หลวงพ่อ จรัญ วัดอัมพวัน - หลวงพ่อ จรัญ วัดอัมพวัน นิยาย หลวงพ่อ จรัญ วัดอัมพวัน : Dek-D.com - Writer

    หลวงพ่อ จรัญ วัดอัมพวัน

    สติ

    ผู้เข้าชมรวม

    133

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    4

    ผู้เข้าชมรวม


    133

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    หมวด :  อื่นๆ
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  1 พ.ย. 57 / 15:02 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    คุณค่าของการฝึก สติ และ สมาธิ
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      เวลานั่งปฏิบัติกัมมัฏฐาน ให้หายใจให้ลมละเอียด ให้เสมอต้นเสมอปลาย 
      ให้สติเรานี้ไปกับอารมณ์ที่หายใจเข้าออก 
      ถ้าสมาธิเราดี สติก็ยึดมั่นอยู่ในจุดของสมาธิ 
      มีทั้งรู้ทั้งเข้าใจมันทำให้เราเก็บหน่วยกิตไว้ในจิตใจได้มาก 

      เมื่อเก็บไว้ได้มากแล้ว ก็จะมีพลังสูง หมายความว่า เราเก็บไว้ได้มาก เราจะแผ่เมตตาไปให้ใครก็จะได้รับผล เพราะมีพลังสูง 

      บางทีเราทำใหม่ๆ ไม่ได้ทำทุกวันมันทำให้จืดจางแล้วก็หายไป 
      ถ้าเราทำทุกวันเสมอต้นเสมอปลาย จะทำให้เรามีความคิดแปลกกว่าเดิม 

      เมื่อก่อนเรามีความคิดไม่มากนัก คิดธรรมดาตามปกติ 
      แต่จะมีแปลกออกมาที่เป็นความถูกต้อง

      สภาวะที่เราพองหนอ ยุบหนอ บางทีมันมีเวทนามาก 

      เวทนาที่เกิดขึ้นนี้เราต้องกำหนดให้รู้ให้เข้าใจ หนักเข้าก็จะคลี่กลายไปตามลำดับ 
      อันนี้สำคัญอย่าไปปล่อยตามใจไม่ได้
       
      ตัวกำหนดปวดหนอ ปวดหนอเป็นตัวศูนย์กลาง มันฝืนใจให้เราไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นๆ 
      ที่เราตามตามอารมณ์ตามใจตัว เป็นการปล่อยไปตามเรื่อง 
      จิตจะไปทางไหนก็ปล่อยไม่ได้ฝืนใจและดึงขึ้นมา เราจึงไม่รู้ความจริงของชีวิต 
      ไม่ใช่ของง่าย เราจึงต้องทำความเข้าใจ 

      การฝึกกำหนดยุบหนอ พองหนอ นี้มันเหมือนกันหรือไม่ 
      และพองหนอยุบหนอนั้น มันเป็นอันเดียวติดต่อกันหรือไม่ 
      แล้วเราจะรู้จะแยกได้ว่าจิตมันมีกี่ดวง เหมือนขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ 
      จิตกำหนดขวาจิตกำหนดซ้ายมันดวงเดียวกันหรือไม่ 
      แล้วขวาย่าง ซ้ายย่าง ดูซิมันเป็นอันเดียวกันหรือไม่ 

      เราจะรู้สภาวะธรรมของเรา มันจะแยกแยะออกไป จากความดีความเลว 
      จากการมีปัญญากับไม่มีปัญญา มันจะแยกออกไป 
      เหมือนเครื่องบำบัดน้ำเสีย มันจะแยกอะไรเป็นอะไร 
      เหมือนวัตถุใส่เข้าไปในเครื่องมันจะแยกออก 

      เช่น เครื่องปลูกข้าว พอเกี่ยวแล้วมันจะแยกออกก 
      เมล็ดข้าวไปแห่งหนึ่ง เม็ดลีบมันก็จะไปอีกแห่ง และฟางข้าวก็ไปอีกแห่ง 
      ก็เหมือนกันกับเราปฏิบัติธรรม มันจะแยกรูปแยกนาม แยกเวทนาออก 
      มันจะปวดเหมื่อย จิตไม่กังวล เมื่อจิตไม่เป็นกังวลแล้ว 
      ความปวดเหมื่อยมันก็จะหายไป มันจะไม่เกิดอีกแล้ว 
      แต่พอเราทำใหม่ มันก็จะเกิดอีก เราก็ต้องแยกอีก 

