้าวสู่จุดสูงสุดของนักดนตรีเพลงบลูส์ เขาอำลาเพื่อนสนิทของเขา ระหว่างทางมาส่ง เพื่อนของเขาสังเกตมีชายคนหนึ่งร่วมทางกับอาร์เจ เป็นชายผิวดำแก่ใส่ชุดสูทสีขาว ในขณะที่คนอื่นไม่เห็นชายดังกล่าวเลย หรือว่าชายดังกล่าวจะเป็น...”ซาตาน”

    (มีเรื่องเล่ากันว่า ผู้ทำสัญญากับปีศาจนั้น ปีศาจจะตามเป็นเพื่อนจนวาระสุดท้ายของชีวิต แม้ผู้ทำสัญญาณจะไม่มีมิตรและครอบครัว  ปีศาจก็จะอยู่เคียงข้าง เหมือนกับคำรับสารภาพของเอช. เอช. โฮล์มส์ (H.H. Holmes) ฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าคนมากที่สุดในอเมริกาว่าศีรษะและใบหน้าของฉันค่อยๆ เปลี่ยนรูปร่าง มันยืดยาวออกตามกาลเวลา ฉันเชื่อมาตลอดว่าเมื่อฉันโตเต็มที่หน้าของฉันจะคล้ายปีศาจ ความคล้ายคลึงอันนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ฉันชื่นชมมากกับความเชื่อนี้  จนมั่นใจว่าฉันไม่มีความเป็นมนุษย์ออกมาเจือปนอยู่ในตัว ช่วยไม่ได้ที่ฉันเป็นฆาตกรที่ไม่ต่างอะไรกับจินตกวีที่บันดารใจให้ร่างบทกลอน ฉันเกิดมาพร้อมกับปีศาจตนหนึ่ง มันยืนรอฉันข้างเตียงเพื่อสนับสนุนฉัน และนำทางให้ฉันกำเนิดขึ้นบนโลก ปีศาจตนนั้นอยู่เคียงข้างฉันตลอดมา)

      

    และแล้วการเดินทางเพื่อตามฝันของอาร์เจกับซาตานก็เริ่มต้นขึ้น และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นก็ไปซื้อการ์ตูนเรื่อง “ดนตรีที่มีวิญญาณ” ของสำนักพิมพ์สยามเอาเอง(จบเล่มที่ 1 )

    อย่างที่บอกครับการ์ตูนเรื่องนี้ดัดแปลงจากชีวประวัติของโรเบิร์ต จอห์นสัน (Robert Johnson) ราชากีตาร์บลูส์ ผู้ซึ่งนิตยสาร Rollingstone ได้จัดอันดับนักดนตรีคนนี้อยู่ที่ 5  ตลอดกาล จากมือกีตาร์ยอดเยี่ยม 100 คน

    ชื่อเสียงของ โรเบิร์ต จอห์นสัน นั้นโด่งดังมานานแล้ว ในการที่เขาเล่นกีต้าร์บูลส์ได้ดี ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน(ครึ่งปี) ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขาเป็นแค่นักดนตรีที่ไม่เอาไหน หากตัดทฤษฎีเขาทำสัญญากับซาตานแล้ว แสดงให้เห็นว่าโรเบิร์ตนั้นถือว่าผู้ลบล้างทฤษฎีที่ว่า การฝึกฝนให้เล่นดนตรีเก่งนั้นต้องใช้เวลายาวนาน

    แต่กระนั้นหลายคนก็ยังเชื่อว่าเขาทำสัญญากับปีศาจอยู่ดี เนื่องด้วยพฤติกรรมแปลกๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของเพลงที่เขามักร้องเกี่ยวข้องกับปีศาจซาตานเสมอ  แถมตอนบันทึกเสียง ว่ากันว่าเขาหันหน้าเข้าฝาผนังเล่นอีกต่างหาก  บางคนถึงขนาดกล่าวว่า ฝีมือกีต้าร์ของเขานั้นว่ามหัศจรรย์แล้ว แต่เสียงร้องของเขานั้นมหัศจรรย์ยิ่งกว่า..เพราะมันเหมือนกับเสียงของบางสิ่งบางอย่างที่อธิบายไม่ได้...  

