ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเทคนิคการเป็นนักเขียนออนไลน์

    ลำดับตอนที่ #20 : - เตรียมตีพิมพ์ ! -

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 874
      11
      12 พ.ค. 55

    - เตรียมตีพิมพ์ ! -

     

    เรื่องการได้ตีพิมพ์ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของนักเขียนมือใหม่ทั้งหลาย หากท่านคิดว่าพร้อมแล้วก็เตรียมตัวที่จะส่งได้ ! ทว่าก่อนที่จะส่งมีสิ่งที่ต้องคำนึงอะไรบ้าง ? บทความนี้จะพูดถึงสิ่งเหล่านี้กัน

    แต่งนิยายให้จบ อย่าพึ่งหวังว่าแต่งไม่จบแล้วเขาจะรับ ถ้ามันเกิน 200 หน้าไปแล้ว อันนี้ก็แล้วแต่พิจารณา แต่ถ้าจะส่งก็อย่าลืมส่งเนื้อเรื่องย่อจนจบไปด้วย โดยนอกจากนี้มีข้อแนะนำของสนพ.มาอีกว่า หากเรื่องยาวสามารถส่งมาทีละภาคให้พิจารณาได้ แต่ตรงนี้ต้องความเข้าใจตรงกันว่า แต่ละภาคต้องจบในตัวของมันเองจริง ๆ หากมีเรื่องต้องติดตามต่อในช่วงก่อนหน้าหรือหลังจากนี้จะไม่เข้าข่าย ซึ่งแบบนั้นจะถูกเรียกว่า 'บท' ไม่ใช่ 'ภาค' อาจจะมีได้สำหรับประเด็นเล็ก ๆ แต่ถ้าเป็นปมใหญ่จะเป็น 'บท' ในทันที

    สรุป: ภาคในความหมายตรงนี้หมายถึงเรื่องที่เริ่มและจบในตัวของมันเอง โดยไม่ต้องอ่านภาคอื่นก็เข้าใจได้ ถ้าต้องอ่านถึงรู้เรื่องจะเข้าข่าย 'บท' ไม่ใช่ภาค

    รีไรท์ให้เรียบร้อย ในที่นี้หมายถึงการตรวจเช็คทุกอย่างของเรื่องที่เราแต่ง เช่นเรื่องของคำผิด อิโมติค่อน หรือภาษาวิบัติ โดยอิโมติดค่อนแนะนำให้เอาออกเพราะมีเพียงแค่ไม่กี่สนพ. เท่านั้นที่ยินยอมให้มีอยู่ในนิยาย ส่วนภาษาวิบัติลบทิ้งได้เลยเพราะไม่มีสนพ. ไหน รับแน่ และจำนวนหน้าแนะนำให้อยู่ราว 100-150 หน้า เพราะจำนวนนี้จะเป็นจำนวนหน้าที่เหมาะสมกับที่จะตีพิมพ์หนึ่งเล่ม หากน้อยกว่าหรือมากกว่ามีโอกาสสูงที่สนพ. คิดจะไม่รับ (ระวังสนพ.ซึนเดเระปากบอกว่าไม่สนแต่แท้จริงสน !) นอกจากนี้ฟอร์แมทก็สมควรทำให้ถูกต้องเขียนใน  MS Word โดยใช้ฟอนท์ Cordia New 14 (เปลี่ยนแปลงตามแต่สนพ. แต่ส่วนใหญ่จะราว ๆ นี้) กด Tab ทุกครั้งที่ขึ้นบรรทัดใหม่ และมีการใช้ตัวอักษรซ้ำเช่น !!! ??? ... ๆๆๆ ฮว๊ากกก ไม่เกินสามตัว

    แนะนำ: อาจจะง่ายกว่าหากตั้งธงตั้งแต่ต้นว่าจะแต่งนิยายให้ได้ราว 100-150 หน้า และไม่ใช้อิโมติค่อนหรือภาษาวิบัติลงไป รวมถึงใช้ฟอร์แมทที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น

