ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #340 : (แลการ์ตูนไทย) ขายหัวเราะ-มหาสนุกมุกแป๊กจริงเหรอ?

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 5.9K
      6
      13 พ.ค. 58

    สำหรับบทความนี้เรามาพูดถึงเรื่องการ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุก หนึ่งในการ์ตูนที่ช่วงหลังๆ ที่ผมได้ยินหลายคนเม้นว่ามัน “มุกแป๊ก” บ่อยๆ ซึ่งมันจึงหรือไม่จริงนั้น ผมเลยซื้อการ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุกมาอ่าน (และว่าจะซื้อการ์ตูนตลกเจ้าอื่นๆ ด้วย)

    อย่างที่เห็น “แลการ์ตูนไทย” ได้พูดถึงการ์ตูนไทยหลายตอนแล้ว แต่ยังไม่พูดถึง การ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุก การ์ตูนไทยที่อยู่คู่กับประเทศไทยอย่างแท้จริงก็กระไรอยู่ ซึ่งผมเองเติบโตมากับการ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุก เรียกได้ว่าเท่าที่จำความได้ผมอ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว แม้อ่านไม่ออก (เพราะยังเป็นเด็กอายุไม่กี่ขวบ) แต่ดูแค่ภาพ ตัวละครทำหน้าตา หรือท่าทางที่ตลกก็ฮ่าแล้ว

    ทุกวันนี้ขายหัวเราะ-มหาสนุกฝังเข้าไปรากลึกสังคมไทยจริงๆ ครับ สมัยก่อนแบบเรียนผมก็มีการ์ตูนขายหัวเราะมุกของ “นิค” หรือไม่ก็ “ต่าย” มาให้วิเคราะห์ด้วยว่าทำไมตัวละครถึงทำแบบนั้น ไม่ก็การใช้ภาษาที่สื่อความหมายเป็นอีกอย่าง อะไรแบบนี้ จนถึงปัจจุบันการ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุกก็อินเตอร์มากขึ้นด้วยการขึ้นจอโทรทัศน์ เช่น “ปังปอนด์”, “สามก๊ก”, “ศึกบาสฯ” หรือแม้แต่ “หนูหิ่น” ก็มีคนเอามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้รับความนิยมพอสมควรด้วยซ้ำ

     

     

    สำนักพิมพ์บันลือสาส์น

     

    ขายหัวเราะ-มหาสนุกเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่มีบทบาทในวงการการ์ตูนไทยมาช้านาน จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากขายหัวเราะ-มหาสนุกแล้วก็ยังชุดการ์ตูนและนิยายที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น พล นิกร กิมหงวน, ปังปอนด์, หนูหิ่นอินเตอร์, สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ ฯลฯ

    (จากวิกิพีเดีย) สำนักพิมพ์บันลือสาล์นก่อตั้งโดยบันลือ อุตสาหจิต เมื่อปีพ.ศ.2498 ตอนแรกตีพิมพ์นิยายดังๆ อย่างทมยันตี, แก้วเก้า ก่อนที่จะเริ่มตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนชุดต่างๆ เช่น สิงห์เชิ้ตดำ, หนูป้อม - ลุงเป๋อ, หนูจ๋า, เบบี้, หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน โดยมีนักเขียนคนอื่นๆ ได้แก่ เศก ดุสิต, จำนูญ เล็กสมทิศ (จุ๋มจิ๋ม), วัฒนา เพชรสุวรรณ (วัฒนา, อาวัฒน์, ตาโต) เป็นผู้บุกเบิกการ์ตูน

    ในปี พ.ศ. 2516 วิธิต อุตสาหจิต บุตรชายคนโตของบันลือ (ขณะนั้นอายุได้ 18 ปี) ในฐานะบรรณาธิการ ได้ให้กำเนิดนิตยสารการ์ตูนชื่อ "ขายหัวเราะ" ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนตลกรูปแบบการ์ตูนแก๊กแบบ 3 ช่องจบ โดยรวบรวมผลงานจากนักเขียนการ์ตูนหลายคนไว้ในเล่มเดียว นิตยสารดังกล่าวได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ในปี พ.ศ. 2518 วิธิตจึงได้ออกนิตยสารการ์ตูนอีกเล่มหนึ่งชื่อ "มหาสนุก" ซึ่งมีรูปแบบเนื้อหาที่คล้ายกันกับขายหัวเราะ แต่ได้มีการเพิ่มการ์ตูนเรื่องสั้นไว้ในนิตยสารฉบับนี้ด้วย นิตยสารทั้งสองเล่มได้กลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ เช่น นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์ (นิค), ภักดี แสนทวีสุข (ต่าย), ผดุง ไกรศรี (เอ๊าะ) ฯลฯ และการ์ตูนยอดนิยมชุดต่างๆ เช่น ปังปอนด์, สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่, หนูหิ่นอินเตอร์ และยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

