ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #179 : นิราศหนองคาย : วรรณคดีที่ถูกแบน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 622
      17
      2 ก.ค. 62




    นิราศหนองคาย เป็นผลงานของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์จากการเดินทัพไปปราบฮ่อ (จีนยูนนาน (Yunnan)) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5


    ในตอนนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดให้ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นหนึ่งในแม่ทัพยกทัพไปปราบ


    ตอนนั้น ขุนพิพิธภักดี (ทิม สุขยางค์) ในขณะนั้น ได้ติดตามเจ้าพระยามหินทรฯ ซึ่งในนิราศเรียกว่า "เจ้าคุณแม่ทัพ" ออกไปรบด้วย ขนเสบียงเครื่องใช้อาวุธเครื่องรบ รวมทั้งได้ทำแหวนเพชรเตรียมไปด้วย 11 วง เพื่อแจกเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ทำศึกด้วยความกล้าหาญด้วย

     
    ในการนี้เจ้าคุณแม่ทัพได้อัญเชิญพระบรมทนต์พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไปด้วย ซึ่งเจ้าคุณแม่ทัพได้บูชาและสดัปกรณ์ถวายในโอกาสต่างๆ ตลอดทาง ก่อนเคลื่อนทัพมีพิธีอาบน้ำพระพุทธมนต์  และเหยียบไม้ข่มนามของศัตรู 


    เจ้าพระยามหินทรฯ ขึ้นบกที่เมืองสระบุรี หยุดทัพพักอยู่ที่หาดพระยาทด (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเสาไห้) ตั้งแต่เดือน 10 จนถึงเดือน 12 ทางกรุงเทพฯ มีท้องตราเตือนให้เร่งยกทัพไป แต่เจ้าคุณแม่ทัพมีหนังสือตอบลงมาว่า ยังเป็นฤดูฝน น้ำท่วมทางเดินทัพในดงพระยาไฟ เกรงไพร่พลจะเป็นอันตรายจากไข้ป่า รอกระทั่งถึงฤดูหนาว 


    ทัพเจ้าพระยามหินทรฯ จึงยกทัพบกขึ้นไปยังแก่งคอย จนถึงเมืองนครราชสีมาในเดือนอ้าย ปี 2418 และพักทัพรอคำสั่ง อยู่ที่นั่นจนถึงเดือน 4 จึงได้รับท้องตราจากกรุงเทพฯให้เดินทัพไปที่เมืองหนองคาย
     
     
    ขุนพิพิธภักดีได้เล่าเรื่องราวที่เป็นวิถีชีวิตชาวเมืองโคราชและเหตุการณ์ที่ไพร่พลคบหากับชาวเมืองเกิดคดีความต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการรักใคร่กันมีมากเป็นพิเศษ  


    จึงเดินกองทัพจากเมืองนครราชสีมาไปทางเมืองพิมาย เมืองพุทไธสง ในระหว่างนั้น พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) คุมกองทัพโคราชล่วงหน้าไปรบกับฮ่อที่เมืองเวียงจันท์ (Vientiane) ตีฮ่อแตกถอยร่นไปตั้งอยู่เมืองเชียงขวาง (Xiangkhouang


    และกองทัพเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายก ที่คุมทัพเมืองอุตรดิตถ์ไปยังเมืองหลวงพระบาง (Louangphabang) ได้ยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองเชียงขวางแล้ว ทางกรุงเทพเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้กองทัพถึง 2 ทัพ จึงมีท้องตราให้เจ้าพระยามหินทรฯ ยกทัพกลับ


    เจ้าพระยามหินทรฯ จึงยกทัพกลับมาจากเมืองพุทไธสง หยุดพักที่โคราชหน่อยหนึ่งแล้วเดินทัพกลับ มาลงเรือที่ท่าเรือพระพุทธบาท กลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน 5 2419 รวมเวลาตั้งแต่ยกกองทัพไปจนกลับ 8 เดือน


    เมื่อไปทัพคราวนั้น ขุนพิพิธภักดี นายทิมยังเป็นทนายหน้าหอ นั่งหน้าแคร่และขึ้นท้ายช้างติดตัวเจ้าพระยามหินทรฯ ตลอดทั้งขาไปและขากลับ เป็นผู้มีความสามารถในการแต่งบทกลอน จึงเป็นผู้แต่งนิราศหนองคาย 