    เตรียมไฟล์ที่จะส่ง จุดนี้พื้นฐานมีอยู่ด้วยกัน 3 ไฟล์ คือ เนื้อหา เนื้อเรื่องย่อ และ แนะนำตัว โดยเป็นไฟล์ MS Word มีฟอร์แมทตามที่แนะนำไปข้างต้น ซึ่งอาจจะบีบอัดลงไปในไฟล์ Zip จนเป็นไฟล์เดียว หรือส่งพร้อมกันทั้ง 3 ไฟล์ก็ได้แล้วแต่ สนพ.ต้องการ โดยทั้ง 3 ไฟล์ควรมีข้อมูลดังต่อไปนี้

    เนื้อหา เป็นการเอาเนื้อหาทั้งหมดใส่ลงไปในไฟล์เดียว

    เนื้อเรื่องย่อ ไม่ใช่คำเกริ่นให้อยากอ่าน หรือพล็อตเรื่องสั้น ๆ แต่ควรจะเป็นเนื้อหาสรุปเนื้อเรื่องทั้งหมดลงไปโดยไม่มีกั๊ก (เพราะบางทีบก.จะอ่านตรงนี้ก่อนเนื้อหาเพื่อความรวดเร็ว) สำหรับคนที่ส่งเนื้อเรื่องที่ยังไม่จบไป ก็ควรที่จะเขียนถึงจนจบเรื่อง ส่วนคนที่มีหลายภาค... อันนี้ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละคน ถ้ามันน่าสนใจก็อาจจะเขียนไป แต่บางทีอาจจะยิ่งทำให้บก.คิดว่าไม่เห็นสนุกเลย ยืดเยื้อไป ไม่มีทางเขียนจบหรอก ก็อย่าเขียนไปจะดีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นแยกให้ดีว่าส่วนไหนเขียนแล้วหรือยังไม่เขียนด้วยล่ะ !

    แนะนำตัว เป็นอีกไฟล์ที่สำคัญ ควรจะเขียนชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และช่องทางที่สามารถติดต่อได้ เพื่อให้สนพ. ใช้มันในการติดต่อกลับมาหากนิยายผ่านการพิจารณา

    แนะนำ: เตรียมไว้ 3 ไฟล์ เนื้อหา เนื้อเรื่องย่อ แนะนำตัว โดยไฟล์แนะนำตัวอาจจะนำมารีไซเคิลใช้กับเรื่องอื่นใหม่ได้

    เลือกสำนักพิมพ์ จุดนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ระวังให้ดีสนพ. ซึนเดเระ บอกว่ารับทุกแนวแต่แท้จริงไม่ใช่ ! แม้จะเจาะจงแนวว่านิยายรัก หรือแฟนตาซี แต่มันก็มีแยกย่อยยิ่งกว่านั้น ! แฟนตาซีเกาหลี ดาร์คแฟนตาซี หรือแนวรักแบบต้องมีฉาก NC สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีใครมาบอกกัน ดังนั้นถ้าอยากรู้ก็ควรที่จะศึกษาว่าสนพ.นั้นตีพิมพ์แนวไหนออกมาบ้าง อย่างไรก็ตามหากจะแหกข้อลองส่งนิยายแนวเดียวกันแต่ไม่ตรงหมวดย่อยก็อาจจะทำได้ นอกจากนี้ลองเช็คชื่อเสียงให้ดี สนพ.ที่โกงคนแต่งก็มี เช่นอรุณสวัสดิ์ที่ปิดตัวไปแล้ว (ทว่ามีน้อย ถ้าเป็นสนพ.ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วจะไม่ทำกันหรอก) หรือบางสนพ.เจรจาเรื่องปกเองไม่ได้ จนได้ปกที่ไม่ถูกใจก็มีด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วท่านไม่มีสิทธิ์เลือกหรอก เพราะกว่าจะหาสนพ.ที่ให้นิยายเราผ่านนั้นมันช่างยากเย็นยิ่งนั้น ดังนั้นอย่าเรื่องมาก !