     

     


    ขายหัวเราะ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

     

    ขายหัวเราะในสมัยเริ่มแรกนั้นมีรูปเล่มขนาดใหญ่เท่ากระดาษ A4 ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 จึงได้เริ่มปรับขนาดหนังสือให้เล็กลง โดยใช้ชื่อหนังสือเล่มเล็กว่า "ขายหัวเราะฉบับกระเป๋า" มีขนาดเท่ากระดาษ B5 ซึ่งเป็นขนาดของหนังสือขายหัวเราะในปัจจุบัน แต่ขายหัวเราะฉบับเดิมยังคงขายอยู่ ส่วนขายหัวเราะฉบับเดิมก็ยังคงพิมพ์ต่อไป จนกระทั่งมีการยกเลิกในเวลาต่อมา เหลือเพียงขายหัวเราะฉบับกระเป๋าเท่านั้น

    ราคาขายของขายหัวเราะในสมัยเล่มใหญ่นั้นอยู่ที่ 5 บาท (ต่อมาได้เพิ่มเป็น 6 และ 7 บาท) ต่อมาเมื่อมีการปรับขนาดลงมาเป็นฉบับกระเป๋า จึงมีการปรับราคาหนังสือใหม่เป็น 10 บาท ภายหลังจึงขึ้นราคาเป็น 12 บาท และ 15 บาท (ราคาปัจจุบัน ปรับขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549) ตามต้นทุนการผลิต

    ในตอนแรกๆ นั้นนิตยสารเดิมกำหนดออกเป็นรายปักษ์ (ราย 15 วัน) ภายหลังจึงปรับให้ออกเป็นรายสิบวันและรายสัปดาห์พร้อมกับมหาสนุก โดยขายหัวเราะมีกำหนดออกในวันอังคาร ส่วนมหาสนุกออกจำหน่ายในวันศุกร์ ต่อมาจึงปรับกำหนดออกอีกครั้งให้เป็นวันพุธทั้งสองฉบับในเดือนเมษายน พ.ศ. 2541

    นอกเหนือการ์ตูนแก๊ก 3 ช่องจบแล้ว ขายหัวเราะก็ยังมี การ์ตูนแซว, การ์ตูนช่องเดียวจบ (หน้าละสองช่อง,  เรื่องสั้น (เน้นไปทางหักมุม ไม่ถึงกับตลก),  มุมมุกตลกขำขัน, ภาพตลกจากต่างประเทศ สาระน่ารู้ต่างๆ และบางครั้งก็มีการ์ตูนสั้นไม่กี่หน้าจบด้วย

     

     

    มหาสนุก  (ภาพจากวิกิพีเดีย)

     

    ทางด้านมหาสนุกนั้นก็เป็นนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ซึ่งได้รับนิยมพอๆ กับขายหัวเราะ โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518

    มหาสนุกนั้นมีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายคลึงกับนิตยสารขายหัวเราะ (โดยทีมงานนักเขียนการ์ตูนในนิตยสารเล่มนี้ใช้ทีมเดียวกับที่เขียนในขายหัวเราะ) แต่ส่วนที่ต่างไปจากขายหัวเราะคือ มีเรื่องการ์ตูนสั้นในมหาสนุก จากฝีมือของนักเขียนการ์ตูนบรรลือสาส์นลงพิมพ์ฉบับละ 2 เรื่อง หากการ์ตูนชุดใดที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากก็จะได้รับการตีพิมพ์เป็นนิตยสารรวมเล่มในชื่อชุด "มหกรรมมินิซีรีส์" เริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2535 ซึ่งการ์ตูนบางชุดก็ยังคงได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาอย่างต่อเนื่องและมีการตีพิมพ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การ์ตูนชุด "ไอ้ตัวเล็ก", "บ้าครบสูตร" และ "สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่"

