ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #273 : Real Account กับ พวกที่เอาแต่ยืนดู

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 4.19K
      6
      18 ก.ค. 57

     

    เมื่อวันศุกร์ 13 มีนาคม 1964 ได้เกิดคดีฆาตกรรม คดีหนึ่งในคิวการ์เดน, นิวยอร์ก เมื่อหญิงสาวคนหนึ่ง ชื่อ แคทเธอรีน เจนโนวีส อายุ 29 ปี ได้เลิกงานที่บาร์ แล้วกำลังเดินกลับอพาร์ตเมนต์ซึ่งเป็นบ้านของเธอ ในช่วงเวลา 3:15 น. หากแต่ระหว่างทางเธอได้ถูกชายหัวดำคนหนึ่งชื่อ “วินสตัน มอสลีย์” แทงถึงสองครั้ง ซึ่งต่อมาวินสตันได้สารภาพว่าที่เขาทำเรื่องดังกล่าวเพียงแค่ “เขาอยากฆ่าผู้หญิงสักคนเท่านั้น”

    แน่นอนว่าอ่านผ่านๆ หลายคนคงคิดว่าเป็นคดีทำร้ายของธรรมดา แต่เรื่องแปลกประหลาดมันเริ่มจากจุดนี้ เมื่อเจนโนวีสถูกแทง เธอก็กรีดร้อง “โอ้! พระเจ้า! ฉันถูกแทง ช่วยฉันได้ ใครก็ได้ช่วยด้วย” แล้วทรุดตัวลง ระหว่างนั้นเองเพื่อนบ้านเธอ และคนรอบๆ อาคาร ได้ยินเสียงของเธอ ก็ได้เปิดหน้าต่างมองดู แต่ที่น่าแปลกคือเขาเหล่านี้กลับไม่คิดช่วยเหลือเธอแม้แต่น้อย ไม่คิดแม้แต่จะโทรไปแจ้งตำรวจ ได้แต่มองดูแบบฝรั่งมุง พร้อมกับคิดว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นเป็นเพียงคู่รักทะเลาะกันเพราะเมา จนชายคนหนึ่งได้ตะโกนจากหน้าต่างไปที่คนร้ายว่า "อย่าไปยุ่งกับเธอ!!” 

     

     

    แคทเธอรีน เจนโนวีส

     

    มอสลีย์ตกใจกับเสียงตะโกนดังกล่าวจึงออกห่างจากเธอ ทำให้เจนโนวิสมีโอกาสหนี เพื่อนบ้านทั้งหมดคิดว่าเธอรอดแล้ว แต่แล้วประมาณ 10 นาทีต่อมามอสลีย์กลับมาอีกครั้ง หากแต่ไม่นานเขาก็กลับมาอีกในอีกสิบนาทีต่อมา สันนิษฐานว่าตอนแรกมอลสลีย์คิดจะมีคนมาขัดขวางเขา หากแต่เมื่อผ่านไปหลายนาทีก็ไม่เกิดอะไรเกิดขึ้น เขาเลยใส่หมวกกว้างเพื่อซ่อนใบหน้าของเขา แล้วตามเธอไปฆ่าในด้านหลังอพาร์ตเมนต์ ซึ่งเธอไม่สามารถหนีได้เลยเพราะประตูถูกล็อก

    มอสลีย์เดินไปแทงเธอ มีแผลหลายแห่งที่มือและแขนของเธอ แสดงให้เห็นว่าเธอพนยามป้องกันตนเองสุดฤทธิ์ จนในที่สุดเธอก็ยอมจำนน และเขาก็ข่มขืนเธอ ปล่อยให้เธอนอนตาย จากนั้นเขาก็ขโมยเงินเพียง49- 50 ดอลลาร์แล้วหนีไป เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียง 30 นาทีเท่านั้น

    ที่น่าตกตะลึงตลอด 30 นาทีที่ว่านั้นไม่มีใครเลยที่จะโทรแจ้งตำรวจในขณะที่เห็นเหตุการณ์ แท้กระทั่งคนเข้าไปช่วยยังไม่มี จนกระทั่งมีพลเมืองดีคนเดียวเท่านั้นที่โทรศัพท์แจ้งตำรวจ แต่ก็เป็นหลังจากที่เกิดคดีนานถึงครึ่งชั่วโมง โดยเธอเสียชีวิตในขณะนำตัวส่งโรงพยาบาล

    หนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้นได้จั่วหัวข่าวว่า “คนกว่า 38 เห็นการฆาตกรรมทั้งหมดแต่ไม่แจ้งตำรวจ” (ความจริงมีประมาณ 12 คน) ซึ่งจากการสอบปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ (การโจมตีครั้งแรก) เหล่านั้น หลายคนได้อ้างว่า “พวกเขาไม่อยากมีส่วนร่วม...”, “โทรไปหาตำรวจมันง่ายนิดเดียว เดี๋ยวก็มีคนอื่นโทรไป” ไม่ก็ “เดี๋ยวมีคนมาช่วยเหลือเธอ” เป็นต้น