    อย่างไรก็ตามถ้าเคยตีพิมพ์กับสนพ.ไหนไปแล้ว ผลงานใหม่ส่งกับสนพ.นั้นก็ได้ รับรองว่าจะผ่านง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

    แนะนำ: การเลือกสนพ. ควรที่จะดูว่าสนพนั้นออกแนวอะไรมาหากเรื่องที่เขียนตรงแนวที่สนพ.นั้นวางจำหน่าย ก็ส่งสนพ.นั้นได้เลย

    ส่งทีละสนพ. อันนี้ถือเป็นธรรมเนียมที่ต้องส่งทีละสนพ. เท่านั้น ไม่สมควรที่จะหว่านแห... แม้จะมีคำอธิบายว่าจะทำให้สนพ.เสียโอกาส หากอุตส่าห์พิจารณามาแทบตายแต่กลับโดนปฏิเสธเพราะผ่านกับอีกสนพ.ไปล่วงหน้าแล้ว ทว่าทางฝ่ายนักเขียนก็บ่นเหมือนกันว่าจะให้ทำเช่นนี้ไปทำไม เพราะกว่าจะรู้คำตอบก็รอตั้งหลายเดือนทำให้นักเขียนเสียโอกาสกับสนพ.อื่นที่อาจจะเราผลงานเขาในทันที แต่ถึงกระนั้นก็ต้องจำใจทนส่งทีละสนพ.ไป เพราะวงการนี้แคบ ถ้าหว่านแหมากไปเขาอาจจะร่วมแบล็กลิสต์เราจนไม่ยอมตรวจผลงานเราก็ได้นะ

    แนะนำ: เพราะว่าส่งได้ทีละสนพ. แถมกว่าจะรู้ผลว่า 'ไม่ผ่าน' ก็ใช้เวลายาวนานยิ่งนัก ดังนั้นแนะนำให้ว่าระหว่างที่รอ ก็เขียนเรื่องอื่นรอไปก่อนน่าจะดีกว่า

    ส่งไปแล้วก็เตรียมรอเมลตอบรับ โดยปรกติเมลตอบรับว่าได้รับต้นฉบับแล้วจะถูกส่งกลับมาภายในวันรุ่งขึ้น หากติดเสาร์อาทิตย์ก็มักจะโผล่มาในวันจันทร์ ทว่าหากไม่ได้เมลแจ้งกลับภายในหนึ่งสัปดาห์ให้ส่งกลับไปใหม่โดยทันที (แต่เช็คช่องเมลขยะก่อนนะ เพราะอาจจะไปหล่นอยู่ในช่องนั้นก็ได้) และหากคิดว่ามีปัญหาแล้วขี้เกียจส่งไปใหม่ก็สามารถส่งเมลเพื่อไปขอยกเลิกต้นฉบับได้

    แนะนำ: เวลาส่งอะไรไปให้ใส่ชื่อเมลของตนเองเวลาที่ส่งเมลนั้นไปด้วย เพราะหากมีปัญหาอะไรจะสามารถใช้เมลนั้นมายืนยัน หรือใช้มันเพื่อส่งไปใหม่อีกรอบได้

    รอและส่งเมลไปทวงถาม สำหรับการพิจารณาต้นฉบับ โดยปรกติแล้วจะใช้เวลา 3-4 เดือน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอถึงตอนนั้น หากผ่านไปจนถึงเกือบเวลาที่กำหนดก็สามารถส่งเมลไปทวงถามความคืนหน้าต้นฉบับได้ เพราะบางทีทางสนพ.อาจจะลืมหรือทำผลงานของเราตกหล่นไปได้ อย่างไรก็ตามหากเกินเวลากำหนดแล้ว หรือส่งเมลไปทวงถามแต่ไม่มีการตอบกลับอะไร แนะนำให้ว่าส่งเมลเพื่อไปขอยกเลิกต้นฉบับแทนเพื่อที่จะส่งสนพ.อื่นต่อไป