    นอกจากนี้ในท้ายเล่มมหาสนุกยังมีเกมชิงรางวัลรูปแบบต่างๆ และการตอบจดหมายของผู้อ่านโดยนักเขียนการ์ตูน (ปัจจุบันได้มีการเลิกตีพิมพ์หน้าตอบจดหมายแล้ว) จากนั้นได้เพิ่มอีก 3 เกม อย่างเช่น "คิดดีๆ มีรางวัล" "ตาไวๆ ได้รางวัล" และ "ปริศนาอักษรไขว์"  ด้วย และทั้งหมดนี้คือขายหัวเราะและมหาสนุกที่เรารู้จัก

     แม้ว่าขายหัวเราะและมหาสนุกจะอยู่คู่กับการ์ตูนไทยมานาน จนพูดเต็มปากว่าเป็น “วอล์ท ดีสนีย์ของประเทศไทย” แลวก็ตาม แต่ช่วงหลังๆ ผมมักเห็นคนรุ่นใหม่ (กับคนรุ่นเก่า) มาตั้งกะทู้หัวข้อประมาณว่า “ยังอ่านขายหัวเราะ” อยู่หรือเปล่า? ซึ่งมีความคิดเห็นหลากหลาย หลายคนก็ให้คความเห็นว่าชอบคนโน้นคนนี้ ในขณะที่บางคนให้ความเห็นว่า “มุกแป๊ก” บ้างละ “ไม่ขำเหมือนก่อน” บ้างละ?

     

    การ์ตูนแก๊กช่องเดียวจบ (ต่าย) http://talk.mthai.com/topic/8767


        

     ขายหัวเราะ-มหาสนุกมุกแป๊กจริงหรือ?

    หากเอาความคิดเห็นของผม ขายหัวเราะ-มหาสนุกอาจไม่ใช่การ์ตูนที่มีมุกอ่านแล้วขำขี้แตกขี้แตน ขำกลิ้งอะไรมากมาย  อารมณ์ประมาณว่าขำ หึ หึ อ่านไปเรื่อยๆ สนุกใช้ได้ อ่านซ้ำหลายรอบ ฆ่าเวลา และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปได้เป็นอย่างดี

    ตอนผมสมัยประถม ผมก็เคยเห็นเพื่อนคนหนึ่งอ่านขายหัวเราะแล้วหัวเราะเหมือนกัน ผมก็แปลกใจเหมือนกันนะว่ามันขำบ้าจี้ขนาดนั้นเลยเหรอ? บางทีอาจเป็นเพราะรสนิยมของคนด้วยละมั้ง

    อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของขายหัวเราะ-มหาสนุก คือบรรดาการ์ตูนแก๊กหลายมุกจากฝีมือนักเขียนมากมายในสังกัดที่เข้าถึงคนไทย ส่วนใหญ่มักเป็นของเมืองไทย เศรษฐกิจ การเมือง หรือกระแสความนิยมต่างๆ ในสังคมไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น เมียดุ  ละครหลังข่าว  พฤติกรรมวัยรุ่น คำอีสาน เพลงลูกทุ่ง ฯลฯ

    นอกจากนี้ยังมีการแซววรรณกรรมไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี, ไกรทอง, พระลอตามไก่ ฯลฯ เป็นต้น ยังไม่มีมุกเฉพาะ (มุกหากิน) อย่าง โจรมุกตึก, นรก (ต้นงิ้ว กระทะทองแดง)

    ที่พิเศษคือ มีกมุกแซวนักเขียนแบบกันเอง (เผาแบบนั่งยางเลยทีเดียว) แต่ที่สุดๆ คือ การเอาเจ้านายของตน อย่าง บก. บก.วิติ๊ด หรือ บก.วิธิต มาล้อเลียนอย่างสนุกสนาม เช่น อ้วน เผด็จการ ขี้เหนียว ฯลฯ (ตัวจริงเป็นคนผอม) ด้วยเอกลักษณ์อ้วนตี๋แว่นหนาเต๊อะจนกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยในขายหัวเราะ-มหาสนุกไปแล้ว (ความจริงมันก็ไม่ได้แปลกอะไรสักเท่าไหร่ เพราะประเทศญี่ปุ่น นักเขียนการ์ตูนบางคนก็มีการเอาบรรณาธิการ หรือไม่ก็ผู้รับผิดชอบต้นฉบับ ไปจนถึงบริษัทค่ายการ์ตูนที่สังกัด มาล้อเลียนในการ์ตูนของตนเองบ่อยๆ (อย่างเรื่อง ซาโยนาระ คุณครูผู้สิ้นหวัง))