    หลังจากที่เผยแพร่ข่าว ก็มีหลายคนพยายามหาข้อสรุปพฤติกรรมแปลกประหลาดของพยานเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร หลายคนออกมาตำหนิว่าความขี้ขลาด ความไม่แยแสของพวกเขาแสดงให้เห็นสภาพสังคมของอเมริกัน บางคนถึงขั้นให้ออกกฎหมายลงโทษคนเหล่านี้เพราะพวกเขาไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบของพลเมืองดี

                    ด้านนักจิตวิทยาได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจ ภายหลังได้ตั้งชื่อสถานการณ์นี้ว่าเจนโนวีส  ซินโดรม“Genovese syndrome” เพื่ออธิบายพฤติกรรม “การกระจายความรับผิดชอบ (diffusion of responsibility) ”  และ “ปรากฏการณ์คนมุงผู้ เพิกเฉย (the bystander effect)

    ความเพิกเฉยของผู้เห็นเหตุการณ์ (bystander effect) เป็นศัพท์จิตวิทยาทางสังคม ที่อ้างถึงการเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า คนมุงที่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือใดๆ แก่ผู้เดือดร้อนตรงหน้า ทำได้แต่ยืนดู และที่น่าสนใจคือยิ่งมีคนอยู่รอบข้างมาก จะยิ่งไม่มีคนให้ความช่วยเหลือ เกิดจากความคิดที่ว่า คนอื่นอยู่กันตั้งเยอะ และทำไมฉันจะต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือคนที่กำลังมีปัญหาด้วยล่ะ? หรือการปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัวเอง เพราะคิดว่าคนอื่นก็อยู่กันตั้งมากมาย ถ้าฉันไม่ไปช่วยสักคนหนึ่งก็ยังจะมีคนอื่นอยู่อีกตั้งหลายคนที่สามารถเข้าไปช่วยได้ โดยปกติแล้วคนเราจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ เวลาอยู่คนเดียวแล้วเห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือเราจะวิ่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือในทันที เพราะว่ามีแต่เราอยู่คนเดียวเท่านั้น แต่พอมีหลายคนเข้าการปัดความรับผิดชอบก็จะเกิดขึ้น นำมาซึ่งการแพร่กระจายความรับผิดชอบ (Diffusion of responsibility) เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเราก็โยนความรับผิดชอบให้คนอื่น ยิ่งจำนวนคนมากเอาใดตนเองก็ไม่รู้สึกผิดมากขึ้นเท่านั้น

    ทั้งหมดนี้คือเรื่องของแคทเธอรีน เจนโนวีส ที่อธิบายถึงพฤติกรรม “คนมุง” ซึ่งไม่เพียงแต่อเมริกาเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วโลก ที่เวลาคนเดือดร้อน คนก็เอาแต่มุงโดยไม่สนใจจะช่วยเหลือแม้แต่น้อย เพราะคิดว่า “ไม่ใช่เรื่องของเรา เดี๋ยวคนอื่นก็มาช่วย”

     

     

    Real Account

     

    กลับเข้ามาเรื่อง แน่นอนอ่านมาถึงตรงนี้คงมีคำถามว่า แล้วแคทเธอรีน เจนวีสเกี่ยวอะไรกับดูการ์ตูน? คือ เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อเร็วๆ นี้ผมได้อ่านการ์ตูนมังงะเรื่องนี้หนึ่ง ซึ่งมีฉากหนึ่งทำคิดถึงคดีนี้ทันที และเป็นหนึ่งในฉากที่อธิบายเรื่องของ “คนมุง” ได้เป็นอย่างดี นั่นคือเรื่อง Real Account

    Real Account เป็นการ์ตูนแนวเซอร์ไววัส  (เกมแห่งความตาย) ผลงานของ Watanabe Shizumu  (ผลงานก่อนหน้า Kono Kanojo wa Fiction Desu. และ Shishunki no Iron Maiden)  เนื้อเรื่องโดย Okushou ซึ่งพึ่งออกมาในปี 2014

     แม้ว่าช่วงหลังๆ ผมจะรีวิวการ์ตูนแนวเซอร์ไววัลเกมแห่งความตาย ได้อย่างหน้าแตกหลายเรื่อง แต่อย่างไรก็ตามผมยังไม่เลิกที่ติดตามแนวนี้ เพราะเสน่ห์ของแนวนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเดิมพันด้วยชีวิตเพื่อรอดจากเกมที่แสนโหดร้าย การเอาใจช่วยพระเอกที่มีจิตใจดีงาม (หรือมีการพัฒนาจิตใจในช่วงหลัง) กับได้เห็นตัวละครที่มีความหลากหลาย คนดี (แต่อายุสั้น), คนชั่ว, คนเห็นแก่ตัว, คนสร้างปัญหา ทำให้เนื้อหามีความน่าสนใจขึ้น กับสิ่งต่างๆ ที่แนวนี้นำเสนอ เกมที่จะเผยสันดานมนาย์เล่นกับจิตใจของมนุษย์ ทำให้แนวนี้น่าติดตาม (แม้หลายเรื่องพอดำเนินเรื่องช่วงท้ายๆ จะแป๊กก็เถอะ)