    แต่ความที่แต่งกล่าวเกินนิราศไป ด้วยกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ ยกไปคราวนั้น พอยกไปได้หน่อยหนึ่งก็เกิดความไม่พอใจต่างๆ ผลของความแค้นทั้งปวงไปปรากฏอยู่ในนิราศหนองคายที่ขุนพิพิธภักดีแต่ง กล่าวโดยตรงบ้าง เป็นทางกระเดียดเสียดสีบ้าง


    ขุนพิพิธภักดีแต่งนิราศหนองคายในระหว่างการเดินทางไปกับกองทัพ เพราะมีเวลาพักทัพระหว่างทางนานมาก และคงแต่งเพิ่มเติมหลังจากที่กลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน 5 2419 จนถึงปี 2421 จึงมีการตีพิมพ์นิราศหนองคายออกเผยแพร่ หนังสือยังพิมพ์ไม่ทันเสร็จครบจำนวนก็เกิดคดีความอาญาร้ายแรง.... 


    ดังที่ปรากฎอยู่ในประกาศราชกิจจานุเบกษา ในรัชกาลที่ 5 วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 12 ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก 1220 (พุทธศักราช 2421) ว่า


    ประกาศ
    เรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศ

    “ ด้วยพระศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระอาลักษณ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า อ้ามทิม ขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัศวดี คิดหนังสือนิราศว่าด้วยกองทัพ ซึ่งจะยกขึ้นไป ณ เมืองหนองคาย เพื่อจะป้องกันรักษาพระราชอาณาเฃตร ตามราชประเพณีมาแต่ก่อน อ้ายทิมบังอาจแต่งหนังสือออกพระนามพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดิน ตัดทอนแทรกเปลี่ยนถ้อยคำเจือลงในกลอน แลกล่าวความกระทบกระเทียบถึงท่านผู้บัญชาราชการแผ่นดินแลผู้อื่นๆ โดยถ้อยคำอยาบคาย ยกย่องเหตุซึ่งได้ขัดฃวางราชการแผ่นดินขึ้นเชิดชูไปต่างๆ จึ่งทรงพระราชดำริพร้อมด้วยท่านเสนาบดีว่าราชประเพณีแต่ก่อนมีการทัพศึกมาเวลาไร พระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีก็ปฤกษาพร้อมกันจัดกองทัพไปรับรองป้องกันพระราชอาณาเฃตร หามีผู้ใดขัดฃวางแลติเตียนเหลือเกินดังนี้ได้ไม่ ถ้ามีผู้ใดพูดจาดังนี้ในเวลามีการทัพ ก็จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิตรตามพระราชกำหนดกฎหมาย บัดนี้อ้ายทิมมาทำหนังสือว่ากล่าวเหลือเกิน เทจบ้าง จริงบ้าง เปนการหมิ่นประหมาทต่อราชการแลท่านผู้บัญชาการ จะเปนแบบอย่างต่อไปในภายน่า เมื่อมีราชการทัพศึกก็จะบังคับบัญชาได้โดยยาก จึ่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายทิม ๕๐ ที ส่งตัวไปจำไว้ ณ คุก อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง แลหนังสือฉบับนี้เปนหนังสือขัดฃวางต่อราชการแผ่นดิน เปนที่หมิ่นประหมาทในพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีผู้ซึ่งมีกตัญญูต่อแผ่นดิน แลยำเกรงนับถือในพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีซึ่งช่วยรักษาแผ่นดินอยู่ ก็หาควรจะอ่านจะเกบหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเปนที่ขัดฃวางต่อราชการแผ่นดิน แลเปนที่หม่นหมองต่อพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดี ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ฃายไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ได้ซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลายเสีย อย่าให้ติดเปนแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป

    ประกาศมา ณ วันอังคาร เดือนเก้า แรมเจดค่ำ ปีขาน สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ เปนวันที่ ๓๕๗๐ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ”


