คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : - ภาษาที่ใช้คือความสนุกของเรื่อง: บทบรรยาย -
- ภาษาที่ใช้คือความสนุกของเรื่อง: บทบรรยาย -
บทบรรยาย เป็นสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหลักของนิยาย และอาจจะดูได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าบทพูดเสียอีก เพราะนิยายไม่จำเป็นที่จะต้องมีบทพูดก็ได้ แต่สำหรับบทบรรยายไม่สามารถที่จะขาดได้เลย เพราะหากไม่มีมันจะกลายเป็น "นิยายเชิงทดลอง" ไปแทน ซึ่งไม่ใช่นิยายจริง ๆ ดังนั้นบทบรรยายจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการใช้บทบรรยายสามารถใช้ได้ดังโอกาสดังต่อไปนี้
ใช้บทบรรยายเป็นตัวดำเนินเรื่อง เป็นเรื่องปรกติที่หลายคนจะใช้สิ่งนี้ในการเขียนนิยายเพื่อบอกว่าตัวละครไปที่ไหนทำอะไร อย่างไร และเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว
ใช้บทบรรยายเป็นตัวเชื่อม สำหรับสิ่งนี้ค่อนข้างจะพบได้ว่าเป็นสิ่งที่ขาดในผู้เขียนมือใหม่อยู่มาก เวลาเปลี่ยนฉาก หรือเปลี่ยนเหตุการณ์ก็จะตัดฉากไปดื้อ ๆ เหมือนกับสคริปหนัง หรือคำบรรยายเวลาเปลี่ยนฉากในหนังสือการ์ตูน นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะมันจะทำให้อารมณ์ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงทำให้คนอ่านตามเรื่องไม่ทันได้ ดังนั้นจึงควรจะใช้คำบรรยายระบุว่ากำลังจะเปลี่ยนฉากแล้ว เพื่อสร้างความต่อเนื่องในอารมณ์ของผู้อ่านขึ้น รวมถึงหากจะต้องการเปลี่ยนอารมณ์อย่างกะทันหัน การใช้คำบรรยายด้วยจุดมุ่งหมายนี้ก็ใช้ได้ด้วยเช่นกัน
ใช้บทบรรยายเป็นตัวให้ข้อมูล อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญการให้ข้อมูล หลายคนมักจะให้ข้อมูลในบทพูด ซึ่งมันจะทำให้บทพูดนั้นดูยัดเยียดและผิดธรรมชาติไปได้อย่างไรก็ตาม การให้ข้อมูลในบทบรรยายเองก็มีขีดจำกัดของมันอยู่ ดังนั้นจึงไม่สามารถให้ข้อมูลที่มากจนเกินความจำเป็นได้ นอกจากนี้ต้องดูบริบทให้ดี หากเป็นฉากบู๊ตื่นเต้น การให้ข้อมูลควรจะน้อยและกระชับรวดเร็ว บางทีหากข้อมูลมากเกินไปก็ทยอยใส่หรือไม่ก็ไปใส่ในช่วงอื่นที่อารมณ์ของเรื่องเหมาะสมกว่าก็ได้
ใช้บทบรรยายแทนบทพูดหรือเหตุการณ์ที่ไม่สำคัญ เป็นสิ่งที่สำคัญเลยทีเดียว เพราะผู้เขียนมือใหม่หลายคนมักจะเขียนเรื่องที่ไม่สำคัญ ไม่มีนัยยะ หรือไม่สื่ออารมณ์หรือข้อมูลอันใดทั้งสิ้นลงไปในนิยาย เช่นครูเข้าห้องนักเรียนทำความเคารพ ซึ่งสามารถข้ามหรือบรรยายสั้น ๆ ได้ แต่บางคนก็จะจงใจเขียนให้มันละเอียดโดยเปล่าประโยชน์ ทางที่ดีควรจะข้ามมันไปเสีย เพราะมันจะทำให้เนื้อเรื่องเข้มข้นขึ้นและมีเนื้อมากกว่าน้ำได้
(แต่ถ้าเข้มข้นมากไป ถ้าช่วงหลังเข้มข้นน้อยลงจนทำให้ดูน่าเบื่อได้ ทั้งที่จริงมันไม่ได้น่าเบื่อขนาดนั้น - คำเตือนนี้สำหรับคนที่"โปร"ในการดำเนินเรื่องแล้วเท่านั้น ถ้าไม่โปรก็พยายามทำให้เข้มข้นมาก ๆ จะดีกว่า)
