ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #64 : ปัญจมหานทีกับการชักแม่น้ำทั้งห้า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.19K
      15
      29 ก.ค. 64

    ตามตำราข้างพราหมณ์กล่าวว่า แหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆนั้นอยู่มีด้วยกันอยู่ 5 สายเรียกรวมกันว่า ปัญจมหานที

    ปัญจมหานทีหมายถึง แม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 สายในอินเดีย ได้แก่ คงคา ยมุนา มหิ สรภู และ อจิรวดี ซึ่งเปรียบเสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอินเดีย

    .
    .
    .

    แม่น้ำคงคา หรือ แม่คงคา (Ganges) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ไหลลงมาจากเขาหิมาลัย ตำนานได้กล่าวถึงแม่คงคาเอาไว้ว่าเป็นลูกสาวคนโตของท้าวหิมวัต (Himavat) เจ้าแห่งขุนเขาหิมาลัย กับนางเมนา (Minavati) นางมีน้องสาวคือ ปารวตี (Parvati) ผู้เป็นมเหสีของพระศิวะ (Shiva) แต่เดิมอยู่บนสรวงสวรรค์ 

    เหตุที่นางต้องลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อชำระบาปให้แก่มวลมนุษย์นั้นปรากฏในเรื่องมหากาพย์รามายณะ ดังนี้...

    สคร (Sagara) พระราชาองค์ที่ 37 แห่งสุริยวงศ์ (Suryavansha) ลุงแกมีลูกที่เกิดจากเมียเอกหนึ่งคนชื่อ อัสมัญชะ (Asamanja) และมีลูกชายอีก 60,000 คนที่เกิดจากมเหสีรอง 

    แต่อนิจจา! เจ้าชายอัสมัญชะ องค์รัชทายาทกลับประพฤติตัวเหลวไหลจนถูกพระราชบิดาถีบไล่ไส่ส่งออกจากเมือง ส่วนเจ้าชายอีกหกหมื่นนั้น เฮอะ! ไม่มีเหลือ! นำความคับแค้นให้แก่ท้าวสคร มิว่างเว้นซักวัน

    วันหนึ่งลุงแกประกอบพิธีอัศวเมธ (Ashvamedha) กาลเวลาผ่านไปครบหนึ่งปี จู่ ๆ ม้าสำคัญในพิธีก็เกิดหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยโดยฝีมือของอินทราเทพ (Indra) (พระอินทร์เวอร์ชั่นพราหมณ์นี้ชอบขี้แกล้งจริงๆเลย) 

    ความโกลาหลเกิดขึ้นทันที พระราชาส่งโอรสทั้ง 60,000 คน ให้นำม้ากลับมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ให้ไปตายเสีย

    การค้นหาติดตามไปยังทุกที่ ป่าดงพงชัฏ ภูเขาสูง ห้วยหนอง คลองบึง แม่น้ำ ทุกหนทุกแห่งจนสุดสิ้นแผ่นดินโลกแล้วก็ไม่พบ เจ้าชายทั้งหกหมื่นต่างลงดิ่งไปสู่ก้นลึกของพิภพใต้ดิน อันคือ บาดาล (Patala) นี้เอง 

    ปรากฏม้าอยู่ไม่ห่างไกลอาศรมของพระฤษีกบิล (Kapila - ฤษีตาไฟ) ในขณะที่ตาแกกำลังนั่งสมาธิอยู่ ราชโอรสทั้งหกหมื่นต่างก็กรูกันไปจับม้าสำคัญ พระกบิลฤษีลืมตาขึ้นทันที บังเกิดเป็นไฟกรดเผาผลาญทั้ง 60,000 คนให้ไหม้มอด เหลือแต่โครงกระดูกและเถ้าถ่าน อังคารธาตุกองพะเนินดังถูเขาเลากา 

    ฝ่ายเจ้าชายอังศุมัน (Amshuman) โอรสของอัสมัญชะได้ออกติดตามหาพระน้าทั้งหกหมื่นไปเรื่อยๆจนมาถึงอาศรมของพระกบิลฤษี อังคุมัตเป็นคนนอบน้อมเข้าไปขออนุญาตจากพระฤษีซะก่อนจึงได้ม้ากลับมา

    แต่พระองค์กลับรู้สึกสลดต่อเหตุการณ์ของพระโอรสทั้ง 60,000 คน แต่พญาครุฑ (Garuda) ได้มาบอกให้ใช้น้ำจากแม่คงคาชำระล้างเพื่อวิญญาณของพวกเขาไปสู่สรวงสวรรค์ (ย้ำนะครับนี้คือความเชื่อของพวกพราหมณ์)

    พระราชาจึงให้อังคุมัตขึ้นครองราชสมบัติ ส่วนพระองค์เข้าไปในป่าเพื่อบำเพ็ญตบะ เพื่อทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญ พระแม่คงคา (Ganga) ช้านาน จนสิ้นอายุขัย พระคงคาก็หาได้มาไม่ 

