คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #8 : - ภาษาที่ใช้คือความสนุกของเรื่อง: บทพูด -
- ภาษาที่ใช้คือความสนุกของเรื่อง: บทพูด -
บทพูด เป็นองค์ประกอบหนึ่งของนิยาย ที่หลายคนคิดว่าจำเป็นที่ต้องมี... เปล่าเลย ! มันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ บทพูดไม่ว่าจะอะไรก็ตามมันสามารถเขียนแทนได้บทบรรยายทั้งหมด ดังนั้นหากจะต้องการเขียนบทพูด ควรจะตระหนักว่า บทพูดที่จะใส่ลงไปมีความสำคัญมากแค่ไหนถึงจะต้องใช้มันแทนที่จะเขียนคำบรรยายแทน
ทำให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครและนิยาย สิ่งนี้แม้จะเป็นสิ่งที่บทบรรยายทำได้ก็จริง แต่บทพูดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมที่แตกต่างจากนิยายได้ และหากมีอารมณ์ร่วมก็ทำให้คนอ่านรู้สึกอยากอ่านต่อ สำหรับการให้มีอารมณ์ร่วม บทสนทนาควรจะมีจังหวะจะโคน มีความขัดแย้งขึ้นในตัวบทสนทนา อย่าให้มันไหลเอื่อยเออออห่อหมกแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น และใส่สิ่งที่คนอ่านนึกไม่ถึงหรือไม่คาดฝันที่จะอีกฝ่ายจะโต้ตอบออกมา น่าจะช่วยให้บทสนทนานั้นมีความน่าสนใจมากขึ้นได้ เช่น
"สวัสดีครับ" "สวัสดีค่ะ" แบบนี้คือบทสนทนาที่น่าเบื่อ
"สวัสดีครับ" "สะ...สวัสดีค่ะ !" แบบนี้เริ่มจะมีความน่าสนใจขึ้นมาแล้วเพราะจะทำให้ผู้อ่านสงสัยว่าทำไมถึงตอบเช่นนั้นออกมา
ต่อมาคือการให้คนอ่านรู้สึกอินไปกับเรื่อง ส่วนนี้เป็นสิ่งที่บทบรรยายทั่วไปทำได้ยาก เพราะบทบรรยายจะเหมือนทำให้เราเป็นบุคคลที่สามซึ่งดูเหตุการณ์อยู่ห่างไกลเท่านั้น อาจจะมีบ้างที่ใกล้ชิดขึ้นด้วยการบรรยายความคิดของตัวละคร แต่นั่นก็ยังมีขีดจำกัด เพราะมันไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ แต่การใช้บทพูดเข้าร่วมจะสามารถทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับหลายคนได้โดยง่าย และหากให้คนผู้นั้นแสดงอารมณ์ออกมา จะทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วม และรู้สึกว่าตนเองอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ แทนที่จะอยู่ในที่ห่างไกลได้ด้วยเช่นกัน
ถัดมาคือการสร้างความลื่นไหลให้กับเนื้อเรื่อง บางทีบางจังหวะ การจะเปลี่ยนฉากเปลี่ยนเหตุการณ์ อาจจะทำได้ยากและรู้สึกขัด แต่บางครั้งการใช้คำพูดอาจจะช่วยเชื่อมระหว่างฉากได้ง่ายขึ้น แต่บางครั้งบทพูดใช่ว่าจะสร้างความลื่นไหลได้อย่างเดียว แต่มันอาจจะทำให้เกิด "การกระตุก" เวลาที่จะเปลี่ยนฉากได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ให้เหมาะสม
และสุดท้ายคือสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละคร บทสนทนานับได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละครได้เลยทีเดียว เช่นเดียวกับสำนวนที่ว่า "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล" บางครั้งเราเองก็อาจจะรู้สึกได้ว่าคนดังที่เคยเห็นหรือเพื่อนเราที่รู้จักมีลักษณะสำเนียงและสำนวนการพูดที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละครได้ไม่มากกว่าน้อย ทว่าอย่าพยายาม "ยัดเยียด" สำนวนให้กับตัวละครจนมากเกินไป เพราะมันจะไม่เป็นธรรมชาติเอาได้ บางทีอาจจะใช้แค่การนำเสนอลักษณะนิสัยหรือสรรพนามเรียกตัวเองหรือคนอื่นก็พอ ส่วนเรื่องการนำเสนอลักษณะนิสัยก็เช่น การพูดแบบห้วน ๆ แบบก้าวร้าว แบบขี้ขลาด แบบมั่นใจ ฯลฯ ซึ่งมันมีวิธีที่จะแสดงสิ่งเหล่านี้ลงไปในบทสนทนาอยู่แล้ว แต่ก็อย่างที่บอกไป อย่ายัดเยียดมัน เพราะความจริงถ้าให้ "ตัวละครมีชีวิต" มันก็จะแสดงออกมาด้วยตัวของมันเอง