    โรเบิร์ต จอห์นสัน ได้จบชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1938 ด้วยอาการเจ็บป่วย บางมีคำเล่าขานว่า เขาโดนวางยาในแก้วเหล้าจากผู้ชายลึกลับคนหนึ่ง ซึ่งขณะที่เขาเสียชีวิตนั้นเขามีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น! โดยสิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อมาคือการบันทึกบทเพลงทั้งสิ้น 29 เพลงในช่วงระหว่างปี 1936 – 1937 ที่ใช้เวลาในการบันทึกเพียงไม่กี่วัน และงานเพลงบูลส์แต่ละเพลงของเขาได้ถูกส่งไปยังชนรุ่นหลังได้นำมาดัดแปลงและได้นำมาร้องมาเล่นจนพัฒนาเป็นเพลงแนวใหม่หลายเพลงจนถึงปัจจุบัน

      

    Ore to Akuma no Blues อาจเป็นการ์ตูนที่ไม่ถูกใจสำหรับคนชอบเอามัน, เอาความโอเอะ เสพย์ฉากเซอร์วิสแน่นอน ภาพการ์ตูนค่อนข้างดิบเถื่อน แต่ไม่เป็นแบบลายเส้นอเมริกัน เพราะคนญี่ปุ่นวาดดังนั้นลายเส้นยังเป็นแบบมังงะของญี่ปุ่น แต่กระนั้นสีหน้าของตัวละครอาจจะหน้าตายไปนิด ฉากที่ดวลเพลงอาจแตกต่างจากการ์ตูนเรื่องอื่นๆ หน่อย คือ มันไม่มีบอลลูนเพลง หรือเสียงประกอบอะไรทั้งสิ้น มีแต่ภาพคนดีดกีตาร์หน้าใหญ่ๆ เท่านั้น

    แม้มีข้อเสียมากที่ผมตัดสินใจซื้อการ์ตูนเรื่องนี้ครับ รู้ไหมเป็นเพราะอะไร อย่างแรกคือจำนวนหน้าเยอะสะใจดี มีกว่า 250 หน้า หนากว่าการ์ตูนบางเรื่องอีก(ผมกัดเนชั่น) อีกทั้งการ์ตูนแนวประวัติชีวิตแบบนี้หายากครับ แถมมุกในการ์ตูนในเรื่องใช่ได้เลย มุกที่ว่าไม่ใช้จำพวกตลกโจ๊กคำหยาบอเมริกา หรือตลกแบบเวอร์ๆ นะครับ แต่จะเป็นแบบตลกชาวบ้าน ที่หนุ่มอาร์เจทำตัวเปิ่นๆ เช่นฉากอาร์เจขอเวอร์เจเนียแต่งงานนี้เป็นอะไรที่ฮ่าและรู้ไม่ถึงการณ์มากๆ

    จุดเด่นการ์ตูนเรื่องนี้คงจะเห็นไม่เกินฉากดวลเพลงของอาร์เจครับ แม่มันไม่มีบอลลูนเพลงหรือเสียงประกอบขนาดใหญ่มาบดบังภาพเหมือนการ์ตูนเรื่องอื่นๆ แต่หากผมดูภาพการ์ตูนแล้วมันเหมือนมีพลังครับ แบบว่าภาพมันใส่อารมณ์ของบลูส์จริงๆ เพราะว่าภาพจะตัดไปมากลับอาร์เจ, คนดวล, เหงื่อ, คนในร้าน, กีตาร์ ทำให้เสมือนว่าสู้รบท่ามกลางสนามรบที่วุ่นวายจริงๆ

    แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับการ์ตูนประวัติเทพๆ อย่างดร.โนงูจิ ด้วยใจนักสู้ ที่เขียนโดย อ. โตชิยูกิ มุสึ อาจเทียบไม่ได้ก็เถอะ แต่ว่าการ์ตูน Ore to Akuma no Blues มีบรรยากาศเหมือนเลย ไม่ว่าจะเป็น ยุคแห่งการเหยียดสีผิว, ไร่นา, ชนบท เรียกได้ว่าอเมริกาในตอนนั้นน่ากลัวอย่างบอกไม่ถูก จนเรียกได้ว่าซาตานน่ารักขึ้นมาทันใดเลย