      พอหนักเข้ากิเลสมันจะเบาบางลง ความโลภ ความโกรธ ก็จะเบาบาง
      ใจเศร้าหมอง เคยจิตตกกังวล มันก็จะน้อยลงไป 
      ที่เราใจร้อน ก็จะเย็นลงเรื่อยๆ แต่จะมากด้วยปัญญา 

      เราจะคิดอ่านอะไร อยากจะทำงานให้มันเสร็จไป ไม่ให้งานมันคั่งค้างไว้ 
      มันจะบอกเราเองโดยชัดเจน 
      ก็ขอให้ผู้ปฏิบัติ ตั้งใจจริง เสียงกับหู ให้แยกกัน ตากับรูป ก็ให้แยกกัน

      เจตสิก คือ ตัวอยาก เช่น อยากหยิบหนอๆ เป็นต้น 
      พอหยิบไปแล้ว ตัวอยากนั้นมันก็หายไป 
      ซึ่งตัวอยากนั้นก็เรียกว่า เจตสิก 


      ถ้าเรากำหนดได้มันก็ได้ผล เพราะการกำหนดจิตนั้น 
      เราต้องการดึงจิตให้อยู่ติดกับสติให้ได้ 
      พอจิตกับสติอยู่ร่วมกันแล้ว ทำอะไรก็คล่องไปหมด 

      หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ มันจะคล่องขึ้น มันจะไม่ติดขัด 
      เวทนาที่เรากำหนดนั้น มันก็จะเบาลงไป 
      เสียงกับหูมันก็จะเบา เสียงด่าหรือเสียงอะไรก็ตาม หู จะเบา
       
      ซึ่งเบาตัวนี้ก็คือ ไม่รับของหนักมากอีก และจะไม่เข้ามาในจิตของเรา 
      จิตของเราก็จะมั่นคงขึ้น จะอดทนมากขึ้นดังนี้เป็นต้น

      ให้เราทำสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย มันจะทำให้เรารู้ของจริงได้ 
      แต่จะทำให้เรารู้ได้หลายๆ อย่าง เดินเซเพราะสติน้อยไป 

      เวลานั่ง ก็นั่งตัวไม่ติด ขาดสติไปบ้าง 
      ถ้าเราทำเราก็จะตั้งตัวติด ตั้งสติไว้ได้ 
      ความรู้ก็จะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวปัญญา รอบรู้หาเหตุผลได้ชัดแจ้ง 


      เมื่อสมัยพุทธกาล พระมี ๒๐ องค์ ผลัดกันเข้ากัมมัฏฐานกันทีละ ๑๐ องค์ 
      อีก ๑๐ องค์ ไปบิณฑบาต นำข้าวมาเลี้ยงกัน ไม่ต้องลำบากญาติโยม
      พอออกจากกัมมัฏฐานแล้ว พวกที่บิณฑบาต ก็เข้ากัมมัฏฐานบ้าง 
      พวกที่ออกจากกัมมัฏฐาน ก็ไปบิณฑบาต มาถวาย

       

      หลักสำคัญ ๓ ข้อ
      การปฏิบัตินี้ อาตมาเน้นอยู่ ๓ ข้อคือ
      ๑. ยืนหนอ ๕ ครั้ง 
      ๒. การเดินจงกรมให้ช้าที่สุด มันจะได้สติรวบรวมไว้ได้ดี 
      ๓. หายใจเข้าออก เอาสติยัดเข้าไปตามลมหายใจ ให้ได้จังหวะ

      นอกจาก สามอย่างนี้ เราจะต้องไม่เกียจคร้าน ต่อการงานและหน้าที่ 
      รับผิดชอบในกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐาน นี้ เป็นการกระทำให้ฐานะ ดีขึ้น 
      นั่งแต่ละครั้งจะเหมือนกัน นั่งแต่ละครั้งอาจจะไม่เหมือนกัน 

      ถ้าเราทำไปนานๆ แม้เราจะอายุมากก็ตาม โรคภัย ไข้เจ็บก็จะหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ 
      แต่มันยากมาก ต้องลำบาก มันมีเวทนามากมาย 

      เช่น คนเป็นอัมพาต นอนป่วยอยู่ ๕ ปี เป็น ผู้อำนวยการอยู่ที่สกลนคร 
      อาตมาบอกให้สวดมนต์ พาหุง มหากา และหายใจเข้าออกให้มีสติ 
      ให้เห็นสภาวะ มันก็เกิดปวดมากจนน้ำตาร่วง แทบจะทนไม่ไหว แสดงว่าหายแล้ว 
      การที่เราปวด มันเป็นเวทนา ทำให้เลือดลมเดินขึ้น ดีด้วย 

