ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #107 : นางสงกรานต์

    • อัปเดตล่าสุด 2 ก.ค. 62


    แต่ล่ะคนก็คงจะได้ยินได้ฟังเรื่องราว ตำนานนางสงกรานต์กันมาแล้วใช่ไหมครับ แน่นอน! เราจะไม่พูดถึง (ถึงจะพูดก็จะขอพูดน้อยๆ) เราจะมาพูดถึงนางสงกรานต์และเรื่องที่คุณก็อาจจะไม่ทราบในวันสงกรานต์ก็แล้วกัน 
    .
    .
    .
    สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึง "การเคลื่อนย้าย" ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนย้ายของจักรราศี


    สงกรานต์ (Songkran) เป็นประเพณีร่วมภูมิภาคของอาเซียน 


    มีเล่นทั้งในไทย ลาว (สงกรานต์ - Songkran) กัมพูชา (ซ็องกราน - Sangkran) พม่า (ทิงยัน -Thingyan) มอญ (ปัจอะห์ต๊ะห์ Patata) ชาวไต (พัวสุ่ยเจี๋ย - Poshui jie) ศรีลังกา - Aluth Avurudda และ ทางตะวันออกของอินเดีย Sangken


    สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี (Holi Festival) ของอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน และ เริ่มในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 หรือ ในเดือนมีนาคม


    การคำนวณวันสงกรานต์มักจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ เมื่อพระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" (ภาษาเขมร แปลว่า อยู่ ) และวันสุดท้ายเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช เรียกว่า "วันเถลิงศก"


    การกำหนดปีใหม่ของไทยสมัยก่อนนั้นแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรก ขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า จะเปลื่ยนปีตามนักษัตร แต่ยังไม่เปลี่ยนศก ตอนต่อมาโหรจะนับการโคจรของพระอาทิตย์ ถ้าพระอาทิตย์มาถึงราศีเมษเมื่อไร ก็เถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ การใช้ศกนั้นจะบอกเป็น เอก โท ตรี ไปจนถึงสัมฤทธิศกแล้วจะวนมาที่เอกศกอีกรอบ  
    .
    .
    .
    เรื่องสงกรานต์นั้น รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายเอาไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน เดือนที่ห้าเอาไว้ว่า


    " มีมาแต่เมืองจีน เมืองจีนเขาเห็นก่อน ถ้าวันใดจะสงกรานต์แล้วเขาตระเตรียมช่างเขียนไปคอยอยู่ที่ริมทะเลหลายๆ คนด้วยกัน พอเวลาเช้ามืด พระสงกรานต์ขึ้นจากทะเลพอแลเห็นเขาก็วาดรูป คนหนึ่งวาดรูปตัวนาง คนหนึ่งวาดรูปตัวพาหนะ อีกคนหนึ่งวาดรูปบริวาร " 
    .
    .
    .
    พูดถึงสงกรานต์ก็ต้องนึกถึงนางสงกรานต์กันใช่ไหมครับ วันนี้เราจะมาเล่าประวัตินางสงกรานต์และเจาะลึกกันว่านางสงกรานต์แต่ล่ะนางเป็นใครและมีคำทำนายอะไรกันบ้าง โดยจะนับจากวันที่เป็นวันมหาสงกรานต์


    ในจารึกวัดโพธิ์ เล่าถึงธรรมบาลกุมารที่ตอบคำถามท้าไฝว้กับท้าวกบิลพรหมว่า ตอนเช้าราศีอยู่ที่ใด กลางวันราศีอยู่ที่ใด ตอนเย็นราศีอยู่ที่ใด โดยตกลงกันว่า ถ้าธรรมบาลแพ้ก็จะถูกตัดใจ ถ้าชนะ พรหมจะตัดหัวตัวเองให้


    ธรรมบาลตอบว่า ตอนเช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงต้องเอาน้ำล้างหน้า กลางวันราศีอยู่ที่อก มนุษย์จึงเอาน้ำพรมอก ตอนเย็นราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างเท้า 


    ท้าวกบิลพรหมจึงจำต้องตัดเศียรตามคำสัญญา แต่ด้วยว่าเศียรของพรหมนั้น หากตกต้องพื้นดิน พื้นดินก็จะลุกเป็นไฟ จึงเรียกธิดาทั้งเจ็ดมาให้นำพานมารองรับเศียร แล้วนำไปแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี...