    แนะนำ: ไม่ต้องเกรงใจจนเกรงกลัว หากผ่านไประยะนึงแล้ว อย่าลืมที่จะส่งเมลไปทวงถามความคืบหน้าของการพิจารณาต้นฉบับ

    เรื่องปก เรื่องเงิน เรื่องสิทธิ์ในนิยาย สิ่งนี้เป็นเรื่องที่หลายคนสนใจ โดยมันเป็นนโยบายของแต่ละสนพ. ซึ่งเรื่องเงินจะมีวิธีการคิด 3 แบบ คือ หักเปอร์เซ็นต์จากยอดพิมพ์ หักเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย และเหมาจ่าย ซึ่งจุดนี้จะเรียงลำดับจากมากไปน้อยโดยสนพ.ใหญ่มันจะเป็น หักเปอร์เซ็นต์จากยอดพิมพ์ เสียมากกว่า ส่วนเรื่องปก แล้วแต่สนพ.เช่นกัน บางครั้งอาจจะเสนอปกเองได้ หรือเลวร้ายที่สุดแค่เพียงส่งคอนเซปต์ไปให้อีกฝ่ายวาดตาม ซึ่งตรงนี้ก็เพราะสนพ.ไม่อยากให้คนเขียนไปวุ่นวายกับคนวาดนั่นเอง เพราะหลายสนพ.เคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้ว ส่วนเรื่องสุดท้ายคือสิทธิ์ในนิยาย โดยปรกติสิทธิ์ในนิยายจะเป็นของคนเขียน ทว่าสิทธิ์ในการตีพิมพ์คือของสนพ. ดังนั้นลองตรวจสอบให้ดีว่าสิทธิ์ของตัวนิยายอยู่ที่ใคร ถ้าอยู่ที่สนพ. ก็แปลว่ามีโอกาสจะโดนอีกฝ่ายโกงได้เช่นกัน

    แนะนำ: อย่าพึ่งสนใจมาก เพราะเอาเข้าจริงการหาสนพ.ที่รับต้นฉบับของเรามันยากเสียยิ่งกว่ายากซะอีก

    ................

    สำหรับการส่งนิยายให้สนพ.พิจารณาเพื่อตีพิมพ์ก็มีแค่นี้ ทว่านอกจากนี้ยังมีการตีพิมพ์เองอีก ซึ่งขอแนะนำให้ดูข้อมูลเพิ่มได้ที่ http://group.dek-d.com/handmadebook/

    ทว่าแนะนำสักเล็กน้อยว่า... อย่าตีพิมพ์เยอะ ให้ตีพิมพ์เท่าที่จะมีคนซื้อเท่านั้น

    แม้ว่าสั่งพิมพ์จำนวนมากจะราคาถูกกว่าสั่งพิมพ์น้อย ๆ เป็นหลายเท่า (เช่นจาก 100 บาทเหลือ 50 บาท) แต่จำนวนเงินที่ต้องลงทุนทั้งหมดก็เยอะกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ หากไม่รู้จักสายส่งหนังสือก็ไม่สามารถวางขายให้คนทั่วไปซื้อหาได้ ดังนั้นจึงไม่มีทางขายได้อย่างเด็ดขาด และสายส่งเองก็เก็บเปอร์เซนต์จากราคาปกด้วยเช่นกัน ไหนจะมีส่วนการตัดสินใจในเรื่องปกอีก จึงทำให้ควรมีผู้รู้แนะนำในเรื่องนี้อยู่เสมอ

    แนะนำ: หนังสือทำมือ ควรสั่งพิมพ์ตามจำนวนคนที่จะมาซื้อ อย่าคิดว่าต้นทุนต่อเล่มต่ำสุดแล้วสั่งพิมพ์ไปตามนั้น มันจะเจ๊งเอาได้

    ................

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×