ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #274 : ดูเรื่อง BOOM แล้วมองดราม่าลิขสิทธิ์ไทย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.41K
      2
      27 มี.ค. 57

                    เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวดังที่หลายคนใจหายสำหรับวงการการ์ตูน เกิดขึ้นในบ้านเรา นั้นคือข่าวการปิดตัวของการ์ตูนรายสัปดาห์ BOOM (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า “บูม” เพื่อความสะดวกในการเขียนน่ะครับ)  ซึ่งจะปิดตัวหลังสิ้นเดือนมีนาคม 2014

    บูม (Boom) เป็นหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ เจ้าของคือสำนักพิมพ์เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ (NED จนหลายคนเอามาล้อว่า “นีท”) ในเครือเนชั่น กรุ๊ป เชื่อว่าคนที่เป็นนักอ่านการ์ตูนไทย หลายคนคงรู้จักบูม เพราะบูมเป็นนิตยสารการ์ตูนเก่าแก่ที่อยู่คู่ฟ้าเมืองไทยมานาน 20 ปี จำได้ว่าบูมเปิดตัวในขณะที่ประเทศไทยเราลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนอยู่ในช่วงตั้งไข่อยู่

    ตอนนั้นบูมเป็นการ์ตูนรายสัปดาห์ที่หลายคนรู้จัก เพราะว่าเป็นนิตยสารที่มีการ์ตูนลิขสิทธิ์ดังหลายเรื่อง โดยบูมเล่มแรกวางแผงเมื่อปี 1994 โดย 6 เรื่องแรกของ บูมคือ Dragon Ball (ภาคจอมมารบู), Slam DunkJoJo (ภาค 4), ทาร์จังเจ้าป่า, Boy และ Lucky Man  ซึ่งทุกเรื่องเป็นการ์ตูนที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ (และอุลตร้าจัมป์) ของสำนักพิมพ์ชูเอฉะ ประเทศญี่ปุ่น

     

     


    บูมเล่มแรก
    ภาพจากพันทิป
    http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2011/08/A10930955/A10930955.html

     

    หลังจากนั้นบูมก็ยังมีลิขสิทธิ์การ์ตูนดังมากมาย หลายเรื่องกลายเป็นตำนานไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เดธโน้ต (Death Note), ปริ๊นซ์ ออฟ เทนนิส (Prince of tennis), อายชีลด์ 21 ไอ้หนูไต้ฝุ่นมะกันบอล (Eyeshield 21), ฮิคารุเซียนโกะ (Hikaru no go) ฯลฯ

    ปัจจุบันการ์ตูนที่ตีพิมพ์ลงบูมอยู่ก็มีเรื่อง Bleach เทพมรณะ, นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ (Naruto), อภัยมณี Saga, มีดที่ 13, เรียล (Real), Joe the Sea-cret Agent (ปลาหมึกนักสืบ), ฮันเตอร์ X ฮันเตอร์ (HunterXHunter), โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ภาค 8 (เดือนละตอน), เอ็กซ์โซซิสท์พันธุ์ปีศาจ (Blue Exorcist),โซลแคชเชอร์สไซคิหนุ่มพลังจิตอลเวง และเวิลด์ทริกเกอร์

    อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเปลี่ยนไป เนชั่นต้องผจญอะไรหลายๆ อย่างมากมาย และนั้นเองทำให้บูม การ์ตูนรายสัปดาห์ที่อยู่แผงหนังสือมานานต้องปิดตัวลง

    ปกติแล้วการปิดสำนักพิมพ์หรือการทำนิตยสาร มักเกิดขึ้นกะทันหันไม่ได้ตั้งตัวเสมอ เพราะเป็นการตัดสินใจของผู้บริหารลงมา ส่วนฝ่ายผลิตที่ดูแล หรือทีมงานที่เกี่ยวข้องนั้นยังรู้หลังกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ

    แน่นอนใครที่อ่านข่าวนี้ใจหายมาก โดยเฉพาะคนที่อายุมากๆ หน่อย เพราะหลายคนเติมโตมาพร้อมกับบูมก็ว่าได้

    ส่วนตัวผมแล้ว ทำรู้จักบูมมานาน แต่ยอมรับว่าไม่เคยเสียเงินซื้อบูมแม้แต่บาทเดียว หากแต่ได้มาจากญาติเอามาให้เป็นกล่อง ก็ได้รู้จักบูมตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งปกติแล้วผมไม่ได้อ่านการ์ตูนรายสัปดาห์ แต่นิยมซื้อแบบรวมเล่มมากกว่า

    แน่นอนเมื่อบูมปิดตัวลง หลายคนก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นว่า อะไรที่เป็นสาเหตุที่การ์ตูนรายสัปดห์ที่เคยยิ่งใหญ่ต้องยัติบทบาทลง แน่นอนว่าประเด็น “การสปอย”  (ขอพูดเรื่องนี้ทีหลัง) และ “แสกนดิบ” ซึ่งถือว่าเป็นดราม่าประจำในวงการการ์ตูนถูกนำหยิบยกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ว่าสองสิ่งนี้เป็นผลดีหรือผลร้ายในวงการการ์ตูน และลิขสิทธิ์ไทยกันแน่?

