คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : บทนำ
บทนำ
สามก๊ก (三國演義 ซันกั๋วเหยี่ยนอี้ Sānguó Yănyì) เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ชั้นเอกของจีนที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก ผลงานการประพันธ์ของล่อกวนตง (羅貫中 หลัวก้วนจง Luó Guànzhōng) ในศตวรรษที่ ๑๔ ช่วงปลายราชวงศ์หงวน (元 หยวน Yuán) ต่อต้นราชวงศ์เหม็ง (明 หมิง Míng) ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน (四大名著 ซื่อต้าหมิงจู้ sì dà míngzhù) ร่วมกับเรื่องซ้องกั๋ง (水滸傳 สุยหู่จ้วน Shuĭhŭ Zhuàn), ไซอิ๋ว (西遊記 ซีโหยวจี้ Xī Yóu Jì) และความฝันในหอแดง (紅樓夢 หงโหลวเมิ่ง Hónglóu Mèng)
สามก๊กเป็นเรื่องราวของวิกฤติทางการเมืองในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ตงฮั่น Dōnghàn) ของจีน อำนาจการปกครองของราชวงศ์ฮั่นเสื่อมทรุด ขุนศึกในภูมิภาคต่าง ๆ ถือโอกาสตั้งตนเป็นใหญ่ทำสงครามแย่งชิงอำนาจและอาณาเขตกัน ท้ายที่สุดเมื่อราชวงศ์ฮั่นถึงคราวสิ้นสุดในปี ค.ศ. ๒๒๐ อาณาจักรฮั่นเดิมได้ถูกแบ่งเป็นสามรัฐที่คานอำนาจกันและกัน ได้แก่ วุย (魏 เว่ย Wèi), จ๊ก (蜀 สู่ Shŭ) และง่อ (吳 อู๋ Wú) เรื่องราวดำเนินไปจนกระทั่งรัฐทั้งสามถูกรวบรวมเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันอีกครั้งภายใต้การปกครองของราชวงศ์จิ้น (晉 จิ้น Jìn) ในปี ค.ศ. ๒๘๐
ล่อกวนตงประพันธ์นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก โดยอิงแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลักจากจดหมายเหตุสามก๊ก หรือ สามก๊กจี่ (三國志 ซันกั๋วจื้อ Sānguó zhì) ที่รวบรวมโดยตันซิ่ว (陳壽 เฉินโซ่ว Chén Shòu) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้น ประกอบกับแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ เช่น โฮ่วฮั่นซู (後漢書 Hòu Hànshū), ฮั่นจิ้นชุนชิว (漢晉春秋 Hàn Jìn Chūn Qiū), จือจื้อทงเจี้ยน (資治通鑑 Zīzhì tōngjiàn), ฯลฯ รวมถึงนิทานพื้นบ้านและบทงิ้วที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวบ้าน มาประมวลเรียบเรียงเข้าด้วยกันเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตนเอง
นิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กที่แพร่หลายไปทั่วโลกในปัจจุบัน เป็นฉบับที่ผ่านการแก้ไขปรับปรุงโดยเม่าหลุน (毛綸 เหมาหลุน Máo Lún) และเม่าจงกัง (毛宗崗 เหมาจงกัง Máo Zōnggāng) พ่อลูกนักเขียนในสมัยราชวงศ์เชง (清 ชิง Qīng) ปรับปรุงการดำเนินเรื่องของนิยายสามก๊กของล่อกวนตงในกระชับขึ้น และแบ่งเนื้อเรื่องเป็น ๑๒๐ ตอน สามก๊กฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยก็แปลมาจากสามก๊กฉบับที่แก้ไขปรับปรุงโดยเม่าหลุนและเม่าจงกังนี้