                    (แนวเซอร์ไววัสเกมแห่งความตาย ผมแบ่งเป็น 3 แบบ แบบแรกแนวเกมแห่งความตายที่เน้นบุ๋นใช้สมองในการเอาตัวรอด ไม่ก็ขายอารมณ์ลุ่นระทึกหน่อยๆ,  แบบสองแนวเกมความตายเน้นบู๊ต่อสู้ด้วยพลังวิเศษมาฆ่ากันเถอะ และแบบสามผสมบุ๋นและบู๊ มีแอ็คชั่นสู้กันด้วยสมองด้วย)

                    จุดเด่น (หรือสิ่งที่ต้องมี) ในแนวเซอร์ไววัลเกมแห่งความตายก็คือพระเอกที่เป็นคนจิตใจดีงาม และมีความปรารถนาให้คนอื่นรอด การพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งในสถานการณ์ที่มีแต่ความตายรายรอบตัว  โลกที่ปิดตายที่ไม่มีทางหนี สิ่งเดียงที่จะต้องรอดคือต้องเอาชนะเกม และเปิดโปงผู้อยู่เบื้องหลังเกมแห่งความตายนี้ให้ได้

                    แนวเซอร์ไววัสเกมแห่งความตาย ล้วนมีคอนเซ็ปต์ (กฎ กติกา การเล่นเกม) แตกต่างกันออกไป ซึ่งตรงจุดนี้เป็นการสร้างสีสันและจุดเด่นให้กับเรื่อง (เป็นต้นว่า คอนเซ็ปต์ดึงความโลภของมนุษย์ที่เกมส่วนใหญ่เน้นให้มนุษย์เกิดความโลภหักหลังคนอื่นเพื่อเอาตัวรอด, คอนเซ็ปต์การหลอกลวงมนุษย์เพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยเกมมนุษย์จำเป็นต้องโกหกเพื่อชนะเกม)  Real Account  ก็เช่นกัน เพียงแต่คราวนี้ เกมแห่งความตายคอนเซ็ปต์ สิ่งที่เล่นก็คือจิตใจของมนุษย์เกี่ยวกับ “สังคมในโลกออนไลน์” มิตรภาพในโลกไร้ตัวตนนั้นเอง ที่เกมแห่งความตายนั้นลากไส้ในเรื่องนี้อย่างเจ็บแสบเลยทีเดียว

                    คอนเซ็ปต์ของเกมแห่งความตาย Real Account  เริ่มต้นขึ้นจากนิยามคำว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ดำรงชีวิตด้วยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการติดต่อสื่อสารด้วยการใช้ภาษา การมีความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อประโยคต่อตนและคนอื่น มนุษย์จะอยู่โดดเดี่ยวโดยไม่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ได้ (แน่นอนว่าก็มีมนษย์บางจำพวกที่อยากอยู่โดดเดี่ยว  ออกจากสังคม ใช้ชีวิตคนเดียว แบบไม่คบหาสมาคมคนอื่นบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยมาก)

                    สมัยก่อนเราติดต่อสื่อสารคนอื่นด้วยการใช้ปากหรือภาษากลาย หากแต่ต่อมามีการพัฒนาโทรศัพท์จนสามารถสื่อสารกันได้แม้จะอยู่ระยะห่างไกลก็ตาม หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันก็มีสิ่งที่เรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ” และ “อินเทอร์เน็ต” (และฟิวชั่น) ทำให้การสื่อสารสามารถไปไกลข้ามโลกได้

     

    คาชิวากิ อาตารุ คาแร็คเตอร์ที่พบเห็นโดยทั่วไปในแนวเกมแห่งความตาย

     

    ต้องยอมรับเลยว่าปัจจุบันนั้นโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่เพิ่มในปัจจัยสำคัญของมนุษย์ไปแล้ว และที่น่าสนใจคือโทรศัพท์มือถือสมัยนี้ไม่ได้ใช้แค่โทรอย่างเดียว แต่มีการพัฒนาให้ใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ฟังเพลง ถ่ายรูป เล่นเกม ฯลฯ และที่สำคัญคือสามารถเข้าอินเทอร์เน็ต สร้าง-เขียนบล็อก เขียนเฟจ เล่มเกมได้ เรียกว่ามันก้าวล้ำกว่าโทรศัพท์สมัยก่อนมาก

    ปัจจุบันการสื่อสารโลกออนไลน์ (อินเทอร์เน็ต) พัฒนาขึ้นมาก และเริ่มมีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะโซเชียล เน็ตเวิร์ค (เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟตบุ๊ค) ถือว่าเป็นหนึ่งในการสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับต้นๆ ที่คุณสามารถหาเพื่อนในโลกออนไลน์อย่างง่ายดาย สามารถเขียนชีวิตประจำวันของคุณ ให้คนอื่นได้อ่าน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน  หาแนวร่วม หรือขอคำปรึกษา เพื่อความสนุกสนาน