    ก่อนที่จะพูดเรื่อมบูมต่อ ขอพูดอะไรนิดหน่อย หากพูดถึงดราม่าเกี่ยวกับวงการการ์ตุนนี้  โดยหลักๆ ดราม่าการ์ตูน ที่เมื่อหยิบมาเมื่อไหร่มีอันต้องถกเถียงไม่รู้จบ (ไม่เคยได้ข้อสรุปสักที) ที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือดราม่า ด่าโอตากุ (ซึ่งจะพูดในอีกบทความเต็มๆ ต่อไป) และต่อมาก็คือ “แจกฟรี แบ่งบั่น” (รวมถึงปลิง), ก็อปลอก, ด่าห่วย,  การสปอยและแสกนดิบ

    ปกติแล้ว การ์ตูนของเนชั่นนั้นจะเป็นการ์ตูนจัมป์ ซึ่งส่วนมากผู้ติดตามจะเป็นเด็กและเยาวชนเป็นหลัก ซึ่งสเน่ห์ของการอ่านการ์ตูนจัมป์คือความสดใหม่ ที่อยากติดตามต่อว่าตอนหน้าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการ์ตูนดังที่มีเนื้อหาติดตาม ยิ่งเมื่อถึงช่วงไคแม็กซ์ ยกตัวอย่างวัชพีชเมื่อถึงช่วงบู๊กัน ก็จะเรียกความสนใจคนดูเป็นจำนวนมาก ชนิดว่าจดจ่อตอนต่อตอน พอตอนเก่าจบ หลายคนก็ตั้งตาคอยจะดูตอนใหม่ รอที่จัมป์เล่มใหม่วางแผงอีก และเมื่อเล่มใหม่ออกมา หลายคนก็รีบซื้อมาอ่าน เพื่อรู้เนื้อหาตอนต่อไปว่าเป็นอย่างไร

    นี่คือสเน่ห์ของจัมป์ เรามักเห็นเด็กที่รีบซื้อจัมป์เพื่ออ่านตอนใหม่ก่อนใครเขาเพื่อน จนเป็นเรื่องปกติของที่นั้น แต่บ้านเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะบ้านเราเป็นประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่น การที่จะดูการ์ตูนจัมป์ได้นั้นมีเพียงไม่กี่ทาง คือ ทางลิขสิทธิ์รายสัปดาห์และรวมเล่ม (ไม่นับไพเรทที่มัดรวมหนาๆ) และทางอินเทอร์เน็ต

    สำหรับลิขสิทธิ์นั้นหลายคนคงรู้แล้วว่า  ลิขสิทธิ์การ์ตูนในจัมป์ถูกจัดการแบ่งแยกออกไป โดยสองสำนักพิมพ์หลักๆ คือเนชั่น และสยาม (วิบูลย์กิจและบงกตมีไม่กี่เรื่อง)  และหากสำนักพิมพ์บ้านเราซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนเรื่องนั้นมาแล้ว เมื่อถึงขั้นตอนเอามารวมเล่มวางแผงนั้นจะช้ากว่ารวมเล่มของประเทศญี่ปุ่นมากๆ (จะมากน้อย หรือโครตนาน ขึ้นอยู่กับความดังของการ์ตูนเรื่องนั้น การตัดจบ และปัญหาที่ตามมาของการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ด้วย เช่น มีฉากเรตเจอดอง, เรื่องมากของคนแต่งดอง, ต้นฉบับที่ส่งมาช้า, เปลี่ยนสำนักพิมพ์ ฯลฯ)

                    ส่วนการ์ตูนรายสัปดาห์ของไทย แม้จะเร็วกว่ารวมเล่มก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นแล้ว ก็ถือว่าช้าอยู่ดี (ช้าไปหลายตอนด้วยซ้ำ ) หากแต่สมัยก่อนนั้น อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้แพร่หลาย (ไม่มีด้วยซ้ำ) ทำให้ข่าวคราวการ์ตูนไม่ได้รวดเร็วมากนัก นอกจากนี้การ์ตูนก็ไม่หลากหลาย (อีกทั้งไลท์โนเวลยังไม่เกิด) ทำให้เนชั่นยังไม่มีปัญหาอะไรมากนักในเวลานั้น บูมยังคงขายได้เรื่อยๆ และมีอยู่ทั่วไปในแผงหนังสือ

     

     

    สปอยคูรูรินตาย ดราม่าในตำนานของไทย (สามารถอ่านได้ที่เว็บจ่า)

     

    อย่างไรก็ตามเมื่อโลกเปลี่ยนไป การสื่อสารทันสมัยขึ้น อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อสังคมของมนุษย์ ทำให้การรับข่าวสารรวดเร็วฉับไว ทันโลก ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวกีฬา ข่าววีดีโอเกม ข่าวธุรกิจ การเมือง การต่างประเทศ เราสามารถรู้ข่าวเหล่านี้ได้อย่างก่อนใคร เพียงแค่คลิปหน้าจอ แล้วอ่านเท่านั้น

    แน่นอนว่าข่าวสารวงการการ์ตูนก็มีรวดเร็ว ชนิดว่าสดๆ ร้อนๆ จากแดนญี่ปุ่นต้นตำรับเลยก็ว่าได้ คุณสามารถรับรู้ข่าวสารการ ประกาศอนิเมะใหม่, คนพากย์แต่งงาน, ข่าวคราวว่าตอนนี้คนเขียนการ์ตูนเรื่องนั้นเป็นยังไงบ้าง, อะไรกำลังฮิต, แฟชั่น ฯลฯ รู้ก่อนคนญี่ปุ่นบางคนแท้ๆ ด้วยซ้ำไป

    และนอกเหนือจากข่าวสารวงการการ์ตูนแล้ว อินเทอร์เน็ตยังสามารถทราบ/อ่านการ์ตูนมังงะ และดูอนิเมะตอนใหม่ๆ ก่อนลิขสิทธิ์ไทยด้วยซ้ำ ในรูปแบบสปอย และสแกนดิบ