เรื่องสามก๊กมีการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน "ตำนานหนังสือสามก๊ก" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีการระบุถึงคำบอกเล่าที่ไม่มีในจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีรับสั่งให้แปลพงศาวดารจีนสองเรื่องเป็นภาษาไทย คือเรื่องไซ่ฮั่น (西漢通俗演義 ซีฮั่นทงสูเหยี่ยนอี้ Xīhàn Tōngsú Yănyì) และเรื่องสามก๊ก พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (กรมพระราชวังหลัง) เป็นผู้อำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก สำหรับเรื่องสามก๊กเมื่อแปลเสร็จแล้วมีความยาวรวม ๙๕ เล่มสมุดไทย แปลเมื่อปีใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเริ่มแปลเมื่อก่อนปี พ.ศ. ๒๓๔๘ ซึ่งเป็นปีที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรม
เรื่องสามก๊กที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลมีการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบลัดเลย์ที่ปากคลองบางใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตีพิมพ์เป็นสมุดพิมพ์ ๔ เล่ม โดยก่อนลงมือตีพิมพ์ หมอบลัดเลย์ได้ต้นฉบับสามก๊กที่คัดลอกมา ๒ เล่ม กับยืมฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อีกเล่ม รวมเป็น ๓ เล่มมาสอบทานกัน "ตำนานหนังสือสามก๊ก" ระบุว่าการพิมพ์เรื่องสามก๊กของโรงพิมพ์หมอบลัดเลย์ได้พิมพ์ ๓ ครั้ง แล้วมีโรงพิมพ์อื่นมาตีพิมพ์ต่อมาอีก ๓ ครั้ง แต่การตีพิมพ์ครั้งต่อ ๆ มา เป็นเพียงแต่อาศัยฉบับที่พิมพ์ก่อนหน้าเป็นต้นฉบับ ไม่มีการตรวจชำระเหมือนฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบลัดเลย์ เนื้อความจึงคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปจากฉบับเดิมไป
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระดำริจะให้ตีพิมพ์หนังสือสามก๊กสำหรับจะประทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพของพระชนนี คือสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ราชบัณฑิตยสภาจึงดำเนินการตรวจสอบชำระหนังสือสามก๊ก โดยสอบทานกับหนังสือสามก๊กฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบลัดเลย์, ฉบับตัวเขียนของกรมหลวงวรเสรฐสุดาที่มีในหอพระสมุด และฉบับภาษาจีน สามก๊กฉบับที่ราชบัณฑิตยสภาชำระนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ นี้ สามก๊กฉบับที่ราชบัณฑิตยสภาชำระนี้เป็นฉบับที่มีการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน
สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นวรรณกรรมที่คุณค่าด้านสำนวนภาษาที่งดงามสละสลวย จึงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็น "ยอดความเรียงนิทาน" อย่างไรก็ดีในฐานะงานแปลจากนิยายจีนแล้ว สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็มีความผิดพลาดบกพร่องอยู่มากเมื่อเทียบกับนิยายต้นฉบับ เนื่องจากข้อจำกัดด้านแปลในยุคต้นรัตนโกสินทร์ "ตำนานหนังสือก๊ก" ได้กล่าวถึงการแปลสามก๊กไว้ว่า:
ลักษณการแปลหนังสือจีนเปนภาษาไทยแต่โบราณ (หรือแม้จนชั้นหลังมา) อยู่ข้างลำบาก ด้วยผู้รู้หนังสือจีนไม่มีใครชำนาญภาษาไทย ผู้ชำนาญภาษาไทยก็ไม่มีใครรู้หนังสือจีน การแปลจึงต้องมีพนักงานเปนสองฝ่ายช่วยกันทำ ฝ่ายผู้ชำนาญหนังสือจีนแปลความออกให้เสมียนจดลง แล้วผู้ชำนาญภาษาไทยเอาความนั้นเรียบเรียงแต่งเปนภาษาไทยให้ถ้อยคำแลสำนวนความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีผู้ซึ่งทรงความสามารถ เช่นกรมพระราชวังหลังแลเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เปนต้น