    โลกออนไลน์ได้ก่อเกิดอะไรหลายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการหาเพื่อน สร้างแฟนคลับ สร้างกลุ่มรสนิยมที่เหมือนกัน ไปจนถึงการได้เป็นไอดอลโลกออนไลน์ ที่คุณสามารถเป็นคนดังในโลกแห่งนี้ได้ในพริบตาหากแสดงความสามารถให้คนในโลกนั้นให้ความสนใจ

    อย่างไรก็ตาม เพราะโลกออนไลน์นี้เอง ทำให้มนุษย์หลายคนเริ่มที่จะห่างเหินจากสังคม  และเก็บตัวมากขึ้น โดดเดี่ยวมากขึ้น สาเหตุหลักๆ เพราะ หลายคนชอบการสื่อสารออนไลน์มากกว่าสื่อสารกันในชีวิตจริง ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าอีกฝ่ายอีกด้วย

    มีรายงานการวิจัยที่น่าเชื่อว่าความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์นั้นอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในโลกแห่งความจริง โดยอาจทำให้เกิดความรู้สึกเพิกเฉยต่อบุคคลอื่นหรือเรื่องใดๆ ก็ตามที่รู้สึกเบื่อ จนสร้างกำแพงขึ้นในบทสนทนาจริง ในขณะเดียวกัน การแชตในโลกออนไลน์นั้นยังมีเวลาคิดที่จะพิมพ์ตอบโต้นานกว่าการสนทนาหน้าต่อหน้า ซึ่งอาจทำให้ติดนิสัยในการสื่อสารมรชีวิตจริงตามมา

    ผลของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ทำให้สังคมมนุษย์เริ่มเปลี่ยนไป การสื่อสารบนโลกออนไลน์ได้กลายเป็นอีกสังคมที่สำคัญเที่ยวเท่ากับชีวิตจริง  ในขณะเดียวกันโลกเสมือนจริงทำให้ทุกคนหนีโลกของความจริงมากขึ้น โดดเดี่ยวมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์น้อยลง มารยาททางสังคมเริ่มตกต่ำลง (ยกตัวอย่าง บางคนเช็คไอโฟนระหว่างกำลังทำพิธีศพ)  

    คาชิวากิ อาตารุ เด็กมัธยมปลาย ปี 2 พระเอกใน Real Account ก็เป็นหนึ่งในคนหลายแสนคนที่หลงใหลโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ Re-ake หรือ Real Account บริการโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ใหญ่ที่สุดและมีสมาชิกมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (ในการ์ตูน) จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตสมัยใหม่


     

    มือถือพระเอกทันสมัยกว่ามือถือของผมอีก

     

    อาตารุค่อนข้างมีฐานะยากจน พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ทำให้ปัจจุบันเขาต้องอยู่อาศัยกับ “ยูริ” (ไม่น่ามีพลังจิต) น้องสาวเพียงคนเดียวของเขา ลำพัง และด้วยความโศกเศร้าตั้งแต่เด็ก และความจนนั้นเองทำให้อาตารุไม่คบหากับคนอื่น ไม่ไปเที่ยวเล่น อยู่คนเดียวตลอด ไม่เคยเปิดใจให้ใครเลย

    และด้วยความโดดเดี่ยวนั้นเอง สิ่งที่เป็นเพื่อนกับอาตารุก็คือโทรศัพท์มือถือ (พูดตามตรงน่ะ มือถือของพระเอก ทันสมัยกว่าโทรศัพท์มือถือผมเสียอีก แสดงให้เห็นว่าโทรศัพท์มือนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของชีวิตในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่นไปแล้ว) แน่นอนว่าโทรศัพท์มือถือของอาตารุไม่ได้ใช้ติดต่อคุยกับเพื่อนในชีวิตจริงแน่นอน แต่โอตารุใช้โทรศัพท์มือถือเล่น Real Account ด้วยการเขียนบล็อกชีวิตประจำวันของตนเอง (อาตารุโกหกให้คนในโลกออนไลน์เชื่อว่า เขาดูดี เช่น ใช้ชื่อปลอม ใช้ฐานะปลอม และมีแฟนแล้ว  เป็นต้น) ซึ่งในโลกออนไลน์เขามีเพื่อน (คนติดตาม) ถึง 1540 คน  และนั่นเองทำให้โอตารุคิดว่าทุกคนในโซเชียลคือ “เพื่อนแท้” ของเขา ดีกว่าโลกจริงที่เขาไม่มีเพื่อนเลยแม้แต่คนเดียว

    จนกระทั่งวันหนึ่งในวันที่อาตารุกลับบ้าน กำลังเล่นเกมและคุยกับน้องสาวอยู่นั้น จู่ๆ โทรศัพท์มืดถือก็ปล่อยแสงประหลาดขึ้น  แล้วทุกอย่างก็มืดลง