    "สปอย (Spoil)" ตามภาษาการดูสื่อบันเทิงแล้ว สปอยหมายถึงการที่ผู้ที่ได้รับสื่อบันเทิง เช่น ภาพยนตร์, นวนิยาย, วรรณกรรม, เกม, มังงะ ฯลฯ และนำเนื้อหาความบันเทิงที่ได้รับมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับทราบ แม้ผู้รับนั้นจะไม่ได้รับสื่อบันเทิงนั้นๆ ก็ตาม โดยเนื้อหาที่เผยแพร่นั้น เช่น เรื่องย่อบางตอนที่ค่อนข้างละเอียด เฉลยเนื้อเรื่อง ฉากสำคัญ, ความลับของเรื่อง, ตอนจบของเรื่อง  ข้อดีคือทำให้คนดูไม่จำเป็นต้องดูการ์ตูนเรื่องนี้เพราะรู้สปอยแล้ว หรือสามารถทำให้สบายใจไปได้เบาะหนึ่ง (ในกรณีบางคนที่อยากรู้ตอนจบดีหรือไม่ดี) อย่างไรก็ตามทำให้ส่งผลความตื่นเต้นในการดูลดลงไป และเกิดความพอใจในข้อมูลระดับหนึ่งและไม่ไปดู หรือไม่พอใจสปอยก็ไม่ไปดูเช่นกัน

    การสปอยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เวลาที่เราดูภาพยนตร์ หรือการ์ตูน  (ไปจนถึงการแข่งขันต่างๆ) เมื่อดูจบเรามักมีความรู้สึกอยากเล่าสิ่งที่คาใจหลังดูภาพยนตร์ให้แก่คนรู้จักคนใกล้ตัวฟังบ้าง เพื่อระบาย (จะดี จะแย่ก็ว่ากันไป) แม้ว่าคนใกล้ตัวจะไม่ได้ดูก็ตาม ยกตัวอย่างผมเองเคยบ่นเรื่องตอนจบ “School Day” (ความจริงเป็น “ชมรมไม่กลับบ้าน) ให้แม่บ้านผมฟัง ระบายความเจ็บแค้นต่างๆ พอดีแม่บ้านไม่รู้เรื่องอะไรด้วย (ไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้เว้ย) ในใจคงคิดว่า “ห่าบ้านี้พูดอะไรว่ะ” ก็ได้ (ฮ่า)

    และเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามีบทบาท สามารถกระจายข่าวสารก็รวดเร็วขึ้นมากว่าเดิม การสปอยได้พัฒนาขึ้น จากตอนแรกเล่าแค่เพื่อนสนิทหรือคนใกล้ตัวฟัง ก็เริ่มหันมาสปอยในโลกออนไลน์ เพื่อนออนไลน์ที่มีรสนิยมเดียวกับเรา และยิ่งที่ใส่อารมณ์สปอยเข้าไปด้วย ยิ่งได้อารมณ์ แน่นอนว่าการสปอยนั้นมีข้อเสียคือ ข่าวสารที่ได้รับนั้นอาจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางครั้งผู้สปอยอาจสปอยไม่ถูกต้อง ถือตัดฉากสำคัญอะไรไป (เช่น กรณี “น้องสาวไม่น่ารัก” ทั้งๆ ที่หลายคนไม่อ่านนิยายเล่มจบด้วยซ้ำ  ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะสปอยใส่ความรู้สึกของคนสปอยใส่ลงไปด้วย ยิ่งสปอยไม่ครบถ้วน ขาดๆ เกินๆ   ทำให้หลายคนเข้าใจผิด ยิ่งโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กระจายข่าวสาร ผลคือหลายคนบอยคอยนิยายไปด้วยทั้งๆ ที่ไม่รู้สปอยนั้นถูกต้องหรือไม่ (เอ่อ...ตรูบอกแล้ว จบฮาเร็มก็กลายเป็นตำนานไปแล้ว)

    ในวงการการ์ตูน การสปอยถือว่าเป็นสิ่งปกติที่พบเห็นทั่วไป เมื่อตอนใหม่ของการ์ตูนเรื่องนั้นออกมา โดยเฉพาะการ์ตูนจัมป์ (และถ้าเป็นการ์ตูนดังที่หลายคนรับความสนใจ สปอยจะได้รับความสนใจมากขึ้น) แน่นอนว่าหลายครั้งที่เราอ่านสปอย ก็มีผลทำให้ลดความสนใจการอ่านเรื่องนั้นลงไปบ้าง บางเรื่องถึงขั้นเลิกติดตามก็มี (โดยไม่สนด้วยว่าการดำเนินเรื่องต่อไปจะเป็นยังไง) แต่ส่วนใหญ่แล้วสปอยเป็นผลดีต่อคนอ่านมากกว่า (มันก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินเรื่องคนแต่งด้วยจะดีหรือไม่ดี) เพราะบางครั้งยิ่งสปอยก็ยิ่งอยากอ่านเนื้อหาของตอนนั้นๆ มากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ขณะที่สปอยเพียงแค่บอกเนื้อหาบางส่วน  แต่สำหรับ“สแกนดิบ” กลับตรงกันข้าม เพราะทำให้ผู้ดูรู้เนื้อหาของเรื่องราวทั้งหมดในตอน (ของเรื่อง) การ์ตูนเรื่องนั้นด้วยซ้ำ

     


    แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของเนชั่น

     

                   
                      