จนเมื่อชั้นหลังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เปนผู้อำนวยการแปล ท่านผู้อำนวยการบางทีจะไม่ได้เปนผู้แต่งภาษาไทยเองทุกเรื่อง แต่เห็นจะต้องสันนิษฐานทักท้วงแก้ไขทั้งข้อความแลถ้อยคำที่แปลมากอยู่ ข้อนี้พึงสังเกตได้ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่แปลนั้น ถ้าเปนเรื่องที่ผู้มีบันดาศักดิ์สูงอำนวยการแปล สำนวนมักดีกว่าเรื่องที่บุคคลสามัญแปล แต่สำนวนแปลคงจะไม่สู้ตรงกับสำนวนที่แต่งไว้ในภาษาจีนแต่เดิม เพราะผู้แปลมิได้รู้สันทัดทั้งภาษาจีนแลภาษาไทยรวมอยู่ในคนเดียว เหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้
สังข์ พัธโนทัย ผู้เขียนหนังสือ "พิชัยสงครามสามก๊ก" ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการแปลของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า:
จากการแปลเรื่องสามก๊กออกเป็นภาษาไทยนั้น สังเกตได้ว่าจีนฮกเกี้ยนคงจะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ เพราะชื่อบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ ที่ถอดเสียงจากภาษาจีนออกมา ล้วนเป็นเสียงจีนฮกเกี้ยนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นคงจะมีมีจีนแต้จิ๋ว แคะ กวางตุ้ง และไหหลำ เป็นคณะบรรณาธิการในการแปลด้วย และท่านบรรณาธิการก็คงจะตรวจตราไม่ทั่วถึง ชื่อบุคคลและสถานที่ในสามก๊กที่แปล จึงสับสนอลหม่านมาก ซ้ำร้ายคณะผู้แปลคงจะมีความรู้เกี่ยวกับศัพท์แสงที่ใช้ในภาษาไทยไม่เพียงพอ ตอนไหนที่แปลยาก เลยแปลเสียเลย หรือแปลคลุม ๆ ไปแทบจะจับความมิได้
ด้วยความที่สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความบกพร่องอยู่มากในฐานะงานแปลที่ถ่ายทอดวรรณกรรมจีนเป็นภาษาไทย จึงมีความพยายามที่จะแปลเรื่องสามก๊กใหม่ให้มีการถูกต้องและซื่อตรงกับนิยายต้นฉบับภาษาจีน โดยในปัจจุบันมีสามก๊กที่แปลใหม่ทั้งเรื่องรวม ๓ ฉบับ ได้แก่
๑. "สามก๊กฉบับแปลใหม่" โดย วรรณไว พัธโนทัย ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นสามก๊กฉบับแรกสุดในไทยที่แปลโดยพยายามให้มีความใกล้เคียงกับนิยายต้นฉบับภาษาจีนให้มากที่สุด โดยนำสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดยชาร์ลส์ เฮนรี่ บริวิตต์-เทย์เลอร์ (Charles Henry Brewitt-Taylor) มาประกอบการแปล มีการใส่บทกวีแทรกตามนิยายต้นฉบับภาษาจีนที่ถูกตัดทิ้งไปในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อย่างไรก็ดี สามก๊กฉบับนี้ก็ยังมีจุดผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ้าง
๒. "สามก๊กฉบับสมบูรณ์" พร้อมคำวิจารณ์" โดย วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เดิมเคยตีพิมพ์เฉพาะเนื้อเรื่องที่ไม่มีคำวิจารณ์ในชื่อว่า "สามก๊ก ฉบับคลาสสิก" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ต่อมาอีก ๒ ปีจึงตีพิมพ์ฉบับสมบูรณ์ที่เพิ่มคำวิจารณ์ของกิมเสี่ยถ่าง (金聖歎 จินเซิ่งทั่น Jīn Shèngtàn) ซึ่งเชื่อกันว่าจริง ๆ แล้วเป็นคำวิจารณ์ที่เม่าจงกังเขียนแต่อ้างชื่อกิมเสี่ยถ่าง สามก๊กฉบับนี้เป็นฉบับที่แปลถ่ายทอดจากต้นฉบับภาษาจีนได้สมบูรณ์ที่สุด แต่เนื่องจากเป็นฉบับที่รายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง อีกทั้งผู้แปลเลือกจะแปลชื่อเฉพาะต่าง ๆ ด้วยสำเนียงจีนแต้จิ๋วต่างจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ชื่อส่วนใหญ่เป็นสำเนียงจีนฮกเกี้ยน สามก๊กฉบับนี้จึงเป็นฉบับที่ค่อนข้างยากในการอ่าน
