คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #56 : วรรณกรรมจีนแห่งรัตนโกสินทร์
การแปลวรรณกรรมจีนให้เป็นไทยในสมัยก่อนนั้นถือว่างานที่ใหญ่และยุ่งยากมากพอสมควร
เนื่องด้วยจะหาตัวผู้รู้ทั้งสองภาษาค่อนข้างยาก ทำให้การแปลเป็นไปได้ยากและต้องใช้เวลามาก จึงต้องแบ่งพนักงานออกเป็นสองฝ่ายให้ช่วยกันทำ ฝ่ายผู้ชำนาญอักษรจีนแปลความออกมาแล้วให้เสมียนจดบันทึกส่งผู้ชำนาญภาษาไทยไปเรียบเรียงแต่งเป็นภาษาไทยด้วยถ้อยคำและสำนวนที่มีความไพเราะและสละสลวย
ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 การแปลเรื่องจีนกลับได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง โดยผู้สนับสนุนการแปลที่สำคัญคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ต่อมาเริ่มมีการนำเอาสามก๊กมาจัดพิมพ์จำหน่ายขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ เมื่อปี พ.ศ. 2408 ทำให้เรื่องจีนที่เคยแปลและอ่านกันในหมู่ชนชั้นสูงได้แพร่หลายไปสู่กลุ่มคนที่กว้างขึ้นและเป็นผลให้เรื่องจีนที่แปลมาก่อนหน้านี้ทุกเรื่องได้รับการตีพิมพ์จำหน่ายในระยะเวลาต่อมา
วรรณกรรมที่แปลส่วนมากจะเป็นแนวพงศาวดารซึ่งได้มีการแปลมาทั้งสิ้นถึง 35 เรื่อง ซึ่งวันนี้ทางเราจะขอนำเสนอเรื่องราวดังๆที่หลายคนอาจจะรู้จักกัน เรื่องบางเรื่องท่านอาจจะเคยคุ้นเคย บางเรื่องท่านอาจจะยังไม่ทราบมาให้ทุกท่านทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน เชิญมาอ่านด้วยกันเลยครับ
.
.
.
1.ไคเภ็ก
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ก่อนบรรพกาล
- รัชกาลที่แปล : ร.5
เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีมีบัญชาให้หลวงพิพิธภัณฑ์วิจสรณ์เป็นคนแปลจากภาษาจีน
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานการสร้างโลกของชนชาวมังกร และกำเนิดสามกษัตริย์ที่จะมาเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของมวลมนุษย์ ได้แก่
- เทียนอ่องสี --> ฝูซี (Fuxi)
- ตี่อ่องสี --> เสินหนง (Shennong)
- ยิ่นอ่องสี --> สุยเหริน (Suiren)
2. ห้องสิน
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ซาง (Shang dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.2
เรื่องราวของ พระเจ้าโจ้วอ๋อง (King Zhou) ทรราชผู้หลงเชื่อปีศาจจิ้งจอกเก้าหางทำให้บ้านเมืองเละเทะ ไพร่ฟ้าก่นด่ากันทั้งแผ่นดิน เจียงจื่อหยา (Jiang Ziya) และ อ๋องจีฟาง (Ji Fa) ทนเสียงคร่ำครวญของชาวบ้านไม่ไหวจึงรวบรวมมวลมหาประชาชนขึ้นมาเพื่อก่อม๊อบขับไล่อ๋องโจว
สงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายได้มีการเรียกเทวดาตลอดจนภูตผีปิศาจมาช่วยรบ สุดท้ายลุงเจียงก็ได้แต่งตั้งขุนศึกทั้งสองฝ่ายขึ้นเป็นเทวดามารับราชการ ที่สุดแล้วจีฟางได้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์โจว (Zhou dynasty)
3. เลียดก๊ก
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ยุคชุนชิว (Spring and Autumn period)
- รัชกาลที่แปล : ร.2
เลียดก๊กเป็นสงครามระหว่างเจ็ดแคว้นจนกระทั่ง จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang) ได้ทำการเทคโอเวอร์ทุกแคว้นให้เป็นปฐพีเดียวกันในที่สุด ยุคนี้ยังถือเป็นยุคที่ได้ถือกำเนิดนักคิดคนสำคัญของจีนได้แก่ เล่าจื้อ (Laozi) , ขงจื้อ (Confucius) , ซุนหวู (Sun Tzu) และ หันเฟยจื้อ (Han Fei) ขึ้นมาอีกด้วย
4. ไซฮั่น
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ฉิน – ฮั่น (Qin - Han dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.1