    สแกนดิบ หรือ ตัวดิบ  (หากเป็นอนิเมะคงเรียก “แฟนซับ”) ตามภาษาวงการ์ตูนคนอ่านการ์ตูน  หมายถึงการนำไฟล์ภาพที่แทบไม่ผ่านการปรับแต่งใดๆ (หรือไม่ผ่านประมวลผลใดๆ)  จากเซ็นเซอร์จับภาพของเครื่องสแกนภาพ (บางครั้งก็เป็นกล้องดิจิตอล แต่ส่วนมากมาในรูปสปอยภาพมากกว่า) โดยชื่อไฟล์ยังคงสกุล “ดิบ” หรือภาษาอังกฤษคือ “raw” นำมามาโพสลองในอินเทอร์เน็ต ส่วนมากภาพที่นำมาโพสจะเป็นหน้าของการ์ตูนมังงะเรื่องดัง หรือตอนใหม่  โดยคนโพสจะนำหนังสือการ์ตูน (ไม่ว่าจะรายสัปดาห์หรือรวเล่ม) มาสแกนหน้าต่อหน้าจนจบตอนของเรื่องนั้นๆ  โพสลงเว็บเรียงจนจบ 1 ตอน

                    แน่นอนว่าความเร็วของสแกนดิบอาจช้ากว่าต้นฉบับ เพราะว่ามันจะออกมาหลังต้นฉบับวางแผง (หากเป็นอนิเมะหลังอนิเมะฉาย) แต่อย่างไรก็ตาม สแกนดิบถือว่าเร็วเป็นอันดับสองที่ระยะห่างเวลาไม่นานหลังจากหนังสือต้นฉบับวางแผงก็ว่าได้ ยิ่งเทียบกับลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ (รวมเล่ม) ของไทยแล้ว  แสกนดิบเร็วแบบชนะขาดลอยในด้านความเร็ว

                    แม้ว่าสแกนดิบจะมีข้อเสียมากมายในด้านคุณภาพ เพราะภาพไม่ได้ตกแต่งอะไร ภาพใหญ่  ดูยาก ที่สำคัญคือน้อยคนนักจะอ่านออก เพราะว่ามันเป็นภาษาญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นภาษาไทย แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนเรื่องนั้นไม่สน ขอให้ได้เห็นภาพตอนล่าสุดถือว่าพอใจแล้วก็ได้

                    แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีแฟนผลงานบางคน นำสแกลดิบไปแปลเป็นภาษาของตน ไม่ว่าจะเป็นสแกลภาษาอังกฤษ  แม้จะมีการตกแต่งภาพบ้าง แต่กระนั้นข้อเสียคือมังงะบางเรื่องก็แปลไม่จบ หรือดองไปเลยก็มี แต่นั้นก็ไม่ทำให้หลายคนใส่ใจมากนัก เพราะปัจจุบันมีหลายเว็บ ที่เป็นเว็บอ่านสแกนมังงะแปลอังกฤษ แต่ที่ดังที่สุดคือเว็บจีนแดง หมายถึงเว็บอ่านสแกนมังงะภาษาจีน ซึ่งมีความเร็วมากกว่าสแกลอังกฤษ และบางครั้งก็มีสแกลการ์ตูนแปลกๆ นอกเหนือจากการ์ตูนดังด้วย  (แน่นอนว่าหลายคนอ่านภาษาจีนไม่ออก แต่ก็ช่างมัน ขอให้ดูแค่ภาพ ฉันก็พอใจแล้วละ)

                    นอกเหนือจากมังงะการ์ตูนญี่ปุ่นแล้ว ปัจจุบันก็มีสแกนดิบโดจิน (ส่วนใหญ่เป็นสายมืด) และไลท์โนเวลด้วยซ้ำ ซึ่งคนที่เก่งญี่ปุ่นมักอ่านสแกนดิบและเอามาสปอย สรุปย่อๆ ให้คนสนใจการ์ตูนเรื่องนี้เสมอ  

                    แน่นอนแล้ว ในเมื่อมีสแกนภาษาญี่ปุ่น สแกนแปลภาษาอังกฤษ สแกนภาษาไทยมีหรือจะไม่พลาด ซึ่งปัจจุบันก็แฟนผลงานหลายคนเอาสแกนมาแปลเป็นภาษาไทย ส่วนมากจะเป็นแจกฟรี โพสให้คนเข้ามาอ่าน (บางคนก็ก็อป แจกจ่าย เผยแพร่ ไปจนถึงใช้เพื่อหาผลประโยชน์ก็มี)

                    เกี่ยวกับสแกนแปลไทยนั้น ส่วนมากการ์ตูนที่นำมาแปลจะเป็นการ์ตูนดัง หลายคนรู้จัก ไม่ว่าจะมีลิขสิทธิ์ หรือไม่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม (บางคนก็แปลผลงานมีลิขสิทธิ์เพื่อประชดที่สำนักพิมพ์ไทยออกช้าเหลือเกิน) โดยข้อเสียของสแกนแปลไทยนั้นก็คือ หากเป็นเรื่องไม่ดัง หลายเรื่องมักแปลไม่จบ (ในกรณีที่ต้นฉบับจบไปแล้ว) คนแปลอู้ หรือบางครั้งก็แปลไม่รู้เรื่อง (ยกตัวอย่าง ผมเอง) ให้ได้ดราม่าเล่นๆ (แล้วคนดราม่าทำไมไม่ช่วยแปลบ้างว้า)


     

     

    Raw โจโจ้ 8
     

     

                    สปอย (ภาพ) และสแกนดิบถือว่าเป็นเรื่องดีของคนอ่านที่สามารถดูการ์ตูนเรื่องนั้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอลิขสิทธิ์ไทย อีกทั้งยังสามารถเปิดดูเนื้อหาของการ์ตูนก่อนที่ตัดสินใจจะซื้อการ์ตูนมังงะแต่ละเรื่อง (โดยเฉพาะที่เป็นเล่มลิขสิทธิ์ไทย) เพราะอย่างที่รู้กันว่า การ์ตูนสมัยนี้ราคาแพงมหาโหด การ์ตูนดังที่เราตามไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นการ์ตูนใหม่ที่หน้าปกน่าสนใจ แต่ไม่รู้เนื้อหาข้างในจะเป็นอย่างไร ลายเส้นถูกใจเราหรือเปล่า การเปิดดูภาพสแกนก่อนที่ตัดสินใจซื้อได้ (โดยเฉพาะผม สแกนดิบมีความสำคัญในการตัดสินใจซื้อการ์ตูนเรื่องหนึ่งมาก ถึงมากที่สุด โดยเฉพาะแนวฮาเร็ม)