๓. "สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์" โดยแพทย์หญิงกัลยา สุพันธุ์วณิช ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นสามก๊กฉบับที่มีการแปลทั้งเรื่องครั้งล่าสุดในประเทศไทย เป็นฉบับที่มีการแปลชื่อเฉพาะต่าง ๆ ด้วยสำเนียงจีนกลางซึ่งเป็นภาษาจีนมาตรฐาน และยังมีการแทรกเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ระหว่างเนื้อเรื่องด้วย ทองแถม นาถจำนง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสามก๊กฉบับนี้ในคำนิยมของหนังสือสามก๊กฉบับนี้ว่ามี "รสชาติใกล้เคียงตามสำนวนภาษาจีนมากที่สุด" อย่างไรก็ดี สามก๊กฉบับนี้มีการตัดรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างไป และไม่มีบทกวีท้ายตอนในแต่ละตอน
ข้าพเจ้าผู้น้อย (วณิพกยุคตงฮั่น) เป็นผู้ชื่นชอบและศึกษาเรื่องสามก๊กเป็นงานอดิเรกเป็นเวลานานสิบกว่าปี แล้วข้าพเจ้าผู้น้อยก็เกิดความคิดว่าอยากจะเขียนอรรถาธิบายโดยละเอียดประกอบเนื้อเรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในแต่ละตอนแต่ละย่อหน้า เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และสามก๊กต้นฉบับภาษาจีน แบบคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค ย่อหน้าต่อย่อหน้า กับได้ทั้งรสทางวรรณศิลป์ของสำนวนภาษาแบบสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้ทั้งทั้งเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนไปพร้อมกัน โดยจะใช้เนื้อความจากสามก๊กฉบับที่ราชบัณฑิตยสภาชำระและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นหลักในการเขียนอรรถาธิบาย และจะแทรกตัวเขียนภาษาจีนกับคำอ่านเป็นภาษาจีนกลางของชื่อเฉพาะที่ปรากฏในเนื้อความสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่อประโยชน์ในการเทียบเคียงชื่อเฉพาะในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าผู้น้อยชื่นชอบสามก๊กในฐานะงานอดิเรก จึงอาจจะขาดความรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมจีนในเชิงลึก อาศัยเพียงการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยพยายามให้มีความถูกต้องมากที่สุด อาจมีการย้อนกลับมาแก้ไขบ้างเมื่อมีการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ แต่ก็อาจมีความบกพร่องผิดพลาดเล็ดรอดไปได้บ้าง หากท่านใดเห็นข้อผิดพลาดหรืออยากให้เพิ่มรายละเอียดตรงไหนก็คอมเมนต์เสนอกันได้เลยครับ ข้าพเจ้าผู้น้อยพร้อมเรียนรู้และแก้ไขให้เนื้อหาสมบูรณ์ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งองค์ความรู้เกี่ยวกับสามก๊กต่อไป
ด้วยจิตคารวะ
วณิพกยุคตงฮั่น
ปล. ข้าพเจ้าผู้น้อยมีเพจเกี่ยวกับสามก๊กทาง facebook ชื่อเพจ "สามก๊กอนุทิน" นำเสนอสาระและบันเทิงเกี่ยวกับสามก๊ก สามารถไปติดตามกันได้นะครับ
facebook.com/ThreeKingdomsDiary
ความคิดเห็น