    อาตารุรู้สึกตัวอีกที เขาก็พบหลุดเข้ามายังโลกของ Real Account (โลกอย่างกับ Summer Wars) ซึ่งเข้าไปเฉพาะคลื่นสมอง ส่วนร่างกายยังอยู่ในโลกแห่งความจริง ในนั้นยังมีคนที่ประสบชะตากรรมเดียวเขาอีก 10,000 (รวมทั้งอาตารุ) รวมกันที่นี่โดยไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงเข้ามาโลกแห่งนี้ได้

    ทั้ง 10,000 คนที่เข้ามายังโลกแห่งนี้ ล้วนเป็นผู้ชื่นชอบเล่น Real Account ทั้งสิ้น หลายคนเป็นไอดอลอินเทอร์เน็ตที่โด่งดัง

    ระหว่างอาตารุและทุกคนกำลัง งง ไม่ทราบสถานการณ์อยู่นั้น จู่ๆ มาร์เบิ้ล มาสค็อตของ Real Account ก็ได้ปรากฏตัว โดยบอกว่าทั้งหมด 10,000 คน ได้ถูกติดยังโลกนี้โดยสมบูรณ์ ไม่สามารถหนีหรือขัดขืนอะไรได้เลย ดังนั้นการที่จะได้กลับไปยังโลกแห่งความจริงนั้นมีวิธีเดียวก็คือต้องเล่นเกมกับเขาและต้องเคลียร์เกมให้สมบูรณ์ และที่แปลกคือสิ่งที่อยู่ในโลกแห่งนี้ได้ถูกถ่ายทอดให้ทุกคนชาวญี่ปุ่นในโลกแห่งความจริงได้เห็นสดๆ ทางเครือข่ายการสื่อสารทั้งหมดด้วย

    (ปกติเกมแห่งความตายมักปกปิดไม่ให้โลกภายนอกรู้ แต่ช่วงหลังๆ เกมแห่งความตายเริ่มวางเรื่องให้คนภายนอกรู้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนใกล้ชิดกับตัวเอกมีบทบาท เช่น พยายามช่วยเหลือพระเอกที่ติดยังโลกแห่งความตาย หรือดราม่าการรอการกลับมาของตัวเอก เป็นต้น)

     

     

    อย่างกับ Summer Wars

     

    แน่นอนกฎของเกมมีอยู่ว่าผู้เล่นเกมห้ามแพ้ เพราะถ้าแพ้อาจหมายถึงความตาย ถ้าคุณตายในเกม ในโลกแห่งความจริงคุณก็ตายไปด้วย และนอกจากนี้คนที่กดติดตามคนแพ้ก็จะตาย (กระอักเลือด) ตายไปด้วย และนอกจากนั้นหากจำนวนคนกดติดตามใน Real Account ของคนเล่นเป็น 0 คนนั้นก็จะตายเช่นกัน

                    และไม่พูดพร่ำทำเพลง เจ้ามาสคอตก็จัดการแสดงตัวอย่าง ด้วยการฆ่าคนแบบสุ่มหนึ่งคน  คนดวงซวยนั้นได้ตายแบบ งง ไม่ทันตั้งตัว และผลก็คือคนที่ติดตามคนซวยที่ (กว่า 520) ว่าล้วนตายอนาถตามคนซวยคนนั้นด้วย และนั้นเองทำให้คนเล่มเกมทั้งหมดไม่สามารถขัดขืนได้เลย ต้องเล่นตามเกมของเจ้ามาสคอตนั้นเท่านั้น เกมได้ควบคุมคนโดยสมบูรณ์แบบ


     

     

    พวกที่เอาแต่ยืนดู กับคนที่รักเราจริงๆ

     

    หลังเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อเป็นการไม่ให้เสียเวลา มาร์เบิ้ลก็ต้อนรับทุกคนด้วยเกมแรกอันแสนสนุกว่า "ผู้ติดตามของคุณจริงๆ คือใคร?" กติกาง่ายๆ โดยผู้เล่นเกมแทบไม่ต้องทำอะไรเลย โดยกำหนดเวลา3:00 นาที ในเวลานี้ คนที่อยู่นอกเกม (ทั้งโลกเกมและโลกแห่งความจริง) สามารถกดยกเลิกติดตามคนในเกมได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของชีวิตตัวเอง (เวลานี้คนเล่นเกมก็สามารถโทรศัพท์ไปขอเสียงจากคนภายนอก เช่นครอบครัว, เพื่อนสนิท หรือแฟน, หรือสั่งลาคนทางบ้านหรือคนรักก็ได้ตามสะดวก)

    แม้จะเป็นกติกาง่ายๆ แต่คอนเซ็นป์ของเกมนี้นั้นมันโหดร้ายสิ้นดี เพราะเป้าหมายมาร์เปิ้ลไม่ได้ต้องการผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่มันเป็นเกมทดลองทางสังคมมนุษย์ที่ต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่า “มิตรภาพโลกออนไลน์น่ะมันไม่มีจริงหรอก” หรือ “มนุษย์ก็เป็นแบบนี้แหละ การคบหาสมาคมมันเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา คบกันเพียงแค่เรื่องเงิน ภาพลักษณ์ ความลุ่มหลง สุดท้ายมนุษย์ก็แค่สิ่งมีชีวิตที่คบกันเพียงแค่ผิวเผินเท่านั้นแหละ” ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ยอมเสี่ยงตายเพื่อเราหรอก