วังหลังทรงรับแปลเรื่องไซ่ฮั่น ได้ 37 เล่มสมุดไทย ไซ่ฮั่น แปลว่า ฮั่นตะวันตก
คือเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนยุคสามก๊กราว 400 ปี เป็นเรื่องการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น ผู้สถาปนาคือ เล่าปัง (Liu Bang) ต้นตระกูลของเล่าปี่ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องการรบแย่งดินแดนระหว่างเล่าปังกับ ฌ้อปาอ๋อง (Xiang Yu)
5. สามก๊ก
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ยุคสามก๊ก (Three Kingdoms)
- รัชกาลที่แปล : ร.1
สุดยอดวรรณกรรมจีนว่าด้วยสงครามระหว่างสามก๊ก ได้แก่
- วุยก๊ก (Wei) ของ โจโฉ (Cao Cao)
- จ๊กก๊ก (Shu) ของ เล่าปี่ (Liu Bei)
- ง่อก๊ก (Wu) ของ ซุนกวน (Sun Quan)
ซึ่งมีการทำศึกสงครามมาหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งอุดมไปด้วยการต่อสู้ทางด้านสติปัญญา การปกครอง การทูต การทหาร การเมือง การเศรษฐกิจ การใช้คนอย่างถูกต้อง การโจมตีทางด้านจิตใจ จึงทำให้สามก๊กกลายเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมของจีน และยังได้รับเป็นสุดยอดประเภทของความเรียงเรื่องนิทานจากวรรณคดีสโมสรอีกด้วย
6. ไซจิ้น
- ราชวงศ์ในเรื่อง : จิ้น (Jin Dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.4
ไซ่จิ้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ.2401
เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากสามก๊ก สุมาเอี๋ยน (Sima Yan) สามารถรวมทั้งสามก๊กให้หนึ่งเดียว แต่การบริหารแผ่นดินของตระกูลสุมาเริ่มยุ่งยาก ผู้ปกครองขาดความเข้มแข็ง ใช้ชีวิตสำเริงสำราญ เป็นเหตุให้มีการแย่งชิงอำนาจระหว่างตระกูลเดียวกัน เรียกว่า กลียุคเจ้าทั้งแปด (War of the Eight Princes) มีการชักชวนชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นพวก จนนำราชวงศ์ไปสู่การล่มสลาย
7. น่ำซ้อง
ราชวงศ์ในเรื่อง : ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (Northern and Southern dynasties)- รัชกาลที่แปล : ร.4
เรื่องราวต่อจากครั้นราชวงศ์จิ้นตะวันออก (Western Jin) และยุค 16 แคว้น (Sixteen Kingdoms) สิ้นสุดลง บ้านเมืองก็แบ่งแยกออกเป็นฝ่ายเหนือฝ่ายใต้เข้าไฝว้กันอย่างชัดเจน
ยุคนี้ยังเป็นยุคที่ พระโพธิธรรม (Bodhidharma -> ตั๊กม้อ) จาริกจากอินเดียมาเผยแพร่พุทธศาสนานิกายฌาน (Chan) หรือ เซ็น (Zen)
8. สุยถัง
- ราชวงศ์ในเรื่อง : สุย – ถัง (Sui - Tang dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.4
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้จีนบั้นกิมกับจีนเพงแปล
เรื่องราวการปกครองของฮ่องเต้สุยหยางตี้ (Emperor Yang of Sui) ผู้ทำแผ่นดินร้อนระอุ ไพร่ฟ้าต้องถูกเกณฑ์ไปตีอาณาจักรโกคูรยอ (Goguryeo) ซ่อมแซมกำแพงเมืองจีน ส่วนฮ่องเต้ก็หลงใหลในอำนาจ ลุ่มหลงอิสตรี กิ๊บแต่น้ำจัณฑ์
ทำให้ประชาชนไม่พอใจก่อการกบฏ จนในที่สุดขุนพลชื่อ หลี่หยวน (Li Yuan) ก็สามารถสถาปนาตนเองเป็น ถังเกาจู่ (Emperor Gaozu of Tang) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถัง
9. ซิยิ่นกุ้ย
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ถัง (Tang dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.5
ซิยิ่นกุ้ย (Xue Rengui) เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ เป็นแม่ทัพที่งักฮุยนับถือเป็นไอดอล