      แต่ทุกคนไม่ทราบ แต่ถ้ามันไม่ปวดเลย ขามันชา เลือดลมเดินไม่สะดวก 
      นับวันจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ 

      ถ้าเรานั่งแล้วปวดจนทนไม่ไหว และเดินจงกรม จะปวดที่ไหล่มาก 
      เราก็กำหนดตัวนี้ ให้ได้ แล้วเราก็จะอดทนต่อความลำบาก อดทนต่อความเจ็บใจได้

      เราจะต้องทำให้จิตเคย เข้าไปคิดมีสติปัญญา 
      ถึงเราจะแก่ชรา อย่างไรก็ตาม จะมีสติอยู่เสมอ 

      และเวลาตายจากโลกนี้ไปนั้น จิตนี้จะเป็นกัปตัน นำทาง 
      เดินทางไปสู่ที่หมาย ตามจุดมุ่งหมาย และจุดประสงค์ จะไม่ย้อนกลับมาอีก 
      ดวงจิตที่ตายแล้วย้อนกลับมาอยู่ในบ้านเพราะหวงสมบัติ 
      กลายเป็นโลภะ เป็นเปรตอยู่ในบ้านนั้น 

      ถ้าเรามีสติดี ปลงตกแล้ว เราจะตัดภาวะได้ 
      ของในบ้าน ที่เป็นของที่รักจะจากกันไป ไม่มีวันกลับมาแล้ว 
      ในตัวเราก็ไม่มีอะไรดีเลย มีธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีแต่ของเน่าเปื่อย 
      ข้างในไม่มีอะไรดีเลย ถ่ายออกมาเป็นมูด คูด และต่อไปก็เป็นเถ้าถ่าน เป็นธาตุดิน
      แต่จิตที่เราทำกัมมัฏฐานไม่ตายแน่ เป็นอมตะ จะอยู่สถานะใด ก็รู้อยู่ตลอดเวลา

      ความว่ารู้อยู่นั้น หมายถึงว่าเราฝึกสตินี้เอง ให้มันได้จังหวะ 
      ได้บ้างเสียบ้าง ถูกบ้างผิดบ้าง ก็ยังดีกว่าเราไม่ทำ 
      เราจะให้มันขาดทุนเวลาไปทำไม เวลาที่หมดไปแล้ว เราก็ไม่ได้ทำอะไรเลยอยู่เฉยๆ 
      ถ้าเรามีสติตลอดเวลา เราจะหลับสมาธิ รู้ตัวอยู่ตลอด ใครเรียกก็ตื่นทันที


       

      ญาติโยมอาจเห็นอาตมาอยู่เฉยๆ คิดว่าไม่ได้ทำกัมมัฏฐานหรือ มันไม่ใช่อย่างนั้น 
      อาตมา หายใจ เข้า-ออก มีสติอยู่เสมอ จะหยิบอะไรก็มีสติ 
      เพราะเคยแล้ว ชำนาญแล้ว หูได้ยินเสียงสติบอกทันที คนมาโกหกแท้ๆ 
      อาตมาบอกก็ไม่เคยผิดพลาด แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องทำให้ชำนาญ เชี่ยวชาญ ชำนาญการ 
      มองเห็นอะไรสติจะบอกเลยว่า ของนี้ดีหรือชั่ว ประการใด 
      คนนี้คบได้หรือไม่ หรือพูดเชื่อถือไม่ได้ ไม่เคยพลาด 
      ที่เราพูดเล่นกันนั้นอีกเรื่องหนึ่งมันคนละอย่างกัน

       

      อาตมากล่าวสั้นๆ ไม่ต้องไปถึงญาณอะไร 
      ญาณมันจะขึ้นเองโดยสมาธิภาวนา ไม่ต้องรู้ล่วงหน้า 
      ถ้าไปรู้ล่วงหน้าแล้วมันเป็นวิปัสนึก นึกก็เห็นไปเลยเป็นช่องเป็นทาง 
      เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินี้ เป็นของยาก 