    แน่นอนว่าคนที่จะชนะเกมแรกนี้ได้ คนเล่นเกมจะต้องมีคนติดตามที่เป็นเพื่อนแท้ที่รักคุณมากๆ อาจเป็น ญาติพี่น้อง, เพื่อนตายเท่านั้น เพราะยากที่จะเป็นคนนอกจะมาเสี่ยงชีวิตติดตาม (ช่วย) ผู้เล่นเกมโดยไม่รู้ว่าจะชนะหรือเปล่า เพราะถ้าแพ้เท่ากับว่าลากตายด้วยกัน แบบนี้คงไม่คุ้มหรอก

    วินาทีที่ คนที่เลิกติดตาม ได้เกิดยืนดูผลขึ้น (Bystander Effect) เมื่อคนดูเหล่านั้นกดเลิกติดตามคนเล่นเกม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่คือทำไมพวกเขาต้องเสี่ยงกับคนที่ไม่รู้จักด้วย ไม่อยากตายพร้อมกับคนที่ไม่รู้จักหรอก  

    นอกจากนี้คนที่เลิกติดตามเหล่านั้นแทบไม่รู้สึกผิดแม้แต่น้อยว่าตนเองนั้นแหละเป็นเหตุทำให้คนๆ นั้นต้องตาย พวกเขาเหล่านี้ได้สร้างเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึกผิด (หรือเป็นฆาตกร) ไปด้วย เป็นต้นว่า

    -แน่นอนว่า “แค่เพื่อนออนไลน์ไม่เป็นไรหรอก” และ “เราไม่อยากตายเพื่อใครสักหน่อย” (“ตนเองรักชีวิตของตนเอง ทำไมต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงเพื่อคนไม่รู้จักด้วย”) ถือว่าเป็นเหตุผลเพื่อให้ตนไม่รู้สึกผิดมากที่สุด

    -“เลิกติดตามดีกว่า เพราะพวกนั้นคงมีผู้ติดตามเหลือซักคนแหละ” (เทียบกับ “เดี๋ยวก็มีคนมาช่วยเหลือ”)

    -“เลิกติดตามดีกว่า หมอนั้นคงไม่เป็นไรหรอก มันมีพ่ออยู่แล้วนี้น่า” (หากเปรียบกับชีวิตจริง ประมาณเป็นหน้าที่ของตำรวจ ไม่ก็เดี๋ยวญาติคงมาช่วยแน่ๆ)

    เพียงแค่เกมแรก ก็มีคนตายหลายพันคน ภายในไม่กี่วินาที  คนที่ตายนั้นมีหลากหลาย (ทุกเพศ ทุกวัย) และสาเหตุที่เลิกติดตามก็ เช่น พวกไม่มีญาติพี่น้องคนรักเลยแม้จะมีคนติดตามเป็นพัน แต่พวกเขาเหล่านั้นเลิกติดตามอย่างรวดเร็ว จนผู้เล่นมากมายต้องตาย เพราะคนติดตามเหลือ 0  บางคนมีแฟน แต่แฟนก็ไม่อยากจะเสี่ยงด้วย เลยกดเลิกติดตาม แต่ที่เจ็บแสบที่สุดคือผู้เล่นบางคนโดนครอบครัวตัดหางปล่อยวัด เลิกติดตาม เหมือนส่งลูกแท้ๆ ของตนไปตายด้วยซ้ำ (เพราะทำตัวเป็นนีท ไม่ทำงานทำการ เอาแต่เล่นเน็ต ครอบครัวก็ไม่อยากจะยุ่งด้วย)

     

     

    ชอบฉากนี้
     

    แต่ที่แสบ (และอยากถีบ) ที่สุดคือ “เพื่อนกิน” ที่คนเล่นเกมอุตส่าห์โทรไปขอร้องอ้อนวอนว่าช่วยกดติดตามหน่อยไม่งั้นตนตายแน่ แต่เพื่อนกินกับตอบด้วยเสียงเย็นชาว่า “แล้วไง” มันเป็นอะไรที่เจ็บปวดใจสุดซึ้งจริงๆ สำหรับมิตรภาพแบบนี้

                    ท่ามกลางความวุ่นวาย ทางด้านพระเอกที่เชื่อมั่นโดยตลอดว่าเพื่อนในโลกออนไลน์คือเพื่อนแท้ แต่เพราะเกมแห่งความตายนี้ พระเอกก็ได้รู้ซึ้งว่า มิตรภาพระหว่างพวกเขาเป็นเพียงแค่ “เพื่อนเทียม” เมื่อยอดติดตามของพระเอกลดลงอย่างรวดเร็ว  (ซ้ำบางคนจะส่งข้อความ “ขอโทษ” ที่แสนจะเจ็บปวดอีกต่างหาก)