    สรุป... นิราศหนองคายของขุนพิพิธภักดี หรือ นายทิม ถูกทำลายชนิดไม่ต้องการให้เหลือซาก 


    ส่วนนายทิมต้องโทษเฆี่ยน 50 ที และส่งตัวเข้าคุก ผู้ส่งหนังสือไปตีพิมพ์ ซึ่งคงได้แก่เจ้าพระยามหินทรฯ ต้องจ่ายเงินค่าจ้างพิมพ์และนำหนังสือทั้งหมดไปทำลาย ส่วนนายทิมน่าจะถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ขุนพิพิธภักดีในคราวนั้นด้วย 


    นายทิมติดคุกอยู่ 8 เดือน ก็ออกไปอยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯ จนต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนจบพลรักษ์ เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯ ถึงแก่อสัญกรรมแล้วจึงออกจากกรมพระสุรัสวดีไปรับราชการในกรมพระคลังข้างที่ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี


    อย่างไรก็ตาม เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดี เมื่อปี 2457 นั้น ได้ทรงขอต้นฉบับนิราศหนองคายจากรัชกาลที่ 5 มาคัดลอกเก็บไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งต่อมาอยู่ในความดูแลของหอสมุดแห่งชาติ 


    ต่อมาเมื่อ ปี 2494 ทายาทได้ขออนุญาตพิมพ์หนังสือนิราศหนองคายในงานปลงศพพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) ผู้เป็นบุตรของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่กรมศิลปากรไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์


    อาจารย์ตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ทำบันทึกชี้แจงหลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากร ว่า “…ข้าพเจ้าเอาต้นฉบับมาดู เห็นว่ามีถ้อยคำรุนแรงอยู่หลายตอน จึงไม่ยอมให้พิมพ์ แต่เมื่อได้อ่านตรวจดูโดยละเอียดเห็นว่าผู้แต่งเก็บเรื่องราวได้ดีมาก จึงให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ ตรวจคัดตัดตอนที่อาจกระทบกระเทือนผู้อื่นออกเสีย แล้วแต่งเชื่อมหัวต่อใหม่ให้เข้ากัน…”


    นิราศหนองคายฉบับที่กรมศิลปากร “ตรวจ คัด ตัดตอน” พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์โท ขุนสันทัดวุฒิวิถี (สวน สันทัดวุฒิ) เมื่อปี 2498 ฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ต่อๆ มาพิมพ์ตามฉบับนี้ทั้งสิ้น


    ต่อมา นิราศหนองคายก็ได้ติดโผ 1 ใน "หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน" ในที่สุด...


    ปล. ภายหลังเหตุการณ์ต่างๆสงบเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จึงโปรดให้สร้าง "อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ" ขึ้นที่เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารจากกรม กองต่างๆ ที่เสียชีพเพื่อชาติในครั้งนั้น


    ที่ด้านข้างอนุสาวรีย์ ทั้ง 4 ด้านได้จารึกอักษรไว้ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอักฤษ ภาษาจีนและภาษาลาว มีข้อความว่า


    ปางนี้จักแสดง พจน์พร้อมผู้ภักดี ในอนุสาวรีย์ ไว้เป็นที่ระลึกตาม ผู้กอปรด้วยภักดี ดังอาภรณ์ประดับงาม ชีพมลายขจรนาม ปรากฏเกียรตินิรันดร สูญสุริย์จันทร จึงจะสูญซึ่งความดี วายชีพทำการกิจ โดยความสวามี ภักดีต่อชุลี ละอองบาททบมาลย์ ปวงปราชญ์คงจักซ้อง ศรับแล้วสาธุการ นับว่าเป็นทัยสูญ ขมีขลาดขยาดขย่อน องอาจต่อราชกิจ มิได้คิดแต่ความมรณ์ คณะเทพไตรสร จักชูช่วยอำนวยผล นำขันธ์เสวยสุข นฤทุกข์บได้ผล สุขขกิจจงจักดล ประโลกยับแปรปรวน

    สุดท้ายมีคำจารึกไว้ว่า "อนุสาวรีย์นี้ได้เปิดแต่ศักราช 1247 ควบ 1248 พุทธศักราชล่วงแล้ว"


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×