     แต่สำหรับผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูนไทยแล้ว ไม่ว่าจะสปอย (ภาพ) และสแกนดิบถือว่ามันเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่แล้วคนอ่านเมื่ออ่านสแกนดิบรู้เรื่องราวเนื้อหาของตอนนั้นๆ แล้ว ก็จะไม่ดูรายสัปดาห์ลิขสิทธิ์ของไทยอีก โดยเฉพาะบูม ซึ่งปัจจุบันมีการ์ตูนแม่เหล็กอย่างนารูโตะ (ส่วนบลิซนั้นอยู่ช่วงขาลง) เท่านั้น ใครที่ดูสแกนนารูโตะก่อน (และตอนนี้ก็มีแปลสแกนไทยอีกต่างหาก) ก็ข้ามไปซื้อรวมเล่มลิขสิทธิ์ไทยเลย โดยไม่ต้องอ่านลิขสิทธิ์รายสัปดาห์อีกต่อไป

    และนอกจากนี้ มีการพัฒนาขึ้น โดยนอกเหนือสปอย (ภาพ) และแสกนดิบ แล้วยังมีคนหัวใสนำแสกนดิบการ์ตูนมีลิขสิทธิ์ดังหลายเรื่องมามัดรวม แล้วให้คนสนใจโหลดฟรี (บางเจ้าเก็บเงินโดยอ้างว่าบริจาค) ในรูปแบบไฟล์การ์ตูนโดยไม่มีการขออนุญาตลิขสิทธิ์ เท่ากับว่าเป็นการตัดรายได้ของผู้ถือลิขลิทธิ์แบบเต็มๆ

    เมื่อปี 2010 ได้มีดราม่าหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อนิตยสารบูมประกาศว่าห้ามเอาเนื้อหา/ภาพการ์ตูนที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร มาทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะชนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นอันขาด หากพบเห็นการกระทำดังกล่าวถึงว่ามีความผิดตาม พรบ ลิขสิทธิ์ 2537 และ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

    แน่นอนว่าการสปอย (ภาพ) และสแกนดิบนั้นผิดกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธ์ แม้ว่าการสปอย (ภาพ) และสแกนดิบผู้นำมาเผยแพร่อาจไม่ได้แสวงการค้า (อาจมีบางคน) แต่เนื่องด้วย “การกระทำดังกล่าวทำให้คนถือลิขสิทธิ์เสียผลประโยชน์”

    เมื่อผู้ถือลิขสิทธิ์และผู้บริโภค (บวก ผู้ชอบของฟรี) มาเจอก็ด้วยเหตุนี้เองก็ได้ทำให้เกิดดราม่า (การถกเถียง) เกี่ยวกับสปอย (ภาพ)  และสแกนดิบอยู่บ่อยครั้ง ว่าสิ่งเหล่านี้ถูกหรือผิด สมควรทำหรือไม่ควรทำ จนเดิเเกิดแบ่งออกเป็นสองฝ่าย

    -คือฝ่ายหนึ่งคือคนที่เห็นด้วยว่าการสปอย (ภาพ), สแกนดิบ (ส่วนมากเป็นสแกนแปลไทยมากกว่า ส่วนภาษาต่างประเทศไม่ยักมีคนไทยที่ไหนมาให้ความเห็น) และการแจกฟรี เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์

     -อีกฝ่ายหนึ่งคือสนับสนุนให้มีการสปอย (ภาพ) สแกนดิบต่อไป บางคนสนับสนุนให้แจกฟรีด้วย (โดยคติประจำใจคือ “สังคมต้องแบ่งบัน คนแบ่งบันคือคนดี”) และ (มีลิขสิทธิ์แล้วไง หากไม่มีใครฟ้อง ไม่มีใครรู้ ถือว่าไม่ผิด”)

    แน่นอนว่าฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการสปอย (ภาพ) สแกนดิบต่อไปมักมีเหตุผลหลักๆ คือ สมัยนี้การ์ตูนและนิตยสารลิขสิทธ์ไทยมันแพงมากๆ ทำให้หลายคนไม่มีเงินพอที่จะซื้อ  สงสารเด็กบ้าง (ผู้ใหญ่ก็อ่านการ์ตูนครับ)

     

     

    โลโก้ของเนชั่นที่คุ้นเคย

     

    แน่นอนว่าคนสนับสนุนสปอย (ภาพ) และสแกนดิบพากันด่ายกใหญ่ “เวอร์ไปไหม แค่เอาภาพมาเผยแพร่เท่านั้นเอง งกไปถึงไหน รู้จักแบ่งบันบ้างสิ” ส่วนอีกฝ่ายบอกว่าทำแบบนี้ผิดกฏหมาย เถียงไปเถียงมา ก็ไม่ได้สรุปอะไร สุดท้ายก็เงียบ แล้วสปอย (ภาพ) และสแกนดิบเกิดขึ้นเรื่อยๆ อยู่ดี ผลก็คือทำให้คนอ่านรู้เรื่องราวล่วงหน้า ทำให้บูมรายสัปดาห์ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป คนอ่านรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยมี จนในที่สุดนิตยสารบูมก็ปิดตัวลงในที่สุด

    ดราม่าหัวข้อแบบนี้เอามาเป็นประเด็นเมื่อไหร่ก็มักมีถกเถียงไม่รู้จบ และมักไม่มีข้อสรุปอะไรเลยแม้แต่น้อย หายไปสักพัก ก็กลับมาใหม่ ดราม่าใหม่ (แต่หัวข้อเดิมๆ)