    มิตรภาพโลกออนไลน์ ก็เป็นเพียงมิตรภาพโลกใร้ตัวตน ที่อีกฝ่ายไม่เห็นหน้ากันอีกฝ่าย ใส่หน้ากากเข้าหากัน ไม่แตกต่างอะไรกับคบกับคนแปลกหน้าเลยแม้แต่น้อย คบกันเพียงแค่เลือกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเป็นเพียงแค่ผลประโยชน์บางอย่าง (ยอดรีวิว, ยอดโหวต ฯลฯ) แม้ยามที่พระเอกเป็นมิตร หรือโดดเดี่ยวจะได้กำลังใจอย่างล้นหลามจากเพื่อนออนไลน์ หากแต่ผลสุดท้ายเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนจริงๆ พวกเขาต่างหนีหายเกลี้ยง

    ยอดติดตามของพระเอกลดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเหลือ 1 คนที่ยังไม่คิดจะเลิกติดตามพระเอก  และนั้นเองทำให้พระเอกได้รู้สึกตัวว่าคนที่เป็นห่วงเป็นใยเรานั้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด นั้นก็คือน้องสาวของเขานั้นเอง (ดูจนถึงตอนนี้ ทุกท่านหันมามองตัวเราบ้างหรือเปล่า ในขณะที่เราหมกมุ่นอยู่กับโลกออนไลน์อินเทอร์เน็ตมากเกิน เคยที่จะสังเกตคนใกล้ตัวเราหรือไม่ ในขณะที่เราทำกิจกรรมครอบครัว เราเอาแต่กดคอม กดไอเฟค โทรศัพท์หาเพื่อน เคยคิดบ้างไหมว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้ความสัมพันธ์ครอบครัวห่างเหินขนาดไหน โลกอินเทอร์เน็ตทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราและครอบครัวและคนใกล้ตัวในชีวิตจริงลดน้อยถอยลง ทั้งๆ ที่ครอบครัวนั้นรักเรามากขนาดไหน  เวลาเดือดร้อนจริงๆ สิ่งที่พึ่งก็มีแต่ครอบครัวของเราเท่านั้นครับ อย่าหวังให้คนนอกมาช่วยเหลือเลย จ้างให้ก็ไม่ช่วย ดังนั้นเราควรเอาใจใส่พวกเขามากๆ พยายามให้เวลากับครอบครัวสักนิดบ้าง อย่าให้อินเทอร์เน็ต และมือถือเป็นสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้เปราะบางลง)

    เมื่อพระเอกรู้ว่าน้องสาวเป็นเพียงคนเดียวที่กดติดตามเขาอยู่ หากแต่ด้วยความเป็นพี่ชาย เขาก็ไม่อยากให้น้องสาวมาเสี่ยงอันตรายด้วย   และนั้นเองทำให้พระเอกบล็อกน้องสาวของตน เพื่อกันเธอไม่เกี่ยวข้องกับเกม ซึ่งถือว่าการกระทำของพระเอกนั้นเป็นส่วนน้อยจริงๆ ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวยิ่งกว่าชีวิตตนเอง

    พระเอกจัดการบล็อกน้องสาวของตนด้วยน้ำตานองหน้า และเตรียมใจที่จะตายอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าเขายังคงมีชีวิตอยู่ เนื่องด้วยมีบุคคลปริศนาผู้หนึ่งได้กดติดตามพระเอกมในวินาทีสุดท้าย ทำให้พระเอกรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด (พระเอกไม่ไปกดเข้าไปดูเลยเหรอว่าเป็นใคร)

    และแล้วก็หมดเวลา ผลปรากฏว่าจากคน 10,000 คน มีผู้รอดชีวิตจากเกมแรกเพียง 4,684 คนเท่านั้น (ที่น่าตกใจอีกคือ คนรอดชีวิตเกมแรกเพราะมีบางคนที่มีคนติดตามเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่คนติดตามเหล่านี้ไม่ได้เป็นญาติหรือแฟนอะไรเลย หากแต่คนที่เล่นเกมนั้นเป็นไอดอลอินเทอร์เน็ต ที่แฟนผลงานคลั่งสุดๆ แสดงให้เห็นว่าแม้โลกอินเทอร์เน็ตจะเป็นโลกมิตรภาพไร้ตัวตน สำหรับไอดอลอินเทอร์เน็ตแล้วมันเป็นคนละเรื่องกัน พวกเขากลับเป็นสัญลักษณ์เทิดทูนบูชาจากใครหลายคน คนนอกเหล่านี้ต่างฝากชีวิตตนเพื่อปกป้องไอดอลของพวกเขา โดยไม่สนใจชีวิต ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ หรือรู้ตัวจริงไอดอลที่เขารักด้วยซ้ำ)

     


     

     

    แค่เกมแรกพระเอกเกือบไม่รอดแล้ว

     