    จนราชาต่อๆมาก็ทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอนพระแม่คงคา ก็ยังไม่สำเร็จ จนในที่สุด ภคีรถ (Bhagiratha) ทำได้สำเร็จ 

    หากแต่พระแม่คงคากระโจนลงจากสวรรค์ มุ่งสู่แผ่นดินด้วยความรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ซึ่งวิธีที่รุนแรงเช่นนั้น แผ่นดินโลกย่อมแตกกระจายในชั่วพริบตาเดียว 

    พระศิวะจึงยื่นมวยผมออกไปรองรับสายคงคาอันแรงจัด เมื่อพระแม่คงคาสิ้นฤทธิ์ บิ๊กบอสก็ปล่อยให้ไหลลงสู่เบื้องล่าง

    .
    .
    .

    แม่น้ำยมุนา (Yamuna) เป็นที่ตั้งของบรรดาแคว้นต่างๆในมหาชนบทตั้งแคว้นกาสี (Kashi) ,แคว้นกุรุ (Kuru) ,แคว้นมัจฉะ (Matsya) ,แคว้นสุรเสนะ (Surasena) และแคว้นวังสะ (Vatsa) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำยมุนา มีนครหลงชื่อกรุงโกสัมพี (Kosambi) ซึ่งตั้งอยู่เหนือฝั่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุ (Indus River) กับแม่น้ำยมุนาตอนล่าง

    .
    .
    .

    แม่น้ำมหิ (Mahi) หรือ คัณฑก (Gandaki) ไหลแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นมัลละ (Malla) กับ แคว้นวัชชี (Vajji)

    .
    .
    .

    แม่น้ำสรภู (Sarayu) หรือ โคครา (Gogra) ไหลผ่านเมืองปาฎลีบุตร (Patna)

    .
    .
    .

    แม่น้ำอจิรวดี (Achirvati) หรือ วัปติ (West Rapti) ไหลผ่านพระนครสาวัตถี (Shravasti) นครหลวงของแคว้นโกศล (Kosala) และไหลบรรจบกับแม่น้ำคันธกะเป็นที่ตั้งของนครกุสินารา (Kusinaga) เมืองหลวงของแคว้นมัลละ

    .
    .
    .

    แม่น้ำทั้ง 5 สายนี้มีน้ำเต็มฝั่ง 

    ชูชก (Jujaka) จึงได้ยกขึ้นมาเปรียบกับน้ำพระทัยของพระเวสสันดร (Vessantara) ซึ่งเป็นที่มาของสำนวน ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง การพูดจาหว่านล้อมด้วยคำที่ไพเราะเพื่อโน้มน้าวใจผู้ที่ได้ฟังให้คล้อยตามและเห็นด้วยกับตน

    " เฒ่าชราได้โอกาส ด้วยตาแกฉลาดในเชิงภิกขาจาร เมื่อจะทูลสนองดรุณราชกุมาร เฒ่าก็พูดหว่านล้อมด้วยคำยอ ชักเอาแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่ออุปมาถวายเสียก่อน แล้วจึงหวนย้อนขอต่อเมื่อภายหลังขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า วาริวโห เมาะ ปญฺจ มหานทีโย พระคุณเจ้าเอ่ย อันว่าแม่น้ำทั้งห้ากระแสสายชลชลา ไหลมาจากห้วงคงคาเป็นห้าแถว นองไปด้วยน้ำแนวเต็มฝั่งฝา นามชื่อว่าคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูนที มหิมหาสาคเรศ "

    ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ถือว่าการยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อถือกันมาว่าน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น ได้แก่ น้ำในแม่น้ำคงคาซึ่งไหลลงมาจากสวรรค์ และแม่น้ำที่นับเนื่องในแม่น้ำคงคาเรียกน้ำนั้นว่าน้ำสรงมูรธาภิเษก ซึ่งได้แผ่ขยายความเชื่อนี้มาจนถึงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ในสมัยอยุธยาจนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา

    .
    .
    .

    น้ำสรงมูรธาภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการใช้น้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี

    ส่วนที่กรุงรัตนโกสินทร์นอกจากจะใช้น้ำในสระเกษ สระแก้วสระคงคา สระยมนา ดังเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังมีการใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศเพิ่มเติมอีก 5 สายได้แก่

    1. น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย เพชรบุรี
    2. น้ำจากแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ ราชบุรี
    3. น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ สระบุรี
    4. น้ำจากแม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ นครนายก 
    5. น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อ่างทอง

    ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 6 ตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำนครไชยศรี แม่น้ำฉะเชิงเทรา และแม่น้ำเจ้าพระยา

    น้ำในแม่น้ำทั้ง 5 สายนี้ มีชื่อเรียกว่า เบญจสุทธคงคา โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป น้ำแต่ละแห่งดังกล่าว เมื่อตักแล้วจะตั้งพิธีเสก ณ เจดียสถานสำคัญแห่งแขวงนั้นๆแล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีที่กรุงเทพมหานครต่อไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×