    ตามความคิดเห็นผมนั้น ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายมากนัก ผมเข้าใจว่าการที่จะฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก และไม่ได้คุ้มเสีย ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ถือลิขสิทธิ์เลือกที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้ ส่วนมากปล่อยผ่านไปมากกว่า (เพราะยังไงจะไปห้ามก็ไม่ได้ เพราะถึงแม้ไม่มีสแกนแปลไทย ก็ยังมีสแกนดิบต่างประเทศออกมาอยู่ดี)

    หากพูดถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ของประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต้นๆ ของโลก สำหรับเรื่องการ์ตูนนั้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเรามีมานาน ยังสมัยยังเด็กก็มีไพเรท (หมายถึง ละเมิดลิขสิทธิ์) การ์ตูนออกมามากมาย โดยเฉพาะการ์ตูนดัง โดเรมอน, โคนัน, ดราก้อนบน เล่มหนาๆ กระดาษไม่ค่อยดี แต่มีราคาถูก และเมื่อมีลิขสิทธิ์ก็เริ่มลดลงบ้าง แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ (ขนาดเรื่องนี้มีลิขสิทธิ์แล้ว แต่เป็นการ์ตูนเก่า ยังตีพิมพ์ใหม่ในรูปของไพเรทก็มี) พูดง่ายๆ คนในประเทศไทยเรามีจิตสำนึกด้านลิขสิทธิ์ค่อนข้างน้อยมาก เราเห็นเรื่องเล่านี้จนชินแล้วนั้นเอง

                    อย่างไรก็ตาม จะโทษสปอย (ภาพ) และ สแกนภาพในอินเทอร์เน็ต และคนดูที่ขาดจิตสำนึกลิขสิทธิ์ดูฟรีแต่ไม่ซื้อลิขสิทธิ์อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะอยู่ที่สำนักพิมพ์เนชั่น เอ็นดูเทนเมนท์ด้วยว่า ตั้งแต่มีนิตยสารบูมมา เนชั่นนั้นทำการตลาดการ์ตูนแบบไหน

                    อย่างที่รู้ว่า บูม เน้นเรื่องการ์ตูนจัมป์  (เหมือนกับซีคิดส์) สมัยก่อนมีเรื่องดังเยอะ  แต่ปัจจุบันนั้นการ์ตูนจัมป์ของบูมนั้นไม่ค่อยมีแรงดึงดูดคนอ่านมากนัก  เพราะเนชั่นไม่สามารถแย่งสู้กับสยามที่เป็นเจ้าของซีคิดส์ได้ กลายเป็นว่าบูมปัจจุบันส่วนมากเป็นการ์ตูนจัมป์ที่ไม่ดัง ไม่ก็โดนตัดหลายเรื่อง บางเรื่องก็อยู่ในช่วงอันดับท้ายๆ ด้วย

                    แน่นอนว่าจุดดึงดูดหนึ่งที่รายสัปดาห์อย่างเนชั่นและสยามมาใช้คือ การสนับสนุนการ์ตูนไทยด้วย เพื่อให้ดึงดูดผู้บริโภคให้ได้ซื้อ เพราะแม้ว่าการ์ตูนญี่ปุ่นจะอ่านสแกนแล้ว แต่การ์ตูนไทยพวกเขาต้องอ่านในรายสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งสมัยก่อนเนชั่นเองสนับสนุนนักเขียนไทยหลายเรื่อง แต่กลายเป็นว่าหลายเรื่องไม่ค่อยได้แจ้งเกิดมากนัก (อาจเป็นเพราะลายเส้นไม่สวยอะไรด้วย) ทำให้ปัจจุบันเนชั่นสนับสนุนการ์ตูนไทยไม่กี่เรื่องคือ มีดที่ 13 (ที่หลายคนบอกว่าออกทะเล), พระอภัยมณีซาก้า (ออกทะเล) แม้ช่วงหลังมีปลาหมึกโจเข้ามาแต่สายไปแล้ว อีกทั้งการ์ตูนไทยเนชั่นออกไปทางเนื้อหาจริงจัง ภาพดูหนักๆ มากกว่าของสยามที่การ์ตูนไทยน่ารัก ดูเยาวชนมากกว่า

                    แม้ว่าบูมจะออกมาบอกว่าตลาดการ์ตูนซบเซา คนไม่ค่อยดูการ์ตูนมากนัก พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป อันนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมเชื่อว่าผู้บริโภคย่อมมีกำลังซื้อ แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องซื้อมันต้องคุ้มค่ากับเงินที่พวกเขาเสียไปด้วย ในเมื่อบูมไม่มีอะไรน่าสนใจ (นารูโตะและบลีซก็ใกล้จะจบแล้ว กลายเป็นว่าการ์ตูนที่เหลือของบูมแทบไม่มีอะไรน่าสนใจเลย แม้จะมีเรื่องโจโจ้ 8 แต่รายนั้นออกรายเดือน)

                    เนชั่น เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่รู้จักกันดีสำหรับหลายคน ในเรื่อง “ดอง” เนื่องจากระยะเวลารวมเล่มทิ้งช่วงนานมาก ช่วงแรกๆ ไม่เท่าไหร่ แต่ก็เริ่มเว้นนานขึ้น และสุดท้ายรอมาเป็นสิบปีเล่มใหม่ก็ไม่ออกเลย นอกจากนี้เนชั่นเองช่วงหลังๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจการ์ตูนมากนัก เห็นได้จากช่วงนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ใหม่ๆ เข้ามา การ์ตูนใหม่ๆ วางแผงน้อยลง และเริ่มเอาของเก่ามาจัดพิมพ์ใหม่แทน