    ส่วนที่เหลือเป็นเอกลักษณ์ของคนวาดการ์ตูน (หากญี่ปุ่นเราเรียกคนวาดการ์ตูนว่าอาจารย์ แต่บ้านเราเรียก “พี่” เพื่อแสดงความสนิทสนมมากกว่า) ซึ่งเชื่อเลยว่าหลายคนรู้จักนักเขียนการ์ตูนขายหัวเราะและมหาสนุก ชนิดว่า แค่เห็นลายเส้นรู้เลยว่าใครเป็นคนวาด

    ต่าย-แม้ลายเส้นจะเรียบง่าย แต่ก็สร้างสรรค์  ชอบเล่นมุกใกล้ตัว เช่น เมียดุ ไปจนถึงมุกบ้านเมืองตามกระแสได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของขายหัวเราะ-มหาสนุกไปแล้ว

    นิค-หนึ่งในนักเขียนระดับเดียวกับต่าย มักเล่นมุกเกี่ยวกับชาวบ้าน บางมุกล้ำมาก ต้องใช้เวลาพอสมควรถึงจะเก็ทมุก

    หมู-นักเขียนเก่าแก่อีกคน ที่การ์ตูนสั้นมีจุดเด่นคือตัวละครสนทนาโต้ตอบยาวชนิดบางคนมาอ่านอาจหลับได้เหมือนกัน มุกนี้ต้องคิดหลายชั้นจึงเข้าใจ มีผลงานเก่น “สามก๊ก” ที่คอล์มหนึ่งให้ชมว่าเป็นสามก๊กที่ดีที่สุดเท่าที่อ่านมา และยังถูกนำมาสร้างเป็นแอนิเมชั่นด้วย

    ปุ๋ย –  สร้างสรรค์ จิกกัดสังคมไทย (บางครั้งก็จัดกัดการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย) มัน ฮ่า หักมุมตลอด และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นนักเขียนที่ผมค่อนข้างชอบคนหนึ่ง

    เฟน – แม้จะเป็นนักเขียนที่มีผลงานใหญ่ๆ อย่าง สาวดอกไม้กับนายกล้วยไข่ที่ยังคงขายดีปัจจุบัน เน้นเรื่องสั้นแซวละคร เรื่องยาวรามเกียรติ์, เทพกรีก แต่มุกตลกนั้นไม่ค่อยตลก หรือขำมากนัก (ปัจจุบันไม่ได้วาดขายหัวเราะ-มหาสนุก)

    เอ๊าะ – นักเขียนเก่าแก่อีกคน เด่นเรื่องมุขแอบทะลึ่ง วาดสรีระผู้หญิงได้ดี มีผลงานเด่นๆ หนูหิ่นอินเตอร์

    ขวด – แม้ลายเส้นจะง่ายๆ แต่ได้รับความนิยมเกินคาด อีกทั้งยังมีผลงานในนสพ.เดลินิวส์ ล้อการเมืองมาแล้ว

    ป้อม-ส่วนตัวผมก็ไม่ค่อยขำกับคนเขียนคนนี้นะ แต่วาดเรื่องสั้นแซวหนังโรงให้น่าจดจำเหมือนกัน

    มะเดี่ยว-ส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างชอบผลงานของคนเขียนคนนี้นะครับ เพราะลายเส้นง่ายๆ แต่วาดตัวการ์ตูนน่ารักดี โดยเฉพาะตัวละครหญิง

    ส่วนอาวัฒน์ กับ อาจุ๋มจิ๋มผมไม่ขอกล่าวถึงครับ

    ฯลฯ

    พูดง่ายๆ คือหลายคนที่ซื้อขายหัวเราะ-มหาสนุกส่วนหนึ่งก็เพราะอยากอ่านผลงานของนักเขียนเด่นๆ มุกขำหรือไม่ขำก็ส่วนหนึ่ง คือเราดูตั้งแต่เด็ก จนบางคนติดลายเส้น-เอกลักษณ์ของนักเขียนไปแล้ว อย่างผมเองก็ติดใจผลงานของคนเขียนหลายคนเหมือนกัน