สรุป: บทสนทนาที่ดีควรมีเพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านรับรู้อะไรบางอย่าง เช่นการสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของตัวละคร หรือการดึงให้ผู้อ่านอินมีอารมณ์ร่วมกับนิยาย
ทว่ามีสิ่งที่สมควรทำไปแล้ว มันก็ยังมีสิ่งที่มักจะทำผิด ๆ เกี่ยวกับบทสนทนาอยู่ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้นิยายไม่มีความสนุก น่าเบื่อหน่าย และดูไม่สมเหตุสมผลเอาได้
พูดออกมาแบบไม่มีนัยยะอะไรพิเศษ เจอกันมากเลยทีเดียว ที่บทสนทนาถูกเขียนออกมาโดยไม่มีนัยยะอะไรพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอารมณ์ร่วม การบอกข้อมูล หรือการทำให้เห็นเอกลักษณ์ของตัวละครนั้น บางทีมีแค่การทำความรู้จักแล้วถามไถ่ว่าอากาศดีไหม หรือพูดลอย ๆ ว่า "โอ๊ย เจ็บจังเลย" เวลาสะดุดหกล้มคนเดียว ถ้าแบบนี้ยัดไว้ในบทบรรยายเอาก็ได้ ไม่ต้องเขียนออกมาหรอก
ถัดมาคือการยัดเยียดข้อมูล คือการที่ใส่ข้อมูลลงไปในปากของตัวละครอย่างผิดธรรมชาติ เรื่องนี้อธิบายยากว่าเป็นลักษณะอย่างไร แต่ให้ลองนึกถึงตัวเองตอนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นดูแล้วจะบทสนทนานั้นจะพูดในสิ่งที่ไม่น่าจะพูดออกมา เพียงเพื่อหวังให้ผู้อ่านรับทราบข้อมูล โดยส่วนนี้ผู้อ่านจะรับรู้ได้ทันทีว่ามันผิดปรกติ ด้วยเหตุนี้พยายามหลีกเลี่ยงการยัดข้อมูลลงปากตัวละคร หากต้องการบอกข้อมูลจริงก็น่าจะหาเรื่องที่ทำให้ตัวละครนั้นจำเป็นต้องพูดข้อมูลนั้นออกมาดีกว่า และไม่จำเป็นว่าต้องให้พูดข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการออกมาอาจจะพูดแค่บางส่วนก็ได้ แล้วไปใส่ในบทบรรยายแทน หรือหากว่าจังหวะไม่เหมาะหรือไม่ดี เก็บไว้ก่อนก็ได้ เพราะบางทีการมีปริศนามันจะกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านมากกว่า
สุดท้ายพูดให้เชื่อว่าต้องเป็นแบบนั้น ตัวอย่างเช่นต้องการให้ตัวเอกฉลาด ก็บอกโต้ง ๆ ว่า "เธอฉลาดจังเลย" แบบนี้มันช่วยอะไรไม่ได้ แต่ควรจะสื่ออ้อม ๆ ในบทสนทนาที่แสดงถึงความเฉียบคมของตัวละครเช่นการเฉือนคมในบทสนทนาระหว่างตัวเอกกับคนอื่น หรือไม่ก็อยู่ในบทบรรยายหรือการกระทำไปเลย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในบทสนทนาก็ได้อย่างเช่นคำว่า "อย่าพูด จงแสดง" เพราะความน่าเชื่อถือของคำพูดมันมีน้อย ถ้าแสดงผ่านการกระทำจะให้มีความน่าเชื่อถือมากกว่า
สรุป: บทสนทนาควรจะมีความหมายในตัวของมันเอง ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องเขียนบทสนทนาออกมา นอกจากนี้ก็ควรระวังเวลานำเสนอข้อมูล ถ้าหากจังหวะไม่เหมาะก็อย่ายัดเยียดข้อมูลใส่ปากตัวละครเพราะมันจะดูไม่เป็นธรรมชาติ
................
ความคิดเห็น