ซิยิ่นกุ้ยเป็นแม่ทัพที่มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามกับอาณาจักรโกคูรยอ และอาณาจักรทิเบต ในตำนานกล่าวว่าซิยิ่นกุ้ยเป็นผู้มีพละกำลังมหาศาล เก่งกาจการขี่ม้า ใช้ทวน และยิงธนู มักขี่ม้าขาวและสวมเกราะสีขาวออกรบ สามารถหักโค่นต้นไม้ได้ด้วยมือเดียว และทานข้าววันละ 7 ถัง สู้กับข้าศึกนับร้อยได้ด้วยตัวคนเดียว
ผู้คนนับถือเป็นเทพเจ้า เรียกขานกันว่า เจ้าเสือขาว หรีอ ขุนพลเสือขาว
10. ซิเตงซัน
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ถัง (Tang dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.5
เรื่องราวของ ซิเตงซาน (Xue Dingshan) บุตรชายของซิยิ่นกุ้ย ซึ่งได้กระทำปิตุฆาตเพราะเห็นภาพหลอนว่าซิยิ่นกุ้ยเป็นเสือกระโจนเข้าใส่ อันเนื่องจากซิยิ่นกุ้ยเป็นเทพจุติมาจากเสือขาวและมีศัตรูคู่อาฆาตคือมังกรเขียว ซึ่งก็คือ ซิเต็งซาน ต่อมาได้เป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งต้าถัง
11. ไซอิ๋ว
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ถัง (Tang dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.5
หนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตศิริ) ให้นายติ่นแปลเป็นไทยและให้เทียนวรรณเรียบเรียงพิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2449
เรื่องราวของการไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของ พระถังซัมจั๋ง (Xuanzang) โดยมีสานุศิษย์ทั้งสี่ ได้แก่ ซุนหงอคง (Sun Wukong) ,ตือโป๊ยก๋าย (Zhu Bajie) ,ซัวเจ๋ง (Sha Wujing) และ ม้ามังกรขาว (White Dragon Horse) ร่วมเดินไปด้วยระหว่างทางได้สู้รบกับเหล่าปีศาจมารที่มาผจญไปมากมาย และได้สอดแทรกปรัชญาทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ตลอดเรื่อง
12. บูเช็กเทียน
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ถัง (Tang dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.6
คณะหนังสือพิมพ์สยามแปลและพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2465
เรื่องราวของ บูเช็กเทียน (Wu Zetian) จักรพรรดินีหญิงคนแรกและคนเดียวของประเทศจีน ผู้นำทั้งด้านการปกครองและการทหาร มีการขยายอำนาจของจีนออกไปเป็นอันมากเกินกว่าอาณาเขตดินแดนเดิมที่เคยมีมา
13. น่ำปักซ้อง (ขุนศึกตระกูลหยาง)
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ซ่ง (Song dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.4
หลวงพิศาลศุภผลให้จีนบั้นกิมแปล
เรื่องราวของ ครอบครัวตระกูลหยาง (Yang Family) ที่รับราชการทหารมาตลอดทั้งตระกูลถึง 3 ชั่วอายุคน มีความจงรักภักดีและพร้อมตายในสนามรบได้อย่างสมศักดิ์ศรี อีกทั้งเมื่อเหล่าผู้ชายตายหมดแล้ว ผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยาม่ายหรือลูกหลานในตระกูลก็รับหน้าที่ต่อแทน
14. บ้วนฮ่วยเหลา
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ซ่ง (Song dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.4
แปลเป็นไทยว่า หอหมื่นบุปผา อันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
และยังเป็นสถานที่ที่ เต็กเซง (Di Qing) และเปาบุ้นจิ้นพบกันเป็นครั้งแรก มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรบของเต็งเซง ตลอดจนการตัดสินคดีของเปาบุ้นจิ้น ซึ่งรวมถึงคดีแมวป่าสับเปลี่ยนพระโอรส
เต็กเซงเป็นขุนทหารที่จงรักภักดีต่อฮ่องเต้อย่างสูง แม้เป็นแม่ทัพ แต่ก็ออกรบอยู่แนวหน้าเสมอ และเมื่อออกรบจะใส่หน้ากากปิศาจเพื่อปกปิดใบหน้าตน เพราะเคยกระทำผิดจนถูกสักที่ใบหน้า