      ถ้าเราทำความดีให้เคยชิน ความชั่วไม่เข้าตัวแน่ 
      ทั้งนี้ก็สร้างฐานะให้ถึงลูกหลาน ลูกหลานไปเที่ยวเกเร ไม่เรียนหนังสืออยู่ที่ไหน 
      พ่อแม่เจริญธรรม แปลว่า รุ่งเรืองในธรรม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สติมาสัมมะชาโน 
      แปลว่า สติเป็นยาโชติช่วง เกิดแสงสว่างเป็นหนทาง มิฉะนั้นเราจะไปทางมืด 
      ถ้าเรามีแสงสว่าง คือ ตัวปัญญาแล้วจะไม่มืด คิดอะไรมันโปร่งโล่งใส

      สมองก็จะดีไม่เป็นสมองฝ่อ บางคนเดี๋ยวนี้เป็นสมองฝ่อกันมาก 
      และเส้นประสาทแตก ตายกันมาก เพราะเหตุที่ว่าเส้นโลหิตมันเปราะ และตีบตัน 

      คนเราอายุตั้งแต่ ๕๐ ปี ขึ้นไป เส้นโลหิตเริ่มเปราะแล้ว ให้เรามีสติกำหนดไว้ 
      พอแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ก็ให้กำหนดสติไว้ที่เส้นหัวใจ 
      รับรองเดี๋ยวเส้นโลหิตจะขยายทันที แล้วก็จะโล่ง หายใจออก ไม่ต้องไปผ่าตัดเลย

      การเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ จะมีผลงานประจำชีวิตเราไม่ใช่น้อย 
      ท่านทั้งหลายอย่าเบื่อหน่าย การที่เราทำสมาธิ ทำสติ ต้องมีกระแสไฟในตัว 
      กระแสไฟในตัวคืออะไร คือ พลังงานของชีวิต 


      ในเมื่อพลังงานของชีวิตดีแล้ว สติดีแล้ว ร่างกายท่านจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ 
      โรคกายก็ไม่มี โรคใจก็ไม่มี อายุ ๗๐,๘๐ ท่านก็จะเป็นปกติ เลยสมองก็จะดี 
      คิดอ่านอะไรก็จะปรารภอดีตที่ผ่านมาเป็นตำรา 

      ปัจจุบันเป็นการแก้ อนาคตยังมาไม่ถึงอย่าไปปรารภ ให้ปรารภปัจจุบัน 
      คนที่ระลึกชาติได้ จากการทำสมาธิก็ดี ก็เกิดจากการได้สตินั้นเอง 
      ถ้าสติมากเลยร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วจะระลึกชาติได้ 
      ชาติที่แล้วมาจะกี่ชาติ ถ้าสติสูงขึ้นจะระลึกชาติได้ถึง ๘ ชาติ ๙ ชาติ 
      ว่าเราเกิดมาเป็นอะไรอยู่ที่ไหน บ้านเมืองอะไร
       
      พอเราไปบ้านเมืองนั้นจะรู้สึกสบาย คล้ายว่าเราเคยมาอยู่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น 
      เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติธรรม ก็อย่าได้กังวล ทำให้ชำนาญ 

      อย่าคิดว่าทำได้แล้วเลิกกันไป เหมือนอย่างที่บางคนบอกว่าทำบุญแล้ว 
      สร้างโบสถ์แล้ว สร้างศาลาแล้ว เลยไม่ต้องทำเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องทำอยู่ทุกวัน 
      เพราะการกระทำของมนุษย์นี้ มันเวียนว่ายตายเกิด 


      พระพุทธเจ้าจึงสอนจุดนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 
      เกิดจากตรงนี้ ก็ต้องไปอยู่ตรงนั้น เลือกเกิด เลือกตายไม่ได้ ชัดเจน 
      ถ้าเราทำกัมมัฏฐานได้ปัจจุบันแล้ว อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา 
      ทำกัมมัฏฐานให้ได้จังหวะ ให้ได้ปัจจุบันนั่นแหละตัวจริงอยู่ตรงนั้น 

      พระพุทธเจ้าจึงห้ามระลึกชาติ เพื่อไม่ให้วิตกกังวล ไม่ต้องเอามาคิดอีก ให้มันผ่านไป 
      อนาคตสำคัญมาก ถ้าเราทำอนาคตให้ดี อนาคตรุ่งเรื่องแน่นอน 
      ถ้าอดีตไม่ดีเลวมาก ปัจจุบันก็เลว เกิดปัญหาที่จะต้องแก้ ก็ต้องแก้ที่ปัจจุบัน
       