    หลังจบเกมเจ้ามาร์เบิ้ลที่สะใจที่หลายคนเล่นไปตามเกมของมัน ก็ยังกวนประสาททั้งผู้เล่นและผู้ดูอย่างเจ็บแสบด้วยการพูดว่า “คนที่ตายไปน่ะ คือคนที่ไม่มีใครต้องการ ส่วนคนที่เลิกติดตามน่ะทำเป็นเสียใจและร้องไห้ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนฆ่าพวกเขาแท้ๆ”

    อย่างไรก็ตาม พระเอกไม่คิดที่จะยอมแพ้ หรือสิ้นหวังกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ตราบใดที่ยังมีคนต้องการเราอยู่ ยังมีคนที่รอให้เขากลับอยู่ เขาก็จะสู้ต่อไป แม้ว่าหนทางข้างหน้าจะยากลำบากก็ตาม

    เกมแห่งความตายกำลังเริ่มต้นเท่านั้น

    ความเพิกเฉยของผู้เห็นเหตุการณ์ (bystander effect) หรือ “คนมุง” เป็นสิ่งที่พบบ่อยๆ ในการ์ตูนญี่ปุ่น แน่นอนว่ามีมีอยู่จริงในโลกจริงๆ ของเรา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เรามักเห็นบ่อยในฉากการ์ตูน ที่ผู้หญิงเพียงคนเดียวโดนจิ๊กโก๋หลายคนมารุมล้อม จะลวนลาม แล้วคนรอบๆ แม้จะเห็นเหตุการณ์แต่ก็ไม่เข้าไปช่วยเหลือ

    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ทำไมฉากเหล่านี้ถึงมีให้พบเห็นบ่อยๆ ในแนวรักๆ ฮาเร็มน่ะเหรอ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเป็นพระเอกนั้นเอง ท่ามกลางคนมุงเหล่านั้นยังมีเป็นคนดี ที่เห็นใครเดือดร้อนไม่ได้ ก็จะพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่ห่วงตนเอง นั้นก็คือ “พระเอก” (หลังๆ จะมี นางเอก มาช่วยเหลือพระเอกซะงั้น)  และแน่นอนสิ่งที่ตามมาก็คือพระเอกต้องพบเรื่องป่วนๆ วุ่นว่ายตามมา จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวในที่สุด

    บางเรื่อง พระเอกที่มีชีวิตเป็นผู้แพ้ ตอนแรกเขาเห็นผู้หญิงถูกทำร้ายก็ไม่คิดช่วยเหลือ และเดินผ่านไปด้วยซ้ำ หากแต่เมื่อเดินไม่กี่ก้าว พระเอกก็เริ่มรู้สึกผิด คิดว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ก่อนที่จะเลี้ยงกลับมาช่วยเหลือผู้หฯง แม้ตนจะได้รับอันตรายก็ตาม (และนำพาสู่เรื่องราวของเรื่องในที่สุด)

    พระเอกอาตารุอาจเป็นพระเอกที่ล้มเหลวทางสังคม (ไม่มีเพื่อนเลย) และเคยเป็นคนสิ้นหวังในชีวิตมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เดิมพันด้วยชีวิต อยู่ร่วมกับคนที่มีชะตากรรมเดียวกัน โอตารุก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นพระเอก เมื่อเขาออกมากล้าที่จะด่า “มาร์เบิ้ล” แบบตรงๆ (ชนิดคนนับพันไม่กล้าทำอาตารุ)

    และหลังจากนั้นอาตารุก็จุดศูนย์กลางแบบที่ตัวเองไม่รู้ตัวมาก่อน เจ้ามาร์เบิ้ลเริ่มรู้แล้วว่าอาตารุเป็นตัวอันตราย เป็นคนที่ไม่เหมือนคนอื่น ท่ามกลางมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว และพวกที่เอาแต่ดูเฉยๆ แต่โอตารุนั้นผิดแผกไป มีความคิดที่จะช่วยเหลือผู้เล่นคนอื่นนอกจากตนเอง ทั้งๆ ที่อาตารุเป็นเพียงคนธรรมดา ไม่ได้ฉลาด ไม่ได้เลิศ ตัวเองก็ไม่รู้จะรอดหรือเปล่า แต่พระเอกคงยอมรับตัวเองไม่ได้ที่จะเป็นพวกเอาแต่ยืนดูเห็นคนกำลังจะตายต่อหน้าต่อตาแล้วไม่ช่วยเหลือ นี่แหละพระเอกวีรบุรุษของจริงที่หล่อทั้งกายและจิตใจ

    สรุป bystander effect มีไว้ให้พระเอกโชว์หล่อก็ไม่ผิดนัก

    Real Account เป็นการ์ตูนเกมแห่งความตายที่น่าสนใจ บวกกับคนเขียนผลงานที่ผ่านมาก็ประทับใจพอสมควร ซึ่งก็หวังว่าช่วงหลังและตอนจบจะไม่ปาหมอนเสียก่อน เหมือนการ์ตูนแนวเกมแห่งความตายหลายเรื่องก่อนหน้าน่ะ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×