สรุป: การบรรยายเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกรณีที่ไม่อยากให้คนอ่านต้องมาเจอช่วงการดำเนินเรื่องที่น่าเบื่อ กำจัดช่วงที่น่าเบื่อทิ้งด้วยการบรรยายข้ามฉากนั้นไปจะทำให้นิยายของเรามีความเข้มข้นมากขึ้น
หลังจากที่ได้รู้ประโยชน์และวิธีการใช้บทบรรยายแล้ว ต่อมาดูเรื่องสิ่งที่ผิด ๆ ของการบรรยายดีกว่า
บรรยายมากใช่ว่าจะดี เท่าที่เคยอ่านมา มือใหม่หลายคนมักจะมีข้อผิดพลาดในการบรรยายอยู่เสมอ คือบรรยายมากจนเกินความจำเป็น บรรยายแค่สิ่งเดียวก็พูดละเอียดไปซะทุกเรื่องเช่นข้อมูลของตัวละคร ก็บอกละเอียดยิบตั้งแต่ทรงผมไปจนถึงเบอร์รองเท้าที่ใส่ จนทำให้บทบรรยายตัวละครเดียวยาวเป็นหน้า ๆ บางทีไม่เพียงแค่นั้น แค่ตอนเดียวตัวละครใหม่ก็โผล่มาถึงสามคน ก็บรรยายแบบนี้ไปเสียหมดทำให้มันยาวเกินความจำเป็น และทำให้อารมณ์ร่วมกับเนื้อเรื่องสะดุดได้ ดังนั้นบรรยายให้กระชับจะดีกว่า
ไม่ควรบรรยายในสิ่งที่ไม่จำเป็น อีกเรื่องหนึ่งที่เคยเจอด้วยเช่นกัน ดั่งตัวอย่างที่ยกข้างบน ทรงผมอะไร เบอร์รองเท้าอะไร นัยน์ตาสีอะไร ถ้าไม่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กว่าชาวบ้านจำเป็นหรือไม่ในการที่จะนำมาบอกมา ? หรือถ้าจะบอกว่าจะใช้เรื่องนั้นการระบุเอกลักษณ์ก็ขอบอกว่าคนอ่านไม่ได้มีความสามารถในการจดจำตัวละครที่แม่นยำกันทุกคน ดังนั้นถ้าสีนัยน์ตาเป็นเอกลักษณ์ก็จริง แต่โผล่มาห้าคนมีนัยน์ตาห้าสี คนอ่านก็จำไม่ได้หรอก ดังนั้นหลีกเลี่ยงมันไปจะดีกว่า
ระวังการบรรยายซ้ำซ้อน เรื่องนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เจอบ่อย ตัวอย่างเช่นบรรยายเรื่องของความมืดยามค่ำคืนเช่น "ดวงจันทร์ส่องแสงลงมาให้พื้นเบื้องล่างสว่างไสว เสียงของหมู่ไม้พริ้วไหวไปกับสายลม ลำธารสะท้อนแสงจนมีสีนวลราวกับจันทราที่อยู่เบื้องบน" จะ เห็นได้ว่ บรรยายดวงจันทร์ไปตอนต้นแล้ว พอบรรยายตอนอื่นเสร็จก็กลับมาบรรยายดวงจันทร์อีกที ซึ่งมันทำให้ยาวและมีความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น บางทีอาจจะรวมสองช่วงนี้เข้าไปในช่วงเดียวกันเลยก็ได้
ใช้คำเวลาบรรยายให้เหมาะกับแนวเรื่อง อันนี้เจอไม่ค่อยบ่อยมากนัก แต่ขอให้อยากระวังกัน ศัพท์ที่ใช้ควรเหมาะกับแนวนิยาย เช่นเขียนแฟนตาซีแนวเลิศหรูอลังการ คำบรรยายก็ควรจะพยายามหลีกเลี่ยงคำศัพท์วัยรุ่นหรือลูกทุ่งสักหน่อย หรือเขียนแนววัยรุ่นก็พยายามอย่าใช้ศัพท์หรูแบบแฟนตาซีมาในเรื่อง ยกเว้นแต่กรณีวัยรุ่นผสมแฟนตาซี หรือเป็นมุกที่จะเขียนในเรื่อง แบบนี้ก็ถือว่าอนุโลมให้ได้
ใช้บทบรรยายให้เหมาะกับจังหวะ เจอหลายครั้งเช่นกันกับกรณีแบบนี้ บางทีถึงฉากบู๊ตื่นเต้น กลับบรรยายรายละเอียดตัวละครที่โผล่เข้ามาอย่างละเอียดเป็นหน้า ๆ แบบนี้มันจะทำให้อารมณ์ของผู้อ่านชะงักได้ ดังนั้นพยายามควรจะหลีกเลี่ยงมันไปเสีย
สรุป: การบรรยายที่ดีไม่จำเป็นต้องมีมาก แต่ให้กระชับและเหมาะกับสถานการณ์ก็พอ
................
ความคิดเห็น