                    ความจริงแล้วปัญหา “ดอง” ที่ว่านั้นเป็นเกือบทุกสำนักพิมพ์ เพียงแต่เนชั่นนั้นโดนด่ากว่าใครเพื่อน (ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงดอง แต่ส่วนใหญ่เหตุผลสำคัญ คือหาคนแปลไม่ค่อยได้ กับต้นฉบับญี่ปุ่นส่งมาให้ไทยช้า) ไม่ว่าเหตุผลใดนั้น ผู้บริโภคเซ็งเต็มทนในการรอคอยที่ไร้จุดหมาย ในการรอรวมเล่มใหม่

                    แต่ที่เซ็งสุดๆ คือกรณีคือ กรณีตีพิมพ์ แล้วโดนแบน เนชั่นจะน่าจดจำกว่าใครเพื่อน

    แต่ที่เซ็งสุดๆ คือกรณีคือ ตีพิมพ์ แล้วโดนแบน เนชั่นจะน่าจดจำกว่าใครเพื่อน รวมเล่มบางเรื่องตีพิมพ์ออกมาเหลือเล่มเดียวแต่รอยาวนาน (หลายปี) กว่าที่เล่มสุดท้ายจะออกไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว รวมเล่มแล้ว จู่ๆ ก็เล่มต่อไปก็หยุดไม่พิมพ์ต่อขึ้นมา (ด้วยสาเหตุร้อยแปด แต่น่าจดจำที่สุดคือ  เล่มสุดท้ายมีฉากเรตจนโดนแบน) อันนี้เซ็งสุดๆ ยกตัวอย่างคือ Elfen Lied เนชั่นได้ลิขสิทธิ์ผม ตอนนั้นผมดีใจสุดๆ เลย เพราะไม่คิดว่าการ์ตูนที่มีเนื้อหาเลือดสาดจะได้รับลิขสิทธิ์ แต่กลายเป็นว่าพอตีพิมพ์เล่มที่ 2 ก็หยุดไปเลย

    เนชั่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องการดอง และหยุดกลางคัน ซึ่งมีการ์ตูนหลายเรื่องมากที่ผมรอเนชั่นตีพิมพ์เล่มต่อ จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่หลายคนไม่ค่อยปลื้มเนชั่นมากนัก

    เรื่องราคา ยังคงเป็นปัญหาหลักเกี่ยวกับการซื้อการ์ตูน เพราะปัจจุบันราคาหนังสือเล่มหนึ่งแพงมาก ราคาเล่มหนึ่ง 50-60 แม้เนชั่นยังมีแบบรวมเล่มใหญ่ 100 กว่าบาทด้วยซ้ำ โอเค เด็กสมัยนี้ก็สามารถซื้อหนังสือได้ เก็บเงินก็ซื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันกลับทำให้เราเกิดความคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องซื้อมากนัก หรือไม่กล้าซื้อการ์ตูนใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่เคยดูด้วย เพราะกลัวแล้วซื้อไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป และนอกจากนี้ยังเป็นคุณภาพหนังสือ (เนชั่นนี้ผมไม่รู้แปลดีหรือเปล่า แต่รวมๆ แล้วผมว่าแปลดีกว่าสยามน่ะ)

    หากกดูภาพรวมการ์ตูนรวมเล่มของจัมป์ หากตัดการ์ตูนดังๆ ออกไป จะพบว่าการ์ตูนที่รวมเล่มไม่ได้หลากหลายมากนัก ยิ่งช่วงหลังๆ การ์ตูนใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นตัดจบจัมป์ ส่วนอื่นๆ ไม่ดึงดูดพอส่วนมากเจาะกลุ่มเยาวชนหรือเด็กมากกว่า (เช่น โยทสึบะ, หรือบารากะม่อน) บางเรื่องก็เน้นอารมณ์ออกไปทางวัยรุ่นเรียบๆ ง่ายๆ  ไม่เหมือนของสำนักพิมพ์สยามที่มีความหลากหลายกว่า (เจาะกลุ่มดีกว่า)  และรักพิมพ์ที่เน้นแนวฮาเร็มและรูปเล่มดูแล้วน่าสะสม (แม้จะแพงก็ตาม แต่แนวฮาเร็มมีคนซื้อแน่นอน เพราะกระเป๋าหนัก)

    ตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นลิขสิทธิ์ไทย ยังคงมีอนาคต รายสัปดาห์อาจมีปัญหาบ้าง (ต้องมีการ์ตูนดึงดูด และสนับสนุนการ์ตูนไทยให้น่าติดตามมากกว่านี้) แต่รวมเล่มยังไงก็ตามเข้าถึงคนซื้อ คนไทยหลายคนพร้อมที่จะเสียเงินซื้อ  คนไทยใช่ว่าจะเอาแต่อ่านฟรีในเน็ต หรือเช่าการ์ตูนมาอ่านอย่างเดียว หากการ์ตูนที่อ่านสนใจ เขาก็พร้อมที่จะเสียเงินซื้อ หากเป็นสิ่งที่เขาต้องการ