    ขายหัวเราะ-มหาสนุกนั้นเป็นไม่กี่สำนักพิมพ์ที่เกี่ยวกับการ์ตูนไทยๆ ที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน หากใครเป็นคนรุ่นเก่าก็พอรู้ว่าสมัยก่อนนอกจากขายหัวเราะ-มหาสนุกแล้ว ก็ยังมีสำนักพิมพ์อื่นๆ พยายามทำการ์ตูนแก๊กสามช่องจบแข่งบ้าง อย่าง ตลาดตลก, ซื้อหัวเราะ, สบายหัวเราะ, ขายยิ้ม ฯลฯ ว่าสำนักพิมพ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มักล้มหายตายจากวงการหลายเจ้า  บ้างก็เจ๊ง เลิกพิมพ์ บ้างได้กำไรก็เลิกกิจการหนีหายไปเลย บ้างก็ยังคงตีพิมพ์อยู่แต่ไม่ดังหรือเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางมากนัก (เท่าที่รู้ปัจจุบันก็ยังเห็นหลายเจ้าทำการ์ตูนแก๊กเหมือนกัน ขายในเซเว่น  ขณะที่บางเล่มหน้าเกลียดมากเพราะลอกลายเส้นของนักเขียนขายหัวเรา-มหาสนุก ไปจนถึงลอกมุกเลยก็มี)

    รายละเอียดสามารถดูอดีตคู่แข่งขายหัวเราะ-มหาสนุกเจ้าอื่นๆ ได้ที่ http://www.dek-d.com/board/view/1339229/

     เรียกได้ว่าขายหัวเราะ-มหาสนุกจะเป็นหนึ่งในศักดิ์ศรีของการ์ตูนไทยอย่างแท้จริง ในขณะที่การ์ตูนผีเล่ม 1 บาท (5-15 บาท) ถูกดูถูกว่าลายเส้นโบราณ การ์ตูนไทยสไตล์มังงะก็โดนว่าไม่ไทยเลย (แล้วอะไรคือไทยแท้ละ?) แต่ขายหัวเราะ-มหาสนุกยังคงมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองอยู่เหมือนเดิม

    แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลายคนและผมเองรู้สึกเป็นห่วงขายหัวเราะ-มหาสนุกเหมือนกันว่ามันอาจไม่สดใสเหมือนในอดีตอันรุ่งเรือง เพราะมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกขายหัวเราะ-มหาสนุกไม่สนุกเหมือนแต่ก่อน หากไม่ปรับปรุงคุณภาพแล้วละก็อาจสายเกินไปก็ได้ เป็นต้นว่า

    -เรื่องมุกแป๊กนั้น ผมไม่ได้ซีเรียส เพราะจุดขายของขายหัวเราะ-มหาสนุกไม่ได้อยู่ที่มุกตลกฮ่าขี้แตกอยู่แล้ว (หากฮากฮ่าบ้าๆ ก็ต้องเป็นมุกที่ค่อนข้างดิบ หยาบ ล้อเลียนแรงๆ หรือหักมุม ซึ่งระดับนี้ต้องสร้างเรื่องราว หรือมักใช้ในการแสดง (น้ำเสียง ท่าทาง หน้าตาคนแสดง) มากกว่า การ์ตูนแก๊กสามช่องมันไม่ได้เอื้อให้ทำแบบนี้ได้ ซึ่งนานๆ จะมีมุกการ์ตูนตลกที่ว่าสักครั้ง) แต่ปัญหาคือช่วงมุกไม่ขำเลย   คือมันเป็นมุกสูตรเดิมๆ เดาทางได้ รู้ว่ามันจบยังไง บางทีอาจเป็นเพราะคนอ่านอายุมากด้วยละมั้ง

    -เริ่มมีการเอาแก๊กเก่ามาลงพิมพ์ใหม่ บางนักเขียนก็เล่นมุกซ้ำ จนดูมักง่ายเกินไป  

    -หลังๆ ขายหัวเราะ - มหาสนุก บางที ก็เล่นมุขเฉพาะกลุ่มมากไปหน่อย  หรือรู้แค่วงใน

    -ในขณะที่เด็กบางนบอกว่ามุขตลกของขายหัวเราะ+มหาสนุก หลายๆ มุขก็ไม่เหมาะกับเด็กสักเท่าไหร่ บางทีเด็กๆอ่านอาจจะไม่เก็ตมุข  ทำความช่วงหลังๆ ขายหัวเราะ-มหาสนุกลดความความเป็นผู้ใหญ่ลงเพราะเจาะกลุ่มเด็กมากขึ้น  แต่กลายเป็นว่ากลุ่มผู้ใหญ่ที่อ่านไม่ปลื้มด้วย