    แน่นอนจุดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี้คือการพัฒนาจิตใจของอาร์เจ ไม่ว่าจะเป็นตอนแรกที่เป็นเพียงนักดนตรีเปิ่นๆ หลังทำสัญญากับปีศาจก็ยังเปิ่นอยู่ เพียงแต่ฝีมือทางดนตรีของเขาเพิ่มขึ้น หากแต่เก่งอย่างเดียวนั้นมันก็ไม่รอด มันจะต้องมุ่งมั่นด้วย ซาตานให้แค่ฝีมือ แต่ซาตานไม่ได้วางเส้นทางชีวิตอาร์เจเอาไว้ ดังนั้นเขาจำเป็นต้องสร้างทางเดินของเขาเอง แม้เส้นทางที่เขาจะเดินนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม ไม่ว่ากำแพงแห่งเชื้อชาติ, อิทธิพล, คู่แข่ง ซาตานไม่ได้ช่วยเขาหรือดันเขาอะไรเลย ซาตานแค่มองและเอาใจช่วยเฉยๆ จนเหมือนกับว่าสิ่งที่อาร์เจเห็นนั้นอาจเป็นเพียงจิตใจของเขาที่ชอบเพลงบลูส์หรือเปล่า??

    ผมชอบฉากที่อาร์เจพูดกับซาตานมากครับ ในขณะที่ทั้งสองกำลังฝึกเล่นกีตาร์อยู่นั้น อาร์เจก็พูดกลายๆ โดยหาว่าซาตานเป็นเหตุทำให้ชีวิตเดิมของเขาต้องพังลง แต่ซาตานตอบว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา แถมฝีมือของอาร์เจนั้นไม่ใช่เวทมนต์แน่นอนแต่เป็นการขยันหมั่นฝึกซ้อมต่างหาก แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่อาร์เจเก่งเพลงบลูส์นั้นไม่ใช่เพราะพรสวรรค์ หากแต่เป็นพรแสวงต่างหากที่ทำให้เขาเก่งกีตาร์

      

    การ์ตูนเรื่องนี้สอดแทรกสาระด้วยนะครับ และมีฉากนอกเหนือจากประวัติชีวิตของโรเบิร์ตด้วย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่อาร์เจเจอกับไคน์ บาโร่(เจอในปี 1930 ฉากการ์ตูนท้ายเล่ม) ผมก็มานึกคุ้นๆ กับชื่อนี้นะครับ ว่าเคยได้ยินที่ไหน พอย้อนมาดูฉากที่ไคน์กับคู่รักโดนยิงตายคารถก็รู้เลยว่าไคน์นั้นคือ ไคน์ แชมเปียน แบร์โรว์ (Clyde Barrow) ส่วนคู่รักก็บอนนี เอลิซาเบธ ปาร์คเกอร์ (Bonnie Parker) สองคู่หูอาชญากรแสนยิ่งใหญ่ ที่สร้างความป่วนให้ตำรวจทั่วทั้งเท็กซัสและรัฐใกล้เคียงของอเมรกามาตลอดระยะเวลา 1932-1934 และฉากดวลปืนที่ว่าก็เป็นฉากทางหลวงตัดผ่านแนวป่าใกล้กับเซลเลส ในหลุยส์เซียนา ที่เจ้าหน้าที่ดักจับตายสองคู่หนูนี้เลยก็ว่าได้ ส่วนปี 1930 ที่ไคน์พบอาร์เจนั้น เป็นช่วงที่ ไคน์กลับไปเยี่ยมเพื่อนเก่าที่เขตดัลลัสตะวันตก ที่นั้นเขาพบหวานใจบอนนีเป็นแรกและตกหลุมรักสาวเจ้าทันทีด้วย

    สรุปเลยละกัน ว่าคนที่คิดจะซื้อ Ore to Akuma no Blues ต้องถามใจตนเองก่อนว่าจะซื้อเพื่ออะไร หวังจะเห็นฉากเซอร์วิสกระจายนั้นไม่มีแน่นอน, ฉากบู๊ก็ไม่มี, ฉากเลิฟก็ไม่มี, ฉากโหดก็ไม่มี, ตัวละครโมเอะก็ไม่มี แต่หากใครชอบลายเส้นดิบๆ สื่อบรรยากาศสังคมที่โหดร้ายแต่น่าหลงไหล และซาตานที่แสนดีก็ลองสอยมาดูละกัน นับลองไม่ผิดหวัง(หรือโครตผิดหวังก็ไม่รู้นะ อันนี้ตัวใครตัวมัน)

    + +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×