    เป็นต้นว่า ผมถือว่าเป็นนักซื้อการ์ตูนมังงะตัวยง สองสัปดาห์จะหมดเงิน 1,000 บาท เพื่อซื้อรวมเล่ม แน่นอนว่าสำนักพิมพ์สยามเยอะสุด รองลงมาคือวิบูลย์กิจ รองมาอีกคือสยาม ส่วนเนชั่นรวมเล่มแทบไม่มีเลย บางครั้งอาจมีหนึ่งเล่ม (ปัจจุบัน เนชั่น ผมติดตาม โจ้โจ 8 ส่วนที่เหลือรอยังไงก็ไม่มาสักที ไม่ว่าจะเป็น นักข่าวหัวเห็ดกับมิสไซง่อน, บารากะมอน, โยทซึบะ)  บางเล่มซื้อมาไม่อ่านเลย ส่วนใหย่เล่มที่ผมอ่านจะเป็นแนวชิบหาย (สยองขวัญเลือดสาด) และก็ฮาเร็ม ตามภาษาคนอายุมากที่เริ่มเลือกแนวแล้ว แต่เนชั่นแทบไม่มีแนวฮาเร็มที่ว่าเลย (ถ้ามีก็ตอนจบวินๆ)

    หากสำนักพิมพ์ไม่ตอบสนองคนอ่าน ซ้ำทำให้คนอ่านผิดหวัง ผลก็คือเมื่อการ์ตูนของเนชั่นเจาะกลุ่มคนซื้อไม่ได้ ยอดขายการ์ตูนก็เป็นอย่างที่เห็น เมื่อไม่มีเงินจากยอดขาย ไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนดังลงบูม คนก็ไม่สนใจ ไม่แปลกแต่อย่างใดที่ทำให้บูมปิดตัวลง


     

    แน่นอนว่าผมไม่ใช่ผู้ผลิต ก็ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ได้อย่างละเอียด (และที่ผ่านมาก็ไม่เห็นมีการเปิดเผยสถิตยอดขายหนังสือการ์ตูนบ้านเราด้วยว่า บอกขายกี่เล่ม แนวไหนเยอะสุด) แต่ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามมานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก (ในการอ่านหนังสือการ์ตูน) ผมมองว่าตลาดหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีลิขสิทธิ์  เป็นตลาดที่แตกต่าง กับตลาดเกมคอนโซลคอมพิวเตอร์ และตลาดซีดีอนิเมะค่อนข้างมาก เพราะยังไงการอ่านหนังสือจะดีกว่าการดูในคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว พวกเขาต้องการของแท้มากกว่าไพเรทที่รูปเล่มไม่สวยงามและคุณภาพที่ต่างกัน (รูปเล่ม การแปล)   อีกทั้งหลายคนต้องการจะเป็นเจ้าของมากกว่า หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เขาชอบจริงๆ

    อย่างไรก็ตาม ตลาดหนังสือการ์ตลิขสิทธิ์นั้นเป็นตลาดที่ซับซ้อนในเรื่องต้องเอาใจผู้ซื้อ โดยเฉพาะการอย่าหักหลังผู้บริโภค อย่าให้ผู้บริโภคผิดหวัง  อย่าทำให้ผู้บริโภครอนาน คุณภาพของเล่มควรออกมาดี การแปลที่รับได้ การเลือกหนังสือที่ตอบโจทย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วว่า หากสินค้าดี ผู้บริโภคก็ย่อมสนใจ  (และขอส่วนตัว คืออักษรศีลธรรม จะทำแบบแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว ปิดมิด ผู้บริโภคด่าแน่นอน)

    แน่นอนว่าสปอย (ภาพ) และสแกลมีผลต่อการดูของคนดูไม่มากก็ไม่น้อย แต่การควบคุมเรื่องเหล่านี้ในอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแล้วสำนักพิมพ์ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมเหล่านี้ด้วย และบางทีพฤติกรรมของคนชอบอ่านการ์ตูนก็เริ่มมีความหลากหลายมากกว่าแต่ก่อน คนอ่านการ์ตูนสามารถรู้การ์ตูนล่วงหน้าได้ ทันข่าวมากขึ้น และเริ่มที่จะเรื่องมากขึ้นไปด้วย  หลังๆ บางสำนักพิมพ์เริ่มให้ความสนใจไลท์โนเวล ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นคนไทยแทบไม่รู้เลย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้สนใจมากขึ้น

    สำนักพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวในเรื่องเหล่านี้ และอาจต้องเข้ามาเช็กเรตติ้งและคำติดชมของคนอ่านในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น  ยกตัวอย่างบางสำนักพิมพ์ติดตามข่าวสารว่าช่วงนี้มีหลายคนสนใจการ์ตูนที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์เรื่องไหนบ้าง ก็จะสามารถซื้อเพื่อตอบสนองความต้องการของคนอ่านได้

     ส่วนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์นั้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน การอ่านสแกนนั้นอาจไม่ผิดกฎหมาย แต่การนำสแกนที่มีลิขสิทธิ์ในไทยแล้วมาโพส หรือนำมาใช้ประโยชน์บางอย่างนั้นอาจผิดกฎหมาย  แม้ว่าจะไม่มีใครมาตักเตือนหรือลงโทษ แต่ก็อยากให้ช่วยคิดด้วยว่าหากทำแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อผู้ถือลิขสิทธิ์ที่สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้  อาจถึงขั้นทำให้สำนักพิมพ์ปิดตัวลง และเราก็คงไม่ได้เห็นการ์ตูนลิขสิทธิ์ดีๆ อีก (อย่าลืมว่าแปลไทย หลายเรื่องดองยาวนาน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้แปลด้วย)

    สุดท้าย เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตัวให้ได้ บูมอาจไม่ใช่หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ต้องปิดลง เพราะที่ผ่านมามีการ์ตูนรายสัปดาห์หลายเล่มที่ปิด (เพียงแต่การ์ตูนที่ออกไม่ใช่การ์ตูนจัมป์เท่านั้น) มันเป็นเรื่องปกติของธุรกิจการ์ตูน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย และบูมก็คงไม่ใช่รายสุดท้าย เพราะในอนาคตอาจมีการ์ตูนรายสัปดาห์ที่หลายคนรู้จักปิดตัวลงก็ได้  

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×