    -มุกหากินเรื่องเมียดุ, พระอภัยมณี กำลังจะหายไป (บางทีไม่รู้จะเอามาเล่นมุกอะได้แล้วละมั้ง )

    -การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตที่หลายคนเล่มห่างจากการซื้อนิตยสาร หันมาดูการ์ตูนทางเน็ตแทน

    -การ์ตูนตลกทางเน็ต เริ่มเป็นที่นิยม ยิ่งการ์ตูนแนวตลกแล้วก็มีหลายเจ้า ในเพจบุ๊ค ให้ได้อ่านทุกวัน  แถมแต่ละคนมีลูกเล่นชั้นเชิงในการนำเสนอ บางคนเน้นล้อเลียนการ์ตูนญี่ปุ่น บางคนล้อเลียนสังคมไทยแบบแรงๆ บางคนก็ล้อดราม่า ซึ่งเป็นมุกที่ขายหัวเราะ-มหาสนุกไม่สามารถทำได้ เพราะตามไม่ค่อยทัน (หากเล่นแล้วก็ถูกหาว่าเฉพาะกลุ่มอีก)

    -นักเขียนใหม่ที่มาแทนนักเขียนรุ่นเก่านั้น ไม่ดีพอ ซึ่งหลังจากที่ผมซื้อเล่มล่าสุดมาอ่าน โอเค เรื่องมุก ผ่านๆ ผมไม่ขอวิจารณ์ แต่ปัญหาคือเอกลักษณ์ของลายเส้น ที่ยังไม่เป็นตัวของตนเอง บางคนนั้นลายเส้นดุจดั่งการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นซึ่งผมกลัวเรื่องพวกนี้จะกลายเป็นเสียงบ่นของคนอ่านบางคนได้

    -เรื่องสั้นในมหาสนุกช่วงหลังๆ ไม่ขำเลย จนทำสงสัยว่ามันเป็นการ์ตูนตลก หรือการ์ตูนเล่าเรื่อง บางเรื่องมีเป็นซีรีย์ หากพลาดไปเล่มหนึ่ง งง เลยทีนี้

     -การเข้ามาของการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีมากขึ้น ซึ่งจุดเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่นที่การสร้างเรื่องให้น่าติดตามตลอด ในขณะที่ขายหัวเราะ-มหาสนุกถึงจำกัดเรื่องเหล่านี้

                -การเปรียบเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่นแนวตลก-การ์ตูน 4 ช่อง ที่มีไอเดียสร้างสรรค์กว่า บางเรื่องตลก บางเรื่องแม้อ่านขำๆ แต่ก็ขายตัวละครที่น่ารักโมเอะ ทำให้คนแทบไม่สนมุก ดูตัวละครน่ารักเป็นพอ

                สิ่งเหล่านี้ขายหัวเราะ-มหาสนุกต้องมองให้ออก และต้องปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป

    อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าขายหัวเราะ-มหาสนุกจะไม่ทราบปัญหาเหล่านี้ ไม่งั้นคงไม่ยืนยงยาวนานจนถึงปัจจุบันได้หรอก อย่างที่เห็นขายหัวเราะ-มหาสนุกเองก็พยายามที่จะปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัครขึ้น เริ่มมีบริการผ่านมือถือ อ่านการ์ตูนอ่านอี-บุ๊ค และการทำอนิเมะปังปอนด์เพื่อให้ดูทันสมัย และพยายามให้นักอ่านคนรุ่นใหม่ อย่างเด็กเล็กๆ มาอ่านมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันขายหัวเราะ-มหาสนุกก็อย่าลืมทิ้งนักอ่านรุ่นเก่าที่ติดตามมานานด้วย

                สรุปคือ ขายหัวเราะ-มหาสนุกนั้นก็มีบ้างที่ มุกแป๊ก มุกไม่ได้เรื่อง แต่ส่วนมากไปได้เพราะเอกลักษณ์ของคนเขียน อ่านเอาขำๆ  ส่วนมีเรื่องถูกใจ ไม่ถูกใจที่หลายคนบ่นๆ  เพราะกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับเข้ากับยุคสมัยใหม่ ที่ต้องการเจาะกลุ่มคนอ่านใหม่ๆ การหานักเขียนการ์ตูนฝีมือดี ซึ่งผมเชื่อว่าขายหัวเราะ-มหาสนุกก็ยังคงเป็นตำนานการ์ตูนไทยที่มีลมหายใจต่อไปอีกนานเท่านานครับ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×