      เลวมาอย่างไรก็ตาม เอาความดีเข้าไปแก้ ร้ายกลับกลายเป็นดี ในปัจจุบัน อนาคตก็ดีขึ้น 
      ปัจจุบันเราจนแสนจน แล้วเรายังไม่เอาอะไรอีกแล้ว ก็จะจนตลอดไป


       

      ขอเจริญพรอีกข้อหนึ่งว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ในอดีตชาติมันเคยเป็นของเรา 
      ไม่ว่าจะเป็นทอง เพชรนิลจินดา มันจะต้องกลับมาหาเราแน่นอน ไม่ต้องไปกังวล 
      ขอให้มีสติเจริญสมาธิภาวนา เดี๋ยวทรัพย์สมบัติจะคืนมา 
      ถ้าไม่ใช่เป็นของเขา เขาจะรักษาไม่ได้ จะต้องเอามาคืนเรา 
      ถ้าเป็นของเรา จะอยู่ที่ไหนก็ไม่หายแน่นอน 

      ถ้ามันหายก็อย่าไปเสียใจ เพราะมันไม่ใช่ของเรา 
      เหมือนนางวิสาขา มหาอุบาสิกา มารักษาอุโบสถ 
      มีพระบางองค์บอกว่า ใส่สร้อยมาทำไม แต่งตัวมาวัดทำไม 
      เข้าวัดไม่ต้องแต่งตัว ไม่จริงเลยนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าสวยนะ 
      สวยก็คือ ศีล นางวิสาขา มีสร้อยมากมาย
       
      แต่งตัวเอาของมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่เคยตำหนิเลย 
      แต่พระยุคใหม่ตำหนิ ไม่ใช่เลยนะ 

      พระพุทธเจ้าท่านสอนให้แต่งตัวให้เรียบร้อย 
      นางวิสาขา มหาอุบาสิกา มาตา แปลว่า เป็นแม่ แต่พ่อสามี แม่สามี เรียกแม่ 
      เพราะว่านำเขาเข้าเลื่อมใสต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
      แล้วเขาก็ได้ดิบได้ดีมีปัญญา จึงได้เรียกลูกสะใภ้ว่า แม่

      แต่เวลาปฏิบัติธรรม รักษาศีลอุโบสถ นางวิสาขาจะถอดออกมากอง เพราะว่ามันเป็นห่วง 
      ก็ไม่ได้คิดอะไร ใครอยากได้ก็เอาไป ปลงตกอย่างนั้นแล้ว 

      ถ้าของเราก็ยังอยู่ แต่ทางบ้านมีโจรเข้าปล้น เอาทรัพย์สินขึ้นเกวียนไปแล้วทั้งหมด 
      สาวใช้จึงมาบอกนางวิสาขาว่า มีโจรมาปล้นบ้านเอาของไปหมดแล้ว กำลังจะเดินทางไป
       
      นางวิสาขาบอกว่าไม่เป็นห่วง แล้วบอกนางสาวใช้ว่า ให้ไปบอกโจรว่า 
      ถ้าเป็นของเขาให้เอาไป ถ้าของเราก็ควรจะอยู่ คุณแม่ไม่เป็นห่วงแล้ว จะเอาแต่บุญอย่างเดียว
      เมื่อนางสาวใช้กลับไปบอกพวกโจร ตามคำของนางวิสาขา 
      โจรเลยกลับใจ โจรก็มีปัญญาเหมือนกัน เลยคิดได้ ว่าตนเองไม่ได้ทำมาหากิน 
      โจรจึงได้สติเลย ผลสุดท้าย นางวิสาขา ตัดปลิโพธกังวล ไม่ห่วงสมบัติพัสถาน 
      ด้วยอำนาจบุญกุศล ที่นางวิสาขาแผ่ให้โจร
       
      แผ่ให้ศัตรู ที่มาเอาทรัพย์สมบัติ ขอให้เขาได้คิดเถิด 
      ความดีของข้าพเจ้าที่ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ขอให้เขาได้คิด 
      ขอให้เขาได้มีสติปัญญา พวกโจรนั้นกลับร้ายกลายเป็นดีทันที 

      ขนของเข้าสู่เรือนหมด แล้วโจรนั้นก็กลับไป ของที่ไม่ใช่ของเรา 
      ถ้าไปโกงเขามา ในไม่ช้าของนั้นก็ต้องหมดไป ถ้าเป็นของเราก็จะต้องเป็นของเรา

      สรุปว่า ใครทำใครได้ ใครทำ หรือไม่ทำอย่างไร ก็ไม่ต้องว่าเขา 
      เราทำก็ได้ของเรา ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย


      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×