    วันอาทิตย์ : นางทุงษะเทวี (Thungsa Devi)

    ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราช ภักษาหารผลมะเดื่อ มือขวาถือจักร มือซ้ายถือสังข์ มาบนหลังครุฑ ทางล้านนาจะมีชื่อว่า นางแพงศรี

    คำทำนาย : ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตาย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ  


    วันจันทร์ : นางโคราคะเทวี (Khorakha Devi)

    ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน (เออ! นางสงกรานต์เป็นไบโอดีเซลเหรอครับ) มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือไม้เท้า มาบนหลังเสือ ทางล้านนาจะมีชื่อว่า นางมโนรา

    คำทำนาย : ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิงคุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ เกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ


    วันอังคาร : นางรากษสเทวี (Raksot Devi)

    ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารเลือด (สงสัยนางสงกรานต์เป็นแวมไพร์ เฮอๆๆ) มือขวาถือตรีศูล มือซ้ายถือธนู มาบนหลังหมู ทางล้านนาจะมีชื่อว่า นางรากษส 

    คำทำนาย : ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล 


    วันพุธ : นางมณฑาเทวี (Mantha Devi)

    ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย มือขวาถือเข็ม มือซ้ายถือไม้เท้า มาบนหลังลา ทางล้านนาจะมีชื่อว่า นางมันทะ

    คำทำนาย : ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์จะมีความสุขสำราญ 


    วันพฤหัสบดี : นางกิริณีเทวี (Kirini Devi)

    ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา มือขวาถือขอช้าง มือซ้ายถือปืน มาบนหลังช้าง ทางล้านนาจะมีชื่อว่า นางกัญญาเทพ 

    คำทำนาย : ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้เจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม


    วันศุกร์ : นางกิมิทาเทวี (Kimitha Devi)

    ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือพิณ มาบนหลังควาย ทางล้านนาจะมีชื่อว่า นางริญโท (ไม่ใช่ริงโทนนะ ฮา)

    คำทำนาย : ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไร


    วันเสาร์ : นางมโหธรเทวี (Mahotorn Devi)

    ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย มือขวาถือจักร มือซ้ายถือตรีศูล มาบนหลังนกยูง ทางล้านนาจะมีชื่อว่า นางสามาเทวี

    คำทำนาย : ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู 


    อย่างไรก็ตาม ยังมีคำทำนายที่ทำนายตามความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ ดังนี้

    1. ถ้านางสงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ 
    2. ถ้านางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ 
    3. ถ้านางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข 
    4. ถ้านางสงกรานต์นอนหลับตา กษัตริย์จะเจริญรุ่งเรือง


    แล้ว ร.5 ยังทรง "แซว" นางสงกรานต์เอาไว้ตอนหนึ่งว่า

    " ในท่านทั้งเจ็ดที่มานี้ อยู่ข้างจะทรงพาหนะนั้นแข็งๆ ด้วยกันทุกองค์ สู้คนขี่ม้าเซอคัสได้ เสด็จมาแล้วไม่ขี่ตามปรกติเลย ทรงแผลงท่าต่างๆ ไป คือพระอาทิตย์ยกตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ไม่ว่าองค์ใดมายืนทั้งสิ้น แต่ไม่ต้องทรงถือบังเหียนเหมือนเซอคัส ตั้งแต่เที่ยงไปจนค่ำนั่งทั้งสิ้น ตั้งแต่ค่ำไปจนเที่ยงคืน นอนลืมตาทั้งสิ้น ตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนรุ่งนอนหลับตาทั้งสิ้น เพราะเหตุที่นางมหาสงกรานต์เล่นเซอคัสท่าต่างๆ คนละสี่ท่าสี่ท่าเช่นนี้ จึงเป็นยี่สิบแปดท่าเปลี่ยนกันไป "


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×