ต่อมาเต็กเชงถูกใส่ความ และได้เปาบุ้นจิ้นมาชำระคดีให้
เชื่อกันว่าเต็กเชงเป็นดาวบู๊จุติมาคู่กับเปาบุ้นจิ้นซึ่งเป็นดาวบุ๋น
15. ซวยงัก
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ซ่ง (Song dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.4
เรื่องราวของ งักฮุย (Yue Fei) นักรบกู้ชาติคนสำคัญผู้หนึ่งในแผ่นดินมังกร สิ่งที่ทำให้งักฮุยครองใจชาวบ้านมากไปกว่านั้นก็คือความซื่อสัตย์และซื่อตรง
แต่เขากลับถูก ฉินฮุ่ย (Qin Hui) ขุนนางกังฉินทูลใส่ไฟต่อฮ่องเต้ว่าคิดจะก่อกบฎ จึงถูกประหารชีวิตในที่สุด
ประชาชนส่วนใหญ่รู้ก็โกรธแค้น จึงปั้นแป้งติ่งต่างเป็นตัวแทนของฉินฮุ่ยและภรรยานำมาทอดในน้ำมันร้อนๆ จนกรอบแล้วนำมาฉีกกินโดยจินตนาการว่ากำลังเคี้ยวฉินฮุ่ย กินไปกินมาก็เกิดความอร่อยบนความแค้นเสียนี่กระไร จนกลายมาเป็นตำนานของ ปาท่องโก๋ (Youtiao) ในที่สุด
16. ซ้องกั๋ง (108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงสาน)
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ซ่ง (Song dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.4
ตัวละครทั้ง 108 คนนั้นมีประวัติความเป็นมาแทบจะเหมือนกันหมด คือ ถูกขุนนางกลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหงทำให้แต่ละคนลี้ภัยออกจากเมืองของตัวเอง แล้วมารวมตัวกัน ณ เขาเหลียงสาน (Mount Liang) เพื่อปราบปรามขุนนางชั่ว อันที่จริงแล้ว เหล่าผู้กล้าทั้ง 108 นี้คือเทพยดาจุติลงมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ เมื่อพวกเขาได้มาพบกัน ก็สาบานตัวเป็นพี่น้องกัน
17. เปาเล่งถูกงอั้น (เปาบุ้นจิ้น)
- ราชวงศ์ในเรื่อง : ซ่ง (Song dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.5
นายหยองเป็นผู้แปลและให้โรงพิมพ์บำรุงนุกูลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2441
ในเรื่องนี้เรียก เปาบุ้นจิ้น (Bao Zheng) ว่า "เปาเล่งถู" ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หมายความว่า เปามังกรประดิษฐ์ ทั้งนี้เพราะพระเจ้าเจินจงฝันไปว่าจะมีเทพเจ้ามาจุติเป็นข้าราชการ
ในวรรณกรรมบอกว่า ท่านเปาจะมีผู้ช่วยอยู่ด้วยกันหกคน คือ จั่นเจา (Zhan Zhao), กงซุน เช่อ (Gongsun Ce), หวังเฉา (Wang Chao), หม่าฮั่น (Ma Han), จางหลง (Zhang Long) และ เจ้าหู่ (Zhao Hu)
ทั้งเจ็ดคนนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสุจริตและเที่ยงธรรม
18. ง่วนเฉียว
- ราชวงศ์ในเรื่อง : หยวน (Yuan dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.6
พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) ให้ขุนจีนภาคบริวัตร (โซวคึนจือ) แปล แปลความว่าพงศาวดารของราชวงศ์หงวน
ตั้งแต่เริ่มก่อรากสร้างฐานโดย กุบไล่ ข่าน (Kublai Khan) ผู้เอาชนะราชวงศ์จีนและยึดครองกรุงปักกิ่งได้ ทั้งยังตีได้ดินแดนต้าหลี่ (Dali - มณฑลยูนนาน(Yunnan)) และ เกาหลี นอกจากนี้ยังได้พยายามยึดครองดินแดนนิฮง (Nihon - ญี่ปุ่น) และดินแดนสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
19. เม่งเฉียว
- ราชวงศ์ในเรื่อง : หมิง (Ming dynasty)
- รัชกาลที่แปล : ร.4
แปลความว่าพงศาวดารของราชวงศ์หมิง
เรื่องราวตั้งแต่จูหยวนจาง (Zhu Yuanzhang) สถาปนาตนเองเป็น พระเจ้าหงอู่ (Hongwu Emperor) ช่วงกลางราชวงศ์ และยังเป็นยุคที่เจิ้งเหอ (Zheng He) นำกองเรือไปเยือนดินแดนต่างๆกว่า 30 ประเทศ
ความคิดเห็น